วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาในเจดีย์ล้านนา

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาในเจดีย์ล้านนา

(เจดีย์ประธานวัดสันกำแพงหลวง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่)
..........ในอยุธยามีสถูปเจดีย์หลายรูปแบบที่คลี่คลายมาจากสกุลช่างต่างๆ และที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสกุลช่างท้องถิ่น
ในบรรดาสถูปเจดีย์เหล่านี้มีรูปแบบที่สำคัญๆ สรุปได้ตามลักษณะตามรูปแบบคือ
รูปปรางค์ รูปเจดีย์ทรงกลม รูปทรงปราสาทยอดเจดีย์ รูปเจดีย์ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม และรูปเจดีย์ผังจัตุรัสย่อมุม
(สันติ เล็กสุขุม, เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมมุม สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529, หน้า 23-29.)
โดยเฉพาะเจดีย์เพิ่มมุม และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ดูจะเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยาที่ได้คลี่คลายให้กับสถูปเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก
แต่ไม่เคยพบร่องรอยเจดีย์แบบนี้มาก่อนในภาคเหนือ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจึงไม่มีปรากฏในเอกสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนา
ทั้งๆ ที่หากจะศึกษาถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว อยุธยากับล้านนาดูจะมีความสัมพันธ์กันอยู่หลายช่วงเวลา
ทั้งการศึกสงครามและการศาสนา แต่ไม่เคยพบว่ามีรูปแบบเจดีย์อยุธยาอย่างชัดเจนในเขตนี้
จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีเจดีย์แบบดังกล่าว
เพราะในล้านนาเองก็มีเอกลักษณ์ของตนเองเกี่ยวกับเจดีย์ทรงกลมที่เป็นรูปแบบมีชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นรูปฐานบัวลูกแก้วกลมใช้หน้ากระดานร่วมกันซ้อนกันสามชั้น
ลักษณะนี้จะต่างกับเจดีย์ทรงกลมของอยุธยาและสุโขทัย ที่ชั้นใต้องค์ระฆังเป็นแบบลูกแก้วที่อยุธยาและเป็นแบบบัวคว่ำที่สุโขทัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีเจดีย์บางองค์ในเขตล้านนาที่น่าจะรับเอารูปแบบของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของอยุธยาเข้ามา
แต่รูปแบบการก่อสร้างเป็นไปตามความเคยชินของช่างทางเหนือ รูปทรงจึงเป็นการปะปนของอยุธยาและทางท้องถิ่น
ตัวอย่างที่เห็นชัดเกี่ยวกับประเด็นการก่อสร้างที่เกิดจากความเคยชิน คือ
เจดีย์วัดป่าแดงหลวง ที่รับแนวคิดมาจากเจดีย์วัดช้างล้อม ในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย
แต่แม้จะรับเอาแบบแผนของเจดีย์ช้างล้อม รูปทรงที่สร้างขึ้นมาก็ยังมีรายละเอียดและรูปทรงเป็นแบบเจดีย์ของล้านนาเช่นกัน
เจดีย์ที่น่าจะเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาอย่างชัดเจน คือ เจดีย์ที่วัดสันกำแพงหลวง จังหวัดเชียงใหม่

..........วัดสันกำแพงหลวง เป็นวัดนอกเมืองอยู่ที่ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เดิมเป็นวัดร้าง และต่อมาชาวบ้านได้ซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์และตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดสันกำแพงหลวง"
ประวัติความเป็นมาในการสร้างวัดสามารถสืบย้อนไปได้เพียงช่วง พ.ศ.2396 ซึ่งเป็นระยะที่สร้างวัดขึ้นใหม่
ก่อนหน้านี้ไม่มีเอกสารบันทึกถึง ประวัติการสร้างวัดใหม่จึงศึกษาจากเอกสารบันทึกเมื่อ พ.ศ.2444
คัดลอกเมื่อปี พ.ศ.2508 ในเอกสารบันทึกระบุว่า วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณร้างอยู่กลางป่ารก
บริเวณนี้มีผีดุมากชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปจนมาในระยะหลังได้ไปนิมนต์พระจากวัดห้วยยาบในลำพูน
ซึ่งเป็นพระที่ชำนาญในเรื่องไสยศาสตร์เวทมนต์คาถามาทำพิธีขับไล่ และถากถางป่าเพื่อปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น
เมื่อแผ้วถางป่าเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงปฏิสังขรณ์วัด ซ่อมแซมวิหาร อุโบสถ และเจดีย์
โดยใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคาอย่างไม่ถาวรมากนัก จนปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ พ.ศ.2396
ได้ตั้งชื่อวัดตามสภาพพื้นที่ว่า "วัดสันกำแพงหลวง" ที่หมายถึง กำแพงใหญ่ เพราะบริเวณโดยรอบวัดมีลักษณะของกำแพงขนาดใหญ่
บางแห่งยังหลงเหลือ บางแห่งผุแตกหัก แต่ก็เป็นกำแพงที่กว้างใหญ่กว่าวัดอื่นในบริเวณนั้น จึงใช้ชื่อดังกล่าว

..........ความสำคัญของวัดนี้อยู่ที่องค์สถูปด้านหลังวิหาร ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของอยุธยา
แต่การย่อมุมมีลักษณะพิเศษต่างจากเจดีย์อยุธยา โดยมีรูปทรงเป็นเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมย่อมุมละสามมุมที่องค์ระฆัง
และเพิ่มการย่อที่ชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆังเป็น 5 มุม เพิ่มการย่อมุมเป็นมุมละ 7 มุม ที่ฐานบัวลูกแก้ว
และมาเพิ่มเป็น 9 มุม ที่ชั้นฐานล่าง การย่อมุมต่างจากเจดีย์อยุธยาที่มีการย่อตั้งแต่ฐานจนถึงบัลลังก์เป็นแนวเดียวกันตลอดและย่อมุมเพียงมุมละ 3 มุม
หากพิจารณาถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงนี้แบ่งการศึกษาโดยละเอียดได้ 6 ส่วนคือ
..........1. ฐานล่าง
..........2. ฐานบัวลูกแก้ว
..........3. ชั้นบัวคว่ำ
..........4. องค์ระฆัง
..........5. บัลลังก์คอกลาง
..........6. ปล้องไฉนปลียอด

(ชั้นฐานล่าง เป็นฐานหน้ากระดานใหญ่ และบัวคว่ำหน้ากระดาน รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อมุม)
1. ฐานล่าง
..........เป็นลักษณะที่ไม่เคยพบในเจดีย์ล้านนา คือ
ตอนล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับบัวคว่ำและหน้ากระดาน 3 ชั้น ช่วงนี้ย่อมุมละ 9 มุม รวม 4 ด้าน 36 มุม
การย่อมุมย่อตั้งแต่ฐานหน้ากระดานใหญ่ขึ้นไปจนถึงชั้นฐานบัวลูกแก้วที่รองรับชั้นฐานบัวคว่ำหรือชั้นมาลัยเถารูปบัวคว่ำ
2. ฐานบัวลูกแก้ว
..........เป็นลักษณะฐานบัวลูกแก้วทั่วไป ที่มีลูกแก้ว 2 เส้นแต่ไม่มีเส้นลวดคั่นบริเวณท้องไม้
ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานเล็กๆ เหนือฐานล่าง การย่อมุมฐานบัวลูกแก้วต่างออกไปจากฐานล่าง
โดยย่อลดลงเหลือมุมละ 7 มุมรวม 4 ด้าน 28 มุม ที่ฐานบัวลูกแก้วนี้
ส่วนที่เป็นหน้ากระดานตอนบนจะใช้ร่วมกับชั้นบัวคว่ำโดยไม่มีฐานหน้ากระดานเล็กรองรับแบบเจดีย์ทั่วไป

(ฐานบัวลูกแก้วย่อมุมมีลูกแก้วสองเส้น ไม่มีเส้นลวด คงเป็นเพราะการปฏิสังขรณ์ในระยะหลัง ทำให้เส้นลวดที่คั่นระหว่างลูกแก้วทั้งสองเส้นหายไป)

(ชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆัง หรือชั้นมาลัยเถาทำเป็นรูปบัวคว่ำหน้ากระดานและเน้นที่หน้ากระดานจำนวน 6 ชั้น)
3. ชั้นบัวคว่ำ
..........หรือชั้นมาลัยเถา เป็นชั้นที่รองรับองค์ระฆัง
ลักษณะของบัวคว่ำเป็นแบบมีหน้ากระดานเส้นลวดซ้อนกัน 6 ชั้นและย่อมุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกย่อตั้งแต่บัวคว่ำชั้นที่ 1 ถึงชั้น 5 ย่อมุมละ 7 มุม เช่นเดียวฐานบัวลูกแก้วโดยย่อตามแนวของฐานบัวลูกแก้ว
ส่วนที่ 2 ตั้งแต่ชั้นที่ 6 ถึงปากระฆังย่อมุมละ 5 มุม ลักษณะการย่อมุมแบบดังกล่าวจึงทำให้ชั้นบัวคว่ำชั้นที่ 6 ลดหลั่นเข้าไป
(องค์ระฆังย่อด้านละ 3 มุม มีลักษณะเตี้ยกว่าองค์ระฆังของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยุธยาบัลลังก์มีขนาดใหญ่ย่อมุมตามแนวขององค์ระฆัง ส่วนปล้องไฉนซ้อนกัน 2 ชั้น เป็นแบบเฉพาะเช่นกัน)
4. องค์ระฆัง
..........ลักษณะแบบเดียวกับองค์ระฆังของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองโดยย่อมุมละ 3 มุม ลดลงจากชั้นบัวคว่ำ
รูปทรงขององค์ระฆังเป็นแบบเหลี่ยมปลายบานออกเล็กน้อย เส้นรอบนอกต่างออกไปจากองค์ระฆังของเจดีย์ล้านนาทั่วไป
แม้จะมีการเลียนแบบโดยย่อมุมที่องค์ระฆัง เช่น เจดีย์ที่วัดหมื่นตูม ในเชียงใหม่
ก็ยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบองค์ระฆังของเจดีย์ล้านนาอยู่
ดังนั้น รูปแบบองค์ระฆังของเจดีย์วัดสันกำแพงหลวง จึงเป็นแบบคล้ายอยุธยาแต่จะเตี้ยกว่า
รวมทั้งปากระฆังผายออกเล็กน้อย ซึ่งเป็นเพราะการสร้างของช่างท้องถิ่น
5. บัลลังก์
..........เป็นส่วนที่อยู่เหนือองค์ระฆัง ทำเป็นรูปฐานบัวลูกแก้วโดยย่อมุมตามแนวขององค์ระฆัง
การย่อมุมที่บัลลังก์เป็นลักษณะทั่วไปที่พบในเจดีย์ล้านนา เหนือบัลลังก์เป็นคอกลางไม่มีเสาหาร แต่มีแผ่นทองเหลืองหุ้มครอบไว้ซึ่งเป็นการทำในระยะหลัง
6. ปล้องไฉน
..........ตั้งซ้อนกันสองชั้น คล้ายกับการมาแก้ไขใหม่ ปลายยอดมีฉัตรที่ต่อเติมใส่ใหม่
..........จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม หากมองสัดส่วนแล้วดูจะคล้ายกับเจดีย์พม่าที่ฐานกว้างใหญ่และลดหลั่นขึ้นไปจนเรียวลง
แต่ลักษณะระเบียบการสร้างเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมทางเหนือทั่วไป
โดยที่มีข้อแตกต่าง คือการย่อมุมพิเศษออกไป ลักษณะระเบียบการก่อสร้างที่เป็นแบบเจดีย์ทรงกลมทางเเหนือคือ
เริ่มจากฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ และชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังที่มีบัลลังก์ย่อมุม
มีปลียอดปล้องไฉนและปลายยอดใส่ฉัตร ระเบียบการสร้างที่เทียบได้กับอยุธยาคือ
เจดีย์ประเภทไม่มีเรือนธาตุแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
โดยเริ่มจากฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับฐานบัวลูกแก้วที่รับชั้นมาลัยลูกแก้วใต้องค์ระฆัง
มีบัลลังก์ปล้องไฉนปลียอดอยู่เหนือขึ้นไป การย่อมุมจะเป็นระเบียบเดียวกันตั้งแต่บัลลังก์ลงมาจนถึงชั้นฐานล่าง
ซึ่งการย่อมุมอย่างเป็นระเบียบเดียวกันนี้ที่เป็นข้อแตกต่างกับเจดีย์วัดสันกำแพงหลวง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงส่วนขององค์ประกอบในแต่ละส่วนตั้งแต่ชั้นฐานจนถึงปลียอด
จะเห็นได้ว่าเป็นระเบียบเดียวกัน ต่างกันในส่วนรายละเอียด เช่น การเพิ่มบัวคว่ำที่ฐานล่างและเพิ่มชั้นบัวคว่ำหน้ากระดานที่ชั้นใต้องค์ระฆังหรือ ชั้นมาลัยเถา เป็นต้น


..........ปัญหาเรื่องการซ่อมดัดแปลงในสมัยเมื่อ พ.ศ.2396 นั้น
จากการพิจารณาแล้วเป็นไปได้ว่าส่วนที่ยังเป็นของเดิมคือ ตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไป
เพราะลักษณะความเป็นระเบียบในการย่อมุมกับบัลลังก์สัดส่วนก็ต่างไปจากองค์ระฆังในเจดีย์ล้านนาที่มักเป็นรูปกลมเตี้ยเล็ก
ส่วนปากระฆังและยอดมีขนาดใกล้เคียงกันเพราะส่วนใหญ่แล้วเจดีย์กลมในล้านนาจะเน้นที่ชั้นใต้องค์ระฆัง
เช่น ถ้าชั้นใต้องค์ระฆังหรือชั้นมาลัยเถาเป็นรูปฐานกลมซ้อนกัน จะเน้นที่หน้ากระดาน
และถ้าเป็นรูปบัวคว่ำก็จะเน้นที่หน้ากระดานเช่นกัน
จุดเด่นจึงอยู่ที่ชั้นใต้องค์ระฆังนี้ผิดกับเจดีย์ในอยุธยาหรือสุโขทัยที่เน้นองค์ระฆังเป็นจุดเด่น
จึงพบว่าองค์ระฆังมักใหญ่กว่าเจดีย์ล้านนา
ส่วนองค์ระฆังเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงนี้เป็นแบบเหลี่ยมและสูง
ส่วนปากระฆังจะกว้างกว่ายอดระฆังทำให้ดูว่า ปากระฆังขยายออกและผายมากกว่าเจดีย์ท้องถิ่น
ถ้าหากว่ามีการแก้ไขโดยย่อมุมที่องค์ระฆังในระยะหลังนั้นสามารถจะแยกได้ชัดเจนเพราะมีตัวอย่างที่เห็นชัดคือ
เจดีย์วัดหมื่นตูมในเชียงใหม่ที่แม้จะมีการย่อมุมที่องค์ระฆัง แต่สัดส่วนขององค์ระฆังก็ยังคงแสดงถึงลักษณะองค์ระฆังท้องถิ่นอย่างเดิม
ดังนั้น ลักษณะขององค์ระฆังควรจะเป็นของเดิมและมาเพิ่มการปิดแผ่นทองเหลืองหรือทองจังโกที่เป็นแบบแผนความนิยมในภาคเหนือในระยะหลัง


..........ส่วนบริเวณใต้องค์ระฆังลงมาถึงชั้นฐาน
โดยเฉพาะชั้นใต้องค์ระฆังที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำกับหน้ากระดาน 6 ชั้น
โดยเน้นส่วนที่เป็นหน้ากระดานนั้นน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของทางล้านนา ในแง่การใช้บัวคว่ำและหน้ากระดาน
แต่จำนวนชั้นนั้นเป็นการสร้างรูปแบบใหม่โดยที่ของท้องถิ่นเดิมมีเพียง 3 หรือ 4 ชั้นเท่านั้น
ส่วนฐานล่างที่กว้างใหญ่นั้นดูจะเป็นแบบที่นิยมในเจดีย์พม่าไม่ใช่ลักษณะของเจดีย์ท้องถิ่น
ลักษณะของเจดีย์องค์นี้ จึงเป็นลักษณะการผสมผสานหลายๆ รูปแบบจากของอยุธยาที่องค์ระฆังบัลลังก์ผสมกับลักษณะของทางเหนือในส่วนหนึ่งตั้งแต่ใต้องค์ระฆังลงมา
นอกจากนี้บริเวณปล้องไฉนและปลียอดน่าจะเป็นส่วนที่แก้ไขในระยะหลัง ของเดิมควรจะเป็นชั้นเดียวเหมือนปล้องไฉนปลียอดทั่วๆ ไป


..........หากพิจารณาถึงอายุสมัยไม่ควรเก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 23
เพราะเจดีย์อยุธยาแบบดังกล่าวมีกำเนิดในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
และลักษณะการใช้บัวคว่ำหน้ากระดานที่ใต้องค์ระฆังในเจดีย์ล้านนาก็ไม่เก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 21
โดยที่แต่เดิมบริเวณใต้องค์ระฆังใช้ฐานบัวลูกแก้วกลม 3 ชั้น ซ้อนกันรับองค์ระฆังโดยใช้หน้ากระดานร่วมกันในฐานแต่ละชั้น
การเปลี่ยนจากฐานบัวลูกแก้ว 3 ชั้นมาเป็นบัวคว่ำหน้ากระดานนี้ เริ่มมีในสมัยพระติโลกราช
ซึ่งรับมาจากสุโขทัยที่เห็นชัดคือ เจดีย์วัดป่าแดงหลวงในเชียงใหม่
ในช่วงแรกนี้บัวคว่ำจะมี 3 ชั้น จนระยะหลังๆ
เช่น สมัยพระเกษเกล้า พุทธศตวรรษที่ 21 ตอนปลายชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆังมีการเพิ่มชั้นเป็น 5 ชั้น
เช่น เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น
ดังนั้น การที่เจดีย์วัดสันกำแพงใช้บัวคว่ำหน้ากระดานเป็นชั้นใต้องค์ระฆังจำนวน 6 ชั้น
ประกอบกับส่วนฐานล่างและบัวลูกแก้วเหนือชั้นฐานที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นอายุสมัยควรไม่มากไปกว่าสมัยพระเกษเกล้า
และเมื่อเทียบกับเจดีย์แบบอยุธยาที่มี 2 ประเภท คือ แบบมีเรือนธาตุ และไม่มีเรือนธาตุ
พบว่าแบบไม่มีเรือนธาตุจะเกิดทีหลังเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
ดังนั้นอายุสมัยของแบบไม่มีเรือนธาตุจึงหลังกว่าแบบที่มีเรือนธาตุ ซึ่งกำเนิดในปลายพุทธศตวรรษที่ 21
และเมื่อพิจารณายังเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงเป็นลักษณะที่คลี่คลายมาจากเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่กำเนิดหลังปลายพุทธศตวรรษที่ 21
โดยผสมผสานกับลักษณะของทางล้านนาเรื่องการใช้บัวคว่ำที่ชั้นใต้องค์ระฆัง
และลักษณะรูปทรงสัดส่วนเป็นแบบเจดีย์พม่ารุ่นหลังๆ
เมื่อเป็นดังนี้อายุของเจดีย์นี้จึงควรต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 21 ควรจะอยู่ในระยะพุทธศตวรรษที่ 22 ตอนปลาย ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นอย่างมาก

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

วัดต้นเกว๋น...บยรอยทางพระธาตุ

วัดต้นเกว๋น...บยรอยทางพระธาตุ



..........ผมเลือกมาวัดต้นเกว๋นในวันศีลหรือวันพระ เพราะต้องการเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านกับวัด มากกว่าจะดูแต่หมู่กุฏิวิหารที่เงียบเหงา ปราศจากชีวิตชีวา ผมไปถึงวัดแต่เช้าตรู่ แสงแรกของวันเริ่มโผล่จับขอบฟ้า ไม่นานแดดก็ตกต้องหน้าบันหรือที่คนเหนือเรียก "หน้าแหนบ" ของวิหารองค์งามได้อย่างเหมาะเจาะ สะท้อนแสงวับแวมกับกระจกสีที่ประดับหน้าแหนบ กระจกสีดังกล่าวคนเหนือเรียกว่า "แก้วจีน" หรือ "แก้วอังวะ" ด้านหลังกระจกทาด้วยตะกั่ว ตัววิหารแม้ไม่สูงตระหง่าน แต่ก็ได้สัดส่วน ศาลาบาตรมีลักษณะเป็นเรือนแถวยาวเปิดโล่ง โอบล้อมตัววิหารไว้ทั้ง 3 ด้าน ปล่อนให้ด้านหน้าวิหารเผยโฉมงาม ไม้ดำขรึมเก่าโบราณดูงามขลังและศักดิ์สิทธิ์ ศาลาจตุรมุขอันสูงสง่าโดดเด่นที่สุดในวัด อยู่เยื้องกับด้านหน้าวิหาร ประกาศยืนยันถึงศรัทธาของช่างโบราณที่บรรจงสร้างเพื่อกัลปนาฝีมือฝากไว้กับพุทธภูมิแห่งนี้

..........แดดแรงร้อนขึ้น แต่วัดยังคงเงียบเหงาไร้ศรัทธามาทำบุญ การมาเยือนครั้งนี้ของผมจึงพบแต่ความสงบงามท่ามกลางความโดดเดี่ยวร้างไร้ผู้คนต่างจากที่วาดหวังเมื่อแรกมา
..........วัดต้นเกว๋น เป็นชื่อที่ชาวบ้านแถบบ้านต้นเกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และคนที่ชอบชมวัดคุ้นเคยมากกว่าชื่อ "วัดอินทราวาส" ซึ่งทางราชการตั้งให้ตามชื่อของครูบาอินทร์ เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ผู้พัฒนาวัดแห่งนี้ "เกว๋น" หรือชื่อที่ชาวเหนือเรียกว่า "มะเกว๋น" คือต้นตะขบนั่นเอง สมัยก่อนรอบวัดเป็นป่าต้นมะเกว๋น วัดและหมู่บ้านจึงมีชื่อตามนั้น
..........วัดต้นเกว๋นสร้างขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในสมุดข่อยที่ค้นพบ ณ วัดเจดีย์หลวง วัดใหญ่กลางเวียงเชียงใหม่ปรากฏชื่อ วัดบ้านเกวน สังกัดหมวดอุโบสถ วัดหนองควาย อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ปริวรรตหรือถอดความให้ความเห็นว่า สมุดข่อยบันทึกรายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณที่แบ่งออกเป็นหมวดอุโบสถต่างๆ ดังกล่าวนี้น่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราช มีดำริจะปรับโครงสร้างของสงฆ์ให้เป็นเอกภาพทั้งประเทศ จึงให้สำรวจรายชื่อวัดทั้งหมดทางภาคเหนือ



..........วัดบ้านเกวนกับวัดต้นเกว๋นในปัจจุบันอาจจะเป็นวัดเดียวกันที่เรียกชื่อเพี้ยนไปก็ได้ นอกจากนี้ที่เพดานด้านเหนือของวิหาร มีบันทึกตัวเลขปีสร้างวิหารเป็นภาษาไทยวนหรือตัวเมือง ว่าสร้าง จ.ศ.1220 หรือปี พ.ศ.2401 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ผู้ครองนครเชียงใหม่


..........ลักษณะศิลปกรรมและความงดงามของวัดต้นเกว๋น ดึงดูดนักวิชาการให้หันมาสนใจ และสันนิษฐานว่าน่าจะต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง เมื่อเกิดการค้นคว้าจึงพบว่า วัดต้นเกว๋นอาจมีความสัมพันธ์กับการแห่อัญเชิญพระธาตุจอมทองเข้าสู่เวียง



..........ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าว่า เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในยุครัตนดกสินทร์เคยอัญเชิญพระธาตุจอมทองเข้ามาในเวียงเชียงใหม่ทั้งหมดด้วยกัน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยพระยาจ่าบ้าน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงให่ครั้งนั้นพระธาตุเกิดปาฏิหาริย์หายไปจากวัดพระธาตุจอมทอง พระยาจ่าบ้านพยายามอัญเชิญอย่างใดก็ไม่เป็นผล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมทองต้องทำพิธีอัญเชิญเองพระธาตุจึงเสด็จกลับมาให้พระยาจ่าบ้านอัญเชิญพระธาตุเข้ามาเฉลิมฉลองในเวียงเชียงใหม่ได้ ครั้งต่อมาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์อัญเชิญมาเพื่อฉลองหอไตรวัดหัวข่วง และครั้งล่าสุด พระเจ้าอินทวิชยานนท์อัญเชิญมาร่วมเฉลิมฉลองพระธรรมซึ่งจัดทำขึ้นที่วัดเชียงยืน นอกเหนือจากนี้มีแต่เจ้านายเสด็จฯ ออกไปบูชาที่วัดพระธาตุจอมทอง



..........เมื่อพระธาตุจอมทองมีความสำคัญเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวพุทธในล้านนาถึงเพียงนี้ แน่นอนที่สุดการอัญเชิญเสด็จพระธาตุฯ เข้าเมืองโดยขบวนเดินเท้าจากจอมทองสู่เวียงเชียงใหม่ย่อมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในครั้งนั้นการเดินทางคงต้องใช้เวลาหลายวัน เพราะจอมทองกับเวียงเชียงใหม่นั้นอยู่ไกลกันถึง 58 กิโลเมตร แม้ปัจจุบันเดินทางโดยรถยนต์ก็ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าขบวนแห่อัญเชิญพระธาตุน่าจะหยุดพัก ณ วัดต้นเกว๋น ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางทางที่ใช้ติดต่อกับบ้านเมืองตอนใต้ของเชียงใหม่มาแต่เดิมและเป็นชุมชนที่มีผู้คนมาก



..........อันที่จริงในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็มิได้บอกว่า ขบวนอัญเชิญพระธาตุจากจอมทองเข้ามาที่เชียงใหม่หยุดพัก ณ ที่ใดหรือไม่ การที่สันนิษฐานว่าวัดต้นเกว๋นเป็นที่พักขบวนนั้น ก็เนื่องจากสถาปัตยกรรมพิเศษที่ปรากฏในวัดคือ "ศาลาจตุรมุข" ซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ส่วนกลางของศาลามีหลังคาทรงจั่วซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือที่เรียกว่า "กระเบื้องดินขอ" มุมของสันหลังคาทั้ง 4 ด้านมีตัวเหราคาบกันลงมาเป็นทอดๆ 3 หัวด้วยกัน นับเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่งามแปลกตา ที่พิเศษกว่านั้นคือ ช่อฟ้าของศาลาหลังนี้แทนที่จะทำเป็นช่อฟ้าอย่างที่เห็นโดยทั่วไป ช่างโบราณกลับสร้างสรรค์ให้เป็นลักษณะคล้ายนกเกาะได้อย่างลงตัว ที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือเรียก "ปราสาทเฟื้อง" ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและประเทศลาว


..........ในศาลามีอาสนะไม้ทรงสูงคล้ายธรรมาสน์ทรงปราสาท แต่เรียบง่ายกว่า ไม่มีลวดลายสลักเสลา เชื่อว่าใช้เป็นที่ตั้งพระโกศพระธาตุเมื่อมาแวะพัก นอกจากนี้ยังมีฮางฮดหรือรางรินทำด้วยไม้สำหรับสรงน้ำพระธาตุ และเสลี่ยงซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม แต่เห็นร่องรอยว่าทำด้วยไม้เนื้อแข็งจำหลักเป็นลายดอกไม้และตัวนาคลงรักปิดทอง ในศาลายังพบกลองบูชาหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า "ก๋องปู๋จา" แขวนไว้ทั้งหมด 5 ใบ ใบหนึ่งขนาดใหญ่มหึมา อีก 4 ใบเล็กจิ๋ว ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณไปยังชาวบ้านเมื่อมีพิธีกรรม เป็นเหตุให้สันนิษฐานว่าศาลานี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญนั่นก็คือพระธาตุจอมทองนั่นเอง
..........ศาลาสี่มุขหลังนี้ ถูกทิ้งร้างอยู่ท่ามกลางความเงียบเหงาหลังจากที่เชียงใหม่ถูกผนวกเข้ากับส่วนกลาง ยุบเลิกระบบเจ้านายฝ่ายเหนือ ไม่มีเจ้านายองค์ใดที่จะอัญเชิญพระธาตุฯ เข้ามาในเวียงเชียงใหม่อย่างกาลก่อน ทั้งก่อนปี พ.ศ.2527 ยังไม่มีถนนหางดง-สะเมิงตัดผ่านเข้ามา วัดต้นเกว๋นจึงถูกทิ้งร้างไร้คนเอาใจใส่ดูแล ครั้นถึงปัจจุบันศรัทธาวัดหนุ่มสาวต่างก็ทยอยออกจากหมู่บ้านไปหางานทำ ศรัทธาที่เคยมาฟังเทศน์รักษาศีลเต็มวิหาร จึงหายไปตามอายุขัยทีละคนสองคน พ่อน้อยตวง ค้าขาย ผู้ทำหน้าที่เป็นมัคนายกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อาจ๋านวัด เล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้ศรัทธาวัดมีน้อยมาก เพราะคนไม่ค่อยเข้าวัด ทั้งวัดมีภิกษุประจำเพียงรูปเดียว คือ เจ้าอาวาส อายุมากแล้วนอนอาพาธไปไหนไม่ได้ มีชาวบ้านเพียงคนสองคนแวะเวียนกันมาถวายอาหาร นอกนั้นก็มีเณร 2-3 รูป เข้ามาขออาศัยชั่วคราว เพื่อไปเรียนหนังสือที่วัดเจดีย์หลวงในเวียง คนที่มาวัดส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว
..........ศิลปกรรมที่ปรากฏภายในวัดต้นเกว๋นเป็นงานช่างประณีตชั้นครู ถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์และทรงคุณค่ามากทีเดียวของวัดโบราณในล้านนา โดยเฉพาะที่เชียงใหม่
..........หากหลับตานึกถึงวัดในภาคเหนือ คุณจะเห็นอะไร?
..........สิงห์หน้าวัด นาคที่ราวบันได หรือวิหารป้อมเตี้ยมีไม้แกะสลักงดงาม ภาพลักษณ์ที่กล่าวมานั้น ปรากฏครบถ้วยที่วัดต้นเกว๋น
..........ทางเข้าวัดต้นเกว๋นมีสิงห์สองตัวนั่งชะเง้อชูคอหันหน้าสู่ราวป่าเทือกเขาถนนธงชัยทางทิศที่ประดิษฐานพระธาตุจอมทอง ประหนึ่งว่านั่งรอรับเสด็จพระธาตุ ว่ากันว่าสิงห์หรือราชสีห์ที่เฝ้าอยู่ตามประตูวัดวาอารามนั้นได้รับอิทธิพลมาจากตำนานของพม่าที่เล่าขานว่า ราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่งหายไป ใครๆ ก็คาดการณ์ว่าคงจะถูกผีแนต (ผีพม่า) ลักพา แต่ยังไม่ทันจะทำสิ่งใด สิงห์ตัวเมียตัวหนึ่งก็พาเจ้าหญิงมาส่งคืน จากนั้นมาก็เลยมีคติสร้างสิงห์ตามวัดต่างๆ นัยว่าเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยให้วัด อย่างที่คุ้มครองพระราชธิดา
..........เมื่อผ่านสิงห์สองตัวที่เฝ้าประตูวัดเข้าไป ก็จะพบวิหารซึ่งใช้ไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่ออิฐถือปูนเป็นส่วนน้อยเหมือนกับวิหารทางเหนือทั่วไป เพราะเชียงใหม่ในอดีตสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ยิ่งนัก
..........วิหารวัดต้นเกว๋นมีขนาดเล็กกะทัดรัดไม่สูงใหญ่อย่างที่พบเห็นในภาคกลาง ช่องหน้าต่างไม่ใหญ่โต เป็นแต่ช่องลูกกรงเล็กๆ พอลำแสงเข้ามาได้ เมื่อเข้าไปภายในแล้วจะรู้สึกมืดทึม หลังคาวิหารก็โค้งลาดรับกับช่อฟ้าที่อ่อนโค้ง ถึงกับมีคำกล่าวว่า วัดในเชียงใหม่อ่อนหวานดุจหญิงสาว ไม่เหมือนวัดในลำปาง ซึ่งเป็นฝีมือช่างอีกสกุลหนึ่งที่ลีลาค่อนข้างแข็งกว่าเชียงใหม่
..........เดิมเครื่องบนหรือหลังคาของวิหารวัดต้นเกว๋น มุงด้วยกระเบื้องดินขออย่างพื้นเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2527 ได้มีการบูรณะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ แต่ก็สามารถรักษาสีสันอย่างของเก่าได้เป็นอย่างดี ตัวหลังคาซ้อนเป็นชั้นอย่างสวยงาม ลักษณะหลังคาแบบนี้ชาวเหนือเรียกว่า "วิหารซด" ช่างทางเหนือให้ความสำคัญกับความงามด้านหน้าของตัวอาคารมากกว่าด้านหลัง ด้านหน้าจึงซ้อนถึง 3 ชั้น ด้านหลังเพียง 2 ชั้น ต่างจากภาคกลางที่ซ้อนชั้นเท่ากันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
..........ยุคก่อน ชาวพุทธผู้มากด้วยศรัทธามีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ต่างคนต่างสร้างถาวรวัตถุอุทิศถวายวัด หวังให้กุศลส่งถึงนิพพาน ในวัดต้นเกว๋นมีเครื่องไม้แกะสลักที่ประดับประดาตามที่ต่างๆ อาทิ คันทวยหูช้าง หรือคันทวยสามเหลี่ยม หรือค้ำยันชายคา ช่างจะแกะสลักเสลาอย่างประณีตเป็นลวดลายต่างๆ เช่น กินนร กินรี ไม้แกะสลักที่โก่งคิ้วใต้หน้าแหนบหรือจั่ววิหาร จำหลักเป็นลายเครือเถาพลิ้วผสานกนก เลยขึ้นไปตรงป้านลม แกะสลักเป็นตัวมกรคาบนาคใต้ท้องมกรทำเป็นลายลูกไม้แลประหนึ่งว่ามกรกำลังแหวกว่ายอยู่ในหมู่เมฆ การตกแต่งหน้าบันเป็นแบบโบราณเรียก "ม้าต่างไหม" หมายรวมตั้งแต่หน้าจั่วสามเหลี่ยมลงมาจรดปีกนกทั้งสองข้าง ทำเป็นลักษณะลายฝาปะกนแบบเรือนไทยภาคกลาง บนขื่อแปนั้นประดับประดาไปด้วยปูนปั้น ซึ่งเรียกอย่างทางเหนือว่า "สะตายจีน" มาจากภาษาพม่าแปลว่า ปูน ทำจากปูนขาวบดละเอียดผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อย กวนให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้จนน่าย จึงนำมาคลุกเคล้าปั้นเป็นก้อนหยอดเป็นลายต่างๆ ติดประดับผิวไม้
..........ชาวเหนือให้ความสำคัญกับวิหารมากกว่าโบสถ์ และนิยมบวชเณรมากกว่าบวชพระตามแบบอย่างทางพม่า เพราะเชื่อว่าการบวชเณรได้บุญมากทั้งผู้บวชและผู้ร่วอนุโมทนา การบวชเณรจะประกอบพิธีกรรมในวิหาร โบสถ์นั้นจะมีอยู่เพียงบางวัดที่เรียกว่า "หัวหมวดอุโบสถ" พระวัดอื่นๆ ที่ถือว่าอยู่ในหมวดอุโบสถเดียวกัน จะมาใช้โบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน
..........รูปแบบศิลปกรรมอีกอย่างหนึ่งที่นิยมทางภาคเหนือคือ นาคตามราวบันไดทางเข้าโบสถ์ วิหาร หรือทางขึ้นสู่วัด การดูนาคแต่ละวัดเป็นเรื่องสนุก เพราะนาควัดต่างๆ มีลักษณะหน้าตาแตกต่างกันไป นาคบางวัดมีเคราอย่างแพะ นาคบางวัดก็มีหงอนสั้นบ้างยาวบ้าง นาคบางวัดมีหลายหัว อย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพ นาคราวบันไดแต่ละข้างมี 7 หัว ส่วนบางวัดนาคไม่ทำท่าเลื้อย นอนอ้าปากแลบลิ้นอยู่เฉยๆ เป็นต้น
..........นาคที่วัดต้นเกว๋น ลำตัวถูกมกรกลืนกินหรือจะว่ามกรคายนาคออกมาก็ได้ ขนดนั้นพลิ้วเป็นลูกคลื่นอย่างที่เรียกว่า "นาคสะดุ้ง" อย่างที่เห็นตามวัดทั่วไปนั่นเอง
..........ความเชื่อเกี่ยวกับนาคที่ปรากฏออกเป็นรูปแบบศิลปกรรมตามวัดนั้นมีหลายอย่างบางคนเชื่อว่า เมื่อครั้งพุทธกาลหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นาคใช้ตัวพาดเป็นบันไดส่งเสด็จทั้งขึ้นและลง ดังปรากฏเห็นตามภาพจิตรกรรมวัดต่างๆ บางตำนานว่า นาคมีความศรัทธาแรงกล้าที่จะบวชในพุทธศาสนา จึงปลอมเป็นมนุษย์ แต่ถูกจับได้เสียก่อน ชาวพุทธจึงระลึกถึงความศรัทธาของนาค ด้วยการบวชเป็นนาคก่อนบวชพระ ดังที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ อีกตำนานก็ว่านาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ คนในภูมิภาคนี้เห็นว่าน้ำสำคัญมากเขตขัณฑสีมาที่ถือว่าบริสุทธิ์เป็นพื้นที่พระจะประกอบกิจทางสงฆ์ เช่น บวชพระ จึงถือเอาสระ บ่อ ห้วย เป็นสำคัญขอบเขตขัณฑสีมา
..........แม่น้ำหรือน้ำเป็นนิมิตตามพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้า นิมิตมีทั้งหมด 8 อย่าง ทางภาคเหนือเลือกได้น้ำกับแม่น้ำ ส่วนภาคกลางนิยมหินหรือศิลาเป็นนิมิต
..........ภายในวิหารวัดต้นเกว๋น มีแต่พระประธานเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยอย่างที่พบเห็นภายในโบสถ์วิหารทั่วไป ตั้งตระหง่านท่ามกลางฝุ่นหยากไย่ ต่อเมื่อไต่ถามพ่อน้อยตวง อาจ๋านวัด จึงเล่าให้ฟังว่า เดิมมีพระพิมพ์มากถึง 625 องค์ ติดไว้กับแผงไม้ที่ด้านหลังพระประธาน ปัจจุบันหายไปหมดสิ้น มีพระพุทธรูปหิน พระพุทธรูปไม้จันทน์ และไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งมีผู้นำมาถวายไว้ก็หายไปกว่า 40 องค์ ในปี พ.ศ.2505 หลังจากนั้นทางวัดจึงเก็บเครื่องพุทธบูชาที่เหลืออยู่อย่างมิดชิด

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

สมน้ำหน้า

สมน้ำหน้า
..........ไม่ใช่แต่ไทยเท่านั้นที่ชอบสมน้ำหน้ากัน ฝรั่งก็มีถ้อยคำสำนวนที่มีความหมายในทำนองเดียวกันอยู่หลายอย่าง
คำแรกที่ควรพูดถึงก็คือ "It serves him right."
ซึ่งหมายความว่า ถ้าเขาทำอะไรไม่ดีไว้ ก็สมควรแล้วที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น
คำกริยา to serve ในที่นี้หมายถึง "ลงโทษ"
ส่วนคำ right ในที่นี้เป็นกริยาวิเศษณ์ แปลว่า อย่างถูกต้อง หรืออย่างเหมาะสม
สำนวนนี้อาจใช้กับบุคคลที่สามหรือเป็นคำพูดใส่หน้าใครคนหนึ่งก็ได้ เช่น It serves you right. "สมน้ำหน้าแก"

..........มีคำภาษาอังกฤษคำหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นคำกระทัดรัดกินความมาก คือ deserts
คำนี้แปลว่า สิ่งที่สมควรได้รับ เช่น ถ้าทำดีก็ควรได้รับผลตอบแทนดี ถ้าทำชั่วก็ควรได้รับผลร้ายของการกระทำของตน
จึงมีถ้อยคำสำนวนที่ใช้คำนี้อยู่หลายคำ
เช่น He was punished according to his deserts. เขาถุกลงโทษอย่างสาสม
He will be rewarded according to her deserts. เขาจะได้รับรางวัลอย่างสาสม
He will get his deserts. หรือ He will meet with his deserts. เขาจะได้รับผลอย่างที่เขาควรได้รับ (อาจเป็นในทางดีหรือร้ายก็ได้)
ทีนี้ถ้าพูดว่า He got his deserts. ก็ตรงกับคำไทยที่ว่า สมน้ำหน้าเขาแล้ว

..........ยังมีสำนวน He is asking for it. ซึ่งตรงกับที่ไทยว่า "แกว่งเท้าหาเสี้ยน"
คือทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือไม่ใช่ธุระของตัว หรือที่ตัวไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำ หรือที่เห็นอยู่อย่างแจ่มแจ้งว่า อุปสรรคหรืออันตรายรออยู่
คำ it ในที่นี้ก็หมายถึง ผลร้ายที่เกิดขึ้น
อันที่จริงสำนวนในภาษาอังกฤษที่หมายถึง แส่หาเรื่อง หรือ หาความเดือดร้อนให้ตัวเองนั้นมีอยู่มาก
เช่น to ask for trouble, to invite trouble, to court disaster, to stick out one's neck.

..........นอกจากนั้นยังมีสำนวนสแลง He had it coming to him.
ซึ่งมักใช้ในการพูดถึงคนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะแส่หาเรื่อง และเป็นคำพูดที่มีหางเสียงไปในทางสมน้ำหน้าอยู่ด้วย
สำนวนนี้ถ้าจะแปลความหมายตามตัวอักษรก็คือ เขาควรจะได้รับความเดือดร้อน เพราะทำเช่นนั้นมานานแล้ว หรือตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะการกระทำเช่นนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับความเดือดร้อน
..........เกี่ยวกับการ "สมน้ำหน้า" ในกรณีที่เป็นความผิดของบุคคลนั้นเอง ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเอง
ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า He may thank himself for that.
หรือ He has only himself to thank for that. ซึ่งเทียบกับที่ไทยว่า "สมน้ำหน้า จะไปโทษใคร ต้องโทษตัวเอง"
คำกริยา to thank ในที่นี้ใช้อย่างประชด มีความหมายเท่ากับ to blame คือตำหนิ หรือ โทษ
อนึ่ง เคราะห์กรรม หรือความเดือดร้อนที่แส่หาให้ตัวเอง อย่างนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า self-induced trouble หรือ self-induced disaster

..........ในกรณีที่คนชั่วร้ายหรือผู้ที่กระทำผิดได้รับโทษทัณฑ์ หรือเคราะห์กรรมอย่างไม่ได้นึกได้ฝัน
คือใครต่อใครพากันคิดว่า ผู้กระทำผิดคงรอดตัวไปได้แน่นอน ทิ้งให้ผู้ที่ถูกทำร้ายต้องรับทุกข์ต่อไป
แต่จู่ๆ ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแก่เขา อย่างนี้ฝรั่งมักปรารภหรือวิจารณ์ว่า "It's poetic justice."
ซึ่งอาจทำให้นักศึกษาภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมากงงว่าหมายความว่าอะไร และทำไมจึงมีคำ poetic เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
คำอธิบายก็คือ วิธีการแต่งเรื่องให้ลงเอยในทำนองนี้เป็นที่แพร่หลายในวรรณคดีฝรั่งในสมัยโบราณ
ซึ่งพระเอกนางเอกมักเป็นคนดี และผู้ร้ายก็คือผู้ร้าย 100% หรือสมบูรณ์แบบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเอกนางเอกก็ต้องสุขสบาย และผู้ร้ายก็ต้องตายตอนจบ
เพราะถ้าขืนแต่งในทำนองตรงกันข้าม ก็จะเป็นการขัดกับความปรารถนาของผู้อ่านผู้ฟัง
วิธีการเช่นนี้ก็ดูจะสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้อ่านผู้ชมคนไทยเหมือนกัน
ทีนี้ความหมายของคำว่า poetic justice ถ้าจะแปลตามตัวอักษรก็คือ "ความยุติธรรมทางกาพย์กลอน"
คือ ไม่ใช่ความยุติธรรมที่มีอยู่จริงๆ ในชีวิต แต่บางทีก็เกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วยในชีวิตจริงๆ
ซึ่งเมื่อใดเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นฝรั่งก็มักปรารภหรือวิจารณ์ว่า "It's poetic justice."
คล้ายๆ กับพลอยอนุโมทนาสาธุไปว่า อย่างนี้ดีแล้ว ชอบแล้ว เป็นการสมน้ำหน้าคนชั่วหรือคนผิดไปในตัวด้วย

..........ยังมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งไทยหรือฝรั่งก็มักจะ "สมน้ำหน้า"
คือกรณีที่คิดร้ายต่อคนอื่นแต่ผลร้ายกลับเกิดขึ้นกับตนเอง อย่างที่เรียกว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
อย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า The evil he did recoiled on himself.
หรือ His meanness recoiled upon him.
ถ้าไม่ใช้คำ to recoil จะใช้ว่า to rebound ก็ได้เหมือนกัน กริยาทั้ง 2 ตัวนี้แปลว่าสะท้อนกลับ
อนึ่งในเรื่องให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัวนี้ ในภาษาอังกฤษมีคำพังเพยอยู่ว่า Curses come home to roost.
หมายความว่า คำแช่งด่าผู้อื่นนั้นมักกลับเข้าหาตัวเอง คำว่า come home to roost นั้น ถ้าแปลตามตัวก็คือ กลับมานอนบ้าน
คำว่า roost นั้นหมายถึง คอนที่นกจับเวลานอน
ยังมีสำนวน hoist with his own petard ซึ่งเป็นคำพังเพยหมายถึงคิดทำร้ายผู้อื่น แต่ตนเองได้รับผลร้าย
เทียบกับที่ไทยว่าให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
คำว่า petard นั้นหมายถึงลูกระเบิดแบบโบราณ ถ้าจะแปลคำว่า hoist with his own petard ตามตัวก็คือ ถูกลูกระเบิดของตัวเองเข้า

..........พูดถึงอุบายหรือสิ่งประดิษฐ์อะไรก็ตามที่ส่งผลสะท้อนทำให้ผู้ที่คิดประดิษฐ์นั้นเองได้รับผลร้าย
ก็นึกถึงคำว่า Frankenstein monster ขึ้นได้ คำนี้มาจากนวนิยายที่ Mary Shelley เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1818
เล่าถึงนักประดิษฐ์ผู้หนึ่ง ชื่อ Baron Frankenstein ซึ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ยักษ์ หรือ monster ขึ้นตัวหนึ่ง
และใช้ให้ไปทำอะไรต่ออะไรตามแต่จะบังคับแต่ภายหลังบังคับไว้ไม่อยู่ หันกลับเข้าทำร้าย Frankenstein เอง
จึงเกิดคำว่า Frankenstein monster ซึ่งใช้ๆ ไปหดลงเหลือ Frankenstein คำเดียว
หมายถึงสิ่งที่คิดขึ้นแต่กลับทำร้ายผู้คิด เช่น His great idea turned out to be a Frankenstein monster.

..........ในเรื่องต้องรับผลจากการกระทำของตนเองนี้ ในภาษาอังกฤษมีคำพังเพยอยู่หลายข้อ 
ซึ่งก็ไม่เชิงเป็นการพูดว่า สมน้ำหน้า แต่เป็นการให้สติว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" จะไปโทษใครไม่ได้
เช่น คำพังเพยว่า As you make your bed so you must lie on it. แปลตามตัวว่า ปูที่นอนไว้เอง ก็ต้องนอนของตัวสิ
หมายความว่า ทำดีทำชั่วไว้อย่างไรก็ต้องรับผลการกระทำของตัว จะให้คนอื่นมารับแทนไม่ได้
อีกคำหนึ่ง คือ You must reap what you have sown. แปลตามตัวว่า หว่านพืชอย่างใดไว้ ก็ได้พืชอย่างนั้น
ก็คือ ทำกรรมใดไว้ก็ได้กรรมนั้นตอบแทน หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง

รัก

รัก
..........คำที่เป็นบันไดขั้นต้นของความรู้สึกก็คือ to like ซึ่งเทียบได้กับคำว่า "ชอบ" ในภาษาไทย
แต่ชอบกับรักนั้นอยู่ใกล้กันมาก จนในบางภาษาอย่างเช่นฝรั่งเศสชอบกับรักก็ใช้กริยาตัวเดียวกันคือ aimer
แต่ในภาษาอังกฤษ to like และ to love ยังถือว่ามีความหมายแตกต่างกัน
คำ to love ในภาษาอังกฤษนั้นก็มีความหมาย และวิธีใช้เช่นเดียวกับรักของไทย
คือเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก คือรักอย่างพี่น้อง รักอย่างคู่รัก หรือผัวเมีย รักอย่างพ่อแม่ หรืออย่างลูก
รักบ้าน รักถิ่นที่อยู่ ตลอดจนรักชาติบ้านเมือง ที่พูดมานี้ใช้คำ love ได้ทั้งนั้น
ยิ่งกว่านั้นคำว่า love ยังมีความหมายกว้างกว่า "รัก" ของเรา คือใช้ในทางศาสนาได้ด้วย
เช่นคริสต์ศาสนิกชน จะถูกพร่ำสอนให้ love God ซึ่งก็มีความหมายว่าให้นับถือบูชา
ส่วนพระเยซูนั้น ก็ได้ชื่อว่ามีความรักใคร่มวลมนุษย์อย่างยิ่ง ก็คือมีความเมตตากรุณาต้องการจะช่วยให้พ้นทุกข์นั่นเอง
พระเมตตาของพระเยซูนั้นก็เรียกว่า love นั่นเอง โดยเหตุที่คำว่า love ในภาษาอังกฤษมีความหมายกว้างขวางมากเช่นนี้
จึงมักมีคำมาประกอบคำ love เพื่อให้รู้ว่าเป็นความรักชนิดใดกันแน่ เช่น
maternal love : ความรักอย่างแม่
brother love : ความรักอย่างพี่น้อง
filial love : ความรักที่ลูกมีต่อพ่อแม่
conjugal love : ความรักอย่างผัวเมีย
love of one's country : ความรักบ้านเมือง
love of adventure : ความรักการผจญภัย
love of comfort : ความรักความสบาย
love of travel : ความชอบท่องเที่ยว

..........Love โดยทั่วไปถือกันว่าคำนาม love นั้นมีความหมายลึกซึ้ง
แม้ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงหรือผัวเมีย ก็ถือว่าเป็นสิ่งแตกต่างกับความใคร่ทางกามารมณ์
ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า desire หรือ sexual desire คือแม้จะมีความใคร่และความติดเนื้อต้องใจทางเพศเป็นพื้นฐาน
แต่ก็มีความเอ็นดู ความเห็นอกเห็นใจ ความยกย่องนับถือซึ่งกันและกัน
และความสอดคล้องต้องกันในทัศนะและความคิดเห็นผสมอยู่ด้วยมากทีเดียว
แต่เมื่อใช้เป็นกริยา คือ to love ความหมายชักจะอ่อนลงไปทุกที
เนื่องจากคนอังกฤษสมัยนี้ เฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงมักจะใช้คำ to love ติดปาก
เช่น I'd (should) love to meet your sister.
I'd love to come with you.
ในกรณีเช่นนี้ love ก็มีความหมายเพียงว่ามีความยินดีหรือปรารถนาอย่างยิ่งเท่านั้น

..........สำนวนที่น่าพิจารณาก็คือ fall in love with ซึ่งเทียบกับไทยว่า หลงรัก
สำนวนนี้โดยทั่วไปมักใช้ในกรณีที่รักผู้หญิง เช่น He falls in love with my sister.
แต่ที่จริงสำนวนนี้ใช้กับวัตถุก็ได้เช่น He has fallen in love with the new Mercedes Benz.

..........Desire ได้กล่าวมาแล้วว่าคำ desire นั้นแปลว่าความใคร่ทางกามารมณ์ก็ได้เช่น
ผู้หญิงอาจต่อว่าผู้ชายที่ปากว่ามือถึง แต่ปากพร่ำว่ารัก ว่า This is not love but desire.
นี่ไม่ใช่ความรัก เป็นแต่เพียงความใคร่ แต่คำ desire มิได้มีความหมายในทางกามารมณ์แต่อย่างเดียว
อาจหมายถึงความปรารถนาอย่างรุนแรงไม่ว่าในทางใดก็ได้ เช่น desire for wealth ความอยากมั่งมี
desire for friendship ความอยากมีเพื่อน
อันที่จริงก็ดูเหมือนว่าผู้หญิงจะไม่เอามาเป็นอารมณ์มากนักว่าผู้ชายจะรักหรือจะใคร่เธอแน่
ขอแต่ว่าให้เธอเป็นที่พึงใจของแฟนๆ ก็แล้วกัน ในภาษาอังกฤษจึงมีคำว่า desirable ไว้ใช้กับผู้หญิง
ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของผู้ชาย และดูเหมือนจะไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ไม่ชอบให้ใครมาเรียกอย่างนี้

..........To be fond of คำว่ารักในภาษาอังกฤษยังมีอีกคำหนึ่ง คือ to be fond of
คำนี้มีความหมายเป็นหลายนัย คือถ้าใช้กับวัตถุก็แปลว่าชอบมาก
เช่น He is very fond of bowling. เขาชอบโบลิ่งมาก
She is fond of Chinese cooking. เธอชอบอาหารจีนมาก
แต่ถ้าใช้กับคนก็หมายถึงรักใคร่เอ็นดู
เช่น He is very fond of his wife. เขารักใคร่เอ็นดูภรรยามาก
แต่ความรักใคร่เอ็นดูนี้หนักเข้าก็มักจะกลายเป็นหลงไป คือตามอกตามใจตะพึดตะพือและให้อภัยสารพัด
a fond mother จึงหมายถึงแม่ที่รักลูกมากจนจะกลายเป็นหลง
a fond husband ก็เหมือนกันหมายถึงผัวที่รักเมียจนหลง

..........อนึ่งคำว่า fond นี้เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์นำหน้านาม ก็อาจมีความหมายว่า "ที่ยึดถือแน่วแน่แต่เป็นสิ่งลมๆ แล้งๆ "
เช่น fond hope ก็แปลว่าความหวังลมๆ แล้งๆ
fond ambition ก็หมายถึง ความมักใหญ่ใฝ่สูงที่ไม่เกิดผลอะไร

..........To dote on คำที่แปลว่า "รักอย่างหลง" ยังมีอีกคำหนึ่งคือ to dote on
เช่น She dotes on her youngest daughter. เธอรักลูกสาวคนเล็กอย่างหลง
แต่คำนี้ตามธรรมดาไม่ได้หมายถึงความรักอย่างชู้สาว
ถ้ารักจนหลงอย่างชู้สาวก็มีคำ to be infatuated with
หรือสำนวนภาษาพูด to be crazy about
หรือสำนวนสแลง to have a crush on
ซึ่งมักใช้กับหนุ่มสาววัยรุ่นที่คลั่งไคล้ใครต่อใครโดยที่ผู้นั้นไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

..........To care for นอกจากนั้นยังมีคำกริยา to care for ซึ่งแปลว่ารักใคร่หรือชอบก็ได้
เช่น She really cares for her husband. เธอรักสามีเธอจริงๆ
I don't care for cigars. ฉันไม่ชอบซิการ์
ในภาษาอังกฤษ ถ้าจะพูดว่า to love เฉยๆ เช่น He love her. ก็จะไม่หนักแน่นเท่าใดนัก
จึงมีการคิดหาคำพูดให้หนักแน่นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เช่น
to fall in love with
to be in love with
to be gone on
to be soft about

..........สำนวน to be gone on นั้น คล้ายกับจะหมายความว่า รักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว
ส่วน to be soft about นั้น แปลว่ารักอย่างคลั่งไคล้ เพราะคำว่า soft ในที่นี้แปลว่า คลั่งไคล้

..........Heartwhole ยังมีกริยาที่เป็นสำนวนอีกคำหนึ่ง คือ to lose one's heart to แปลว่า รัก
ถ้าเทียบกับไทยก็ว่ามอบดวงใจให้ คนที่ยังไม่รักใครเลย ฝรั่งเรียกว่า heartwhole คือหัวใจยังเป็นปกติอยู่
แต่สำนวน to lose one's heart นี้ต้องไม่ใช้ปนกับ to lose heart ซึ่งแปลว่าท้อแท้ใจ หรือหมดกำลังใจ

..........To be attached to แปลว่ารักใคร่สนิทไม่ยอมห่าง
เช่น She is attached to her old mother. คำนี้ไม่มีความหมายในเชิงชู้สาว แต่เป็นไปในทางความรู้สึกผูกพัน
เพราะฉะนั้นจึงใช้ได้ในกรณีต่างๆ เป็นต้นว่าลูกศิษย์กับอาจารย์ หรือเพื่อนต่อเพื่อน

..........To be devoted to อีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ก็คือ to be devoted to
ซึ่งหมายถึงรักอย่างทุ่มเทจิตใจ และเสียสละได้ทุกอย่าง
เช่น She is a mother who is devoted to her children. คำนาม devotion จึงแปลว่าความรักอย่างอุทิศตน

..........To adore คำกริยาในภาษาอังกฤษที่แปลว่า "รัก" อีกคำหนึ่งเป็นคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
คือ To adore คำนี้แปลว่า "รักอย่างบูชา" และเป็นคำที่ตามธรรมดาใช้กับพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ
แต่เมื่อมาใช้กับคนก็แปลว่ารักอย่างทูนหัวทูลเกล้าฯเลย
จากคำกริยา to adore ก็ได้คุณศัพท์ adorable แปลว่าน่าเทิดทูนบูชา
แต่ในภาษาธรรมดาสมัยนี้มักจะเอาคำนี้มาใช้กับผู้หญิง

..........To admire คำกริยาอีกคำหนึ่ง คือ to admire ซึ่งความหมายตามธรรมดาก็คือ มองดูด้วยความชื่นชมยกย่องที่ในภาษาไทยพูดสั้นๆ ว่าชม
เช่น We are admiring your beautiful house. เรากำลังชมบ้านอันงามของท่านอยู่
ความหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ยกย่อง"
เช่น We can't help admiring your system of government. เราอดยกย่องระบอบการปกครองของท่านไม่ได้
แต่คำ to admire นี้เมื่อมาใช้กับผู้หญิงก็หมายถึง "ติดเนื้อต้องใจ"
เช่น That girl has many admirers. ผู้หญิงคนนั้นมีผู้มาติดพันมากมาย
อย่างที่ภาษาสแลงไทยสมัยใหม่เรียกว่ามี "แฟนมาก" admirer ก็คือ "แฟน" นั่นเอง

..........Fan "แฟน" ที่เราเอามาใช้นั้น ในภาษาอังกฤษเขาไม่ได้หมายถึงคนที่มาติดพันผู้หญิง
หากหมายถึงคนที่คลั่งไคล้อะไรสักอย่างหนึ่ง
เช่น boxing fans คนที่คลั่งมวย
football fans คนที่คลั่งฟุตบอล
จริงอยู่ผู้หญิงก็มี fan ได้เหมือนกัน แต่ต้องเป็นด้วยความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง
เช่น ดาราภาพยนตร์ นักร้อง นักแสดงละคร นักประพันธ์ ไม่ใช่เพราะรูปร่างหน้าตาสวย
ผู้ที่มาติดพันผู้หญิงเพราะรุปโฉมโนมพรรณจึงควรเรียกว่า admirer ไม่ใช่ fan

..........Dangling round ยังมีอีกคำหนึ่งคือ beau ซึ่งสมัยนี้ออกจะครึไปเสียแล้ว
หมายถึงผู้ชายที่มาติดพันเหมือนกัน
อนึ่ง กริยาที่ว่าติดพัน หรือตอมผู้หญิงนั้น ในภาษาอังกฤษใช้ว่า to dangle round
เช่น She always has a lot of young men dangling round her. เธอมีหนุ่มๆ มาตอมเสมอ

..........Affection ที่กล่าวมานี้เป็นคำกริยาส่วนใหญ่
แต่ในภาษาอังกฤษยังมีคำๆ หนึ่งเป็นคำนามแปลว่า ความรักใคร่ คือ affection
คำนี้น่าสนใจ และน่าจะนำมาเทียบกับคำว่า love
ได้กล่าวมาแล้วว่า คำว่า love นั้น เป็นคำกว้างหมายถึงความรักทั่วไปก็ได้ ความรักระหว่างเพศก็ได้
จึงผิดกับ affection ซึ่งหมายถึงความรักใคร่อย่างญาติ หรือเพื่อน โดยไม่มีเรื่องเพศเข้าเจือปน
จริงอยู่ผัวเมียอาจมี affection ต่อกันก็ได้ นอกเหนือไปจาก love
และอันที่จริงผัวเมียที่อยู่ด้วยกันนานๆ ความรัก คือ love ซึ่งมีอารมณ์เพศผสมอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่นั้น
ก็มักกลายเป็น affection คือความรักใคร่เอ็นดู คำนี้จึงเป็นคำสำคัญอยู่

..........Passionate Love นอกจากนั้นยังมีคำที่ควรพูดถึงอีกคำหนึ่ง
คือ passion แปลว่า ความรู้สึกอันร้อนแรง ซึ่งอาจแทนความรักอันร้อนแรงก็ได้
แต่ในบางกรณีก็หมายถึง ความเกลียด หรือโกรธอย่างรุนแรง
คำที่ใช้เป็นคุณศัพท์ ก็กลายรูปเป็น passionate ซึ่งถ้าเอามาประกอบกับ love
เป็น passionate love ก็หมายถึงความรักอย่างร้อนแรง
แต่ถ้าใช้โดยทั่วไป ก็หมายถึง มีความรู้สึกอย่างร้อนแรง ไม่ว่ารักหรือเกลียด
เช่น She has a passionate nature. เธอเป็นคนมีความรู้สึกรุนแรง

เรื่องหมูๆ

เรื่องหมูๆ
..........เทศกาลตรุษจีนทำให้ผมนึกถึงหมู ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็ไม่รู้
ความจริงคนจีนก็ไม่ได้กินหมูมากกว่าคนชาติอื่น ชาวฝรั่งอังกฤษเสียอีกขาดหมูไม่ค่อยได้
ต้องกิน ham หรือ bacon เป็นประจำสำหรับอาหารเช้า
แม้ว่าผลิตเองไม่พอสักที ก็ยังต้องขวนขวายสั่งเข้ามาจากประเทศอื่น เช่น เดนมาร์ก
ที่ตรุษจีนทำให้ผมนึกถึงหมูก็อาจเป็นเพราะในเมืองไทยเรานี้ คนจีนกับหมูแยกกันไม่ออก
คนไทยอาจเลี้ยงหมูแต่พอถึงเรื่องฆ่าหมูและขายหมูต้องตกเป็นภาระของคนจีน
เพราะฉะนั้นพอถึงตรุษจีนเราจึงเดือดร้อนเรื่องหมูไม่มากก็น้อยทุกที
เพราะคนฆ่าและคนขายไปไหว้เจ้ากันเสียหมด เรื่องหมูจึงไม่ใช่เรื่องหมูๆ เสียแล้ว

..........ทีนี้วกเข้าเรื่องหมูในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคำที่แปลว่าหมูอยู่หลายคำ
คือ pig, sow, swine, hog, boar, porker คำเหล่านี้แปลว่าหมูทั้งนั้น
แต่ก็มีความหมายผิดๆ กัน
เริ่มต้นด้วยคำ pig ซึ่งเป็นคำรวม หมายถึงสัตว์ที่เรียกว่าหมูจะเป็นหมูบ้านหรือหมูป่าก็ได้หรือจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้
ภาษาอังกฤษมีคำเรียกชื่อสัตว์โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียอยู่มาก
เช่นคำว่า duck ซึ่งที่จริงแปลว่าเป็ดตัวเมีย ถ้าเป็ดตัวผู้ต้องเรียกว่า drake
แต่เมื่อเราเห็นเป็ดตัวหนึ่งเราอาจเรียกว่า duck ทันที โดยไม่ต้องรอพิจารณาว่าตัวผู้หรือตัวเมีย
(ที่จริงคำว่า drake นั้นเกือบไม่ใช้กันแล้ว)
ในทำนองเดียวกัน คำว่า goose นั้น ที่จริงแปลว่าห่านตัวเมีย ถ้าเป็นตัวผู้ต้องใช้ว่า gander
แต่ในสมัยนี้ไม่มีใครขุดเอาคำว่า gander มาใช้แล้ว
คำว่า horse ก็เหมือนกัน กลายเป็นคำรวมครอบจักรวาลที่ใช้เรียกม้าไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย
ที่เรียกว่า mare ในเมื่อเราไม่รู้แน่ชัด แม้ในการแข่งม้าซึ่งใช้ม้าตัวเมียก็ยังเรียกม้าที่วิ่งว่า horse
กลับมาพูดถึงเรื่องหมูคือ pig ความจริงคำที่แปลว่าหมูตัวเมีย คือ sow ก็ยังคงใช้กันอยู่
แต่ถ้าเราไม่รู้แน่ชัดว่าตัวผู้หรือตัวเมีย ก็คงใช้ว่า pig ได้เสมอ
นอกจากเห็นตำตาว่าเป็นแม่หมู เพราะกำลังให้นมลูกกินอยู่
ที่ควรกล่าวอีกข้อหนึ่งก็คือคำว่า pig นั้น ใช้เป็นคำด่าได้ด้วย
คือถ้าด่าใครว่า pig ก็หมายถึงสกปรกหรือตะกละตะกลามห้าดาวทีเดียว

..........คำว่า hog นั้น ถ้าจะพูดกันอย่างเคร่งครัดจริงๆ ก็คือหมูตอน ที่เลี้ยงไว้ฆ่ากินเนื้อโดยตรง
แต่โดยทั่วไปมักไม่มีใครนึกถึงข้อนี้ มักใช้ hog ในความหมายว่าหมูทั่วไปเท่านั้น
แต่คำว่า hog นี้ใช้เป็นสำนวนก็ได้ แปลว่า คนตะกละตะกลาม สกปรก และเห็นแก่ตัว
คือจะเอาอะไรต่ออะไรเป็นของตัวเสียคนเดียว คนอื่นไม่ให้มีส่วนด้วย
คนที่ขับรถยนต์แบบนักเลงโตเจ้าถนนจึงได้รับสมญาว่า road hog หมูถนนชนิดนี้มีมากในเมืองฝรั่งเท่าๆ กับเมืองไทย

..........คำว่า boar นั้น เป็นคำน่าสนใจ
คำนี้โดยมากมักจะเรียนและสอนกันมาว่าหมายถึงหมูป่าตัวผู้ซึ่งก็ถูกแล้ว แต่ไม่ถูก 100%
คือคำนี้แปลว่าหมูบ้านก็ได้ แต่เป็นหมูที่ไม่ถูกตอน
เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นคำว่า boar's head จึงไม่แน่ว่าเป็นหัวหมูป่าหรือหัวหมูบ้าน เอาว่าเป็นหัวหมูก็แล้วกัน
ถ้าหัวหมูต้องเรียกอย่างนี้ อย่าไปเรียกว่า hog's head ซึ่งไม่ได้แปลว่าหัวหมู กลายเป็นเบียร์ถังใหญ่ไป

..........ทีนี้มาถึงคำว่า swine ซึ่งเป็นคำที่มีปัญหามากเอาการ
คำนี้ถ้าพบในหนังสือเก่าๆ หรือในกาพย์กลอนก็หมายถึงหมูธรรมดาๆ นี่เอง
ในกาพย์กลอนอังกฤษเฉพาะอย่างยิ่งกาพย์กลอนเก่าๆ จะไม่พบคำว่า pig มีแต่คำว่า swine
นอกจากนั้นยังมีใช้ในถ้อยคำสำนวนต่างๆ ที่ใช้กันมาเป็นแบบอย่างตายตัวแล้ว
เช่นคำว่า swineherd คนเลี้ยงหมู หรือในตำราวิชาเลี้ยงปศุสัตว์ก็ใช้คำนี้ หมายถึงหมูธรรมดาๆ
แต่ตกมาสมัยนี้คำว่า swine กลายเป็นคำด่า หมายถึงคนที่น่าสะอิดสะเอียน เช่น You swine
อย่างไรก็ตามคนเรานั้นไม่ว่าจะไทยหรือฝรั่งก็มีการด่ากันระหว่างเพื่อนฝูงด้วยความเอ็นดูเหมือนกัน จึงมักได้ยินฝรั่งสัพยอกเพื่อนด้วยการด่าว่า You swine อยู่บ่อยๆ

..........ทีนี้ก็มาถึงคำว่า porker ซึ่งแปลว่าหมูที่ขุนให้อ้วนสำหรับฆ่ากิน
คำนี้ถ้าจะแปลตามตัวก็คือหมูที่ให้เนื้อสำหรับกินที่เรียกว่า pork
คำว่า pork นี้เป็นคำที่มีประวัติคือมิใช่เป็นคำอังกฤษดั้งเดิม คำอังกฤษดั้งเดิมคือ swine
คำ pork ที่จริงมาจากภาษาฝรั่งเศส porc โดยชาวนอร์มันที่มาจากฝรั่งเศสมาพิชิตเกาะอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามา
ในภาษาฝรั่งเศสนั้นมีคำว่า porc หมายถึงเนื้อหมู แต่เมื่อชาวนอร์มันมาพิชิตอังกฤษแล้ว
ภาษาฝรั่งเศสก็กลายเป็นภาษาที่มีเกียรติในเมืองอังกฤษ เพราะเป็นภาษาของผู้มีอำนาจหรือชนชั้นปกครอง
คำ pork จึงกลายเป็นคำที่มีเกียรติในภาษาอังกฤษหมายถึงเนื้อหมู
ส่วนตัวหมูก็คงใช้ภาษาพื้นเมืองเป็น swine อย่างเดิม มิหนำซ้ำคำ swine ยังถูกลดชั้นไปทุกที ดังกล่าวแล้ว
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวว่า ยังมีคำอื่นที่โดยสารคำ porc เข้ามาอยู่ในภาษาอังกฤษอีก
คือคำ porcupine คือเม่น ซึ่งแปลตามตัวว่าหมูที่มีหนาม มาจากคำฝรั่งเศสโบราณว่า porc espin
คำ espin นั้นก็มาจากคำละตินว่า spina แปลว่า หนาม จึงแปลตามตัวว่าหมูมีหนาม

..........ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า คำว่า pig ก็ดี hog ก็ดี swine ก็ดี ใช้เป็นคำด่าได้ทั้งนั้น
มาถึงตรงนี้ควรขยายความสักหน่อยว่า แม้ใช้เป็นคุณศัพท์ก็มีความหมายไปทางต่ำช้าเลวทรามทั้งนั้น
คือ piggish ก็แปลว่าสกปรกหรือตะกละ
hoggish นั้นหนักไปทางตะกละและเห็นแก่ตัว
ส่วน swinish นั้น แปลว่าน่าสะอิดสะเอียน
นอกจากนั้น pig ยังได้ชื่อว่ามีความชั่วเป็นพิเศษอีกคือหัวรั้น
จึงมีคำว่า pig-headed แปลว่าหัวรั้นเหมือนหมู
นอกจากนั้นคำว่า pig ยังใช้เป็นกริยาก็ได้ คือ to pig it หรือ to pig together
เทียบได้กับที่ไทยว่าอยู่กันเหมือนหมูเหมือนหมา คือสกปรกและเขะขะสิ้นดี
อันที่จริงก็น่าสงสารหมูที่ถูกนินทาว่าร้ายต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่เป็นสัตว์ที่ให้เลือดให้เนื้อเลี้ยงมนุษย์เป็นอันมากอยู่ตลอดมา

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

วัดล่ามช้าง-เชียงใหม่

วัดล่ามช้าง

..........ตั้งอยู่เลขที่ 32 ถนนมูลเมือง ซอย 7 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1835-1839 พญามังรายมหาราชกษัตริย์แคว้นล้านนา ได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ ณ เวียงเล็กหรือเวียงเชียงมั่น (วัดเชียงมั่นปัจจุบัน) เพื่อเตรียมอุปกรณ์การสร้างเมือง




..........พญามังรายได้ทรงเชิญพญาร่วง หรือขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แคว้นสุโขทัยและพญางำเมือง กษัตริย์แคว้นพะเยา หรือภูกามยาว มาร่วมปรึกษาสร้างเมืองด้วย สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามเมืองว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"




..........ด้านทิศตะวันออกของเวียงเล็ก เป็นป่าไม้มีหนองน้ำใหญ่ ช้างราชพาหนะของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ และของข้าราชบริพาร คงเลี้ยงและล่ามไว้ที่บริเวณนี้ เรียกว่า "เวียงเชียงช้าง" ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นที่เวียงเชียงช้าง ณ ที่เลี้ยงและล่ามช้างเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ขนานนามวัดว่า "วัดล่ามช้าง" และปั้นรูปช้างถูกล่ามเลี้ยงไว้เป็นสัญลักษณ์ของวัด