วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-รู้จักกับประวัติพระสิริมังคลาจารย์มหาเถระปราชญ์เอกแห่งล้านนาไทย

 เชียงใหม่-รู้จักกับประวัติพระสิริมังคลาจารย์มหาเถระปราชญ์เอกแห่งล้านนาไทย


...พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก แตกฉานทั้งอรรถและพยัญชนะรอบรู้เรื่องสรรพวิชาทางพระพุทธศาสนามีความสามารถในการรจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ยอมรับในวงนักปราชญ์ลานนาในอดีตและทั่วโลกปัจจุบัน เพราะคัมภีร์ท่านแต่งไว้แม้หลงเหลืออยู่เพียง ๔ คัมภีร์ แต่กลับมีคุณอนันต์แก่ชาวพุทธในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะมังคลัตถทีปนี คัมภีร์อันดับที่ ๔ ได้รับการยกย่องให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่เปรียญธรรม ๔,๕,๖ และ ๗ ประโยค จวบจนกระทั่งปัจจุบันแต่ที่ว่าประวัติความเป็นมาของท่านยังไม่กระจ่างชัด เพราะยังขาดหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีปรากฏในท้ายคัมภีร์ที่ท่านได้แต่งขึ้นทั้ง ๔ คัมภีร์กล่าวตรงกันว่า ท่านเป็นศิษย์ของท่านมหาวีระอยู่ที่วัดสวนขวัญและรจนาคัมภีร์แต่ละคัมภีร์ในปี พ.ศ.ไหนเท่านั้น ส่วนประวัติก่อนและหลังท่านรจนาคัมภีร์ยังไม่ปรากฏหลักฐาน อาศัยแต่เพียงการสันนิษฐานของเหล่านักวิชาการซึ่งมีหลายข้อสันนิษฐานดังนี้คือ

๑. รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง ได้พบคัมภีร์ใบลานเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ที่วัดข่วงสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขียนด้วยอักษรพื้นเมือง ลักษณะอักษรสมัยพระเจ้าดิลกปนัดดา (พระเจ้าเมืองแก้ว พ.ศ.๒๐๒๙-๒๐๖๙) ผู้เขียนชื่อพระศรีวิชัย เป็นเจ้าอาวาสวัดหอพระ ปัจจุบันคัมภีร์นี้ได้สูญหายไปจากวัดข่วงสิงห์ หลังจากรองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง ได้ส่งคืนให้กับวัด

...ข้อความในคัมภีร์กล่าวได้ว่า "พระสิริมังคลาจารย์" เป็นชาวเมืองเชียงใหม่ นามเดิมคือ ศรีปิงเมือง วันที่ท่านจะถือกำเนิด เกิดพายุใหญ่พัดจนบ้านพังทลาย มารดาท่านจึงเข้าไปหลบพายุอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ (ไม้ศรี) ใหญ่และได้กำเนิดท่าน ณ ที่โคนต้นโพธิ์ บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า "ศรีปิงเมือง" ศรีปิงเมืองบรรพชาตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะเป็นสามเณรอายุ ๑๓ ปี ได้ชักชวนชาวบ้านสร้างวัดบริเวณบ้านเกิด (บ้านตำหนักในปัจจุบัน) เรียกชื่อว่า "วัดเวฬุวนาราม" (วัดป่าไผ่) ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดไผ่เก้ากอ" เหตุว่วัดตั้งอยู่บริเวณกอไผ่ ๙ ต้น ศรีปิงเมืองสามเณรอาศัยอยู่วัดนี้จนกระทั่งอุปสมบทได้ฉายาว่า "พระสิริมังคละ" ครั้นอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดนี้เรื่อยมา ต่อมาพระเจ้าดิลกปนัดดาทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ทั้งได้ถวายสมณะศักดิ์ให้เป็น "สิริมังคลาจารย์" ตามฉายาเดิม ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) จนกระทั่งมรณภาพ

๒. แสน ธรรมยศ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระสิริมังคลาจารย์ไว้ว่า พระสิริมังคลาจารย์อาจเป็นราชบุตรองค์ใดองค์หนึ่งในจำนวน ๑๐ พระองค์ของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ถูกท้าวลก ราชบุตรองค์ที่ ๖ ชิงราชสมบัติ ราชบุตรองค์อื่นๆ หนีราชภัยกันไป ส่วนท่านสิริมังคลาจารย์เสด็จออกบวชหนีราชภัย

...ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก กล่าวถึงราชบุตรทั้ง ๑๐ พระองค์ ของพระเจ้าสามฝั่งแกนว่า ราชบุตรองค์โตสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ ชันษา ท้าวงั่วราชบุตรองค์ที่ ๕ ได้รับการแต่งตั้งไปกินพันนาเชียงเรือนามว่า เจ้าเชียงแสน ท้าวลกราชโอรสองค์ที่ ๖ ไปครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดโอรสองค์ที่ ๗ ไปครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบโอรสองค์ที่ ๑๐ ไปครองเมืองฝาง ส่วนราชบุตร ๕ พระองค์คือ ท้าวยี ท้าวสาม ท้าวไส ท้าวแปด ท้าวเก้าจากไปตามกรรมแล สำนวนว่า "ไปตามกรรมแล" นี้อาจหมายถึงสิ้นพระชนม์ หรือมีวิถีชีวิตต่างๆ กันไป ในลักษณะที่เป็นพลเมือง หลังจากท้าวลกราชบุตรองค์ที่ ๖ ชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนผู้เป็นพระราชบิดา ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ ทำให้รัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด พระเจ้าติโลกราช (พระเมืองแก้ว) ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ กล่าวถึงพระราชโอรสที่เหลืออีกเลย

...ดังนั้นจากมูลข้างต้น รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ได้วิเคราะห์ไว้ว่า พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกนซึ่งพระองค์ทรงหนีราชภัยในปีที่ท้าวลกชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนจริง สมมติว่าพระสิริมังคลาจารย์เริ่มบวชเมื่ออายุ ๒๐ ปี ช่วงเวลาที่ท่านได้ทำการแต่งคัมภีร์บาลีทั้ง ๔ คัมภีร์คือระหว่าง พ.ศ.๒๐๖๐-๒๐๖๗ ท่านจะมีอายุระหว่าง ๗๕-๘๒ ปี อาจเป็นพระเถระที่มีอายุมากเกินกว่าที่จะแต่งคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ อนึ่งหากพระสิริมังคลาจารย์นี้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกนและออกผนวชเป็นพระเถระที่ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิ ดังนั้นน่าจะมีหลักฐานกล่าวถึงเป็นพิเศษในเอกสารต่างๆ ของล้านนา โดยเฉพาะใน "ชินกาลมาลีปกรณ์" ดังนั้น รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ในบันทึกที่กล่าวว่าพระสิริมังคลาจารย์เป็นคนหมู่บ้านตำหนักโดยกำเนิด บรรพชาแล้วชักชวนชาวบ้านสร้างวัด และจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้ตามรายละเอียดในคัมภีร์ใบลานที่รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง อ้างถึงเป็นข้อมูลที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า

...ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระสิริมังคลาจารย์มีพื้นเพเป็นชาวบ้านตำหนัก บรรพชาและอุปสมบท ณ วัดแห่งนี้รวมทั้งได้แต่งคัมภีร์บาลีทั้ง ๔ คัมภีร์ ที่วัดตำหนัก และบริเวณสุญญาคาร (เรือนว่าง) ใกล้เคียง ท่านมรณภาพที่วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) ผลงานบาลีที่ท่านแต่งทั้ง ๔ เรื่อง ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันคือ

๑. เวสสันดรทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๗๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๐ ในรัชกาลของพระเมืองแก้ว เป็นคัมภีร์อธิบายเวสสันดรชาดก ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)

๒. จักรวาลทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๘๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๓ รัชกาลพระเมืองแก้วเช่นกัน เป็นวรรณกรรมว่าด้วยเรื่องโลกและจักรวาล (โลกธาตุ) พรรณาถึงภูมิของสัตว์ต่างๆ ลักษณะของสัตว์ที่เกิดในภูมิต่างๆ อาหารของสัตว์ ภูเขา แม่น้ำ สระ หนอง คลอง บึง เกาะ ทวีป เทวดา และอสูร เป็นต้น แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)

๓. สังขยาปกาสกฎีกา แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๘๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๓ เป็นคู่มืออธิบายเรื่องการนับเวลา การวัด ชั่ง ตวง ระยะทาง ฤดูกาล และการใช้เงินตรา ที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา เป็นต้น แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)

๔. มังคลัตถทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ ร.ศ. ๘๘๖ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๗ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในมงคลสูตร ซึ่งเป็นสูตรในสุตตนิบาต พระสุตันตปิฎก ซึ่งแสดงถึงหลักการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมงคลขึ้นในชีวิต ๓๘ ประการ แต่งที่สุญญาคาร

หมายเหตุ : มังคลัตถทีปนี ผลงานอันดับที่ ๔ ปัจจุบันใช้เป็นหนังสือหลักสูตรการเรียนการสอนบาลี ของคณะสงฆ์ไทยเปรียญธรรม ๔-๕-๖-๗


วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ยอง หรือ ไทยอง

 ยอง หรือ ไทยอง

...ชาวล้านนาจะออกเสียงเป็น "ญอง" แต่กลุ่มชาวไทยองมักออกเสียงเป็น "ยอง"

ชื่อยอง หรือ ไทยอง นี้ ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง 

และกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆ ในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน

เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ กลุ่มชาวเมืองยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่

ด้วยสาเหตุของสงครามการรวบรวมกำลังคน ต่อมาก็ได้กระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา


...จากการสำรวจครั้งล่าสุด (พ.ศ.๒๕๓๖) การเดินทางจากประเทศไทยไปเมืองยอง ตามเส้นทางที่เริ่มจากท่าขี้เหล็ก

ผ่านเมืองโก ตลาดท่าเดื่อ (เมืองเลน) ถึงเมืองพะยาก ระยะทาง ๘๓ กิโลเมตร สภาพทางอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้กว้างขึ้น

ก่อนถึงเมืองพะยากเป็นตลาดซึ่งมีทางแยก หากแยกขวาจะไปเมืองยอง แยกทางซ้ายไปเชียงตุง

ถนนจากเมืองพะยากไปเมืองยองระยะทาง ๗๔ กิโลเมตร ถนนแคบเต็มไปด้วยฝุ่น รถวิ่งได้เฉลี่ย ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สรัสวดี อ๋องสกุล พ.ศ.๒๕๓๗)


...คำว่ายองหรือ "ญอง" อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง

ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคนคร" (ตำนานเมืองยอง)

ทั้งนี้ในภาษาล้านนา คำว่า "ยอง" แปลว่าสดใส เปล่งปลั่ง


...เมืองยองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายประมาณ ๑๕๗ กิโลเมตร

บริเวณเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก 

แม่น้ำสายสำคัญ คือ น้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก


...เมืองยองมีประตูเวียง ๗ ประตู คือ ประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประม่อนแสน ประตูปางหิ่ง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง

บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิ์มีไม้ค้ำโดยรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรีเช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา


...เมืองยอง เป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวถึงพัฒนาการของบ้านเมืองที่เริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งได้แก่พวกลวะหรือทมิฬ 

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีกลุ่มคนไทยจากเมืองเชียงรุ่ง นำโดยเจ้าสุนันทะโอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง

ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง 

โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน

ได้แก่ การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง

กับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง 

ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและระบบบรรณาการกับเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุงและ

การสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง

เช่น เชียงแสน เชียงของ เป็นต้น เมืองยองในยุคต้นของตำนานจึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมืองเชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด


...จากความสัมพันธ์ดังกล่าว คนเมืองยองจึงสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่นๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ

และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๔๘ คนทั่วไปจึงเรียกว่า "คนเมืองยอง"

เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น 

ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียกขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม 

เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น

ในกรณีของคนเมืองยองต่อมาคำว่า "เมือง" ได้หายไป คงเหลืออยู่แต่คำว่า "ฅนยอง"

ดังนั้น "ยอง" จึงมิใช่เป็นชาติพันธุ์ 

เมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว คนยองก็คือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง


...เมืองยอง ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบไม่กว้างใหญ่นัก มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำที่ดี

นับเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจึงมีผู้คนอพยพจากที่ต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดเวลา

เขตกำแพงเมืองลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ดังนี้

      ด้านเหนือ        ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน

      ด้านใต้           ติดที่ราบโดยมีแม่น้ำยองไหลผ่าน มีประตูเสื้อเมือง

      ด้านตะวันออก  ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง และประตูน้อย

      ด้านตะวันตก    ติดเทือกเขา มีประตูปางหิ่ง


...ในยุคที่อาณาจักรล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจ เมื่อกองทัพฮ่อยกกองทัพเข้ายึดเมืองยองได้และเลยมาตีถึงเชียงแสน สมัยพระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.๑๙๔๗-๑๙๔๘) กองทัพเชียงใหม่สามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเชียงแสนและเมืองยองได้ 

เมืองยองจึงได้หันมาส่งบรรณาการให้กับเชียงใหม่ ในสมัยที่ล้านนามีอำนาจสูงสุด พระญาติโลกราช (พ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐) ได้ขึ้นไปปกครองเมืองยองอยู่ระยะหนึ่งในราว พ.ศ.๑๙๘๕ เพราะตำนานเมืองยอง และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจของล้านนาไปจนถึงดินแดนสิบสองพันนา

พระญาติโลกราช ซึ่งในตำนานได้ระบุว่า "พระเจ้าอโศก" ได้บูรณะพระธาตุจอมยอง และทรงทะนุบำรุงพุทธศาสนาในเมืองยองให้เจริญมั่นคง 

สันนิษฐานว่าพุทธศาสนาแบบลังกาได้ขึ้นไปเผยแผ่ถึงหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนระยะเวลานี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเชียงใหม่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย


...ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ในยุคที่อาณาจักรขนาดใหญ่ได้ขยายตัวออกไปโดยการทำสงคราม เช่น พม่า จีน หรือสิบสองพันนา

ดังนั้น ล้านนาและล้านช้างจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังคน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขยายอำนาจและการสร้างอาณาจักร และยังใช้เป็นสิ่งที่แสดงอิทธิพลเหนือดินแดนต่างๆ ในปริมณฑลแห่งอำนาจหรือเมืองชายขอบ

จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองยองจึงอยู่ท่ามกลางการขยายอำนาจ และการแสดงอิทธิพลของศูนย์อำนาจต่างๆ ตลอดเวลา

การอยู่ในฐานะรัฐกันกระทบหรือรัฐกันชน (Buffer State) ระหว่างอาณาจักรใหญ่ จึงต้องปรับตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจจากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ทำให้เมืองยองมีลักษณะเป็นเมืองที่เรียกกันว่า "เมืองสามฝ่ายฟ้า" เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการ (tribute) และเชิงอำนาจกับจีน พม่า และเชียงใหม่

ในเวลาเดียวกันในยามทำสงคราม เมืองยองจึงถูกดึงเข้าสู่การสู้รบโดยถูกเกณฑ์ทั้งเสบียงอาหารและผู้คน ตลอดจนการกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ 

ครั้งที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ เมื่อกองทัพเชียงใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ นำโดยเจ้าอุปราชธัมมลังกา และเจ้าคำฝั้น ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนที่เคยมีความสัมพันธ์กันในด้านสังคมและวัฒนธรรม มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพระเจ้ากาวิละ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองต่างๆ ในล้านนา เพราะได้รับความเสียหายจากสงครามและการยึดครองของพม่า


...เมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายที่พม่าได้ใช้เป็นฐานกำลังสำคัญในการควบคุมหัวเมืองต่างๆ ในดินแดนทางตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้ถูกกองทัพของเจ้ากาวิละตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ ในปีถัดมา พ.ศ.๒๓๔๘ กองทัพจากหัวเมืองต่างๆ นำโดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปถึงเมืองยองและได้ "เทครัว" คือนำผู้คนในเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้คนเบาบาง

การ "เทครัว" จากเมืองยองครั้งนี้ เป็นการอพยพผู้คนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่มีการนำมาทั้งระบบของเมืองอันประกอบด้วยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และผู้นำท้องถิ่นระดับต่างๆ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน


...ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละและญาติ ได้ตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางเขตเมืองลำพูน จนมีกำลังคนเพียงพอแล้ว จึงได้เข้ามาตั้งมั่นและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละยังได้ดำเนินการรวม และกวาดต้อนผู้คนต่อมาอีกหลายครั้ง และได้ขยายขอบเขตการกวาดต้อนผู้คนออกไปยังบริเวณอื่น โดยเฉพาะในแถบตะวันออกของแม่น้ำคง 

ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ดำรงตำแหน่งเจ้าประเทศราช ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ ทำให้พระเจ้ากาวิละเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาและหัวเมืองทางตอนบน

อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากในคราวที่พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปตีเชียงแสน ในปี พ.ศ.๒๓๔๕-๒๓๔๗ ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกรุงเทพฯ เวียงจันทน์ เมืองลำปาง เมืองน่าน และครั้งที่ยกไปตีและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้รับการสนับสนุนกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน และเชียงตุง ที่มีกำลังคนถึง ๑๙,๙๙๙ คน นับเป็นการยกทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้ากาวิละ


...หลังจากทัพพม่าที่เชียงแสนถูกทัพจากเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ แล้ว ทัพเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปตีเมืองยองก่อนเมืองอื่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ว่าเป็นศูนย์อำนาจย่อยของหัวเมืองบริเวณใกล้เคียง

ดังเช่นในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๙๑) พม่าได้มอบหมายให้เมืองยองดูแลหัวเมืองต่างๆ ถึง ๑๒ หัวเมืองมาก่อน 

การที่ทัพเชียงใหม่ยกมาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เมืองยอง โดยเห็นได้จากภายหลังที่เมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว มีผลทำให้หัวเมืองอื่นๆ ในบริเวณแถบนี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้กองทัพเชียงใหม่สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปถึงสิบสองพันนาและหัวเมืองอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของพม่าได้สะดวก


..."ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" เป็นเอกสารพื้นเมืองเพียงฉบับเดียวที่ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ในการที่พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยองครั้งนี้ ก็อ้างว่าเป็นการกระทำดังที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายได้ปฏิบัติมาก่อน แต่จากการที่เมืองยองได้ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี และยังได้ถวายสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงนางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องต่างมารดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองให้กับเจ้าอุปราชธัมมลังกาด้วย พร้อมกับผู้คนอีก ๑๙,๙๙๙ คน และอาวุธต่างๆ เช่น ปืนใหญ่ถึง ๑,๙๙๙ กระบอก กับช้างม้าเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทางเมืองยอง ก็ได้มีกำลังไพร่พลและอาวุธอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย


...เป็นที่น่าสังเกตว่า "ตำนานเมืองยอง" ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกล่าวถึงการสู้รบอย่างหนักติดต่อกันนานถึง ๓ วัน กองทัพของเชียงใหม่ที่ยกมายังประกอบด้วยกองทัพของเจ้าเชียงตุงและเจ้าจอมหง (เจ้าเชื้อสายเชียงตุง) การรบครั้งนี้ทำให้เจ้าจอมหงแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายเชียงใหม่เสียชีวิต แต่เมืองยองก็แพ้ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ 

ดังที่ "ตำนานเมืองยอง" กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "...แต่นั้นครั้นรบกัน ได้แพ้ (ชนะ) เมืองยองแล้ว ก็เอากันไปหาบ้านเมืองแห่งเขาหั้นและ..."

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองยองไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ตามที่ "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" กล่าวไว้ และในขณะที่เอกสารที่เขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ เจ ยอร์จ สกอตต์ (J.George Scott) ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า คนเมืองยองได้ตื่นตระหนกตกใจหนีเข้าป่าไปจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งถูกบังคับและกวาดต้อนไป บ้านเมืองถูกทำลายและได้รับความเสียหายจากกองทัพสยาม


...ในขณะที่กองทัพเชียงใหม่พักไพร่พลอยู่ที่เมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้ถือโอกาสยกทัพออกไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองยองและดินแดนสิบสองพันนา ได้แก่ บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองขัน เชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหน (หุน) เมืองแช่ เมืองราย (ฮาย) เมืองเจื่อง ท่าล้อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองของ เมืองวัง เมืองมาง เมืองขาง เมืองงาด เมืองออ เมืองงิม เมืองเสี้ยว เชียงรุ่ง ทำให้อำนาจของเชียงใหม่ขยายกว้างใหญ่ดังที่เป็นมาแล้วในสมัยราชวงศ์มังราย

ครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละน่าจะได้มอบหมายให้เจ้าเมืองยองและไพร่พลเข้ามาตั้งอยู่ที่เขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งไพร่พลเมืองยองให้กับเมืองต่างๆ เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าไพร่พลเหล่านั้นของตนไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใดของเมืองเชียงใหม่หรือลำพูน แต่น่าจะเป็นบริเวณรอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีชื่อหมู่บ้านและชุมชนกระจายตัวอยู่รอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะ บ้านเมืองก๋าย บ้านเมืองเลน บ้านเมืองลวง บ้านวัวลาย บ้านตองกาย บ้านท่าสะต๋อย บ้านเชียงขาง วัดเชียงรุ่ง เป็นต้น

จะมีเพียงเจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องพร้อมกับไพร่พลเท่านั้นที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองร่วมกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน


การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน

...ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๗ ก่อนการรื้นฟื้นเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็นนโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม

นอกจากนี้กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไป ในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ ครั้งหนึ่งแล้ว ยังสูญเสียไปกับความไม่สงบและสงครามหลายครั้ง 

เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่างๆ 

นอกจากนี้เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่าย กับทั้งยังเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยกันทำศึกสงครามมาเป็นเวลานานและเป็นการขยายตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันการขัดแย้งในการขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหมู่พี่น้องตระกูลเจ้าเจ็ดตนในอนาคตอีกด้วย


...ดังนั้นเมื่อเดือน ๗ (ราวเดือนเมษายน) ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฝั้นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตร ภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่งในเมืองลำพูน


...เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง และพระสงฆ์ระดับสูง ได้ตั้งเข้าอยู่บริเวณเวียงยอง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลอื่นๆ ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งใจพื้นที่ต่างๆ ของลำพูน


...การที่ชาวยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกกลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนได้ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่นๆ ที่อพยพมาในคราวเดียวกัน


...ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ ได้จัดทำสำมะโนประชากรในเมืองลำพูนเป็นครั้งแรก ในสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๙ พบว่ามีประชากรทั้งหมด ๑๙๙,๙๓๔ คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ร้อยโท ดับเบิ้ลยู ซี แมคเคลาด์ (W.C. McCloed) ข้าราชการชาวอังกฤษ ได้รายงานไว้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๘๙


..."ฅนยอง" หรือ "ชาวยอง" จึงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน ประชากรมากกว่าร้อยละ ๘๙ สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง

เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ในแถบหัวเมืองทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหภาพพม่าและสิบสองพันนาของจีน องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่นๆ ในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของคนยองในเมืองลำพูน จึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วนน้อยในสังคม (Minority Group) ดังเช่นกลุ่มชาวเขิน ลื้อ ลวะ กะเหรี่ยง ยางแดง ไทใหญ่ หรือเงี้ยว จีน หรือฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน 

ด้วยเหตุนี้ "ฅนยอง" ในเมืองลำพูน จึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน


สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับเมืองยอง

๑. กลุ่มชาวลวะหรือทมิฬ ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณหนองน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองยอง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

๒. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เจ้าสุนันทะ บุตรชายเจ้าเมืองเชียงรุ่ง พาบริวารมาตั้งถิ่นฐานและอยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองคือชาวลวะหรือทมิฬ ต่อมาได้มีอำนาจปกครองเมืองยอง

๓. พุทธศาสนาจากเมืองเชียงรุ่งได้เผยแผ่เข้ามาถึงเมืองยอง สมัยพระยาสุรังควุฒิ เจ้าเมืองลำดับที่ ๘ (พ.ศ.๑๙๔๕-๑๙๘๔) มีการนำเอาพระธาตุมาบรรจุและสร้างพระธาตุบนเนินเขาด้านทิศใต้บนฝั่งแม่น้ำยอง เรียก "พระธาตุจอมยอง" และมีการปลูกต้นโพธิ์หรือไม้สรีด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเพื่อเป็นสรีเมือง ปัจจุบันเรียก "ไม้สรีฅำ"

๔. พระญาติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตำนาน "เมืองยอง" ระบุเป็น พระเจ้าอโศกธัมมิกราช ปกครองเมืองยองเป็นลำดับที่ ๙ อยู่ในช่วงสั้นๆ พระพุทธศาสนาได้รับการทะนุบำรุง บ้านเมืองสงบปราศจากศึกสงคราม

๕. ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘ เมืองยองส่งบรรณาการให้ทั้งเชียงใหม่และเชียงรุ่ง

๖. พ.ศ.๒๐๕๐-๒๑๐๐ เมืองยองไปขึ้นกับพม่า

๗. พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองขึ้นกับเมืองเชียงแขง ภายใต้การดูแลของเชียงรุ่ง

๘. หลังปี พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองกลับไปขึ้นกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง และได้รับมอบหมายให้ดูแลหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบน เจ้าเมืองยองหลายคนพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าแต่ไม่สำเร็จ

๙. พ.ศ.๒๓๔๘ สมัยเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองลำดับที่ ๓๓ เชียงใหม่ได้ส่งกองทัพมากวาดต้อนผู้คนนับได้ ๑๙,๙๙๙ คน จากเมืองยองลงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน

๑๐. พ.ศ.๒๓๕๖ พระเจ้ากาวิละได้พาเจ้าสุริยวงศาเจ้าเมืองลำดับที่ ๓๔ และไพร่พลที่เหลืออยู่ลงมาที่เชียงใหม่ ลำพูน

๑๑. พ.ศ.๒๔๘๔ ทหารจีนกองพล ๙๓ กรมที่ ๒๗๘ จากสิบสองพันนา ยกเข้าตั้งที่เมืองยอง ผู้คนแตกตื่นหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก

๑๒. ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๘๘ กองทัพไทยได้ยกเข้าไปตั้งที่เมืองยองแทนทหารจีนกองพล ๙๓ จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ถอยกลับมา

๑๓. สมัยเจ้าหม่อมหงส์ฅำ เจ้าเมืองลำดับสุดท้ายถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง ให้เมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุงจนถึงปัจจุบัน


...เมืองยองในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๑) ประกอบด้วยหมู่บ้านประมาณ ๗๙ หมู่บ้าน มีประชากรราว ๑๑,๙๙๙-๑๓,๙๙๙ คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองต่างๆ ในสิบสองพันนาปะปนกับชาวดอย เช่น แอ่น ว้า อีก้อ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่


เชียงใหม่-นำชม "วัดธาตุกลาง" โบราณสถานร้าง

เชียงใหม่-นำชม "วัดธาตุกลาง" โบราณสถานร้าง

 บนเส้นทางเข้าสู่วัดยางกวง ได้พบวัดธาตุกลาง ซึ่งเป็นโบราณสถาน (ร้าง) แต่เป็นวัดหนึ่งเดียวในล้านนาที่มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

ประตูขัวก้อม

...บริเวณนี้เป็นที่ตั้งประตูเมืองชั้นนอกด้านทิศใต้ มีชื่อปรากฏในหลักฐานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๘ ที่ชื่อประตูขัวก้อม เพราะด้านหน้าประตูมีสะพาน (ขัว) ขนาดสั้น (ก้อม) สำหรับข้ามคูเมือง

Khua Kom Gate

...The outer city gate of the southern wall was situated here. The earliest record of the gate was from 1615 A.D. It was called Khua Kom (Short-bridge). Because there was a small bridge across the moat just in front of the gate.

วัดธาตุกลาง WAT THAT KLANG

...ตั้งอยู่ถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ "วัดธาตุกลาง" เป็นชื่อเรียกโบราณสถานตามตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเจดีย์ตั้งอยู่ระหว่างประตูขัวก้อม ของกำแพงดินกับประตูเมืองเชียงใหม่ ไม่ปรากฏชื่อและประวัติความเป็นมาในตำนานเอกสารทางประวัติศาสตร์ใดๆ

...ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ ๑ องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ยกเก็จ ๒ ครั้ง เรือนธาตุสี่เหลี่ยมทรงสูงยกเก็จ ๒ ครั้ง องค์ระฆังทรงโอคว่ำ บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด นับเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์เพียงองค์เดียวที่เหลืออยู่ในเขตล้านนาแสดงอิทธิพลทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมของสุโขทัย หลังพุทะศตวรรษที่ ๒๑









วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เรื่องเล่าในอดีต-ช้างกินนมคน

 เรื่องเล่าในอดีต-ช้างกินนมคน


...สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสงสัยว่า

เมื่อแรกที่มนุษย์จะจับช้างมาฝึกให้เชื่องและใช้งานได้นั้น มนุษย์ทำอย่างไร

เพราะช้างมีรูปร่างใหญ่โตเกินกว่าจะจับมาผูกมัดกักขังเอาไว้แล้วฝึกปรือให้เชื่อง


...พระองค์ทรงนึกไปถึงเรื่องแปลกเรื่องหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ซึ่งอาจเป็นคำตอบประการหนึ่งว่า เหตุที่ช้างกับมนุษย์มีความผูกพันกันและอยู่ร่วมกันได้ในฐานะสัตว์เลี้ยงนั้น

น่าจะเป็นไปดังเรื่องซึ่งพระองค์ทรงประสบมา และทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อ "นิทานโบราณคดี" 


เชื่อหรือไม่...นอนไม่พอก็อ้วนได้

 เชื่อหรือไม่...นอนไม่พอก็อ้วนได้


...นอกจากการอดนอนจะทำให้ดูโทรม ตาคล้ำ ผิวหนังเหี่ยวย่น และสมองเฉื่อยชาแล้ว

รู้มั้ยว่า ... การพักผ่อนไม่เพียงพอก็มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าการอดนอนทำให้เป็นหวัดติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชื่อหรือไม่...ความอ้วนทำให้ขี้ลืม


 เชื่อหรือไม่...ความอ้วนทำให้ขี้ลืม


คนที่ค่อนข้างจะจ้ำม่ำ ตุ้ยนุ้ย ไปสักนิด มักจะโดนต่อว่าจากเพื่อนๆ ว่าเป็นพวกขี้หลงขี้ลืม 

และบางคนแม้จะไม่ได้มีรูปร่างอ้วน แต่ก็มักขี้หลงขี้ลืมอยู่เป็นประจำเหมือนกัน

คุณคิดว่ารูปร่างมีผลกับความทรงจำของเราหรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชื่อหรือไม่...อาหารมีผลกับนิสัยของคุณ


 เชื่อหรือไม่...อาหารมีผลกับนิสัยของคุณ

อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ 

นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเจริญเติบโตให้กับร่างกายแล้ว ยังมีผลต่ออุปนิสัยใจคออีกด้วย

แต่อย่าเหมารวมว่า นิสัยของแต่ละบุคคลเป็นเพราะการขาดสารอาหารเท่านั้น

เพราะนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีผลกับอารมณ์เท่านั้น 

แต่อุปนิสัยของแต่ละบุคคลยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-มารู้จักที่มาของตรอกเล่าโจ๊ว

 เชียงใหม่-มารู้จักที่มาของตรอกเล่าโจ๊ว


...ที่ชาวเชียงใหม่มักเรียก "คลองเล่าโจ๊ว หรือ คองเหล่าโจ๊ว" (อ่าน "กองเหล่าโจ๊ว") แปลว่า ทาง (ไปสู่) "ศาลเจ้าเล่าโจ๊ว" บางคนเรียกคลองหล่อ หรือ คองหล่อ แต่ทางการเรียกทางสายนี้ว่า "ตรอกข่วงเมรุ" เป็นตรอกที่ไม่ใหญ่นักเชื่อมระหว่างถนนท่าแพบริเวณเลยสี่แยกอุปคุตไปทางตะวันตกเล็กน้อยผ่านตลาดวโรรสและผ่านศาลเจ้าไปเชื่อมกับถนนช้างม่อยที่บริเวณร้านขายยา "จิ๊บอังตึ๊ง" ทางสายนี้จึงเรียกว่าตรอกข่วงเมรุ การที่เรียก "คลองเล่าโจ๊ว" ก็เพราะถือว่าเป็นทางไปสู่ศาลเจ้าเล่าโจ๊วซึ่งอยู่ด้านหลังตลาดวโรรสที่เรียกว่า "คลองหล่อ" ก็เพราะช่วงที่ตัดจากถนนท่าแพนั้นเป็นทางลาดลงต่ำ ส่วนที่เรียก "ตรอกข่วงเมรุ" ก็เพราะถือว่าเส้นทางนั้นมีขนาดกว้างระดับเดียวกับตรอกที่นำไปสู่ลานโล่งที่ตั้งของเมรุบรรจุอัฐิของเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายระดับสูงของเชียงใหม่มาก่อน (ภายหลังพระราชชายาเจ้าดารารัศมีย้ายอัฐิเหล่านั้นไปบรรจุไว้ที่ "กู่วัดสวนดอก" หรือสถูปในบริเวณวัดสวนดอกนอกเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ และใช้บริเวณเดิมของข่วงเมรุ หรือลานที่ตั้งเมรุนั้นเป็นที่ตั้งตลาดใหญ่คือตลาดวโรรส)

...ทั้งนี้ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๔ คือก่อนที่ทางรถไฟจะมาถึงเชียงใหม่นั้น การค้าระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เป็นการค้าโดยอาศัยเรือแม่ปะ หรือ หางแมงป่อง บรรทุกสินค้าล่องลงไปกรุงเทพฯ โดยใช้ลูกถ่อ ๖ คน ขาล่องใช้เวลาประมาณ ๓ อาทิตย์ และขาขึ้นประมาณ ๖ อาทิตย์ ในช่วงเวลานั้นตลาดการค้าขายอยู่ที่ฝั่งวัดเกตการาม และบริเวณถนนท่าแพก็มีข้อมูลบอกว่ามีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแล้ว เมื่อมีตลาดวโรรสเกิดขึ้น กิจการค้าก็เริ่มข้ามฟากน้ำแม่ปิงมาและเจริญขึ้นโดยลำดับ น่าเชื่อว่าตรอกข่วงเมรุนี้จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการสร้างตลาดวโรรสแล้ว


...เมื่อมีคนจีนเข้ามาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตลาดวโรรสมากขึ้นแล้ว จึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นให้ชื่อว่า "ศาลเจ้าเล่าโจ๊วซัง" หรือกวนอูปู๊เบี้ย "กวนอู" อันเป็น "เล่าโจ๊ว" หรือบรรพบุรุษผู้เป็นดั่งเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพอย่างสูง และได้อัญเชิญเจ้าชื่อ "เล่าโจ๊ว" มาสถิตอยู่ที่ศาลนี้ ทำให้เป็นที่มาของชื่อตรอกเล่าโจ๊วดังกล่าว


...ใน พ.ศ.๒๕๑๑ เกิดไฟไหม้ตลาดวโรรสโดยเริ่มจากตลาดต้นลำไยไหม้ลามข้ามถนนวิชยานนท์ไปโหมตลาดวโรรสจนพินาศไปทั้งสองตลาด แต่ไฟก็หยุดลงมิได้ข้ามตรอกไปไหม้ศาลเจ้า หลังจากนั้นก็ได้มีการทำบุญศาลเจ้ากันอย่างใหญ่โตทุกปี


...คนจีนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดวโรรสนั้นน่าจะมีฐานะดี ดังพบว่าในบริเวณดังกล่าวมีชาวจีนที่มีกิจการร้านค้าใหญ่โตและมีลูกหลานที่มีหน้ามีตาในสังคมเชียงใหม่อยู่หลายท่านด้วยกัน ตลาดวโรรสนับได้ว่าเป็นตลาดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ บางท่านเรียกว่า "กาดหลวง หรือ กาดนอก" สินค้าที่ขายในตลาดนี้ถือกันว่ามีคุณภาพ ชาวต่างถิ่นมักจะไปที่ตลาดนี้ก่อนเดินทางกลับเพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองเป็นของฝากคนที่อยู่ทางบ้าน


...บริเวณนี้เป็นเขตนอกกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง ในอดีตเป็นที่ตั้งศาลาที่พักคนเดินทาง เรียกว่า "ศาลาย่าแสงคำมา" เมื่อศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และครอบครัว เดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๑๐ (ค.ศ.๑๘๖๗) ได้พักและอาศัยที่ศาลาแห่งนี้เป็นเวลามากกว่า ๑ ปี ได้ใช้ศาลานี้เป็นที่ประกาศเผยแพร่คริสตศาสนากับชาวบ้านที่เดินผ่านไปมา

เชียงใหม่-มารู้จักกับขันตั้ง บูชาเสาอินทขิล

 เชียงใหม่-มารู้จักกับขันตั้ง บูชาเสาอินทขิล


..........ในงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล อันเป็นเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ภายในวิหารจตุรมุข ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวง ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองเชียงใหม่นั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้ ต้องจัดหามาให้ครบถูกต้องตามโบราณประเพณี ก็คือ เครื่องสังเวยพลีกรรมต่าง ๆ เพื่อก่อเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง ตามคติโบราณที่สืบทอดมา

..........เครื่องสังเวยพลีกรรมดังกล่าวก็คือ ขันตั้ง 12 ขัน (จัดใส่ในพานหรือขันโตกจึงเรียกขันตั้ง) เป็นขันหลวงหรือขันประธาน 1 ขัน ขันบริวาร 11 ขัน

1. ขันประธาน

..........มีขนาดใหญ่กว่าขันบริวาร มีสรรพสิ่งประกอบดังนี้ หมากล้าน (หมากไหม 3 มัดใหญ่), เบี้ยล้าน (ผ้าห่อไว้), ผ้าขาว 3 ฮำ (พับ), ผ้าแดง 3 ฮำ, ( 3 ฮำ = 6 เมตร) เทียนเงิน 12 เล่ม, เทียนคำ 12 เล่ม (เทียนทั้งสองประเภทนี้ยาวราว 1 ฟุต) เหล้า 1 ขวด, เทียนสุมา (ขมา) 48 เล่ม (ยาวคืบ), สวยหมากพลู 48 สวย, สวยดอกไม้เทียนคู่ 48 สวย, ข้าวเหลือก 1 ต๋าง (กระบุง / ถัง), ข้าวสาร 1 แคง (ลิตรเศษตั้งไว้บนต๋างข้าวเปลือก) เชือกบ่วงบาศ 1 ม้วน, ขอช้าง 2 อัน, กล้วยน้ำว่า 1 เครือ, มะพร้าว 1 ทะลาย

..........ตามหลักโบราณประเพณีแล้ว จะต้องมีเครื่องประกอบช้าง / ม้า ครบทุกอย่างของทั้งหมดนี้ จัดไว้ในพานหรือขันโตกใบเดียวกันให้เป็นระเบียบสวยงาน ส่วนมะพร้าว 1 ทะลาย กล้วย 1 เครือ และต๋างข้าว วางไว้บนพื้นติดกับขันประธาน เพราะถือเป็นส่วนของขันประธาน

..........เพื่อให้สะดวกในการยกขึ้นลง (วิหารเสาอินทขิล) จึงต้องแบ่งเบี้ยล้าน, เทียน, เงิน, เทียนตำ, ผ้าขาวผ้าแดง, เทียนสุมาจากขันประธานใส่ขันโตกเล็ก สำหรับยกมาตั้งไว้หน้าวิหารเสาอินทขิลติดกับขันแก้วทั้งสามในเวลากลางวัน พอค่ำมืดยกเข้าข้างในตั้งไว้รวมกับขันประธาน

2. ขันบริวาร มี 11 ขัน

..........จัดอย่างเดียวกันกับขันประธาน แต่มีสิ่งประกอบจำนวนน้อยและย่อมกว่า ดังนี้

..........หมากหมื่น (1 มัดเล็ก), เบี้ยหมื่น, ผ้าขาว 1 ฮำ, ผ้าแพง 1 ฮำ, (1 ฮำ = 2 เมตร) เทียนเงิน 1 คู่, เทียนคำ 1 คู่ (เทียนเล่มบาท), สวยดอกไม้เทียนคู่ 12 สวย, สวยหมากพลู 12 สวย

..........ข้าวเปลือก 1 ต๋าง (ขนาดเล็ก 1/3 ของต๋างประธาน), ข้าวสาร 1 แคง (เล็ก) วางไว้บนต๋างข้าวเปลือก, เหล้า 1 ขวด (เหล้า 12 ขวดนี้ เมื่อเสร็จงานพ่อครูจะมอบให้หัวหน้าพนักงานเทศบาลที่มาช่วยงานอินทขิลแจกลูกน้องนำติดตัวกลับไปบ้าน)

..........ในส่วนขันบริวารนี้ เมื่อก่อนจะมีศัตราวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในยามสงคราม เช่น หอก ดาบ ง้าว ปืน ร่วมในพิธีด้วย โดยเอาพิงไว้รอบ ๆ เสาอินทขิล เพื่อก่อเกิดอิทธิฤทธิ์ขลังและศักดิ์สิทธิ์ เมื่อต้องใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

..........บรรดาเครื่องพลีกรรมเหล่านี้ (ต้องจัดให้ครบตั้งให้เสร็จก่อนเปิดงานตอนเย็นของวันเข้าอินทขิล ใช้ชุดเดียวตลอดงาน 7 วัน) เมื่อจัดใส่ขันเรียบร้อยแล้ว เอาตั้งเรียงรายรอบโคนเสาอินทขิล โดยตั้งขันประธานไว้ด้านทิศตะวันออก แล้วตั้งขันบริวารรายล้อมเสาอินทขิลเวียนขวามาบรรจบขันประธาน มีด้ายสายสิญจน์ที่โยงจากพระพุทธรูปเหนือเสาอินทขิลไปรอบวิหารเสาอินทขิล-กุมภัณฑ์ศาลด้านใต้-กุมภัณฑ์ศาลด้านเหนือ-รอบพระวิหารหลวงด้านเหนือ-รอบองค์พระธาตุเจดีย์หลวง (โยงจากองค์พระเจดีย์สู่พระพุทธไสยาสน์) - รอบพระวิหารหลวงด้านใต้ - เข้าสู่วิหารเสาอินทขิล - โยงเข้าหาขันประธานและขันบริวารจนครบแล้ว โยงเข้าหาอาสน์สงฆ์ที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขิล เพื่อให้พระสงฆ์จับขณะเจริญพระพุทธมนต์ประจำวัน และด้ายสายสิญจน์นี้ เมื่อถึงวันทำบุญออกอินทขิลเลี้ยงเพลพระ 108 รูป ในพระวิหารหลวง ต้องโยงเข้าไปใช้ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ด้วย

..........นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมสถานที่คือแคร่ / แท่นไม้ไผ่สูงระดับอก สร้างไว้รอบวิหารเสาอินทขิลจำนวน 32 แคร่ 32 พานโตก เพื่อให้ประชาชนวางข้างตอกดอกไม้ธูปเทียนที่นำมาสักการบูชาเสาอินทขิลตลอดงาน 7 วัน สำหรับพานโตกวางไว้บนม้ายาวด้านหน้าวิหารเสาอินทขิล วางกระจุกเป็นคู่ ๆ ไว้ด้านหน้าวิหารเสาอินทขิลด้านทิศเหนือ หักมุมสู่ตะวันออก ต่อจากขันโกฐาก ขันแก้วทั้งสาม และขันประธานเล็กที่ตั้งเป็นอันดับแรก

..........สมัยก่อนจะมีการประโคมฆ้องกลอง ด้านหน้าวิหารเสาอินทขิลวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน ตอนเย็น เพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์และเสาอินทขิลด้วย ปัจจุบันมีการแสดงพื้นเมืองฟ้อนรำบนเวทีด้านเหนือ จ้อยซอที่ซุ้มด้านใต้สมโภช สมัยโบราณใส่ขันดอกเวลากลางวันพอค่ำมืดเมื่อประโคมฆ้องกลองย่ำค่ำก็จะหยุด เพราะไม่มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง แม้มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลาต่อมา แรก ๆ กระแสไฟฟ้าก็ยังไม่เพียงพออยู่นั่นเอง จึงใส่ขันดอกเฉพาะกลางวัน

..........พ่อครูหมอพิธีผู้จัดหาเครื่องพลีกรรมและประกอบพิธี เป็นบุคคลที่ทางเทศบาลเชื้อเชิญมา นอกจากทำพิธีบวงสรวงพลีกรรมเสาอินทขีลแล้ว พ่อครูยังมีภาระประจำวันที่จะต้องจัดหาขนมอาหารเจอย่างน้อยวันละ 6 อย่าง จัดใส่ถ้วยเล็ก ๆ ตั้งไว้บนถาดให้ได้ 7 สำรับ (7 ถาด) พร้อมพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ เทียน 1 คู่ จุดขณะกล่าวคำสังเวย ธูป 8 ดอก (ไม่ต้องจุด) สังเวยเสาอินทขิล รูปปั้นพระฤาษี และรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในซุ้มรายล้อมวิหารเสาอินทขิลจุดละ 1 สำรับ คือรูปช้างทิศตะวันออก รูปสิงห์ทิศเหนือ รูปพระฤาษีทิศตะวันตก รูปเสือทิศใต้ กุมภัณฑ์สองศาลทิศเหนือ-ใต้ ให้ทำพิธีสังเวยไปตามลำดับ ภารกิจนี้พ่อครูต้องตื่นเช้ามืดตีสามตีสี่นาฬิกา เพื่อไปหาซื้อเครื่องสังเวยที่ตลาดประตูเชียงใหม่ให้ทันทำพิธีบวงสรวงในเวลา 6 โมงเช้า การทำพิธีสังเวยประจำวัน จะเริ่มวันที่สองของงานเข้าอินทขิล ไปสิ้นสุดลงวันทำบุญออกอินทขิลขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ซึ่งในเช้าวันนี้ต้องจัดอาหารคาวสังเวยเสือ กับกุมภัณฑ์ทั้งสองเป็นพิเศษด้วย

..........การจัดซื้อจัดหาเครื่องพลีกรรมขันตั้ง หรือเครื่องบูชาทุกรายการ พ่อครูจะเป็นผู้ดำเนินการเองในทุกขั้นตอน ส่วนงบประมาณเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบและชาวเมืองบริจาคสมทบส่วนหนึ่ง เมื่อเสร็จงานบูชาเสาอินทขิลแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในงานพิธี พ่อครูจะเก็บรักษาไว้เพื่อนำมาใช้ในปีต่อไป ส่วนที่เป็นของกินของใช้ ข้าวเปลือก ข้าวสาร จะแจกจ่ายให้ชาวบ้านไปปลูกไปกินถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้รับ

..........สำหรับพิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดคาถาขอฝนแบบพื้นเมืองวันละ 9 รูป จะมีในตอนเย็นเวลา 17.00 น. โดยประมาณทุกวัน เมื่อก่อนนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์เย็นวันละ 108 รูป ก็เคยมีมาแล้วในอดีต โดยจัดอาสน์สงฆ์รายล้อมเสาอินทขิล และด้านนอกวิหารเสาอินทขิล

..........การเจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขิล เริ่มต้นด้วยปู่จารย์นำไหว้พระอาราธนาศีล, รับศีล, อาราธนาพระปริตร, พระสงฆ์องค์ที่สามขึ้นขับห้าโกฐาก, กล่าวชุมนุมเทวดา จากนั้น พระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ และมนต์คาถาต่าง ๆ จบแล้ว พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย, ขอขมาพระเถระองค์ประธานพิธี, จากนั้นปู่จารย์กล่าวนำขอขมาพระ เจริญพระพุทธมนต์, พระสงฆ์ให้พรเสร็จแล้ว, ปู่จารย์กล่าวนำขอขมาคารวะพระรัตนตรัย, ขอขมาคารวะพระเถระที่มาในงานนอกพิธี, ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เสาอินทขิล และผู้มาร่วมพิธีที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขิล, เป็นเสร็จพิธีในแต่ละวัน


COFFEE & CANNABIS กาแฟและพืชสีเขียว

 COFFEE & CANNABIS กาแฟและพืชสีเขียว


...กระแสของพืชตระกูล Cannabis หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเสียงเรียงนามว่า "กัญชา" กำลังเป็นที่สนใจในช่วงนี้ เพราะได้รับการอนุญาตให้สามารถนำกัญชามาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย (ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น) จากการค้นพบในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า พืชกัญชานั้นมีประโยชน์ด้านการแพทย์ และอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อม โรคนอนไม่หลับ ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ และแม้กระทั่งอาจรักษาโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน

...เหตุที่กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ก็เพราะในพืชชนิดนี้มีสารที่เรียกว่า "แคนนาบินอยด์" (Cannabinoids) ปัจจุบันมีการค้นพบสารแคนนาบินอยด์ในกัญชามากกว่าหนึ่งร้อยชนิด แต่ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมากที่สุดคือสารที่ชื่อว่า THC (Delta-9-terrahydro cannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้มีบทบาทสำคัญมากในการรักษาโรคและอาการเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้น THC ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดการอักเสบของระบบประสาท แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้ในปริมาณมากก็ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมาหรือที่เรียกว่า "Get high" และมีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ปากแห้ง รู้สึกกระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ตาแดง และมีการตอบสนองช้า ด้านสาร CBD นั้น เป็นที่น่าสนใจว่า สาร CBD ไม่ก่อให้เกิดอาการมึนเมาแต่อย่างใด และยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ไมเกรน อาการซึมเศร้า (เนื่องจาก CBD มีผลทางด้านจิตประสาท) ลดการวิตกกังวล ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคนอนไม่หลับ ป้องกันโรคลมชัก เป็นต้น

...จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตามแต่ ในร่างกายมนุษย์ก็สามารถผลิตสารแคนนาบินอยด์ได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุว่าทำไมมนุษย์สามารถตอบสนองต่อสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาได้ ร่างกายมนุษย์มีตัวรับสาร (Receptor) ทั้ง THC และ CBD ซึ่งตัวรับสารนั้นเปรียบเสมือนเป็นแม่กุญแจที่คู่กับลูกกุญแข (สารแคนนาบินอยด์) ทำให้ระบบการทำงานของสารแคนนาบินอยด์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เราเรียกกลไกนี้ว่าระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System : ECS) ซึ่งเป็นระบบทางสรีรวิทยาที่ควบคุมการทำงานและรักษาความสมดุลของร่างกาย เช่น ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ควบคุมความเจ็บปวด ควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาล รักษาสมดุลพลังงานของร่างกาย มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ระบบความดันเลือด เป็นต้น กัญชาจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการแพทย์ปัจจุบัน (หรืออาจจะนอกวงการด้วยก็ตามแต่)

...แล้วถ้าร่างกายสามารถผลิตสารแคนนาบินอยด์ได้เองแล้ว ไฉนจึงจะต้องการเพิ่มอีก คำตอบก็คือ แคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองจะถูกผลิตมาแบบเฉพาะกิจ มีหน้าที่ชัดเจนและสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว ต่างจากแคนนาบินอยด์ที่ได้รับจากภายนอก (กัญชา) จะคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่า เป็นเหตุให้สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบ ECS ให้ทำงานต่อไปได้ Dr. Ethan Russo ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบัน International Cannabis and Cannabinoids Institute สันนิษฐานไว้ว่า เมื่อใดที่ระบบ ECS ในร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดโรคตามมา เช่น ไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อ การเสื่อมสภาพของร่างกายอื่นๆ 

กัญชากับกาแฟ

...อย่างที่บอกว่ามีการศึกษาเรื่องราวของพืชตระกูลกัญชาอย่างแพร่หลาย รวมถึงในภาคส่วนของกาแฟด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาไม่นานมานี้มีการศึกษาเกี่ยวกับกัญชาในบริบทเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มนุษย์โลกคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ กาแฟ ทั้งหน่วยงานอย่าง National Coffee Association of U.S.A (NCA) ก็ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ ในแง่ของการใช้กัญชาและสาร CBD เป็นสิ่งเติมแต่งในกาแฟและอาจมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมกาแฟในอนาคต มีประเด็นและเรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟและกัญชาที่มีการศึกษาเอาไว้มากมาย จึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังสักเล็กน้อย ดังนี้

สมอง กัญชา และกาแฟ

...เป็นที่รู้กันว่ากาแฟทำให้รู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า และกัญชาก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง ก่อให้เกิดความคิดไหลลื่น การรวมตัวกันระหว่างกาแฟและสาร CBD มีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังงานให้กับสมอง ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ลดความวิตกกังวล และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าคาเฟอีนและสาร CBD อาจออกฤทธิ์ส่งเสริมกัน กาแฟที่มีส่วนผสมของสาร CBD อาจช่วยในเรื่องการลดความวิตกกังวลได้ดีกว่ากาแฟที่ผสม THC

เริ่มต้นวันใหม่อย่างแจ่มใส ด้วย CBD และกาแฟถ้วยโปรด

...การศึกษาของ Jose Alexandre Crippa และผู้ร่วมวิจัยในมหาวิทยาลัย Sap Paulo และสถาบัน King's College ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่าสาร CBD มีผลต่อปริมาณของสารเซโรโทนิน (สารที่ควบคุมความรู้สึกสุขสงบ ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว) หากร่างกายมีสารเซโรโทนินน้อยเกินไป มักทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล โกรธง่าย หงุดหงิด และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าอีกด้วย หากสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับกาแฟได้อย่างไร เหตุผลคือ ได้มีงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในปี ๒๐๑๑ รายงานว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟจำนวน ๓ แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า ๑๕% อาจพูดได้ว่ากาแฟและ CBD ในยามเช้าจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นสดใส ไม่หมองเศร้า พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอารมณ์ดีๆ ก็เป็นได้

คาเฟอีนมีความสัมพันธ์กับ Endocannabinoid System

...งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายงานว่าการดื่มกาแฟมีผลกระทบต่อระบบ ECS ซึ่งสารประกอบในพืชกัญชา (แคนนาบินอยด์) ก็มีส่วนในการเพิ่มสารสื่อประสาทใน ECS ด้วยเช่นกัน ดังที่กล่าวไปว่าระบบ ECS มีผลต่อการทำงานของร่างกายทั้งหมด รวมถึงความอยากอาหาร อารมณ์ การนอนหลับ และความเจ็บปวด ผลงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Northwestern ค้นพบว่า คนที่ดื่มกาแฟมากกว่า ๔ แก้วต่อวัน จะส่งผลต่อระบบ ECS อย่างเห็นได้ชัดตาที่ Dr. Marylin Cornelis ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันที่ Northwestern University Feinberg School of Medicine กล่าวว่า การดื่มกาแฟในปริมาณมากเกินไปทำให้สารประกอบในระบบ ECS ลดลง


...สำหรับในวงการอุตสาหกรรมกาแฟ หากมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในแง่ของประโยชน์จากกัญชาและกาแฟแล้ว กัญชาอาจเข้ามามีส่วนร่วมต่อวงการกาแฟและสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต อาจก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวหรือลูกเล่นใหม่ๆ ให้ชวนตื่นเต้นก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยแม้จะมีการนำเอากัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท ๕ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่หากเป็นผู้ใดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครองก็จะมีผลทงกฎหมาย หากมีครอบครองไว้ไม่ถึง ๑๐ กิโลกรัม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่มีไว้ครอบครองเกิน ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป จะต้องโทษจำคุก ๑-๑๕ ปี ปรับ ๑๐๐,๐๐๐-๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว


รับประทานเต้าหู้ ช่วยลดไขมันได้นะ

 รับประทานเต้าหู้ ช่วยลดไขมันได้นะ


..........ใครที่ชอบทานเต้าหู้ ทราบหรือไม่ว่าเต้าหู้สามารถลดไขมันลงได้ 

เต้าหู้ทำมาจากถั่วเหลืองเป็นหลัก ซึ่งถั่วเหลืองมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 

เป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ 

และนอกจากโปรตีนแล้ว ถั่วเหลืองยังอุดมไปด้วยสารอาหารอีกมากมาย ทั้งแคลเซียม คาร์โบไฮเดรต ฟอสฟอรัส และวิตามินต่างๆ 

จากการศึกษาประโยชน์ของถั่วเหลืองในหลายๆ ประเทศทั่วโลก 

พบว่า ถั่วเหลืองสามารถช่วยลดไขมัน และลดคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ 

โดยเฉพาะช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมบริเวณกระเพาะอาหารได้ 

ซึ่งไขมันที่สะสมอยู่บริเวณนี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก 

เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และโรคเบาหวาน 

อันเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งจากโรคอ้วนมากกว่าไขมันที่สะสมอยู่บริเวณส่วนอื่นของร่างกาย 

การรับประทานเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรืออาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง สามารถช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลลงได้


วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-ทำความรู้จักกับวัดเจ็ดลินและน้ำมูรธาภิเษกที่สำคัญ

 เชียงใหม่-ทำความรู้จักกับวัดเจ็ดลินและน้ำมูรธาภิเษกที่สำคัญ


..........ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ ด้านประตูเชียงใหม่ สร้างขึ้นโดยมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ช่วงรัชกาลที่ 10-11 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2030-2068) 

รัชสมัยของพญายอดเชียงรายและพญาเมืองแก้ว สันนิษฐานจากรูปลักษณะของตัวองค์พระเจดีย์ซึ่งบ่งบอกถึงศิลปะที่นิยมสร้างในยุคของพญายอดเลียงรายถึงพญาเมืองแก้ว 

นอกจากนั้นยังพบชื่อของวัดนี้ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2060 ตรงกับรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย 


ในตำนานเมืองเชียงใหม่ได้บอกว่า การสร้างวัดนี้โดยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ขึ้นภายในบริเวณวัด 

เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้กษัตริย์ที่จะขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต้องมาสรงน้ำมูรธาเษก (น้ำพุทธมนต์) ที่ไหลผ่านลงจากลินทองคำทั้ง 7 ชั้น นั้นเสียก่อน 

วัดที่ใช้ประกอบพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกนี้ชาวนครเรียกว่า "วัดเจ็ดลิน"

..........สรุปความหมายแล้ว "วัดเจ็ดลิน" ก็คือวัดที่มีรางน้ำ 7 ราง ในสมัยโบราณจะเรียกวัดนี้ว่า "วัดเจ็ดลินคำ" ก็หมายถึง 7 ลินทองคำ 

เพราะลินทั้ง 7 นั้นทำด้วยทองคำล้วนๆ และยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าวัดนี้ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในปี พ.ศ.ใด 

เพียงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 จากหลักฐานทางด้านศิลปะขององค์พระเจดีย์และหลักฐานจากโคลงนิราศหริภุญชัยซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2060 

ช่วงรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว ซึ่งปรากฏชื่อของวัดเจ็ดลิน

               เจ็ดลินลุแล้วเล่า    ศาลาเลิศเอ่

          คองคู่สานเสน่หา        แห่งนั้น

          วรลักษณ์เลิศรสา        สวรรค์เทพ ทิพเอ่

          สาแผ่นดินใดดั้น         พี่ด้นหาอาวร


สถานภาพและที่ตั้งของวัด

...วัดเจ็ดลิน ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๖๙/๑ ถนนพระปกเกล้า ใกล้ประตูเมืองเชียงใหม่ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ มีสภาพเป็นวัดร้างมานาน โบราณวัตถุที่คงเหลือไว้เป็นหลักฐาน มีเจดีย์ ๑ องค์ และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในอาคารชั่วคราวที่มุงด้วยสังกะสี ๑ องค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๗-๒-๒๗ ไร่ ตามโฉนดเลขที่ ๓๘๐๔ และ ๓๖๑๑ เป็นผืนดินประมาณ ๔ ไร่ เป็นหนองน้ำประมาณ ๓ ไร่ครึ่ง สันนิษฐานว่าวัดนี้ตกสภาพเป็นวัดร้างมาตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ต่อมาในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ (๗๒ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๔๖) ทางคณะสงฆ์ได้มองเห็นความสำคัญของวัดเจ็ดลิน ที่เป็นวัดประวัติศาสตร์เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ล้านนามาก่อน จึงได้มอบหมายให้ พระญาณสมโพธิ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ปัจจุบันคือ พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะภาค ๗) เข้ามาเป็นประธานบูรณะฟื้นฟูและยกวัดร้างแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษาในปีนั้น


น้ำมูรธาภิเษก คืออะไร

...น้ำมูรธาภิเษก หมายถึงน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดเหนือเศียร หรือสรงน้ำ กษัตริย์ โดยนำมาจากแหล่งน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำ-ถ้ำ-ภูเขา และวัดสำคัญๆ มารวมกันและประกอบพิธีทางศาสนาให้เป็นน้ำพุทะมนต์ใช้สรงน้ำกษัตริย์ที่จะขึ้นครองเมือง แม้ในทางพุทธศาสนา พระมหาเถระที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จหรือสังฆราช ก็จะต้องเข้ารับการสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระวิหารเช่นกันในอดีต ส่วนพระมหากษัตรยิ์ในราชวงศ์มังรายยุคปลายก่อนที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องเสด็จมารับการสรงน้ำมูรธาภิเษกที่วัดเจ็ดลินแห่งนี้ก่อน สำหรับน้ำมูรธาภิเษกในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าน้ำที่นำมาประกอบพิธีเป็นน้ำมูรธาภิเษกนั้นมาจากแหล่งใด การสรงน้ำมูรธาภิเษกเป็นตันติประเพณีของกษัตรยิ์ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลจนถึงราชวงศ์จักรี


พิธีปรุงแต่งน้ำมูรธาภิเษก

...น้ำมูรธาภิเษกเป็นน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อนำมาเข้าพิธีปรุงแต่งให้เป็นน้ำมูรธาภิเษกที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่วิธีการมีหลากหลายและแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน ตามคติความเชื่อของแต่ละเมืองหรือท้องถิ่นนั้นๆ เช่นการสรงน้ำมูรธาภิเษกพระสงฆ์ที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมหาเถระชั้นสูง หรือสมเด็จหรือสังฆราชา ส่วนใหญ่จะกระทำในวิหารหรือพระอุโบสถ หรือไม่ก็สร้างหอสรงชั่วคราวไว้หน้าวิหาร ส่วนน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ จะต้องนำมาต้มด้วยตัวยาสมุนไพรมากมายหลายอย่าง และหลายขั้นตอนตามความเชื่อในยุคและท้องถิ่นนั้นๆ แต่บางแห่งจะนำมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปสรงน้ำพระหรือผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ตามเมืองต่างๆ การสรงน้ำมูรธาภิเษกเป็นประเพณีดั้งเดิมของล้านนาและถือว่าเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เช่นไฟที่จะนำมาต้มตัวยาสมุนไพรต้องเป็นไฟที่บริสุทธิ์ไม่ใช้ไฟทั่วๆ ไป แต่จะใช้ไฟจากแสงพระอาทิตย์โดยการใช้แว่นขยายกรองเอามาจากแสงแดดผ่านลงไปให้ไหม้ปุยนุ่นเป็นตัวเชื้อที่เชื่อว่าเป็นเชื้อไฟที่บริสุทะจากฟากฟ้า ส่วนฟืนที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำนั้นก็จะกำหนดให้เป็นไม้ดอกพิกุล ไม้ขนุนและไม้พุทรา อย่างละ ๗ ดุ้น หรือ ๗ อัน แม้กระทั่งก้อนเส้า (ที่ตั้งหม้อต้มน้ำ) และภาชนะใส่น้ำมูรธาภิเษก ก็กำหนดไว้อย่างละเอียดและมากมายและอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ยากต่อการปฏิบัติของคนในยุคนี้ จึงจะไม่ขอกล่าวให้ลึกลงไปโดยขอกล่าวเฉพาะการสรงน้ำกษัตริย์ที่วัดเจ็ดลินเพียงสั้นๆ ว่า เมื่อได้ผ่านพิธีการปลุกเสกน้ำมูรธาภิเษกแล้ว กษัตริย์ที่จะมารับการสรงน้ำก็จะเสด็จมายังหนองน้ำเจ็ดลิน และพราหมณาจารย์จะเป็นผู้อ่านคำจารึกในพรรรณบัฏ จากนั้นก็จะหลั่งน้ำมูรธาภิเษกจากสุวรรณหอยสังข์ลงบนลินคำเจ็ดชั้น เพื่อสรงน้ำแก่กษัตริย์ล้านนา แล้วประโคมดนตรี ตีระฆังกังสะดาล เป่าบัณเฑาะหอยสังข์ ส่วนพระสงฆ์จะสวดชยันโตในพระอุโบสถระหว่างสรงน้ำนั้นจนหมด เป็นอันเสร็จพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกแต่เพียงเท่านี้


การสรงน้ำมูรธาภิเษกยุคราชวงศ์จักรี

...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งเข้ารับการสถาปนาขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ก็มีพิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นำมาจากปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ คือน้ำในแม่น้ำคงคา, ยมนา, อจิรวดี, สรภูและมหิ และน้ำในปัญจสุทธคงคา คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในราชอาณาจักรไทย คือ แม่น้ำเพชรบุรี, ราชบุรี, เจ้าพระยา, บางปะกงและแม่น้ำป่าสัก นอกจากนั้นยังใช้น้ำจากสระอีก ๔ สระในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ สระเกศ, สระแก้ว, สระคาและสระยมนา ซึ่งล้วนใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกกษัตราธิราชเจ้ามาแต่โบราณกาลทั้งสิ้น โดยทำพิธีทางศาสนาจากวัดสำคัญต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่ง นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนั้นๆ เข้าร่วมพิธีเสร็จแล้วก็บรรจุภาชนะส่งเข้าไปรวมกันที่สำนักพระราชวัง รวมกันเป็นน้ำมูรธาภิเษกหลวงใช้สรงในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในปีนั้น


พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกมีมาก่อนราชวงศ์มังราย

...การสรงน้ำมูรธาภิเษก เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล กษัตริย์ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นครองราชย์และได้รับการสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้ว ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์และสง่างามดังคำรำพึงของพญามังรายที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า 

"เชื้อเขานี้ติดปลายเจ้าลาวครอบลาวช้าง บ่ได้น้ำมูรธาภิเษกหดหัวสักคนเท่าปู่กูเจ้พญาลาวเก๊าอันเป็นน้องของเจ้าลาว ครอบลาวช้างนั้นคนเดียวได้น้ำมูรธาภิเษกเป็นพญาปรัมปรา...เขาฝูงเป็นพญาอยู่จิ่มใกล้กู บ่ได้น้ำมูรธาภิเษกอย่างกูสักคน พ้อยจามานะต่อกูฉันนี้ ควรกูไปรบเอาเมืองเขาทั้งหลายฝูงนี้"

ความหมายภาษาปัจจุบัน 

"พวกเขามีเชื้อสายเจ้าลาวปลายแถวที่ครองล้านช้างอยู่ ไม่เคยได้รับน้ำมูรธาภิเษกรดหัวสักคนเหมือนปู่กูที่เป็นต้นพญาลาวล้านช้างเพียงคนเดียวที่ได้รับน้ำมูรธาภิเษก พวกเขามาอยู่ใกล้กู ไม่มีใครได้รับน้ำมูรธาภิเษกแม้แต่คนเดียว ยังจะมาแข็งข้อต่อกู กูจะต้องออกไปรบยึดเอาเมืองเขาเหล่านั้น"

จากข้อความคำรำพึงบางตอนของพญามังราย แสดงว่าพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกมีมาก่อนยุคราชวงศ์มังราย อาจจะเริ่มในยุคราชวงศ์ลวจังกราชก็เป็นได้ ราชวงศ์ลวจังกราชเริ่มต้นจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาราชวงศ์มังรายเริ่มต้นจากพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ.๑๘๓๙)


พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกปลายยุคราชวงศ์มังราย

...การสรงน้ำมูรธาภิเษกในยุคต้นๆ ของราชวงศ์มังรายไม่ค่อยปรากฏหลักฐานในตำนานต่างๆ แต่มีเพียงกษัตริย์องค์ที่ ๑๗ ของราชวงศ์มังรายเท่านั้นที่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่ พระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ มีเชื้อสายมาจากขุนเครือ พระราชโอรสของพญามังรายซึ่งได้รับพระบรมราชโองการจากพระราชบิดาให้ขึ้นไปครองเมืองนาย อันเป็นหัวเมืองไตใหญ่ และได้สืบสายรัชทายาทติดต่อกันมาหลายช่วงรัชสมัยจนถึงพระยาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ พระองค์มีนามเดิมว่า "ท้าวแม่กุ" เนื่องจากเมืองนายที่ท่านครองอยู่นั้นมีน้ำแม่กุไหลผ่านจึงเรียกพระองค์ว่าท้าวแม่กุ หลังจากได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๗ แห่งราชวงศ์มังราย และผ่านการสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้วจึงเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์" 

การรับการสรงน้ำมูรธาภิเษกในตำนานเมืองเชียงใหม่บอกว่า เมื่อพระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงสีขาว (นุ่งขาว-ห่มขาว) ที่วัดผ้าขาว แล้วเสด็จไปทำพิธีลอยเคราห์ที่วัดหมื่นตูม จากนั้นก็เสด็จไปสรงน้ำมูรธาภิเษกที่วัดเจ็ดลิน ดังมีข้อความในตำนานว่า

"เมื่อเปลี่ยนเครื่องทรงสีขาวแล้ว จากนั้นก็เชิญกษัตริย์เจ้าไปลอยเคราะห์ที่วัดหมื่นตูม นอนหั้นแลได้ ๓ วัน แล้วไปอุสสาราชหล่อน้ำมูรธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวัณณหอยสังข์ที่วัดเจ็ดลินคำหั้นแล"

การสรงน้ำมูรธาภิเษกนั้นโดยวิธีการให้พราหมณ์ประจำราชสำนักหล่อน้ำมูรธาภิเษกด้วยสุวรรณหอยสังข์ผ่านลินทองคำทั้ง ๗ ชั้นสู่พระวรกายของพระองค์


การฟื้นฟูและพัฒนาวัดเจ็ดลิน

...วัดเจ็ดลิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอารามหลวงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้ประกอบราชพิธีสรงน้ำกษัตริย์ล้านนา นอกจากนั้นยังมีองค์พระเจดีย์ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ อยู่ตั้งเด่นสง่างามครอบคลุมบริเวณพื้นที่แห่งนี้ จนเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและยากที่จะลืมเลือนได้ง่ายๆ ในอดีตวัดนี้ชาวบ้านจะเรียกว่า "วัดหนองจลิน" น่าจะเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "วัดหนองเจ็ดลิน" มากกว่าความหมายอื่นใดทั้งสิ้น


นับตั้งแต่พระเทพวรสิทธาจารย์ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้เข้ามาฟื้นฟูและพัฒนาวัดร้างแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๖ จนได้รับอนุมัติจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ยกวัดร้างเจ็ดลินให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๔๗ ต่อมาพระมหาวิษณุ จารุธมฺโม ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดลินองค์แรกหลังการฟื้นฟู เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ นักจากวันนั้นมาวัดเจ็ดลินก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างถาวรวัตถุมากมายหลายอย่างแทบจะเต็มพื้นที่ของวัด



เชียงใหม่-เล่าเรื่องตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล

 เชียงใหม่-เล่าเรื่องตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล


..........ศูนย์กลางการปกครองหรือราชธานีของอาณาจักรลัวะโบราณอยู่ที่ "เวียงเชษฐบุรี" หรือ "เวียงเจ็ดริน" ซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออก (สถานที่เลี้ยงโคนมของกรมปศุสัตว์ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปัจจุบัน) อาณาจักรลัวะภายใต้การนำของ "ขุนหลวงวิลังคะ" ล่มสลายเพราะแพ้สงคราม ถูก "พระนางจามเทวี" แห่งอาณาจักรหริภุญชัยยึดครองเมื่อปีพุทธศักราช 1211 (พ.ศ. 1204 วาสุเทพฤาษี สร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน, 1206 พระนางจามเทวีครองราชย์เมืองหริภุญชัย, 1211 เกิดสงครามกับลัวะ, 1213 สละราชสมบัติให้มหายศ หรือ มหันตยศ พระโอรสครองราชย์แทน)


..........อาณาจักรลัวะโบราณมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ตำนานกล่าวไว้ว่า บ้านเมืองของลัวะมีขุมทรัยพ์ คือ "บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว" อยู่ตามทิศต่าง ๆ ผู้คนตั้งสัจจะธิษฐานเอาได้ตามปรารถนา มีผู้คนพลเมืองมาก มีเมืองสำคัญ ๆ อยู่หลายแห่ง เช่น เวียงสวนดอก ทางทิศใต้ เวียงเชษฐบุรี และ เวียงนพบุรี (เมืองทั้ง 9 ตามชื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ยาว 1,000 วา กว้าง 900 วา อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชษฐบุรี เป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรลัวะแห่งสุดท้าย ก่อนล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิลังคะดังกล่าวแล้ว

..........เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลที่ทำการปกครองอาณาจักรลัวะครั้งโบราณก็มี โชติกเศรษฐี, เมณฑกะเศรษฐี, ภัททิยะเศรษฐี, ชติละเศรษฐี, เศรษฐีพ่อเรือน, เศรษฐีปอเลิงหรือพ่อเลือง, เศรษฐีหมื่นล้าน, เศรษฐีพันเตา, พญาวีวอ, เศรษฐี 9 ตระกูลนี้แบ่งหน้าที่กันปกครองอาณาจักร ตามเขตหรือภูมิภาคต่าง ๆ และ 3 ตระกูล ร่วมกันคุ้มครองบริหารบ่อเงิน, 3 ตระกูล คุ้มครองบริหารบ่อทอง, 3 ตระกูลคุ้มครองบริหารบ่อแก้ว


..........แรกเริ่มนั้นชาวลัวะเป็นชาวป่ากึ่งอารยชนไม่มีศาสนา การสร้างบ้านแปลงเมือง การปกครองอาณาจักรต้องอาศัยหมอผี พระดาบสฤาษีที่ถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาสถาปนิก เป็นที่กราบไหว้บูชาและเป็นสื่อกลางติดต่อกับผีสางเทวดาที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ลึกลับน่าสะพึงกลัว ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ที่พวกเขาเกรงกลัวต้องเซ่นไหว้ทำพลีกรรม


..........การสร้างเวียงนพบุรีของลัวะ ที่มีพระฤาษีเป็นที่ปรึกษา กำหนดขอบเขตและแบบแปลนแผนผังของเมืองให้ รวมทั้งเป็นสื่อติดต่อขอเสาหลักเมืองที่ทำด้วยศิลาแท่งทึบจากพระอินทร์มาให้นั้น เสาหลักเมืองจึงได้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ตั้งแต่นั้นมา (พระอินทร์หรือเทวดาอาจหมายถึงกษัตริย์เมืองอื่นที่มีอำนาจเหนือชาวลัวะก็เป็นได้) แม้เสาหลักเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่ชนชาติไทยสร้างขึ้นภายหลัง ในถิ่นที่แผ่นดินเก่าของลัวะหรือละว้า ก็ให้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ถือเป็นมงคลนามตามนั้นด้วย เสาอินทขิลมีอยู่ 3 ต้นด้วยกันคือ


..........ต้นที่ 1 นั้น เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพระยาอามาตย์พร้อมใจกันกราบไหว้บูชา จะอยู่เจริญผาสุก แม้ข้าศึกศัตรูมารุกรานก็จะแตกพ่ายหนีไป และล้มตายหมดสิ้น


..........ต้นที่ 2 ต้นท่ามกลาง เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชา ก็จะเจริญผาสุกมั่งมีด้วยทรัพย์สินสมบัติ มีเดชานุภาพ แม้ข้าศึกศัตรูมารุกราน ก็จะแตกพ่ายไปโดยไม่ต้องออกรบ


..........ต้นที่ 3 ตั้งอยู่บ้านเมืองใด เมื่อพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชาแล้ว ข้าศึกศัตรูไม่อาจเข้ามารุกรานผ่านเขตแดนได้ พระอินทร์ได้ประทานเสาอินทขิลต้นที่ 2 ให้เวียงนพบุรี โดยให้กุมภัณฑ์ 2 ตนเอาเสาอินทขิลใส่สาแหรก หามนำมาประดิษฐานไว้เหนือแท่นกลางเมืองนพบุรี ที่ข้างล่างแท่นเป็น "หลุมกว้าง 7 วา  1 ศอก ลึก 2 วา ตบแต่งผนังเลื่อมมันมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว เอารูปสัตว์ต่าง ๆ บรรดามีในโลก ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก อย่างละคู่ (ผู้ตัวเมียตัว) ที่หล่อด้วยทองบรรจุไว้"


..........ในวัดเจดีย์หลวงปัจจุบัน มีรูปปั้นกุมภัณฑ์อยู่ 2 ศาล 2 ตน รูปพระฤาษี 1 ตน ถือเป็นของคู่กันกับเสาอินทขิล "เมื่อจุลศักราช 1162 ปีวอกโทศก (พ.ศ.2343) พระเจ้ากาวิละได้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 1 คู่ รูปฤาษี 1 ตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองฯ"


..........เมื่อครั้งพระเจ้ามังรายทรงเตรียมจะสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. 1835 ณ บริเวณหย่อมป่าท่ามกลางพงหญ้าคาบริเวณเขตที่ตั้งเมืองเชียงใหม่เก่าขณะนี้ "ก็ได้พบซากเมืองเก่าลักษณะสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขณะที่พญามังรายให้เสนาข้าราชบริพารแผ้วถางซากเวียงเก่านั้น ได้พบโบราณวัตถุคือรูปกุมภัณฑ์ก่ออิฐถือปูนสืบมาจากชนชาวลัวะ เสนาบางพวกจะทำลาย แต่บางพวกได้ห้ามไว้ แล้วนำเรื่องขึ้นกราบทูลพญามังราย พญามังรายจึงมีบัญชาให้แต่งเครื่องบรรณาการ ใช้ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย ผู้พูดภาษาลัวะได้ ไปหาพญาลัวะบนดอยอุจชุบรรพต พญาลัวะแนะนำว่า เวียงนี้หากจะให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล"


..........เมื่อชาวเมืองทำการกราบไหว้บูชาเสาอินทขิลมิได้ขาด และทำการเซ่นไหว้พลีกรรมกุมภัณฑ์ประจำ พร้อมทั้งตั้งตนอยู่ในศีลห้า รักษาสัจจะตามที่พระฤาษีสั่งสอน บ้านเมืองก็วัฒนาผาสุกร่มเย็นทำมาหากินค้าขึ้น ทำให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์ที่เนืองนองด้วย บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ทุกทิศทุกเขตของบ้านเมืองที่ใคร ๆ (มีปัญญา/ขยัน) เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลสัตย์ ก็ตั้งสัจจาธิษฐาน (แสวงหา) เอาได้ตามใจปรารถนา แม้ผู้คนจากบ้านอื่นเมืองไกลที่มุ่งร้ายหมายมารุกรานย่ำยี เมื่อมาถึงเมืองนพบุรีแล้วก็จะสยบสวามิภักดิ์ แปรสภาพเป็นพ่อค้าวาณิชมุ่งทำมาค้าขาย หาความร่ำรวยผาสุกรื่นรมย์ไปหมด


..........เมื่อนานเข้าผู้คนไม่รักษาคำสัตย์ปฏิบัติตนเป็นคนทุศีล ไม่ทำการเซ่นไหว้แต่ทำการอุกอาจย่ำยีดูหมิ่น และทิ้งของปฏิกูลบูดเน่า และขี้เยี่ยวรดราดกุมภัณฑ์ กุมภัณฑ์จึงนำเสาอินทขิลกลับไปเสีย ต่อมามีผู้เฒ่าลัวะคนหนึ่งที่เคยมากราบไหว้เสาอินทขิลประจำ เมื่อไม่เห็นก็เกิดปริวิตกทุกข์ร้อนกลัวว่าจะเกิดเหตุเภทภัยแก่บ้านเมือง ถึงกับร้องห่มร้องไห้เสียใจจึงละเพศจากฆราวาส ถือเพศเป็นตาปะขาวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ บริเวณที่เคยตั้งเสาอินทขิล ใต้ต้นยางนั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี (ปัจจุบันในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่อยู่ 3 ต้น)


..........ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าเขา จนบรรลุฌานสมบัติ มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้าได้มาบอกตาปะขาวว่า บ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยี ถึงกาลวิบัติล่มจม เพราะไม่มีเสาหลักเมืองให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชา อันเป็นที่มาของความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ตาปะขาวจึงประชุมปรึกษาหารือกับชาวเมืองและตกลงกันว่า ขอให้พระเถระเป็นสื่อติดต่อขอเสาอินทขิลจากพระอินทร์มาให้อีก


..........พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์นำเสาอินทขิลลงไปให้เมืองนพบุรีอีกครั้ง เมื่อทราบเหตุการณ์จากพระเถระแล้ว แต่กุมภัณฑ์ไม่ยอมไปเพราะเกลียดกลัวต่อพฤติกรรมต่ำหยาบของชาวเมือง พระอินทร์จึงขอให้พระเถระไปบอกชาวเมือง ให้สร้างเสาอินทขิลและปั้นรูปกุมภัณฑ์เทียมขึ้นใหม่ โดยหล่อกะทะขอบหนา 8 นิ้ว กว้าง 8 ศอก ปั้นรูปสัตว์บกสัตว์น้ำบรรดามีในโลกอย่างละคู่ และรูปมนุษย์ครบ 101 เจ็ดภาษา บรรจุไว้ในกะทะฝังไว้ท่ามกลางเมือง กลบดินปรับพื้นเสมอดีแล้ว ให้สร้างเสาหลักเมืองด้วยอิฐก่อสอปูน (ถือปูน) ประดิษฐานไว้บนนั้น (เสาอินทขิล ที่ย้ายจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง สมัยพระเจ้ากาวิละนั้น ผู้คนเชื่อว่าเป็นเสาเดียวกันกับที่สร้างขึ้นสมัยอาณาจักรลัวะ) แล้วทำการกราบไหว้บูชามิให้ขาดก็จะเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและผู้คน พลเมืองจะอยู่ดีมีกิน มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีโรคร้ายระบาดภัยเบียดเบียน


..........แสดงให้เห็นว่า เสาอินทขิล สร้างครั้งแรกทำด้วยหิน สร้างครั้งที่สองทำด้วยอิฐก่อโบกปูน เสาอินทขิลปัจจุบัน ก็สร้างด้วยอิฐก่อโบกปูนประดับลวดลายติดกระจกสี หลักเมืองนั้นเป็นเสมือนหลักชัยแห่งเมือง การสร้างหลักเมืองขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในบ้านเมืองนั้น ๆ ให้ก่อเกิดพลังคือความสามัคคีของพลเมือง จนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้กรอบศีลธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักเมืองทั่วไปทำด้วยไม้แกะสลักหรือหล่อด้วยโลหะ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัตถุชนิดใดคุณค่าก็เหมือนกัน จะก่อเกิดคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักให้ถูกต้องตามหลักโบราณประเพณี หากงมงายก็ไร้ค่าหาสาระมิได้


..........เสาอินทขิลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้ 5.67 เมตร สูง 1.30 เมตร แท่นพระบนเสาอินทขิลสูง 97 เซนติเมตร รอบ 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กัน พระเจ้ามังรายปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1839 แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อพุทธศักราช 2343


..........ทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขิลเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่าง ๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงาน ตลอด 7 วันของงานชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย จะพากันมาบูชาเสาอินทขิลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม อย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชตลอดงาน เมื่อจะทำการบูชาเสาอินทขิลด้วยดอกไม้ธูปเทียน ท่านให้กล่าวคำบูชาดังนี้

.........."อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ, อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง มังคะลัตถิ, อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง"

..........เริ่มงานเข้าอินทขิลแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ งานวันสุดท้ายขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น 2 เดือน) ออกอินทขิลขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เรียกกันติดปากว่า "เดือน 8 เข้า...เดือน 9 ออก" วันออกอินทขิลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชน ด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ 108 รูป ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง "4 แจ่ง 5 ประตู...1 อนุสาวรีย์" นั้น ทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน 9 เหนือวันใดวันหนึ่ง 14


เล่าเรื่องช้างเผือกเกิดที่เชียงใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

 เล่าเรื่องช้างเผือกเกิดที่เชียงใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิสาขปูชา หรือ วิสาขบูชา

 วิสาขปูชา หรือ วิสาขบูชา


คืองานบูชาในเดือนหก ซึ่งชาวล้านนานิยม เรียก "ปาเวณีเดือนแปดเพง" คืองานประเพณีเพ็ญเดือนแปด (เหนือ) เป็นรูปบาลี ย่อมาจากคำว่า วิสาขาปุณณมีบูชา หรือ วิสาขาปูรณมีบูชา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแต่เรียกย่อๆ ว่า วิสาขปูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนหก (วันเพ็ญเดือนแปดเหนือ)

...คำว่า "วิสาขะ หรือ ไวสาขะ" เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อพระจันทร์ผ่านกลุ่มดาววิสาขะนี้ เรียกว่า พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ คำว่า วิสาขะ เป็นชื่อเดือนที่ ๖ หรือเดือนหกตามจันทรคติ

...วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน สามสมัยกาลร่วมกัน มีเรื่องย่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสามดังต่อไปนี้

ประสูติ

...เมื่อ ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่พรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ปัจจุบันคือตำบลลุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล เจ้าชายสิทธัตถะประสูติใต้ต้นสาละในสวนนี้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง

ตรัสรู้

...จากวันประสูตินั้นมา ๓๕ ปีบริบูรณ์ คือ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันเรียกว่าพุทธคยา จังหวัดคยา แคว้นพิหาร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ เมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก ปีระกา เวลารุ่งอรุณ

ปรินิพพาน

...พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนศีลธรรมอยู่ ๔๕ ปี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นสาละคู่ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง เวลาใกล้รุ่ง

...พิธีวิสาขบูชานี้ เป็นพิธีที่นิยมทำกันมาแต่โบราณปรากฏหลักฐานจากคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า ราวพุทธศักราช ๔๒๐ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในเกาะลังกา พระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกา ล้วนแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และได้ให้ทำพิธีวิสาขบูชาเป็นการใหญ่ประจำปี

พิธีการวันวิสาขบูชาของล้านนาไทย

...พิธีการวันวิสาขบูชาสำหรับล้านนาไทยนั้น ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับวันมาฆบูชาทุกอย่าง ยกเว้นไม่มีการทานขันเข้าเท่านั้น ตอนเช้ามีการทำบุญ ตักบาตร รับศีล และตอนบ่ายผู้เฒ่าผู้แก่จะไปวัดฟังเทศน์ บางคนจะไปนอนวัด ถึงตอนค่ำนำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียน จะมีทั้งพระสงฆ์และประชาชน พระสงฆ์เดินนำหน้าเวียนขวารอบเจดีย์ พระอุโบสถหรือวิหาร ๓ รอบ เสร็จแล้วก็เข้าโบสถ์ สวดมนต์ ฟังเทศน์เป็นเสร็จพิธี

คำบูชาในวันวิสาขบูชา

...ยมมฺหโข มยํ ภควนฺตํ สรณํ คตวา, โย โน ภควา สตฺถา ยสฺส จ มยํ ภควโต, ธมฺมํ โรเจม, อโหสิ โข โส ภควา, มชฺฌิเมสุ ชนปรเทสุ มนุสฺเสส อุปปนฺโน ขนฺติโย โคตเมน โคตฺเตน, สกฺยปุตฺโต สกฺยกุลา ปพฺพชิโต, สเทวเก โลเก สมารเก สพฺรหฺมเก, สสฺสมณ พฺราหฺมณียา ปชา สเทวมนุสฺสาย อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อภิสมฺพุทโธ, นิสฺสํสยํ โย โส ภควา, อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ, วิชฺชา จรณสมฺปนฺโน สุคโต, โลกวิทู, อนุตตโร ปริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา

...สฺวากฺขาโต โข ปน เตน ภควตา ธมฺโม, สนฺทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ

...สุปฏิปนฺโน โข ปนสฺส ภควโต สาวกสงฺโฆ, อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สามีจิ ปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคลานิ อฏฐปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ, อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

...อยํ โข ปน ถูโป (ปฏิมา) ตํ ภคกนฺตํ อุททิสฺสกโต ยาว เทวทรสฺสเนนฺตํ ภควนฺตํ อนุสฺสริตฺถา ปสาทสํเวคปฏิลาภาย, มยํ โข เอตรหิ อิมํ วิสาขปุณฺณมีกาลํ อสฺส ภควโต ชาติสมฺโพธิ นิพฺพานกาเล สมฺมหํ (ถ้าวันอัฏฐมีเปลี่ยนเป็น วิสาขปุณณมีตปรํ อฆฐมีกาลํ) ตสฺส ภควโต สรีชญา ปนกาล สมฺมตํปตฺวา อิมํ ฐานํ สมฺปตฺตา อิเม ทณฺฑทีปธูปาทิส สกฺกาเร คเหตฺวา อตฺตโน กายํ สกฺการูปธานํ กริตฺวา, ตสฺส ภควโต ยถา กิจฺเจ คุเณ อนุสฺสรนฺตา, อินํ ถูปํ (ใช้ ปฏิมารํ ถ้าสวดหน้าพระพุทธรูป) ติกฺขตฺตํ ปทกฺขิณํ กริสฺสาม, ยถา คหิเตหิ สกฺกาเรหิ ปูชํ กุรุมานา, สาธุ โน ภนฺเต ภควา สุจิรปรินิพฺพุโตปิ ญาตพฺเพหิ คุเณหิ ออีตา รมฺมณตาย ปุญฺญายมาโน, อิเม อมฺเหหิ คหิเต สกฺกาเร ปฏิคฺครณฺหาตุ, อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย