วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

พระอุโบสถ วัดเกตการาม เชียงใหม่

พระอุโบสถ วัดเกตการาม เชียงใหม่

..........เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ เช่น สวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพระภิกษุ ทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ และใช้เป็นที่อุปสมบทกุลบุตรให้เป็นพระภิกษุ ประเพณีทางเหนือไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้น เช่นเดียวกับพระธาตุเจดีย์ และหอธรรมหรือหอพระไตรปิฎก

..........พระอุโบสถวัดเกตหลังปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน โดยคุณนคร ธัมทะมาลา ซึ่งได้มาส่งพระอธิการอิ่นแก้วสมัยนั้น ปัจจุบันคือ ท่านพระครูสุภัทรรัตนโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีโขงมาเข้าอุโบสถที่วัดเกต ได้สังเกตเห็นฐานพระอุโบสถ ซึ่งเป็นไม้วางบนเสาปูนถูกปลวกกินจนเสาลอย เกิดความห่วงใยว่าพระอุโบสถจะล้มลง จึงปาวารณารับซ่อมแซมให้โดยได้ให้สล่า (ช่าง) มัดเหล็กหล่อปูนเสริมฐานให้แข็งแรงถาวรพร้อมกับได้มีการซ่อมส่วนที่ชำรุดผุพังให้ดีด้วย สล่าที่มาทำเป็นสล่าทางบ้านหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

..........สภาพพระอุโบสถที่ซ่อมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนของบันไดนาค ที่เป็นนาคเศียรเดียวตั้งตรงแบบบันไดพระวิหาร รูปตัวนาคทำด้วยปูนปั้นแบบสไตล์จีน เกล็ดนาคประดับด้วย "จืนสี" คนเก่าแก่บอกว่านำเข้าจากจีน บ้างบอกว่ามาจากพม่ามาทำเป็นนาคขดอ้อมที่เชิงบันได แล้วทำราวบันไดตรง ๆ แทน มีการทำซุ้มหน้าต่าง เปลี่ยนบานประตูจากแกะสลักนูนต่ำรูปรามเกียรติ์ มีหนุมานเป็นลายปิดทองล่องชาดรูปเทวดาแทน ส่วนบานเก่าคุณจรินทร์ เบน (คุณลุงแจ๊ก) นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเกตและได้มีการเปลี่ยนหลังคาดินขอ คือ กระเบื้องดินเผาแบบโบราณ ใช้มุงหลังคาเป็นหลังคากระเบื้องเคลือบแทน เปลี่ยนนาคที่เป็นป้านลม ทั้งยังมีการตบแต่งลวดลายที่ผนังด้านนอกเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ตามปีนักษัตร

..........ส่วนที่ยังคงไว้และนับว่าเป็นของเก่าที่งดงามและมีคุณค่า คือ รูปปูนปั้นลวดลายแบบจีน เป็นรูปปลาพ่นน้ำ มีฟองทะเล ตัวกิเลนและลูก ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ในนิยายจีน กล่าวกันว่า หัวเป็นมังกร ตัวเป็นกวาง ตีนมีกีบเหมือนม้า หางเป็นพวง (อุดม รุ่งเรืองศรี - พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง,2547 หน้า 46) ส่วนที่สิบสองปันนา ที่ร้านขายหยกของรัฐบาลจีนชื่อ "จื่อเหลียง" ในเมืองฮำ เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "พีชิว" ถือเป็นตัวโชคลาภ เรียกเงินเข้าบ้านเข้าเมือง ยิ่งตัวไหนอ้าปากกว้าง ยิ่งถือว่าดี นิยมมีไว้ในบ้านเรือนร้านค้า คล้ายกับนางกวักของไทย เขาบอกว่า สัตว์ชนิดนี้มีรูปร่างที่ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ต่างชนิดกันดังนี้ หัวเป็นมังกร มีหูเป็นกวาง ตัวเป็นสิงโต หางเป็นหงส์ เท้าเป็นเสือ คุณสุรชัย เลียวสวัสดิพงศ์ บอกว่ารูปเหล่านี้ เป็นช่างชุดเดียวกับที่ทำที่บ้านเหลี่ยวย่งง้วน หรือ ร้านเดอะแกลลอรี่ ปัจจุบัน (วรวิมล)

ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู ตำรับลุงจรวัดเกต

ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู ตำรับลุงจรวัดเกต



..........เมื่อเราเดินออกมาทางหลังวัดเกตการาม ด้านตรงกันข้ามเป็นร้านข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู ตำรับลุงจรวัดเกต นับเป็นอาหารว่างที่ลำขนาด (อร่อยมาก) ถ้าใครมาย่านวัดเกตแล้วไม่ได้กิน ก็แทบจะเรียกว่ามาไม่ถึงวัดเกตเลยทีเดียวนะจะบอกให้ ความลำ อยู่ที่แป้ง-สาคู ที่เหนียว นุ่ม บาง หอม หวาน ด้วยไส้ขนมที่มีรสชาติกลมกล่อม ทำสดใหม่ทุกวัน และยังมีการทำไส้เป็นสูตรมังสวิรัติ และยังมีขนมเบื้องญวนขายอีกด้วย ที่ตั้ง 107 ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000

กู่ หรือ อัฏฐิเจดีย์ วัดเกตการาม เชียงใหม่

กู่ หรือ อัฏฐิเจดีย์ วัดเกตการาม เชียงใหม่


..........รอบพระธาตุ ที่บรรจุอัฏฐิ (กระดูกคนตาย) ของผู้ที่เคยเป็นศรัทธาวัดเกตสร้างด้วยอิฐสอปูนแบบสไตล์จีน บางหลังบันทึก ชื่อ นามสกุล ชาตะ มรณะ ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ล้านนา จีน นับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง
..........กู่คล้ายกับฮวงซุ้ย ต่างกันแต่เพียงกู่ใช้เก็บกระดูก แต่ฮวงซุ้ยเก็บซากร่างกายทั้งตัวตามความเชื่อที่สืบต่อมา กู่นั้นถือว่าเป็นตัวแทนของบรรพชน ถ้าลูกหลานเอาใจใส่ดูแลกู่ดี ก็จะมีความเป็นสิริมงคลเจริญรุ่งเรือง อีกนัยยะหนึ่งความกตัญญูกตเวทีเมื่อมาดูแลเอาใจใส่กู่ที่ตั้งอยู่ในวัด ก็ย่อมดูแลเอาใจใส่วัดตามไปด้วย
..........อนึ่ง สีที่ใช้เขียนหน้ากู่นั้น มักมี 2 สี คือ สีแดงและสีเขียว ซึ่งใช้เขียนชื่อคนตาย ส่วนสีแดงใช้เขียนนามสกุล เพราะยังมีลูกหลานสืบสกุลต่อไปอีก เพราะฉะนั้นนามสกุลยังไม่ตายจึงใช้สีแดง

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

หอไตรวัดช่างฆ้อง เชียงใหม่

หอไตรวัดช่างฆ้อง

..........สร้างเมื่อปี พ.ศ.2446 โดยศรัทธาชาวจีน มีเจ๊กบุญยืน นางบัวคำ ไชยวงศ์ญาติ เป็นประธาน ตัวอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นและไม้แกะสลัก ที่มีศิลปกรรมแบบล้านนาผสมศิลปะพม่า


..........บริเวณระเบียงชั้น 2 ของหอไตร ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปัญญาสชาดก ตอน "เจ้าสุวัตรกับนางบัวคำ" ชื่อนางบัวคำนั้น พ้องกับชื่อของภรรยาผู้สร้างหอไตร


..........นับเป็นตัวอย่างพิเศษของงานในช่วงหลังอีกแห่งหนึ่ง เป็นอาคารที่ดูจะสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ลักษณะเด่นอยู่ที่เป็นอาคารทรงตึก 2 ชั้นขนาดเล็ก ตกแต่งอย่างวิจิตรอลังการด้วยลวดลายปูนปั้นและงานไม้ฉลุที่มีการผสมผสานกันของงานแบบจีน พม่า และไทย ขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนอยู่ด้านนอกของอาคารบนระเบียงชั้น 2 นั้นนอกจากจะยิ่งทำให้อาคารหลังนี้แปลกและโดดเด่นมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เข้าใจนัยความหมายของหอไตรว่าเป็นอาคารที่ต้องการให้ถูกเห็นจากภายนอกเท่านั้น
(หอไตรวัดช่างฆ้อง อำเภอเมือง เชียงใหม่ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25)


(จิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดช่างฆ้อง เขียนขึ้นบนผนังด้านนอกอาคารบริเวณระเบียงชั้นบนต่อเนื่องตลอดทั้งผนังเป็นภาพเล่าเรื่อง สันนิษฐานว่าเป็นชาดกที่นิยมกันในท้องถิ่นฝีมือช่างพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรุงเทพ มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25)


..........ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนัง โดยพื้นฐานแล้วเป็นภาพเล่าเรื่องแบบไทยประเพณี ทว่าฝีมือช่างและการแสดงออกค่อนข้างจะเป็นงานพื้นบ้าน ตัวภาพและองค์ประกอบมีลักษณะหยาบไม่ประณีตวางอยู่ห่าง ๆ กัน ปล่อยให้ฉากหลังที่เป็นธรรมชาติป่าเขาดูเด่น สีที่ใช้มีน้อย ได้แก่ สีคราม ขาว เทา และดำ โดยจะระบายเน้นเฉพาะตัวภาพ โขดหิน และท้องฟ้า การตัดเส้นใช้สีดำซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการแสดงตัวภาพทั้งหมด ส่วนเรื่องราวที่น่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านหรือชาดกที่นิยมกันในท้องถิ่นภาคเหนือ โดยรวมแล้วก็จัดเป็นงานที่มีแบบแผนแตกต่างจากที่อื่น ๆ สามารถเพิ่มความหลากหลายให้กับจิตรกรรมฝาผนังล้านนามากยิ่งขึ้น


ตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล

ตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล

..........ศูนย์กลางการปกครองหรือราชธานีของอาณาจักรลัวะโบราณอยู่ที่ "เวียงเชษฐบุรี" หรือ "เวียงเจ็ดริน" ซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออก (สถานที่เลี้ยงโคนมของกรมปศุสัตว์ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปัจจุบัน) อาณาจักรลัวะภายใต้การนำของ "ขุนหลวงวิลังคะ" ล่มสลายเพราะแพ้สงคราม ถูก "พระนางจามเทวี" แห่งอาณาจักรหริภุญชัยยึดครองเมื่อปีพุทธศักราช 1211 (พ.ศ. 1204 วาสุเทพฤาษี สร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน, 1206 พระนางจามเทวีครองราชย์เมืองหริภุญชัย, 1211 เกิดสงครามกับลัวะ, 1213 สละราชสมบัติให้มหายศ หรือ มหันตยศ พระโอรสครองราชย์แทน)
..........อาณาจักรลัวะโบราณมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ตำนานกล่าวไว้ว่า บ้านเมืองของลัวะมีขุมทรัยพ์ คือ "บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว" อยู่ตามทิศต่าง ๆ ผู้คนตั้งสัจจะธิษฐานเอาได้ตามปรารถนา มีผู้คนพลเมืองมาก มีเมืองสำคัญ ๆ อยู่หลายแห่ง เช่น เวียงสวนดอก ทางทิศใต้ เวียงเชษฐบุรี และ เวียงนพบุรี (เมืองทั้ง 9 ตามชื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ยาว 1,000 วา กว้าง 900 วา อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชษฐบุรี เป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรลัวะแห่งสุดท้าย ก่อนล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิลังคะดังกล่าวแล้ว
..........เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลที่ทำการปกครองอาณาจักรลัวะครั้งโบราณก็มี โชติกเศรษฐี, เมณฑกะเศรษฐี, ภัททิยะเศรษฐี, ชติละเศรษฐี, เศรษฐีพ่อเรือน, เศรษฐีปอเลิงหรือพ่อเลือง, เศรษฐีหมื่นล้าน, เศรษฐีพันเตา, พญาวีวอ, เศรษฐี 9 ตระกูลนี้แบ่งหน้าที่กันปกครองอาณาจักร ตามเขตหรือภูมิภาคต่าง ๆ และ 3 ตระกูล ร่วมกันคุ้มครองบริหารบ่อเงิน, 3 ตระกูล คุ้มครองบริหารบ่อทอง, 3 ตระกูลคุ้มครองบริหารบ่อแก้ว
..........แรกเริ่มนั้นชาวลัวะเป็นชาวป่ากึ่งอารยชนไม่มีศาสนา การสร้างบ้านแปลงเมือง การปกครองอาณาจักรต้องอาศัยหมอผี พระดาบสฤาษีที่ถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาสถาปนิก เป็นที่กราบไหว้บูชาและเป็นสื่อกลางติดต่อกับผีสางเทวดาที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ลึกลับน่าสะพึงกลัว ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ที่พวกเขาเกรงกลัวต้องเซ่นไหว้ทำพลีกรรม
..........การสร้างเวียงนพบุรีของลัวะ ที่มีพระฤาษีเป็นที่ปรึกษา กำหนดขอบเขตและแบบแปลนแผนผังของเมืองให้ รวมทั้งเป็นสื่อติดต่อขอเสาหลักเมืองที่ทำด้วยศิลาแท่งทึบจากพระอินทร์มาให้นั้น เสาหลักเมืองจึงได้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ตั้งแต่นั้นมา (พระอินทร์หรือเทวดาอาจหมายถึงกษัตริย์เมืองอื่นที่มีอำนาจเหนือชาวลัวะก็เป็นได้) แม้เสาหลักเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่ชนชาติไทยสร้างขึ้นภายหลัง ในถิ่นที่แผ่นดินเก่าของลัวะหรือละว้า ก็ให้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ถือเป็นมงคลนามตามนั้นด้วย เสาอินทขิลมีอยู่ 3 ต้นด้วยกันคือ
..........ต้นที่ 1 นั้น เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพระยาอามาตย์พร้อมใจกันกราบไหว้บูชา จะอยู่เจริญผาสุก แม้ข้าศึกศัตรูมารุกรานก็จะแตกพ่ายหนีไป และล้มตายหมดสิ้น
..........ต้นที่ 2 ต้นท่ามกลาง เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชา ก็จะเจริญผาสุกมั่งมีด้วยทรัพย์สินสมบัติ มีเดชานุภาพ แม้ข้าศึกศัตรูมารุกราน ก็จะแตกพ่ายไปโดยไม่ต้องออกรบ
..........ต้นที่ 3 ตั้งอยู่บ้านเมืองใด เมื่อพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชาแล้ว ข้าศึกศัตรูไม่อาจเข้ามารุกรานผ่านเขตแดนได้ พระอินทร์ได้ประทานเสาอินทขิลต้นที่ 2 ให้เวียงนพบุรี โดยให้กุมภัณฑ์ 2 ตนเอาเสาอินทขิลใส่สาแหรก หามนำมาประดิษฐานไว้เหนือแท่นกลางเมืองนพบุรี ที่ข้างล่างแท่นเป็น "หลุมกว้าง 7 วา  1 ศอก ลึก 2 วา ตบแต่งผนังเลื่อมมันมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว เอารูปสัตว์ต่าง ๆ บรรดามีในโลก ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก อย่างละคู่ (ผู้ตัวเมียตัว) ที่หล่อด้วยทองบรรจุไว้"
..........ในวัดเจดีย์หลวงปัจจุบัน มีรูปปั้นกุมภัณฑ์อยู่ 2 ศาล 2 ตน รูปพระฤาษี 1 ตน ถือเป็นของคู่กันกับเสาอินทขิล "เมื่อจุลศักราช 1162 ปีวอกโทศก (พ.ศ.2343) พระเจ้ากาวิละได้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 1 คู่ รูปฤาษี 1 ตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองฯ"
..........เมื่อครั้งพระเจ้ามังรายทรงเตรียมจะสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. 1835 ณ บริเวณหย่อมป่าท่ามกลางพงหญ้าคาบริเวณเขตที่ตั้งเมืองเชียงใหม่เก่าขณะนี้ "ก็ได้พบซากเมืองเก่าลักษณะสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขณะที่พญามังรายให้เสนาข้าราชบริพารแผ้วถางซากเวียงเก่านั้น ได้พบโบราณวัตถุคือรูปกุมภัณฑ์ก่ออิฐถือปูนสืบมาจากชนชาวลัวะ เสนาบางพวกจะทำลาย แต่บางพวกได้ห้ามไว้ แล้วนำเรื่องขึ้นกราบทูลพญามังราย พญามังรายจึงมีบัญชาให้แต่งเครื่องบรรณาการ ใช้ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย ผู้พูดภาษาลัวะได้ ไปหาพญาลัวะบนดอยอุจชุบรรพต พญาลัวะแนะนำว่า เวียงนี้หากจะให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล"
..........เมื่อชาวเมืองทำการกราบไหว้บูชาเสาอินทขิลมิได้ขาด และทำการเซ่นไหว้พลีกรรมกุมภัณฑ์ประจำ พร้อมทั้งตั้งตนอยู่ในศีลห้า รักษาสัจจะตามที่พระฤาษีสั่งสอน บ้านเมืองก็วัฒนาผาสุกร่มเย็นทำมาหากินค้าขึ้น ทำให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์ที่เนืองนองด้วย บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ทุกทิศทุกเขตของบ้านเมืองที่ใคร ๆ (มีปัญญา/ขยัน) เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลสัตย์ ก็ตั้งสัจจาธิษฐาน (แสวงหา) เอาได้ตามใจปรารถนา แม้ผู้คนจากบ้านอื่นเมืองไกลที่มุ่งร้ายหมายมารุกรานย่ำยี เมื่อมาถึงเมืองนพบุรีแล้วก็จะสยบสวามิภักดิ์ แปรสภาพเป็นพ่อค้าวาณิชมุ่งทำมาค้าขาย หาความร่ำรวยผาสุกรื่นรมย์ไปหมด
..........เมื่อนานเข้าผู้คนไม่รักษาคำสัตย์ปฏิบัติตนเป็นคนทุศีล ไม่ทำการเซ่นไหว้แต่ทำการอุกอาจย่ำยีดูหมิ่น และทิ้งของปฏิกูลบูดเน่า และขี้เยี่ยวรดราดกุมภัณฑ์ กุมภัณฑ์จึงนำเสาอินทขิลกลับไปเสีย ต่อมามีผู้เฒ่าลัวะคนหนึ่งที่เคยมากราบไหว้เสาอินทขิลประจำ เมื่อไม่เห็นก็เกิดปริวิตกทุกข์ร้อนกลัวว่าจะเกิดเหตุเภทภัยแก่บ้านเมือง ถึงกับร้องห่มร้องไห้เสียใจจึงละเพศจากฆราวาส ถือเพศเป็นตาปะขาวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ บริเวณที่เคยตั้งเสาอินทขิล ใต้ต้นยางนั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี (ปัจจุบันในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่อยู่ 3 ต้น)
..........ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าเขา จนบรรลุฌานสมบัติ มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้าได้มาบอกตาปะขาวว่า บ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยี ถึงกาลวิบัติล่มจม เพราะไม่มีเสาหลักเมืองให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชา อันเป็นที่มาของความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ตาปะขาวจึงประชุมปรึกษาหารือกับชาวเมืองและตกลงกันว่า ขอให้พระเถระเป็นสื่อติดต่อขอเสาอินทขิลจากพระอินทร์มาให้อีก
..........พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์นำเสาอินทขิลลงไปให้เมืองนพบุรีอีกครั้ง เมื่อทราบเหตุการณ์จากพระเถระแล้ว แต่กุมภัณฑ์ไม่ยอมไปเพราะเกลียดกลัวต่อพฤติกรรมต่ำหยาบของชาวเมือง พระอินทร์จึงขอให้พระเถระไปบอกชาวเมือง ให้สร้างเสาอินทขิลและปั้นรูปกุมภัณฑ์เทียมขึ้นใหม่ โดยหล่อกะทะขอบหนา 8 นิ้ว กว้าง 8 ศอก ปั้นรูปสัตว์บกสัตว์น้ำบรรดามีในโลกอย่างละคู่ และรูปมนุษย์ครบ 101 เจ็ดภาษา บรรจุไว้ในกะทะฝังไว้ท่ามกลางเมือง กลบดินปรับพื้นเสมอดีแล้ว ให้สร้างเสาหลักเมืองด้วยอิฐก่อสอปูน (ถือปูน) ประดิษฐานไว้บนนั้น (เสาอินทขิล ที่ย้ายจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง สมัยพระเจ้ากาวิละนั้น ผู้คนเชื่อว่าเป็นเสาเดียวกันกับที่สร้างขึ้นสมัยอาณาจักรลัวะ) แล้วทำการกราบไหว้บูชามิให้ขาดก็จะเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและผู้คน พลเมืองจะอยู่ดีมีกิน มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีโรคร้ายระบาดภัยเบียดเบียน
..........แสดงให้เห็นว่า เสาอินทขิล สร้างครั้งแรกทำด้วยหิน สร้างครั้งที่สองทำด้วยอิฐก่อโบกปูน เสาอินทขิลปัจจุบัน ก็สร้างด้วยอิฐก่อโบกปูนประดับลวดลายติดกระจกสี หลักเมืองนั้นเป็นเสมือนหลักชัยแห่งเมือง การสร้างหลักเมืองขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในบ้านเมืองนั้น ๆ ให้ก่อเกิดพลังคือความสามัคคีของพลเมือง จนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้กรอบศีลธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักเมืองทั่วไปทำด้วยไม้แกะสลักหรือหล่อด้วยโลหะ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัตถุชนิดใดคุณค่าก็เหมือนกัน จะก่อเกิดคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักให้ถูกต้องตามหลักโบราณประเพณี หากงมงายก็ไร้ค่าหาสาระมิได้
..........เสาอินทขิลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้ 5.67 เมตร สูง 1.30 เมตร แท่นพระบนเสาอินทขิลสูง 97 เซนติเมตร รอบ 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กัน พระเจ้ามังรายปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1839 แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อพุทธศักราช 2343
..........ทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขิลเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่าง ๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงาน ตลอด 7 วันของงานชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย จะพากันมาบูชาเสาอินทขิลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม อย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชตลอดงาน เมื่อจะทำการบูชาเสาอินทขิลด้วยดอกไม้ธูปเทียน ท่านให้กล่าวคำบูชาดังนี้
.........."อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ, อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง มังคะลัตถิ, อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง"
..........เริ่มงานเข้าอินทขิลแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ งานวันสุดท้ายขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น 2 เดือน) ออกอินทขิลขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เรียกกันติดปากว่า "เดือน 8 เข้า...เดือน 9 ออก" วันออกอินทขิลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชน ด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ 108 รูป ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง "4 แจ่ง 5 ประตู...1 อนุสาวรีย์" นั้น ทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน 9 เหนือวันใดวันหนึ่ง 14

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561

สวนสาธารณะหนองบวกหาด เชียงใหม่

สวนสาธารณะหนองบวกหาด

เป็นสวนสาธารณะใกล้กับ "แจ่งกู่เฮือง" สำหรับให้ประชาชนได้อาศัยเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง เป็นบริเวณจัดงานมหกรรมไม้ดอก-ไม้ประดับ


วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2561

พิพิธภัณฑ์เปิดบริเวณแจ่งศรีภูมิ บริเวณรอบคูเมือง เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์เปิดบริเวณแจ่งศรีภูมิ
 (ความตั้งใจที่่จะเล่าเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนี้ แล้วสังเกตว่ามีหลุม มีหลังคา คล้ายการขุดค้น มีศาลหลักเมือง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ และบุคคลบริเวณใกล้เคียง ต่างไม่มีใครทราบว่าหลุมนั้นคืออะไร จึงพยายามหาที่มาที่ไปมาเล่าสู่กันฟังครับ)



..........ช่วงปี พ.ศ.2539 ได้มีการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานกำแพงเมืองเชียงใหม่โดยใช้งบประมาณ OECF ในส่วนกิจกรรมบูรณะและซ่อมแซมประตูเมือง โดยจ้างเหมาให้บริษัทเอกชนดำเนินการ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน เป็นผู้รับงานนี้ โดยมีขอบเขตการทำงานขั้นต้น 3 ประการ คือ

..........1. บูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ ความยาว 550 เมตร พื้นที่ 4,400 ตารางเมตร
..........2. ขุดค้นศึกษารากฐานกำแพงเมือง หลุมขนาด 3x3 เมตร ลึก 5 เมตร 5 หลุม
..........3. ขุดแต่งรากฐานกำแพงเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่ทำการบูรณะพื้นที่ 3,300 ตารางเมตร ความลึกเฉลี่ย 50 เซนติเมตร


..........ในการขุดศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากกำแพงเมือง ภายใต้การควบคุมของนักโบราณคดี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ (ชื่อหน่วยงานขณะนั้น) กำหนดตำแหน่งหลุมขุดทดสอบ 5 แห่ง เพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน ดังนี้

..........1. หลุมขุดทดสอบที่ 1 และ 2 กำหนดขึ้นในบริเวณแนวกำแพงด้านตะวันออกของแจ่งหัวลิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนรากฐานของกำแพงเมืองด้านเหนือ
..........2. หลุมขุดทดสอบที่ 3 กำหนดขึ้นในบริเวณแนวกำแพงส่วนที่ต่อจากแจ่งกู่เรืองไปทางทิศตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากของกำแพงเมืองบริเวณแจ่งกู่เรือง
..........3. หลุมขุดทดสอบที่ 4 กำหนดขึ้นในบริเวณด้านบนของแจ่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในระบบความเชื่อที่เป็นศรีของเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาส่วนฐานรากด้านบนของแจ่งเมืองเชียงใหม่
..........4. หลุมขุดทดสอบที่ 5 กำหนดขึ้นในบริเวณด้านเหนือของกำแพงเมืองชั้นนอกหรือกำแพงดินด้านตะวันตกของโรงพยาบาลสวนปรุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของชั้นดินวัฒนธรรมของกำแพงเมืองชั้นในและกำแพงเมืองชั้นนอก

..........ผลการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในแต่ละหลุมนั้น นางสาววิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีของห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน ได้เขียนรายงานแล้ว จึงขอนำกล่าวเฉพาะหลุมที่น่าสนใจที่สุด คือ หลุมทดสอบที่ 4 บนแจ่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ทั้งในระบบความเชื่อและเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ยุคพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068) บริเวณนี้จึงพบหลักฐานต่าง ๆ มากที่สุดในบรรดา 5 หลุมที่ขุดทดสอบจากรายงานการขุดศึกษาชั้นดินทางโบราณคดี จำแนกได้เป็น 7 ชั้น ดังนี้

..........ชั้นดินที่ 1 เป็นชั้นดินวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน มีความหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร โบราณวัตถุที่พบ คือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบเขียวและเคลือบน้ำตาล ชิ้นส่วนโลหะเหล็กทรงดอกบัวตูม ด้านเหนือของหลุมทดสอบเป็นแนวกำแพงที่กรมศิลปากรเคยทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2529
..........ชั้นดินที่ 2 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม หลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่พบในชั้นนี้ คือ ร่องรอยอิฐปูพื้นที่พบต่อเนื่องมาจากแนวคานฐานรากตัวที่ 2 ในหลุมขุดทดสอบที่ 1 แนวอิฐปูพื้นดังกล่าวปูซ้อนกัน 1-2 ชั้น ไม่สม่ำเสมอ เป็นอิฐหักปะปนกับอิฐสมบูรณ์บางส่วน ในชั้นนี้ยังพบชั้นทับถมของกลุ่มถ่าน เศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกมนุษย์ กระดูกฟันช้าง เศษโลหะเหล็ก และเศษกระเบื้องหลังคาโบราณวัตถุดังกล่าวมีร่องรอยถูกเผาไหม้จนเป็นแถวชั้นถ่านสีดำเห็นได้ชัด ในบริเวณผนังด้านเหนือของหลุมทดสอบได้พบร่องรอยของแนวกำแพงก่ออิฐฉาบปูนโบราณสภาพสมบูรณ์
..........ชั้นดินที่ 3 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม พบโบราณวัตถุเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ แต่พบในอัตราส่วนจำนวนต่อพื้นที่ในปริมาณลดลงและพบเศษอิฐที่มีร่องรอยการฉาบปูน
..........ชั้นดินที่ 4 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม พบเศษอิฐที่มีร่องรอยการสอด้วยปูนขาว ลักษณะคล้ายอิฐที่เคยใช้ประกอบสถาปัตยกรรม แต่เมื่อสถาปัตยกรรมดังกล่าวพังทลายจึงนำอิฐส่วนนี้มาอัดเป็นฐานรากกำแพง
..........ชั้นดินที่ 5 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม โบราณวัตถุที่พบในชั้นนี้ คือ เสาอิฐฉาบปูน 1 ท่อน
..........ชั้นดินที่ 6 เป็นชั้นดินวัฒนธรรมที่ลึกสุด โบราณวัตถุที่พบ คือ ชิ้นส่วนกระเบื้องหลังคาเนื้อหยาบสีดินแดง
..........ชั้นดินที่ 7 ชั้นสุดท้าย เป็นชั้นดินธรรมชาติ ลักษณะเป็นดินร่วนเหนียวปนกรวดทราย มีกรวดแม่น้ำในชั้นดินเดิมก่อนสร้างกำแพงเมือง (รายงานผลการขุดค้นศึกษาโบราณวัตถุและชั้นดินทางโบราณคดี โดยนักโบราณคดี หจก.เฌอกรีน 2540)
..........โดยเหตุที่การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากกำแพงเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้เป็นการขุดค้นเพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรก ผลของการขุดค้นก็จะทำให้ได้หลักฐานประเภทที่ไม่เป็นลายลักษณ์เพิ่มขึ้น รอการประเมินอายุด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และการรองรับด้วยหลักฐานประเภทลายลักษณ์ก็จะได้คำอธิบายใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลักฐานประเภทลายลักษณ์ เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ระบุชัดว่า ปีรวายไจ้ ศักราช 878 ตัว หรือ พ.ศ.2059 ตรงกับสมัยพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068) ชาวเชียงใหม่และชาวต่างเมืองปั้นดินจักก่อเมกเวียงเชียงใหม่ปีต่อมาคือปีเมืองเป้า ศักราช 879 ตัว หรือ พ.ศ.2060 พญาแก้วโปรดฯ ให้หมื่นปิงยีคุมการก่อกำแพงเวียงด้วยอิฐเหล่านั้น (พื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับปริวรรตโดยนายทน ตนมั่น สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ พ.ศ.2514 หน้า 70)

..........การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้พบข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เช่น การพบแนวปูนฉาบซ้อน 2 แนว ณ บริเวณแจ่งศรีภูมิ ตลอดจนการขุดค้นเปิดหน้าดินให้เห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่รองรับน้ำหนักแจ่งขนาดใหญ่ที่เป็นจุดรับน้ำของเมืองเชียงใหม่จะช่วยให้ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ได้ศึกษากันต่อไป
..........สมโชติจึงได้เสนอผ่านสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ในการประชุมร่วมกันให้พิจารณาเปิดบริเวณดังกล่าวเป็น "พิพิธภัณฑ์เปิด" ของเมืองเชียงใหม่ โดยไม่ต้องปิดหลุมทดสอบบริเวณแจ่งศรีภูมิเหมือนหลุมอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของผู้สนใจต่อไป ซึ่งได้รับความเห็นชอบ
..........ต่อมา หจก.เฌอกรีน ได้บริจาควัสดุมุงหลังคากันฝนและแนวเหล็กป้องกันอันตรายและดำเนินการสร้างให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดอีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

อาคารโรงเรียนนักธรรม สำนักเรียนวัดสระเกษ วัดเกตการาม เชียงใหม่

อาคารโรงเรียนนักธรรม สำนักเรียนวัดสระเกษ


..........สร้างเมื่อ พ.ศ.2462 ในยุคที่เรียก วัดเกตการาม ปัจจุบันในชื่อของ "วัดสระเกษ" โดยจีนอินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง และนางจีบ ภริยา เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรมจนคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงเรียนปริยัติฯ ต่อมาภายหลังไม่มีการเรียนการสอนนักธรรม จึงใช้เป็นกุฏิให้พระเณรพักอาศัยแทน


..........สำหรับจีนอินทร์ หรือพ่ออินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้งนั้น ท่านเป็นคนมาจากที่อื่น เข้ามาตั้งหลักฐานอยู่กับบ้านวัดเกตด้วยการแต่งงานกับแม่จีบ มีบ้านตั้งอยู่ที่ปัจจุบันนี้คือ บริเวณที่จอดรถข้าง ๆ บ้านเลขที่ 89 ถนนเจริญราษฎร์ ติดกับสะพานจันทร์สมทางทิศใต้ พ่ออินทร์ท่านเป็นพ่อค้าขายของโชวห่วยใหญ่โตที่บ้านวัดเกต ท่านไม่มีลูกสืบตระกูล

..........แม่จีบนั้น ท่านเป็นหลานของหม่อมลมัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 89 ถนนเจริญราษฎร์นั่นเอง ความเป็นญาติของหม่อมลมัยกับแม่จีบนั้นเป็นดังนี้
ก. หม่อมลมัย มีพี่น้อง 4 คน สกุลเดิม แซ่ฉั่ว
..........ยายแช
..........ยายกิม
..........หม่อมลมัย ชื่อเดิม แม่ตุ่น
..........พระยาจันทร์ ชื่อเดิม ตายืน (รูปลงจอบแรก คนมีหนวด)
ข. ยายกิม มีลูก 4 คน ดังนี้
..........แม่จีบ
..........แม่เลี้ยง
..........แม่สร้อย
..........แม่เปลี่ยน เป็นลูกเลี้ยง (ลูกบุญธรรม)

..........1. แม่จีบไม่มีลูก แต่งงานกับพ่ออินทร์ แซ่ซิ้ม มีร้านขายของโชวห่วย ชื่อร้าน "ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง" ตั้งร้านอยู่ตรงหลังวัดเกตด้านหลังติดกับแม่น้ำปิง ผู้สร้างอาคารโรงเรียนนักธรรมวัดสระเกษถวายไว้ที่วัดเกต เมื่อ พ.ศ.2462 แม่จีบไม่มีลูกขอลูกของน้องสาวมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อบุญลอง ฉิมพลี
..........2. แม่เลี้ยงแต่งงานกับคนในสกุลฉิมพลี มีลูกชาย 2 คน คือ บุญลอง กับ ก้านเลียง ฉิมพลี
..........3. แม่สร้อย แต่งงานกับคนในสกุล อุทกภาช มีบุตรชาย 2 คน คือ พ.ต.ท.ชะลอ อุทกภาช ทำงานในกองสลาก อีกคนจำชื่อไม่ได้
..........4. แม่เปลี่ยนเป็นลูกบุญธรรม มีลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน คือ แม่คำตุ้ย ปัญจสังข์ ครูกิมเซ็ง ปัญจสังข์ และนางสาวทองสุข ปัญจสังข์
แม่คำตุ้ยมีลูก 4 คน คือ
..........นางสมจิตต์ ตียพันธ์
..........นางสมพร ลักษณ์ศิริ (ร้านพรภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ช้างม่อย เชียงใหม่)
..........นายสมพงษ์ คุณพัฒน์วัฒนา (พงษ์ภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ช้างม่อย เชียงใหม่)
..........นางสาวสมคิด คุณพัฒน์วัฒนา

..........ที่บ้านยายกิม พี่สาวหม่อมลมัยพร้อมด้วยลูก ๆ มีฝีมือในการทำขนมไทยระดับที่เจ้าในคุ้มหลวงมีการมีงานแล้วละก็ ขนมไทยของที่บ้านยายกิมเป็นต้องได้ขึ้นโต๊ะเสมอ ภาพที่หลาน ๆ คุ้นตาคือ แม่ตุ่น (หม่อมลมัย) จะหาบขนมไปส่งให้คุ้มหลวงด้วยตัวเองเสมอ เจ้าแก้วนวรัฐจึงได้ขอแม่ตุ่นให้แต่งงานกับเจ้าคุณกลาโหม

..........หม่อมลมัยเคยแต่งงานครั้งแรกกับเจ้าคุณกลาโหม มีบ้านอยู่ที่มุมขัวเหล็ก (สะพานนวรัฐ) ด้านทิศตะวันตก ไม่แน่ใจว่ามุมด้านทิศเหนือหรือทิศใต้ ภายหลังยกให้หลวงไป เมื่อเจ้าคุณถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจึงมาเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าพร้อมพงษ์อธิราช มีลูกสาว 2 คน
..........1. คุณหญิงใหญ่ (จำชื่อไม่ได้) แต่งงานมีลูกชายชื่อ ม.ร.ว.พัฒนไชย ไชยยันต์ ทำงานสภากาชาดไทย
..........2. คุณหญิงเล็ก คือ ม.ร.ว.อุไร สนิทวงศ์ แต่งงานกับ ศ.ดร.อภัย ชมุนี มีบุตรชาย 1 คน คือ คุณไพโรจน์ ชมุนี
..........พระยาจันทร์ (ตายืน) มีภรรยาชื่อบัวผัน พระยาจันทร์นามสกุล ธุรกิจสุเทพ ด้วยพระยาจันทร์ได้ช่วยครูบาศรีวิชัยทำถนนขึ้นดอยสุเทพ จากรูปลงจอบแรกของเจ้าแก้วนวรัฐจะเห็นคนมี "หนวดโง้ง" (หนวดโค้งเป็นวง) นั่นแหละคือ พระยาจันทร์

(รูปลงจอบแรกโดยเจ้าแก้วนวรัฐ ส่วนพญาจันทร์ คือ คนยืนกลางมีหนวดโง้ง ถือสลุงเงิน และหลวงศรีประกาศ คือ คนขวามือ)

..........กาลเวลาผันผ่าน สรรพสิ่งย่อมถึงการทรุดโทรมเป็นธรรมดา ในปี พ.ศ.2543 ชมรมทัวร์ป่าภาคเหนือ ททท.ร่วมกับคณะศรัทธาชาวบ้านวัดเกตจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำได้เงินตั้งต้นเพื่ออนุรักษ์อาคารโรงเรียนปริยัติฯนี้ 2 หมื่นกว่าบาท และต่อมาในปี พ.ศ.2544 ลูกหลานตระกูลอุนจะนำปุรณะพรรค์และโสภโณดร โดยมีคุณโกสินทร์ เกษทอง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น ผู้เป็นลูกหลานตระกูลพร้อมด้วยคุณนายจิตรลดา เกษทอง เป็นประธานการทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี ได้เงินอีก 2 แสนกว่าบาท รวมกับเงินทางวัดสมทบให้อีก นำมาซ่อมแซมอาคารหลังนี้จนแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.2547 นี้เอง ปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่ของพระเณรและรับแขกของทางวัด

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์วัดเกต

..........เมื่อ พ.ศ.2543 มีการปรับปรุง "โฮงตุ๊เจ้าหลวง" (กุฏิเจ้าอาวาส) โดยคุณจรินทร์ เบน (คุณลุงแจ๊ก) เป็นเก๊า คือ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับคณะสงฆ์ และคณะศรัทธาชาวบ้านวัดเกต จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ได้มีการเก็บรวบรวมของเก่า ทั้งภายในวัดเกตและรับบริจาคจากบุคคลทั่วไปมาแสดง เมื่อแรกเปิดใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์วัดสระเกษ" เพื่อเป็นการรำลึกถึงชื่อหนึ่งของวัดเกตในอดีต ซึ่งเคยใช้ตามที่ปรากฏบนหน้าบันอาคารโรงเรียนนักธรรมสำนักเรียนวัดสระเกษ (โรงเรียนปริยัติฯ) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "กุฏิพ่ออินทร์" ตามชื่อของผู้สร้างถวาย คือ จีนอินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง และแม่จีบภริยา เมื่อ พ.ศ.2462
..........พิพิธภัณฑ์วัดเกตนี้ นับได้ว่า "เป็นหน้าเป็นตา" ของวัดเกตเลยทีเดียว เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินการโดยชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาแท้ ๆ


ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย
..........1. รูปภาพเชียงใหม่ในอดีต เรียงตามลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหลัง ภาพเหล่านี้สามารถบอกเล่าความเป็นมาของเรื่องราวต่าง ๆ ในเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี รูปเหล่านี้ได้มาจากการเก็บรวบรวมจากหน้าหนังสือพิมพ์โดย คุณวุฒิพงศ์ สิทธิกุล ไวยาวัจกรวัดเกต ซึ่งเป็นรูปที่คุณบุญเสริม สาตราภัย ได้ถ่ายเองบ้าง เก็บสะสมและรับมอบมานำลงเผยแพร่เมื่อหลายปีมาแล้ว ภายหลังคุณจรินทร์ยังได้สั่งซื้อจากคุณบุญเสริมมาเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนั้นยังได้มาจากการถ่ายภาพของคุณคง เข็มเพ็ชร์ (ตาคง) บ้านทำขนมตาล อีกจำนวนหนึ่งด้วย เอื้อเฟื้อภาพโดย อาจารย์ดำรงค์ เข็มเพ็ชร (สามีคุณศิธร เข็มเพ็ชร ทายาทผู้สืบทอดการทำขนมตาล เป็นชั่วคนที่ 3 ของตระกูลนี้)
..........2. เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องมือช่าง ถ้วยโถโออ่าง ของใช้ในบ้านเรือนของคนเมืองในอดีต เป็นการบอกเล่าวิถีชีวิตคนเมืองในอดีต
..........3. ผ้าทอ ผ้าปักดิ้นเงิน ทั้งของเก่าของใหม่จากการเก็บรักษาของอาจารย์เสถียร ณ วงศ์รักษ์ รวมถึง "ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน" ที่มีตัวอักษร "อด" ปักไขว้กัน อ คือ อินทวิชยานนท์ ด คือ ดารารัศมี พร้อมมีโคลงสี่ปักด้วยดิ้นเงินถึง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาล้านนาว่าดังนี้
                              พัตราภาพผ่องแผ้ว       พรรณราย
                    งามสอาดลวดลาย                 ปักล้วน
                    เตือนจิตร์พินิศชาย                 เนตร์เพ่ง ชมเอย
                    ต้องจิตร์ติดใจถ้วน                ทุกผู้พิศเพลิน
..........นอกจากนี้ยังมี ธงมังกรพื้นแดง 2 คู่ ทั้งคู่ใหญ่และเล็ก นำเข้ามาจากเมืองจีน โดยนายจีนอู๊ นางแก้วมาลูน ตันไท่สุ่นหลี และนายแดง นางคำอุ้ม ชัยรัต เพื่อถวายไว้ที่วัดเกต ธงนี้ใช้ในงานพิธีอันเป็นมงคล เช่น งานกฐิน ผ้าป่า ที่น่าภาคภูมิใจ คือ เคยใช้นำหน้าขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2449 ครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ดังปรากฏในรูปเก่า ขณะที่กำลังข้ามสะพานหมอชีค หรือ ขัวกุลวา บริเวณท่าวัดเกตนั่นเอง และยังมีธงช้างเผือก ธงนาค หน้าหมอนอิง (หมอนขวาน)
..........4. หนังสือเก่า คัมภีร์ใบลาน พับสา ตำราพรหมชาติ
..........5. ฆ้องกลองชุดเล็กชุดใหญ่

หอไตรวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

หอไตรวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
ประวัติความเป็นมาของหอไตรและลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม


..........หอไตรหรือหอธรรม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่จัดเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา 
ในหลักฐานทางเอกสารของทางล้านนาเท่าที่มีการค้นพบได้มีการกล่าวถึงคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาแล้วตั้งแต่การเริ่มนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยโดยพระนางจามเทวี ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 
(พระรัตนเถระปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์, ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปล, พิมพ์ครั้งที่ 5 [กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2518] หน้า 87)

และพบว่ามีการกล่าวถึงพระไตรปิฎกที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่กลับไม่ระบุถึงการสร้างสถานที่เก็บรักษาเลย จนกระทั่งในรัชกาลของพระเจ้ายอดเชียงรายราว พ.ศ.2031 จึงพบหลักฐานที่กล่าวถึงการสร้างหอไตรเป็นครั้งแรก 
(คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3, [กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2508] หน้า 110)

แต่เข้าใจว่าหอไตรนั้นควรสร้างขึ้นมาก่อนหน้าพระเจ้ายอดเชียงรายแล้ว เพราะมีเอกสารที่กล่าวถึงในรัชกาลของพระเมืองแก้วได้โปรดให้นำปราสาทยอดเมืองมาสร้างแทนหอไตรหลังเก่าที่วัดมหาโพธาราม (เจ็ดยอด) ซึ่งหลังเดิมใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งชำระแล้วครั้งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช 
(พระรัตนเถระปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 144)

อาจกล่าวได้ว่าสืบเนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้เป็นเหตุให้มีคัมภีร์ทางพุทธศาสนามากขึ้นจึงเกิดความนิยมสร้างหอไตรเพื่อใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้คำเรียกว่า หอไตร หอธรรม พระธรรมมนเทียร พระมนเทียร หรือ ปิฎกฆระ ซึ่งหมายความถึงสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น

..........สำหรับประวัติความเป็นมาของหอไตรวัดพระสิงห์นี้เดิมได้มีนักวิชาการทำการศึกษาถึงรูปแบบศิลปะแล้วเข้าใจว่าเป็นหอไตรที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายเก่าภาพหนึ่ง
(บุญเสริม ศาสตราภัย, เสด็จลานนา 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 [เชียงใหม่ : อักษราภิพัฒน์, 2532] หน้า 37)

(รูปที่ 1 ภาพถ่ายเก่าที่เชื่อว่าเป็นหอไตรวัดพระสิงห์) และเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด
(พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, การขึ้นเป็นโบราณสถานภาคเหนือ, [ม.ปท : กรมศิลปากร, 2525] หน้า50) 

แต่จากการศึกษาในครั้งนี้ได้พบหลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาการสร้างหอไตรจากศิลาจารึกหินทรายแดงที่แต่เดิมตั้งอยู่ใกล้ฐานพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เนื้อความในศิลาจารึกกล่าวถึงสมเด็จเชษฐาบรมพิตราธรรมิกราชาธิราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พระยากาวิละ) ได้นิมนต์พระสังฆราชาวัดพระสิงห์สร้างพระอุโบสถ มณฑปปราสาทภายในอุโบสถและหอธรรมปิฎกขึ้นเมื่อวันพุธ เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ พ.ศ.2354 การสร้างหอธรรมในครั้งนี้ไม่อาจทราบรายละเอียดของลักษณะหอไตรและการตกแต่ง แต่คงมีการประดับตกแต่งเช่นเดียวกับพระอุโบสถที่ระบุว่า "กระทำเลขประติมากรรม ด้วยสุวรรณกาญจนคำแดง แสงงามตามแต่โบราณพระราชกษัตรา" วัสดุที่ใช้ทราบรายละเอียดจากรายการที่ระบุไว้ตอนท้ายว่า "ค่ารัก หาง คำปิว (ทองคำเปลว) แก้วกระจก หรดาน น้ำอ้อย ปูน เหล็ก ดินจี่ (อิฐ) เดง (กระดิ่ง)
(ศิลาจารึกหินทรายแดง วัดพระสิงห์, คลังข้อมูลจารึกล้านนา ฝ่ายวิจัยล้านนา สถาบันวิจัยสังคม, เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์)

..........ต่อมาราว พ.ศ.2377 หอไตรองค์นี้อาจถูกบูรณะขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยครูบากัญจนมหาเถร วัดสูงเม่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าในปี พ.ศ.2376 คราวที่ครูบากัญจนพำนักในเมืองเชียงใหม่ได้ชักชวนสังฆราชวัดสวนดอกร่วมกันสังคายนาพระไตรปิฎกและตั้งฉลองไว้ที่วัดพระสิงห์ 
(ประวัติครูบากัญจน วัดสูงเม่น, เอกสารโรเนียว)

หอไตรวัดพระสิงห์อาจถูกบูรณะเพื่อการสังคายนาพระไตรปิฎกคราวนั้นก็ได้ การซ่อมแซมหอไตรอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้ายน่าจะได้แก่การซ่อมเมื่อ พ.ศ.2469 คราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังมณฑลพายัพ ทรงทอดพระเนตรเห็นหอไตรวัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมาก


(รูปที่ 2 หอไตรวัดพระสิงห์ก่อนบูรณะ, เสด็จลานนา 1)

จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งให้บูรณะตามลักษณะเดิม และฉลองสมโภชในปี พ.ศ.2472
(บุญเสริม ศาสตราภัย, เสด็จลานนา 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 [เชียงใหม่ : อักษราภิพัฒน์, 2532} หน้า 51)

นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานสนับสนุนในใบฎีกาแผ่กุศลปฏิสังขรณ์พระธาตุวัดเจดีย์หลวงและอุโบสถพระธาตุน้อยวัดพระสิงห์นครเชียงใหม่ ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาได้ส่งนายช่างขึ้นมาบูรณะหอไตร
(จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2469, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ 2474, [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2474] หน้า 118)

..........จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่าหอไตรวัดพระสิงห์สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ แต่ความรู้นี้ได้ถูกหลงลืมไปจนเกิดความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับอายุเวลาในการสร้างดังที่ผ่านมา ส่วนการบูรณะที่ช่างของราชบัณฑิตยสภาขึ้นมาบูรณะนั้นเป็นการซ่อมทับตัวอาคารเดิม โดยเมื่อสังเกตจากภาพถ่ายที่ถ่ายก่อนการบูรณะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางส่วน ที่เห็นเด่นชัดได้แก่การเปลี่ยนรูปแบบของป้านลมให้เป็นป้านลมที่มีงวงนาคเกี่ยวหัวแป๋ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ลักษณะของลวดลายที่ประดับได้แสดงถึงการซ่อมขึ้นใหม่ทั้งหมด และคงจะมีการซ่อมทับบนลายนี้อีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้น เพราะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของเนื้อปูนปั้น

..........เกี่ยวกับคติความเชื่อของหอไตร นอกจากเชื่อกันว่าใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก รวมทั้งคัมภีร์ทางพุทธศาสนาหลายประเภทแล้ว เนื้อความในจารึกยังระบุถึงความเชื่อที่ว่าเป็นอนิสงส์ที่ช่วยรักษาให้พุทธศาสนายืนยาวถึง 5000 ปี ตามพุทธทำนาย ตลอดจนเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และเทวดาตามความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย
(คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3, หน้า 112)

ลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
..........หอไตรวัดพระสิงห์มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวอยู่ในแนวทิศตะวันตก - ตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสูง โดยรอบลานประทักษิณก่อเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ กึ่งกลางด้านหน้าและด้านหลังของลานประทักษิณมีบันไดทางขึ้น โดยราวบันไดด้านหน้าเป็นรูปมกรคายนาค ส่วนราวบันไดด้านหลังเป็นลำตัวและหางม้วนรูปตัวเหงา


(แผนผังที่ 1)

..........หอไตรเป็นหอสูงสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ฐานหอไตรชั้นล่างประกอบด้วยหน้ากระดานรับฐานปัทม ท้องไม้ของฐานปัทมประดับด้วยลายปูนปั้นรูปสัตว์ในกรอบคดโค้ง ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 4 บาน ที่ว่างระหว่างหน้าต่างประดับประติมากรรมรูปเทวดาปูนปั้น เหนือแถวเทวดามีชั้นบัวคว่ำบัวหงาย ระหว่างชั้นประดับด้วยแถวรูปสัตว์ในกรอบคดโค้งเช่นเดียวกับแถวสัตว์ด้านล่าง แถวสัตว์ในกรอบคดโค้งเฉพาะส่วนมุขด้านหน้าทำลดระดับลงตามการลดระดับของมุขผนังหอไตร ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นหอไตรชั้นบนมีมกรคายสิงห์เป็นราวบันได ผนังด้านหลังเจาะเป็นช่องประตูทางเข้าหอไตรชั้นล่าง

..........หอไตรชั้นบนสร้างด้วยไม้มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกับผังชั้นล่าง แต่มุขโถงด้านหน้าลดระดับลงเล็กน้อย ผนังด้านข้างเป็นฝาไม้เข้าลิ้นปิดทึบจนถึงแป๋ป๋าง ประดับลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ผนังด้านหน้าเจาะเป็นช่องประตูจนเต็มพื้นที่ระหว่างเสาคู่กลาง พื้นที่นอกนั้นเป็นฝาไม้เข้าลิ้น ผนังด้านหลังเป็นฝาไม้เข้าลิ้นปิดทึบตลอดขื่อ รวมทั้งหน้าแหนบด้วย 


..........ระบบการรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาของหอไตรเป็นระบบเสากับคาน โดยมีเสาอยู่ 4 แถว ระหว่างเสาคู่กลางมีขื่อหลวง ตุ๊กตา รับม้าตั่งไหม ดั้งรับน้ำหนักจากแป๋จ๋อง แป๋ลอย กล๋อนลาด กั้นฝ้าและกระเบื้องดินขอของหลังคากลาง ขณะที่ระหว่างเสาแถวข้างและเสาแถวกลางมีเสาสะโก่น ขื่อป๋อก ตุ๊กตา กล๋อนลาด กั้นฝ้า และกระเบื้องดินขอของหลังคาปีกนก


..........หลังคาหอไตรทำชั้นลดลงทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 1 ชั้น และลดระดับปีกนกด้านข้างด้านละ 1 ตับ บริเวณคอสองมีแผงไม้เข้าลิ้นปิดทึบทั้งหมด หน้าจั่วประดับด้วยป้านลมที่ปิดครอบทับหัวแป๋


ตลอดแนวสันหลังคาประดับด้วยรูปหงษ์ดินเผาเคลือบสีเขียวมะกอก


..........ระบบโครงสร้างการรับน้ำหนักของหลังคาอาคารไม้ของล้านนา  ที่ประกอบด้วย ขื่อ ตุ๊กตา ดั้ง ของหลังคากลางและหลังคาส่วนปีกนก คงเป็นระบบการสร้างโครงรับน้ำหนัก ที่ทางล้านนาเรียกว่า "ขื่อม้าต่างไหม" เป็นระบบที่มีตัวขื่อหลวงวางพาดระหว่างหัวเสารับน้ำหนักจาก ขื่อยี่ ขื่อสาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายม้านั่งวางซ้อนขึ้นไป รับน้ำหนักของ แป๋ กล๋อนลาด กั้นฝ้า และกระเบื้องหลังคา 


การสร้างโครงสร้างขื่อม้าตั่งไหมได้มีประมวลไว้ในตำราโบราณว่า "...ตัดไม้วิหาร หื้อเอาขื่อหลวงเป็นนาย หื้อเอามาแทก หัวหื้อเป็นหัวของมันแล้วเหลี่ยมแป๋มาตั้งแล้ว หักกลางใจ๋ไว้แล้วแทกขื่อหลวงมาหัก 6 เสีย 2 ส่วน ยัง 4 ส่วน เป็นขื่อยี่ ตั่งไหมท่าวลุกหัวขึ้นแกมนอกนั้นแล หัวขี้แทกนั้นเหลี่ยมเดี่ยวเป็นนาย อย่าหื้อมันขวากยากเพื่อขื่อม้านั้นหื้อเอาเก่งขื่อหลวงแถม นอกนั้นม้ายี่นั้น หื้อเอาหัวขื่อหลวงมาแปหลังม้า แต่หัวเข้ามาปูนไหนหมายหั้นเป็นขื่อม้ายี่แล ม้า 3 นั้นก็เอาขื่อยี่มาตั้งปูนไหนหมายหั้นเป็นม้า 3 แล ในไม้อันหัก 6 เสีย 2 ส่วน เป็นสะโก่นแกนนอกนั้น เป็นคอกีบเสีย 1 ย่ำแป๋ขึ้นบน ในที่อันหัก 2 อัน ลุ่มนั้นม้า 3 แป๋หลังทังมาเข้าตีนตั่งไหมชุอันแล ในแปอ้ายหลัง ซดนั้นมาเข้าสะโก่นนั้น หื้อหักคอกีบหลังเป็น 8 ส่วนไว้บน 2 ส่วน แป๋อ้ายเข้าหั้น แลแทกคอกีบลงมาปลงคอคีบหลังซด ในยางนาคชายคาบนนั้นหื้อเอา 8 หัก แป๋แต่กี้นั้นไว้ลุ่ม 2 บน 8 ย่ำแกนขี้ยางเท่าหัว แต่ตีนตั่งไหมออกเแปนในนั้นแล ในยางชายลุ่มนั้นเป็นดั้ง ยางบนดังเก่า ในยางซ้อนแป๋ซดมาจับนั้น หื้อแทกแต่ปล๋ายสะโก่นนั้นลงมาถึงตีนยางลงรอดที่ใด บางเข้าหั้นชุหลังแลเท่าว่าแป๋อ้ายหื้อเข้าเสาหลวง แป๋ยี่นั้นหื้อปลงตุ้มขื่อหลวงล้ำนั้น ก็หื่อลำดับกันลงมาชุที่ ในขื่อมานั้นบ่เป็นขื่อนัก เอา 3 จักใค่จืดหื้อห้อยก็ปลงตามนั้น จักจิ่มพอหื้อเป็นประตู ก็ปลงตามนั้นเทอะฯ..." ระบบขื่อม้าตั้งไหมเป็นระบบโครงสร้างที่มีมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากหลักฐานในรัชกาลพญามังรายว่า มีช่างการโถมได้ปรุงเครื่องไม้วิหารที่เชียงแสน แล้วนำลงมาประกอบที่เวียงกุมกาม การสร้างครั้งนั้นก็มีการกล่าวถึง แปอ้ายแปยี่ ขื่อม้าตั่งไหมแล้ว
(บาลี พุทธรักษา [บรรณาธิการ], ตำนานสิบห้าราชวงศ์เล่มที่ 1 ผูกที่ 1-2, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 81)

ระบบโครงสร้างขื่อม้าตั่งไหมยังคงใช้สืบต่อมาในอาคารสร้างไม้ของศิลปล้านนาเป็นระยะเวลานานโครงสร้างหลังคาวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวงที่เข้าใจว่าเป็นระบบโครงสร้างตั้งแต่ราว พ.ศ.2044
(สามารถ สิริเวชพันธุ์, วิหารโถง ซุ้มโขง สกุลช่างลำปาง, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 3)

ก็เป็นระบบขื่อม้าตั่งไหม รวมทั้งวิหารวัดปงยางคกที่พระมหาป่าเกสระเจ้าอาวาสวัดไหล่หินเป็นผู้ซ่อมราว พ.ศ.2317-2329 ด้วย
((สามารถ สิริเวชพันธุ์, วิหารโถง ซุ้มโขง สกุลช่างลำปาง, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 7)

ระบบขื่อม้าตั่งไหมคงนิยมสร้างกันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาของวิหารหรืออุโบสถ แม้แต่วิหารวัดเชียงมั่นที่เจ้าราชวงศ์ได้สร้างเมื่อวันเสาร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ.2469
(คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี, [เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, 2538] หน้า 164)

ก็คงยังใช้ระบบม้าตั่งไหมเช่นกันระบบโครงสร้างม้าตั่งไหม คงจะมีการพัฒนาการรูปแบบของตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าบางครั้งได้มีขื่อหลวงซ้อนกันสองชั้น แต่ขื่อตัวล่างไม่ได้รับน้ำหนักของโครงหลังคาแต่อย่างใดคงเป็นเพียงโครงหน้าจั่วธรรมดาที่ประกอบด้วยดั้งและขื่อหลวง แต่ยังคงมีหน้าแหนบที่ประกอบโครงไม้เลียนแบบม้าตั่งไหม ซึ่งไม่ได้รับน้ำหนักโครงหลังคาแต่อย่างใด เช่น วิหารวัดบวกครกหลวง เชียงใหม่
(วรลัญจก์ บุณยสุวัตน์, หน้าแหนบแบบล้านนาของวิหารในจังหวัดเชียงใหม่, เมืองโบราณ, ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2537, หน้า 50)

เทคนิคการเข้าไม้
..........การประกอบโครงไม้ของหอไตรวัดพระสิงห์ ใช้การทดลองประกอบก่อนจากด้านล่างแล้วยกขึ้นไปติดตั้งข้างบนเพราะโครงม้าตั่งไหมไม่มีการตอกยึดด้วยตะปูเป็นการประกอบด้วยลิ่มไม้ทั้งหมด ยกเว้นการประกอบผนังไม้กรอบ ที่ทำแผงไม้เข้าลิ้นเป็นแผ่น แล้วนำขึ้นไปประกอบติดกับเสาด้วยตะปูเหล็ก รวมทั้งการยึดกล๋อนลาด กั้นฝ้าที่ใช้ตะปูตอกยึดเช่นกัน เทคนิคการเข้าไม้ของช่างที่สร้างหอไตรองค์นี้อาจจะแยกได้ 2 แบบคือ
..........1. การใช้เดือย (เดี่ยว) มีการใช้เดือยทั้งเดือยเดี่ยวและเดือยคู่ เดือยเดี่ยวมักเป็นเดือยที่ใช้ประกอบโครงสร้างม้าตั่งไหมทั้งหลังคากลางและหลังคาปีกนก 


ในขณะที่เดือยคู่ใช้กับแผ่นไม้ที่มีขนาดกว้างกว่าได้แก่ ฝาย้อย
..........2. การทำไม้เข้าลิ้น พบในส่วนของการประกอบผนัง ซึ่งกรอบของผนังจะเป็นการเข้าเดือยเป็นมุม 45 องศา แต่แผ่นไม้ที่ประกอบด้านในของลายตาผ้าใช้วิธีใสออกด้านละครึ่งแล้วประกบเข้าด้วยกัน