เรื่องของส้มป่อย
..........ตามหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 หน้า 869 ใช้คำอธิบายว่า ส้ม ว.เปรี้ยว ฯลฯ ส้มป่อย น. ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ใบเป็นฝอยคล้ายชะอม ใช้ทำยาก็ได้ ฝักใช้สระหัวต่างสบู่
..........อธิบายลักษณะของต้นส้มป่อยพอมองเห็น เพราะส้มป่อยมีใบคล้ายชะอมจริง และส้มป่อยเป็นไม้เถา อาศัยกอดพันกับสิ่งอื่น ส่วนฝักของมันนั้นมีลักษณะแบน ๆ เป็นข้อ ๆ เหมือนฝักกระถิน แต่หนาและแข็งกว่า สรรพคุณใช้ทำยาได้ การเอาน้ำส้มป่อยลูบดำหัวนั้นไม่ใช่ใช้แทนสบู่ คือ เราต้องสระผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะเอาน้ำส้มป่อยลูบผมอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแก้เสนียดจัญไรดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ส้มป่อยไม่มีฟองเหมือนสบู่
..........นอกจากใช้ "ดำหัว" แล้วน้ำส้มป่อยยังใช้พรมใส่เครื่องรางของขลัง หรือบุคคลที่ถือเวทมนตร์คาถาเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันซึ่งได้ไปลอดใต้สิ่งที่ทำให้ความขลังเสื่อมไป การพรมด้วยน้ำส้มป่อยจะทำให้ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์คืนมาดังเดิม ความเชื่อนี้ยังคงถือกันมาจนถึงปัจจุบัน
ตำนานส้มป่อย (พรหมจักรชาดก ฉบับลานผูก ของวัดดวงดี อำเภอเมือง เชียงใหม่)
..........ส้มป่อย เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งประเภทไม้เถา ชาวบ้านนิยมนำเอาใบอ่อนมาแกงส้มปลาบ้าง ต้มส้มเนื้อบ้าง มีรสหอม เปรี้ยว และกลิ่นหอมน่ารับประทาน ส่วนผลส้มป่อย มีลักษณะเป็นฝักอย่างมะขามหรือฉำฉา ไม่ใช้รับประทาน หากแต่ใช้เป็นเครื่องรางโสรจสรงชำระเศียรเกล้าให้หายจากสิ่งที่ชั่วร้ายและมีความสวัสดี ผู้เขียนได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านว่าการใช้ส้มป่อยแช่น้ำสระเกล้าดำหัวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ท่านเหล่านั้นต่างก็ตอบไปตามความเข้าใจของตน ดังนี้
..........1. เป็นเครื่องขับไล่สิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไร
..........2. เป็นการสร้างพลังให้เกิดขึ้น สามารถเอาชนะศัตรูได้
..........3. เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสุขสวัสดี
..........4. เป็นของสูง ใช้ในการสักการะสิ่งที่ตนเคารพ เช่น ใช้สรงพระพุทธรูป ใช้รดน้ำบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
..........5. ใช้เป็นเครื่องขอสมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินผู้ใหญ่
..........6. เป็นเครื่องประกอบพิธีสำคัญ ๆ ทุกอย่างในล้านนาไทย (สัมภาษณ์พระครูวิรุฬหธรรมโกวิท วัดเจดีย์สถานเหมืองผ่า ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม เชียงใหม่)
..........สาเหตุที่นำเอาส้มป่อยมาใช้เป็นเครื่องสรงในพิธีมงคลและอวมงคลต่าง ๆ นั้น คนล้านนาไทยคงได้ค่านิยมทางความเชื่อมาจากคัมภีร์พรหมจักรชาดก และรามจักรชาดก ที่พระเถระชาวล้านนาไทยได้นำเอาเรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์) ของอินเดียมาดัดแปลงให้เข้ากับคตินิยมทางพุทธศาสนา บางตอนก็เพิ่มคติความเชื่อถือของคนในท้องถิ่นเข้าไปด้วย เช่น ตอนเกี่ยวกับผลส้มป่อยและผลมะขามป้อม ตอนทรพีรบกับทรพา ดังนี้
..........ตามประวัติที่กล่าวไว้ในพรหมจักรนั้น ปรากฏว่า พญาทรพา เป็นมหิงสาผู้มีฤทธิ์เดชมากเป็นที่เกรงขามของเทพยดาและมนุษย์ ปกครองเหล่ามหิงสามาเป็นเวลานาน ต่อมามีคำทายทักว่าทรพาจะต้องตายเพราะลูกตัวผู้ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อควายตัวเมียบริวารของตนตัวใดออกลูกมาเป็นตัวผู้ทรพาจะขวิดตายหมด แต่ถ้าออกลูกมาเป็นตัวเมียก็จะเหลือไว้ไม่ทำลาย คราวหนึ่งแม่ควายในฝูงตั้งท้องขึ้น เมื่อท้องแก่ ความคิดของแม่ควายไม่ต้องการให้ทรพาทำลายลูกในท้องของตน จึงแอบหนีจากฝูงไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ และคลอดลูกออกมาเป็นควายตัวผู้ ลักษณะบึกบึน ล่ำสันยิ่งนัก แม่ควายได้ทะนุถนอมเลี้ยงลูกอยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายปี จนมหิงสาน้อยเติบใหญ่ มีเรี่ยวแรงแข็งกล้าทรงมหิทรานุภาพ แม่ควายเรียกลูกชายของตนว่า ทรพี และบอกลูกว่าที่ได้มาพำนักอยู่ในถ้ำนี้ก็เพราะพญาทรพาผู้พ่อจะขวิดลูกควายตัวผู้หมด แม่ต้องทนว้าเหว่ก็เพราะรักลูก ทรพีได้ฟังคำแม่กล่าวจึงมีความโกรธเคืองยิ่งนัก ได้ออกไปท้าพ่อของตนมาต่อสู้กันให้รู้ดำรู้แดง ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ตาย
..........สถานที่พญาควายทั้งสอง คือ ทรพาผู้พ่อ กับทรพีผู้ลูก ต่อสู้กันนั้น เป็นป่าโปร่งมีต้นมะขามป้อมและต้นส้มป่อยขึ้นอยู่มาก พญาควายทั้งสองได้ต่อสู้กันด้วยมหิทรานุภาพอันยิ่งใหญ่ เสียงอึกทึกฝุ่นผงฟุ้งมืดมนโกลาหลไปทั่วบริเวณ ระหว่างที่พญาควายทั้งสองพันตูกันนั้น เผอิญพญาควายทรพาได้เอาหลังไปชนเอาต้นมะขามป้อม ทำให้ต้นไม้สั่นสะเทือน ผลมะขามป้อมหล่นลงมาถูกตัวของทรพา ทำให้เรี่ยวแรงที่มีอยู่เสื่อมถอยลงอย่างน่าประหลาด พญาทรพาหวาดหวั่นพรั่นใจกลัวจะพ่ายแพ้แก่ทรพี จึงพยายามอึดใจรุกกระหน่ำไล่ขวิดทรพีอย่างเต็มแรง ดันทรพีไปทรุดลงใต้ต้นเถาส้มป่อย หลังของทรพีไปถูกต้นเถาส้มป่อยสั่นสะเทือน ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกตัวของทรพี เกิดเรี่ยวแรงขึ้นอย่างอัศจรรย์ จึงลุกขึ้นดันทรพาผู้พ่อไปสุดกำลัง เมื่อทรพาทรุดลงไป ทรพีได้ทีเข้าขวิดทรพาเป็นพัลวันจนทรพาเหวอะหวะ มีเลือดแดงฉาน ขาดใจตายในเวลาไม่นาน ทรพีทำร้ายพ่อด้วยการทำลายให้สิ้นชีวิต คนทั้งหลายจึงกล่าวถึงทรพีว่าเป็นคนอกตัญญูทำปิตุฆาต ฆ่าพ่อของตน เป็นคนคบไม่ได้ เวลาลูกใครทำร้ายพ่อแม่ ชาวโลกจะตราหน้าว่าเป็นลูกทรพีก็เนื่องมาจากสาเหตุนี้
..........ความเชื่อเรื่องการกินมะขามป้อม ลูกสมอ หรือล้านนาเรียกว่า "หมากนะ" นั้นมีอยู่เสมอ แม้ในพระวินัยสงฆ์ยังกล่าวถึงผลไม้หรือใบไม้ที่ดองด้วยน้ำมูตรเน่า ในบาลีที่ว่า "ปูติปัณณะ เภสัชชัง" คือยาที่ดองด้วยน้ำมูตร แก้โรคกระษัยและช่วยลดความต้องการทางเพศลง พระสงฆ์จึงนิยมฉันมะขามป้อมและลูกสมอดองตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งทุกวันนี้ สำหรับส้มป่อยนั้น ถือว่าฝักที่ตกลงมาถูกตัวของทรพีทำให้เกิดกำลังขึ้นเป็นทวีคูณ สามารถชนชนะทรพาผู้พ่อได้ ชาวบ้านจึงเอามาแช่น้ำบริสุทธิ์ให้น้ำมันออก นำมาละลายกับน้ำใช้โสรจสรงให้มีกำลังและกำจัดภัยต่าง ๆ ใช้ทั้งงานมงคลเพื่อความเจริญสวัสดีและงานอวมงคลเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
..........งานมงคลที่ต้องใช้น้ำส้มป่อยประพรม เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวชนาค งานแต่งงาน งานทำบุญอายุ งานอบรมสมโภช งานฉลองต่าง ๆ ฯลฯ
..........งานอวมงคล เช่น ใช้น้ำส้มป่อยไล่ผีในการสร้างบ้าน เวลาจากป่าช้ามาบ้านต้องสรงน้ำส้มป่อย ใช้พรมในงานพิธีสืบชะตาบ้าน ชะตาเมือง ใช้พรมในบ้านที่มีคนตาย
..........การใช้ส้มป่อยแช่ในน้ำมนตร์นั้น นิยมเอาไปจี่ไฟก่อนเพื่อให้มีกลิ่นหอม ผู้เขียนสันนิษฐานว่าฝักส้มป่อยที่เก็บไว้นาน ๆ อาจมีเชื้อราหรือแมลงมีพิษ เช่น บุ้ง เป็นต้น เข้าไปอยู่ หากเอาไปแช่น้ำแล้วมาประพรมอาจจะเกิดผื่นคันขึ้นได้ เขาจึงจัดการจี่ไฟเสียก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม การใช้ส้มป่อยในงานมงคลนั้นได้คตินิยมมาจากเรื่อง พรหมจักรชาดก ที่กล่าวถึงเรื่องการรบระหว่างพญาทรพากับทรพี ชาวบ้านคิดถึงส้มป่อยเป็นลูกไม้วิเศษเพียงแค่ตกลงมาถูกก็มีพละกำลังมหาศาล การที่ได้ส้มป่อยมาใช้ในงานมงคลก็เพื่อเป็นจตุรพิธพรข้อที่ 4 คือ พละ นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น