วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประวัติการก่อสร้างหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต วัดหมื่นสาร เชียงใหม่

ประวัติการก่อสร้างหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต วัดหมื่นสาร เชียงใหม่

ความเป็นมาของการจัดสร้างหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต



..........หอศิลป์สุทฺธจิตโต เดิมเรียกกันว่า หอเงิน และศาลาโลหะ 3 ครูบา
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต"
หอศิลป์ที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือน 3 ครูบา พระสงฆ์ผู้มีคุณูปการเป็นที่เคารพรักและศรัทธา ของชาวบ้านวัวลาย นับแต่อดีตจนปัจจุบัน ได้แก่
ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา,

ครูบาอินตาอินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ)

 และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั๋น ปุณญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร




..........หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นจากดำริของ พระครูสุทธิจิตตาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารในปัจจุบัน ร่วมกับคณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาวัดหมื่นสาร โดยคณะกรรมการผู้มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมจัดหาทุนดำเนินการ ประกอบด้วย นายประวิทย์ เทพมงคล, นายมนูญ ไชยทิพย์, นายจำรัส ประสาธน์สุวรรณ, นายศรีพล บุญเฉลียว, นายทวน แก้วกิริยา, นายจันทร์ เทียมตามณี, นายวิสันต์ ถวิลวิศาล, นายสมชาย ธนันชัย และนายสนิท บุญแลน






..........ด้านการออกแบบก่อสร้างหอศิลป์สุทธฺจิตฺโต เป็นหอศิลป์ที่สร้างแบบล้านนาประยุกต์ มีบันไดทางขึ้นที่มุขด้านหน้า 2 ด้าน ซ้าย-ขวา โครงสร้างหอศิลป์มีขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 121 เมตร ออกแบบโครงสร้างโดย นายอำนวย นันตากาศ ส่วนการออกแบบลวดลายประดับหอศิลป์มี นายจิรศักดิ์ กาวิละ ช่างเงินบ้านวัวลายเป็นสล่าเก๊า โดยได้นำลวดลายที่เป็นลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลาย ดุนลายโลหะประดับตกแต่งภายใน และภายนอกหอศิลป์ โดยมีช่างฝีมือชาวบ้านวัวลายทั้งชาย-หญิงหลายคนช่วยกันต้องลายฝากฝีมือประดับหอศิลป์ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย โดยครูบาดวงดี สุภัทโท (อายุ 95 ปี ในขณะนั้น) วัดท่าจำปี อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์ประธานในพิธี




หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างดังนี้
..........1. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานหุ่นรูปเหมือน 3 ครูบา ผู้มีคุณูปการต่อวัดหมื่นสาร เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของชาวบ้านวัวลาย
..........2. เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปลายไทยล้านนาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลายที่อาจจะสูญหายให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
..........3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าทางด้านศิลปะลวดลายพื้นเมืองล้านนาแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
..........4. เพื่อเป็นสถานที่สักการะบูชาแก่สาธุชนทั่วไป ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ครูบาศรีวิชัย ครูบาอินต๊ะ และครูบาบุญปั๋น (พระครูโอภาสคณาภิบาล)
..........5. เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณต่อบรรพบุรุษช่างเงินผู้ถ่ายทอดวิชาชีพช่างเงินแก่ลูกหลาน ได้ยึดเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน
..........6. เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพระพทุธศาสนา และส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน
..........7. เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในชุมชนอันเป็นผลให้ช่างเงินที่ไปทำงานอยู่ต่งจังหวัด ได้กลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิด
..........8. เพื่อฝึกหัดช่างรุ่นใหม่ และเพื่อให้ช่างรุ่นเก่าได้พัฒนาฝีมือ

แนวคิดในการก่อสร้างหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต
..........หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นหอที่สร้างขึ้นแบบล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือภายในวัดหมื่นสาร บริเวณประตูทางเข้าวัดด้านซ้ายมือ ด้านหน้าหอมีต้นมะขามเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ตัวหอก่ออิฐถือปูน ฉาบและประดบด้วยโลหะดุนลายทั้งหลัง ยกเว้นส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องสีอิฐ เพื่อให้กลมกลืนกับสีหลังคาของอาคารสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภายในวัด ตัวอาคารหอภายนอกและภายในประดับด้วยงานดุนลายโลหะลายต่าง ๆ ที่ประยุกต์จากลายพื้นเมืองเอกลักษณ์ลายเครื่องเงินบ้านวัวลายดั้งเดิมซึ่งเป็นลายหลัก ได้แก่ ลายเวสสันดรชาดก ลายรามเกียรติ์ ลายเทวดา ลายเทพพนม ลายสิบสองราศี ลายแส้ ลายดอกกระถิน ลายเครือเถา และลายที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวบ้านวัวลายตั้งแต่การอพยพจากเมืองปั่น ลุ่มน้ำคง (สาละวิน) รัฐไทใหญ่ฝั่งประเทศพม่าปัจจุบัน ตลอดจนภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านวัวลายในอดีต










..........นอกจากนี้ยังมีการต้องแผ่นโลหะเป็นลวดลายที่แสดงถึงประวัติศาสตร์การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการก่อสร้างและทำนุบำรุงถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมากมายของครูบาเจ้าศรีวิชัย จนได้รับการยกย่องเป็น "นักบุญแห่งล้านนา" รวมทั้งภาพประวัติศาสตร์การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพผสมผสานกับภาพเทพเจ้าต่าง  ๆ ที่เป็นเทพแห่งศิลปะและความสำเร็จที่บรรดาช่างเงินบ้านวัวลายให้ความนับถือ เช่น พระศิวะ พระพิฆเณศวร์ ฯลฯ โดยลวดลายที่ประดับทั่วทั้งศาลาได้นำเอาลายเส้นและลายดอกแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏในเครื่องเงินบ้านวัวลายดั้งเดิมมาตกแต่งเป็นลายประกอบ รวมทั้งลายที่ได้รับแนวคิดมาจากศาสนสถานต่าง ๆ ในล้านนา

..........ลายหลักที่ได้นำมาประดับหอศิลป์นี้ ถือเป็นลายชั้นสูงที่ช่างฝีมือจะต้องมีความชำนาญถือเป็นลายโบราณที่ทำได้ยากยิ่ง เป็นลายที่ถือเป็นยอดฝีมือขั้นสูงสุดและยากที่สุด โดยเฉพาะลายนูนสูงรูปคน เทวดา สัตว์หิมพานต์ หรือตัวละครที่ต้องใช้ความประณีต สัดส่วนที่มาตรฐาน ให้รายละเอียดอย่างมากมายและสมจริง เช่น รายละเอียดในส่วนของเสื้อผ้า หน้าตา โดยเฉพาะรูปเหมือน เช่น รูปพระสงฆ์ พระมหากษัตริย์ รูปคน รูปยักษ์ รวมทั้งอารมณ์ของตัวละครที่สะท้อนลงบนงานดุนลายให้ปรากฏเป็นเรื่องราวลงบนแผ่นภาพ

..........ในการออกแบบหอศิลป์ได้สื่อถึงดินแดนอันสุขสงบและศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่อยู่ของอริยสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติชอบ ลายรอบนอกประกอบด้วยเทวดาที่ปกปักรักษาหอศิลป์ ต้นไม้ ดอกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ในป่าหิมพานต์ ซึ่งสื่อถึงดินแดนอันสงบสุขและร่มเย็น

..........ส่วนยอดหลังคาประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น ปลายยอดดุนลายดอกกระจัง ฐานฉัตรดุนลายกนกฝักขาม แนวสันหลังคา ลาดน้ำประกอบด้วยลายเมฆไหล เชิงชายหรือแป้นน้ำย้อยดุนลายดอกกระถิน ลายเหงาก้านขนผักกูดสลับลายเครือเถาใบเทศ ขนาบแนวบนล่างด้วยลายเมฆไหล และดอกกระจัง สื่อถึงก้อนเมฆหยดน้ำ และฝนโบกขรณีที่สร้างความสมบูรณ์แก่พืชพรรณธัญญาหาร ต้นไม้ ดอกไม้ เหล่าเทพยดา และสัตว์น้อยใหญ่ในป่าหิมพานต์ที่เรียงรายอยู่รอบศาลา

..........ส่วนป้านลมประกอบด้วย ป้านลมใหญ่ดุนลายดอกพุดตานสลับลายเครือเถาผักกูดก้านขด หัวป้านลมเป็นรูปพญานาครวม 16 ตัว ป้านลมเล็กดุนลายดอกพุดตานสลับลายเครือเถาผักกูดก้านขด แนวคิดจากป้านลมไม้แกะวิหารวัดต้นเกว๋น อำเภอหางดง เชียงใหม่ ส่วนหัวพญานาคจากหน้าบันไดวิหารวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ หัวป้านลมเป็นรูปพญานาค 6 ตัว หน้าแหนบดุนลายพระธรรมจักร หน้าก้องดุนลายดอกพิกุลก้านขดหัวขอด ขื่อม้าต่างไหมประกอบด้วยลายดอกพุดตาน ลายเมฆ ขอบล่างหน้าแหนบดุนลายดอกประจำยาม และดอกพุดตาน ขื่อหลวงลายดอกประจำยาม ก้ามปู เสามุข 8 เสาส่วนหน้าดุนลายลายดอกพุดตานสลับเหงาก้านขดผักกูด หัวเสาลายกาบพรหมศร ตีนเสาลายตีนจก เสามุข 8 เสาเป็นลายปลิง 8 สิบสองราศี ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมในสลุงเงินหาบของบ้านวัวลาย และเสากลางระหว่างมุขทั้งสอง ดุนลายแส้หางนกยูง ซึ่งลายเหล่านี้เป็นลายที่นำมาเป็นลายประกอบในสลุงเงินดั้งเดิม โก่งคิ้วดุนลายนาคสะดุ้ง ผสานลายดอกก้านขดผักกูด ส่วนนาคทันฑ์เป็นรูปพญานาค พระนารายณ์ คชปักษี ราชสีห์ และหนุมาน

..........เมื่อเดินขึ้นบันได สู่ด้านในของตัวหอศิลป์ ราวระเบียงลูกกรงประดับลายดอกปีป (ดอกกาสะลอง) ราวระเบียงด้านบนตลอดแนวดุนลายดอกพิกุลสลับลายก้านขดผักกูด ด้านล่างเป็นลายดอกกระถินสิบสองราศี บริเวณผนังซ้ายสุด (ทิศตะวันตก) ดุนลายรามเกียรติ์ตอนพระรามยกรบส่วนผนังด้านขวาสุด (ทิศตะวันออก) ดุนลายรามเกียรติ์ตอนทศกัณฐ์ยกรบ

..........ซุ้มประตูด้านบนทางเข้าสู่ด้านในห้องประดิษฐาน 3 ครูบาทั้งสองด้าน ดุนลายพญานาคสะดุ้งโค้งเป็นกรอบนอก หัวซุ้มส่วนบนลายนาคสะดุ้ง แนวคิดจากซุ้มประตูไม้วิหารวัดดวงดีเชียงใหม่ ซึ่งลายพญานาคนี้โดยมากจะใช้เป็นลายกรอบแยกลายหลักกับลายประกอบออกเป็นสัดส่วนในลวดลายสลุงเงินวัวลาย ซึ่งเรียกกันว่า "ลายโขงนาค" ประตูทางเข้าด้านซ้าย บานซ้ายดุนลายรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บานขวาดุนลายรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ส่วนประตูทางเข้าด้านขวา บานซ้ายดุนลายมัจฉานุ บานขวาดุนลายหนุมาน ซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ ซุ้มขอบประตูและหน้าต่างด้านบน 4 ภาพ ประกอบด้วยลายรามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ 1 ภาพ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ 1 ภาพ ตอนหนุมานถวายตัว 1 ภาพ และตอนหนุมานนิมิตกายอมพลับพลาพระราม 1 ภาพ เพดานเหนือซุ้มหน้าต่างด้านบนดุนลายรูปพญาช้างเผือกประกอบลายดอกฝ้ายก้านขดหัวขอด ลายรูปหม้อ ปูรณฆฏะประกอบลายดอกมณฑาสวรรค์ซึ่งเป็นดอกทิพย์ในป่าหิมพานต์ และลายหงส์ประกอบลายดอกมณฑาสวรรค์ ผนังด้านข้างประตูทางเข้าด้านซ้ายมือดุนลายรูปพระศิวะ ผนังด้านข้างประตูทางเข้าด้านขวามือดุนลายรูปพระพิฆเณศวร์ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะและความสำเร็จ

..........สำหรับบานหน้าต่างโดยรอบศาลา ด้านในดุนลายพระพุทธประวัติ ลายเวสสันดรชาดก และสัตว์ป่าหิมพานต์ โดยเฉพาะลายพระพุทธประวัติ และลายเวสสันดรชาดก เป็นลายที่ได้รับความนิยมนำมาต้องสลุงเงินกันมาก เนื่องจากความนิยมของผู้สั่งทำหรือผู้ซื้อที่ประสงค์จะนำลายที่เป็นมงคลและเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเก็บรักษาไว้ประจำบ้าน ซึ่งถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ผนังด้านนอกรอบ ๆ ศาลายังดุนลายรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เทวดาทั้ง 7 ที่คอยปกปักรักษาหอศิลป์แห่งนี้อีกด้วย

..........บริเวณผนังด้านนอกศาลาด้านทิศตะวันตก เป็นส่วนที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดเจน เวลาเดินผ่านประตูเข้าวัดทางด้านหน้า ประกอบด้วยลายเทวดา 2 องค์ซ้ายขวา ลายนาค ด้านล่างขอบหน้าต่างดุนลายนกยูงรำแพน ลายคชปักษีซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ และลายเครือเถาผักกูดก้านขดเหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นแผ่นภาพใหญ่ดุนลายรามเกียรติ์ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณ ส่วนผนังภายนอกอาคารด้านหลังและด้านทิศตะวันออก ดุนลายเทวดา และหม้อดอก (หม้อปูรณฆฏะ) ซึ่งเป็นลวดลายรูปภาชนะหม้อน้ำ บรรจุกอบัวทั้งก้านใบและดอกบัว เป็นลวดลายโบราณที่มีต้นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย ลวดลายดังกล่าวมีความหมาย หมายถึง หม้อน้ำอันมีน้ำเต็มบริบูรณ์ มีลตา คือไม้เลื้อย เลื้อยออกมาสองข้าง แสดงสัญลักษณ์ชีวิต และการสร้างสรรค์ เป็นคติความร่มเย็น ความสมบูรณ์พูนสุข และการสร้างสรรค์

..........ผนังด้านในศาลาทางทิศเหนือ บริเวณด้านหลังรูปหุ่นขี้ผึ้ง 3 ครูบา ประดับด้วยแผ่นภาพใหญ่ 2 ภาพ ด้านซ้ายเป็นแผ่นภาพดุนลายประวัติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุวัดพระธาตุดอยสุเทพ และด้านขวาเป็นภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เป็นภาพการลงจอบแรกของเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับสุดท้าย เพดานเหนือขึ้นไปเป็นการฉลุลายนางรำพม่า สัตว์ในป่าหิมพานต์ได้แก่ สิงห์ มอม และลายมงคล 8 ประการซึ่งเป็นลายที่นิยมนำมาต้องลายสลุงบ้านวัวลาย

..........ส่วนภาพติดผนังด้านในศาลาทางทิศใต้ดุนลายโลหะที่เกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ ตำนานและวิถีชีวิตของชาวบ้านวัวลายในอดีต ตั้งแต่การอพยพจากบ้านวัวลาย แขวงเมืองปั่น ลุ่มน้ำสาละวินรัฐเมิงไตในสมัยพระเจ้ากาวิละ และมาตั้งรกรากอยู่โดยรอบวัดหมื่นสาร โดยภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อและเกียรติประวัติสูงสุดของชาวบ้านวัวลายที่ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์จักรี สะท้อนออกมาเป็นแผ่นภาพเรียงรายรวมทั้งสิ้น 10 ภาพ เรียบเรียงข้อมูลโดยพระครูอดุลย์สีลกิตติ์ และออกแบบภาพโดยอาจารย์เกรียงไกร เมืองมูล ได้แก่

ภาพที่ 1
..........เป็นภาพที่เล่าถึงเรื่องราวครั้งปี จุลศักราช 1158 (พุทธศักราช 2339) ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พระเจ้ากาวิละ ทรงเคลื่อนทัพจากเวียงป่าซางมาตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นจึงรวบรวมไพร่พลช่วยกันบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกพม่าปกครองมานาน

ภาพที่ 2
..........เป็นภาพหมู่บ้านวัวลายซึ่งตั้งอยู่แขวงเมืองปั่น ลุ่มแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) เป็นที่ตั้งของรัฐไทใหญ่ (รัฐเมิงไต) ลักษณะของเมืองปั่นมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มและหุบเขา มีลำห้วย แม่น้ำไหลผ่านลงสู่แม่น้ำคง มีตำนานเล่าว่าบนภูเขาสูงนั้นมีถ้ำใหญ่ ภายในถ้ำมีวัววิเศษ มีลักษณะดี เขาเป็นแก้ว ลำตัวลายคำ (ทอง) วันดีคืนดีจะออกมาหาอาหารนอกถ้ำ และถ่ายมูลออกมาเป็นแร่เงิน แร่ทองไว้ตามลำห้วย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นก็พากันมาเก็บทำเป็นเครื่องประดับ และรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำสลุง ขัน เชี่ยนหมาก พาน จึงเป็นที่กำเนิดชุมชนช่างขึ้น ณ บ้านวัวลายแห่งนี้ (เป็นตำนานที่พระครูอดุลย์สีลกิตติ์สอบถามจากชาวบ้านและพระสงฆ์ชื่อ เจ้าส่างอูบัณฑตะ อยู่เมืองปั่น ลุ่มน้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) เมื่อปี พ.ศ.2534 ปัจจุบันยังพบว่ามีถ้ำดังกล่าวอยู่ที่เมืองปั่น)

ภาพที่ 3
..........เป็นภาพพระเจ้ากาวิละ ทรงยกกองทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองปันนา ไทใหญ่จากรัฐฉานในพม่า ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง เป็นต้น และได้กวาดต้อนชาวบ้านที่หลบหนีจากการปกครองของพม่ากลับเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองซึ่งเรียกว่า "ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" และได้มีการกวาดต้อนผู้คนอีกครั้งในสมัยพระยาธรรมลังกา ในปีจุลศักราช 1180 (พุทธศักราช 2361) ได้แต่งตั้งเจ้าสุวรรณคำมูลกับเจ้าเมืองแก้ว นำไพร่พล 300 คน เข้าตีบ้านตองกาย และบ้านวัวลายในแขวงเมืองปั่นนำมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณกำแพงชั้นนอก ปัจจุบันคือ "วัดหมื่นสาร"

ภาพที่ 4
..........เป็นภาพที่พระเจ้ากาวิละ ทรงบูรณะฟื้นฟูกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงเชียงใหม่ บริเวณนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่น้อย แต่มีร่องรอยของวัดร้างอยู่จำนวนไม่น้อย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน คือ วัดกู่เสือ วัดหมื่นครื้น วัดหมื่นเรือง วัดหมื่นสาร วัดศรีสุพรรณ และวัดพันช่าง โดยได้บูรณะฟื้นฟูขึ้นเพียง 2 วัด ด้านทิศใต้คือ วัดหมื่นสาร ด้านทิศเหนือ คือ วัดศรีสุพรรณ

ภาพที่ 5
..........เป็นภาพที่พระเจ้ากาวิละ ได้กวาดต้อนผู้คนจากบ้านงัวลาย เมืองปั่นซึ่งส่วนมากเป็นช่างทำเครื่องเงินและบางส่วนเป็นช่างปั้นหม้อดิน โดยช่างเงินที่อยู่บริเวณรอบ ๆ วัดหมื่นสาร ได้มีโอกาสถวายงานฝีมือในการทำเครื่องเงินให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และอีกกลุ่มหนึ่งคือช่างปั้นหม้อดินได้ย้ายไปตั้งรกรากอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร โดยใช้ชื่อว่า "บ้านหารแก้ววัวลาย" ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอหางดง เชียงใหม่

ภาพที่ 6
..........เป็นภาพหมู่บ้านวัวลายชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำกสิกรรม เมื่อว่างจากทำกสิกรรม ก็มาทำเครื่องเงินในบริเวณบ้านของตนเอง และจะนำเครื่องเงินที่ทำนั้นออกขายตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้กับครอบครัว โดยส่วนมากแม่บ้าน หรือผู้หญิงจะเป็นผู้นำสินค้าออกจำหน่ายยังที่ต่าง ๆ

ภาพที่ 7
..........เป็นภาพที่ชาวบ้านวัวลายเมื่อได้มาตั้งรกรากถิ่นฐานมั่นคงแล้ว ต่างก็ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาทำนุบำรุงวัดวาอารามต่าง ๆ และยังนำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมาด้วย คือ การนับถือผีบรรพบุรุษ ผีเจ้านายที่ตนเองเคารพนับถือผีมด จะมีการบูชาเลี้ยงทุก ๆ ปี มีการฟ้อนผีเพื่อเป็นการถวายให้ความเคารพสักการะเป็นการสืบทอดประเพณีดั้งเดิมให้กับลูกหลานสืบต่อไป

ภาพที่ 8
..........ชาวบ้านวัวลายที่มาจากแขวงเมืองปั่นก็ได้นำเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ มีการร่วมกันจัดสร้างศาสนสถานถาวรวัตถุตามวัดที่ตนศรัทธา หลังจากสร้างเสร็จแล้วก็จะมีการฉลองสมโภชจัดงานปอยหลวง แห่ครัวทานเข้าวัด จัดเทศน์มหาชาติ ปล่อยโคมลอย แข่งขันจุดดอกไม้ไฟ และมีการฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ โดยเฉพาะคณะช่างฟ้อนเล็บวัดหมื่นสารนั้น ถือว่าเป็นช่างฟ้อนที่มีชื่อเสียงสามารถฟ้อนได้อย่างอ่อนช้อยงดงามสมดังคำร่ำลือ

ภาพที่ 9
..........เป็นภาพที่ถือเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดของชาวบ้านวัวลาย ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จเจ้านาย ทั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเจ้านายฝ่ายเหนืออยู่เป็นประจำ โดยได้เสด็จมาทอดพระเนตรการทำเครื่องเงินและทรงซื้อเครื่องเงินจากบ้านวัวลายเป็นของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก
..........เมื่อปี พ.ศ.2448 ได้ถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
..........ปี พ.ศ.2469 ได้ถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
..........ปี พ.ศ.2505 ได้ถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ และอีกหลาย ๆ ครั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ภาพที่ 10
..........เป็นภาพที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน รวมอายุได้ 61 ปี ศพของท่านตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปางได้ 2 ปี หลังจากนั้นจึงเคลื่อนศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นเวลานานถึง 7 ปี (เหตุเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) และได้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2489
..........อัฐิของท่านได้แบ่งไปตามที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งได้นำมาเพื่อบรรจุโกฏิเก็บไว้ที่วัดสวนดอก แต่เนื่องจากในขณะนั้นวัดสวนดอกร้างเจ้าอาวาส ครูบาขาวปี๋ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัยซึ่งมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับครูบาอินต๊ะเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร และนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ คหบดีชาวบ้านวัวลายเป็นอย่างดี อีกทั้งครูบาขาวปี๋เคยมานั่งหนักช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารหลังเก่าวัดหมื่นสารด้วย ท่านได้นำอัฐิครูบาศรีวิชัยส่วนดังกล่าวฝากเก็บไว้ที่วัดหมื่นสาร ต่อมาครูบาอินต๊ะ พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดหมื่นสารได้นำอัฐิของท่านบรรจุโกฏิไว้ที่วัดหมื่นสาร เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านวัวลายสืบมาจนทุกวันนี้
..........นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ด้านนอกหอศิลป์ทางทิศตะวันออกติดกับกุฏิสงฆ์ "โอภาสคณานุสรณ์" มีการดุนลายประดับด้วยภาพพระธาตุประจำปีเกิด จำนวน 12 ภาพอีกด้วย

..........................................................................................................................
12 พระธาตุดอยตุง ประจำปีเกิดปีไก๊ (กุน) หมู, ช้าง



11 พระธาตุเจดีย์วัดเกตการาม ประจำปีเกิด ปีเส็ด (จอ) หมา




10 พระธาตุหริภุญชัย ประจำปีเกิด ปีเล้า (ระกา) ไก่




9 พระธาตุพนม ประจำปีเกิด ปีสัน (วอก) ลิง




8 พระบรมธาตุดอยสุเทพ ประจำปีเกิด ปีเม็ด (มะแม) แพะ




7 พระธาตุชะเวดากอง ประจำปีเกิด ปีสะง้า (มะเมีย) ม้า




6 พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ประจำปีเกิด ปีไส้ (มะเส็ง) งูเล็ก




5 พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ ประจำปีเกิด มะโรง (งูใหญ่)




4 พระธาตุแช่แห้ง ประจำปีเกิด ปีเหม้า (เถาะ) กระต่าย




3 พระธาตุช่อแฮ ประจำปีเกิด ปียี (ขาล) เสือ




2 พระธาตุลำปางหลวง ประจำปีเกิด ปีเป้า (ฉลู) วัว




1 พระธาตุศรีจอมทอง ประจำปีเกิด ปีใจ้ (ชวด) หนู



..........หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต หลังนี้ จึงเป็นหนึ่งในผลงานที่ลูกหลานช่างเงินบ้านวัวลายมีความภาคภูมิใจที่ได้แสดงออกซึ่งกตเวทิคุณต่อบรรพบุรุษช่างเงินที่ได้ฝากภูมิปัญญาวิชาชีพช่างเงินให้ลูกหลานได้ยึดเป็นอาชีพมาจนปัจจุบัน และเป็นการน้อมสักการะครูบาศรีวิชัย ครูบาอินต๊ะ และครูบาบุญปั๋น พระผู้มีสัมมาปฏิบัติ ผู้มีคุณูปการต่อคณะศรัทธาชาววัดหมื่นสารและบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วทุกหนแห่ง เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ความศรัทธา ความสมานสามัคคีและเป็นเกียรติประวัติที่ลูกหลานชาวบ้านวัวลายได้ร่วมสร้างและจรรโลงศิลปะเครื่องเงินบ้านวัวลายให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น