วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วัดศรีเกิด (สรีเกิด) วัดโบราณแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

วัดศรีเกิด (อ่าน "สะหลีเกิด" อ้างตามสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ)


..........วัดศรีเกิด (สรีเกิด) จัดว่าเป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่
ตั้งอยู่ในบริเวณกำแพงเวียงชั้นใน เลขที่ 171 ตำบลพระสิงห์เขต 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 6 ไร่ 27 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย


..........ประวัติของวัดศรีเกิดไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด
แต่ชื่อวัดนี้ปรากฏใน "โคลงนิราศหริภุญชัย" ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ.2060
โดยปรากฏในบทโคลงที่ 12 ร่วมกับชื่อวัดทุงยูและวัดชัยปราเกียรติ์ (ชัยพระเกียรติ)
แต่จากหนังสือ "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร" กล่าวว่า วัดศรีเกิดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2339
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีนั้นเอง โดยมีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร



..........จากหนังสือ "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร" ปรากฏรายนามเจ้าอาวาสวัดบางท่านดังนี้
พระมหาสมเด็จปวัตตหลวงโพธิรุกขาพิชาราม
ครูบาพรหม
พระอธิการแก้ว
พระอธิการโม๊ะ
พระครูวิเชียรปัญญา (พ.ศ.2449-2498)
และพระครูขันตยาภรณ์ (พ.ศ.2448-ปีใดไม่ปรากฏ)



..........อาคารเสนาสนะของวัดศรีเกิดประกอบด้วยอุโบสถทรงล้านนา
ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ วิหารก่ออิฐถือปูนทรงล้านนา ศาลาอเนกประสงค์ซึ่งเป็นอาคารไม้เนื้อแข็ง และโรงฉัน
..........ชื่อของวัดศรีเกิดมีปรากฏอยู่ในตำนานวัดสวนดอกซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ "ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดารและตำนานวัดสวนดอก"
ดังนี้ คือ "เอกทิวสํ ยังมีในวันนึ่ง ออกวัสสาแล้ว พระพุทธเจ้าชวนเอาภิกขุสงฆ์ทั้งหลาย คือว่ามหาอานันทเถรและโสณุตตรเถรเป็นบริวาร...สั่งสอนคนและเทวดาตามนิคมราชธานี บ้านเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลายเป็นลำดับมาเถิงเมืองพิงค์ที่นี้แห่งหั้น... พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปถึงอโศการามคือวัดกิตติ ไว้พระบรมเกศาธาตุเส้นนึ่งหื้อแก่ลัวะผู้นึ่งในที่นั้นแล้วเสด็จมาวัด "พิชชาราม คือ วัดศรีเกิด" ไว้เกศาดวงประเสริฐเส้นนึ่งแก่ลัวะผู้นึ่ง..."
..........อนึ่ง ตามตำนานโบราณเล่าว่าวัดศรีเกิดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเกศาหนึ่งองค์ของพระพุทธเจ้า จึงถือเป็นปูชนียสถานโบราณสำคัญแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ในราชวงศ์มังรายสร้างขึ้นเทียบปางพุทธลักษณะของพระเจ้าแข้งคม คือเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยแบบลวปุระ ขนาดใหญ่มาก จุดสังเกตคือที่หน้าแข้งทำเป็นสัน ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มากองค์หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประมาณ 500 องค์



นอกจากนี้ ตรงส่วนพระเศียรของพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคมมีการบรรจุพระพุทธรูปแก้ว ทอง และเงิน  จากหอพระธาตุส่วนพระองค์ไว้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมเรียกว่า "พระป่าตาลน้อย" เพราะประดิษฐานอยู่ที่วัดชื่อดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 316 ปี และได้ย้ายเข้าไว้ที่วัดศรีเกิดเมื่อ พ.ศ.2342

..........วัดศรีเกิดมีไม้ศรีมหาโพธิ์ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นต้นโพธิ์ที่พระมหาเถรเจ้านำมาจากประเทศลังกา
แต่ไม่พบหลักฐานว่าได้นำมาปลูกในวัดศรีเกิดตั้งแต่เมื่อใด ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้นำต้นไม้ศาลพฤกษชาติซึ่งท่านได้รับมอบจากสวนลุมพินีวันสถาน ประเทศอินเดีย มาปลูก ณ วัดศรีเกิด

..........วัดศรีเกิดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสม่ำเสมอจากอุบาสกและอุบาสิกาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะจีนน้อยและแม่คำใส แต่ย่งฮวด ซึ่งร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ ทำการบูรณะวัดศรีเกิด เริ่มตั้งแต่การสร้างวิหารหลังปัจจุบัน การยกช่อฟ้าใบระกา การสร้างซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน ก่อสร้างกำแพงล้อมรอบวัด บูรณะพระเจดีย์องค์ใหญ่และเจดีย์เล็กทั้ง 4 มุม สร้างหอไตร 1 หลัง ซ่อมแซมโรงอุโบสถ สร้างหอระฆัง 1 หลัง ก่อสร้างกุฏิ หล่อพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรซื้อเสื่อจันทบูรปูวิหารพร้อมกับบริจาคตะเกียงแสงจันทร์ จัดใส่เพดานวิหารพร้อมกับกระเบื้องมุงหลังคา ติดตั้งไฟฟ้าเข้าวัด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เดินท่อแป๊บ แก้ไขหน้าต่างวิหาร ก่อสร้างอาสนะสงฆ์ สร้างศาลาธรรมสอนประชาชนและสร้างกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้ จนกระทั่งปัจจุบัน มีการจัดตั้งพิชชรามมูลนิธิวัดศรีเกิด โดยท่านพระครูวิเชียรปัญญาและพระครูขันตยาภรณ์ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ท่านพระครูทั้งสองถือว่ามีบทบาทต่อการพัฒนาวัดศรีเกิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระครูวิเชียรปัญญาเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีเกิดในปี พ.ศ.2459-2498 และพระครูขันตยาภรณ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีเกิดในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น