วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง
สถานที่ตั้ง
..........วัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่นับเป็นวัดสำคัญมากวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองเชียงใหม่


พระอัฏฐารส
..........พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 8.23 เมตร (16 ศอก 23 ซม.) พร้อมทั้งพระอัครสาวกทั้ง 2 องค์ คือ พระโมคคัลลานะสูง 4.43 เมตร และพระสารีบุตรสูง 4.19 เมตร หล่อโดยพระนางติโลกะจุฑา เมื่อ พ.ศ.1955 นอกจากทำการหล่อพระอัฏฐารส/พระอัครสาวกทั้งสององค์แล้ว ยังได้หล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวนมาก ประดิษฐานรายล้อมพระอัฏฐารสอยู่ด้านหน้าและผินพระพักตร์สู่ทิศต่าง ๆ 
..........การหล่อพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ครั้งนั้น ต้องใช้เบ้าเตาหลอมทองจำนวนมากเป็นพันเตาพันเบ้า ต่อมาสถานที่ตั้งเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูป ได้สร้างเป็นวัดและเรียกชื่อว่า วัดพันเตา

ประวัติความเป็นมา
..........วัดเจดีย์หลวง หรือ "โชติการาม" หรือ "ราชกูฏา" หรือ "กุฏาราม" แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า "โชติการาม" คือเวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนักสามารถมองเห็นได้แต่ไกล

เจดีย์หลวงตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะ
..........คติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ในยุคแรกสะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะซึ่งได้ผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ ในระยะต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล


โบราณวัตถุสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวง
..........1. พระธาตุเจดีย์หลวง นั้นถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือสูงประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.1928-1945) ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ในสมัยมหาเทวีจิรประภารัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือแต่เพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ พระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นปัจจุบันกรมศิลปากรเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ.2535


ช้างรอบพระธาตุเจดีย์หลวง
..........ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้


..........1. เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติตกใจกลัวแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า "เมฆบังวัน"


..........2. เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลงแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า "ข่มพลแสน"


..........3. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาสตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสน ๆ เล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ จึงได้ชื่อว่า "ดาบแสนด้าม"


..........4. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามารานรบ แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงได้ชื่อว่า "หอกแสนลำ"


..........5. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามาแม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ จึงได้ชื่อว่า "ปืนแสนแหล้ง"


..........6. เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ จึงได้ชื่อว่า "หน้าไม้แสนเกี๋ยง"
..........7. เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพลหัตถีนึก กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ จึงได้ชื่อว่า "แสนเขื่อนกั้น" (บางแห่งเป็น แสนเขื่อนก๊าน)
..........8. เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงเผาผลาญรอบด้าน จึงได้ชื่อว่า "ไฟแสนเต๋า"

..........2. พระวิหาร พระอุโบสถ พระวิหารหลวง หรือพระวิหารกลาง ปัจจุบันเป็นทั้งพระอุโบสถด้วย ตั้งอยู่ห่างพระธาตุเจดีย์หลวงประมาณ 15.84 เมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ ส่วนอุโบสถหลังเก่าศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัด ด้านตะวันตกขององค์เจดีย์หลวงได้เลิกใช้งานตั้งแต่ปี 2522 เพราะคับแคบเกินไป

..........3. เจดีย์รายองค์ใต้ เป็นเจดีย์องค์ใต้ที่เก่าแก่คู่พระธาตุเจดีย์หลวง ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ 3 ชั้น ฐานปัทม์ย่อเก็จ 2 ชั้น คอระฆังหุ้มทองจังโกปิดทองคำเปลว ปลียอดและฉัตรทำด้วยทองเหลืองปิดทองคำเปลว บูรณะใหม่ พ.ศ.2536

..........4. เสาอินทขีล เชื่อกันว่าเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล หรือวัดสะดือเมือง ข้างศาลากลางหลังเก่า) พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 โปรดให้ย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343

..........5. ต้นยางใหญ่ ปลูกเมื่อสมัยพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร


..........6. กุมภัณฑ์ พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 2 ตน ไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ยักษ์หรือกุมภัณฑ์ 2 ตนนี้คอยพิทักษ์เสาอินทขีลหลักเมืองเชียงใหม่


..........สร้างเมื่อวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 2 ตนไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ยักษ์/กุมภัณฑ์ 2 ตนนี้ คอยพิทักษ์เสาอินทขิลหลักเมืองเชียงใหม่ (ตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับพระพุทธิมา ผูก 7 หน้า 13)
Phaya Yakkharaj (Southern Pavition)
..........Phaya Yakkharaj or two Guardian Yaksha were buile in 1800 by Prince Kawila in front of Wat Jotikaram (Wat Chedi Luang). They are destined to protect Inthakhin, the city pillar of Chiang Mai.

..........7. หอธรรม เมื่อปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) ไว้ทางด้านเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์





..........8. พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏว่า สร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง


พระพุทธไสยาสน์
..........พระพุทธไสยาสน์/พระนอน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สันนิษฐานว่า สร้างสมัยพระเมืองแก้วรัชกาลที่ 11 ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2030-2060) มีพระพุทธลักษณ์งดงามมาก หันพระเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง สูง 1.93 เมตร ยาว 8.70 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารสร้างใหม่สมัยพระพุทธิโศภณ (แหวว ธมฺมทินฺโน) เมื่อ พ.ศ.2498
Reclining Buddha
..........Reclining Buddha or Pha Buddhasaiyat is an old Buddha statue. It is believed to have been built during the reign of Phra Muang Kaeo, the 11th monarch of Mang Rai Dynasty (1487-1517). The head reclines toward the south and faces the Grand Pagoda. It measures 1.93 meters high and 8.70 meters long, enshrined in a new pavilion built in 1955 when Ven. Phra Buddhisophon was the abbot.
..........พระนอนองค์นี้หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ไม่ตรงตามตำนานเดิม คงจะเนื่องจากท่านผู้สร้างมีความประสงค์จะให้พระพุทธรูปที่สร้างหันพระพักตร์ไปทางองค์พระเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก จึงหันพระเศียรไปทางทิศใต้

..........ตามตำนานพระนอน ปรากฏตามพุทธประวัติก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงสำเร็จสีหไสยาตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก เหนือแท่นปรินิพพานไสยา ระหว่างไม้สาละทั้งคู่


..........9. พระมหาสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็ก อยู่ห่างจากพระธาตุเจดีย์ไปทางทิศเหนือ เชื่อว่ามีความเก่าแก่พอ ๆ กับพระนอน


..........10. พระวิหารจัตรุมุขบุรพาจารย์ เป็นวิหารที่สร้างด้วยไม้แกะสลักเป็นลายเครือมัน ลายดอกไม้มีการเริ่มลายด้วยรูปสับปะรด

..........11. วิหารท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต เป็นวิหารไม้กับปูนเป็นการปิดทองและประดับด้วยกระจกสี










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น