ลักษณะเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยมองค์ระฆังกลม แบบแผนของลวดบัวเจดีย์ดังกล่าวประกอบด้วยฐานหน้ากระดานสิบสองเหลี่ยม 3 ชั้น
รองรับฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมขนาดใหญ่
ที่ท้องไม้มีลูกแก้วใหญ่เพียงหนึ่งเส้น จากฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมขึ้นไป จะมีปูนปั้นประดับเป็นกลีบบัวคว่ำ-บัวหงายอยู่รายรอบก่อนที่จะถึงฐานหน้ากระดานสิบสองเหลี่ยมแคบๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น
แล้วจึงถึงส่วนประดับลวดบัวใต้องค์ระฆังที่เรียกว่า "มาลัยเถา"
มาลัยเถาดังกล่าว มีสิบสองเหลี่ยมเช่นกัน มีลักษณะเป็นบัวคว่ำ 3 ชั้น กล่าวคือ ประกอบไปด้วยชุดหน้ากระดาน-บัวคว่ำ-ท้องไม้ เป็นมาลัยเถาหนึ่งวง
และซ้อนกันขึ้นไปสามวง หรือสามชั้น หรือที่เรียกว่า "บัวฝาละมี" ซึ่งเป็นมาลัยเถาในแบบแผนของเจดีย์แบบสุโขทัย
เหนือมาลัยเถาขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมที่มีลักษณะเล็กแบบพื้นเมืองล้านนา เหนือองค์ระฆังจะเป็นบัลลังก์แบบกลม และปล้องไฉนซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงปลียอด ที่มีฉัตรโลหะปิดทองเป็นยอดสูง ที่ส่วนปล้องไฉนขึ้นไปมีร่องรอยของการปิดประดับแผ่นทองจังโกและปิดทอง
..........สภาพของเจดีย์โดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรม ผิวปูนฉาบส่วนใหญ่หลุดร่อนกะเทาะออกจนเห็นสภาพของอิฐเปล่าเปลือย
และมีความชำรุดที่ลวดบัวของเจดีย์ในบางส่วน โดยเฉพาะในส่วนฐานตอนล่าง ตั้งแต่ฐานหน้ากระดานขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูกแก้วนั้น
แนวอิฐหลุดและร่วงหล่นจากสภาพเดิมเป็นอันมาก ที่ฐานลูกบัวแก้วนั้นการหลุดร่อนของปูนฉาบและอิฐ ทำให้เห็นว่ามีร่องรอยการบูรณะทับซ้อนเจดีย์องค์นี้หลายครั้ง
..........แบบแผนของเจดีย์วัดหัวข่วงนี้ จะพบเห็นว่าเป็นแบบแผนของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในเมืองเชียงใหม่
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เจดีย์แบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่"
ปัจจุบันยังคงเหลือเจดีย์แบบนี้อยู่มากในเมืองเชียงใหม่และใกล้เคียง เช่น
เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ,
เจดีย์ร้างที่เวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง,
เจดีย์ร้างวัดแสนตาห้อย ตรงข้ามประตูสวนดอก เชียงใหม่,
เจดีย์ร้างวัดอีก้าง เวียงกุมกาม,
วัดหนองล่ม ตำบลศรีภูมิ.
เจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์วัดชมพู และเจดีย์ร้างวัดเชษฐาราม ในโรงเรียนพุทธิโสภณ เชียงใหม่ เป็นต้น
..........เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ นิยมสร้างนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
โดยคลี่คลายมาจากเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งเจดีย์แบบพื้นเมืองเชียงแสนนั้น จะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างกันในระยะเวลาของล้านนาตอนต้น เช่น เจดีย์พระธาตุหริภุญไชย
แต่หลังจากอิทธิพลของงานศิลปกรรมแบบสุโขทัยเข้ามาสู่เชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสงครามล้านนากับกรุงศรีอยุธยา และการอพยพของเจ้ายุธิษฐิระ จากแคว้นสุโขทัยเข้ามายังดินแดนล้านนา
รวมทั้งการเข้ามาของสงฆ์สำนักลังกาใหม่หรือสิงหล ซึ่งได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวลังกาใหม่ในแคว้นล้านนา
โดยการอุปถัมภ์ของเจ้าเมืองลำปางผู้เป็นน้าของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งต่อมาพระสงฆ์สำนักลังกาใหม่ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราชแทนสำนักเดิม
จึงทำให้รูปแบบของงานศิลปกรรมแบบสุโขทัยได้เข้ามามีอิทธิพลในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา
ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรายทางมานับตั้งแต่ ตาก ลำปาง มาจนถึงเชียงใหม่
..........โบราณสถานที่แสดงอิทธิพลของงานศิลปกรรมสุโขทัยในช่วงเวลานี้ที่เด่นชัด ได้แก่ เจดีย์วัดป่าแดงหลวง
สำหรับพัฒนาการของเจดีย์ในกลุ่มเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นั้นคาดว่า
เจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ และเจดีย์พระธาตุลำปางหลวง น่าจะเป็นเจดีย์ในกลุ่มแรกๆ กล่าวคือ
จะมีฐานบัวลูกแก้วย่อไม้ยี่สิบ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในล้านนา และมาลัยเถาใต้องค์ระฆังจะเป็นแบบแผนของสุโขทัยที่ส่วนประกอบของหน้ากระดาน บัวคว่ำ และท้องไม้ ซ้อนกันสามชั้นขึ้นไป
ซึ่งจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่นิยมเป็นมาลัยเถาแบบฐานบัวลูกแก้วสามชั้นซ้อนกันแบบพื้นเมืองล้านนา
..........ต่อมาแบบแผนของเจดีย์ที่ปรากฏในระยะต้นๆ ที่วัดพระธาตุเสด็จนั้น ได้คลี่คลายพัฒนารูปแบบจนมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
โดยพัฒนาส่วนฐานให้สูงขึ้นโดยเฉพาะที่ฐานบัวลูกแก้วส่วนรองรับมาลัยเถา ได้แสดงลักษณะเป็นฐานบัวแบบพิเศษ หรือฐานบัวลูกแก้วแฝดสองฐานซ้อนอยู่ในฐานเดียวกัน
ซึ่งลักษณะพิเศษเช่นนี้จะนิยมสร้างกันมากในเจดีย์ต่างๆ ที่สร้างในเมืองเชียงแสน และใกล้เคียงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกันองค์ระฆังของเจดีย์แบบเชียงใหม่ก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กลง ไม่มีลักษณะผายและใหญ่เหมือนองค์ระฆังแบบสุโขทัยอีกแล้ว
เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ในแบบแผนนี้ ได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ เจดีย์ทรงกลมร้าง เวียงท่ากาน เจดีย์ร้างวัดแสนตาห้อย เจดีย์ร้างวัดอีก้าง เวียงกุมกาม เป็นต้น
..........พัฒนาการที่สำคัญต่อมาของเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ ปรากฏว่าได้เกิดขึ้นและนิยมสร้างมากในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ดังปรากฏหลักฐานที่พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยม สร้างตามแบบแผนเจดีย์ทรงกลม
โดยมีประวัติการซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ครั้งรัชสมัยพระเมืองแก้ว พบว่าลักษณะของพระธาตุดอยสุเทพนั้น ได้แสดงแบบแผนทางศิลปกรรมที่คลี่คลายไปจากเดิม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเพิ่มจำนวนลวดบัวใต้องค์ระฆังมากขึ้น องค์ระฆังสั้นลง บัลลังก์แสดงลักษณะที่เปลี่ยนไปจากที่เป็นสี่เหลี่ยม
การเปลี่ยนแปลงของแบบแผนดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนจากแบบที่มีอิทธิพลสุโขทัยอย่างชัดเจนมาเป็นแบบเฉพาะตนเองของเชียงใหม่
ซึ่งสามารถจะใช้เป็นตัวอย่างแสดงทิศทางวิวัฒนาการระหว่างเจดีย์ทรงกลมอิทธิพลสุโขทัยในระยะเริ่มแรก ไปยังเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ทรงอื่นๆ ได้
กลุ่มเจดีย์ในแบบแผนนี้ ได้แก่ พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์ร้างวัดเชษฐาราม ในบริเวณโรงเรียนพุทธโสภณ เจดีย์วัดชมพู เจดีย์รายในวัดเจดีย์หลวง เป็นต้น
..........อย่างไรก็ดี เจดีย์ทรงกลมที่พัฒนาบนฐานจัตุรัสย่อเก็จ หรือเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ จะเริ่มเสื่อมความนิยมไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
เนื่องจากในช่วงเวลานั้นจะนิยมสร้างเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆังกลม หรือเจดีย์ทรงปราสาท หรือเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม
เช่น เจดีย์หลวง เจดีย์ร้างวัดโลกโมฬี เจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นต้น และเมื่อมาถึงสมัยพระเกษเกล้า (หลัง พ.ศ.2069) เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นี้ก็หมดความนิยมลงไป
..........สำหรับเจดีย์วัดหัวข่วงนี้ เมื่อพิจารณาแบบแผนของลวดบัวโดยทั่วไปแล้ว อาจจำแนกได้เป็นสองส่วน
ส่วนแรก คือ ส่วนฐานนับตั้งแต่ส่วนหน้ากระดานสามชั้นขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูกแก้วนั้น จะเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นในเจดีย์ทรงกลม
ทั้งแบบพื้นเมืองล้านนาและแบบเชียงใหม่ เนื่องจากเจดีย์ในรูปทรงและแบบแผนมาลัยเถา อิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเมืองเชียงใหม่นั้น
จะเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อไม้หรือย่อเก็จเกือบทั้งสิ้น แต่สำหรับส่วนมาลัยเถาองค์ระฆังจนถึงส่วนยอดของเจดีย์วัดหัวข่วงนี้
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบจะจัดเข้าอยู่ในกลุ่มของเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ ที่นิยมสร้างในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
เมื่อมองดูลักษณะรวมๆ ของเจดีย์สิบสองเหลี่ยมวัดหัวข่วงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแบบแผนคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่
แต่มีความแปลกแยกกันในส่วนฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยม และดูเหมือนว่าจะเป็นความแปลกแยกที่มีอยู่เพียงองค์เดียวที่ไม่เหมือนใคร
..........อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ดูสภาพโดยทั่วไปขององค์เจดีย์วัดหัวข่วงนี้แล้ว จะเห็นร่องรอยของการบูรณะซ่อมแซมพอกทับค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะในส่วนฐาน แต่สำหรับมาลัยเถาขึ้นไปมีร่องรอยของการซ่อมแซมไม่มากนัก
ดังนั้นจึงวางสมมติฐานไว้ว่า เจดีย์ดังกล่าวนี้น่าจะถูกบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ไปแล้ว จึงทำให้แบบแผนในบางส่วนเช่นที่ส่วนฐานเปลี่ยนแปลงไป
..........อย่างไรก็ดี หลักฐานที่กล่าวไว้ในตำนานพระธาตุจอมทอง กล่าวถึงการซ่อมแซมพระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงไว้ว่า
.........."ถึงปี พ.ศ.2177 เดือน 8 เพ็ญ พระเจ้าสุทโธฯ ยิ่งมีศรัทธาหยั่งเชื่อในคุณพระแก้วทั้งสามประการ จึงมีเงินหมื่น คำพัน ให้เสนานำคนทำงานลงมาเชียงใหม่ ผู้เป็นนายงาน 20 คน ผู้เป็นลูกน้อง นอกนั้นเครื่องมือทำการ ดีครบทุกคน ให้มาสร้างวัด 3 วัด อันได้รื้อถอนเสียเมื่อมารบยึดเอาเมืองได้นั้น คือ วัดแสนเมืองมาหลวง (วัดหัวข่วง) หนึ่ง วัดอาภัย หนึ่ง (คือ วัดดับภัย) วัดสุทธาวาส หนึ่ง (วัดร้างไปแล้ว) อันมีอยู่ในเวียงเชียงใหม่"
..........จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีเรื่องราวที่ปรากฏเกี่ยวกับการบูรณะครั้งสำคัญในช่วง พ.ศ.2177 โดยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีเชียงใหม่ และครองราชย์อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ได้โปรดให้บูรณะวัดแสนเมืองมาหลวง (วัดหัวข่วง) เนื่องจากถูกทำลายเสียหายจากการสงครามที่ผ่านมา หากบันทึกเอกสารนี้ถูกต้อง เจดีย์องค์นี้คงต้องถูกบูรณะครั้งสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ช่วงระยะเวลาอีกนับร้อยกว่าปีที่ผ่านไป ก่อนที่เมืองเชียงใหม่จะร้าง อาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมไปตามอายุขัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ร้างไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาพระเจ้ากาวิละได้เข้ามาบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่นั้น ในช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ วัดหัวข่วงต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมและก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นอันมากด้วย เนื่องจากเป็นวัดสำคัญ แต่กระนั้นก็ดีเมื่อพิจารณาสภาพของเจดีย์วัดหัวข่วงโดยส่วนรวม จะเห็นว่าการบูรณะซ่อมแซมนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนเดิมของเจดีย์ไปมากนัก โดยเฉพาะในส่วนมาลัยเถาและองค์ระฆังขึ้นไป แต่ส่วนฐานนับตั้งแต่หน้ากระดานจนถึงฐานบัวลูกแก้วย่อไม้ อาจจะถูกซ่อมเปลี่ยนเป็นฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมในช่วงใดช่วงหนึ่ง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวหากได้รับการขุดค้นตรวจสอบที่บริเวณส่วนฐาน ก็คงจะช่วยยืนยันแนวความคิดดังกล่าวได้มากขึ้น
..........เมื่อวิเคราะห์แบบแผนของเจดีย์ดังกล่าว ร่วมกับหลักฐานที่ปรากฏในทางเอกสารแล้วก็อาจจะกล่าวได้ว่า เจดีย์วัดหัวข่วงนี้เป็นแบบแผนที่ควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 21 หรือสร้างในช่วงรัชกาลพระเมืองแก้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับเอกสารที่กล่าวว่า พระเมืองแก้วให้ขุดรากมหาเจดีย์วัดลักขปุราคมารามหรือวัดหัวข่วงในช่วง พ.ศ.2063-2065 โดยวัดแห่งนี้น่าที่จะมีมาแต่เดิมแล้วก่อนหน้านี้
และพระเมืองแก้วได้ทรงมาขุดรากฐานบูรณะครั้งใหญ่ครอบทับเจดีย์องค์เดิม เจดีย์ที่มีแบบแผนใกล้เคียงกับเจดีย์ที่วัดหัวข่วงนี้มากที่สุดเห็นจะได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์ ตำบลศรีภูมิ หลังจากนั้นเจดีย์ดังกล่าวนี้คงจะชำรุดทรุดโทรมเนื่องด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จึงได้ถูกบูรณะจนส่วนฐานของเดิมที่ควรจะเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จหรือย่อไม้แบบพิเศษ หรือฐานบัวลูกแก้วแฝดซ้อนกันตามที่นิยมสร้างกันในเชียงใหม่ขณะนั้น ได้กลายเป็นฐานบัวลูกแก้วสิบสองเหลี่ยมดังปรากฏในทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น