วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาในเจดีย์ล้านนา

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาในเจดีย์ล้านนา

(เจดีย์ประธานวัดสันกำแพงหลวง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่)
..........ในอยุธยามีสถูปเจดีย์หลายรูปแบบที่คลี่คลายมาจากสกุลช่างต่างๆ และที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสกุลช่างท้องถิ่น
ในบรรดาสถูปเจดีย์เหล่านี้มีรูปแบบที่สำคัญๆ สรุปได้ตามลักษณะตามรูปแบบคือ
รูปปรางค์ รูปเจดีย์ทรงกลม รูปทรงปราสาทยอดเจดีย์ รูปเจดีย์ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม และรูปเจดีย์ผังจัตุรัสย่อมุม
(สันติ เล็กสุขุม, เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมมุม สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529, หน้า 23-29.)
โดยเฉพาะเจดีย์เพิ่มมุม และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ดูจะเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยาที่ได้คลี่คลายให้กับสถูปเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก
แต่ไม่เคยพบร่องรอยเจดีย์แบบนี้มาก่อนในภาคเหนือ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจึงไม่มีปรากฏในเอกสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนา
ทั้งๆ ที่หากจะศึกษาถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว อยุธยากับล้านนาดูจะมีความสัมพันธ์กันอยู่หลายช่วงเวลา
ทั้งการศึกสงครามและการศาสนา แต่ไม่เคยพบว่ามีรูปแบบเจดีย์อยุธยาอย่างชัดเจนในเขตนี้
จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีเจดีย์แบบดังกล่าว
เพราะในล้านนาเองก็มีเอกลักษณ์ของตนเองเกี่ยวกับเจดีย์ทรงกลมที่เป็นรูปแบบมีชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นรูปฐานบัวลูกแก้วกลมใช้หน้ากระดานร่วมกันซ้อนกันสามชั้น
ลักษณะนี้จะต่างกับเจดีย์ทรงกลมของอยุธยาและสุโขทัย ที่ชั้นใต้องค์ระฆังเป็นแบบลูกแก้วที่อยุธยาและเป็นแบบบัวคว่ำที่สุโขทัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีเจดีย์บางองค์ในเขตล้านนาที่น่าจะรับเอารูปแบบของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของอยุธยาเข้ามา
แต่รูปแบบการก่อสร้างเป็นไปตามความเคยชินของช่างทางเหนือ รูปทรงจึงเป็นการปะปนของอยุธยาและทางท้องถิ่น
ตัวอย่างที่เห็นชัดเกี่ยวกับประเด็นการก่อสร้างที่เกิดจากความเคยชิน คือ
เจดีย์วัดป่าแดงหลวง ที่รับแนวคิดมาจากเจดีย์วัดช้างล้อม ในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย
แต่แม้จะรับเอาแบบแผนของเจดีย์ช้างล้อม รูปทรงที่สร้างขึ้นมาก็ยังมีรายละเอียดและรูปทรงเป็นแบบเจดีย์ของล้านนาเช่นกัน
เจดีย์ที่น่าจะเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาอย่างชัดเจน คือ เจดีย์ที่วัดสันกำแพงหลวง จังหวัดเชียงใหม่

..........วัดสันกำแพงหลวง เป็นวัดนอกเมืองอยู่ที่ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เดิมเป็นวัดร้าง และต่อมาชาวบ้านได้ซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์และตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดสันกำแพงหลวง"
ประวัติความเป็นมาในการสร้างวัดสามารถสืบย้อนไปได้เพียงช่วง พ.ศ.2396 ซึ่งเป็นระยะที่สร้างวัดขึ้นใหม่
ก่อนหน้านี้ไม่มีเอกสารบันทึกถึง ประวัติการสร้างวัดใหม่จึงศึกษาจากเอกสารบันทึกเมื่อ พ.ศ.2444
คัดลอกเมื่อปี พ.ศ.2508 ในเอกสารบันทึกระบุว่า วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณร้างอยู่กลางป่ารก
บริเวณนี้มีผีดุมากชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปจนมาในระยะหลังได้ไปนิมนต์พระจากวัดห้วยยาบในลำพูน
ซึ่งเป็นพระที่ชำนาญในเรื่องไสยศาสตร์เวทมนต์คาถามาทำพิธีขับไล่ และถากถางป่าเพื่อปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น
เมื่อแผ้วถางป่าเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงปฏิสังขรณ์วัด ซ่อมแซมวิหาร อุโบสถ และเจดีย์
โดยใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคาอย่างไม่ถาวรมากนัก จนปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ พ.ศ.2396
ได้ตั้งชื่อวัดตามสภาพพื้นที่ว่า "วัดสันกำแพงหลวง" ที่หมายถึง กำแพงใหญ่ เพราะบริเวณโดยรอบวัดมีลักษณะของกำแพงขนาดใหญ่
บางแห่งยังหลงเหลือ บางแห่งผุแตกหัก แต่ก็เป็นกำแพงที่กว้างใหญ่กว่าวัดอื่นในบริเวณนั้น จึงใช้ชื่อดังกล่าว

..........ความสำคัญของวัดนี้อยู่ที่องค์สถูปด้านหลังวิหาร ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของอยุธยา
แต่การย่อมุมมีลักษณะพิเศษต่างจากเจดีย์อยุธยา โดยมีรูปทรงเป็นเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมย่อมุมละสามมุมที่องค์ระฆัง
และเพิ่มการย่อที่ชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆังเป็น 5 มุม เพิ่มการย่อมุมเป็นมุมละ 7 มุม ที่ฐานบัวลูกแก้ว
และมาเพิ่มเป็น 9 มุม ที่ชั้นฐานล่าง การย่อมุมต่างจากเจดีย์อยุธยาที่มีการย่อตั้งแต่ฐานจนถึงบัลลังก์เป็นแนวเดียวกันตลอดและย่อมุมเพียงมุมละ 3 มุม
หากพิจารณาถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงนี้แบ่งการศึกษาโดยละเอียดได้ 6 ส่วนคือ
..........1. ฐานล่าง
..........2. ฐานบัวลูกแก้ว
..........3. ชั้นบัวคว่ำ
..........4. องค์ระฆัง
..........5. บัลลังก์คอกลาง
..........6. ปล้องไฉนปลียอด

(ชั้นฐานล่าง เป็นฐานหน้ากระดานใหญ่ และบัวคว่ำหน้ากระดาน รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อมุม)
1. ฐานล่าง
..........เป็นลักษณะที่ไม่เคยพบในเจดีย์ล้านนา คือ
ตอนล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับบัวคว่ำและหน้ากระดาน 3 ชั้น ช่วงนี้ย่อมุมละ 9 มุม รวม 4 ด้าน 36 มุม
การย่อมุมย่อตั้งแต่ฐานหน้ากระดานใหญ่ขึ้นไปจนถึงชั้นฐานบัวลูกแก้วที่รองรับชั้นฐานบัวคว่ำหรือชั้นมาลัยเถารูปบัวคว่ำ
2. ฐานบัวลูกแก้ว
..........เป็นลักษณะฐานบัวลูกแก้วทั่วไป ที่มีลูกแก้ว 2 เส้นแต่ไม่มีเส้นลวดคั่นบริเวณท้องไม้
ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานเล็กๆ เหนือฐานล่าง การย่อมุมฐานบัวลูกแก้วต่างออกไปจากฐานล่าง
โดยย่อลดลงเหลือมุมละ 7 มุมรวม 4 ด้าน 28 มุม ที่ฐานบัวลูกแก้วนี้
ส่วนที่เป็นหน้ากระดานตอนบนจะใช้ร่วมกับชั้นบัวคว่ำโดยไม่มีฐานหน้ากระดานเล็กรองรับแบบเจดีย์ทั่วไป

(ฐานบัวลูกแก้วย่อมุมมีลูกแก้วสองเส้น ไม่มีเส้นลวด คงเป็นเพราะการปฏิสังขรณ์ในระยะหลัง ทำให้เส้นลวดที่คั่นระหว่างลูกแก้วทั้งสองเส้นหายไป)

(ชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆัง หรือชั้นมาลัยเถาทำเป็นรูปบัวคว่ำหน้ากระดานและเน้นที่หน้ากระดานจำนวน 6 ชั้น)
3. ชั้นบัวคว่ำ
..........หรือชั้นมาลัยเถา เป็นชั้นที่รองรับองค์ระฆัง
ลักษณะของบัวคว่ำเป็นแบบมีหน้ากระดานเส้นลวดซ้อนกัน 6 ชั้นและย่อมุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกย่อตั้งแต่บัวคว่ำชั้นที่ 1 ถึงชั้น 5 ย่อมุมละ 7 มุม เช่นเดียวฐานบัวลูกแก้วโดยย่อตามแนวของฐานบัวลูกแก้ว
ส่วนที่ 2 ตั้งแต่ชั้นที่ 6 ถึงปากระฆังย่อมุมละ 5 มุม ลักษณะการย่อมุมแบบดังกล่าวจึงทำให้ชั้นบัวคว่ำชั้นที่ 6 ลดหลั่นเข้าไป
(องค์ระฆังย่อด้านละ 3 มุม มีลักษณะเตี้ยกว่าองค์ระฆังของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยุธยาบัลลังก์มีขนาดใหญ่ย่อมุมตามแนวขององค์ระฆัง ส่วนปล้องไฉนซ้อนกัน 2 ชั้น เป็นแบบเฉพาะเช่นกัน)
4. องค์ระฆัง
..........ลักษณะแบบเดียวกับองค์ระฆังของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองโดยย่อมุมละ 3 มุม ลดลงจากชั้นบัวคว่ำ
รูปทรงขององค์ระฆังเป็นแบบเหลี่ยมปลายบานออกเล็กน้อย เส้นรอบนอกต่างออกไปจากองค์ระฆังของเจดีย์ล้านนาทั่วไป
แม้จะมีการเลียนแบบโดยย่อมุมที่องค์ระฆัง เช่น เจดีย์ที่วัดหมื่นตูม ในเชียงใหม่
ก็ยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบองค์ระฆังของเจดีย์ล้านนาอยู่
ดังนั้น รูปแบบองค์ระฆังของเจดีย์วัดสันกำแพงหลวง จึงเป็นแบบคล้ายอยุธยาแต่จะเตี้ยกว่า
รวมทั้งปากระฆังผายออกเล็กน้อย ซึ่งเป็นเพราะการสร้างของช่างท้องถิ่น
5. บัลลังก์
..........เป็นส่วนที่อยู่เหนือองค์ระฆัง ทำเป็นรูปฐานบัวลูกแก้วโดยย่อมุมตามแนวขององค์ระฆัง
การย่อมุมที่บัลลังก์เป็นลักษณะทั่วไปที่พบในเจดีย์ล้านนา เหนือบัลลังก์เป็นคอกลางไม่มีเสาหาร แต่มีแผ่นทองเหลืองหุ้มครอบไว้ซึ่งเป็นการทำในระยะหลัง
6. ปล้องไฉน
..........ตั้งซ้อนกันสองชั้น คล้ายกับการมาแก้ไขใหม่ ปลายยอดมีฉัตรที่ต่อเติมใส่ใหม่
..........จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม หากมองสัดส่วนแล้วดูจะคล้ายกับเจดีย์พม่าที่ฐานกว้างใหญ่และลดหลั่นขึ้นไปจนเรียวลง
แต่ลักษณะระเบียบการสร้างเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมทางเหนือทั่วไป
โดยที่มีข้อแตกต่าง คือการย่อมุมพิเศษออกไป ลักษณะระเบียบการก่อสร้างที่เป็นแบบเจดีย์ทรงกลมทางเเหนือคือ
เริ่มจากฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ และชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังที่มีบัลลังก์ย่อมุม
มีปลียอดปล้องไฉนและปลายยอดใส่ฉัตร ระเบียบการสร้างที่เทียบได้กับอยุธยาคือ
เจดีย์ประเภทไม่มีเรือนธาตุแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
โดยเริ่มจากฐานหน้ากระดานใหญ่รองรับฐานบัวลูกแก้วที่รับชั้นมาลัยลูกแก้วใต้องค์ระฆัง
มีบัลลังก์ปล้องไฉนปลียอดอยู่เหนือขึ้นไป การย่อมุมจะเป็นระเบียบเดียวกันตั้งแต่บัลลังก์ลงมาจนถึงชั้นฐานล่าง
ซึ่งการย่อมุมอย่างเป็นระเบียบเดียวกันนี้ที่เป็นข้อแตกต่างกับเจดีย์วัดสันกำแพงหลวง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงส่วนขององค์ประกอบในแต่ละส่วนตั้งแต่ชั้นฐานจนถึงปลียอด
จะเห็นได้ว่าเป็นระเบียบเดียวกัน ต่างกันในส่วนรายละเอียด เช่น การเพิ่มบัวคว่ำที่ฐานล่างและเพิ่มชั้นบัวคว่ำหน้ากระดานที่ชั้นใต้องค์ระฆังหรือ ชั้นมาลัยเถา เป็นต้น


..........ปัญหาเรื่องการซ่อมดัดแปลงในสมัยเมื่อ พ.ศ.2396 นั้น
จากการพิจารณาแล้วเป็นไปได้ว่าส่วนที่ยังเป็นของเดิมคือ ตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไป
เพราะลักษณะความเป็นระเบียบในการย่อมุมกับบัลลังก์สัดส่วนก็ต่างไปจากองค์ระฆังในเจดีย์ล้านนาที่มักเป็นรูปกลมเตี้ยเล็ก
ส่วนปากระฆังและยอดมีขนาดใกล้เคียงกันเพราะส่วนใหญ่แล้วเจดีย์กลมในล้านนาจะเน้นที่ชั้นใต้องค์ระฆัง
เช่น ถ้าชั้นใต้องค์ระฆังหรือชั้นมาลัยเถาเป็นรูปฐานกลมซ้อนกัน จะเน้นที่หน้ากระดาน
และถ้าเป็นรูปบัวคว่ำก็จะเน้นที่หน้ากระดานเช่นกัน
จุดเด่นจึงอยู่ที่ชั้นใต้องค์ระฆังนี้ผิดกับเจดีย์ในอยุธยาหรือสุโขทัยที่เน้นองค์ระฆังเป็นจุดเด่น
จึงพบว่าองค์ระฆังมักใหญ่กว่าเจดีย์ล้านนา
ส่วนองค์ระฆังเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงนี้เป็นแบบเหลี่ยมและสูง
ส่วนปากระฆังจะกว้างกว่ายอดระฆังทำให้ดูว่า ปากระฆังขยายออกและผายมากกว่าเจดีย์ท้องถิ่น
ถ้าหากว่ามีการแก้ไขโดยย่อมุมที่องค์ระฆังในระยะหลังนั้นสามารถจะแยกได้ชัดเจนเพราะมีตัวอย่างที่เห็นชัดคือ
เจดีย์วัดหมื่นตูมในเชียงใหม่ที่แม้จะมีการย่อมุมที่องค์ระฆัง แต่สัดส่วนขององค์ระฆังก็ยังคงแสดงถึงลักษณะองค์ระฆังท้องถิ่นอย่างเดิม
ดังนั้น ลักษณะขององค์ระฆังควรจะเป็นของเดิมและมาเพิ่มการปิดแผ่นทองเหลืองหรือทองจังโกที่เป็นแบบแผนความนิยมในภาคเหนือในระยะหลัง


..........ส่วนบริเวณใต้องค์ระฆังลงมาถึงชั้นฐาน
โดยเฉพาะชั้นใต้องค์ระฆังที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำกับหน้ากระดาน 6 ชั้น
โดยเน้นส่วนที่เป็นหน้ากระดานนั้นน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของทางล้านนา ในแง่การใช้บัวคว่ำและหน้ากระดาน
แต่จำนวนชั้นนั้นเป็นการสร้างรูปแบบใหม่โดยที่ของท้องถิ่นเดิมมีเพียง 3 หรือ 4 ชั้นเท่านั้น
ส่วนฐานล่างที่กว้างใหญ่นั้นดูจะเป็นแบบที่นิยมในเจดีย์พม่าไม่ใช่ลักษณะของเจดีย์ท้องถิ่น
ลักษณะของเจดีย์องค์นี้ จึงเป็นลักษณะการผสมผสานหลายๆ รูปแบบจากของอยุธยาที่องค์ระฆังบัลลังก์ผสมกับลักษณะของทางเหนือในส่วนหนึ่งตั้งแต่ใต้องค์ระฆังลงมา
นอกจากนี้บริเวณปล้องไฉนและปลียอดน่าจะเป็นส่วนที่แก้ไขในระยะหลัง ของเดิมควรจะเป็นชั้นเดียวเหมือนปล้องไฉนปลียอดทั่วๆ ไป


..........หากพิจารณาถึงอายุสมัยไม่ควรเก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 23
เพราะเจดีย์อยุธยาแบบดังกล่าวมีกำเนิดในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
และลักษณะการใช้บัวคว่ำหน้ากระดานที่ใต้องค์ระฆังในเจดีย์ล้านนาก็ไม่เก่าเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 21
โดยที่แต่เดิมบริเวณใต้องค์ระฆังใช้ฐานบัวลูกแก้วกลม 3 ชั้น ซ้อนกันรับองค์ระฆังโดยใช้หน้ากระดานร่วมกันในฐานแต่ละชั้น
การเปลี่ยนจากฐานบัวลูกแก้ว 3 ชั้นมาเป็นบัวคว่ำหน้ากระดานนี้ เริ่มมีในสมัยพระติโลกราช
ซึ่งรับมาจากสุโขทัยที่เห็นชัดคือ เจดีย์วัดป่าแดงหลวงในเชียงใหม่
ในช่วงแรกนี้บัวคว่ำจะมี 3 ชั้น จนระยะหลังๆ
เช่น สมัยพระเกษเกล้า พุทธศตวรรษที่ 21 ตอนปลายชั้นบัวคว่ำใต้องค์ระฆังมีการเพิ่มชั้นเป็น 5 ชั้น
เช่น เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น
ดังนั้น การที่เจดีย์วัดสันกำแพงใช้บัวคว่ำหน้ากระดานเป็นชั้นใต้องค์ระฆังจำนวน 6 ชั้น
ประกอบกับส่วนฐานล่างและบัวลูกแก้วเหนือชั้นฐานที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นอายุสมัยควรไม่มากไปกว่าสมัยพระเกษเกล้า
และเมื่อเทียบกับเจดีย์แบบอยุธยาที่มี 2 ประเภท คือ แบบมีเรือนธาตุ และไม่มีเรือนธาตุ
พบว่าแบบไม่มีเรือนธาตุจะเกิดทีหลังเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
ดังนั้นอายุสมัยของแบบไม่มีเรือนธาตุจึงหลังกว่าแบบที่มีเรือนธาตุ ซึ่งกำเนิดในปลายพุทธศตวรรษที่ 21
และเมื่อพิจารณายังเจดีย์วัดสันกำแพงหลวงเป็นลักษณะที่คลี่คลายมาจากเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่กำเนิดหลังปลายพุทธศตวรรษที่ 21
โดยผสมผสานกับลักษณะของทางล้านนาเรื่องการใช้บัวคว่ำที่ชั้นใต้องค์ระฆัง
และลักษณะรูปทรงสัดส่วนเป็นแบบเจดีย์พม่ารุ่นหลังๆ
เมื่อเป็นดังนี้อายุของเจดีย์นี้จึงควรต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 21 ควรจะอยู่ในระยะพุทธศตวรรษที่ 22 ตอนปลาย ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น