วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

น้ำมันปลาดีต่อเด็ก...แน่หรือ

มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนถ้าเด็กในครรภ์ได้รับน้ำมันปลาจากอาหารที่แม่รับประทาน โอกาสที่จะเกิดเป็นเด็กมีปัญหาทางสมองจะลดลง เพราะน้ำมันปลามีกรดโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อเซลล์สมอง ถ้าขาดกรดนี้เด็กจะเกิดมามีโรค อย่างเช่น อ่านหนังสือไม่เข้าใจ (dyslexia) ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะทำงานไม่ประสาน (dyspraxia) และสมาธิสั้น(ADHD)

เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วที่มหาวิทยาลัย OXFORD 2 - 3 ปีก่อน เมื่อได้มีการนำเด็กที่ป่วยเป็นโรคประสาทควบคุมดังกล่าว 117 คน ไปรับการทดลองกินอาหารที่เสริมด้วยกรดโอเมก้า-3 โดยครึ่งหนึ่งได้รับ และอีกครึ่งไม่ได้รับ ปรากฏว่าเพียงสามเดือน กลุ่มแรกมีอาการดีขึ้นอย่างน่าใจหาย ซึ่งรวมทั้งการเคลื่อนไหวของอวัยวะ การประพฤติตัว และการเรียน ทั้งนี้ โรคนี้กระทบกับเด็กเฉลี่ยแล้วถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนมากไม่ค่อยรู้ ยกเว้นรายที่มีอาการเนชัด ซึ่งพอประสาทการเคลื่อนไหวทำงานไม่ประสาน ประสาทส่วนอื่นเลยพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เรื่องนี้นักวิจัยได้อธิบายย้อนหลังไปถึงยุคที่คนเรายังเป็นมนุษย์กึ่งน้ำกึ่งบก คือ เชื่อกันว่าคนเราเดิมอยู่ในน้ำ แล้วค่อยๆ ขึ้นบก และถึงแม้จะขึ้นบกนานแล้ว แต่อวัยวะบางส่วน เช่น ดวงตา ยังมีองค์ประกอบของมนุษย์ที่อยู่ในน้ำ ทำให้จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เป็นสารที่ได้จากสัตว์น้ำ ซึ่งสารๆ หนึ่งก็คือ กรดโอเมก้า-3 จากปลา กรดชนิดนี้จำเป็นมากสำหรับเซลล์ดวงตา ในการช่วยการรับรู้ของประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญส่วนนี้ และอาจจำเป็นถึงขนาดควรจะได้รับ แม้กระทั่งเวลาที่คนเราอยู่ในครรภ์

ผลการวิจัยเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการสาธารณสุขอังกฤษ จนกระทั่งมีการศึกษาในเวลานี้ว่าสมควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลให้ผู้ที่จะเป็นแม่ทุกคน รวมทั้งเด็กเกิดใหม่ ได้รับกรดโอเมก้า-3 ในปริมาณที่พอเพียงเป็นประจำ โดยจะทำถึงขั้นการให้กรดเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของรัฐ ใครไม่มีเงินซื้อ ไปรับแจกได้

ฟังแล้วดูดี ถ้าไม่มีปัญหาใหญ่สองเรื่อง
เรื่องแรก การปนเปื้อนของสารปรอทในปลาทะเล เพราะกรดโอเมก้า-3 ที่ได้กันทุกวันนี้มาจากแหล่งนี้ จากปลาที่ถูกนำไปทำปลาป่นและปลากระป๋อง แล้วน้ำมันปลาที่เป็นผลพลอยได้ถูกนำไปสกัดและบรรจุในแคปซูล เรื่องการปนเปื้อนเป็นเรื่องใหญ่และอันตรายจนถึงขั้นองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ ถึงกับออกมาเตือนให้หญิงตั้งครรภ์ระมัดระวัง อย่ารับประทานปลากระป๋องมากเกินไป รวมทั้งเด็กที่อายุยังน้อยก็ควรระมัดระวังด้วย

ล่าสุด 1 - 2 เดือนนี้เองนิตยสาร Consumer Reports ซึ่งเป็นนิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐ ถึงกับออกมาห้ามไม่ให้ผู้ตั้งครรภ์รับประทานปลากระป๋อง โดยอ้างรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่องค์การฯ แนะนำ ยังมีระดับการปนเปื้อนของสารปรอทสูง

และปัญหาเรื่องที่สอง โอกาสการสูญพันธุ์ของปลาทะเล ถ้าหากมีการบริโภคกรดโอเมก้า-3 ในระดับสากล หรือทุกคนที่เป็นแม่และเป็นเด็กได้รับ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ที่เป็นห่วงได้แก่ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะเป็นที่ทราบกันดี เวลานี้ปลาในทะเลได้ลดจำนวนลงมาก โดยมีสาเหตุมาจากการจับกันไม่หยุด และจับกันโดยไม่เลือกแหล่ง

เมื่อลดลงโอกาสการอยู่รอดของปลาย่อมลดลงด้วย เพราะปลาจำนวนมากกินปลาด้วยกันเป็นอาหาร นี่ขนาดคนเรายังไม่บริโภคกรดโอเมก้า-3 เป็นเรื่องเป็นราว ปลายังลดลงขนาดนี้ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าแม่และเด็กทุกคนจะต้องบริโภคเป็นประจำ

ทั้งนี้ ในทัศนะของพวกนี้ สาเหตุที่คนหันมาสนใจกรดชนิดนี้ ไม่มีอะไรนอกจากการรณรงค์ของบรรดาบริษัทผลิตน้ำมันปลา เพื่อผลักดันราคาของน้ำมันปลาให้สูงกว่านี้เพราะที่ผ่านมายังต่ำ เนื่องจากการบริโภคยังไม่แพร่หลาย โดยการรณรงค์ได้ดำเนินมาถึงขั้นรณรงค์ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หันมาสนใจน้ำมันปลา และนำน้ำมันที่สกัดและบรรจุแล้ว ไปแจกจ่ายให้ประชาชน

ความเป็นไปได้ของเรื่องนี้มีสูง เนื่องจากในหลายประเทศ การทำประมงเป็นอาชีพสำคัญ และชาวประมงเป็นฐานคะแนนเสียงใหญ่ แทนที่จะรณรงค์ให้คนบริโภคน้ำมันปลา พวกที่ต่อต้านเห็นว่า ควรผลักดันพวกนี้หันไปรณรงค์ให้คนนิยมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะดีกว่า โดยพยายามรับประทานหลายๆ ชนิด อย่าซ้ำกัน รวมทั้งรับประทานตอนที่ยังสด หรือไม่ปรุงสุกจนเกินไป

เราควรจะเชื่อใครดี คำตอบคือ เชื่อทั้งสองข้างนั่นแหละ ฟังหู ไว้หู เพราะการปนเปื้อนในปลาทะเลเป็นเรื่องจริง รวมทั้งปลาน้ำจืด และปลาที่เลี้ยงในบ่อ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง อย่ากินปลาบ่อยเกินไป โดยเฉพาะปลาที่ตัวโต อยู่ในน้ำนาน พวกนี้จะสะสมสารเป็นพิษไว้ในตัวมาก

แต่ขณะเดียวกัน น่าจะหันไปดูประเทศญี่ปุ่นบ้าง เพราะนี่เป็นประเทศที่มีการกินปลากันมาที่สุด และคงยังกินมากจนถึงขณะนี้ ซึ่งถ้าการกินปลามีอันตราย มีหรือที่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมนุษย์ที่เสพข่าวสารมากและไวที่สุด จะไม่รู้และตกใจ และมีหรือที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่เตือนภัย

กินไปเถอะปลา แต่อย่ากินมาก ซึ่งรวมทั้งน้ำมันปลาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น