พิพิธภัณฑ์วัดเกต
..........เมื่อ พ.ศ.2543 มีการปรับปรุง "โฮงตุ๊เจ้าหลวง" (กุฏิเจ้าอาวาส) โดยคุณจรินทร์ เบน (คุณลุงแจ๊ก) เป็นเก๊า คือ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับคณะสงฆ์ และคณะศรัทธาชาวบ้านวัดเกต จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ได้มีการเก็บรวบรวมของเก่า ทั้งภายในวัดเกตและรับบริจาคจากบุคคลทั่วไปมาแสดง เมื่อแรกเปิดใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์วัดสระเกษ" เพื่อเป็นการรำลึกถึงชื่อหนึ่งของวัดเกตในอดีต ซึ่งเคยใช้ตามที่ปรากฏบนหน้าบันอาคารโรงเรียนนักธรรมสำนักเรียนวัดสระเกษ (โรงเรียนปริยัติฯ) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "กุฏิพ่ออินทร์" ตามชื่อของผู้สร้างถวาย คือ จีนอินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง และแม่จีบภริยา เมื่อ พ.ศ.2462
..........พิพิธภัณฑ์วัดเกตนี้ นับได้ว่า "เป็นหน้าเป็นตา" ของวัดเกตเลยทีเดียว เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินการโดยชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาแท้ ๆ
ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย
..........1. รูปภาพเชียงใหม่ในอดีต เรียงตามลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหลัง ภาพเหล่านี้สามารถบอกเล่าความเป็นมาของเรื่องราวต่าง ๆ ในเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี รูปเหล่านี้ได้มาจากการเก็บรวบรวมจากหน้าหนังสือพิมพ์โดย คุณวุฒิพงศ์ สิทธิกุล ไวยาวัจกรวัดเกต ซึ่งเป็นรูปที่คุณบุญเสริม สาตราภัย ได้ถ่ายเองบ้าง เก็บสะสมและรับมอบมานำลงเผยแพร่เมื่อหลายปีมาแล้ว ภายหลังคุณจรินทร์ยังได้สั่งซื้อจากคุณบุญเสริมมาเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนั้นยังได้มาจากการถ่ายภาพของคุณคง เข็มเพ็ชร์ (ตาคง) บ้านทำขนมตาล อีกจำนวนหนึ่งด้วย เอื้อเฟื้อภาพโดย อาจารย์ดำรงค์ เข็มเพ็ชร (สามีคุณศิธร เข็มเพ็ชร ทายาทผู้สืบทอดการทำขนมตาล เป็นชั่วคนที่ 3 ของตระกูลนี้)
..........2. เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องมือช่าง ถ้วยโถโออ่าง ของใช้ในบ้านเรือนของคนเมืองในอดีต เป็นการบอกเล่าวิถีชีวิตคนเมืองในอดีต
..........3. ผ้าทอ ผ้าปักดิ้นเงิน ทั้งของเก่าของใหม่จากการเก็บรักษาของอาจารย์เสถียร ณ วงศ์รักษ์ รวมถึง "ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน" ที่มีตัวอักษร "อด" ปักไขว้กัน อ คือ อินทวิชยานนท์ ด คือ ดารารัศมี พร้อมมีโคลงสี่ปักด้วยดิ้นเงินถึง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาล้านนาว่าดังนี้
พัตราภาพผ่องแผ้ว พรรณราย
งามสอาดลวดลาย ปักล้วน
เตือนจิตร์พินิศชาย เนตร์เพ่ง ชมเอย
ต้องจิตร์ติดใจถ้วน ทุกผู้พิศเพลิน
..........นอกจากนี้ยังมี ธงมังกรพื้นแดง 2 คู่ ทั้งคู่ใหญ่และเล็ก นำเข้ามาจากเมืองจีน โดยนายจีนอู๊ นางแก้วมาลูน ตันไท่สุ่นหลี และนายแดง นางคำอุ้ม ชัยรัต เพื่อถวายไว้ที่วัดเกต ธงนี้ใช้ในงานพิธีอันเป็นมงคล เช่น งานกฐิน ผ้าป่า ที่น่าภาคภูมิใจ คือ เคยใช้นำหน้าขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2449 ครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ดังปรากฏในรูปเก่า ขณะที่กำลังข้ามสะพานหมอชีค หรือ ขัวกุลวา บริเวณท่าวัดเกตนั่นเอง และยังมีธงช้างเผือก ธงนาค หน้าหมอนอิง (หมอนขวาน)
..........4. หนังสือเก่า คัมภีร์ใบลาน พับสา ตำราพรหมชาติ
..........5. ฆ้องกลองชุดเล็กชุดใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น