วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เพิ่มหนี้ หรือ เพิ่มทุน อย่างไหนดีกว่ากัน

เพิ่มหนี้ หรือ เพิ่มทุน อย่างไหนดีกว่ากัน
..........เป็นที่ทราบกันว่าเงินทุนในการดำเนินกิจการนั้น โดยทั่วไปมาจากสองแหล่งด้วยกันคือ "เจ้าหนี้" และ "เจ้าของ"
แหล่งเงินจากเจ้าหนึ้จะมาในรูปของหนี้สินลักษณะต่างๆ ซึ่งในที่นี้จะเรียกรวมๆ ว่า "เงินกู้"
ส่วนแหล่งเงินจากเจ้าของจะอยู่ในรูปของส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "เงินทุน"
ทั้งเงินกู้และเงินทุนต่างก็มีต้นทุน แต่โดยทั่วไปแล้วต้นทุนของเงินกู้จะเห็นได้ชัดเจนกว่าต้นทุนของเงินทุน
ต้นทุนของเงินกู้คือ "ดอกเบี้ย"
ส่วนต้นทุนของเงินทุนคือ "เงินปันผล"
ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่กิจการต้องการเงินลงทุนเพิ่ม เพื่อการขยายงานหรือลงทุนในโครงการใหม่
ผู้บริหารกิจการก็ต้องตัดสินใจเลือกว่า "จะเพิ่มหนี้" หรือ "เพิ่มทุน" จึงจะเป็นผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด

..........หากมองกันอย่างผิวเผินแล้ว จะรู้สึกว่าการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการนั้นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่สูงมากกว่าการใช้เงินทุนจากผู้ถือหุ้น
แต่หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าไม่แน่นอนเสมอไป
ต้นทุนของเงินกู้อาจต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุน และการเพิ่มทุนก็มีความเสี่ยงต่อกิจการเช่นกัน
สาเหตุที่ต้นทุนของเงินกู้อาจต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุน เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายไปนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
ซึ่งสามารถนำมาหักออกจากรายได้ ส่วนที่เหลือคือยอดกำไรหรือขาดทุน
จากนั้นคำนวนหาภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายเมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มตามดอกเบี้ยจ่ายกำไรก็จะลดลง ทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลง
ในขณะที่เงินปันผลซึ่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นนั้น ไม่สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้
นอกจากนี้ ในการออกหุ้นเพิ่มทุนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายในขั้นแรกอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ต้นทุนของเงินกู้จึงอาจถูกกว่าต้นทุนของเงินทุน

..........อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมมากหรือมีการเก็งกำไรสูง
ทั้งหุ้นเก่าและหุ้นออกใหม่ ปรากฏว่าเจ้าของกิจการที่ออกหุ้นใหม่และเป็นกิจการที่อยู่ในความนิยมของนักเก็งกำไร
เจ้าของกิจการอาจได้กำไรก้อนใหญ่จาก "ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น" อย่างสบายๆ
..........ในด้านความเสี่ยง
การกู้ยืมเงินมีความเสี่ยง คืออาจจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องในกรณีที่บริษัทไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนดเวลา
ส่วนการออกหุ้นเพิ่มทุนมีความเสี่ยงอีกลักษณะหนึ่งคือ อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมต้องกระจายอำนาจในการบริหาร และการควบคุมบริษัทออกไปให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่
ซึ่งอาจเพลี่ยงพล้ำถึงขั้นถูกผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ยึดอำนาจในการบริหาร และการควบคุมบริษัทไปจากเจ้าของเดิม
นอกจากนี้ การออกหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงในระยะแรก ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาตลาดของหุ้นสามัญลดลงด้วย (dilution)
ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิม ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเหล่านี้จำเป็นต้องขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้น

..........ในทางปฏิบัติโดยทั่วไป ธุรกิจไม่สามารถก่อหนี้โดยไม่จำกัดจำนวน
ความสามารถในการก่อหนี้หรือการชำระหนี้ของธุรกิจมีขีดจำกัด นั่นคือ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
หากกู้เงินมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของบริษัท เพราะเงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีระยะเวลาไถ่ถอนเงินต้นตายตัว
ดอกเบี้ยเงินกู้ก็เป็นรายจ่ายประจำที่ตายตัว ทั้งจำนวนและเวลาจ่าย หากกิจการหาเงินมาชำระไม่ทัน ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
ยิ่งกว่านั้น เมื่อกิจการก่อหนี้มากๆ เจ้าหนี้แต่ละรายจะเกิดความกังวลว่าตนอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญา
จึงมักพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนด้วยการกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง
ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานได้ เช่น ห้ามก่อหนี้เพิ่ม ห้ามลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ห้ามจ่ายเงินปันผล ต้องตั้งเงินกองทุนเพื่อไถ่ถอนหนี้ เป็นต้น
..........ดังนั้น หากกิจการต้องการดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนเงินทุนที่ประหยัดที่สุด
โดยในขณะเดียวกันสามารถดำรงความมั่นคงและชื่อเสียงของบริษัทไว้ไม่ให้สั่นคลอน
ผู้บริหารกิจการจะต้องหมั่นตรวจสอบฐานะทางการเงินของธุรกิจอยู่เสมอในประเด็นสำคัญ 3 เรื่องคือ
ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย
สภาพคล่องและโครงสร้างทางการเงิน
ซึ่งในแต่ละเรื่องจะให้ประโยชน์ต่างแง่มุมกันดังนี้

ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย = (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี) / (ดอกเบี้ยจ่าย)

อัตราส่วนนี้จะบอกให้ทราบว่า กิจการสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
หมายความว่าหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว กิจการเหลือกำไรมากพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่

หากตัวเลขที่ได้มากกว่า 1
หมายความว่ากิจการมีกำไรมากพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ และหลังจากจ่ายดอกเบี้ยไปแล้วก็ยังมีกำไรเหลืออยู่อีก

หากตัวเลขเท่ากับ 1
หมายความว่า กิจการมีกำไรพอจ่ายดอกเบี้ยได้ แต่เมื่อจ่ายดอกเบี้ยแล้ว กำไรก็หมดพอดี

และหากตัวเลขที่ได้น้อยกว่า 1
หมายความว่า กิจการทำกำไรได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะความสามารถในการทำกำไรของกิจการต่ำกว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องรับผิดชอบ
ทางแก้ในขั้นนี้มี 3 ทางเลือกคือ
เพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น
หรือลดเงินกู้ลงเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้อยู่ในวิสัยที่กิจการสามารถจะจ่ายได้
หรือหาทางเพิ่มกำไรพร้อมกับลดเงินกู้

สภาพคล่อง = (สินทรัพย์หมุนเวียน) / (หนี้สินหมุนเวียน)

..........อัตราส่วนนี้แสดงถึงความคล่องตัวในการชำระหนี้สิน
คำว่าสภาพคล่องคือความสามารถที่จะนำเงินหรือสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่ายๆ มาจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียนได้ตามกำหนดเวลา
หากตัวเลขที่ได้มากกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีความสามารถในการชำระหนี้สินอยู่ในเกณฑ์ดี หรือที่เรียกว่ามีสภาพคล่องสูง
หากตัวเลขเท่ากับ 1 หมายความว่ามีสภาพคล่องปานกลาง ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง
แต่หากตัวเลขที่ได้ต่ำกว่า 1 กิจการจะต้องระวังอย่างยิ่งเนื่องจากอาจเกิดการหมุนเงินไม่ทัน ทำให้คืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ได้ตามกำหนดเวลา
ถึงแม้ว่ากิจการจะมีความสามารถในการทำกำไรดีตามที่แสดงในอัตราส่วนข้างต้น
แต่กิจการอาจไม่ได้รับความเชื่อถือจากแหล่งเงินกู้ ทำให้มีปัญหาในการกู้เงินครั้งต่อไป
ผู้บริหารจึงควรหมั่นตรวจสอบตัวเลขสภาพคล่อง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถหมุนเงินมาจ่ายชำระหนี้ได้ทันเวลา เพื่อรักษาเครดิตของกิจการ

โครงสร้างทางการเงิน = (หนี้สินรวม X 100) / (สินทรัพย์รวม)

..........อัตราส่วนนี้จะบอกให้ทราบว่า กิจการใช้หนี้สินเป็นสัดส่วนเท่าใดของสินทรัพย์รวม
หากได้ตัวเลขต่ำกว่าร้อยละ 50
หมายความว่ากิจการใช้เงินกู้น้อยกว่าเงินทุนของเจ้าของ หากต้องการก่อหนี้เพิ่มก็ยังสามารถทำได้ เนื่องจากหนี้สินยังไม่มากนัก
หากตัวเลขเท่ากับร้อยละ 50
หมายความว่าโครงสร้างการเงินของกิจการมาจากหนี้สินครึ่งหนึ่งและมาจากเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) ครึ่งหนึ่ง หากจะกู้ยืมเพิ่มขึ้นจะต้องแน่ใจว่าจะสามารถทำกำไรได้มากพอจ่ายดอกเบี้ย
และหากตัวเลขที่ได้สูงกว่าร้อยละ 50
หมายความว่ากิจการใช้เงินกู้มากกว่าเงินเจ้าของ ซึ่งเป็นจุดที่ถือว่ามีความเสี่ยงมาก กิจการต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ์ของกิจการ ควรพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรเพื่อชดเชยกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรก่อหนี้เพิ่มอีก ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของกิจการในอนาคต
..........จะเห็นได้ว่าการขยายธุรกิจด้วยการเพิ่มหนี้หรือเพิ่มทุน ต่างก็มีต้นทุนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ผู้บริหารจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้บริหารระดับมืออาชีพ ที่จะได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่บนเวทีธุรกิจในทศวรรษใหม่แห่งความท้าทายนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น