วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เจดีย์ช้างค้ำ เอกลักษณ์ขององค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น


เจดีย์ช้างค้ำ เอกลักษณ์ขององค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น
..........องค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น สร้างไว้โดยพญามังรายคราวเมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้วในปี พ.ศ.1839
..........ในครั้งนั้นบริเวณที่ประทับชั่วคราวที่ตำบลเชียงมั่นแห่งนี้ พระองค์เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นหอนอนของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เกรงว่าหากมีผู้มาอยู่อาศัยและนอนทับสถานที่นี้จะเป็นเสนียดจัญไรแก่ผู้นั้น จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์คร่อมทับตำแหน่งหอนอนนี้ไว้ แล้วสร้างวัดขึ้นถวายแก่พระรัตนตรัย คือ แก้วสามประการ อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
..........หลังจากนั้นมีการบูรณะหลายครั้ง มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 76 วัดเชียงมั่นว่า พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 โปรดให้บูรณะพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2014 และต่อมาได้มีการบูรณะอีกครั้งโดยพญาแสนหลวงเมื่อ พ.ศ.2114
..........จากการศึกษาของคุณสุรพล ดำริห์กุล เรื่องเจดีย์ช้างล้อมกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย ได้ข้อมูลว่าพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นที่ปรากฏอยู่เป็นพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับการบูรณะเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นเจดีย์ช้างล้อมในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพราะในช่วงเวลานั้นเจดีย์แบบช้างล้อมกำลังได้รับความนิยมสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่หลายแห่ง อาทิ เจดีย์ร้างวัดป่าแดงหลวง (ร้าง) พระธาตุเจดีย์หลวง รวมทั้งที่เจดีย์วัดหัวหนอง (ร้าง) และเจดีย์วัดช้างค้ำ ในบริเวณเวียงกุมกามอีกด้วย ส่วนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 พญาแสนหลวงได้ทำการบูรณะ ซึ่งคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแต่อย่างใด
..........อย่างไรก็ตาม พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นแห่งนี้ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งในราวพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง ดังนั้นสภาพของพระธาตุเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายบัวและลวดลายประดับไปในบางส่วน แต่แบบแผนส่วนใหญ่ยังคงรักษาลักษณะเดิม

ลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม
..........ลักษณะของพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ ที่ฐานมีช้างล้อม แบบแผนของพระธาตุเจดีย์ประกอบด้วย ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 11 เมตร มีรูปช้างปูนปั้นยืนสองขาหน้าและหัวโผล่ออกมาจากผนังครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ จำนวน 15 เชือก ด้านทิศตะวันออกมีบันไดขึ้นไปถึงเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรองรับเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจระนำด้านละ 3 ช่อง ซุ้มตรงกลางเป็นจระนำซุ้มลด เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นบัวถลา มีลักษณะเป็นหลังเอนลาดซ้อนลดหลั่นกันสองชั้นยกเก็จต่อเนื่องจากเรือนธาตุ รวมทั้งชั้นลดรูปฐานปัทม์ด้านบนด้วย
..........ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น มีบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆังกลมมีขนาดเล็ก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ยกเก็จ มีก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลียอด และฉัตรประดับที่บริเวณเหนือเรือนธาตุ นับตั้งแต่มาลัยเถาขึ้นไปประดับด้วยแผ่นทองจังโกและปิดทองอร่ามทั้งองค์
..........พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นนี้ ได้ปรากฏมีร่องรอยของการบูรณะมาโดยตลอด ผลของการบูรณะทำให้ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะช้างปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่ปรากฏอยู่นั้นไม่อาจนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันส่วนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรองรับเรือนธาตุที่ค่อนข้างเตี้ยและขนาดของยกเก็จเรือนธาตุที่ตื้น ตลอดจนการเพิ่มจระนำเล็กที่ขนาบอยู่ทั้งสองด้านของจระนำกลาง เป็นลักษณะที่ไม่ปรากฏในเจดีย์องค์ใดในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงการได้รับบูรณะครอบทับในภายหลัง นอกจากนี้แล้ว ลวดลายปูนปั้นประดับบนบานประตูหลอกที่เป็นลายแผงกุดั่นดอกลอย น่าจะเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะรัตนโกสินทร์ ร่องรอยต่างๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นการบูรณะขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง
..........แม้ว่าพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นจะได้รับการบูรณะมาโดยตลอด แต่องค์ประกอบของลวดบัวองค์พระธาตุเจดีย์เป็นลักษณะของเจดีย์ช้างล้อมที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีแบบแผนใกล้เคียงกับพระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง ดังนั้นพระธาตุเจดีย์ช้างล้อมวัดเชียงมั่นแห่งนี้ จึงควรเป็นองค์พระธาตุเจดีย์ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะขึ้นใน พ.ศ.2014 และได้รับการบูรณะในเวลาต่อมาอีกหลายครั้ง จึงทำให้รายละเอียดทางศิลปกรรมบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ยังคงเป็นเจดีย์ช้างล้อมเหมือนเดิม

เจดีย์ช้างล้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และคติการใช้รูปช้างประดับศาสนสถาน
.........."เจดีย์ช้างล้อม" เป็นชื่อเรียกเจดีย์ของไทยรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือเจดีย์ทรงกลม ซึ่งส่วนฐานมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างประดับอยู่โดยรอบ จึงมีชื่อเรียกไปตามรูปทรงและองค์ประกอบทางศิลปกรรมว่า "เจดีย์ช้างล้อม"
..........ในดินแดนประเทศไทย ได้ปรากฏมีเจดีย์ช้างล้อมอยู่เป็นอันมากตามเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า เจดีย์ช้างล้อมนี้จะเป็นอิทธิพลของศิลปะที่แพร่หลายมาจากเกาะลังกาที่เข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นบุคคลแรกที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเจดีย์ช้างล้อมไว้ว่า พระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย ถ้าว่าโดยรูปสัณฐานจะทำอย่างพระสถูปลังกาแทบทั้งนั้นเลย เป็นต้นแบบอย่างพระสถูปซึ่งสร้างกันสืบมาจนทุกวันนี้ บางองค์ที่เป็นสถูปสำคัญมักทำเป็นรูปช้างโผล่หน้าครึ่งตัวล้อมรอบ ก็เอาแบบมาแต่พระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐคามิณีมหาราชในลังกาทวีป ความเห็นดังกล่าวนี้ได้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีนักวิชาการอีกหลายๆ ท่าน ได้เสนอความเห็นไว้อย่างสอดคล้องกัน

คติความเชื่อของการใช้รูปช้างประดับศาสนสถาน
..........คติการใช้รูปช้างประดับศาสนสถานนั้นน่าจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนาตั้งแต่สมัยโบราณและยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติเป็นอันมาก
..........ประติมากรรมรูปช้างพบครั้งแรกในศิลปะอินเดียโบราณที่เมืองโมเหนโจตาโรและเมืองฮารัปปา เป็นประติมากรรมขนาดเล็ก ใช้เป็นที่ประทับตรา สำหรับประติมากรรมรูปช้างที่นำมาประกอบกับสถูปที่เก่าที่สุด คือ ที่สถูปสาญจีในแคว้นโคปาล ทางภาคกลางของประเทศอินเดียซึ่งสร้างขึ้นราว พ.ศ.400-500 ลักษณะเป็นภาพสลักนูนต่ำที่โตรณะหรือประตูทางเข้า นอกจากนี้ยังพบภาพสลักรูปช้างที่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 ลักษณะของเสานี้ ตรงเท้าสิงโตทั้ง 4 จะมีวงล้อ 4 วง ระหว่างวงล้อแต่ละวงได้มีการจำหลักเป็นรูปสัตว์ในช่วงล้อแต่ละตัว มีรูปช้าง ม้า สิงห์ และโค รวม 4 ตัว เสาเหล่านี้มีความหมายแห่งจักรพรรดิ ถือเป็นรัตนะประการหนึ่งของกษัตริย์ด้วย
..........ส่วนแคว้นล้านนานั้น แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มบ้านเมืองของมอญและพม่าที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มาเป็นเวลานานแล้ว แต่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ระลอกสำคัญที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในล้านนานั้นผ่านมาทางแคว้นสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายรามัญกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายสีหลในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่โบราณสถานของล้านนาแสดงอิทธิพลทางศิลปกรรมสุโขทัยอย่างชัดเจน โบราณสถานที่แสดงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เหลือหลักฐานอยู่ ได้แก่ เจดีย์ช้างล้อม วัดป่าแดงหลวง (ร้าง) เชิงดอยสุทพ เมืองเชียงใหม่ เจดีย์ช้างล้อมวัดป่าแดงหลวง (ร้าง) แห่งนี้ มีทรวดทรงตามแบบฉบับของล้านนา นอกจากนี้เจดีย์แบบช้างล้อมที่มีพัฒนาการในดินแดนล้านนาแห่งอื่น เช่น พระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นต้น (เจดีย์ช้างล้อมกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย, สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)