ขันแก้วทั้งสาม เป็นพานไม้ทรงสูงที่ใช้โดยทั่วไปในล้านนา
แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ ส่วนใบขัน ส่วนเอว และส่วนขา
ตัวใบขันใช้ไม้แผ่นกว้างราว 15 เซนติเมตร 3 แผ่นมาประกบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ปากผายก้นสอบ ส่วนเอวขันจะคอดและทำคล้ายอกไก่ (กระดูกงู) แล้วจึงผายออกอีกครั้งเพื่อรับกับขาที่ทำเป็นสามขา อาจจะสลักเป็นรูปพญานาค ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง ประดับกระจกจืน (หมายถึงกระจกเกรียบที่ฉาบด้วยแผ่นตะกั่วอย่างบาง เวลาใช้สามารถตัดด้วยกรรไกรให้เป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ) มักวางอยู่หน้าพระประธานในวิหาร
ขันแก้วนี้ใช้สำหรับใส่ดอกไม้ ธูป เทียน มาใส่เพื่อสักการะพระรัตนตรัย ที่ชาวล้านนาเรียกว่า แก้วทั้งสาม เมื่อศรัทธาชาวบ้านไปถึงวิหาร หลังจากกราบพระแล้วต้องใส่ขันแก้วทั้งสามก่อน ผู้ใส่ขันแก้วทั้งสามก่อนต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น หากผู้หญิงไปถึงก่อน โดยที่ผู้ชายยังไปไม่ถึงจะต้องรอให้ผู้ชายมาใส่ก่อน เวลาใส่ดอกไม้ต้องแยกเป็น 3 ส่วนวางตามมุมทั้ง 3 ของขัน แต่เมื่อมีชาวบ้านมาใส่ดอกไม้มากบางครั้งอาจจะไม่เห็นถึงการใส่ดอกไม้ทั้ง 3 มุมก็ได้ เมื่อถึงพิธีกรรมไหว้พระรับศีลหรือสวดมนต์ถวายไทยทานนั้น จะมีไวยาวัจกร หรือมัคทายกมายกเอาขันแก้วไปแตะกับแท่นแก้วเบา ๆ ถือเป็นการประเคน แล้ววางไว้หน้าพระประธาน อันแสดงถึงการถวายแด่พระรัตนตรัย ขันแก้วทั้งสามนี้บางแห่งทำเป็นพานทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 15-20 นิ้ว สูงราว 30 นิ้ว มีฐานเป็นรูปพญานาค 3-5 ตัวเทินพานไว้ หรือเป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น