วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

Super-Multi-Coated TAKUMAR 1:3.5/28 8340992 ASAHI OPT, CO.. JAPAN

 Super-Multi-Coated TAKUMAR 1:3.5/28 8340992 ASAHI OPT, CO.. JAPAN





เป็นเลนส์มือหมุน ซึ่งเลนส์ตระกูลนี้ คม สีสวย ละลายหลังดี

แต่เดิมถือว่าเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับนักถ่ายภาพแนวขาว-ดำ

เรียกว่า ยอดนิยมสำหรับนักสะสมกันเลยทีเดียวครับ

Super Multi-coated หรือ SMC Takumar เป็นเลนส์รุ่นที่ 3
ที่ถือว่าเป็นเลนส์ที่พัฒนาสุดยอดแล้วในยุคก่อนที่จะเป็น Asahi Pentex
เลนส์ในยุคนี้ถือว่าเป็นเลนส์แจ้งเกิดของ Pentex ในตลาดต่างประเทศเลยก็ว่าได้
เพราะมันให้คุณภาพของสีและความคมชัดแบบน่าทึ่งและตัดปัญหาเรื่องเลนส์ฟุ้งได้สนิท
ดังนั้นมันจึงเป็นเลนส์สนุกที่ควรสะสมตัวหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

ไม้กันสั่น Zhiyun Smooth Q Gimbal 3-Axis สำหรับ โทรศัพท์มือถือ

ไม้กันสั่น Zhiyun Smooth Q Gimbal 3-Axis สำหรับ โทรศัพท์มือถือ


ทำให้ใช้งานถ่ายวิดีโอได้อย่างราบรื่น ใช้งานง่ายรวดเร็ว มีน้ำหนักเบาสามารถพกพาไฟใช้ได้ทุกที่ 

Zhiyun Smooth Q ยังตอบสนอง รวดเร็วแม่นยำ ทำงานเร็วขึ้นกว่า 30-40% เมื่อเทียบกับรุ่น Smooth II เลยทีเดียว 

เมื่อใช้ควบคู่กับ APP (ZY PLAY) ผ่านบลูทูธ สามารถทำให้มือถือนั้นกลายเป็นกล้องวิดีโอระดับมืออาชีพ 

ไม่ต้องมีคนคอยตามถ่ายเพราะ มีโหมดถ่ายติดตามใบหน้าได้ของผู้ที่ Live สดได้

Zhiyun Smooth Q ยังสามารถคอนโทรล ตัวแอพพลิเคชั่นให้ ซูม เข้า-ออก บันทึก ถ่ายภาพนิ่ง ได้อีกด้วย

ทำให้สะดวกไม่ต้องกดที่หน้าจอมือถือ รองรับการทำงานยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง 

และ ยังมีช่องสำหรับชาร์จมือถือทำให้ใช้งานได้ไม่สะดุด

.

เมื่อครั้งที่ได้ไม้กันสั่นตัวนี้มา ก็สับสนกับเรื่องการตั้งค่าสมดุลย์ของมันมากพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร

ทั้งๆ ที่ ก็ load app ZY PLAY มาลงในมือถือแล้วก็ยังไม่เข้าใจ

ตรงนี้อยากจะบอกว่า ก็เพราะมือถือแต่ละตัวมันมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ขนาดก็ไม่เท่ากัน

มันเลยต้องทำการ Set Balance กันใหม่เมื่อใช้มือถือคนละตัวกันนั่นเองครับ

.

แต่เมื่อลองผิดลองถูกอยู่นานจึงหาทาง Set Balance ได้และสามารถใช้งานได้ ซึ่งถือว่าดีใจที่ลองจนรู้

ว่าจริงๆ มันก็มี Menu อยู่ใน App นั่นแหละครับ เราทำตาม Menu ที่ระบุว่าให้จำมันวางอย่างไรเท่านั้นเอง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า มันตั้ง App นี้ให้ Set Balance ไปทำไม ทั้งๆ ที่ระหว่างที่ Set Balance นั้น ก็ไม่ได้ประกอบกับมือถือเอาเสียเลย

มันแค่จับมันวาง 4 ด้านกับพื้นที่ราบเรียบเท่านั้นเอง เรียกว่า ตรงนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่า ทำไปทำไมเหมือนกัน

.

แต่เชื่อเหอะ ทำเสร็จแล้ว มันใช้งานได้อย่างดีทีเดียวครับ


วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ตาก-นำชมประติมากรรมหินสลักริมแม่น้ำปิง

ตาก-นำชมประติมากรรมหินสลักริมแม่น้ำปิง
เป็นการแกะสลักหินแกรนิต ซึ่งเป็นหินในถิ่นกำเนิดในจังหวัดตาก
โดยแกะหินเป็นนักษัตรทั้ง ๑๒ นักษัตร























วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ขอคิดด้วยคน...ม้านั่งตามถนนคนเดิน

...... ขอคิดด้วยคน .............
แนวคิดของตลาดหรือการจัดถนนคนเดินในช่วง COVID-19 หรือแม้แต่ช่วงโอกาสอื่นๆ
แต่ละร้านค้า หรืออาจจะเป็น 3-4 ร้านค้า ก็น่าจะมีม้านั่งยาวๆ ไว้ให้คนเดินตลาดได้นั่งพัก
และรวมไปถึงเป็นการเพิ่มระยะห่างไปด้วย
บ่อยครั้งที่ได้มีโอกาสเดินตามถนนคนเดิน มักจะแออัดกันมาก จนถึงมากที่สุด
ด้วยเพราะต้องการหารายได้จากค่าที่
หรือจะด้วยเพราะพ่อค้าแม่ค้าต้องการมาวางขายอย่างมากมาย
แต่ในสภาพความแออัด มันทำให้สภาพถนนคนเดิน หนาแน่นจนไม่น่าเดิน
ม้านั่งที่จัดเตรียม เพื่อเพิ่มระยะห่าง หรือแม้กระทั่ง เป็นจุดวกกลับของคนเดิน
มันมีความสำคัญมากครับ

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รื้อหอขวางเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 มาสร้างวิหารวัดเชียงมั่น

รื้อหอขวางเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 มาสร้างวิหารวัดเชียงมั่น
..........อาคารศาสนาสถานโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 40-50 ปี ย่อมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และรอผู้มีบารมีใฝ่ธรรมร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
เช่นเดียวกับวิหารวัดเชียงมั่น ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพญามังรายเมื่อปี พ.ศ.1839 ย่อมทรุดโทรมลงตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนผ่าน
เริ่มสมัยราชวงศ์มังราย เปลี่ยนผ่านมาสมัยที่เมืองเชียงใหม่อยู่ในปกครองของพม่า ล่วงมาเมื่อพระเจ้ากาวิละฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2339
ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2368 มีประวัติว่าเจ้านายลูกหลานของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น (เจ้ามหาสุภัทรราชะ) ได้รื้อหอขวางของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นมาสร้างวิหารหลวงวัดเชียงมั่น
จากประวัติเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2367
..........ประวัติเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นหรือพระนามเต็มว่า "เจ้ามหาสุภัทรราชะ" เป็นบุตรลำดับที่ 8 ของเจ้าฟ้าชายแก้วกับนางจันทา สมภพเมื่อปี พ.ศ.2299 เป็นน้องชายของพระเจ้ากาวิละ จึงเป็นผู้ช่วยราชการที่เข้มแข็งของพระเจ้ากาวิละ
อีกทั้งมีบทบาทในการนำกำลังต่อสู้กับทหารพม่าช่วงที่มีการฟื้นเมืองเชียงใหม่ในชื่อว่า "เจ้ารัตนหัวเมืองแก้ว"
..........หลังจากมีการฟื้นเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว เจ้าเศรษฐีคำฝั้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชวงศ์เมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1
ต่อมามีการฟื้นเมืองลำพูน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงแต่งตั้งให้เจ้าเศรษฐีคำฝั้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2357-2358 และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.2365 ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองเชียงใหม่และได้เลื่อนขึ้นเป็นระดับ "พระยา"
เมื่อเจ้าเศรษฐีคำฝั้น ครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกับเจ้าราชวงศ์สุวัณคำมูน ทำให้บรรดาขุนนางได้ไปเชิญเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงเมืองลำปางและเจ้าบุญมา เจ้าหลวงเมืองลำพูนมาช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยได้แนะนำให้เจ้าคำฝั้น เสด็จออกผนวชที่วัดเชียงมั่นแล้วไปจำพรรษาที่วัดสวนดอก จากนั้นได้มีการขอพระอินทร์ พระพรหมและเทวดาอารักษ์ เสื้อเมือง ตลอดจนอดีตวีรบุรุษผู้เป็นหลักแก่เมืองให้ช่วยเหลือ ทำการปล่อยรถม้าเสี่ยงทายหาเจ้าหลวงองค์ใหม่ รถม้าดังกล่าวกลับมาหยุดอยู่ที่บริเวณหน้าวัดสวนดอก ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าคำฝั้น เหล่าบรรดาเจ้านาย และขุนนางจึงได้อัญเชิญเจ้าคำฝั้น ให้ลาสิกขาบทกลับมาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่อีกครั้ง
..........ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวรายละเอียดในขณะนั้นความว่า
"ถึง ณ วันเดือน 8 แรม 4 ค่ำ วันอาทิตย์ พระเป็นเจ้าหอคำเป็นเค้า และเจ้าหลวงเมืองลำพูนเป็นประธาน ขัตติยราชวงศาเจ้าทุกตน นำเอาพระเป็นเจ้ามหาสุภธราองค์เป็นมหาอิสราธิปติในรัตนติงสาพระนครเชียงใหม่เข้าไปบวชยังวัดสังฆารามเชียงมั่น มีสังฆะ 21 องค์
ถึง ณ วันเดือน 8 แรม 6 ค่ำ พระเป็นเจ้าสมณราชาก็ออกไปปฏิบัติจำเริญอยู่กับมหาราชครูเจ้าปัญญาวชิร วัดบุปผาราม เวียงสวนดอก หั้นแล
คือ ณ วันอังคาร เดือน 7 แรม 15 ค่ำ เมื่อนั้น ขัตติยะราชวงศา ท้าวพระยา เสนาอำมาตย์ทั้งมวล ก็พร้อมกันโอกาสราธนาพระมหาสมณะเถรเจ้า สึกออกจากสมณะเพศ แล้วก็อาราธนาท่านเป็นเจ้า เสด็จขึ้นพระหัตถียานุมาศแห่แหนตีดุริยดนตรี สรงเสพเข้ามาถึงหัวริน แล้วก็เอาน้ำบ่อแก้ว 7 ริน อาบองค์สรงเกษวรองค์พระเป็นเจ้า
..........มาในที่นั้นพระเป็นเจ้ามายั้ง (หยุด) ประตูช้างเผือก แล้วเจ้าก็ไปไหว้พระเจ้าวัดเชียงยืนและพระธาตุเจ้า แล้วเสด็จเข้ามาด้วยประตูช้างเผือก หื้อลัวะจูงหามเสด็จเข้าแว่ไหว้พระเจ้าพระธาตุเชียงมั่น แล้วเสด็จเข้ามาถึงหน้าพระราชวังหลวงแล้ว ภายในพระสังฆราช 108 องค์ ภายนอกมีสมเด็จพระเจ้าหอคำละครเป็นเค้าและเจ้าเมืองลำพูน เจ้ามหาอุปราชา เจ้าราชวงศ์เป็นประธาน นำท่านเข้าสู่หอเดือนหอชัยเบงชรชัยปฐวี สมโภชคาถานุมาศหามสู่หอหลังใต้ที่เก่า แล้วก็ประชุมนุมมายังหมอยาทั้งหลาย เข้ามารักษาพยาธิ หมอประกอบยา ถวายพยาธิแห่งพระเป็นเจ้าก็หายคลายมายดีมาหั้นแล"
(ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2514 และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับนายสงวน โชติสุขรัตน์ ผูก 8)
..........ในช่วงรัชกาลของเจ้าคำฝั้น เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ใน พ.ศ.2367 ต่อมาไม่นานเจ้าคำฝั้นก็ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2368 สิริอายุ 69 ปี
..........เจ้าอุปราชพุทธวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าหลวงองค์ที่ 4 โดยมีเจ้าหนานมหาวงศ์ บุตรพระยาธรรมลังกาเป็นเจ้าอุปราช และเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าคำฝั้น เป็นพระยาราชวงศ์เชียงใหม่สืบไป
..........ด้านครอบครัว เจ้าเศรษฐีคำฝั้นเษกสมรสกับ แม่เจ้าตาเวย ราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง (หรือเมืองกันตะระวดี) อันเป็นดินแดนกะเหรี่ยงที่รุ่งเรืองและร่ำรวยมากไปด้วยไม้ขอนสักอันล้ำค่า จึงเป็นที่มาของชื่อ "เศรษฐีคำฝั้น"
เมื่อถึงแก่อนิจกรรมลง เจ้านายลูกหลานได้รื้อหอขวางของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น ไปสร้างวิหารหลวงวัดเชียงมั่น เนื่องจากมีความผูกพันเคยผนวชที่วัดเชียงมั่นแห่งนี้ (เจ้าหลวงเชียงใหม่, จัดพิมพ์ในวาระเมืองเชียงใหม่ ครบ 700 ปี, 2539)

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

พระศิลา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของวัดเชียงมั่น

พระศิลา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของวัดเชียงมั่น
"พระศิลา" หรือ "พระศีลา" เป็นพระพุทธรูปปางโปรดช้างนาราคีฬี แกะสลักด้วยหินชนวนดำ (บางตำนานว่าเป็นหินแดง) ฝีมือช่างปาละของอินเดียและสลักตามคติเดิมของอินเดีย
..........พุทธลักษณะของพระศิลา คือ ประทับยืนเยื้องพระองค์บนฐานบัวภายใต้ซุ้ม พระหัตถ์ขวาทอดลงเหนือหัวช้างซึ่งหมอบอยู่ พระหัตถ์ซ้ายยกในท่าประทานอภัยหรือแสดงธรรม พระอานนท์ยืนถือบาตรอยู่ด้านซ้ายปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) ภายในวิหารจัตุรมุข วัดเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
..........ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระโคตมพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ 7 ปี 7 เดือน กับ 7 วัน พระเจ้าอาชาตศัตตุราชผู้ครองนครราชคฤห์ มีพระประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูป ทรงให้นำเอาหินอ่อนจากท้องมหาสมุทรมาสร้างพระพุทธรูปปางโปรดช้างนาฬาคีฬี ขณะเสด็จบิณฑบาตในเวียงราชคฤห์ โดยมีรูปช้างนาฬาคีฬีนอนหมอบอยู่ทางขวา และรูปพระอานนท์ถือบาตรอยู่ทางซ้าย ทรงให้สร้างรูปทั้งสามนั้นในหน้าหินลูกเดียวกัน เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชาและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งจิตอธิฐาน กล่าวคำอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ 7 พระองค์ ให้เสด็จเข้าสถิตย์ในองค์พระพุทธรูปศีลา
..........เมื่อพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 7 พระองค์สถิตตั้งอยู่ในองค์พระศีลาเจ้าแล้ว พระศีลาก็ทรงสำแดงอิทธิฤทธิ์เสด็จขึ้นไปในอากาศ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงทรงประดิษฐานพระศีลาในเงื้อมเขาที่สูงและทำแท่นบูชาไว้ข้างล่างสำหรับผู้ที่ต้องการมาทำการสักการบูชา
..........ต่อมาพระเถรเจ้า 3 องค์ มีนามว่า สีละวังโส เรวะโต และญาณคัมภีระเถระ พากันไปนมัสการพระศีลาเจ้าที่เงื้อมเขา และขออาราธนาพระองค์เสด็จโปรดมหาชนในประเทศบ้านเมืองที่ไกลบ้าง พระเถระเจ้าทั้ง 3 องค์ จึงขออนุญาตพระเจ้าอาชาตศัตตุราชานำพระศีลาไปยังเมืองหริภุญไชย เมื่อพระเถระเจ้าทั้ง 3 มาถึงเมืองหริภุญไชยก็อัญเชิญพระศีลาเจ้าประดิษฐานไว้ในเมืองนั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนชาวเมืองเป็นเวลาหลายสมัย
..........ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มีรับสั่งให้ไปอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ โดยประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง วัดหมื่นสาร และวัดสวนดอกตามลำดับ
..........ในปีมะแม จุลศักราช 837 (พ.ศ.2019) ทรงอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานในหอพระแก้ว ในพระราชวังของพระองค์ ครั้่นถึงเทศกาลอันสมควรก็กระทำพิธีสักการะบูชาสระสรงสมโภชพระแก้วและพระศีลาเจ้าเป็นงานประจำปี ถ้าปีใดบ้านเมืองแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็ทรงให้จัดการทำพิธีขอฝนสระสรงองค์พระศีลาเจ้า เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พระราชบุตร พระราชนัดดาได้เสวยราชสมบัติ ก็ทรงดำเนินตามราชประเพณีสืบๆ กันมา ต่อมาภายหลังได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่นคู่กับพระเสตังคมณีเรื่อยมา (เชียงมั่น วัดแห่งแรกของเชียงใหม่, กลุ่มจิตอาสาวัดเชียงมั่น 57 รวบรวม,2557)

พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) พระพุทธรูปประจำวัดเชียงมั่น

พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) พระพุทธรูปประจำวัดเชียงมั่น
..........เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ.1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชมณเฑียรเดิม คือ บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน
"พระเสตังคมณี" หรือ "พระแก้วขาว" เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว เคยเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ของกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชยและกษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งนครเชียงใหม่ ตำนานกล่าวว่าเป็นศิลปะสกุลช่างละโว้ ปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระศิลาซึ่งเป็นพระปางปราบช้างนาฬาคีรี ภายในพระวิหารวัดเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
..........ตำนานพระเสตังคมณี ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 สุเทวฤาษีได้นำเอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบประสนทนาด้วยพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้บอกแก่สุเทวฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฏฐจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้วจึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตรแล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากรสุเทวฤาษีและฤาษีอื่นๆ ก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาต (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง
..........เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤาษีสร้างนครหริภุญไชยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระแม่เจ้าจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญไชย พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญไชยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
..........พญามังรายได้ยึดครองนครหริภุญไชยได้ใน พ.ศ.1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหายพบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์
..........เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ.1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือ บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์ หรือวัดเจดีย์หลวง
..........ประมาณ พ.ศ.2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม
..........พ.ศ. 2089 พระแก้วขาวจกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายมีพระราชศรัทธาอัญาเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก
..........พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณีประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครเชียงใหม่จึงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการสร้างแท่นแกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์หุ้มด้วยทองคำหนัก 300 บาท 3 ซีก เจ้าราชภาคินัย และเจ้าอุบลวัณณา สร้างฉัตรทองคำถวายหนัก 100 บาท พร้อมกับจารึกบนแผ่นทองคำใต้แท่นพระเป็นภาษาล้านนาไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาฉัตรทองคำได้หายไปคงเหลือแต่ที่ปักแกนก้านฉัตรเท่านั้น
..........ปี พ.ศ.2539 นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี จึงได้มีการบูรณะฐานพระแก้วขาว เนื่องจากได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี ทำให้เนื้อไม้แก่นจันทน์บวมขยายออก มีผลให้แผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ปริแตก นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนัก 123 บาท ประดับเพชร 9 เม็ด และพลอยอีก 37 เม็ด ถวายแด่พระแก้วขาวด้วย

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

พระอุปคุต หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า "สถวีรอุปคุปต"

พระอุปคุต หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า "สถวีรอุปคุปต"
เป็นพระอรหันตสาวกหลังพุทธกาล ซึ่งเป็นผู้เรืองฤทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะและได้เป็นผู้ปราบพญามารตนหนึ่ง
ที่มารังควานการฉลองพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้จัดขึ้น
..........คัมภีร์อโศกาวทาน ได้กล่าวถึงเรื่องราวและบทบาทของพระอุปคุตว่า
พระอุปคุตกำเนิดมาในตระกูลของพ่อค้าในเมืองมถุรา เมื่อออกบวชแล้วบรรลุพระอรหันต์ ได้เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
มีพระอรหันต์เป็นศิษย์อยู่ถึง 18,000 รูป สำนักของท่านตั้งอยู่ ณ วัดนฏภฏิการาม บนภูเขาอุรุมนท์
พระอุปคุตเป็นผู้นำพระเจ้าอโศกเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ สถานที่ประสูติ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน
ในคัมภีร์อโศกาวทานยังกล่าวอีกว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์พระอุปคุตแก่พระอานนท์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า 100 ปี นับจากเวลาดังกล่าว
พระอุปคุตจะเป็นผู้ประกาศพุทธธรรมในโลกนี้เฉกเช่นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 แต่จะเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีทวัตติงสลักษณะหรือไม่ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ
และพระอุปคุตเป็นผู้กลับใจมารผู้รบกวนพระภิกษุโดยการใช้กระดูกของสัตว์ 3 ชนิด คือ งู สุนัข และคน แทรกสวมเข้าไปในพวงมาลัยดอกไม้
โดยอาศัยกำลังอภิญญาส่งคืนไปคล้องคอพญามาร เมื่อพญามารไม่สามารถถอดออกได้
แม้จะไปขอความช่วยเหลือจากพรหมก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงสำนึกถึงพลานุภาพของพระสาวกและพระพุทธเจ้า
แล้วยอมรับเงื่อนไขว่าต่อไปจะไม่รบกวนพระภิกษุสงฆ์ และจะเนรมิตตนแสดงสรีระของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ให้ปรากฏตามคำขอร้องของพระอุปคุต
พระอุปคุตจึงถอดพวงมาลัยดังกล่าวให้
..........นอกจากวรรณกรรมที่กล่าวถึงบทบาทพระอุปคุตดังกล่าวแล้ว
ยังมีเรื่องเล่าว่าพระอุปคุตมีทั้งหมด 8 องค์ ปรินิพพานไปแล้ว 7 องค์ คงเหลือจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร 1 องค์
โดยในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ (วันเพ็ญพุธ) พระอุปคุตจะออกมาโปรดสัตว์ โดยการเนรมิตตนเป็นเณรน้อยมาบิณฑบาตตอนกลางคืน
(แต่ก็มีผู้เล่าว่าพระอุปคุตปรากฏในรูปร่างสูงใหญ่) ผู้ที่ได้ตักบาตรพระอุปคุตจะได้โชคได้ลาภและร่ำรวย
จึงมีประชาชนไปตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธระหว่างช่วงเวลา 02.00-05.00 นาฬิกา
ดังเช่นชาวบ้านในเชียงใหม่จะตักบาตร พระอุปคุตที่บริเวณวัดอุปคุต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
..........เนื่องจากพระอุปคุตมีคุณสมบัติเป็นเลิศในทางป้องกันอันตราย
ดังนั้นจึงมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากแหล่งน้ำมาสู่หอพระอุปคุตในบริเวณวัด
เมื่อมีพิธีที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์ หรือใน "งานพอย" หรือ "งานปอย" คืองานฉลองต่างๆ ในวัด
..........การที่จะนิมนต์พระอุปคตมาประจำในพิธีกรรมหรือในงานนั้น
เริ่มโดยการมอบหมายให้ผู้มีอาวุโสซึ่งมีศีลมีธรรมอันดีและน่าเคารพนับถือหนึ่งท่าน
นำเอาพระอุปคุตสมมติ คือ หินก้อนหนึ่งซึ่งต้องงมขึ้นมาจากแม่น้ำ แต่บางตำราก็ว่าให้จัดหาก้อนหินมีลักษณะดีขนาดเท่าส้มโอ หรือจะเป็นพระอุปคุตแบบประติมากรรมแกะด้วยหินหรือหล่อด้วยทองเหลืองก็ได้
ใส่ภาชนะไปไว้ที่สมควรสักแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากสถานที่ที่จะทำพิธีไม่น้อยกว่า 500 เมตร แต่ไม่เกิน 1 กิโลเมตร โดยให้ห่างจากแม่น้ำลำธารไม่เกิน 10 วา
แล้วไปนั่งพักเพื่อคอยคณะผู้จะมานิมนต์ เมื่อคณะที่ไปนิมนต์ไปถึง ก็จะถามด้วยคำว่า "ลุง หรือ พ่อเฒ่า ทำอะไร จะไปไหน หรือไปไหนมา"
ผู้เฒ่าคนนั้นก็จะตอบตามอัธยาศัย และต้องตอบด้วยคำที่เป็นมงคล
แล้วผู้เฒ่าก็จะถามต่อว่า "พวกท่านทั้งหลายนี้พากันแห่แหนจะไปที่ไหน"
คณะที่ไปก็จะตอบว่า "เออ...พวกข้าพเจ้าทั้งหลายได้มีการจัดทำบุญ (บอกชื่อพิธีที่จะทำ) ที่พากันมานี้ก็เพื่อจะมานิมนต์พระมหาอุปคุตไปเป็นประธานเพื่อปกปักรักษาในงานนี้ให้ราบรื่นเป็นสิริมงคล
จะได้ขอลาภ ขอศีล ขอพรจากท่านด้วย (คำใดดีที่เป็นมงคลก็ว่าไป) พ่อเฒ่าอยู่แถวนี้ได้รู้ได้เห็นท่านหรือไม่..."
พ่อเฒ่าก็จะตอบว่า "เออ... เมื่อกี้นี้ก็เห็นท่านบิณฑบาตผ่านไปทางนี้ คงจะไปยังไม่ไกลหรอก ท่านทั้งหลายจงรีบตามไปเถิด บางทีท่านอาจจะยังพักผ่อนแถวนี้ก็เป็นได้"
คณะดังกล่าวก็จะพากันเดินถือพานดอกไม้นำไป ตอนนี้ต้องตามหัวหน้าไปอย่างสงบ พร้อมกับมีสัปทนกาง มีช่อ ทุง ชองอ้อย ที่ใส่อัฐิบริขารพร้อมเป็นขบวนไปด้วย
พอถึงที่หมายที่พระอุปคุตอยู่ กะว่าห่างสัก 5 วา ผู้เป็นประธานซึ่งถือพานดอกไม้ก็จะประกาศว่า "พบท่านแล้วๆๆ"
จากนั้นประธานพร้อมคณะเข้าไปหาด้วยอาการเคารพแล้วจุดเทียนธูปบูชา คณะที่ไปนั่งลงแล้วให้ผู้ถือสัปทนนำไปปักไว้ด้านหลังพระอุปคุต
ประธานจะยกพานข้าวตอกดอกไม้ขึ้นก่อนแล้วกล่าวบูชาอาราธนานิมนต์ด้วยคำว่า
..........ตั้งนะโมฯ 3 จบ "สาธุ สาธุ อุกาส อุปคุตฺโต วรทกฺขิเณยฺโย สพฺพปรเมหิ คุเณหิ อเนเกหิสมิทฺธิปฺปตฺโต อนาสโว ตํปน นมาหิ สงฺฆํ ติโยชนโลหมยปาสาเท โย สิวิโต วรทกฺขิณสาครมชฺเฌ อุปคุตฺโต ฐิโต น เมโยอุปคุตฺโต
..........มหาเถโร อันว่ามหาอุปคุตเถรเจ้าตนใด อรหนฺตํ อันเป็นอรหันตาตนประเสริฐ ทกฺขิณสาครมชฺเฌ ฐิโต อันตั้งอยู่ในท่านกลางพื้นน้ำมหาสมุทรกล้ำไต้ โลหปาสาทมยฺ ในปราสาทอนแล้วด้วยทองแดง ติโยชนเปโท อันสูงได้สามโยชน์ วิโตว ตราบอันได้เถิงนิพพาน โส อุปคุตฺโต อันว่าพระมหาเถรเจ้าอุปคุตตนเป็นอรหันตาตนนั้นประเสริฐนักว่าอั้น นมามิ ผู้ข้าก็ไหว้ด้วยความเคารพยำเกรงในกาละบัดนี้แลโอกาส ภนฺเต ข้าแต่พระอุปคุตมหาเถรเจ้าตนประเสริฐ มีคุณอันล้ำเลิศเป็นอรหันตาเจ้ากูย่อมมีอิทธิฤทธิ์อันองอาจ อันพระพุทธเจ้าหากทำนายไว้ให้รักษาศาสนา ห้าพันพระวัสสาเพื่อบ่หื้อเป็นอันตรายภัยยะแก่นระฝูงใฝ่กระทำบุญ กรียาอันยิ่งด้วยฤทธิ์แห่งเจ้ากู เทียรย่อมชนะยังมาร ยักษ์มารขาดกลับหายบัดนี้ผู้ข้าทังหลายหมายมี (...บอกชื่อ...) พร้อมกับด้วยพ่อแม่พี่น้องทายกทายิกาครูบาอาจารย์อันอยู่ในแห่งห้องชุมพูที่นี้ หากเป็นจารีตประเพณีอันพระศากยมุนีโคตมะบรมศาสดา หากตั้งศาสนาไว้ว่าหื้อคนทั้งหลายได้กระทำบุญตามเจตนาแห่งผู้ข้าทั้งหลายทุกบ้านทุกเมือง เพื่อให้รุ่งเรืองในศาสนาแห่งพระตถาคตตราบเสี้ยงห้าพันพระวัสสานี้แท้ดีหลีในคราวกาละบัดนี้ ศรัทธาผู้ข้าทั้งหลาย ทั้งยิงชายมวลหมู่ อันตั้งอยูรักษายังพระวรพุทธศาสนาใน...ฯ (บอกชื่อ สถานที่ วัด บ้าน ตำบล อำเภอ) มูลศรัทธาผู้ข้าทั้งหลายหมายมี (บอกชื่อประธานศรัทธา บ้าน วัด) พร้อมด้วย... ก็มาระลึกนึกถึงยังพระอรหันตาตนวิเศษอันมี ปัญญาธิคุณ ศีลาธิคุณ บริสุทธิคุณ ตนชื่อว่าอุปคุตอันมีฤทธิ์องอาจ ก็จิ่งจัดหาได้ยังข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ทังหลายมวลฝูงนี้เพื่อมาขอโอกาสอาราธนา ยังอรหันตนเจ้าตนวิเศษไปเมตตาแท้ดีหลี
..........ทกฺขิเณจ อุปคุตฺโต เวรโต มฺชฌิเม ฐิโตยาว เมตฺเตยฺย สมฺพุทฺโธ เตปิ จ เต เถรา นมามิหฺ อหํ วนฺทามิ ทูรโต คโต อาคจฺฉนฺตุ มยํ ภนฺเต อิมานิ ธูปปุปฺผาลาชานิ นิมนฺตนตฺถํ อุปคุตฺตมหาเถรํ ยาจาม อนุกรฺปํ อุปาทาย ปฏิคฺคณฺหาตุ โน อุปคุปคุตฺโต จ มหาเถโร สมฺพุทฺเธน วิยากโต มารญฺจ ทมิสฺสเก อนาคเต อปคตํ มหิทฺธิกํ อุปสคฺควิทฺธํสพพฺํ อุปคุตตฺตินาเม พุทฺโธหิ พุทฺธเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต ธมฺโมหิ ธมฺเมน ธมฺมเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต สงฺโฆหิ สงฺฆเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต..."
..........แล้วนำพานดอกเข้าประเคน ตอนนี้ฆ้องกลองประโคมเรื่อยไป แล้วหัวหน้ายกพระอุปคุตหรือหินที่สมมติขึ้นใส่พานดอกไม้ พานนั้นต้องแข็งแรง แล้วยกนำไปใส่ใน "ชองอ้อย (อ่าน จองอ้อย) (มณฑป)" ที่มีบริขาร พร้อมที่หามแห่มาแล้วนำกลับ จัดขบวนมีช่อทุง (ธง) สัปทน กั้นกางไปด้วย เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งจัดเป็นหอพระอุปคุตแล้วก็นำพระอุปคุตสมมติตั้งไว้ ต่อจากนั้นก็มีการถวายข้าวบาตร-ถาดโภชนาอาหาร อาจารย์หรือหัวหน้ากล่าวนำ ด้วยบทว่า... อิมํ โอทนปิณฺฑิปาตํ ทานํ มหาอุปคุตฺตเถรํ สกฺกจฺจํ เทม ปูเชม 3 รอบ เป็นเสร็จพิธี
..........เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองหรือพิธีการแล้ว ในวันรุ่งขึ้นมักจะมีการตักบาตรหรือถวายภัตตาหารแด่พระอุปคุต หลังจากนั้นแล้วก็จะนำพระอุปคุตกลับไปส่งที่เดิม หรืออาจนำพระอุปคุตไปส่งในตอนเย็นของวันที่ทำพิธีเสร็จแล้วก็ได้
..........ในการแห่พระอุปคุตไปส่งนั้น จะต้องจัดขบวนเหมือนเมื่อไปนิมนต์พระอุปคุตไปในงาน การนำก้อนหินลงสู่แม่น้ำนั้นจะต้องทำด้วยความเคารพ ต้องบอกกล่าวขอบคุณด้วยคำที่เป็นมงคล ห้ามขว้างหรือโยนก้อนหินนั้น เมื่อขบวนนำเอาพระอุปคุตไปส่งเรียบร้อยแล้วก็จะยกขบวนกลับไปที่วัดเพื่อเก็บสิ่งของหรือเครื่องใช้ในขบวนนั้นๆ

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อุโบสถเก่าวัดข่วงสิงห์ The Old Ubosot of Wat Khuang Sing







อุโบสถเก่าวัดข่วงสิงห์ The Old Ubosot of Wat Khuang Sing
..........บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งวัดข่วงสิงห์ชัยมงคล ซึ่งบูรณะขึ้นในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1 (พ.ศ.2325-2358) พร้อมทั้งโปรดให้สร้างสิงห์คู่ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2344 และได้รับการบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ.2417 สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413-2440)
..........พ.ศ.2508 วัดนี้ได้ถูกรื้อเพื่อสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์และให้ย้ายไปตั้งที่ใหม่ ต่อมาใน พ.ศ.2536 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งอุโบสถเก่าพบจารึกหินทราย จำนวน 4 ชิ้น เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ แล้วได้รื้ออุโบสถนำอิฐเก่ามาสร้างบน ณ เกาะกลางถนนดังที่ปรากฏอยู่ ณ บริเวณนี้

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภายในพระอุโบสถวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย

..........ภายในพระอุโบสถวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 188 ซม. สูง 263 ซม. นับเป็นพระพุทธรูปสำริดที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า "พระแสนเมืองมาหลวง"
..........พุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูป ประทับนั่งสมาธิราบ เหนือฐานหน้ากระดานเกลี้ยง แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระหนุป้าน พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวบาง ขมวดพระเกศาเล็กเรียวติดกันแน่น แนวขมวดพระเกศาหยักลงมาตรงกลางพระนลาฏ ไม่มีแนวเส้นไรพระศก พระรัศมีเป็นรูปเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายพระสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภีปลายตัดตรง ด้านล่างมีแนวเส้นรัดประคตคาดเป็นแนวยาวหยักขึ้นตรงกลางพระนาภี ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวไล่เรี่ยกัน
..........พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด วัดพวกหงส์ ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2057 แต่พระพุทธรูปทั้งสององค์ที่นำมาเปรียบเทียบมีไรพระศกปรากฏอยู่บนกรอบพระนลาฏแล้ว แนวเส้นไรพระศกดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะที่ 3 หลักฐานที่เก่าที่สุดและมีจารึกกำกับ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดที่วัดพระเจ้าเม็งรายซึ่งหล่อขึ้นในปี พ.ศ.2024 ส่วนพระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดหัวข่วง ไม่มีแนวเส้นไรพระศก และยังปรากฏอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อยู่มาก โดยเฉพาะเค้าพระพักตร์ทางด้านข้าง และนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ที่ยาวไล่เรี่ยกันนั้น คงได้รับอิทธิพลทางด้านคตินิยมเกี่ยวกับลักษณะมหาบุรุษ ที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงนำมาใช้ในการสร้างพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศากยมุนี อิทธิพลดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังล้านนาราวต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราช
..........ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระพุทธรูปองค์นี้จึงควรจะหล่อขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรืออย่างช้าราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ระหว่างต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราช และจัดเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะที่ 3 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวก็สอดคล้องกับหลักฐานทางเอกสาร ที่กล่าวยืนยันว่าได้ปรากฏมีวัดและเจดีย์องค์เดิมอยู่ก่อนรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ซึ่งก็คาดว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีแล้ว นับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาเป็นต้นมา ต่อมาพระเจ้าเมืองแก้วจึงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบทับเจดีย์องค์เดิม
..........ผลจากการศึกษาหลักฐานทางเอกสารและวิเคราะห์แบบแผนทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่ปรากฏมีอยู่ในวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ ดังได้กล่าวมาแล้ว อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าวัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวง เมืองเชียงใหม่นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดหลวงที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่มีพระมหากษัตริย์ของล้านนาให้การทำนุบำรุงรักษาอยู่เสมอมา การที่ปรากฏชื่อวัดและพระพุทธรูปองค์สำคัญที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระนามของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่นั้น อาจหมายความว่าพระเจ้าแสนเมืองมาทรงโปรดให้สถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่ตำแหน่งที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่บริเวณตอนเหนือของข่วงหลวง หรือสนามหลวงที่มักใช้ประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งอยู่ใกล้ชิดกับพระราชวังและสถานที่ทำการของขุนนางที่เรียกว่า "เค้าสนามหลวง" ดังนั้นจึงคงเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จะทรงประกอบการกุศลเป็นการส่วนพระองค์ และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ต่อมาจึงถูกเรียกชื่อเป็นสามัญว่า "วัดหัวข่วง" ด้วย
..........สำหรับการปรากฏมีวัดหัวข่วงอยู่ในบ้านเมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนาแทบทุกเมืองนั้น จึงขอเสนอสมมติฐานไว้เป็นเบื้องต้นว่า วัดหัวข่วงในอดีตคงมีฐานะความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเป็นวัดหรือสถานที่ประกอบการพระราชกุศลส่วนพระองค์่ของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่
แบบแผนดังกล่าวนี้คงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามของกรุงรัตนโกสินทร์
จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่าวัดหัวข่วงนั้น เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา โดยเหตุที่เมืองเชียงใหม่นั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักร
ดังนั้นแบบแผนทางวัฒนธรรมต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นแม่บทให้แก่เมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนา
ด้วยเหตุนี้จึงจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองต่างๆ ในล้านนานั้นจะประกอบไปด้วย ข่วงหลวง หรือ สนามหลวงอยู่ภายในเมือง
มีวัดสำคัญอยู่ตอนเหนือของข่วงหลวง จึงมีชื่อว่า "วัดหัวข่วง"
ซึ่งแบบแผนดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลไปจากเมืองเชียงใหม่นั่นเอง

พระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วง .. ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่ที่มีทรวดทรงงดงามมากองค์หนึ่งในเมืองเชียงใหม่

พระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วง .. ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่ที่มีทรวดทรงงดงามมากองค์หนึ่งในเมืองเชียงใหม่
ลักษณะเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยมองค์ระฆังกลม แบบแผนของลวดบัวเจดีย์ดังกล่าวประกอบด้วยฐานหน้ากระดานสิบสองเหลี่ยม 3 ชั้น
รองรับฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมขนาดใหญ่
ที่ท้องไม้มีลูกแก้วใหญ่เพียงหนึ่งเส้น จากฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมขึ้นไป จะมีปูนปั้นประดับเป็นกลีบบัวคว่ำ-บัวหงายอยู่รายรอบก่อนที่จะถึงฐานหน้ากระดานสิบสองเหลี่ยมแคบๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น
แล้วจึงถึงส่วนประดับลวดบัวใต้องค์ระฆังที่เรียกว่า "มาลัยเถา"
มาลัยเถาดังกล่าว มีสิบสองเหลี่ยมเช่นกัน มีลักษณะเป็นบัวคว่ำ 3 ชั้น กล่าวคือ ประกอบไปด้วยชุดหน้ากระดาน-บัวคว่ำ-ท้องไม้ เป็นมาลัยเถาหนึ่งวง
และซ้อนกันขึ้นไปสามวง หรือสามชั้น หรือที่เรียกว่า "บัวฝาละมี" ซึ่งเป็นมาลัยเถาในแบบแผนของเจดีย์แบบสุโขทัย
เหนือมาลัยเถาขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมที่มีลักษณะเล็กแบบพื้นเมืองล้านนา เหนือองค์ระฆังจะเป็นบัลลังก์แบบกลม และปล้องไฉนซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงปลียอด ที่มีฉัตรโลหะปิดทองเป็นยอดสูง ที่ส่วนปล้องไฉนขึ้นไปมีร่องรอยของการปิดประดับแผ่นทองจังโกและปิดทอง
..........สภาพของเจดีย์โดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรม ผิวปูนฉาบส่วนใหญ่หลุดร่อนกะเทาะออกจนเห็นสภาพของอิฐเปล่าเปลือย
และมีความชำรุดที่ลวดบัวของเจดีย์ในบางส่วน โดยเฉพาะในส่วนฐานตอนล่าง ตั้งแต่ฐานหน้ากระดานขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูกแก้วนั้น
แนวอิฐหลุดและร่วงหล่นจากสภาพเดิมเป็นอันมาก ที่ฐานลูกบัวแก้วนั้นการหลุดร่อนของปูนฉาบและอิฐ ทำให้เห็นว่ามีร่องรอยการบูรณะทับซ้อนเจดีย์องค์นี้หลายครั้ง
..........แบบแผนของเจดีย์วัดหัวข่วงนี้ จะพบเห็นว่าเป็นแบบแผนของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในเมืองเชียงใหม่
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เจดีย์แบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่"
ปัจจุบันยังคงเหลือเจดีย์แบบนี้อยู่มากในเมืองเชียงใหม่และใกล้เคียง เช่น
เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ,
เจดีย์ร้างที่เวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง,
เจดีย์ร้างวัดแสนตาห้อย ตรงข้ามประตูสวนดอก เชียงใหม่,
เจดีย์ร้างวัดอีก้าง เวียงกุมกาม,
วัดหนองล่ม ตำบลศรีภูมิ.
เจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์วัดชมพู และเจดีย์ร้างวัดเชษฐาราม ในโรงเรียนพุทธิโสภณ เชียงใหม่ เป็นต้น
..........เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ นิยมสร้างนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
โดยคลี่คลายมาจากเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งเจดีย์แบบพื้นเมืองเชียงแสนนั้น จะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างกันในระยะเวลาของล้านนาตอนต้น เช่น เจดีย์พระธาตุหริภุญไชย
แต่หลังจากอิทธิพลของงานศิลปกรรมแบบสุโขทัยเข้ามาสู่เชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสงครามล้านนากับกรุงศรีอยุธยา และการอพยพของเจ้ายุธิษฐิระ จากแคว้นสุโขทัยเข้ามายังดินแดนล้านนา
รวมทั้งการเข้ามาของสงฆ์สำนักลังกาใหม่หรือสิงหล ซึ่งได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวลังกาใหม่ในแคว้นล้านนา
โดยการอุปถัมภ์ของเจ้าเมืองลำปางผู้เป็นน้าของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งต่อมาพระสงฆ์สำนักลังกาใหม่ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราชแทนสำนักเดิม
จึงทำให้รูปแบบของงานศิลปกรรมแบบสุโขทัยได้เข้ามามีอิทธิพลในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา
ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรายทางมานับตั้งแต่ ตาก ลำปาง มาจนถึงเชียงใหม่
..........โบราณสถานที่แสดงอิทธิพลของงานศิลปกรรมสุโขทัยในช่วงเวลานี้ที่เด่นชัด ได้แก่ เจดีย์วัดป่าแดงหลวง
สำหรับพัฒนาการของเจดีย์ในกลุ่มเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นั้นคาดว่า
เจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ และเจดีย์พระธาตุลำปางหลวง น่าจะเป็นเจดีย์ในกลุ่มแรกๆ กล่าวคือ
จะมีฐานบัวลูกแก้วย่อไม้ยี่สิบ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในล้านนา และมาลัยเถาใต้องค์ระฆังจะเป็นแบบแผนของสุโขทัยที่ส่วนประกอบของหน้ากระดาน บัวคว่ำ และท้องไม้ ซ้อนกันสามชั้นขึ้นไป
ซึ่งจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่นิยมเป็นมาลัยเถาแบบฐานบัวลูกแก้วสามชั้นซ้อนกันแบบพื้นเมืองล้านนา
..........ต่อมาแบบแผนของเจดีย์ที่ปรากฏในระยะต้นๆ ที่วัดพระธาตุเสด็จนั้น ได้คลี่คลายพัฒนารูปแบบจนมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
โดยพัฒนาส่วนฐานให้สูงขึ้นโดยเฉพาะที่ฐานบัวลูกแก้วส่วนรองรับมาลัยเถา ได้แสดงลักษณะเป็นฐานบัวแบบพิเศษ หรือฐานบัวลูกแก้วแฝดสองฐานซ้อนอยู่ในฐานเดียวกัน
ซึ่งลักษณะพิเศษเช่นนี้จะนิยมสร้างกันมากในเจดีย์ต่างๆ ที่สร้างในเมืองเชียงแสน และใกล้เคียงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกันองค์ระฆังของเจดีย์แบบเชียงใหม่ก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กลง ไม่มีลักษณะผายและใหญ่เหมือนองค์ระฆังแบบสุโขทัยอีกแล้ว
เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ในแบบแผนนี้ ได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ เจดีย์ทรงกลมร้าง เวียงท่ากาน เจดีย์ร้างวัดแสนตาห้อย เจดีย์ร้างวัดอีก้าง เวียงกุมกาม เป็นต้น
..........พัฒนาการที่สำคัญต่อมาของเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ ปรากฏว่าได้เกิดขึ้นและนิยมสร้างมากในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ดังปรากฏหลักฐานที่พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยม สร้างตามแบบแผนเจดีย์ทรงกลม
โดยมีประวัติการซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ครั้งรัชสมัยพระเมืองแก้ว พบว่าลักษณะของพระธาตุดอยสุเทพนั้น ได้แสดงแบบแผนทางศิลปกรรมที่คลี่คลายไปจากเดิม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเพิ่มจำนวนลวดบัวใต้องค์ระฆังมากขึ้น องค์ระฆังสั้นลง บัลลังก์แสดงลักษณะที่เปลี่ยนไปจากที่เป็นสี่เหลี่ยม
การเปลี่ยนแปลงของแบบแผนดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนจากแบบที่มีอิทธิพลสุโขทัยอย่างชัดเจนมาเป็นแบบเฉพาะตนเองของเชียงใหม่
ซึ่งสามารถจะใช้เป็นตัวอย่างแสดงทิศทางวิวัฒนาการระหว่างเจดีย์ทรงกลมอิทธิพลสุโขทัยในระยะเริ่มแรก ไปยังเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ทรงอื่นๆ ได้
กลุ่มเจดีย์ในแบบแผนนี้ ได้แก่ พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์ร้างวัดเชษฐาราม ในบริเวณโรงเรียนพุทธโสภณ เจดีย์วัดชมพู เจดีย์รายในวัดเจดีย์หลวง เป็นต้น
..........อย่างไรก็ดี เจดีย์ทรงกลมที่พัฒนาบนฐานจัตุรัสย่อเก็จ หรือเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ จะเริ่มเสื่อมความนิยมไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
เนื่องจากในช่วงเวลานั้นจะนิยมสร้างเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆังกลม หรือเจดีย์ทรงปราสาท หรือเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม
เช่น เจดีย์หลวง เจดีย์ร้างวัดโลกโมฬี เจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นต้น และเมื่อมาถึงสมัยพระเกษเกล้า (หลัง พ.ศ.2069) เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ก็หมดความนิยมลงไป
..........สำหรับเจดีย์วัดหัวข่วงนี้ เมื่อพิจารณาแบบแผนของลวดบัวโดยทั่วไปแล้ว อาจจำแนกได้เป็นสองส่วน
ส่วนแรก คือ ส่วนฐานนับตั้งแต่ส่วนหน้ากระดานสามชั้นขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูกแก้วนั้น จะเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นในเจดีย์ทรงกลม
ทั้งแบบพื้นเมืองล้านนาและแบบเชียงใหม่ เนื่องจากเจดีย์ในรูปทรงและแบบแผนมาลัยเถา อิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเมืองเชียงใหม่นั้น
จะเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อไม้หรือย่อเก็จเกือบทั้งสิ้น แต่สำหรับส่วนมาลัยเถาองค์ระฆังจนถึงส่วนยอดของเจดีย์วัดหัวข่วงนี้
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบจะจัดเข้าอยู่ในกลุ่มของเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ ที่นิยมสร้างในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
เมื่อมองดูลักษณะรวมๆ ของเจดีย์สิบสองเหลี่ยมวัดหัวข่วงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแบบแผนคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่
แต่มีความแปลกแยกกันในส่วนฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยม และดูเหมือนว่าจะเป็นความแปลกแยกที่มีอยู่เพียงองค์เดียวที่ไม่เหมือนใคร
..........อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ดูสภาพโดยทั่วไปขององค์เจดีย์วัดหัวข่วงนี้แล้ว จะเห็นร่องรอยของการบูรณะซ่อมแซมพอกทับค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะในส่วนฐาน แต่สำหรับมาลัยเถาขึ้นไปมีร่องรอยของการซ่อมแซมไม่มากนัก
ดังนั้นจึงวางสมมติฐานไว้ว่า เจดีย์ดังกล่าวนี้น่าจะถูกบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ไปแล้ว จึงทำให้แบบแผนในบางส่วนเช่นที่ส่วนฐานเปลี่ยนแปลงไป
..........อย่างไรก็ดี หลักฐานที่กล่าวไว้ในตำนานพระธาตุจอมทอง กล่าวถึงการซ่อมแซมพระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงไว้ว่า
.........."ถึงปี พ.ศ.2177 เดือน 8 เพ็ญ พระเจ้าสุทโธฯ ยิ่งมีศรัทธาหยั่งเชื่อในคุณพระแก้วทั้งสามประการ จึงมีเงินหมื่น คำพัน ให้เสนานำคนทำงานลงมาเชียงใหม่ ผู้เป็นนายงาน 20 คน ผู้เป็นลูกน้อง นอกนั้นเครื่องมือทำการ ดีครบทุกคน ให้มาสร้างวัด 3 วัด อันได้รื้อถอนเสียเมื่อมารบยึดเอาเมืองได้นั้น คือ วัดแสนเมืองมาหลวง (วัดหัวข่วง) หนึ่ง วัดอาภัย หนึ่ง (คือ วัดดับภัย) วัดสุทธาวาส หนึ่ง (วัดร้างไปแล้ว) อันมีอยู่ในเวียงเชียงใหม่"
..........จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีเรื่องราวที่ปรากฏเกี่ยวกับการบูรณะครั้งสำคัญในช่วง พ.ศ.2177 โดยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีเชียงใหม่ และครองราชย์อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ได้โปรดให้บูรณะวัดแสนเมืองมาหลวง (วัดหัวข่วง) เนื่องจากถูกทำลายเสียหายจากการสงครามที่ผ่านมา หากบันทึกเอกสารนี้ถูกต้อง เจดีย์องค์นี้คงต้องถูกบูรณะครั้งสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ช่วงระยะเวลาอีกนับร้อยกว่าปีที่ผ่านไป ก่อนที่เมืองเชียงใหม่จะร้าง อาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมไปตามอายุขัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ร้างไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาพระเจ้ากาวิละได้เข้ามาบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่นั้น ในช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ วัดหัวข่วงต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมและก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นอันมากด้วย เนื่องจากเป็นวัดสำคัญ แต่กระนั้นก็ดีเมื่อพิจารณาสภาพของเจดีย์วัดหัวข่วงโดยส่วนรวม จะเห็นว่าการบูรณะซ่อมแซมนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนเดิมของเจดีย์ไปมากนัก โดยเฉพาะในส่วนมาลัยเถาและองค์ระฆังขึ้นไป แต่ส่วนฐานนับตั้งแต่หน้ากระดานจนถึงฐานบัวลูกแก้วย่อไม้ อาจจะถูกซ่อมเปลี่ยนเป็นฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมในช่วงใดช่วงหนึ่ง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวหากได้รับการขุดค้นตรวจสอบที่บริเวณส่วนฐาน ก็คงจะช่วยยืนยันแนวความคิดดังกล่าวได้มากขึ้น
..........เมื่อวิเคราะห์แบบแผนของเจดีย์ดังกล่าว ร่วมกับหลักฐานที่ปรากฏในทางเอกสารแล้วก็อาจจะกล่าวได้ว่า เจดีย์วัดหัวข่วงนี้เป็นแบบแผนที่ควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 21 หรือสร้างในช่วงรัชกาลพระเมืองแก้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับเอกสารที่กล่าวว่า พระเมืองแก้วให้ขุดรากมหาเจดีย์วัดลักขปุราคมารามหรือวัดหัวข่วงในช่วง พ.ศ.2063-2065 โดยวัดแห่งนี้น่าที่จะมีมาแต่เดิมแล้วก่อนหน้านี้
และพระเมืองแก้วได้ทรงมาขุดรากฐานบูรณะครั้งใหญ่ครอบทับเจดีย์องค์เดิม เจดีย์ที่มีแบบแผนใกล้เคียงกับเจดีย์ที่วัดหัวข่วงนี้มากที่สุดเห็นจะได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ หลังจากนั้นเจดีย์ดังกล่าวนี้คงจะชำรุดทรุดโทรมเนื่องด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จึงได้ถูกบูรณะจนส่วนฐานของเดิมที่ควรจะเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จหรือย่อไม้แบบพิเศษ หรือฐานบัวลูกแก้วแฝดซ้อนกันตามที่นิยมสร้างกันในเชียงใหม่ขณะนั้น ได้กลายเป็นฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมดังปรากฏในทุกวันนี้

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563

คำถามยอดฮิต ... กล้องตัวนี้ดีไหม ถ่ายสวยไหม เก่าไปไหม ฯลฯ ...



คำถามยอดฮิต ... กล้องตัวนี้ดีไหม ถ่ายสวยไหม เก่าไปไหม ฯลฯ ...
คำตอบ มีให้อย่างชัดเจน ไม่ต้องขยี้ตากันเลย ... ง่ายๆ แบบฟันธงว่า ดีทุกตัว
ต่อให้กล้องเก่ารุ่นคุณปู่ กล้องใหม่รุ่นหอมกรุ่นเพิ่งออกจากเตา มันก็ถ่ายได้กันทั้งนั้น
ก็ในเมื่อ ยังเพิ่งเริ่ม ทำไมไม่ถ่ายกันแบบง่ายๆ ระบบ Auto มันก็มี
ถ่ายให้มีภาพไปก่อน แล้วค่อยๆ ฝึกฝีมือกันไป
บางคนแค่กดๆ แต่ไหง ภาพสวยอลังการ
นั่นก็เป็นผลจากการดูภาพถ่ายของคนอื่น มากๆ เข้า นานๆ เข้า
เขาก็หามุมถ่ายภาพ หรือพูดแบบบ้านๆ หาที่ยืนที่เหมาะสม
มันก็ได้ภาพออกมา "สวยอลังการ" มากมายทีเดียว
จุดที่เรายืนถ่ายภาพ มันอาจจะได้ลักษณะแสง ที่มีความเข้ม ความสว่าง ที่เหมาะสมกับภาพเวลานั้น
จุดที่เรายืนถ่ายภาพ มันอาจจะได้มุมมองที่ดูแล้วมี "มิติ" ที่สวยแปลกตา จน "ว้าว" ได้เช่นกัน
กว่าจะถ่ายให้ "มีภาพ" ได้จนพอใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
จากนั้น กว่าจะถ่ายภาพให้ "เฉียบ" ได้ มันต้องเริ่มศึกษาและพัฒนา ซึ่งเราอาจเรียนรู้เรื่องพวกนี้ควบคู่กันไป หรืออาจเรียนรู้ในภายหลังก็ไม่มีอะไรมาบังคับ
แต่ทุกวันนี้ คนถ่ายภาพ ดันไปบังคับตัวเอง ให้ต้องกดปุ๊บ ออกมา "ว้าว" ปั๊บ
เพราะเรา "เร่ง" ตัวเอง ในเวลาที่ฐานยังไม่แน่นนั่นเอง
ส่วนกล้องตัวนี้ดีไหม มันดีเท่าที่เราพอใจ เรามีเงินจ่าย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับใคร
แต่เรากลับไป "อาย" ต่อสังคมรอบข้าง ที่เราพกกล้องรุ่นเดียว "พ่อของพ่อ" คนข้างๆ
เราก็เลยกลับอายไปเสียอย่างนั้น
ทำไม ... เวลาเราดูภาพของช่างภาพทั้งหลาย เมื่อหลายๆ ปีที่ผ่านมา
เรากลับไม่คิดว่า มันผ่านกาลเวลา มันเป็นกล้อง "พ่อของพ่อ" มาบ้างเล่า
ผมอยากให้ทั้ง "กำลังใจ" และ "พลังคิดบวก" แก่ทุกๆ คนที่อยากถ่ายภาพ
กล้องอะไรที่ชอบ กล้องอะไรที่จ่ายได้ ก็ใช้ให้คุ้มค่าของมันครับ
อย่าไปห่วงกับเรื่อง ของตกรุ่น กล้องเก่าแล้ว
เดี๋ยวก็เสร็จเรื่องของ "ความอยากได้ ความอยากมี กิเลส" ล้วนๆ
บางคนถ่ายภาพ เพราะมีความสุขกับการนั่งดูภาพถ่ายในเวลาที่ไปไหนไม่ได้
ซึ่งในเวลานั้น ต่อให้เขามีกล้องราคาเป็นล้าน มีฝีมือระดับ "ขั้นเทพ"
แต่ในเมื่อเขาไปไหนไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด
เมื่อเทียบกับคนที่มีแค่กล้องธรรมดา กดแล้วมีภาพ หรือจะเป็นมือถือเก่าๆ
ความสุขในเวลานั้น มันต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ
สรุป
มีอะไรที่หาซื้อได้ ในงบประมาณที่พอเพียง และได้ของที่น่าพอใจในเวลานั้น ก็สมเหตุสมผลแล้ว
ที่เหลือ ... เอาพลังทั้งหมด ทุ่มเทไปกับ การได้ใช้มัน ได้เดินทาง ได้พักผ่อน ได้เสพความสุขกับสิ่งที่ทำ
มันคุ้มค่ากว่ากันมากๆ ครับ

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

วัดอุโมงค์ จังหวัดลำพูน

วัดอุโมงค์ จังหวัดลำพูน
..........ตั้งอยู่บ้านอุโมงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อยู่ริมถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปประมาณ 12 กิโลเมตร
วัดอุโมงค์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2285 ตามประวัติวัดแจ้งว่าเดิมที่ตั้งวัดอยู่กลางหนองทุ่งป่าแพ่ง เป็นที่ลุ่มคล้ายกับท้องกระทะ มีลำน้ำปิงไหลผ่านด้านหน้าของวัด น้ำท่วมทุกปี การเดินทางลำบาก จึงย้ายวัดมาตั้งที่ปัจจุบัน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับสมัยของพระญามังราย ได้ทำเขื่อนกั้นลำน้ำปิงเพื่อย้ายทางเดินของแม่น้ำ และได้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไว้ที่นั่น 1 องค์ ปัจจุบันนี้ก็คือ "วัดพระนอนหนองเผึ้ง" ที่อยู่ในเขตอำเภอสารภีนั่นเอง เส้นทางที่เป็นแม่น้ำปิงไหลผ่าน ปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยเหลือเป็นคูน้ำให้เห็นอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า "ลำเหมืองปิงห่าง"
.........หมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ลุ่มคล้ายท้องกระทะนี้เองที่ชาวบ้านเรียกว่า "บ้านโอ้งโหม้ง" ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึงที่เป็นหลุมหรือที่ลุ่ม นานเข้าก็เพี้ยนเป็น "อุโมงค์" ไป
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเป็นสยามมกุฎราชกุมารในรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ได้เสด็จมาประทับที่บริเวณหน้าวัดอุโมงค์ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไปเชียงใหม่
วัดอุโมงค์มีโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่งคือ พระอุโบสถล้านนา พระอุโบสถหลังนี้สร้างในปี พ.ศ.2470 มีความสวยงามที่ลายประดับตามหน้าบัน ป้านลม ซึ่งลายเหล่านี้แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงด้วยไม้ ส่วนที่ประตูมีรูปทวารบาลเป็นลายทองสวยงาม ต่อมาในปี พ.ศ.2477 มีการสร้างซุ้มโขงโล่งทั้ง 4 ด้านคร่อมบันไดหน้าพระอุโบสถ ศิลปกรรมของซุ้มนี้เป็นแบบศิลปะพม่า
นอกจากนี้ทางวัดยังเคยมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดกประดับในพระวิหารอีกด้วย ซึ่งลักษณะการแต่งกายในภาพนี้ค่อนข้างเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ไปบ้างแล้ว เพราะว่าผู้หญิงนั้นสวมเสื้อแบบคอกระเช้า ส่วนการแต่งกายของขุนนางในภาพก็เป็นขุนนางในสมัยเมื่อ 60 ปีก่อน เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่วิหารหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี พ.ศ.2533

เพิ่มหนี้ หรือ เพิ่มทุน อย่างไหนดีกว่ากัน

เพิ่มหนี้ หรือ เพิ่มทุน อย่างไหนดีกว่ากัน
..........เป็นที่ทราบกันว่าเงินทุนในการดำเนินกิจการนั้น โดยทั่วไปมาจากสองแหล่งด้วยกันคือ "เจ้าหนี้" และ "เจ้าของ"
แหล่งเงินจากเจ้าหนึ้จะมาในรูปของหนี้สินลักษณะต่างๆ ซึ่งในที่นี้จะเรียกรวมๆ ว่า "เงินกู้"
ส่วนแหล่งเงินจากเจ้าของจะอยู่ในรูปของส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "เงินทุน"
ทั้งเงินกู้และเงินทุนต่างก็มีต้นทุน แต่โดยทั่วไปแล้วต้นทุนของเงินกู้จะเห็นได้ชัดเจนกว่าต้นทุนของเงินทุน
ต้นทุนของเงินกู้คือ "ดอกเบี้ย"
ส่วนต้นทุนของเงินทุนคือ "เงินปันผล"
ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่กิจการต้องการเงินลงทุนเพิ่ม เพื่อการขยายงานหรือลงทุนในโครงการใหม่
ผู้บริหารกิจการก็ต้องตัดสินใจเลือกว่า "จะเพิ่มหนี้" หรือ "เพิ่มทุน" จึงจะเป็นผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด

..........หากมองกันอย่างผิวเผินแล้ว จะรู้สึกว่าการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการนั้นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่สูงมากกว่าการใช้เงินทุนจากผู้ถือหุ้น
แต่หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าไม่แน่นอนเสมอไป
ต้นทุนของเงินกู้อาจต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุน และการเพิ่มทุนก็มีความเสี่ยงต่อกิจการเช่นกัน
สาเหตุที่ต้นทุนของเงินกู้อาจต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุน เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายไปนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
ซึ่งสามารถนำมาหักออกจากรายได้ ส่วนที่เหลือคือยอดกำไรหรือขาดทุน
จากนั้นคำนวนหาภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายเมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มตามดอกเบี้ยจ่ายกำไรก็จะลดลง ทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลง
ในขณะที่เงินปันผลซึ่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นนั้น ไม่สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้
นอกจากนี้ ในการออกหุ้นเพิ่มทุนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายในขั้นแรกอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ต้นทุนของเงินกู้จึงอาจถูกกว่าต้นทุนของเงินทุน

..........อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมมากหรือมีการเก็งกำไรสูง
ทั้งหุ้นเก่าและหุ้นออกใหม่ ปรากฏว่าเจ้าของกิจการที่ออกหุ้นใหม่และเป็นกิจการที่อยู่ในความนิยมของนักเก็งกำไร
เจ้าของกิจการอาจได้กำไรก้อนใหญ่จาก "ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น" อย่างสบายๆ
..........ในด้านความเสี่ยง
การกู้ยืมเงินมีความเสี่ยง คืออาจจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องในกรณีที่บริษัทไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนดเวลา
ส่วนการออกหุ้นเพิ่มทุนมีความเสี่ยงอีกลักษณะหนึ่งคือ อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมต้องกระจายอำนาจในการบริหาร และการควบคุมบริษัทออกไปให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่
ซึ่งอาจเพลี่ยงพล้ำถึงขั้นถูกผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ยึดอำนาจในการบริหาร และการควบคุมบริษัทไปจากเจ้าของเดิม
นอกจากนี้ การออกหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงในระยะแรก ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาตลาดของหุ้นสามัญลดลงด้วย (dilution)
ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิม ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเหล่านี้จำเป็นต้องขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้น

..........ในทางปฏิบัติโดยทั่วไป ธุรกิจไม่สามารถก่อหนี้โดยไม่จำกัดจำนวน
ความสามารถในการก่อหนี้หรือการชำระหนี้ของธุรกิจมีขีดจำกัด นั่นคือ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
หากกู้เงินมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของบริษัท เพราะเงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีระยะเวลาไถ่ถอนเงินต้นตายตัว
ดอกเบี้ยเงินกู้ก็เป็นรายจ่ายประจำที่ตายตัว ทั้งจำนวนและเวลาจ่าย หากกิจการหาเงินมาชำระไม่ทัน ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
ยิ่งกว่านั้น เมื่อกิจการก่อหนี้มากๆ เจ้าหนี้แต่ละรายจะเกิดความกังวลว่าตนอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญา
จึงมักพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนด้วยการกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง
ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานได้ เช่น ห้ามก่อหนี้เพิ่ม ห้ามลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ห้ามจ่ายเงินปันผล ต้องตั้งเงินกองทุนเพื่อไถ่ถอนหนี้ เป็นต้น
..........ดังนั้น หากกิจการต้องการดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนเงินทุนที่ประหยัดที่สุด
โดยในขณะเดียวกันสามารถดำรงความมั่นคงและชื่อเสียงของบริษัทไว้ไม่ให้สั่นคลอน
ผู้บริหารกิจการจะต้องหมั่นตรวจสอบฐานะทางการเงินของธุรกิจอยู่เสมอในประเด็นสำคัญ 3 เรื่องคือ
ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย
สภาพคล่องและโครงสร้างทางการเงิน
ซึ่งในแต่ละเรื่องจะให้ประโยชน์ต่างแง่มุมกันดังนี้

ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย = (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี) / (ดอกเบี้ยจ่าย)

อัตราส่วนนี้จะบอกให้ทราบว่า กิจการสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
หมายความว่าหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว กิจการเหลือกำไรมากพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่

หากตัวเลขที่ได้มากกว่า 1
หมายความว่ากิจการมีกำไรมากพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ และหลังจากจ่ายดอกเบี้ยไปแล้วก็ยังมีกำไรเหลืออยู่อีก

หากตัวเลขเท่ากับ 1
หมายความว่า กิจการมีกำไรพอจ่ายดอกเบี้ยได้ แต่เมื่อจ่ายดอกเบี้ยแล้ว กำไรก็หมดพอดี

และหากตัวเลขที่ได้น้อยกว่า 1
หมายความว่า กิจการทำกำไรได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะความสามารถในการทำกำไรของกิจการต่ำกว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องรับผิดชอบ
ทางแก้ในขั้นนี้มี 3 ทางเลือกคือ
เพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น
หรือลดเงินกู้ลงเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้อยู่ในวิสัยที่กิจการสามารถจะจ่ายได้
หรือหาทางเพิ่มกำไรพร้อมกับลดเงินกู้

สภาพคล่อง = (สินทรัพย์หมุนเวียน) / (หนี้สินหมุนเวียน)

..........อัตราส่วนนี้แสดงถึงความคล่องตัวในการชำระหนี้สิน
คำว่าสภาพคล่องคือความสามารถที่จะนำเงินหรือสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่ายๆ มาจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียนได้ตามกำหนดเวลา
หากตัวเลขที่ได้มากกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีความสามารถในการชำระหนี้สินอยู่ในเกณฑ์ดี หรือที่เรียกว่ามีสภาพคล่องสูง
หากตัวเลขเท่ากับ 1 หมายความว่ามีสภาพคล่องปานกลาง ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง
แต่หากตัวเลขที่ได้ต่ำกว่า 1 กิจการจะต้องระวังอย่างยิ่งเนื่องจากอาจเกิดการหมุนเงินไม่ทัน ทำให้คืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ได้ตามกำหนดเวลา
ถึงแม้ว่ากิจการจะมีความสามารถในการทำกำไรดีตามที่แสดงในอัตราส่วนข้างต้น
แต่กิจการอาจไม่ได้รับความเชื่อถือจากแหล่งเงินกู้ ทำให้มีปัญหาในการกู้เงินครั้งต่อไป
ผู้บริหารจึงควรหมั่นตรวจสอบตัวเลขสภาพคล่อง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถหมุนเงินมาจ่ายชำระหนี้ได้ทันเวลา เพื่อรักษาเครดิตของกิจการ

โครงสร้างทางการเงิน = (หนี้สินรวม X 100) / (สินทรัพย์รวม)

..........อัตราส่วนนี้จะบอกให้ทราบว่า กิจการใช้หนี้สินเป็นสัดส่วนเท่าใดของสินทรัพย์รวม
หากได้ตัวเลขต่ำกว่าร้อยละ 50
หมายความว่ากิจการใช้เงินกู้น้อยกว่าเงินทุนของเจ้าของ หากต้องการก่อหนี้เพิ่มก็ยังสามารถทำได้ เนื่องจากหนี้สินยังไม่มากนัก
หากตัวเลขเท่ากับร้อยละ 50
หมายความว่าโครงสร้างการเงินของกิจการมาจากหนี้สินครึ่งหนึ่งและมาจากเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) ครึ่งหนึ่ง หากจะกู้ยืมเพิ่มขึ้นจะต้องแน่ใจว่าจะสามารถทำกำไรได้มากพอจ่ายดอกเบี้ย
และหากตัวเลขที่ได้สูงกว่าร้อยละ 50
หมายความว่ากิจการใช้เงินกู้มากกว่าเงินเจ้าของ ซึ่งเป็นจุดที่ถือว่ามีความเสี่ยงมาก กิจการต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ์ของกิจการ ควรพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรเพื่อชดเชยกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรก่อหนี้เพิ่มอีก ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของกิจการในอนาคต
..........จะเห็นได้ว่าการขยายธุรกิจด้วยการเพิ่มหนี้หรือเพิ่มทุน ต่างก็มีต้นทุนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ผู้บริหารจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้บริหารระดับมืออาชีพ ที่จะได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่บนเวทีธุรกิจในทศวรรษใหม่แห่งความท้าทายนี้

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เจดีย์ช้างค้ำ เอกลักษณ์ขององค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น


เจดีย์ช้างค้ำ เอกลักษณ์ขององค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น
..........องค์พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น สร้างไว้โดยพญามังรายคราวเมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้วในปี พ.ศ.1839
..........ในครั้งนั้นบริเวณที่ประทับชั่วคราวที่ตำบลเชียงมั่นแห่งนี้ พระองค์เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นหอนอนของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เกรงว่าหากมีผู้มาอยู่อาศัยและนอนทับสถานที่นี้จะเป็นเสนียดจัญไรแก่ผู้นั้น จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์คร่อมทับตำแหน่งหอนอนนี้ไว้ แล้วสร้างวัดขึ้นถวายแก่พระรัตนตรัย คือ แก้วสามประการ อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
..........หลังจากนั้นมีการบูรณะหลายครั้ง มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 76 วัดเชียงมั่นว่า พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 โปรดให้บูรณะพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2014 และต่อมาได้มีการบูรณะอีกครั้งโดยพญาแสนหลวงเมื่อ พ.ศ.2114
..........จากการศึกษาของคุณสุรพล ดำริห์กุล เรื่องเจดีย์ช้างล้อมกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย ได้ข้อมูลว่าพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นที่ปรากฏอยู่เป็นพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับการบูรณะเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นเจดีย์ช้างล้อมในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพราะในช่วงเวลานั้นเจดีย์แบบช้างล้อมกำลังได้รับความนิยมสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่หลายแห่ง อาทิ เจดีย์ร้างวัดป่าแดงหลวง (ร้าง) พระธาตุเจดีย์หลวง รวมทั้งที่เจดีย์วัดหัวหนอง (ร้าง) และเจดีย์วัดช้างค้ำ ในบริเวณเวียงกุมกามอีกด้วย ส่วนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 พญาแสนหลวงได้ทำการบูรณะ ซึ่งคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแต่อย่างใด
..........อย่างไรก็ตาม พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นแห่งนี้ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งในราวพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง ดังนั้นสภาพของพระธาตุเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายบัวและลวดลายประดับไปในบางส่วน แต่แบบแผนส่วนใหญ่ยังคงรักษาลักษณะเดิม

ลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม
..........ลักษณะของพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ ที่ฐานมีช้างล้อม แบบแผนของพระธาตุเจดีย์ประกอบด้วย ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 11 เมตร มีรูปช้างปูนปั้นยืนสองขาหน้าและหัวโผล่ออกมาจากผนังครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ จำนวน 15 เชือก ด้านทิศตะวันออกมีบันไดขึ้นไปถึงเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรองรับเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจระนำด้านละ 3 ช่อง ซุ้มตรงกลางเป็นจระนำซุ้มลด เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นบัวถลา มีลักษณะเป็นหลังเอนลาดซ้อนลดหลั่นกันสองชั้นยกเก็จต่อเนื่องจากเรือนธาตุ รวมทั้งชั้นลดรูปฐานปัทม์ด้านบนด้วย
..........ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น มีบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆังกลมมีขนาดเล็ก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ยกเก็จ มีก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลียอด และฉัตรประดับที่บริเวณเหนือเรือนธาตุ นับตั้งแต่มาลัยเถาขึ้นไปประดับด้วยแผ่นทองจังโกและปิดทองอร่ามทั้งองค์
..........พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นนี้ ได้ปรากฏมีร่องรอยของการบูรณะมาโดยตลอด ผลของการบูรณะทำให้ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะช้างปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่ปรากฏอยู่นั้นไม่อาจนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันส่วนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรองรับเรือนธาตุที่ค่อนข้างเตี้ยและขนาดของยกเก็จเรือนธาตุที่ตื้น ตลอดจนการเพิ่มจระนำเล็กที่ขนาบอยู่ทั้งสองด้านของจระนำกลาง เป็นลักษณะที่ไม่ปรากฏในเจดีย์องค์ใดในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงการได้รับบูรณะครอบทับในภายหลัง นอกจากนี้แล้ว ลวดลายปูนปั้นประดับบนบานประตูหลอกที่เป็นลายแผงกุดั่นดอกลอย น่าจะเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะรัตนโกสินทร์ ร่องรอยต่างๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นการบูรณะขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง
..........แม้ว่าพระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่นจะได้รับการบูรณะมาโดยตลอด แต่องค์ประกอบของลวดบัวองค์พระธาตุเจดีย์เป็นลักษณะของเจดีย์ช้างล้อมที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีแบบแผนใกล้เคียงกับพระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง ดังนั้นพระธาตุเจดีย์ช้างล้อมวัดเชียงมั่นแห่งนี้ จึงควรเป็นองค์พระธาตุเจดีย์ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะขึ้นใน พ.ศ.2014 และได้รับการบูรณะในเวลาต่อมาอีกหลายครั้ง จึงทำให้รายละเอียดทางศิลปกรรมบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ยังคงเป็นเจดีย์ช้างล้อมเหมือนเดิม

เจดีย์ช้างล้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และคติการใช้รูปช้างประดับศาสนสถาน
.........."เจดีย์ช้างล้อม" เป็นชื่อเรียกเจดีย์ของไทยรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือเจดีย์ทรงกลม ซึ่งส่วนฐานมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างประดับอยู่โดยรอบ จึงมีชื่อเรียกไปตามรูปทรงและองค์ประกอบทางศิลปกรรมว่า "เจดีย์ช้างล้อม"
..........ในดินแดนประเทศไทย ได้ปรากฏมีเจดีย์ช้างล้อมอยู่เป็นอันมากตามเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า เจดีย์ช้างล้อมนี้จะเป็นอิทธิพลของศิลปะที่แพร่หลายมาจากเกาะลังกาที่เข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นบุคคลแรกที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเจดีย์ช้างล้อมไว้ว่า พระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย ถ้าว่าโดยรูปสัณฐานจะทำอย่างพระสถูปลังกาแทบทั้งนั้นเลย เป็นต้นแบบอย่างพระสถูปซึ่งสร้างกันสืบมาจนทุกวันนี้ บางองค์ที่เป็นสถูปสำคัญมักทำเป็นรูปช้างโผล่หน้าครึ่งตัวล้อมรอบ ก็เอาแบบมาแต่พระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐคามิณีมหาราชในลังกาทวีป ความเห็นดังกล่าวนี้ได้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีนักวิชาการอีกหลายๆ ท่าน ได้เสนอความเห็นไว้อย่างสอดคล้องกัน

คติความเชื่อของการใช้รูปช้างประดับศาสนสถาน
..........คติการใช้รูปช้างประดับศาสนสถานนั้นน่าจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนาตั้งแต่สมัยโบราณและยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติเป็นอันมาก
..........ประติมากรรมรูปช้างพบครั้งแรกในศิลปะอินเดียโบราณที่เมืองโมเหนโจตาโรและเมืองฮารัปปา เป็นประติมากรรมขนาดเล็ก ใช้เป็นที่ประทับตรา สำหรับประติมากรรมรูปช้างที่นำมาประกอบกับสถูปที่เก่าที่สุด คือ ที่สถูปสาญจีในแคว้นโคปาล ทางภาคกลางของประเทศอินเดียซึ่งสร้างขึ้นราว พ.ศ.400-500 ลักษณะเป็นภาพสลักนูนต่ำที่โตรณะหรือประตูทางเข้า นอกจากนี้ยังพบภาพสลักรูปช้างที่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 ลักษณะของเสานี้ ตรงเท้าสิงโตทั้ง 4 จะมีวงล้อ 4 วง ระหว่างวงล้อแต่ละวงได้มีการจำหลักเป็นรูปสัตว์ในช่วงล้อแต่ละตัว มีรูปช้าง ม้า สิงห์ และโค รวม 4 ตัว เสาเหล่านี้มีความหมายแห่งจักรพรรดิ ถือเป็นรัตนะประการหนึ่งของกษัตริย์ด้วย
..........ส่วนแคว้นล้านนานั้น แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มบ้านเมืองของมอญและพม่าที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มาเป็นเวลานานแล้ว แต่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ระลอกสำคัญที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในล้านนานั้นผ่านมาทางแคว้นสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายรามัญกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายสีหลในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่โบราณสถานของล้านนาแสดงอิทธิพลทางศิลปกรรมสุโขทัยอย่างชัดเจน โบราณสถานที่แสดงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เหลือหลักฐานอยู่ ได้แก่ เจดีย์ช้างล้อม วัดป่าแดงหลวง (ร้าง) เชิงดอยสุทพ เมืองเชียงใหม่ เจดีย์ช้างล้อมวัดป่าแดงหลวง (ร้าง) แห่งนี้ มีทรวดทรงตามแบบฉบับของล้านนา นอกจากนี้เจดีย์แบบช้างล้อมที่มีพัฒนาการในดินแดนล้านนาแห่งอื่น เช่น พระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง พระธาตุเจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นต้น (เจดีย์ช้างล้อมกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย, สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)