วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วัดปราสาท เชียงใหม่

วัดปราสาท
..........วัดปราสาท นับเป็นอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านประตูสวนดอก


..........ตามข้อความในแผ่นศิลาจารึกของวัดตโปทารามได้กล่าวถึงชื่อเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ที่พระเจ้ายอดเชียงราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงอาราธนานิมนต์ไปร่วมสังฆกรรมสวดแสดงที่วัดและให้สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.2035 โดยข้อความในศิลาจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13-16 มีว่า "มหาสามีญาณโพธิป่าแดง มหาสุรสี มหาโพธิ มหาเถรธรรมเสนาปติเจ้า มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า" ต่อมาทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2040


สำหรับชื่อของวัดมาจากคำว่า "ปราสาท" ซึ่งตามความหมายคือที่ประทับของเจ้านายหรือขุนนางที่มีค่ายคูป้อมปราการ ดูเหมือนว่าจะเป็นวัดของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สร้าง และเนื่องจากตัววัดตั้งอยู่ในกำแพงเมือง วัดปราสาทจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากข้าราชการเจ้านายในกาลต่อมาทุกยุคทุกสมัย แม้ในบางคราวที่เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของพม่า ทางวัดก็ยังได้รับการทำนุบำรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ดังปรากฏในคำจารึกฐานพระพุทธรูปและบันทึกของพระญาหลวงสามล้านเป็นหลักฐาน ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมและโบราณสถานตลอดจนโบราณวัตถุของวัดปราสาทจึงยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1. พระเจดีย์


..........เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ลักษณะขององค์เจดีย์เป็นแบบผสมระหว่างเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมศรีสัชนาลัยกับเจดีย์ทรงสามเหลี่ยมของเชียงใหม่ซึ่งไม่ทราบว่ารูปทรงเดิมเป็นเช่นไร จากหลักฐานบันทึกพระญาหลวงสามล้าน ปรากฏว่าเจดีย์องค์นี้ ท่านเป็นประธานบูรณะในปี พ.ศ.2366 ต่อมาได้รับการซ่อมแซมอีกเมื่อปี พ.ศ.2526 สำหรับเจดีย์องค์เดิมเข้าใจว่าชำรุดมาก

2. พระพุทธรูป


..........ที่เรียกกันว่า "พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย" ขนาดสูง 114 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งมีอายุตามคำจารึกที่ฐาน พ.ศ.2133 หากนับเวลาที่สร้างมาจนถึง พ.ศ.2539 พระพุทธรูปองค์นี้ก็มีอายุเกินกว่า 4 ศตวรรษแล้ว พุทธลักษณะโดยทั่วไปคือ พระรัศมีเป็นไม้ ซึ่งเดิมคงจะเป็นทองคำ ด้านหน้าฐานมีข้อความบันทึกเป็นอักษรเมืองภาษาเมืองและตัวเลขเม็ง คำจารึกมีว่า "จุลศักราช 952 ปีกดยี เดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ วันศุกร์ (ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2133) พระญาหลวงเจ้าพระนามว่าแสนคำได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ และถวายพระนามพระพุทธรูปว่า "เจ้าหมื่นทอง" โดยผู้สร้างได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้ตนเป็นผู้ชายที่ประเสริฐคือได้บวชในสำนักพระอริยเมตไตรย และได้เป็นพระอรหันต์เหมือนดังพระสารีบุตรหรือพระมหาโมคคัลลานองค์ใดองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้จึงนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปล้ำค่าองค์หนึ่งของนครเชียงใหม่ อนึ่ง ที่ฐานพระพุทธรูปมีห่วง 4 ห่วง คาดว่าใช้เป็นที่ใช้หามพระพุทธรูปในงานแห่ฉลองในงานต่าง ๆ

3. ซุ้มปราสาท


..........อยู่เชื่อมติดกับด้านหลังของวิหาร คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา ภายหลังท่านครูบาศรีวิชัยได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2469 ขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

4. พระวิหาร


..........เป็นงานศิลปกรรมแบบโบราณของเชียงใหม่ ฝาผนังทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลาย มีซุ้มปราสาทติดอยู่ด้านหลังวิหาร ก่อและปั้นลวดลายโบราณงดงามมาก มีจารึกลงฝาผนังด้านใต้อ่านได้ความว่า จุลศักราช 1185 ตัวปีฉลู สนำกัมโพชพิไสร ภาษาไทยแปลว่าปีก่าเม็ด (พ.ศ.2366) หมายถึงปีที่สร้างวิหาร ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เป็นประธานนำการทอดผ้าป่าเพื่อหาทุนมาใช้ในการซ่อมวิหาร โดยการซ่อมแซมครั้งนั้นสิ้นทุนไปประมาณ 550,000 บาท จากนั้นมีการทำบุญเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2528 วิหารหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

5. อุโบสถ



..........ชำรุดผุพังไปเป็นเวลานาน ตามบันทึกของพระญาหลวงฯ ปรากฏว่าท่านได้ซ่อมแซมครั้งหนึ่งแต่ไม่ทราบว่ารูปทรงเดิมเป็นอย่างใด ต่อมา พ.ศ.2520 ท่านพระครูชินวงศานุวัตร์เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเป็นประธานซ่อมแซมสิ้นทุนทรัพย์ไปประมาณ 550,000 บาท อุโบสถหลังนี้จึงยังคงความงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาด้วยฝีมือของช่างชั้นครูให้เห็นมาตราบเท่าทุกวันนี้

..........รายนามเจ้าอาวาสวัดปราสาทเท่าที่ทราบนาม คือพระมหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า ครูบาสิทธิตนเลิศ ครูบามังคละสวาธุเจ้าครูบาอินตา ทนนฺชย พระครูบุญศรี ครูบาศรีมูล สิทธิ และพระครูชินวงศานุวัตรหรือสิงห์โต ชินวํโส

..........ในปัจจุบัน วัดปราสาทเป็นวัดที่มีความสำคัญทางด้านพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดีวัดหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตของสิ่งสำคัญทั้ง 2 ของวัด ซึ่งได้แก่ วิหารและปราสาท ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2522

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผ้าห่อคัมภีร์

ผ้าห่อคัมภีร์
..........ทั้งชาวไทยวน ลื้อ และลาว ในอดีตมีประเพณี "การสร้างธรรม" ถวายวัด ซึ่งถือว่าได้อานิสงส์มาก การสร้างธรรม ก็คือการเขียนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น คำสอน ชาดก ตำนาน ประวัติ ฯลฯ ลงบนใบลาน คัมภีร์ใบลานเหล่านี้จะจัดทำอย่างประณีต จารด้วยอักษรธรรม มีไม้แกะสลักปิดทองงดงามประกบใบลานไว้ไม่ให้งอ มีผ้าห่อคัมภีร์นี้และมัดด้วยด้ายฝั้น

ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน จะมี 2 ลักษณะคือ
1. ผ้าที่ทอด้วยเส้นฝ้ายหรือไหมล้วน ๆ
..........แบบธรรมดาก็คือเป็นฝ้ายสีขาว ส่วนที่เป็นผ้าไหมอาจทอด้วยเทคนิคธรรมดา หรือทอเป็นผ้าลายมัดหมี่ ขนาดกว้างยาวประมาณ 75 x 50 ซม.
2. ผ้าที่มีไม้ไผ่สอดสลับ
..........ซึ่งจะใช้เส้นฝ้ายหลากสี มีทั้งที่ทอด้วยเทคนิคธรรมดา และทอด้วยวิธีขิดเป็นลวดลายพื้นฐานรูปต่าง ๆ สลับกับไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะโดยตลอด หรืออีกลักษณะหนึ่งคือทอด้วยวิธีเกาะโดยสลับสีเส้นฝ้ายกับไม้ไผ่สอดคั่นกันจนเป็นผืนเป็นลวดลายเรขาคณิต มีขนาดกว้างยาวประมาณ 55 x 30 ซม.
..........ปัจจุบันนี้ประเพณี "การสร้างธรรม" ได้เสื่อมไป การทอผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจึงเสื่อมสูญไปด้วย คงเหลือแต่ผ้าที่ปรากฏหลักฐานห่อคัมภีร์เก่าแก่เก็บไว้ใน "หอธรรม" (หอไตร) ตามวัดต่าง ๆ เท่านั้น
..........เราจะสามารถรู้ได้ว่า ผืนผ้าเก่าแก่ที่สืบทอดมาเป็นผ้าห่อคัมภีร์ ก็ด้วยสังเกตจากขนาดของผืนผ้า ลักษณะการใช้ไม้ไผ่สอดคั่น หรือการขลิบริมผ้าโดยรอบด้วยผ้าสีแดงหรือขาว และมักมีเส้นด้ายสำหรับมัดห่อคัมภีร์ร้อยติดอยู่
.............................................
นำชมผ้าห่อคัมภีร์ ทำจากผ้ากำมะหยี่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า

ทำจากผ้าพิมพ์ลาย

ทำจากผ้าแพรจีน จากรัฐฉาน ประเทศพม่า





ทำจากผ้ายก

เทคนิคการขิด จากตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อายุ 80 ปี



เทคนิคการขิดสลับกับไม้ไผ่ จากตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อายุ 80 ปี






เทคนิคการขิด และสานขัดบนไม้ไผ่ จากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

เทคนิคการปักลายผสมแก้วจีนและปีกแมลงทับ จากอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
เทคนิคการมัดย้อม จากรัฐฉาน ประเทศพม่า
เทคนิคการสานขัดด้วยเส้นด้ายบนไม้ไผ่ จากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อายุ 100 ปี
เทคนิคการสานขัดบนไม้ไผ่ เมืองเมียวดี ประเทศพม่า
เทคนิคการสานขัดบนไม้ไผ่ ผ้าฝ้าย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ผ้าลายคลื่นทอด้วยเทคนิคเกาะล้วงด้วยเส้นไหมย้อมสีเคมี จากรัฐฉาน ประเทศพม่า อายุ 70 ปี

ผ้าลายคลื่นทอด้วยเทคนิคเกาะล้วงด้วยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า อายุ 150-180 ปี


ลายคลื่น เทคนิคการพิมพ์ลาย จากรัฐฉาน ประเทศพม่า อายุ 50 ปี

ลายสก๊อต จากรัฐฉาน ประเทศพม่า





วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สัตตภัณฑ์

สัตตภัณฑ์

..........ในบริบททางวัฒนธรรมล้านนา หมายถึง เชิงเทียนที่ใช้ในการบูชาพระประธานในวิหาร ซึ่งอาจจำแนกออกตามรูปลักษณ์เป็น 2 แบบ คือ


แบบที่มีลักษณะคล้ายขั้นบันไดซึ่งมีที่สำหรับปักเทียนลดหลั่นกันลงมาได้ 7-9 ที่


และแบบที่เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วซึ่งจะมีที่สำหรับปักเทียนไล่จากยอดถึงฐานทั้งสองด้านรวม 7 ที่


ทั้งนี้สัตตภัณฑ์แบบสามเหลี่ยมนั้นมักพบทั่วไปในแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ส่วนสัตตภัณฑ์แบบขั้นบันไดนั้นมักจะพบในท้องที่ของจังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน หรืออาจสรุปได้อย่างกว้าง ๆ ว่า สัตตภัณฑ์แบบสามเหลี่ยมนั้นมักพบทั่วไปในเขตของคนเผ่าไทยวน และสัตตภัณฑ์แบบขั้นบันไดมักพบในละแวกของกลุ่มชนเผ่าไทลื้อเป็นอาทิ


..........คำว่า "สัตตภัณฑ์" นี้ มีผู้ให้ความหมายเป็น 2 แนว
ซึ่งแนวแรกพบจากที่ ดร.วอลเดมาร์ ซี.ไซเลอร์ สัมภาษณ์จากพระผู้ใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนหนึ่ง กล่าวว่า สัตตภัณฑ์ หมายถึง พุทธปรัชญาหรือหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาอันหมายถึงโพชฌงค์ 7 สัทธัมมะ 7 หรือสัปปุริสธัมมะ 7


และแนวที่สองมีความเห็นว่าหมายถึงทิวเขาทั้ง 7 ที่เรียงรายลดหลั่นล้อมรอบเขาพระสุเมรุ


..........สำหรับแนวความคิดเรื่องทิวเขาซึ่งอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุนี้ ในขั้นแรกเห็นว่าสัมพันธ์กับคติความเชื่อด้านจักรวาลวิทยาพุทธศาสนาซึ่งปรากฏชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็พบใน "จักกวาลทีปนี" ซึ่งเป็นผลงานนิพนธ์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของพระสิริมังคลาจารย์ซึ่งเป็นปราชญ์แห่งเชียงใหม่ ในยุคประมาณ พ.ศ.2100 และเท่าที่พบในรูปศิลปวัตถุซึ่งตกทอดมานั้น ยังปรากฏเป็นทิวเขาสัตตภัณฑ์จำลองหล่อด้วยโลหะ ซึ่งใช้เป็นเครื่องบูชาแก่มหาเจดีย์แห่งนครหริภุญชัย และโดยเฉพาะพระพุทธบาทจำลองทำด้วยไม้ทาชาดประดับมุก ซึ่งลายพระบาทเป็นแผนผังจักรวาล โดยมีอักษรล้านนากำกับจุดสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งทิวเขาสัตตภัณฑ์ไว้อย่างชัดเจน จากรอยพระพุทธบาทจำลองนี้สะท้อนให้เห็นว่าจักรวาลอันยิ่งใหญ่นี้ยังเล็กกว่าฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ กล่าวคือ พระพุทธองค์สามารถย่างเหยียบไปบนแต่ละจักรวาลในหมื่นแสนสหัสโลกธาตุได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นการที่จะใช้ทิวเขาแต่ละทิวรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลเพื่อเทิดไว้ซึ่งพุทธบูชานั้น ย่อมจะงดงามด้วยประการทั้งปวงในแง่ของอามิสบูชา


..........ในแง่โลกสัณฐานนั้น จักรวาลแต่ละจักรวาลมีลักษณะเหมือนถาดเหล็กแบนที่ขังน้ำไว้ในสภาพเป็นทะเลน้ำเค็มกึ่งกลางถาดน้ำเค็มนั้นมีเขาพระสุเมรุทรงสัณฐานเหมือนตะโพนสูง 84,000 โยชน์ ตั้งอยู่บนภูเขาสามเส้า รอบเขาพระสุเมรุซึ่งล้านนาเรียกว่า "สิเนรุ" หรือ "สิเนโร" นั้น มีทิวเขา 7 ทิว ล้อมรอบเป็นวงกลมลดหลั่นกันลงมาจากทิวเขาด้านในสุดถึงทิวนอกสุดชื่อ "ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสน์ เนมินธร วินันตกะ และอัสสกัณณ์"


..........ทั้งนี้ทิวเขาแต่ละทิวจะมีความสูงเป็นครึ่งหนึ่งของเขาซึ่งอยู่ด้านในของตน กล่าวคือทิวเขายุคันธรจะสูงเพียงครึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ และทิวเขาอัสสกัณณ์จะสูงเพียงครึ่งหนึ่งของทิวเขาวินันตกะ เป็นต้น ในโลณสาครหรือทะเลน้ำเค็มนั้น จะมีทวีปหรือเกาะใหญ่ อยุ่ 4 เกาะ คือ อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป ในทิศเหนือ ตะวันออก ใต้ และตะวันตกของทิวเขาสัตตภัณฑ์ และยังมีทวีปน้อยซึ่งเป็นบริวารของทวีปทั้ง 4 อีกทวีปละ 500 ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของจักรวาลอย่างคร่าว ๆ และทั้งหมดนั้นถือว่าเขาพระสุเมรุและเขาสัตตภัณฑ์เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

COLOUR DIVERSITY - Chiang Mai City Arts & Cultural Center

COLOUR DIVERSITY - Chiang Mai City Arts & Cultural Center
งานศิลป์ ยิ่งเพ่งพิศ ย่อมสร้างกำลังใจและหล่อหลอมการสร้างสรรต่อยอดต่อ ๆ ไป
ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้และศึกษา ย่อมหล่อหลอมให้ผู้ใฝ่ศึกษา ได้อะไรอีกมากมายสืบต่อไป