วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-นำชมวัดหวลการณ์ ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี

 เชียงใหม่-นำชมวัดหวลการณ์ ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี


...ตั้งอยู่ในตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในตำบลหนองแฝก มีหนองน้ำอยู่ทางทิศใต้ ไปจนถึงเขตบ้านสันป่าสัก มีหญ้าแฝกขึ้นมากตามริมขอบหนองจึงเรียกว่า "หนองแฝก"



ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำนา และยังมีต้นหญ้าแฝกก็ยังพอมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน




ประวัติความเป็นมา

...การก่อสร้างวัดหวลการณ์เริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๔๗๒ 

มีศรัทธากลุ่มหนึ่งคือ พ่ออุ้ยหนานตายุง (หรืออุ้ยหนานตา ปารมี) พ่ออุ้ยหมื่นการณ์ ประชาชอบ พ่ออุ้ยหนานหมื่น สมบูรณ์ พ่ออุ้ยตุ่น สมบูรณ์ พ่ออุ้ยหนานดี เงาแก้ว พ่ออุ้ยมา เจริญ พ่ออุ้ยหล้า หวลกาบ พ่ออุ้ยหนานกุณา (อุ้ยหนานก๋อง) แสงสว่าง และพ่ออุ้ยเฮือน แสงฟ้า โดยมีพระภิกษุจากวัดหนองแฝก (วัดหลวง) คือ พระครูบาหล้า ปญฺญาวุฒโฑ ได้พากันมาบุกเบิกปรับสถานที่ และมาปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างวัด ซึ่งต้องผจญกับสิ่งน่ากลัวมากมาย โดยอาศัยที่ดินชาวบ้านถวายให้ โดยผู้ที่ถวายที่ดินมากที่สุดได้แก่ พ่ออุ้ยหล้า หวลกาบ





...สำหรับคำว่า "หวลการณ์" ได้มาโดยการนำนามสกุลของพ่ออุ้ยหล้า คือ หวลกาบ และเอาชื่อของพ่ออุ้ยหมื่นการณ์ ประชาชอบ (หรืออุ้ยหมื่นรินทร์) เอามาผสมกันจึงมีชื่อว่า "วัดหวลการณ์" บ้านสันป่าสัก เพราะบุคคลสองท่านนี้เป็นผู้มีพระคุณอย่างมากต่อการสร้างวัด (แต่เดิมมีโรงเรียนอยู่ในวัดด้วย)






พ.ศ.๒๔๗๓ ได้สร้างกุฏิแบบถาวรขึ้นมาหลังหนึ่ง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

พ.ศ.๒๔๘๑ สร้างวิหาร

พ.ศ.๒๔๘๘ สร้างศาลาตรงอุโบสถในปัจจุบัน

พ.ศ.๒๔๗๕ สร้างศาลาหลังใต้ และกุฏิหลังเล็ก (ตรงหัวศาลาหลังเล็กที่ต้นมะเกว๋นในปัจจุบัน) ยาวไปทางเหนือ เพื่อเป็นสถานที่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร






ทำเนียบเจ้าอาวาส

๑. พระครูบาหล้า ปญฺญาวุฒโฑ

๒. พระอิ่นแก้ว ธมฺมปญฺโญ

๓. พระอุ่นเรือน เงาผ่อง

๔. พระอธิการบุญยัง (บ้านพระนอนป่าเก็ดถี่)

๕. พระอธิการสม โสภา

๖. พระครูรัตนชยาภรณ์ (พระครูชัยรัตน์ คมฺภีโร)

๗. พระมหาอภิวัฒน์ กนฺตสีโล

๘. พระเอกลักษณ์ อริยโชโต

๙. ครูสังฆรักษ์รักษ์ สิริเมธี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๗-ปัจจุบัน






ปฏิปทาท่านเจ้าอาวาส

...ในปัจจุบันพระครูสังฆรักษ์รักษ์ สิริเมธี เจ้าอาวาสวัดหวลการณ์เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอสารภี ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหนองแฝก ได้ดำเนินการบูรณะวิหาร ศาลาปฏิบัติธรรม สร้างศาลารวมใจ บุญเหลือล้น สมปรารถนา ศาลาปั๋นปอน รวมถึงพัฒนาวัดให้สะอาดร่มรื่น เป็นรมณียสถานควรค่าแก่การปฏิบัติธรรม 





...นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มวัยหวานวัดหวลการณ์ โดยมีสมาชิกกลุ่มเป็นผู้สูงวัยในชุมชน มาร่วมกันทำกิจกรรมงานประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ดอกไม้จากกระดาษ รวมถึงกิจกรรมการไว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และการออกเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชนอีกด้วย โดยได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมโดดเด่น
...วิหาร...
สถาปัตยกรรมล้านนา อาคารก่ออิฐถือปูนผสมผสานโครงสร้างไม้และการยกเก็จของอาคาร ตระการตาด้วยศิลปะงานไม้แกะสลักลวดลายไทยและศิลปะกระจกตัดสีเหลืองทอง หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้งไม้แกะสลัก หน้าบันประติมากรรมปูนปั้นปิดทองช้างสามเศียร รายล้อมด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐาน "หลวงพ่อสมปรารถนาบันดาลโชค" พระพุทธรูปทองเหลืองปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ด้านข้างมีพระพุทธรูปหล่อ "หลวงพ่อทันใจสมปรารถนา" และ "พระพุทธไสยาสน์สมปรารถนาอุ่นจิตต์" ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูง ๒ เมตร ด้านหลังจิตรกรรมภาพเขียนเรื่องเล่าพุทธประวัติ และทศชาติชาดก






...อุโบสถ...
สถาปัตยกรรมล้านนา อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองพรรณพฤกษารายล้อมพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานพร แผงโก่งคิ้วและแผงปีกนกสองข้างไม้แกะสลัก ปิดทองลวดลายพรรณพฤกษา
...หอไตรหรือหอธรรม...
สถาปัตยกรรมล้านนา อาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นขนาดเล็กตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวิหารและอุโบสถ หลังคาลดหลั่นซ้อนชั้นประดับช่อฟ้าและปั้นลมเส้นตรงลงมาตามแนวหลังคา ส่วนปลายทำเป็นรูปหางวัน หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองครุฑยุทธนาค แผงโก่งคิ้วไม้แกะสลักปิดทองลวดลายหม้อปูรณฆฏะและลวดลายดอกไม้ เสาคู่สี่เหลี่ยมโอบล้อมด้วยประติมากรรมปูนปั้นปิดทองลวดลายขดพรรณพฤกษาลงบนพื้นสีแดงชาด บันไดทางขึ้นยกพื้นสูงขนาบข้างด้วยประติมากรรมปูนปั้นมกรคายนาค เทพยดาอารักษ์พระธรรมคัมภีร์ และตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนา จัดเก็บรักษาอยู่ภายในห้องชั้นบน
...พระธาตุนวนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่...
ศิลปะล้านนาล้อมรอบด้วยรั้วกำแพงแก้ว ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมยกสูงรอบฐานประดับปูนปั้นสัญลักษณ์ประจำปีเกิดสิบสองนักษัตร ฐานเรือนธาตุย่อมุมซ้อนชั้นประดับศิลปะกระจกตัดลายเรขาคณิตและดอกไม้มาลัยเถาแปดเหลี่ยมลดหลั่นซ้อนชั้นรองรับองค์ทรงเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอดประดับฉัตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น