วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

สำนวนไทย ปอกกล้วยเข้าปาก

สำนวนไทย ปอกกล้วยเข้าปาก Force8949  


นิทานเล่าเรื่อง จอชน้อยไม่อยากโต

นิทานเล่าเรื่อง จอชน้อยไม่อยากโต Force8949  


นิทานเล่าเรื่อง ช่างปั้นหม้อผู้มีความสุข

นิทานเล่าเรื่อง ช่างปั้นหม้อผู้มีความสุข Force8949  

นิทานเล่าเรื่อง หนูแวว

นิทานเล่าเรื่อง หนูแวว Force8949  

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

โปรแกรมหลอกร่างกายให้เผาผลาญพลังงาน

โปรแกรมหลอกร่างกายให้เผาผลาญพลังงาน

... แต่ก่อนเธอเป็นผู้หญิงที่รักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ แต่พอเธอท้อง เราก็ไม่ได้เจอกันนานประมาณ 3-4 ปี จนลูกชายเธอเข้าโรงเรียนอนุบาล แล้วเธอจึงกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง และวันนี้เราก็มีนัดที่จะคุยกับเธอ จุดประสงค์คือเพื่อต้องการลดน้ำหนัก ... พอเธอเดินเข้ามาเหมือนเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน เธอไม่ได้เปลี่ยนไปมาก อาจจะมีส่วนที่ขยายออกไปซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ผ่านการมีบุตรมาแล้ว

เธอบอกว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากคำพูดของลูกชายที่บอกว่า
"เมื่อไรคุณแม่ถึงจะหุ่นดีเหมือนแม่น้องพิมสักทีละครับ"
เธอเล่าต่อว่า ... วันนั้นเป็นวันปฐมนิเทศผู้ปกครองและนักเรียน พอลูกชายเธอเห็นแม่ของเพื่อนเขาเท่านั้นนะ อ้าปากค้างน้ำลายไหลเชียว แล้วก็พูดว่า
"อยากให้คุณแม่ใส่เสื้อเกาะอกบ้างจัง"
เธอก็เลยบอกว่า "แม่หุ่นไม่ดีเหมือนคุณแม่ของพิมเขานี่"
แล้วลูกชายของเธอยังพูดเหมือนเป็นเรื่องที่เขาคิดว่าคุณแม่เขาต้องทำได้ว่า
"แล้วเมื่อไรคุณแม่ถึงจะหุ่นดีเหมือนคุณแม่น้องพิมสักทีละครับ"

"แค่นี้แหละ มันเหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้ดิฉันฮึดที่จะลดน้ำหนักอีกครั้ง ดูสินี่แค่อนุบาลหนึ่งนะ แต่ช่วงที่หายไปประมาณ 3 ปี ดิฉันออกกำลังกายและควบคุมอาหารอยู่ แต่พอระยะหลังน้ำหนักแทบไม่ลงเลย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาศัยออกกำลังกายวันละ 2 ชั่วโมง ก็เหนื่อยเต็มที่แล้ว ส่วนอาหารก็แทบไม่ได้กินอะไรเลย แต่น้ำหนักก็ไม่ลดลง ต้องมาขอคำแนะนำจากโภชนากรนี่แหละ"

ปัญหานี้พบบ่อยมากในผู้ที่ลดน้ำหนัก จนถึงระยะหนึ่งแล้วน้ำหนักก็จะไม่ลดลง
สาเหตุเนื่องมาจากกลไกของร่างกายที่มีการปรับสภาพเหมือนประหยัดพลังงาน
ถ้าคุณกินน้อยแต่ใช้พลังงานเยอะ ร่างกายก็จะต้องดึงพลังงานที่สะสมออกมาใช้
พอนาน ๆ เข้าก็เริ่มปรับสภาพที่จะประหยัดการใช้พลังงาน
เพื่อจะได้กลไกในการดึงพลังงานสะสมออกมาใช้
โดยการใช้พลังงานให้น้อยลงเท่าที่คุณรับประทานเข้าไป
ทีนี้น้ำหนักของคุณก็จะเริ่มลดช้าลงหรือแทบไม่ลดลงเลย

ดังนั้นโภชนากรจึงต้องมีการสร้างโปรแกรมที่จะไม่ให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ประหยัดพลังงาน เราก็ต้องให้ร่างกายเกิดการสับสนในการได้รับพลังงานเหมือนการหลอกร่างกายของเราเอง คือพอถ้าน้ำหนักไม่ลง คุณก็ต้องมีการเพิ่มการได้รับพลังงาน แต่คุณไม่ต้องกลัวว่าน้ำหนักของคุณจะขึ้น เนื่องจากเรามีเทคนิคที่จะหลอกร่างกายที่ได้ผลมาหลายรายแล้ว หลักการในการเพิ่ม ลองดูโปรแกรมดังต่อไปนี้ ซึ่งเน้นการเพิ่มพลังงานจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แต่มีข้อแม้ว่าคุณยังต้องออกกำลังกายเหมือนเดิมอยู่นะ

รายละเอียดของโปรแกรมมีดังนี้
วันที่ 1-วันที่ 3
มื้อเช้า รับประทานน้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้วใหญ่ โยเกิร์ตไขมันต่ำ 1 ถ้วย กล้วยน้ำว้า 2 ผล หรือกล้วยหอม 1 ผล
มื้อกลางวัน รับประทานซุปผักมากเท่าไรก็ได้ น้ำผลไม้สด 1 แก้วใหญ่ ผลไม้ 1 จานใหญ่ (งด ทุเรียน องุ่น)
มื้อเย็น กินซุปผักมากเท่าไรก็ได้ แตงโม 1 ผล หรือส้มโอ 1 ผล หรือมะละกอ 1 ผล หรือแคนตาลูป 1 ผล แอ๊ปเปิ้ล 5 ผล

วันที่ 4-วันที่ 7
มื้อเช้า รับประทานซุปผักมากเท่าไรก็ได้ นมสดพร่องไขมัน 1 แก้ว หรือโยเกิร์ตไขมันต่ำ 1 ถ้วย กล้วยน้ำว้า 2 ผล
มื้อกลางวัน ไก่ย่าง หรือปลาย่าง หรือสันในหมูย่างขนาดเท่าหนึ่งฝ่ามือของคุณเอง
มะเขือเทศราชินี 2 ขีด หรือมะเขือเทศลูกใหญ่ 6 ลูก นำมาคั้นน้ำหรือกินสด ๆ ก็ได้ไม่ว่ากัน ถ้าไม่ชอบน้ำมะเขือเทศ ดื่มน้ำแครอทสด 1 แก้วแทนได้ และซุปผัก 1 ถ้วย
มื้อเย็น กินซุปผัก 1 ถ้วย รับประทานกับข้าวกล้อง 2 ทัพพี แอ๊ปเปิ้ล 1 ผล หรือแตงโม 1/4 ผล หรือสับปะรด 1/4 ผล

พอทำครบ 7 วันแล้วคุณลองชั่งน้ำหนักดูว่าน้ำหนักคุณเป็นอย่างไรบ้าง
คราวนี้ก็กลับมารับประทานตามปกติเหมือนเดิมที่คุณเคยกิน
แต่ตัดปริมาณออก กินแค่ 3/4 ของจาน ช่วงนี้งดขนมประเภทพาย เพสตรี้ ครัวซองต์ ช็อกโกแลต ชีสเค้ก ส่วนเครื่องดื่มให้เลือกดื่มน้ำเปล่าเป็นอันดับแรก ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ให้ดื่มเป็นน้ำสมุนไพร มะนาวโซดาหรือชามะนาวไม่ต้องหวานมาก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และข้อสำคัญอาหารเย็นต้องกินไม่เกิน 6 โมงเย็น ช้าที่สุด 1 ทุ่ม ลองทำดูสัก 1 เดือนรับรองน้ำหนักลงแน่นอน บอกคุณลูกให้รอดูคุณแม่ใส่เสื้อเกาะอกได้เลย

ซุปเพิ่มพลัง (ซุปผัก)
ส่วนผสม
หอมหัวใหญ่                หั่นตามยาวเป็นเส้น ๆ       6 หัว
พริกหวาน                    หั่นสี่เหลี่ยมพอคำ             2 หัว
มะเขือเทศ                   หั่นสี่ตามยาว                    6 ลูก
กะหล่ำปลีหัวใหญ่        หั่นชิ้นพอคำ                     1 หัว
คึ่นฉ่าย                        หั่นเป็นท่อน ๆ                   6 ต้น
มันฝรั่ง                         หั่นชิ้นพอคำ                     1 หัว
แครอท                        หั่นเป็นชิ้นพอคำ               1 หัว
บร็อคเคอลี่                  หั่นชิ้นพอคำ                     1 ถ้วย
เกลือ                                                                    1 ช้อนชา
พริกไทย                                                               1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
นำน้ำใส่หม้อประมาณ 2-3 ถ้วย ใส่หอมหัวใหญ่ พอเดือดใส่ผักทั้งหมดลงไป ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย เคี่ยวประมาณ 45 นาที หรือจนผักนุ่ม ซุปนี้สามารถทำไว้ครั้งละมาก ๆ แล้วนำเข้าตู้เย็น เวลาจะรับประทานก็แบ่งมาอุ่นได้

ภูมิแพ้อาหาร ปัญหาที่มากกว่าการแพ้

ภูมิแพ้อาหาร ปัญหาที่มากกว่าการแพ้
อาหารไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเรารับประทานกันอยู่ทุกวัน แพทย์ส่วนใหญ่ยืนยันแล้วว่าอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้มีอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด และการแพ้อาหารอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้อย่างคาดไม่ถึง คนบางคนมีอาการหอบหืด เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้ก็เพราะรับประทานที่แพ้เข้าไปทุกวันโดยไม่เคยรู้ตัว

รู้จักภูมิแพ้อาหาร
ภาวะภูมิแพ้อาหาร คือ ปฏิกิริยาที่ร่างกายต่อต้านอาหารบางชนิด เพราะคิดว่าอาหารนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดทิ้งไป อาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันทีหรือภายในหนึ่งชั่วโมงหลังการรับประทาน แต่ความรุนแรงของการแพ้นั้นขึ้นอยู่กับความไวของระบบภูมิคุ้มกัน ปริมาณอาหารที่รับประทาน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน

คนเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตนจะแพ้อาหารชนิดใดจนกว่าจะได้รับประทานแล้วเกิดอาการ แต่ในกรณีของผู้ที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วมักมีแนวโน้มแพ้อาหารได้มากกว่าคนอื่น ๆ

อาการแพ้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการรับประทานอาหารเท่านั้น คนที่ไวต่อการแพ้ แค่เพียงสัมผัสหรือมีการสูดดม เช่น ได้กลิ่นน้ำมันในเปลือกส้ม ได้กลิ่นเนยถั่วสำหรับทาขนมปัง หรือ สัมผัสเปลือกถั่วลิสง ก็อาจเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเป็นอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน

โดยทั่วไปร่างกายจะย่อยอาหารได้อย่างสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับกรดไฮโดรคลอริกและเอนไซม์จากตับอ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยย่อยสลายโมเลกุลใหญ่ ๆ ของโปรตีนให้เล็กลงและดูดซึมนำไปใช้ แต่ถ้าหากระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ร่างกายก็จะย่อยโปรตีนโมเลกุลใหญ่ไม่ได้ (แต่เตรียมตัวดูดซึมไปใช้) ผลก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันแสดงอาการต่อต้านเพราะคิดว่าอาหารนั้นเป็นศัตรู

อาการแพ้อาหารจึงเริ่มต้นในวัยเด็กช่วง 1-2 ปีแรก ที่มักมีการแพ้นมวัวเนื่องจากระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับการมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ อยู่เดิม จึงยิ่งเป็นปัจจัยเสริมและพัฒนาสู่การแพ้อาหารในเวลาต่อมา

อาหารเจ้าปัญหา
ดังที่กล่าวข้างต้นว่าหากการย่อยโปรตีนไม่สมบูรณ์ ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ดังนั้นอาหารที่มักก่อให้เกิดการแพ้ในคนส่วนใหญ่จึงเป็นอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากมีสารก่อภูมิแพ้มากกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ อาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้บ่อย ๆ ได้แก่ นมวัว ไข่ (แพ้ได้ทั้งไข่แดงและไข่ขาว) ถั่วลิสง ถั่วเหลือง แป้งสาลี และอาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู

การแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง แม้ไม่ได้รับประทานโดยตรง แต่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากอาหารที่แพ้ อาการแพ้ก็เกิดขึ้นได้ เช่น คุณแพ้ข้าวโพด หากรับประทานน้ำตาลข้าวโพด (บางครั้งใช้ชื่อว่าคอร์นไซรัป) คอร์นแฟลกส์ แป้งข้าวโพด หรือวิตามินซี (ที่มีส่วนผสมของข้าวโพด) ย่อมเกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อาหารทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นไวต่อสิ่งเร้าประเภทไหน นอกจากอาหารกลุ่มหลักข้างต้นแล้ว เรายังอาจแพ้เครื่องปรุงรส สารถนอมอาหาร สีผสมอาหาร ฯลฯ ได้ด้วย ที่รู้จักกันดีคือโรคภัตตาคารจีน (Chinese restaurant syndrome) หรือการแพ้ผงชูรส คือจะมีอาการชา ร้อนวูบวาบที่ปาก ลิ้น ใบหน้า มีผื่นแดง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และทำให้หัวใจเต้นช้าลง คนที่แพ้ผงชูรสยังต้องระวังอาหารกลุ่มที่มีกลูตาเมต (สารเคมีตามธรรมชาติ) ด้วย โดยเฉพาะในมะเขือเทศ องุ่น ลูกพลัม บร็อคเคอลี เห็ด เนยแข็ง ลูกเกด ไวน์ เหล้าเชอร์รี่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน

อาหารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้จะกระตุ้นให้เกิดอาการทุกครั้งที่รับประทาน แต่อาจรุนแรงมากน้อยต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณอาหาร ดังนั้นนอกจากจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้แล้ว ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้อาหารควรต้องศึกษาเรื่องอาหาร รวมทั้งอ่านฉลากอาหารอย่างละเอียดทุกครั้ง เพื่อเลี่ยงส่วนผสมที่อาจแฝงอยู่ในอาหารชนิดอื่น ๆ ด้วย

แพ้จริงหรือแพ้หลอก
อาการแพ้อาหารนั้นอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าปฏิกิริยาต่อต้านจะแสดงออกในระบบใด แต่อาการแพ้มักเกิดขึ้นใน 4 ระบบ ได้แก่

ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นเล็ก ๆ ทั่วตัว ผื่นคัน ลมพิษ อาการบวมที่ริมฝีปาก บวมที่หนังตา คับลิ้นและเพดานปาก เกิดรอยไหม้รอบ ๆ ริมฝีปาก

ระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล คันจมูก คัดจมูก จาม หายใจติดขัด หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก

ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องบิด

ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ความดันโลหิตต่ำ ช็อก

อาการแพ้อาจเกิดขึ้นในระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบพร้อมกัน หากปฏิกิริยาแพ้รุนแรงอย่างฉับพลันทันที อาจทำให้ผู้แพ้อาหารความดันตก ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

ในบางครั้งการรับประทานอาหารอาจก่อให้เกิดอาการไม่สบายตัว เช่น มวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น แต่นั่นไม่จำเป็นว่าต้องมีสาเหตุจากการแพ้อาหารซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบภูมิคุ้มกันเสมอไป เพราะอาจเกิดจากปัญหาในการย่อยอาหารบางชนิด หรือการระคายเคืองจากสารเคมีในอาหาร สารปรุงแต่งอาหารเท่านั้น เรียกกันว่า "ภาวะแสลงอาหาร" ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

โรคที่ยอมรับกันว่าเกิดจากภาวะแสลงอาหารก็คือ โรคซีลิแอ็ก เกิดจากการแสลงกลูเต็นซึ่งเป็นโปรตีนในข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ทำให้ดูดซึมอาหารยากขึ้น นอกจากนี้สารเคมีในอาหารที่อาจทำให้เกิดการแสลงและระคายเคืองระบบภายใน (ไม่ใช่การแพ้อาหาร) ยังมีอีกหลายประเภท ได้แก่

น้ำตาลนม หรือแล็กโทส ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดเกร็งช่องท้อง และท้องเสีย

สารฮิสทามีน พบในปลาชนิดต่าง ๆ ทำให้เจ็บหน้าอก ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดง ความดันต่ำ

สารซัลไฟท์ ซึ่งเป็นสารปรุงแต่งในกุ้ง มันฝรั่งแปรรูป ผลไม้แห้ง เหล้าองุ่น เบียร์ ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืด

สารเมทิลแซนทีน ในชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต ทำให้ใจสั่น ปวดหัว อาเจียน กระวนกระวาย

สารซาลิไซเลส ในผักผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ ถั่ว ไวน์ กาแฟ ชา น้ำผึ้ง ยาแอสไพริน

สารอะมีน ในช็อกโกแลต เนยแข็ง ไวน์ กล้วย เห็ด มะเขือเทศ ส้ม อะโวคาโด ปลาย่างและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม กุนเชียง แหนม เป็นต้น

นายแพทย์ต่อพงษ์ ทองงาม แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคภูมิแ พ้และอิมมูโนวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้คำแนะนำในการสังเกตความแตกต่างระหว่างการแพ้อาหารและภาวะแสลงอาหารว่า "อาหารบางอย่างอาจกระตุ้นอาการไม่พึงประสงค์ แม้ว่าอาการบางชนิดจะมีส่วนคาบเกี่ยวกับการแพ้อาหาร แต่ก็ไม่เรียกว่าเป็นภูมิแพ้ เพราะอาการภูมิแพ้มักเกิดขึ้นจำเพาะเจาะจงในระบบผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ ซึ่งมีระดับความรุนแรงพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ดื่มนม 80% อาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดจากการไม่มีน้ำย่อยมาย่อยนม แต่จะมีเพียง 2% เท่านั้นที่เกิดจากการแพ้นมจริง ๆ คือมีอาการผื่นขึ้น หายใจขัด หลอดลมตีบ

"อาการเริ่มต้นของการแพ้อาหารมักเริ่มจากปวดท้องบิด แต่การมีปัญหาที่ระบบทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวหลังรับประทานอาหาร อาจสรุปยากว่านั่นเป็นการแพ้อาหารหรือไม่ แต่ถ้าเกิดร่วมกับอาการที่ผิวหนังและการหายใจ เช่น มีผื่น ลมพิษ มีน้ำมูก คันจมูก นั่นน่าจะเป็นการแพ้อาหาร"

แพ้อาหาร - ผลกระทบที่มากกว่าการแพ้
ดร.แกรี่ นัล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "กินดีเพื่ออยู่ดี" (The Complete Guide to Sensible Eating) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า การเริ่มต้นแพ้อาหาร ทำให้เกิด "พัฒนาการของโรคภูมิแพ้" ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบการแพ้อีกต่อไป แต่จะซ่อนตัวเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังด้านอื่น ๆ แทน

"ถ้าร่างกายเกิดอาการแพ้นมอย่างรุนแรงทันทีในครั้งแรก คนคนนั้นจะมีอาการเรื้อรัง เช่น เป็นโรคข้ออักเสบ มีอาการเหนื่อยล้า ซึมเศร้า ปวดหัวเรื้อรัง เพราะร่างกายพยายามปรับตัวเองให้รับสารแปลกปลอมชนิดนี้ไว้ให้ได้

"ถ้าเรากินนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมทุกวัน อาการแพ้อาจจะกลมกลืนไปกับบุคลิกลักษณะของเราจนดูเหมือนเป็นอาการปกติในที่สุดอาการผิดปกติจะปรากฏชัดเจนขึ้น เช่น ไขข้ออักเสบ เป็นไมเกรน ซึมเศร้า ซึ่งเราก็จะไม่สงสัยเลยว่านมจะทำให้เกิดอาการเหล่านั้นได้ เพราะขณะนั้นร่างกายได้สร้างภูมิต้านทานต่อนมที่กินเข้าไปมากถึงระดับหนึ่ง จนอาการพิษของนมไม่แสดงออกมา แต่จะกดซ่อนไว้ในร่างกาย การที่เรายังดื่มนมทุกวันจึงเป็นการกดอาการแพ้เอาไว้ แต่ไปแสดงเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังแทน

"พัฒนาการของโรคภูมิแพ้จึงหมายถึง การที่อาการแพ้เปลี่ยนจากระบบหนึ่งไปยังระบบหนึ่ง เช่น เด็กเล็กอาจมีอาการหอบหืดเพราะแพ้นม แต่เมื่อเป็นวัยรุ่น อาการแพ้อาจทำให้เกิดสิวแทน แต่ผู้ปกครองคิดว่าไม่ได้แพ้นมแล้วเพราะหอบหืดหายไป โดยไม่ได้นึกว่าอาการผิดปกติในปัจจุบันก็มีรากเหง้ามาจากปัญหาเดิมนั่นเอง"

เอลิซาเบ็ธ แทรตเนอร์ อดีตนางแบบอาชีพ เป็นหนึ่งในคนไข้ที่รับการรักษากับนายแพทย์แอนดรู ไวล์ อาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรการแพทย์ผสมผสานแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา เล่าประสบการณ์การเจ็บป่วยให้ฟังว่า

"โรคภูมิแพ้เป็นสมบัติประจำตระกูลของดิฉัน ตอนเด็กดิฉันก็ไม่ได้กินนมแม่ กินนมผสมน้ำเชื่อมคาโรและถั่วเหลืองแทน ดิฉันแพ้แล็กโทส แต่ไม่มีใครรู้ พ่อแม่ก็คิดว่าลูกท้องอืดและปวดท้องง่ายเท่านั้น ช่วงเป็นวัยรุ่นก็ปวดท้องประจำเดือนรุนแรงมาก อึดอัดและอ่อนเพลียประจำ

"สมัยเรียนมหาวิทยาลัยดิฉันป่วยเป็นอาจิณ ทุกครั้งที่ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมเป็นต้องท้องเสียปุบปับ ตามด้วยสะบัดร้อนสะบัดหนาว เหงื่อแตก มือไม้เย็น ต่อมาเลยเลิกกินนมทุกชนิด เพราะมั่นใจแล้วว่าไม่สบายเพราะนม แต่กว่าจะรู้ระบบภูมิคุ้มกันของดิฉันก็พังไปแล้ว ผอมลง 15 ปอนด์ เป็นโรคไซนัสและหืดไปเรียบร้อย ตอนนั้นเริ่มมีอาการแพ้ข้าวสาลีด้วย สุดท้ายต้องเลิกกินส้มและผลไม้ในตระกูลสควอช (squash คือ พืชวงศ์ฟักทองและซูกินี) ทุกชนิดด้วย ทุกครั้งที่กินอาหารต้นเหตุ ดิฉันจะอาเจียน และเริ่มเป็นหนักขึ้นถึงขนาดต้องอยู่โรงพยาบาล 100 วัน กินแต่แครอท ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง

"การทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับอาการที่กระเพาะสนองตอบต่ออาหารเลย ดิฉันต้องเรียนรู้การดูแลตัวเอง เช่น อันตรายของซัลไฟต์ที่เป็นสารถนอมอาหารชนิดหนึ่ง เพราะดิฉันช็อกอย่างเฉียบพลันจากการกินลูกเกดเข้าไป (ซึ่งมีซัลไฟต์อยู่ด้วย) ดิฉันรู้จักกินมากขึ้น ซึ่งดีต่อตัวเอง ดิฉันเริ่มกินอาหารที่ปลูกตามธรรมชาติมากขึ้น และค่อย ๆ เพิ่มชนิดอาหารที่กินได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ดิฉันรู้สึกดี ปลอดโปร่ง ไม่เพลีย หลังจากใช้สเตียรอยด์มากว่า 12 ปี ดิฉันเลิกใช้ยาได้แล้ว"

รับมืออาการแพ้อาหาร
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาอาการแพ้อาหารให้หายขาด วิธีเดียวที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากอาหารชนิดนั้น ๆ หากไม่แน่ใจว่าคุณแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่ ควรรับการทดสอบภูมิแพ้ (Allergy Skin Test) โดยการหยดน้ำยา (ที่สกัดจากอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้) ลงบนผิวหนัง ใช้เข็มสะกิดผิวใต้หยดน้ำยา เพื่อดูการตอบสนองอาการแพ้

น้ำยาที่ใช้ทดสอบนั้นสามารถทดสอบอาหารต่าง ๆ ได้แก่ ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กุ้ง ปู ปลา หอยนางรม หอยแครง เนื้อหมู เนื้อวัว ข้าวเจ้า ผลไม้ ช็อกโกแลต หากมีอาการแพ้อาหารนอกเหนือจากนี้ สามารถนำอาหารที่แพ้ไปให้แพทย์ทดสอบได้ (แพทย์จะใช้อาหารบดผสมน้ำเกลือทดสอบแทน)

ในบางรายที่ไม่แน่ใจว่าแพ้อาหารชนิดใด อาจต้องใช้การสังเกตและจดบันทึกอาหารที่รับประทานและอาการหลังรับประทานอาหารตลอด 7-14 วัน เรียกว่า food diary แล้วให้แพทย์วิเคราะห์อาหารชนิดที่แพ้ หากต้องการทดสอบการแพ้ที่แน่นอน แพทย์อาจแนะนำการใช้ food challenge โดยรับประทนอาหารที่ผู้ทดสอบมักเกิดการแพ้ภายในห้องสังเกตอาการ เพื่อว่าหากเกิดการแพ้ระดับรุนแรงจะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ผู้แพ้อาหารบางคนเกิดการแพ้ทันทีและค่อนข้างรุนแรง การปฐมพยาบาลจากคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง หากมีอาการเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย ท้องอืด เป็นลมพิษ อาจรับประทานยารักษาตามอาการ ซึ่งอาการมักทุเลาลงภายใน 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้ามีลมพิษขึ้นทั่วทั้งตัว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ภายใน 5-10 นาทีข้างหน้าจะมีอาการบวมในกล่องเสียง หลอดลมตีบ หายใจติดขัดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรงถึงขั้นช็อก แพทย์จะให้ยาฉีดอะดรีนาลินที่บรรจุในชุดพร้อมฉีดพกพาไว้ใกล้ตัว เพื่อรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที หากจะให้ดีควรพกบัตรประจำตัวที่ระบุว่าตนเองอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้อาหารอย่างรุนแรง พร้อมบอกวิธีการช่วยเหลือเอาไว้ด้วย

ภูมิแพ้คือสัญญาณที่ร่างกายบอกว่าระบบภูมิคุ้มกันของเรามีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากเกินไป การรักษาในระยะยาวก็คือ การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมจิตใจให้ปราศจากความเครียด รับประทานอาหารที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกัน เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี และซีลีเนียม ที่สำคัญคือการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์

หากเลือกได้ควรรับประทานอาหารปลอดสารพิษและผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด

คัมภีร์สำหรับผู้แพ้ (อาหาร)
ขอย้ำอีกครั้งว่าการป้องกันที่ดีที่สุด คือ เลี่ยงอาหารที่แพ้ ผู้แพ้อาหารต้องไม่อายที่จะถาม หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้านแล้ว ไม่มั่นใจในส่วนผสม รวมทั้งอ่านฉลากอาหารให้ละเอียด

ชนิดอาหาร                                               อาหารพึงระวัง
ถ้าคุณแพ้นม                         ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม โยเกิร์ต ช็อกโกแลต
ถ้าคุณแพ้ไข่                          เค้ก ขนมหวาน มายองเนส มูส ไอศกรีม
ถ้าคุณแพ้ปลา                       ขึ้นอยู่กับชนิดปลาที่แพ้ (บางคนแพ้ปลาทุกชนิด) น้ำปลา
                                              อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำปลา
ถ้าคุณแพ้อาหารทะเล            อาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมของอาหารทะเล
ถ้าคุณแพ้ถั่วลิสง                    ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง เช่น เนยถั่ว ขนมปังกรอบ ไอศกรีม
                                              น้ำมันถั่วลิสง และถั่วเปลือกแข็งอื่น ๆ เช่น เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
                                               วอลนัท
ถ้าคุณแพ้สารปรุงแต่อาหาร    อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปทุกชนิด รวมทั้งผงชูรสในอาหารที่                                                             จำหน่ายในร้านอาหารหรือภัตตาคารทั่วไป