วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

นม...ไหนดีน้า

อาหารคำแรกในชีวิตของลูกรักคือน้ำนม หากเป็นสมัยปู่ย่าตายายไม่มีปัญหาอะไรยุ่งยาก เพียงแค่ถลกชายเสื้อให้ลูกดูดดื่มนมจากเต้า ลูกอิ่มสบาย แม่ก็ไร้กังวล แต่มาสมัยนี้ การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องทำได้สบายบรื๋อเสมอไป โดยเฉพาะแม่ที่ทำงานนอกบ้าน ก็เลยมีการผลิตนมวัวให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงนมแม่มาทดแทน... ไปๆ มาๆ การให้นมแม่ซึ่งเคยเป็นเรื่องธรรมชาติกลับเป็นความแปลกพิเศษไป ทำให้สงสัยว่านมแม่ดีจริงหรือ แล้วหากจะให้ลูกกินนมวัว ก็ยังมีเรื่องกังวลสงสัยว่า นมแบบไหนน้าจะเหมาะกับลูกของแม่ ปัญหาคาใจแบบนี้ ผศ.จงจิตร อังคทะวานิช อาจารย์ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมและโภชนาการสำหรับเด็กได้ให้ข้อมูลข้อคิดอย่างน่าสนใจมากทีเดียว

นมแม่ดีที่สุดในโลก

พอเอ่ยปากถามว่า ถ้าแม่จะเลือกนมให้ลูกแรกเกิด ควรให้ลูกทานนมอะไรดี... อาจารย์จงจิตรตอบโดยไม่ต้องคิดว่า "นมแม่สิคะดีที่สุด..."
"...มีข้อมูลสนับสนุนมากมาย และนักวิทยาศาสตร์ก็พูดเป็นเสียงเดียวว่า นมแม่มีคุณประโยชน์หลายด้าน ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ ในเชิงภูมิคุ้มกันป้องกันโรคต่างๆ มีงานศึกษาวิจัยชัดเจนว่า เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะมีการติดเชื้อน้อยกว่าเด็กที่รับประทานนมอื่นเพราะฉะนั้นจึงไม่คลางแคลงใจแล้วว่า เด็กที่รับประทานนมแม่จะได้ทั้งความแข็งแรง ภูมิต้านทานโรคต่างๆ อีกทั้งดูดซึมได้ดี บางทีแม่อาจรู้สึกว่ามันมีน้อยจัง แต่จริงๆ แล้วแต่ละหยดมีสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอกับความต้องการของทารก แล้วก็เป็นอาหารชั้นดี เช่น โปรตีน ก็เป็นโปรตีนคุณภาพดี ละลายน้ำได้ดี มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่า เช่น นิวคลิโอไทด์ ทอรีน...
ถ้าเราได้โปรตีนชนิดอื่น เช่น จากนมวัว เราก็จะได้ภูมิคุ้มกันของวัว ไม่เหมือนกับภูมิคุ้มกันของคนเรา และโปรตีนในนมวัว บางทีก็มีสารบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ไม่ใช่ทุกคน แต่โปรตีนในนมแม่ไม่ทำให้แพ้
...หยดน้อยๆ นี้มีสารอาหารที่มีคุณค่าที่เรายังวิจัยไม่หมด เฉพาะกรดไขมันอย่างเดียวมีถึง 200 ตัว แล้วในนมแม่ยังมีสารคล้ายๆ ฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการเจริญเติบโต กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้เจริญพัฒนา เพราะทารกเกิดมาลำไส้ยังค่อยๆ พัฒนา ยังย่อยได้ไม่ดีนัก นมแม่จะมีสารเสริมพัฒนาการของลำไส้ ลำไส้จึงค่อนข้างแข็งแรง และก็มีสารที่เป็นภูมิต่อต้านเข้ามาปกป้องลำไส้เด็กไม่ให้ดูดซึมสารแปลกปลอมไม่พึงประสงค์เข้าไป
คุณค่าของนมแม่ที่มีต่อระบบภายในร่างกายลูกดังกล่าว อาจมองเห็นผลไม่ชัดนัก คุณแม่บางคนจึงเกิดความรู้สึกตามที่เห็นว่า...เอ๊ะ! เด็กกินนมอะไรก็เห็นโตเหมือนกันหมด เผลอๆ เด็กที่กินนมผสมจะจ้ำม่ำกว่าน้ำหนักมากกว่า เด็กที่กินนมแม่ค่อนข้างตัวเล็กด้วยซ้ำ เรื่องนี้อาจารย์จงจิตรบอกว่า
"จริงๆ นี่เป็นเรื่องดี เด็กที่กินนมแม่โอกาสจะเป็นโรคอ้วนตอนโตจะน้อย มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาว่า เด็กที่กินนมแม่โดยเฉพาะกินนมแม่ครบปี จะป้องกันโรคอ้วนในอนาคตได้ แล้วนมแม่มีวิตามินมาก ที่ต่ำมีวิตามินดี แต่ก็เพียงพอ ยกเว้นลูกจะอยู่ในที่มืดเลี้ยงไม่โดนแสงเลย อย่างบ้านเราไม่ต้องห่วง แล้วก็ธาตุเหล็กในนมแม่มีค่อนข้างต่ำ แต่ปรากฏว่าเหล็กในนมแม่ดูดซึมได้ดีมากๆ ถ้าเทียบกับนมวัว ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่ถึง 6 เดือนต้องเสริมอาหารเสริมที่ให้ธาตุเหล็ก เช่น ไข่ เลือดหมู ตับ เนื้อหมู ไก่ ปลา"
คุณประโยชน์ของนมแม่ที่ฮือฮากันมากอีกอย่างหนึ่ง คือมีงานวิจัยพบว่านมแม่เกี่ยวข้องกับความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาของเด็ก...
"ในนมแม่มีกรดไขมันตัวหนึ่งที่เราได้ยินจากโฆษณาบ่อยๆ คือ DHA เป็นกรดไขมันที่เราพบในปลาทะเล ในนมแม่มีสารนี้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเด็กที่ทานนมถึง 8 เดือนขึ้นไปจะได้รับประโยชน์มาก มีงานวิจัยศึกษาติดตามเด็กคลอดก่อนกำหนดกลุ่มที่กินนมแม่จนเด็กโตเข้ามหาวิทยาลัย พบว่าโอกาสที่เด็กจะได้เข้ามหาวิทยาลัยสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่
อาจจะมีคำถามว่าแล้วเด็กคลอดครบกำหนดล่ะ... ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่พอสมควร มีการวัดไอคิวเด็ก 7 ปีครึ่งที่กินนมแม่พบว่าจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่อยู่ส่วนหนึ่ง โดยแยกความแตกต่างของฐานะพ่อแม่และการเลี้ยงดูแล้ว"
การพิสูจน์เรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้การติดตามยาวนานและใช้ทุนสูง งานวิจัยเกี่ยวกับนมแม่และความฉลาดหรือสติปัญญาจึงไม่ได้ออกมามากนัก แต่เท่าที่มีอยู่ก็ทำให้นักวิชาการเชื่อว่า นมแม่มีประโยชน์มหาศาลจริงๆ
"ตรงนี้อาจเป็นกำลังใจให้คุณแม่พากเพียรให้ลูกทานนมตัวเอง คนที่ให้นมแม่กับลูกเอง จะรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันต้องอาศัยเทคนิคหลายอย่าง ถ้าขาดความรู้และการให้กำลังใจก็จะท้อไปเลย คิดว่าให้นมผสมจะง่ายกว่า...
...และบางคนคิดว่านมแม่เกิน 4 เดือน 6 เดือนไปแล้วไม่มีคุณค่า จริงๆ กลับไม่ใช่ นมแม่มีกลไกยืดๆ หดๆ ได้ เด็กโตขึ้นกินนมน้อยลง แต่ภูมิคุ้มกันในนมจะเข้มข้นขึ้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เด็กทานปริมาณน้อยแต่ได้คุณค่าครบ เพราะฉะนั้นยังมีคุณค่าอยู่ กินได้จนครบขวบปี หลังจากนั้นจะยังไงก็แล้วแต่ มีคนที่เลี้ยงไปถึง 2-3 ขวบ ก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่โดยธรรมชาติพัฒนาการของเด็ก พอเด็กเริ่มเดินได้ใน 1 ขวบ เด็กจะจากแม่แล้วพอถึงเวลานั้น เขาได้คุณค่าจากอาหารอื่นๆ มาแทนที่นมลำไส้พัฒนาเต็มที่ ลำไส้แข็งแรง เขาก็พร้อมจะเลิกทานนมแม่ได้"

นมผสมทดแทนได้...แต่เลือกให้ถูก

...ทอรีน...

ปัจจุบันนี้นมในท้องตลาดเติมทอรีนกันหมดแล้วโดยอาศัยผลงานวิจัยหลายๆ ชิ้นมายืนยัน ซึ่งการวิจัยพบว่าในนมแม่มีกรดอะมิโนตัวนี้อยู่เยอะ และมีความสำคัญต่อสมอง จอตา จึงเป็นสารที่จำเป็นสำหรับทารกแรกเกิด แต่พอเด็กโตขึ้นเด็กจะได้รับทอรีนจากอาหารอื่นๆ อย่างเพียงพอ

...นิวคลิโอไทด์...

งานวิจัยพบว่ามีมากในนมแม่ เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน การทำงานของลำไส้ ทำให้ดูดซึมสารอาหารได้ดี (เป็นผลจากสัตว์ทดลอง แต่ในคนคงเน้นได้ที่ภูมิคุ้มกันการป้องกันโรคต่างๆ) มีงานวิจัยออกมาบ้างว่าเด็กที่ทานนมเสริมคลิโอไทด์ กับที่ไม่ได้เสริมเด็กจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ท้องเสียน้อยลง ที่เห็นชัดในเด็กที่คลอดออกมาตัวเล็กกว่าอายุจริง ถ้าได้รับนมที่เสริมนิวคลิโอไทด์จะโตไล่ขึ้นมาเท่าเด็กปกติ (ถ้าไม่เสริมก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เด็กด้อยไป)

...DHA...

นมในต่างประเทศอย่างเช่นในยุโรป ญี่ปุ่น มีการเสริม DHA กันแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในบ้านเรา อย.ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน
รู้หรอกว่านมแม่วิเศษปานนั้น แต่แม่บางคนก็จนใจให้นมแม่ไม่ได้จริงจริ๊ง... อย่างเช่นแม่ที่ทำงานนอกบ้าน แม่ที่มีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ ก็เลยต้องให้นมผสมแทน ซึ่งเป็นนมผงที่ทำจากนมวัวและเติมสารที่เป็นประโยชน์ต่อลูกให้ใกล้เคียงนมแม่
นมผงสำหรับเด็กในท้องตลาดเวลานี้ ถ้าดูตามฉลากข้างกระป๋องก็จะเห็นว่ามีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก แรกเกิด - 6 เดือน นมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 1 ปี และนมผงธรรมดา... นี่แบ่งตามที่ฉลากนมระบุ ความแตกต่างหลักๆ ของนมทั้ง 3 ชนิดก็คือมีการเพิ่มโปรตีนมากขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุดในนมผงธรรมดาสำหรับเด็กโต
ตรงนี้อาจารย์จงจิตรให้หลักคิดในการเลือกนมผงให้ลูกว่า... "ต้องดูที่โปรตีน นมผงดัดแปลงสำหรับแรกเกิด โปรตีนจะต้องต่ำ เพราะขืนมีโปรตีนสูงเท่ากับนมผงธรรมดา จะมีปัญหาเพราะไตเด็กยังไม่พร้อม นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจึงต้องเอาโปรตีน เอาแร่ธาตุหลายตัวออก... คุณแม่บางคนเอากระป๋องมาเทียบกันเลย เลือกเอามากที่สุด โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ... จริงๆ ต้องพอดี น้อยไปมากไปก็ไม่ดี
เวลาเด็กได้รับโปรตีนมากเกินไปดูด้วยตาอาจไม่รู้ เคยมีแม่อยากให้ลูกโตเร็วๆ เลยชงนมข้นสุดๆ ปรากฏว่าเด็กเริ่มซึม เนื่องจากลูกยังขับถ่ายของเสียจากโปรตีนที่เป็นไนโตรเจนได้ไม่ดี ของเสียก็ค้างในเลือด มีผลให้ซึม ร้องกวน โยเย กว่าคุณแม่จะรู้ก็แย่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องชงด้วยอัตราส่วนที่กำหนดไว้ข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด"
โปรตีนในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกแรกเกิด โปรตีนอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 1.9 ส่วนนมสูตรต่อเนื่อง จะมีโปรตีนประมาณ 2.2 ไปถึง 2.9 หรือ 3.00 และนมผงสำหรับเด็กโตโปรตีนจะอยู่ที่ 3.3 เพราะฉะนั้นเอานมสูตรต่อเนื่องหรือนมผงธรรมดามาให้เด็กแรกเกิดทานไม่ได้
"...แล้วที่บางคนเข้าใจว่าเด็กเมื่อโตขึ้น 6 เดือนขึ้นไปความต้องการโปรตีนน่าจะมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะมองความเข้มข้นของโปรตีน เด็กเขาโตขึ้นเขาจะทานนมปริมาณเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว... ความคิดเดิมที่คิดว่าเด็กโตขึ้นต้องการโปรตีนมากขึ้น เลยมีการทำนมสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก 6 เดือนขึ้นไปให้มีโปรตีนเข้มข้นต่อซีซี.มากขึ้น... แต่จริงๆ แล้วในนมดัดแปลงสำหรับทารกแรกเกิด โปรตีนประมาณ 1.5 มันใกล้เคียงกับความต้องการของเด็ก 6 เดือนหลัง ไม่มีเหตุอะไรที่เราจะเปลี่ยน ...มันเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างในยุโรป ราคานมผงสูตรต่อเนื่องถูกกว่านมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยอนุโลมว่าครอบครัวไหนไม่สามารถเลี้ยงด้วยนมดัดแปลงสำหรับทารก ก็เปลี่ยนนม ...มีบางประเทศเขาให้เด็ก 6 เดือนทานนมแบบเด็กโตเลย อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา เขาไม่มีนมสูตรต่อเนื่องมาคั่นกลาง เด็ก 7-8 เดือนเปลี่ยนมากินนมผงธรรมดา แต่ในยุโรปหรือญี่ปุ่นเขาคิดว่ามันเร็วไป ก็เลยมีนมสูตรต่อเนื่องมาคั่นกลาง"

ข้อสรุปในการเลือกนมผงสำหรับลูกจากอาจารย์จงจิตรก็คือ ถ้าไม่ได้ทานนมแม่ใน 6 เดือนแรกก็ให้ลูกทานนมผงดัดแปลงสำหรับทารก พอลูกอายุ 6 เดือนแล้วจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ไม่จำเป็น อาจจะให้ลูกทานนมผงดัดแปลงสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดไปจนครบขวบ แล้วต่อไป 1 - 3 ปี ค่อยเปลี่ยนไปทานนมสูตรต่อเนื่อง จนลูกอายุ 3 ปีขึ้นไปค่อยทานนมผงสำหรับเด็กโต
"มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า  หลังขวบไปแล้วจะใช้นมผงธรรมดาหรือนมยูเอชทีก็ได้ แต่ต้องดูความพร้อมของลูกด้วย ระบบย่อยของลูกทำงานได้ดีแล้วถ้าอยู่บ้านไม่ลำบากก็ชงนมสูตรต่อเนื่อง ถ้าออกข้างนอกจะทานนมกล่องก็ได้ หรือจะทานนมยูเอชทีทั้งหมดก็ได้ ถ้าลำไส้ไม่มีปัญหา"
-------------------------------
เก็บไม่ทำลายคุณค่า
-------------------------------
นมผสมถ้าถูกความร้อนมากเกินไปจะทำลายคุณค่าได้ แต่นมผงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้น้ำร้อนผสม ใช้น้ำอุ่นๆ ก็ได้ และไม่ควรเก็บกระป๋องนมในที่ร้อน เช่น ตั้งไว้หลังตู้เย็น วางไว้ในที่แดดส่องหรือปิดฝาไม่สนิท ความชื้นเข้าได้
นมแม่ที่บีบใส่ขวด เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ 24 ชั่วโมง ควรใช้วันต่อวัน ถ้าจำเป็นต้องเก็บในช่องแช่แข็ง เก็บได้เป็นสัปดาห์ แต่อาจสูญเสียคุณค่าบางอย่างไปนิดหน่อย
---------------------------------------------
รู้ได้ไงว่าลูกไม่ถูกกับนมชนิดนี้
---------------------------------------------
เวลาเปลี่ยนชนิดนมให้ลูกอาจเจอปัญหาลูกไม่ถูกกับนมที่เปลี่ยน โดยมากจะมีอาการท้องผูก อย่างนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าลองถอยกลับมากินนมชนิดเดิม ถ้าดีขึ้นแสดงว่าระบบย่อยอาหารดูดซึมอาหาร ตับ ไต ลูกยังไม่พร้อม ถ้ามีอาการท้องเสียอาจยังไม่ชัด ลูกอาจท้องเสียเพราะอาหารอย่างอื่นก็ได้ นอกเสียจากลูกจะแพ้นมวัว อย่างนี้ก็ต้องปรึกษาแพทย์หรือนักวิชาการ
หรือเด็กบางคนก็อาจจะจู้จี้เรื่องกินตั้งแต่เล็ก เวลาเปลี่ยนนม ลูกอาจจะดื่มน้อยลง เพราะได้กลิ่นหรือรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งแต่ละยี่ห้อมันจะมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดรสและกลิ่นที่ต่างกัน โดยเฉพาะส่วนผสมที่เป็นไขมันน้ำมัน เช่น น้ำมันปาล์ม ก็ต้องเปลี่ยนนมที่มีส่วนผสมของน้ำมันเปลี่ยนไป ส่วนกลิ่นหอมมาจากส่วนผสมของมันเนย ไขมันของนมบางยี่ห้อเอาน้ำมันพืชผสมนิดหน่อย แต่สัดส่วนของไขมันหรือเนยยังอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นจะได้กลิ่นอยู่ บางยี่ห้อเอาไขมันนมออก แล้วเอาน้ำมันพืชใส่เข้าไป 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คงต้องลองเปลี่ยนให้ลูกชอบด้วย
--------------------------------------------
ลูกกินนมแค่ไหนดี
--------------------------------------------
6 เดือน นม 5 มื้อ อาหารหลัก 1 มื้อ
9 เดือน นม 4 มื้อ อาหารหลัก 2 มื้อ
12 เดือน นม 3 มื้อ อาหารหลัก 3 มื้อ
(นม 6-8 ออนซ์ วันละ 3 ขวด ไม่ควรเกิน 1 ลิตร หรือ 33 ออนซ์)
หลังจากนั้นในวัยเด็ก - วัยรุ่น ควรดื่มนมประมาณวันละ 2 - 3 แก้ว และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เหลือวันละ 1 แก้ว
--------------------------------------------
ลูกแพ้นมวัว
--------------------------------------------
ถ้าลูกแพ้นมผสม อาการจะมีอาเจียนพุ่ง ดื่มนมไปสักประมาณ 15 -20 นาทีแล้วอาเจียนออกมา พอเลยไปสัก 2 - 3 วัน จะเริ่มมีผื่นที่หน้า ข้อศอก ลำตัว อาจท้องเสีย หายใจครืดๆ คือมีอาการทางระบบหายใจ เด็กบางคนอาจจะมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีหลายอาการร่วมกันก็ได้
ปัญหาอยู่ที่โปรตีนในนม เราก็ต้องเปลี่ยนชนิดของโปรตีน ก็อาจเปลี่ยนไปทานนมถั่วเหลืองหรือเปลี่ยนไปกินนมที่ย่อยสลายโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลง ทำให้แพ้น้อยลง แต่นมชนิดนี้รสชาติแย่มาก เฝื่อน กินลำบาก และราคาแพง ส่วนใหญ่เลยให้นมถั่วเหลือง แต่เด็กใน 10 คนที่แพ้นมวัวอาจจะแพ้นมถั่วเหลืองด้วย แต่รสชาตินมถั่วเหลืองจะกินง่ายกว่าราคาถูกกว่า ถ้าแพ้นมถั่วเหลืองอีกก็ต้องหันไปทานนมย่อยสลายโปรตีน
เด็กที่แพ้นมวัว พอ 1 ขวบ ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ครบขวบแล้วลองเปลี่ยนเป็นนมวัวดู โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ เด็กส่วนหนึ่งจะหายถ้าเปลี่ยนแล้วมีปัญหาก็กลับมาทานนมถั่วเหลืองอย่างเดิมก่อน แล้วอีก 6 เดือนค่อยลองใหม่ พอเด็กอายุสัก 2 ขวบ หรือมากกว่านี้นิดหน่อยจะค่อยๆ ดีขึ้น
ส่วนนมแม่เด็กจะไม่แพ้ ยกเว้นเด็กมีปัญหาภูมิแพ้ แพ้นมวัว แล้วตอนก่อนคลอดแม่กินนมวัวเยอะ ก็จะถ่ายเทมาทางน้ำนม อย่างนี้ป้องกันได้ ถ้าคุณแม่มีประวัติภูมิแพ้ช่วงก่อนคลอดสักเดือนงดผลิตภัณฑ์นม ก็จะช่วยได้ ลูกก็ทานนมแม่ได้

มาถึงตรงนี้ คงหมดปัญหา ...นมไหนดีน้าแล้วสินะ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น