วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วัดปราสาท เชียงใหม่

วัดปราสาท
..........วัดปราสาท นับเป็นอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านประตูสวนดอก


..........ตามข้อความในแผ่นศิลาจารึกของวัดตโปทารามได้กล่าวถึงชื่อเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ที่พระเจ้ายอดเชียงราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงอาราธนานิมนต์ไปร่วมสังฆกรรมสวดแสดงที่วัดและให้สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.2035 โดยข้อความในศิลาจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13-16 มีว่า "มหาสามีญาณโพธิป่าแดง มหาสุรสี มหาโพธิ มหาเถรธรรมเสนาปติเจ้า มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า" ต่อมาทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2040


สำหรับชื่อของวัดมาจากคำว่า "ปราสาท" ซึ่งตามความหมายคือที่ประทับของเจ้านายหรือขุนนางที่มีค่ายคูป้อมปราการ ดูเหมือนว่าจะเป็นวัดของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สร้าง และเนื่องจากตัววัดตั้งอยู่ในกำแพงเมือง วัดปราสาทจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากข้าราชการเจ้านายในกาลต่อมาทุกยุคทุกสมัย แม้ในบางคราวที่เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของพม่า ทางวัดก็ยังได้รับการทำนุบำรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ดังปรากฏในคำจารึกฐานพระพุทธรูปและบันทึกของพระญาหลวงสามล้านเป็นหลักฐาน ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมและโบราณสถานตลอดจนโบราณวัตถุของวัดปราสาทจึงยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1. พระเจดีย์


..........เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ลักษณะขององค์เจดีย์เป็นแบบผสมระหว่างเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมศรีสัชนาลัยกับเจดีย์ทรงสามเหลี่ยมของเชียงใหม่ซึ่งไม่ทราบว่ารูปทรงเดิมเป็นเช่นไร จากหลักฐานบันทึกพระญาหลวงสามล้าน ปรากฏว่าเจดีย์องค์นี้ ท่านเป็นประธานบูรณะในปี พ.ศ.2366 ต่อมาได้รับการซ่อมแซมอีกเมื่อปี พ.ศ.2526 สำหรับเจดีย์องค์เดิมเข้าใจว่าชำรุดมาก

2. พระพุทธรูป


..........ที่เรียกกันว่า "พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย" ขนาดสูง 114 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งมีอายุตามคำจารึกที่ฐาน พ.ศ.2133 หากนับเวลาที่สร้างมาจนถึง พ.ศ.2539 พระพุทธรูปองค์นี้ก็มีอายุเกินกว่า 4 ศตวรรษแล้ว พุทธลักษณะโดยทั่วไปคือ พระรัศมีเป็นไม้ ซึ่งเดิมคงจะเป็นทองคำ ด้านหน้าฐานมีข้อความบันทึกเป็นอักษรเมืองภาษาเมืองและตัวเลขเม็ง คำจารึกมีว่า "จุลศักราช 952 ปีกดยี เดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ วันศุกร์ (ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2133) พระญาหลวงเจ้าพระนามว่าแสนคำได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ และถวายพระนามพระพุทธรูปว่า "เจ้าหมื่นทอง" โดยผู้สร้างได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้ตนเป็นผู้ชายที่ประเสริฐคือได้บวชในสำนักพระอริยเมตไตรย และได้เป็นพระอรหันต์เหมือนดังพระสารีบุตรหรือพระมหาโมคคัลลานองค์ใดองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้จึงนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปล้ำค่าองค์หนึ่งของนครเชียงใหม่ อนึ่ง ที่ฐานพระพุทธรูปมีห่วง 4 ห่วง คาดว่าใช้เป็นที่ใช้หามพระพุทธรูปในงานแห่ฉลองในงานต่าง ๆ

3. ซุ้มปราสาท


..........อยู่เชื่อมติดกับด้านหลังของวิหาร คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา ภายหลังท่านครูบาศรีวิชัยได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2469 ขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

4. พระวิหาร


..........เป็นงานศิลปกรรมแบบโบราณของเชียงใหม่ ฝาผนังทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลาย มีซุ้มปราสาทติดอยู่ด้านหลังวิหาร ก่อและปั้นลวดลายโบราณงดงามมาก มีจารึกลงฝาผนังด้านใต้อ่านได้ความว่า จุลศักราช 1185 ตัวปีฉลู สนำกัมโพชพิไสร ภาษาไทยแปลว่าปีก่าเม็ด (พ.ศ.2366) หมายถึงปีที่สร้างวิหาร ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เป็นประธานนำการทอดผ้าป่าเพื่อหาทุนมาใช้ในการซ่อมวิหาร โดยการซ่อมแซมครั้งนั้นสิ้นทุนไปประมาณ 550,000 บาท จากนั้นมีการทำบุญเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2528 วิหารหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

5. อุโบสถ



..........ชำรุดผุพังไปเป็นเวลานาน ตามบันทึกของพระญาหลวงฯ ปรากฏว่าท่านได้ซ่อมแซมครั้งหนึ่งแต่ไม่ทราบว่ารูปทรงเดิมเป็นอย่างใด ต่อมา พ.ศ.2520 ท่านพระครูชินวงศานุวัตร์เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเป็นประธานซ่อมแซมสิ้นทุนทรัพย์ไปประมาณ 550,000 บาท อุโบสถหลังนี้จึงยังคงความงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาด้วยฝีมือของช่างชั้นครูให้เห็นมาตราบเท่าทุกวันนี้

..........รายนามเจ้าอาวาสวัดปราสาทเท่าที่ทราบนาม คือพระมหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า ครูบาสิทธิตนเลิศ ครูบามังคละสวาธุเจ้าครูบาอินตา ทนนฺชย พระครูบุญศรี ครูบาศรีมูล สิทธิ และพระครูชินวงศานุวัตรหรือสิงห์โต ชินวํโส

..........ในปัจจุบัน วัดปราสาทเป็นวัดที่มีความสำคัญทางด้านพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดีวัดหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตของสิ่งสำคัญทั้ง 2 ของวัด ซึ่งได้แก่ วิหารและปราสาท ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2522

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น