วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภายในพระอุโบสถวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย

..........ภายในพระอุโบสถวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 188 ซม. สูง 263 ซม. นับเป็นพระพุทธรูปสำริดที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า "พระแสนเมืองมาหลวง"
..........พุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูป ประทับนั่งสมาธิราบ เหนือฐานหน้ากระดานเกลี้ยง แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระหนุป้าน พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวบาง ขมวดพระเกศาเล็กเรียวติดกันแน่น แนวขมวดพระเกศาหยักลงมาตรงกลางพระนลาฏ ไม่มีแนวเส้นไรพระศก พระรัศมีเป็นรูปเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายพระสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภีปลายตัดตรง ด้านล่างมีแนวเส้นรัดประคตคาดเป็นแนวยาวหยักขึ้นตรงกลางพระนาภี ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวไล่เรี่ยกัน
..........พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด วัดพวกหงส์ ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2057 แต่พระพุทธรูปทั้งสององค์ที่นำมาเปรียบเทียบมีไรพระศกปรากฏอยู่บนกรอบพระนลาฏแล้ว แนวเส้นไรพระศกดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะที่ 3 หลักฐานที่เก่าที่สุดและมีจารึกกำกับ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดที่วัดพระเจ้าเม็งรายซึ่งหล่อขึ้นในปี พ.ศ.2024 ส่วนพระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดหัวข่วง ไม่มีแนวเส้นไรพระศก และยังปรากฏอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อยู่มาก โดยเฉพาะเค้าพระพักตร์ทางด้านข้าง และนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ที่ยาวไล่เรี่ยกันนั้น คงได้รับอิทธิพลทางด้านคตินิยมเกี่ยวกับลักษณะมหาบุรุษ ที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงนำมาใช้ในการสร้างพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศากยมุนี อิทธิพลดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังล้านนาราวต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราช
..........ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระพุทธรูปองค์นี้จึงควรจะหล่อขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรืออย่างช้าราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ระหว่างต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราช และจัดเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะที่ 3 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวก็สอดคล้องกับหลักฐานทางเอกสาร ที่กล่าวยืนยันว่าได้ปรากฏมีวัดและเจดีย์องค์เดิมอยู่ก่อนรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ซึ่งก็คาดว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีแล้ว นับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาเป็นต้นมา ต่อมาพระเจ้าเมืองแก้วจึงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบทับเจดีย์องค์เดิม
..........ผลจากการศึกษาหลักฐานทางเอกสารและวิเคราะห์แบบแผนทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่ปรากฏมีอยู่ในวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ ดังได้กล่าวมาแล้ว อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าวัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวง เมืองเชียงใหม่นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดหลวงที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่มีพระมหากษัตริย์ของล้านนาให้การทำนุบำรุงรักษาอยู่เสมอมา การที่ปรากฏชื่อวัดและพระพุทธรูปองค์สำคัญที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระนามของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่นั้น อาจหมายความว่าพระเจ้าแสนเมืองมาทรงโปรดให้สถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่ตำแหน่งที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่บริเวณตอนเหนือของข่วงหลวง หรือสนามหลวงที่มักใช้ประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งอยู่ใกล้ชิดกับพระราชวังและสถานที่ทำการของขุนนางที่เรียกว่า "เค้าสนามหลวง" ดังนั้นจึงคงเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จะทรงประกอบการกุศลเป็นการส่วนพระองค์ และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ต่อมาจึงถูกเรียกชื่อเป็นสามัญว่า "วัดหัวข่วง" ด้วย
..........สำหรับการปรากฏมีวัดหัวข่วงอยู่ในบ้านเมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนาแทบทุกเมืองนั้น จึงขอเสนอสมมติฐานไว้เป็นเบื้องต้นว่า วัดหัวข่วงในอดีตคงมีฐานะความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเป็นวัดหรือสถานที่ประกอบการพระราชกุศลส่วนพระองค์่ของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่
แบบแผนดังกล่าวนี้คงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามของกรุงรัตนโกสินทร์
จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่าวัดหัวข่วงนั้น เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา โดยเหตุที่เมืองเชียงใหม่นั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักร
ดังนั้นแบบแผนทางวัฒนธรรมต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นแม่บทให้แก่เมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนา
ด้วยเหตุนี้จึงจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองต่างๆ ในล้านนานั้นจะประกอบไปด้วย ข่วงหลวง หรือ สนามหลวงอยู่ภายในเมือง
มีวัดสำคัญอยู่ตอนเหนือของข่วงหลวง จึงมีชื่อว่า "วัดหัวข่วง"
ซึ่งแบบแผนดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลไปจากเมืองเชียงใหม่นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น