วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

หอไตรวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

หอไตรวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
ประวัติความเป็นมาของหอไตรและลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม


..........หอไตรหรือหอธรรม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่จัดเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา 
ในหลักฐานทางเอกสารของทางล้านนาเท่าที่มีการค้นพบได้มีการกล่าวถึงคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาแล้วตั้งแต่การเริ่มนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยโดยพระนางจามเทวี ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 
(พระรัตนเถระปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์, ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปล, พิมพ์ครั้งที่ 5 [กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2518] หน้า 87)

และพบว่ามีการกล่าวถึงพระไตรปิฎกที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่กลับไม่ระบุถึงการสร้างสถานที่เก็บรักษาเลย จนกระทั่งในรัชกาลของพระเจ้ายอดเชียงรายราว พ.ศ.2031 จึงพบหลักฐานที่กล่าวถึงการสร้างหอไตรเป็นครั้งแรก 
(คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3, [กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2508] หน้า 110)

แต่เข้าใจว่าหอไตรนั้นควรสร้างขึ้นมาก่อนหน้าพระเจ้ายอดเชียงรายแล้ว เพราะมีเอกสารที่กล่าวถึงในรัชกาลของพระเมืองแก้วได้โปรดให้นำปราสาทยอดเมืองมาสร้างแทนหอไตรหลังเก่าที่วัดมหาโพธาราม (เจ็ดยอด) ซึ่งหลังเดิมใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งชำระแล้วครั้งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช 
(พระรัตนเถระปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 144)

อาจกล่าวได้ว่าสืบเนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้เป็นเหตุให้มีคัมภีร์ทางพุทธศาสนามากขึ้นจึงเกิดความนิยมสร้างหอไตรเพื่อใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้คำเรียกว่า หอไตร หอธรรม พระธรรมมนเทียร พระมนเทียร หรือ ปิฎกฆระ ซึ่งหมายความถึงสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น

..........สำหรับประวัติความเป็นมาของหอไตรวัดพระสิงห์นี้เดิมได้มีนักวิชาการทำการศึกษาถึงรูปแบบศิลปะแล้วเข้าใจว่าเป็นหอไตรที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายเก่าภาพหนึ่ง
(บุญเสริม ศาสตราภัย, เสด็จลานนา 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 [เชียงใหม่ : อักษราภิพัฒน์, 2532] หน้า 37)

(รูปที่ 1 ภาพถ่ายเก่าที่เชื่อว่าเป็นหอไตรวัดพระสิงห์) และเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด
(พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, การขึ้นเป็นโบราณสถานภาคเหนือ, [ม.ปท : กรมศิลปากร, 2525] หน้า50) 

แต่จากการศึกษาในครั้งนี้ได้พบหลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาการสร้างหอไตรจากศิลาจารึกหินทรายแดงที่แต่เดิมตั้งอยู่ใกล้ฐานพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เนื้อความในศิลาจารึกกล่าวถึงสมเด็จเชษฐาบรมพิตราธรรมิกราชาธิราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พระยากาวิละ) ได้นิมนต์พระสังฆราชาวัดพระสิงห์สร้างพระอุโบสถ มณฑปปราสาทภายในอุโบสถและหอธรรมปิฎกขึ้นเมื่อวันพุธ เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ พ.ศ.2354 การสร้างหอธรรมในครั้งนี้ไม่อาจทราบรายละเอียดของลักษณะหอไตรและการตกแต่ง แต่คงมีการประดับตกแต่งเช่นเดียวกับพระอุโบสถที่ระบุว่า "กระทำเลขประติมากรรม ด้วยสุวรรณกาญจนคำแดง แสงงามตามแต่โบราณพระราชกษัตรา" วัสดุที่ใช้ทราบรายละเอียดจากรายการที่ระบุไว้ตอนท้ายว่า "ค่ารัก หาง คำปิว (ทองคำเปลว) แก้วกระจก หรดาน น้ำอ้อย ปูน เหล็ก ดินจี่ (อิฐ) เดง (กระดิ่ง)
(ศิลาจารึกหินทรายแดง วัดพระสิงห์, คลังข้อมูลจารึกล้านนา ฝ่ายวิจัยล้านนา สถาบันวิจัยสังคม, เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์)

..........ต่อมาราว พ.ศ.2377 หอไตรองค์นี้อาจถูกบูรณะขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยครูบากัญจนมหาเถร วัดสูงเม่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าในปี พ.ศ.2376 คราวที่ครูบากัญจนพำนักในเมืองเชียงใหม่ได้ชักชวนสังฆราชวัดสวนดอกร่วมกันสังคายนาพระไตรปิฎกและตั้งฉลองไว้ที่วัดพระสิงห์ 
(ประวัติครูบากัญจน วัดสูงเม่น, เอกสารโรเนียว)

หอไตรวัดพระสิงห์อาจถูกบูรณะเพื่อการสังคายนาพระไตรปิฎกคราวนั้นก็ได้ การซ่อมแซมหอไตรอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้ายน่าจะได้แก่การซ่อมเมื่อ พ.ศ.2469 คราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังมณฑลพายัพ ทรงทอดพระเนตรเห็นหอไตรวัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมาก


(รูปที่ 2 หอไตรวัดพระสิงห์ก่อนบูรณะ, เสด็จลานนา 1)

จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งให้บูรณะตามลักษณะเดิม และฉลองสมโภชในปี พ.ศ.2472
(บุญเสริม ศาสตราภัย, เสด็จลานนา 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 [เชียงใหม่ : อักษราภิพัฒน์, 2532} หน้า 51)

นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานสนับสนุนในใบฎีกาแผ่กุศลปฏิสังขรณ์พระธาตุวัดเจดีย์หลวงและอุโบสถพระธาตุน้อยวัดพระสิงห์นครเชียงใหม่ ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาได้ส่งนายช่างขึ้นมาบูรณะหอไตร
(จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2469, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ 2474, [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2474] หน้า 118)

..........จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่าหอไตรวัดพระสิงห์สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ แต่ความรู้นี้ได้ถูกหลงลืมไปจนเกิดความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับอายุเวลาในการสร้างดังที่ผ่านมา ส่วนการบูรณะที่ช่างของราชบัณฑิตยสภาขึ้นมาบูรณะนั้นเป็นการซ่อมทับตัวอาคารเดิม โดยเมื่อสังเกตจากภาพถ่ายที่ถ่ายก่อนการบูรณะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางส่วน ที่เห็นเด่นชัดได้แก่การเปลี่ยนรูปแบบของป้านลมให้เป็นป้านลมที่มีงวงนาคเกี่ยวหัวแป๋ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ลักษณะของลวดลายที่ประดับได้แสดงถึงการซ่อมขึ้นใหม่ทั้งหมด และคงจะมีการซ่อมทับบนลายนี้อีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้น เพราะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของเนื้อปูนปั้น

..........เกี่ยวกับคติความเชื่อของหอไตร นอกจากเชื่อกันว่าใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก รวมทั้งคัมภีร์ทางพุทธศาสนาหลายประเภทแล้ว เนื้อความในจารึกยังระบุถึงความเชื่อที่ว่าเป็นอนิสงส์ที่ช่วยรักษาให้พุทธศาสนายืนยาวถึง 5000 ปี ตามพุทธทำนาย ตลอดจนเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และเทวดาตามความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย
(คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3, หน้า 112)

ลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
..........หอไตรวัดพระสิงห์มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวอยู่ในแนวทิศตะวันตก - ตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสูง โดยรอบลานประทักษิณก่อเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ กึ่งกลางด้านหน้าและด้านหลังของลานประทักษิณมีบันไดทางขึ้น โดยราวบันไดด้านหน้าเป็นรูปมกรคายนาค ส่วนราวบันไดด้านหลังเป็นลำตัวและหางม้วนรูปตัวเหงา


(แผนผังที่ 1)

..........หอไตรเป็นหอสูงสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ฐานหอไตรชั้นล่างประกอบด้วยหน้ากระดานรับฐานปัทม ท้องไม้ของฐานปัทมประดับด้วยลายปูนปั้นรูปสัตว์ในกรอบคดโค้ง ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 4 บาน ที่ว่างระหว่างหน้าต่างประดับประติมากรรมรูปเทวดาปูนปั้น เหนือแถวเทวดามีชั้นบัวคว่ำบัวหงาย ระหว่างชั้นประดับด้วยแถวรูปสัตว์ในกรอบคดโค้งเช่นเดียวกับแถวสัตว์ด้านล่าง แถวสัตว์ในกรอบคดโค้งเฉพาะส่วนมุขด้านหน้าทำลดระดับลงตามการลดระดับของมุขผนังหอไตร ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นหอไตรชั้นบนมีมกรคายสิงห์เป็นราวบันได ผนังด้านหลังเจาะเป็นช่องประตูทางเข้าหอไตรชั้นล่าง

..........หอไตรชั้นบนสร้างด้วยไม้มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกับผังชั้นล่าง แต่มุขโถงด้านหน้าลดระดับลงเล็กน้อย ผนังด้านข้างเป็นฝาไม้เข้าลิ้นปิดทึบจนถึงแป๋ป๋าง ประดับลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ผนังด้านหน้าเจาะเป็นช่องประตูจนเต็มพื้นที่ระหว่างเสาคู่กลาง พื้นที่นอกนั้นเป็นฝาไม้เข้าลิ้น ผนังด้านหลังเป็นฝาไม้เข้าลิ้นปิดทึบตลอดขื่อ รวมทั้งหน้าแหนบด้วย 


..........ระบบการรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาของหอไตรเป็นระบบเสากับคาน โดยมีเสาอยู่ 4 แถว ระหว่างเสาคู่กลางมีขื่อหลวง ตุ๊กตา รับม้าตั่งไหม ดั้งรับน้ำหนักจากแป๋จ๋อง แป๋ลอย กล๋อนลาด กั้นฝ้าและกระเบื้องดินขอของหลังคากลาง ขณะที่ระหว่างเสาแถวข้างและเสาแถวกลางมีเสาสะโก่น ขื่อป๋อก ตุ๊กตา กล๋อนลาด กั้นฝ้า และกระเบื้องดินขอของหลังคาปีกนก


..........หลังคาหอไตรทำชั้นลดลงทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 1 ชั้น และลดระดับปีกนกด้านข้างด้านละ 1 ตับ บริเวณคอสองมีแผงไม้เข้าลิ้นปิดทึบทั้งหมด หน้าจั่วประดับด้วยป้านลมที่ปิดครอบทับหัวแป๋


ตลอดแนวสันหลังคาประดับด้วยรูปหงษ์ดินเผาเคลือบสีเขียวมะกอก


..........ระบบโครงสร้างการรับน้ำหนักของหลังคาอาคารไม้ของล้านนา  ที่ประกอบด้วย ขื่อ ตุ๊กตา ดั้ง ของหลังคากลางและหลังคาส่วนปีกนก คงเป็นระบบการสร้างโครงรับน้ำหนัก ที่ทางล้านนาเรียกว่า "ขื่อม้าต่างไหม" เป็นระบบที่มีตัวขื่อหลวงวางพาดระหว่างหัวเสารับน้ำหนักจาก ขื่อยี่ ขื่อสาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายม้านั่งวางซ้อนขึ้นไป รับน้ำหนักของ แป๋ กล๋อนลาด กั้นฝ้า และกระเบื้องหลังคา 


การสร้างโครงสร้างขื่อม้าตั่งไหมได้มีประมวลไว้ในตำราโบราณว่า "...ตัดไม้วิหาร หื้อเอาขื่อหลวงเป็นนาย หื้อเอามาแทก หัวหื้อเป็นหัวของมันแล้วเหลี่ยมแป๋มาตั้งแล้ว หักกลางใจ๋ไว้แล้วแทกขื่อหลวงมาหัก 6 เสีย 2 ส่วน ยัง 4 ส่วน เป็นขื่อยี่ ตั่งไหมท่าวลุกหัวขึ้นแกมนอกนั้นแล หัวขี้แทกนั้นเหลี่ยมเดี่ยวเป็นนาย อย่าหื้อมันขวากยากเพื่อขื่อม้านั้นหื้อเอาเก่งขื่อหลวงแถม นอกนั้นม้ายี่นั้น หื้อเอาหัวขื่อหลวงมาแปหลังม้า แต่หัวเข้ามาปูนไหนหมายหั้นเป็นขื่อม้ายี่แล ม้า 3 นั้นก็เอาขื่อยี่มาตั้งปูนไหนหมายหั้นเป็นม้า 3 แล ในไม้อันหัก 6 เสีย 2 ส่วน เป็นสะโก่นแกนนอกนั้น เป็นคอกีบเสีย 1 ย่ำแป๋ขึ้นบน ในที่อันหัก 2 อัน ลุ่มนั้นม้า 3 แป๋หลังทังมาเข้าตีนตั่งไหมชุอันแล ในแปอ้ายหลัง ซดนั้นมาเข้าสะโก่นนั้น หื้อหักคอกีบหลังเป็น 8 ส่วนไว้บน 2 ส่วน แป๋อ้ายเข้าหั้น แลแทกคอกีบลงมาปลงคอคีบหลังซด ในยางนาคชายคาบนนั้นหื้อเอา 8 หัก แป๋แต่กี้นั้นไว้ลุ่ม 2 บน 8 ย่ำแกนขี้ยางเท่าหัว แต่ตีนตั่งไหมออกเแปนในนั้นแล ในยางชายลุ่มนั้นเป็นดั้ง ยางบนดังเก่า ในยางซ้อนแป๋ซดมาจับนั้น หื้อแทกแต่ปล๋ายสะโก่นนั้นลงมาถึงตีนยางลงรอดที่ใด บางเข้าหั้นชุหลังแลเท่าว่าแป๋อ้ายหื้อเข้าเสาหลวง แป๋ยี่นั้นหื้อปลงตุ้มขื่อหลวงล้ำนั้น ก็หื่อลำดับกันลงมาชุที่ ในขื่อมานั้นบ่เป็นขื่อนัก เอา 3 จักใค่จืดหื้อห้อยก็ปลงตามนั้น จักจิ่มพอหื้อเป็นประตู ก็ปลงตามนั้นเทอะฯ..." ระบบขื่อม้าตั้งไหมเป็นระบบโครงสร้างที่มีมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากหลักฐานในรัชกาลพญามังรายว่า มีช่างการโถมได้ปรุงเครื่องไม้วิหารที่เชียงแสน แล้วนำลงมาประกอบที่เวียงกุมกาม การสร้างครั้งนั้นก็มีการกล่าวถึง แปอ้ายแปยี่ ขื่อม้าตั่งไหมแล้ว
(บาลี พุทธรักษา [บรรณาธิการ], ตำนานสิบห้าราชวงศ์เล่มที่ 1 ผูกที่ 1-2, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 81)

ระบบโครงสร้างขื่อม้าตั่งไหมยังคงใช้สืบต่อมาในอาคารสร้างไม้ของศิลปล้านนาเป็นระยะเวลานานโครงสร้างหลังคาวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวงที่เข้าใจว่าเป็นระบบโครงสร้างตั้งแต่ราว พ.ศ.2044
(สามารถ สิริเวชพันธุ์, วิหารโถง ซุ้มโขง สกุลช่างลำปาง, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 3)

ก็เป็นระบบขื่อม้าตั่งไหม รวมทั้งวิหารวัดปงยางคกที่พระมหาป่าเกสระเจ้าอาวาสวัดไหล่หินเป็นผู้ซ่อมราว พ.ศ.2317-2329 ด้วย
((สามารถ สิริเวชพันธุ์, วิหารโถง ซุ้มโขง สกุลช่างลำปาง, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2524 หน้า 7)

ระบบขื่อม้าตั่งไหมคงนิยมสร้างกันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาของวิหารหรืออุโบสถ แม้แต่วิหารวัดเชียงมั่นที่เจ้าราชวงศ์ได้สร้างเมื่อวันเสาร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ.2469
(คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี, [เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, 2538] หน้า 164)

ก็คงยังใช้ระบบม้าตั่งไหมเช่นกันระบบโครงสร้างม้าตั่งไหม คงจะมีการพัฒนาการรูปแบบของตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าบางครั้งได้มีขื่อหลวงซ้อนกันสองชั้น แต่ขื่อตัวล่างไม่ได้รับน้ำหนักของโครงหลังคาแต่อย่างใดคงเป็นเพียงโครงหน้าจั่วธรรมดาที่ประกอบด้วยดั้งและขื่อหลวง แต่ยังคงมีหน้าแหนบที่ประกอบโครงไม้เลียนแบบม้าตั่งไหม ซึ่งไม่ได้รับน้ำหนักโครงหลังคาแต่อย่างใด เช่น วิหารวัดบวกครกหลวง เชียงใหม่
(วรลัญจก์ บุณยสุวัตน์, หน้าแหนบแบบล้านนาของวิหารในจังหวัดเชียงใหม่, เมืองโบราณ, ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2537, หน้า 50)

เทคนิคการเข้าไม้
..........การประกอบโครงไม้ของหอไตรวัดพระสิงห์ ใช้การทดลองประกอบก่อนจากด้านล่างแล้วยกขึ้นไปติดตั้งข้างบนเพราะโครงม้าตั่งไหมไม่มีการตอกยึดด้วยตะปูเป็นการประกอบด้วยลิ่มไม้ทั้งหมด ยกเว้นการประกอบผนังไม้กรอบ ที่ทำแผงไม้เข้าลิ้นเป็นแผ่น แล้วนำขึ้นไปประกอบติดกับเสาด้วยตะปูเหล็ก รวมทั้งการยึดกล๋อนลาด กั้นฝ้าที่ใช้ตะปูตอกยึดเช่นกัน เทคนิคการเข้าไม้ของช่างที่สร้างหอไตรองค์นี้อาจจะแยกได้ 2 แบบคือ
..........1. การใช้เดือย (เดี่ยว) มีการใช้เดือยทั้งเดือยเดี่ยวและเดือยคู่ เดือยเดี่ยวมักเป็นเดือยที่ใช้ประกอบโครงสร้างม้าตั่งไหมทั้งหลังคากลางและหลังคาปีกนก 


ในขณะที่เดือยคู่ใช้กับแผ่นไม้ที่มีขนาดกว้างกว่าได้แก่ ฝาย้อย
..........2. การทำไม้เข้าลิ้น พบในส่วนของการประกอบผนัง ซึ่งกรอบของผนังจะเป็นการเข้าเดือยเป็นมุม 45 องศา แต่แผ่นไม้ที่ประกอบด้านในของลายตาผ้าใช้วิธีใสออกด้านละครึ่งแล้วประกบเข้าด้วยกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น