วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เจดีย์ขาว (เจดีย์กิ่ว) จังหวัดเชียงใหม่

เจดีย์ขาว (เจดีย์กิ่ว) จังหวัดเชียงใหม่

..........เรื่องมีอยู่ว่า...สมัยโบราณกาลมีข้าศึกจากตอนใต้ (ไม่ใช่มาจากปักษ์ใต้) ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยข้าศึกมีกองทัพที่มีแสนยานุภาพมากกว่าฝ่ายเชียงใหม่มาก ฝ่ายเชียงใหม่ถ้าสู้ก็คงแพ้แน่ จึงต้องหาทางใช้วิธีอื่นในการปกป้องเมืองเชียงใหม่
..........สุดท้ายจากการชิงไหวชิงพริบกัน ฝ่ายข้าศึกเห็นว่าเมืองเชียงใหม่อยู่ทางตอนเหนือ คงจะไม่มีผู้ใดดำน้ำได้เก่งอย่างแน่นอน
..........ฝ่ายข้าศึกจึงประกาศท้าแข่งขันดำน้ำชิงเมือง ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง โดยให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เอาเมืองเป็นประกัน ทางเชียงใหม่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้จำใจต้องรับข้อเสนอนี้
..........ตำนานเจดีย์กิ่ว เจดีย์ขาวที่ตั้งอยู่ตรงสามแยก บริเวณหน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ มีเรื่องเล่ากล่าวขานสืบต่อกันมา เกี่ยวกับประวัติของเจดีย์อยู่หลายตำนาน แต่มีอยู่ 2 เรื่อง ที่น่าเชื่อถือ และเล่ากันมานาน ก็คือ เจดีย์นี้ถูกสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชายคนหนึ่ง (ลุงเปียง) ซึ่งสละชีวิตเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของชาติบ้านเมือง
..........เรื่องนี้เกิดขึ้นมาในสมัยไหนไม่ปรากฏชัด แต่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ล้านนายังไม่ได้รวมกับสยาม มีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของล้านนา จะมีชาวใต้มาท้าแข่งอะไรต่อมิอะไรอยู่ร่ำไป โดยส่วนใหญ่ชาวเชียงใหม่ก็จะเอาชนะได้อยู่ตลอด พวกชาวใต้ก็จะล่าถอยกลับไป จนอยู่มาวันหนึ่ง พวกชาวใต้ก็พากันเดินทางมาท้าชาวเชียงใหม่อีก แต่คราวนี้ท้าว่าใครจะดำน้ำได้ทนกว่ากัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าชาวใต้นั้นอยู่ติดทะเลมีอาชีพเป็นชาวประมงก็มาก วัน ๆ ก็ดำน้ำหาหอยหาปูจนชำนาญ ส่วนชาวเชียงใหม่นั้นเป็นคนดอน เรื่องดำน้ำไม่ค่อยชำนาญเท่าใดนัก พอชาวใต้มาท้าเช่นนั้นก็พากันวิตกว่าจะแพ้ชาวใต้กันก็คราวนี้ พระเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ก็ทำการป่าวประกาศหาผู้ที่จะอาสาเข้ามาแข่งขันกับชาวใต้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดอาสาเข้ามาเนื่องจากไม่มีใครเชี่ยวชาญการดำน้ำ จนในที่สุดก็มีชายคนหนึ่งชื่อลุงเปียง เข้าเฝ้าพร้อมกับอาสาเข้าแข่งขันดำน้ำกับชาวใต้
..........พอวันแข่งขันมาถึง ก็ไปแข่งขันกันที่แม่น้ำปิง ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งของเจดีย์ขาวในปัจจุบัน ชาวใต้ก็เริ่มดำน้ำก่อน โดยดำหายไปนานสองนาน ในตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่ากี่นาที แต่ก็นานจนเป็นที่น่าวิตกว่าชาวเชียงใหม่จะสู้เขาไม่ได้ พอถึงเวลา ชายชาวเชียงใหม่คนนั้น ซึ่งอยู่ในชุดกางเกงขาสั้นพร้อมผ้าขาวม้าคาดเอวก็เข้ามาถวายบังคมลาหน้าพระที่นั่ง แล้วก็เดินไปริมฝั่งน้ำปิง แล้วกระโดดหายไป จนเวลาร่วงเลยไปสามวัน ชายคนนั้นก็ยังไม่โผล่ขึ้นมา พวกชาวใต้ก็จนปัญญา ยอมรับความพ่ายแพ้ ล่าถอยกลับไป
..........พระเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ สงสัยเป็นยิ่งนัก ว่าชายคนนั้นหายไปไหน จะว่าจมน้ำตายไปแล้ว ก็ไม่เห็นศพลอยขึ้นมา ก็เลยให้คนดำน้ำลงไปดู ก็ปรากฏว่า พบชายคนนั้นใช้ผ้าขาวม้า มัดตัวเองติดกับเสาหลักใต้น้ำจนจมน้ำตาย ยอมเสียสละตัวเอง เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของชาวเชียงใหม่ไว้
..........จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ถึงการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ครั้งนั้นไว้ เจดีย์นี้ปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณที่มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะคิดย้ายเจดีย์นี้ จึงมีปรากฏอยู่ตรงกลางสามแยกเทศบาลเมืองเชียงใหม่จนถึงทุกวันนี้
..........อีก 1 เรื่องที่พอที่จะเชื่อถือได้คือ เจดีย์ขาว หรืออีกชื่อ เจดีย์กิ่ว หลักฐานการปรากฏมีไม่แน่ชัด แต่ก็มีตำนานเล่าขานกันมาสร้างขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงลุงเปียงในวีรกรรมรักชาติ ที่ยอมสละชีวิตเพื่อบ้านเมืองของตน ลุงเพียงคือคนที่รักชาติ เมื่อมีกษัตริย์พม่ายกพลมาล้อมเมืองเชียงใหม่ และให้จัดหานักประดาน้ำไปแข่งดำน้ำพนันกับชาวพม่า โดยว่าหากชาวเชียงใหม่ดำน้ำได้ทนกว่าก็จะยกทัพกลับไป พอสรรหานักดำน้ำตัวเก่งทั่วเมืองเชียงใหม่ไม่มี ลุงเปียงคนนี้เลยขออาสาดำน้ำแข่งกับพวกพม่าแทน สถานที่แข่งดำน้ำจัดอยู่ใกล้ที่ตั้งเจดีย์ขาวริมแม่น้ำปิง โดยให้จัดหาหลักสองอันปักลงไปในน้ำ เว้นระยะไม่ให้ใกล้กันมาก เมื่อถึงเวลา ลุงเปียงในชุดกางเกงขาสั้น ผูกผ้าขาวม้าไว้ที่เอว ก็ประจำการตรงเสาปักพร้อมฝั่งพม่า นายทัพในฐานะกรรมการให้สัญญาณว่าดำได้ ก่อนทั้งคู่หายลงไปในน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานนาน จนคนที่อยู่บนฝั่งรอกัน ในที่สุดนักดำน้ำชาวพม่าก็โผล่ขึ้นมาสร้างความโล่งใจแก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง ที่เหลือก็แค่รอลุงเปียงโผล่หัวขึ้นมา การันตีพร้อมชูมือเป็นฝ่ายชนะ
..........แต่พอเวลาผ่านไปนานมากแล้ว ลุงเปียงก็ยังไม่ยอมโผล่ขึ้นจากน้ำ ทุกคนบนฝั่งให้ความเห็นว่าชาวเชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะแล้ว จึงให้คนดำน้ำลงไปตามลุงเปียงขึ้นมาก อนิจจา แทนที่จะเจอลุงเปียงประกาศศักดาชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ กลับเจอแค่ร่างที่ไร้วิญญาณของลุง ที่แกใช้ผ้าขาวม้าตัวเองผูกไว้กับหลักตายอยู่ในลำน้ำปิง และเพื่อเป็นอนุสาวรีย์แก่ความเสียสละของลุงเปียง เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงให้สร้างเจดีย์ขาวที่ริมฝั่งแม่ปิงขึ้น
..........นอกจากตำนานเรื่องของลุงเปียงแล้ว ยังมีผู้คิดว่าเจดีย์ขาวอาจเป็นสถูปบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญชาวพม่าในครั้งที่มาครอบครองนครเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ. 2101- 2371 ก็ได้ ทั้งนี้เพราะเจดีย์ขาวไม่มีลักษณะและความสูงเหมือนเจดีย์ที่เป็นปูชนียวัตถุทั่วไป บางคนก็เล่าอีกว่าเจดีย์ขาวเป็นเครื่องหมายบอกว่าด้านล่างของเจดีย์ดังกล่าวเป็นปากอุโมงค์ที่ทอดยาวมาจากอุโมงค์ใต้ฐานเจดีย์หลวงที่อยู่กลางเมืองอีกด้วย
..........นับได้ว่าเรื่องราวของเจดีย์ขาวมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งหากมองแค่เพียงผิวเผินอาจจะเป็นแค่เจดีย์ขาวขนาดย่อมที่เป็นเหมือนวงเวียนตรงถนนกลาย ๆ แต่ที่จริงแล้วเจดีย์ขาวแห่งนี้ได้ซ่อนเรื่องราวประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของชาวเมืองเชียงใหม่ให้ได้จดจำว่า ครั้งหนึ่งเคยมี "ลุงเปียง" เป็นวีรบุรุษหาญกล้ายอมสละชีพเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนด้วยความรักชาติอย่างภาคภูมิใจ

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วิธีแก้ไขร่างกายท่อนล่างอ้วนและขาใหญ่ที่ได้ผล

หนังสือ "วิธีแก้ไขร่างกายท่อนล่างอ้วนและขาใหญ่ที่ได้ผล"
สิน  วิภาวสุ แปลและเรียบเรียง
สำนักพิมพ์วังเดิม พ.ศ. 2539
จัดจำหน่ายโดย บริษัท ธนบรรณ จัดจำหน่าย จำกัด จำนวน 194 หน้า
..........................

คำนำหนังสือ
..........พอได้ยินคำว่า "ท่อนล่างอ้วน" เท่านั้น ก็เหมือนกับมีอะไรมาทิ่มแทงตรงที่เจ็บนั้นทันที เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกหวาดกลัวกันมาก เป็นความจริง ท่านหญิงทั้งหลายที่หวังจะลดความอ้วนหรือที่อยู่ในแผนลดความอ้วนในขณะนี้ ส่วนมากจะเป็นเพราะร่างกายไม่ได้สัดส่วน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับร่างกายส่วนบนแล้วส่วนขาอ่อนรู้สึกว่ามันใหญ่โตมากเกินไป หรือขาท่อนล่างใหญ่ทู่อย่างน่าเกลียด สาเหตุเนื่องมาจาก "ร่างกายท่อนล่างอ้วน" และไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร ทำให้รู้สึกเดือดร้อนกลัดกลุ่มอยู่มิรู้วาย

..........ปัจจุบัน ข่าวสารที่เกี่ยวกับการลดความอ้วนนี้มีอยู่อย่างแพร่หลาย จะเห็นว่าตามร้านขายหนังสือที่ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับการลดความอ้วนวางขายอยู่มากมาย ตลอดจนคำโฆษณาชวนเชื่อของร้านเสริมสวยก็เห็นอยู่ไม่น้อย แต่ว่าจะหาที่มุ่งตรงต่อจุดที่ทำให้หญิงสาวในยุคปัจจุบันเกิดความเดือดร้อนกันมาก นั่นคือ ร่างกายท่อนล่างอ้วนอันเป็นตำราที่แนะนำวิธีที่ให้ขาสวยและทรวดทรงงามที่ได้ผลนั้นค่อนข้างจะหายาก ดังนั้น ท่านหญิงทั้งหลายที่หวังจะให้ขาของตนเรียวงามนั้น ก็ได้แต่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหนังสือคู่มือลดความอ้วนเท่านั้น โดยทำการลดอาหารตามตารางรายการอาหารของแต่ละมื้อตามที่กำหนด ผลที่สุด จะเห็นว่ากล้ามเนื้อส่วนหน้าอกนับวันจะรีบลงไปเรื่อย ๆ แต่ส่วนขาอ่อนส่วนน่องและข้อเท้ายังคงใหญ่เหมือนเดิม ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คงจะมีอยู่ไม่น้อยที่เคยมีประสบการณ์และได้รับความเดือดร้อนในปัญหาดังกล่าวนี้มาแล้วก็ได้

..........วิธีการที่ทำให้ท่อนล่างของร่างกายซูบผอมลงกับวิธีการทำให้ผอมลงทั้งร่างกายนั้น มีความแตกต่างกันมาก การใช้วิธีการลดอาหารเพื่อควบคุมปริมาณของแคลอรี่ที่ร่างกายรับเข้าไปนั้น ส่วนมากจะได้รับความสำเร็จในการลดความอ้วนตามที่ต้องการ แต่ถ้าหากเป็นคนที่อ้วนไปทั้งตัว ตามน้ำหนักตัวที่ลดลง จะทำให้ส่วนขาอ่อนผอมลงไปได้ก็จริง หากแต่ร่างกายท่อนบนจะเห็นว่าซูบผอมลงไปอย่างผิดหูผิดตามากทีเดียว สำหรับท่านหญิงที่เพียงแต่ท่อนล่างของร่างกายอ้วนนั้น ถ้าหากควบคุมการับเอาแคลอรี่ของร่างกายเพียงฝ่ายเดียว ก็จะไม่ทำให้ส่วนขาเรียวงามได้แต่อย่างใด

..........ผู้ที่มีร่างกายท่อนล่างอ้วนเพียงส่วนเดยว ส่วนมากมักจะมีสาเหตุบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน บ้างก็เกิดจากโลหิตและน้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดการคั่งค้างอยู่ที่ส่วนขาอ่อน ก่อให้เกิดอาการบวมฉุ บ้างก็เนื่องมาจากการละลายตัวของไขมันไม่เป็นไปตามปกติทำให้ไขมันเกิดการคั่งค้างอยู่ภายใน

..........การรักษาให้โลหิตและน้ำเหลืองไหลเวียนเป็นไปอย่างสะดวกนั้น เป็นเรื่องสำคัญของผู้ที่ต้องการทำให้ขางามไม่ควรจะมองข้ามทีเดียว ท่านที่มองแต่เพียงด้านเดียวด้วยการลดอาหารแต่อย่างเดียว อาจจะไม่ได้รับความสำเร็จสมความปรารถนาก็ได้

..........เพื่อให้เป็นไปตามความเป็นจริงในการแก้ไขที่ได้ผล "ร่างกายท่อนล่างอ้วน" หนังสือเล่มนี้ได้เสนอแนะวิธีการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง วิธีการหายใจ วิธีการออกกำลังกาย วิธีการนวด วิธีการผ่อนคลาย ตลอดจนเรื่องการเผาผลาญภายในร่างกายเพื่อเปลี่ยนแปลงอาหารให้กลายเป็นพลังงานและเนื้อหนังของร่างกาย เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นสาระสำคัญรวม 6 วิธีด้วยกัน โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่ง่าย ๆ แนะนำไปตามลำดับเพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยความสะดวกสบาย ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถใช้ความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอไม่ทิ้งเสียกลางคัน มีความซื่อตรงต่อหลักการปฏิบัติดังกล่าวนี้ คิดว่าคงจะสามารถหลุดพ้นจากเงามืดของ "ร่างกายท่อนล่างอ้วน" ได้อย่างแน่นอน ท่านจะมีขาที่เรียวงามอย่างได้สัดส่วนที่ใคร ๆ จะพลอยยินดีไปกับท่านด้วย

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รถราง

รถราง
รถรางลากด้วยม้า
..........ผู้ให้กำเนิดรถรางในประเทศไทยเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ก อันมี นายจอนลอฟตัส นายอาร์ คิว เปลซี เดอ รีชเชอลิว และ นายเวสเตน โฮลส์ รวมทุนกันตั้งบริษัท เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเป็นบริษัทนั้น เขาได้สำรวจจำนวนคนเดินทางในถนนสายที่จะเดินทางรถเสียก่อนว่า มีจำนวนคนมากน้อยเพียงใด พอที่จะดำเนินกิจการเดินรถรางได้หรือไม่ เพราะในเวลานั้นมีคนสัญจรไปมาน้อยมาก และถนนสายที่มีผู้คนสัญจรมากที่สุดเวลานั้นก็คือถนนเจริญกรุง อันมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ถนนใหม่" แต่รถรับจ้างที่วิ่งอยู่ในถนนสายนี้ก็มีอยู่แล้วคือ รถม้าและรถเจ๊ก เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ได้กล่าวไว้ในการอบรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สำเร็จรุ่นปี พ.ศ. 2483 [เรื่องเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ฉบับตีพิมพ์ 2499 หน้า 224] ถึงเรื่องรถเรือในกรุงเทพฯ ไว้ว่า "เมื่อสมัยท่านไปเรียนหนังสือ พอเดินถึงประตูสามยอดเห็นฝรั่งสูง ๆ ยืนจดอะไรอยู่หลายวัน ต่อมาภายหลังเมื่อมีการวางรางและเดินรถ ท่านจึงได้ทราบว่าที่ฝรั่งไปยืนจดที่ประตูสามยอดนั้นเป็นการจดสถิติคนเดินทาง"

เวสเตนโฮลล์ Aage Westenholz เป็นผู้หนึ่งที่ให้กำเนิดรถรางในประเทศไทย 
(จาก Twentieth Century Impression of Siam)

..........เมื่อฝรั่งเหล่านี้เห็นว่ามีจำนวนคนพอที่จะดำเนินกิจการได้ จึงยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการตั้งบริษัทและขอสัมปทานการเดินรถราง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการที่ฝรั่งมาขอสัมปทานเปิดการเดินรถรางในพระนครหลวงเช่นนี้ ทำให้การคมนาคมสะดวกอันเป็นทางนำมาซึ่งความเจริญของชาติ และเป็นรถที่แปลกเพราะในเวลานั้นในทวีปเอเชียยังไม่มีประเทศใดมีรถราง จึงพระราชทานสัมปทานแก่บริษัทของจอนลอฟตัสให้ดำเนินกิจการได้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2430

..........หลังจากที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยแล้ว บริษัทก็เริ่มวางรางรถ ตั้งแต่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้วอ้อมโค้งไปหาถนนเจริญกรุง จนกระทั่งถึงบางคอแหลมคือถนนตกในปัจจุบันนี้ เมื่อเตรียมกิจการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทก็กระทำพิธีนำรถรางคันแรกของประเทศไทย และของทวีปเอเชียออกรับคนโดยสารเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 แต่รถรางสมัยนี้มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างที่ท่านเห็นอยู่ทุกวันนี้หรอก เขาใช้ม้าลาก อย่างรถม้า ถ้าหากว่ารถที่ว่านี้ไม่ใช้ล้อเหล็กและรางก็ไม่ผิดอะไรกับรถม้า แต่ขนาดของรถใหญ่และยาวกว่าเท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าเราจะเรียกรถรางสมัยนั้นว่า "รถรางม้า" หรือ "ม้าเหล็ก" ก็เห็นจะไม่ผิด

รถรางที่หน้าบริษัทไฟฟ้าสยาม วัดราชบูรณะ สมัยแรก ๆ

..........รถรางสมัยใช้ม้าลากนั้น เจ้าพระยามหิธรได้กล่าวไว้เมื่อคราวอบรมนักศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2483 ว่า "รถรางแต่ก่อนไม่โตเท่านี้ และลากด้วยม้าเทียมต่อ 2 คู่ แต่ลำบากที่ใช้ลากด้วยม้า 4 ตัว ใช้อยู่ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นม้า 2 ตัว ขณะนั้นนายสุยซึ่งภายหลังเป็นนายตรวจใหญ่ เป็นเด็กจูงม้า"
และพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ ก็ได้กล่าวถึงรถรางสมัยใช้ม้าลากไว้ในเรื่อง พระมหานครกรุงเทพฯ ในความทรงจำของคนอายุ 70 ปีว่า "รถรางนั้นแต่ก่อนยังไม่มีไฟฟ้า รถใช้ม้าเทียมแปด แยกเป็น 2 พวง ๆ ละ 4 ตัว ในพวงหนึ่ง ๆ มีม้า 2 คู่ พวงที่อยู่หน้าใช้เฉพาะขึ้นสะพาน จึงเอาไปเตรียมรอไว้ที่เชิงสะพาน รถเดินตามรางอย่างที่รถไฟฟ้าใช้อยู่ในเวลานี้ คือตั้งแต่หลักเมืองถึงถนนตก มีการเปลี่ยนม้าเป็นระยะ ๆ ถ้ามีเหตุม้าไปไม่ไหวหรือล้มจำเป็นต้องเปลี่ยนม้า ก็เปลี่ยนตามระยะที่วางม้าอาไหล่ไว้ (ใช้ตัวสะกดตามต้นฉบับ) เมื่อคิดดูและหลับตาเห็นการใช้รถรางสมัยโน้นให้รู้สึกสงสารม้าเสียนี่กระไร เพราะม้าล้วนตัวเล็ก ๆ และผอม เวลาลากรถก็ถูกตีอย่างไม่ปรานีปราสัย ทั้ง ๆ ที่มันก็ได้ออกกำลังจนตัวงอแล้ว"

..........เมื่อสมัยเปิดการเดินรถรางใหม่ ๆ ฝรั่งได้พยายามวางนโยบายปลูกความนิยมโดยไม่เก็บสตางค์แก่ผู้โดยสารอยู่หลายวัน และได้วางอัตราค่าโดยสารไว้เป็นระยะ ๆ ละ 2 ไพ คือ 6 สตางค์ เช่น ตั้งแต่หลักเมืองถึงตรอกเต๊า 2 ไพ จากสะพานเหล็กถึงสามแยก ราคา 2 ไพ เป็นต้น แม้ราคาโดยสารของรถรางจะถูกกว่าค่าโดยสารของรถชนิดอื่น ๆ ก็ตาม แต่เนื่องด้วยประชาชนคนเดินทางมีน้อย ประกอบกับค่าโสหุ้ยในการดำเนินกิจการสิ้นเปลืองมากกว่ารายรับ ดังนั้น นายลอฟตัสและนายริชเชอลิว จึงได้โอนกิจการให้แก่ บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. (The Bangkok Tramways Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทของชนชาติอังกฤษ ขณะที่บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. ดำเนินกิจการมาเพียงเล็กน้อย คือในปี พ.ศ. 2431 พวกอั้งยี่ที่ปล่องเหลี่ยม คือแถวบริเวณที่ถนนตก เกิดกำเริบแสดงอิทธิฤทธิ์ยกพวกเข้าประหัดประหารกัน รถรางสมัยม้าลากได้มีโอกาสรับใช้ชาติในการลำเลียงทหารไปปราบพวกอั้งยี่อันเป็นตอนสำคัญตอนหนึ่งในประวัติของรถราง จึงขอนำมากล่าวไว้ด้วย คือใน พ.ศ. 2432 พวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก่อเหตุใหญ่ ซึ่งเนื่องมาจากพวกจีนแต้จิ๋วกับจีนฮกเกี้ยนแย่งงานกันทำ เลยเกิดตั้งอั้งยี่พวกใหญ่ 2 พวก คือ "ตั้งกงสี" ของจีนแต้จิ๋ว "ซิวลีกือ" ของจีนฮกเกี้ยน

..........ราวเดือนมิถุนายน 2432 สองอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการตีกันขนานใหญ่ พอถึงวันที่ 16 มิถุนายน ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคาและเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราษฎรริมถนนเจริญกรุงตอนใต้วัดยานนาวา เอาไปทำค่ายกำบังตัวขวางถนนเจริญกรุงทั้งสองข้าง เอาท้องถนนตรงห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่าโรงสีปล่องเหลี่ยมเป็นสนามรบ อั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยกพลพรรคเข้าประหัตประหารกันด้วยมีดไม้พลองกระบองสั้น สุดแต่ใครจะมี พวกเจ้าของโรงสีทั้งจีนและฝรั่งห้าม พวกอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง

..........พอกองตระเวนได้ทราบข่าวก็ส่งกำลังพลตระเวนเข้าตรึงหมายพิชิตเหล่าอั้งยี่ให้ราบคาบในชั่วพริบตา แต่การกลับตรงกันข้าม หน่วยพลตระเวนกำลังน้อยกว่าเห็นท่าไม่ดีต้องถอยกรูดไปตั้งหลักรักษาความสงบอยู่ภายนอกแนววิวาท

..........บ่าย 2 โมง ของวันนั้น อั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันเป็นการใหญ่เพื่อปลุกใจเสือป่า พอตกค่ำเหล่าอั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เปิดฉากดวลกันด้วยปืนสั้นและยาว เสียงปืนก้องกัมปนาทแหวกอากาศสนั่นหวั่นไหวตลอดคืนราวกับสงครามกลางเมือง จนกระทั่งวันที่ 20 มิถุนายน สงครามระหว่างพวกอั้งยี่ก็ยังไม่สงบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเห็นว่ากระทรวงนครบาล (กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบันนี้) เหลือกำลังที่จะปราบได้ จึงทรงมอบให้กรมยุทธนาธิการ (ปัจจุบันคือกระทรวงกลาโหม) ทำการปราบคือใช้กำลังทหารปราบ

..........เมื่อคณะบัญชาการปราบอั้งยี่ อันมีสมเด็จพระราชปิตุลา (เวลานั้นยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เลื่อนเป็นสมเด็จพระปิตุลาในรัชกาลที่ 7) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (กรมพระยา) จเรกรมยุทธนาธิการ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (กรมพระยา) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน ได้ปรึกษาวางแผนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เตรียมกำลังพลรบสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธไว้ให้พร้อม เรียกเมื่อใดให้เคลื่อนกำลังได้พร้อมกันทุกกรม

..........รุ่งอรุณของวันที่ 21 มิถุนายน นั้น คณะบัญชาการได้นัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง และลงความเห็นว่าถ้าอั้งยี่ไม่มีทางจะสงบได้ก็ให้เคลื่อนกำลังทหารเข้าทำการปราบทันที เผอิญในค่ำของวันนั้น นายอำเภอนครบาลมาถึงทูลว่า "พวกอั้งยี่กำลังลากปืนใหญ่จากเรือทะเลขึ้นมาตั้งจะยิงกัน" กรมพระนเรศฯ ผู้บัญชาการกระทรวงนครบาลก็ตรัสขึ้นว่า "เหลือกำลังนครบาลแล้วให้ทหารปราบเถิด"

..........คณะบัญชาการจึงตกลงให้ทหารมหาดเล็กเป็นกองหน้า ให้ทหารรักษาพระองค์เป็นกองหนุน มีเจ้าพระยาราชสุภมิตร (อ๊อด สุภมิตร ขณะนั้นเป็นนายพันตรี จมื่นวิชิตชัยศักดาวุธ) เป็นผู้บังคับการ และให้พระยาวาสุเทพ (เชาว์ เวลานั้นเป็นนายร้อยเอก หลวงสัลวิธานนิเทศ) เป็นผู้ช่วย มีกำลังรวมกัน 4 กองร้อย ส่วนกรมอื่น ๆ ให้เตรียมพร้อมไว้ เรียกเมื่อใดให้ได้ทุกกรม

..........ก็แลในสมัยนั้น ภายในกรุงเทพฯ แห่งพระนครหลวง ยานพาหนะทางบกของเราก็ไม่มียานพาหนะชนิดใดที่จะวิเศษยิ่งไปกว่าการรถราง เพราะรวดเร็วและบรรทุกน้ำหนักได้มาก ฉะนั้น พอรุ่งอรุณของวันที่ 21 มิถุนายน นั้นเอง ผู้บังคับการก็สั่งให้ทหารรักษาพระองค์ซึ่งเป็นกองหนุนเดินทางไปก่อน และให้พักอยู่ที่วัดยานนาวา การติดต่อสื่อสารก็ให้สำนักงานไปตั้งสถานีโทรศัพท์เพื่อรายงานมายังศาลายุทธนาธิการทุกระยะ ส่วนทหารมหาดเล็กนั้นให้รออยู่ พอรถรางขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง (ข้างกระทรวงกลาโหมหรือยุทธนาธิการเก่านั้นเอง) ท่านผู้บังคับการก็สั่งให้ยึดรถรางไว้หมดทุกคัน แล้วให้ทหารมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันไป พวกพนักงานขับรถรางรู้ว่าทหารจะไปปราบพวกอั้งยี่ก็ออกสนุก เต็มใจช่วยเหลือทหารอย่างเต็มที่ เพราะพวกพนักงานเหล่านี้ก็เอือมระอาพวกอั้งยี่ที่คอยรังควานพวกเขาเต็มทีอยู่แล้ว แต่พวกเขาไม่สามารถจะสู้รบตบมือกับเหล่าอันธพาลเหล่านี้ ครั้งนี้เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติในฐานะกรรมกร ดังนั้นในวันที่ 21 มิถุนายน รถรางก็ได้เริ่มถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในด้านการขนส่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนทหารเรือก็เริ่มออกจากท่า กะเวลาให้ถึงจุดหมายปลายทางพร้อมกัน

..........8.00 น. ตรงของวันที่ 21 นั้น ทั้งเหล่าทหารบกและเรือก็เริ่มบรรลุถึงจุดหมายตามแผนการ บัดดลนั้นทหารบกก็กระโดดพรึบลงจากรถรางและทหารเรือก็ทยอยกันขึ้นฝั่งมาสมทบพร้อมกันและแล้วก็แยกกำลังเรียงรายเข้าทำการล้อมเหล่าอั้งยี่ทั้งทางเหนือและใต้ (ทหารบกเหนือ, ทหารเรือใต้) ตามกำหนด อั้งยี่เห็นทหารเรียงรายตั้งปืนจังก้าก็ตกใจ เกิดอลหม่านเป็นการใหญ่ บ้างก็หนี บ้างก็สู้ ทันใดนั้นเอง วินาทีแห่งพระยามัจจุราชก็เริ่มคืบคลานเข้าครอบงำทั่วบริเวณนั้นทันที กระสุนปืนนัดแรกของอั้งยี่ดังขึ้นก่อน แล้วกระสุนปืนฝ่ายทหารก็ตอบออกไปราวกับห่าฝน กระสุนเหล็กของทั้งสองฝ่ายแผดเสียงแหวกอากาศอยู่ไม่ขาดระยะ แต่พวกอั้งยี่ส่วนมากหนี มีสู้เป็นจำนวนน้อย โดยมากก็เป็นพวกหัวโจกต่อสู้กันอยู่ชั่วนาฬิกาเศษ เสียงปืนฝ่ายอั้งยี่ก็สงบ ทิ้งไว้แต่ศัสตราวุธและซากศพ ทหารทั้งสองเหล่าต่างก็ดาหน้ากันเข้าไป เก็บอาวุธและเที่ยวค้นหาอั้งยี่ที่หลบซ่อนอยู่ บ้างก็ยอมให้จับโดยดี บ้างก็หนี กว่าจะจับหมดก็ตกถึงบ่าย ผลของการปราบพวกอั้งยี่ครั้งใหญ่ของเมืองไทยครั้งนั้น ได้หัวโจก 8 คน เมื่อเสร็จการปราบอั้งยี่แล้ว กรมยุทธนาธิการเรียกทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์กลับ และให้ทหารหน้าไปอยู่ประจำรักษาความสงบทั้งบริษัทรถรางก็ได้จัดรถรางรับส่งทหารทั้งขาขึ้นและขาล่อง สุดแต่ทางราชการจะต้องการโดยมิได้คิดค่าจ้างแต่ประการใด

..........บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. นี้ ได้รับโอนกิจการมาดำเนินงานอยู่พักหนึ่ง แต่การดำเนินงานมิได้เกิดผลเป็นที่พึงพอใจและขาดทุน ฉะนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 จึงได้เลิกล้มกิจการลงอีก

รถรางไฟฟ้า
..........ภายหลังจากบริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. ได้เลิกล้มกิจการไปแล้ว ก็มีบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกบริษัทหนึ่งมารับช่วงสัมปทานไปดำเนินงานแทน พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 บริษัทชาวเดนมาร์กนี้ได้ขยายกิจการใหม่ โดยเปลี่ยนจากม้าลากรถเป็นใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้เริ่มใช้รถรางไฟฟ้าแทนม้าลากนั้น กิจการของรถรางในประเทศของยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้าใช้ ฉะนั้นรถรางไฟฟ้าของประเทศไทยจึงเกือบจะเชื่อได้ว่าเป็นรถรางไฟฟ้าสายแรกของโลกทีเดียว

..........เมื่อตอนที่รถรางวิ่งไปด้วยกระแสไฟฟ้าในระยะแรก ประชาชนคนไทยและต่างประเทศพากันแตกตื่นกันไปดูอย่างแน่นขนัด เพราะมันเป็นเรื่องประหลาดที่รถแล่นไปได้โดยไม่มีม้ามีคนลาก เมื่อทราบว่าวิ่งไปได้ด้วยอำนาจกระแสไฟฟ้าก็พากันตระหนกตกใจไม่มีใคากล้าขึ้นรถราง เพราะกลัวไฟฟ้าจะดูดเอา พวกฝรั่งต้องขึ้นให้ดูและให้ขึ้นโดยไม่เก็บสตางค์อยู่หลายวัน

..........บริษัทชาวเดนมาร์กนี้ ได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา และได้โอนกิจการนี้ให้แก่ บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. (The Siam Electricity Co.,Ltd.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2443

..........ครั้นเดือนกรกฎาคม 2443 นายแอล. เดอ ริชเชอลิว และนาย เอ. เวสเตนโฮลส์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย ให้เปิดการเดินรถรางขึ้นอีกสายหนึ่ง และให้ชื่อว่า "สายสามเสน" วิ่งระหว่างเขตเหนือถึงเขตกลางพระนคร แต่ดำเนินกิจการอยู่ได้ไม่นานก็ต้องโอนกิจการการรถรางสายนี้ให้แก่บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. (The Siam Electricity Co.,Ltd.) เมื่อเดือนกันยายน 2444

..........ใน พ.ศ. 2447 บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตพร้อมด้วยบุคคลในเชื้อพระวงศ์และผู้มีบรรดาศักดิ์หลายท่านให้เปิดการเดินรถรางขึ้นอีกสายหนึ่งในพระนคร เรียกว่า "รถรางสายแดง" รถรางสายนี้รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด

..........แต่เนื่องจากบริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ได้เข้าซื้อหุ้นและถือหุ้นส่วนมากในบริษัทรถรางสายแดง เมื่อ พ.ศ. 2450 และทั้งได้เป็นผู้ควบคุมกิจการรถรางสายสามเสนอยู่ด้วยแล้ว ฉะนั้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2451 จึงได้รวมกิจการรถรางสายสามเสนและสายแดงเข้าด้วยกัน และจัดการดำเนินงานเสียเอง

..........บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟฟ้าไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482

..........สัมปทานการเดินรถรางของบริษัทไฟฟ้าคอร์ปอเรชั่น จ.ก. ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เข้ารับมอบกิจการดำเนินงานต่อในนามของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสังกัดอยู่ในกรมโยธาเทศบาลขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2493 เป็นต้นมา

..........นอกจากในกรุงเทพฯ แล้วในต่างจังหวัดก็มีรถรางรับส่งคนโดยสารอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสระบุรี โดยมีเจ้านายไทยหลายพระองค์ตั้งบริษัทขึ้นเรียกว่า "บริษัทรถรางสายพระพุทธบาท" รถรางสายนี้เปิดบริการเมื่อ พ.ศ. 2444 เดินระหว่างพระพุทธบาทกับท่าเรือ แต่ภายหลังกิจการได้เลิกล้มไป

..........สำหรับรถรางในพระนครนั้นทางรัฐบาลได้เลิกล้มกิจการเดินรถเกือบทุกสาย แล้วยังเหลือวิ่งให้ดูเป็นสัญลักษณ์แห่งการขนส่งทางบกอยู่เพียงสายเดียวเท่านั้น คือสายรอบเมืองสายใหม่ และในที่สุดเลิกโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511

..........สำหรับทางรถรางที่วางตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 45,120 เมตร และตัวรถที่ใช้วิ่งอยู่เวลานั้น ใช้รถเก่าแต่มาต่อหรือดัดแปลงตัวถังใหม่ให้ทันสมัยในประเทศไทย รถรางส่วนมากซื้อมาจากประเทศอเมริกาและเดนมาร์กยังไม่มีการต่อขึ้นเองในเมืองไทยสมัยก่อน รถรางนอกจากบริการในการขนส่งแล้ว ยังใช้เป็นพาหนะในการดับเพลิงอีกด้วย


รถรางสายรอบเมืองกำลังแล่นผ่านวังบูรพา
ภาพจากหนังสือ สิ่งแรกในเมืองไทย เล่ม 2 โดย สงวน อั้นคง ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2502 หน้า 86-87

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช ข้อสอบปรนัย

1. นางรำพึงถูกชาวบ้านระบุว่าเป็นกระสือ สามีและลูกรู้สึกอับอายและกังวลมาก ชาวบ้านไม่คบค้าด้วย เมื่อสามีนางรำพึงมาปรับทุกข์ในเรื่องเหล่านี้ ท่านจะปฏิบัติอย่างไร
..........1. แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้าน
..........2. แนะนำให้สามีนำนางรำพึงมาพบก่อน
..........3. แนะนำให้ไปพบเจ้าอาวาสวัดที่ชาวบ้านนับถือ
..........4. แนะนำให้ไปปรับความเข้าใจกับชาวบ้าน
........................................................................................................
2. การส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทั่วไปจะทำอย่างไร
..........1. เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจิตแนะนำให้ญาติพาไปรักษาทางจิตเวช
..........2. สนทนาและให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการทั่วไป
..........3. ดูแลช่วยเหลือผู้มีอาการทางจิตที่พบในโรงพยาบาลทั่วไป
..........4. สอนวิธีช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยจิตเวชแก่ญาติและผู้ร่วมงาน
........................................................................................................
3. บุคคลในข้อใดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต
..........1. ด.ช. ปลา อาศัยอยู่ตามแหล่งก่อสร้าง
..........2. ด.ช. หมู ขายพวงมาลัยตามสี่แยก
..........3. ด.ช. นก ทำงานเป็นเด็กปั๊มน้ำมัน
..........4. ด.ช. ไก่ ทำงานตามอู่ซ่อมรถยนต์
........................................................................................................
4. สถานการณ์ในข้อใดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต
..........1. นายสุม เป็นนายแบบต้องรับงานหลายงานในช่วงเวลาเดียวกัน
..........2. นายสมควร ติดต่อลูกค้าด้วยธุรกิจสำคัญทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้บ่อย ๆ
..........3. นายโอชา ว่างงานเป็นเวลา 3 - 6 เดือน
..........4. นายมานพ ทำงานในโรงงานประดิษฐ์ส่วนประกอบอีเล็กโทรนิกส์
........................................................................................................
5. นาย ก อายุ 30 ปี เข้ารับการรักษาแผนกศัลยกรรมชายเป็นเวลา 2 ปี ด้วยมีแผลที่ก้นกบ ขาทั้งสองข้างลีบเล็กไม่มีแรง พยาบาลตั้งฉายาแก่นาย ก ว่า "แก่วอร์ด" เพราะนาย ก รู้จักพยาบาลทุกคนโดยเฉพาะหัวหน้าตึก นาย ก จะแสดงตัวสนิทสนมมาก หลังจากถูกหัวหน้าตึกดุเรื่องนายเดชบอกให้หัวหน้าตึกทำแผลให้และดุด่าผู้ป่วยอื่นในหอผู้ป่วย นาย ก ใช้มีดกรีดแขนซ้ายตนเอง ไม่ยอมรับประทานอาหารและไม่พูดกับใคร พฤติกรรม นาย ก กระทำเพื่ออะไร
..........1. เรียกร้องความสนใจจากหัวหน้าตึกผู้ป่วย
..........2. เป็นการลงโทษตนเองที่กระทำผิด
..........3. ลดความกดดันของอารมณ์
..........4. แสดงความสำคัญของตนเอง
........................................................................................................
6. คำพูดใดที่เหมาะสมเมื่อพยาบาลเข้าไปติดต่อ นาย ก ในเรื่องการรับประทานอาหาร
..........1. "เพราะอะไรคุณไม่ทานข้าวคะ เป็นอะไรหรือเปล่าคะ"
..........2. "ไปทานข้าวกันเถอะคะ อย่าโกรธเลยนะ"
..........3. "เกิดอะไรขึ้นกับคุณคะ พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมคะ"
..........4. "ถ้าคุณไม่ทานอาหาร แผลของคุณไม่หายนะคะ"
........................................................................................................
7. จากการที่นาย ก ไม่ยอมรับประทานอาหาร และไม่พูดกับใคร พยาบาลช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับตนเองได้อย่างไร
..........1. บอกให้ผู้ป่วยทราบถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
..........2. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม
..........3. ปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามปกติเหมือนผู้ป่วยอื่น
..........4. จัดสิ่งแวดล้อมให้สบาย ให้ผู้ป่วยสำรวจตนเอง
........................................................................................................
8. จากประวัติเดิมพบว่า นาย ก ถูกยิงที่บริเวณบั้นเอว ทำให้มีอาการชาตั้งแต่ระดับเอวลงไป นาย ก มีความท้อแท้ สิ้นหวัง นาย ก ควรได้รับคำแนะนำในลักษณะใด
..........1. อ่านหนังสือธรรมะและฝึกสมาธิ
..........2. ดูวีดีทัศน์เรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ต้องตัดขา
..........3. พูดคุยกับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพเดียวกัน
..........4. ทำงานอดิเรกตามความสนใจ
........................................................................................................
9. พฤติกรรมในข้อใดที่ควรส่งเสริมให้คงอยู่
..........1. ลิฟ เป็นคนระมัดระวังตัวอย่างมาก เวลาไปไหนมักจะถามถึงความปลอดภัยเป็นข้อแรก
..........2. ออย เป็นคนถือคติว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ความเจริญ
..........3. บอย มักจะบอกเพื่อนว่าจะไปไหนคนเดียวไม่ได้โดยอ้างว่าห่วงบิดามารดา
..........4. แจ็บ เจอเพื่อนคราวใดมักจะบอกเพื่อนว่า ตนเองได้ปรับปรุงตัวเองดีเลิศ
........................................................................................................
10. นายเด่นอายุ 65 ปี สถานภาพสมรสคู่ อาชีพเป็นยามรักษาความปลอดภัย มาพบแพทย์เพราะทะเลาะกับภรรยา ภรรยาไม่พอใจที่เขาชอบสะสมชุดชั้นในผู้หญิง กิริยาท่าทางภายนอกเป็นผู้ชายเต็มตัวและมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามเท่านั้น เขาเคยสวมเสื้อผ้าผู้หญิงไว้ข้างใน เช่น ชุดชั้นใน มาพบแพทย์เพราะต้องการรักษา ข้อใดเป็นปัญหาที่นายเด่นต้องการแก้ไข
..........1. ความต้องการที่จะสวมเสื้อผ้าผู้หญิง
..........2. ความต้องการเป็นผู้หญิง
..........3. ความต้องการให้ภรรยายอมรับ
..........4. ความต้องการมาพบแพทย์
........................................................................................................
11. ในตึกผู้ป่วยหญิง น.ส.อรทัย อายุ 18 ปี ทะเลาะกับ น.ส. กนก อายุ 20 ปี เพราะ น.ส. อรทัย เข้าไปแย่งของฝากจากมือ พร้อมทั้งตบหน้า น.ส. กนก 1 ครั้ง พยาบาลได้เข้าไปแยกคู่กรณีพร้อมกับการตวาดเสียงดังว่า "ทะเลาะกนอีกแล้ว" เพราะเหตุใดพยาบาลกระทำเช่นนั้น
..........1. ทำเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยอื่นถูกรบกวน
..........2. ทำเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับคู่กรณีทั้งสอง
..........3. ทำเพื่อไม่ให้ตนเองเดือดร้อน
..........4. ทำเพื่อเตือนสติให้ผู้ป่วยรู้ตัว
........................................................................................................
12. หลังจากผ่านไป 2 วัน น.ส.อรทัยยังคงมีพฤติกรรมเดิม น.ส.อรทัยจึงต้องถูกควบคุมใกล้ชิดพิเศษ โดยการจำกัดบริเวณให้อยู่ห้องแยกและกำหนดเวลาให้ออกมานอกห้องเป็นช่วงสั้น ๆ ท่านเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
..........1. เหมาะสม เพราะ น.ส.อรทัยไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใด
..........2. เหมาะสม เพราะ น.ส.อรทัยควรได้รับการดูแลและจำกัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
..........3. ไม่เหมาะสม เพราะ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
..........4. ไม่เหมาะสม เพราะ น.ส.อรทัยควรได้รับการดูแลด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่า
........................................................................................................
13. นายมานิต อายุ 22 ปี เรียนระดับอุดมศึกษาปีที่ 2 มาโรงพยาบาลด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง 6 กิโลกรัม และนอนไม่ค่อยหลับมา 3 เดือน มารดาให้ประวัติว่านายมานิตรู้สึกว่าผลการเรียนของตนเองลดลงและเบื่อการเรียน รู้สึกเบื่อหน่ายทุกอย่าง สมาธิสั้น คิดว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัว รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถเรียนได้เกรดตามที่ตนหวังไว้ ท่านคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้นายมานิตรู้สึกตนเองเป็นภาระของครอบครัว
..........1. ผลการเรียนลดลง
..........2. เบื่อหน่ายชีวิต
..........3. คิดมากจนนอนไม่หลับ
..........4. คิดว่าตนเองไม่เหมาะกับสถานที่เรียน
........................................................................................................
14. หลังจากที่พยาบาลได้สนทนากับนายมานิตจึงทราบว่านายมานิตเป็นผู้เรียนดี รับผิดชอบสูง พยาบาลควรแนะนำนายมานิตอย่างไร
..........1. แนะนำให้ไปพบนักจิตวิทยา
..........2. แนะนำให้ไปพบอาจารย์ที่ปรึกษา
..........3. ให้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด
..........4. แนะนำให้ออกกำลังกายมาก ๆ
........................................................................................................
15. พยาบาลจะมีวิธีการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยอย่างไร
..........1. ซักประวัติเพิ่มเติมในเรื่องความสัมพันธ์กับนักร้องหญิง
..........2. ให้เล่าถึงสิ่งที่ภาคภูมิใจของผู้ป่วย
..........3. สังเกตพฤติกรรมซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด
..........4. ให้ร้องเพลงให้เพื่อนผู้ป่วยฟังทุกวัน
........................................................................................................
16. น.ส.กิตติมา อายุ 49 ปี เข้ารับการรักษาด้วยอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ จากประวัติพบว่า น.ส.กิตติมามีหนี้สิน ถูกปลดออกจากงานและเป็นที่รังเกียจของเพื่อนฝูง พยาบาลได้สร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอหลังจากรับการรักษาได้ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยบอกว่ามีเรื่องไม่สบายใจหลายเรื่อง แต่เล่าไม่ถูกว่าจะพูดเรื่องอะไรก่อนดี
คำพูดใดที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินสัมพันธภาพ
..........1. "คุณบอกว่า คุณมีเรื่องไม่สบายใจหลายเรื่อง"
..........2. "แล้วคุณคิดว่าคุณจะพูดเรื่องอะไรก่อนดี"
..........3. "เราคุยเรื่องหนี้สินวันก่อนดีมั้ยคะ"
..........4. "ค่อย ๆ นึกไปนะคะ"
........................................................................................................
17. เหตุการณ์ในข้อใดที่แสดงถึงสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ
..........1. พยาบาลเดินผ่านผู้ป่วยที่นั่งอยู่หน้าตึกที่กำลังซ่อมแซม พยาบาลจึงถามผู้ป่วยว่า "เพราะอะไรคุณจึงมานั่งที่ตึกนี้คนเดียว"
..........2. พยาบาลพบผู้ป่วยนั่งหน้านิ่วที่ระเบียงตึก พยาบาลจึงถามผู้ป่วยว่า "เป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรให้ดิฉันช่วยมั้ยคะ"
..........3. นายศักดาพูดว่า "ผมรักเขาคนเดียว คงลืมเขาไม่ได้หรอก"
              พยาบาลตอบว่า "คุณศักดาทำใจเถอะ ผู้หญิงไม่มีคนเดียวในโลก"
..........4. ผู้ป่วยรายหนึ่ง "ผมไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า"
              พยาบาลตอบว่า "ฉันเชื่อว่า คุณต้องทำได้"
........................................................................................................
18. ข้อใดต่อไปนี้ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดอาการทางจิต
..........1. การดูแลเรื่องผิวหนัง ไม่ให้เกิดแผล
..........2. การให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
..........3. การให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัว
..........4. การจัดตารางควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด
........................................................................................................
19. ข้อใดเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ไม่เหมาะสม
..........1. ชาวบ้านกลัวผีปอบ พยาบาลจึงปล่อยให้ชาวบ้านดำเนินกิจกรรมตามความเชื่อของประเพณีดั้งเดิม
..........2. เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านสูบบุหรี่มากขึ้น พยาบาลจึงจัดโครงการรณรงค์การติดสารเสพติด
..........3. ผู้สูงอายุในหมู่บ้านมากขึ้น พยาบาลจึงเสนอให้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ
..........4. ในหมู่บ้านพบครอบครัวหย่าร้างเพิ่มขึ้น พยาบาลจึงรณรงค์ให้จัดโครงการสุขภาพจิตเด็ก
........................................................................................................
20. นายสิทธิพร อาชีพนายแบบ ประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกชนบริเวณลำตัว แพทย์ช่วยชีวิตโดยการผ่าตัดไตข้างขวาออก หลังจากแผลหาย ผู้ป่วยเริ่มไม่สบายใจ เช่น การปฏิบัติตัว การประกอบอาชีพนายแบบ การมีชีวิตครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์
ท่านจะมีวิธีการฟื้นฟูสุขภาพจิตของนายสิทธิพรอย่างไร
..........1. แนะนำให้เปลี่ยนอาชีพ
..........2. ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อเรื่องใด ๆ
..........3. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไต
..........4. นำผู้ป่วยเข้ารับการอบรมการเตรียมตัวก่อนสมรส
........................................................................................................
วิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน
21. จากการเยี่ยมบ้านครอบครัวหนึ่งพยาบาลชุมชนพบว่า สภาพแวดล้อมทั้งภายในและรอบ ๆ บ้านสกปรกมาก บุตรของครอบครัวนี้อายุ 3 เดือน และมีอาการอุจจาระร่วงบ่อย ๆ ซึ่งบิดา-มารดามีความวิตกกังวลมาก ปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนของครอบครัวนี้ คือข้อใด
..........1. อาหารเสริมของบุตร
..........2. สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
..........3. ความเจ็บป่วยของบุตร
..........4. ความวิตกกังวลของบิดาและมารดา
........................................................................................................
22. จากสภาพเศรษฐกิจสังคมที่บีบคั้นและวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไปนิยมแบบตะวันตก ทำให้เกิดโรคใดมากขึ้น
..........1. หัวใจ
..........2. กระเพาะอาหาร
..........3. ความดันโลหิตสูง
..........4. มะเร็งหลอดอาหาร
........................................................................................................
23. เด็กอายุ 5 ปี ตัวร้อนจัดมา 2 วัน มีน้ำมูกใสเล็กน้อย อุณหภูมิ 38.8 องศาเซลเซียส การตรวจอาการในข้อใดที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยรายนี้
..........1. การอักเสบภายในลำคอ
..........2. จุดแดงที่กระพุ้งแก้ม
..........3. ตุ่มแดงที่ลำตัว แขน ขา
..........4. การบุ๋มที่ใต้ลิ้นปี่ขณะหายใจ
........................................................................................................
ใช้สถานการณ์ข้างล่างนี้ตอบคำถามข้อ 24-25
หญิงอายุ 45 ปี เรียนจบประถม 4 อยู่บ้านกับสามีและบุตรวัยเรียนอีก 2 คน สามีเป็นคนไม่รับผิดชอบและดื่มสุราวันละครึ่งขวดทุกวัน ตนเองรับจ้างซักผ้าอยู่ที่บ้าน มีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น เบื่ออาหาร เยื่อบุตาซีดเล็กน้อย
24. ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อสุขภาพของหญิงผู้นี้มากที่สุด
..........1. การรับจ้างซักผ้า
..........2. การดำเนินชีวิตของสามี
..........3. รายได้ของครอบครัวไม่เพียงพอ
..........4. ขาดความรู้ในการดูแลตนเอง
........................................................................................................
25. ถ้าหญิงผู้นี้เป็นโรคหัวใจ ได้รับยามารับประทานที่บ้านและคำแนะนำที่ถูกต้อง ครอบคลุมกับโรคภายใน 1 เดือน อาการไม่ดีขึ้น ควรพิจารณาในเรื่องใด
..........1. การไม่เข้าใจคำแนะนำที่ได้รับ
..........2. โรคอยู่ในระยะที่รุนแรง
..........3. ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
..........4. ไม่มีเงินซื้ออาหารที่เหมาะสมกับโรค
........................................................................................................
26. หมู่บ้านแห่งหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณสุขมูลฐาน พยาบาลชุมชนจะใช้หลักการสาธารณสุขมูลฐานแก้ปัญหานี้อย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด
..........1. กระตุ้นผู้นำชุมชนให้มีบทบาทมากขึ้น
..........2. ประสานงานกับกระทรวงอื่นเพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชน
..........3. ร่วมกับโรงพยาบาลกระจายระบบบริการพื้นฐานให้ครอบคลุม
..........4. ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานระดับสูงเพื่อจัดทำโครงการกระตุ้นประชาชน
........................................................................................................
27. ในการดำเนินงานแก้ปัญหาโรคเอดส์ในชุมชน บทบาทของพยาบาลอนามัยชุมชนในข้อใดเหมาะสมและสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของงานสาธารณสุขมูลฐานมากที่สุด
..........1. แนะนำให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและญาติ
..........2. เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ให้แก่ครอบครัว ญาติ และประชาชนในชุมชน
..........3. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในรูปแบบต่าง ๆ
..........4. ให้หน่วยงานต่าง ๆ องค์กรในชุมชน และผู้นำชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรคเอดส์
........................................................................................................
ใช้สถานการณ์ข้างล่างนี้ตอบคำถามข้อ 28-29
จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จำนวน 145 หลังคาเรือน ประชากรรวม 364 คน ประชาชนร้อยละ 90 นิยมรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารพวกปลา พบผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 8
28. พยาบาลที่รับผิดชอบหมู่บ้านนี้ ควรดำเนินการแก้ปัญหานี้ตามลำดับอย่างไร
..........1. ให้คำแนะนำแก่บุคคลในครอบครัวที่มีผู้ป่วย
..........2. เก็บอุจจาระประชาชนส่งตรวจเพื่อหาไข่พยาธิ
..........3. จัดนิทรรศการในหมู่บ้านเรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับ
..........4. จัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับให้แก่ อสม.
..........1. ข้อ 1, 2, 3, 4
..........2. ข้อ 2, 3, 4, 1
..........3. ข้อ 3, 4, 1, 2
..........4. ข้อ 4, 1, 2, 3
........................................................................................................
29. เมื่อพยาบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาไปได้ 6 เดือน พบมีอัตราความชุกของผู้มีไข่พยาธิใบไม้ตับเพิ่มขึ้นจากเดิม ควรปรับปรุงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร
..........1. ให้คำแนะนำแก่บุคคลในครอบครัวที่บ้านทุกหลังคาเรือน
..........2. ให้ความรู้ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับทางหอกระจายข่าว
..........3. จัดนิทรรศการในหมู่บ้านเรื่องการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ
..........4. อบรมพื้นความรู้เรื่องโรคพยาธิให้ อสม. ใหม่
........................................................................................................
ใช้สถานการณ์ข้างล่างนี้ตอบคำถามข้อ 30-32
หญิงอายุ 28 ปี ฐานะยากจน คลอดบุตรที่โรงพยาบาลมาได้ 6 วัน อาศัยอยู่ในบ้านปูนชั้นเดียวกับบุตรคนโตอายุ 5 ปี ซึ่งมักเป็นหวัดบ่อยครั้ง ในระยะนี้กำลังหัดพูดและเดิน
30. ถ้าประวัติของบุตรมีดังนี้ แรกคลอดมีน้ำหนัก 3,000 กรัม มีสำรอกหลังดูดนมบางครั้ง มีตุ่มแดงด้าน ๆ ขึ้นที่แก้มและหน้าผาก สะดือ และบริเวณรอบ ๆ ไม่บวมแดง อุณหภูมิ 37.2 องศาเซลเซียส ปัจจุบันมีน้ำหนัก 2,800 กรัม ปัญหาของเด็กรายนี้คืออะไร
..........1. มีการติดเชื้อที่สะดือ
..........2. ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
..........3. อาจเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง
..........4. อาจเกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
........................................................................................................
31. มารดามีความกังวลว่าบุตรที่เกิดใหม่จะเหมือนบุตรคนโต คือ เมื่อแรกคลอดบุตรคนโตต้องอยู่ในตู้อบเป็นเวลา 1 เดือน ควรให้การช่วยเหลืออย่างไร
..........1. รับฟังและตอบข้อสงสัยที่เกี่ยวกับบุตร
..........2. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแสดงของเด็กที่มีสติปัญญาต่ำ
..........3. ให้ความเชื่อมั่นว่าบุตรจะไม่เป็นเพราะแรกคลอดแข็งแรงดี
..........4. เปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึกและปลอบใจพร้อมให้ความหวังว่าบุตรอาจจะไม่เป็น
........................................................................................................
32. ต่อมาถ้าบุตรคนที่สองอายุได้ 1 ปี มีภาระทุโภชนาการระดับ 3 ควรกำหนดแผนการช่วยเหลือตามลำดับก่อนหลังอย่างไร
          1. ชั่งน้ำหนักเด็ก
          2. ให้อาหารเสริมฟรีแก่เด็ก
          3. ส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
          4. เยี่ยมบ้านให้คำแนะนำการเลี้ยงดูบุตร
..........1. 1, 2, 4, 3
..........2. 2, 1, 3, 4
..........3. 3, 4, 2, 1
..........4. 4, 2, 1, 3
........................................................................................................
33. สภาพการดูแลในเรื่องใดของครอบครัวที่ทุกฐานะต้องได้รับจากรัฐบาล
..........1. ความรู้เรื่องการดูแลบุตร
..........2. การเลี้ยงดูบุตรให้มีจิตใจที่สมบูรณ์
..........3. การส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
..........4. การให้วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ
........................................................................................................

วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กล่าวถึงตรอกเล่าโจ้ว หรือ ตรอกข่วงเมรุ จังหวัดเชียงใหม่


..........ตรอกเล่าโจ้ว หรือ ตรอกข่วงเมรุ เป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนท่าแพกับถนนช้างม่อย เมื่อลงจากสะพานนวรัฐประมาณ 100 เมตร เลี้ยวขวาไปทะลุถนนช้างม่อย ตรอกเล่าโจ้ว ยาวประมาณ 300 เมตร 2 ฝั่งถนนเป็นย่านคนจีนจากอดีตมาถึงปัจจุบันมีอาชีพค้าขาย

..........คำว่า "เล่าโจ้ว" เป็นภาษาจีน ความหมายคือ ศาลเจ้า ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า "กองหล่อ" หล่อ หมายถึง ที่ลาดต่ำ เนื่องจากพื้นที่เมื่อมาจากถนนท่าแพ เลี้ยวขวาเข้าตรอกจะเป็นที่ลาดต่ำ เด็กที่ขี่จักรยานเข้าตรอก ต้องเตรียมตัวบีบคันห้ามล้อ หรือ ในช่วงที่น้ำท่วม น้ำมักไหลเข้าตรอกอย่างเร็ว มักมีผู้พายเรือมาและปล่อยให้ไหลตามน้ำเข้าตรอกเป็นที่สนุกสนาน
..........ส่วนคำว่า "ตรอกข่วงเมรุ" เป็นภาษาทางราชการที่แม้แต่คน "กองหล่อ" รุ่นก่อน ก็ไม่เคยเรียกตรอกที่ตัวเองอยู่ว่า ข่วงเมรุ มักแทนตัวเองว่าเป็นคน "กองหล่อ" มากกว่า
..........ชุมชนชาวตรอกเล่าโจ้ว ถือว่าเป็นชุมชนชาวจีนที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ จากอดีตในยุคก่อนที่คนจีนที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่มักอาศัยอยู่ย่านวัดเกตการาม ซึ่งใกล้แม่น้ำปิงสะดวกในการขนส่งค้าขายทางเรือ แต่หลังจากรถไฟมาถึงเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 ย่านค้าขายเปลี่ยนแปลงไปที่ถนนเจริญเมือง และมาที่ถนนท่าแพ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันความเจริญด้านการค้าขายแผ่มาที่ถนนวิชยานนท์ ตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส รวมทั้งที่ตรอกเล่าโจ้วแห่งนี้ด้วย
..........หากย้อนไปก่อนปี พ.ศ. 2464 ก่อนที่รถไฟจะมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตลาดการค้าขายอยู่ย่านวัดเกตการาม ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง เนื่องจากสามารถเดินทางค้าขายได้สะดวก ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง บริเวณตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส น่าจะยังเป็นที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะตลาดวโรรสเป็นสุสานหรือที่ฝังพระศพของเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายของเมืองเชียงใหม่ ถัดไปทางเหนือที่เป็นตลาดนวรัฐในปัจจุบัน เป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ ที่เป็นไม้สัก 3 ชั้นสร้างโดยนายชี้ค หรือ หมอชี้ค
..........หมอชี้ค หรือ ดร.มาเรียน เอ.ชี้ค มีประวัติว่าได้มาถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2417 และได้ทำการรักษาคนไข้กว่า 13,000 คน ต่อมาลาออกจากคณะสอนศาสนาไปดำเนินธุรกิจด้านการตัดไม้และตั้งโรงเลื่อยเป็นโรงแรกในเชียงใหม่ นอกจากสร้างคุ้ม 3 ชั้นและสร้างสะพานไม้สักข้ามแม่น้ำปิงแล้ว ยังสร้างโรงเรียนในปี พ.ศ. 2431 ที่ริมแม่น้ำปิง เชิงสะพานนวรัฐชื่อว่า โรงเรียนสตรีพระราชชายา อีกชื่อหนึ่ง คือ โรงเรียนดารารัศมี ต่อมาย้ายไปเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย (ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ แปลโดยจิรนันท์ พิตรปรีชา)
..........ดังนั้นคาดว่า หมอชี้ค สร้างคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2431
..........เมื่อย่านตลาดวโรรสเป็นสุสานและตลาดต้นลำไยเป็นที่ว่าง แต่ถัดไปด้านถนนท่าแพ กลับปรากฏว่ามีข้อมูลว่ามีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ดังปรากฏไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2074 ว่า ปีเถาะตรีศกจุลศักราช 893 (พ.ศ. 2074) เดือน 6 ไฟไหม้บ้านท่าแพ คนทั้งหลายเสียหายมากนัก เจ้าพระยาเกษ แม่ลูก ย่า หลาน ให้ทานเงินแก่ชาวท่าแพ 20,000 เงิน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, สงวน โชติสุขรัตน์)
..........ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นบริเวณถัดไปทางตะวันตกเลยไปทางด้านประตูท่าแพ สมัยก่อนน่าจะเป็นชุมชนค้าขายใหญ่ทั้ง 2 ฟากถนนท่าแพ
..........แล้วตรอกเล่าโจ้วหรือตรอกข่วงเมรุ น่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และเริ่มอย่างไร ?
..........ตรอกข่วงเมรุน่าจะเริ่มต้นในช่วงเวลาที่มีการสร้างตลาดวโรรสขึ้น และเมื่อตลาดเป็นที่นิยมทำให้ชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าโดยรอบของตลาดวโรรส ไม่ว่าจะเป็นถนนวิชยานนท์ ถนนช้างม่อยและตรอกเล่าโจ้วแห่งนี้
..........ตลาดวโรรส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453 สร้างโดยเจ้าแก้วนวรัฐครั้งยังเป็นราชวงศ์ ใช้เงินทุน 1,800 รูปี ต่อมาขายให้เจ้าอินวโรรสผู้เป็นพี่ชายแล้วตกเป็นของเจ้าราชวงศ์ (เจ้าเลาแก้ว ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นบุตร ต่อมาเมื่อเจ้าทิพย์เนตร ชายาของเจ้าราชวงศ์ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2462 เจ้าราชวงศ์ไม่มีเงินจัดการพิธีศพ จึงเอาตลาดวโรรสไปจำนองไว้กับหลวงอนุสารสุนทรกิจ (ต่อมาเป็นหลวงอนุสารสุนทร) แล้วก็ไม่สามารถไถ่ถอนได้ จนต่อมาพระราชชายาเจ้าดารารัศมีหาเงินมาไถ่ถอน (นายทุนพ่อค้ากับการก่อและขยายตัวของระบบทุนนิยมในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2464 - 2523, ปลายอ้อ ชนะนนท์, 2530) ส่วนตลาดต้นลำไย อาจมีขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่เป็นตลาดแบบชาวบ้าน ที่ชาวบ้านมาวางผักปลาขายกัน
..........เมื่อมีคนจีนเข้ามาอยู่กันหนาแน่นพอสมควรแล้ว สิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางศาสนาได้ คือ ศาลเจ้า จึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้น ศาลเจ้าเล่าโจ้วนั้น พอมีประวัติว่า ในการดำเนินการด้านธุรกิจตลาดวโรรส สมัยที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีดำเนินการนั้น มีข้อมูลว่าในการดำเนินการมอบหมายให้คนจีนมาเหมาเก็บรายปีและชาวจีนผู้นี้ได้มาขอสร้างศาลเจ้าที่ตรอกข่วงเมรุ ชื่อ "ศาลเจ้าเล่าโจซัง" เจ้าที่อัญเชิญมาประทับที่ศาล ชื่อ "เล่าโจ้ว" จึงเรียกตรอกนี้ว่า "ตรอกเล่าโจ้ว" เรื่อยมา ด้านหลังศาลเจ้าเป็นน้ำแม่ข่า ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำแม่ข่าสมัยก่อนนั้นกว้างขวางและเรือสามารถแล่นมารับส่งสินค้าได้ แต่ต่อมาตื้นเขินและชาวบ้านมาบุกรุกถือกรรมสิทธิ์ทั้ง 2 ฝั่งแม่ข่า
..........คราวเมื่อตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรสถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ไฟไหม้จากตลาดต้นลำไยและลามมาที่ตลาดวโรรส ไหม้หมดเป็นรูป 4 เหลี่ยมมาถึงด้านหลังที่ติดกับตรอกหรือตรอกเล่าโจ้ว แปลกมากที่ไฟไม่ลุกลามข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่งของตรอกข่วงเมรุที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ อาจเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าเล่าโจ้ซัง ชาวตลาดบอกว่า ศาลเจ้าเล่าโจ้ซัง เฮี้ยน คือ ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นก็มีการทำบุญศาลเจ้าแบบใหญ่โตกันทุกปี ก่อนไฟไหม้ก็ทำบุญกันแต่เป็นงานเล็ก ๆ (คุณซิวเฮียง โจลานันท์, อายุ 85 ปี, สัมภาษณ์)
..........ดังนั้นเมื่อตลาดวโรรส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2453 ย่านตรอกข่วงเมรุก็คงจะสร้างขึ้นภายหลังในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เชื่อว่าคนจีนอาจทะยอยเข้ามาเรื่อย ๆ เนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2464 นั้นรถไฟยังไม่เข้าถึงเชียงใหม่ ดังนั้นย่านวัดเกตน่าจะยังคงเป็นย่านที่ยังทำมาหากินคล่องอยู่ แต่บางส่วนก็ทะยอยมาแล้วและคงทะยอยมาตั้งร้านค้าทั้งถนนวิชยานนท์และถนนตรอกข่วงเมรุ ดังมีข้อมูลว่าร้านของเถ้าแก่ง่วนชุน ตันตรานนท์ บิดาของคุณธวัช ตันตรานนท์ มาตั้งที่ถนนวิชยานนท์ ประมาณปี พ.ศ. 2460
..........จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนดั้งเดิมจากย่านวัดเกตการามและชาวจีนที่อพยพมาใหม่ ทะยอยจากบ้านเรือนและร้านค้ากันหนาแน่นทั้งย่านวิชยานนท์และย่านตรอกข่วงเมรุ ตั้งแต่หลังสร้างตลาดวโรรส คือ ปี พ.ศ. 2453 เรื่อยมาถึงจนหลังปี พ.ศ. 2464 เมื่อมีรถไฟถึงเมืองเชียงใหม่แล้วคงทะยอยกันมามากขึ้น หลังจากนั้นก็คาดว่าทะยอยมาเรื่อย ๆ
..........ครอบครัวแรก ๆ ของตรอกเล่าโจ้ว หรือตรอกข่วงเมรุ ครอบครัวหนึ่งคือ ครอบครัวของพระชำนาญชนานุรักษ์ (ตวาด ชลัย) เกิดที่ตรอกเล่าโจ้ว โดยพ่อแม่เป็นคนภาคกลางอพยพมาอยู่ที่ตรอกเล่าโจ้วช่วงแรก ๆ และเนื่องจากแม่มีฝีมือทางทำกับข้าวภาคกลาง จึงมักเข้าไปช่วยทำอาหารภาคกลางให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีอยู่เสมอ ๆ พระชำนาญฯมีพี่น้องรวม 5 คน เข้าเรียนหนังสือจากพระที่วัดอุปคุตและเข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 15 ปี จนไต่เต้าเป็นนายอำเภอแม่ริม นายอำเภอเมืองน่าน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและเกษียนขณะเป็นนายอำเภอเมืองลำปาง หลังเกษียนแล้วได้กลับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่ตรอกเล่าโจ้ว บุตรชายคนหนึ่ง คือ อาจารย์ยรรยงค์ ชลัย พระชำนาญชนานุรักษ์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2496 บริเวณบ้านเดิมขายต่อผู้อื่นไป (อ.ยรรยง ชลัย, สัมภาษณ์) บ้านของพระชำนาญฯอยู่ด้านซ้ายของตรอกเล่าโจ้ว เป็นบ้านไม้สักใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง
.................................

วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่-จากขุนเขาสู่...ศิลปาชีพ

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

..........หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ภายในได้จัดแบ่งพื้นที่อาคารด้านหน้าเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร อาคารด้านหลังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม นิทรรศการหมุนเวียน ห้องจำหน่ายของที่ระลึก ห้องนิทรรศการศิลปกรรมล้านนา ห้องสารสนเทศ และห้องภัณฑารักษ์ เปิดทำการวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
มีจำนวน 3 หอ

1. หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai City Arts & Culturat Centre) เป็นสถานที่เพื่อให้คนในท้องถิ่นรู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น

2. หอประวัติศาสตร์ (Chiang Mai Hostoric Centre) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ นับแต่สร้างเมืองเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน

3. พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (Lanna Folklite Museum) ได้รวบรวมและจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในล้านนา

ที่ตั้ง ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

จากขุนเขาสู่...ศิลปาชีพ
Crafts from the Hands of the Hills....to the Hands of The Queen

นิทรรศการศิลปกรรมสื่อผสม หัตถกรรมผ้าชาวไทยภูเขาผสมผสานงานปักแบบร่วมสมัย แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมันสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของชาวไทยภูเขาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้ชาวไทยภูเขาได้สร้างสรรค์งานฝีมือที่งดงามให้คงอยู่สืบไป 1 กันยายน - 19 พฤศจิกายน 2560

ชื่อภาพ : สว่างบนมืด รอยยิ้มแห่งรัตนโกสินทร์ที่ 9

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
แนวคิด : เมื่อเรามีความรักและพากเพียรในหน้าที่ แม้ชีวิตอยู่ในความมืดมิดสักเพียงใด พระราชดำรัสจะเป็นดังแสงส่องนำทาง และจะทรงแย้มพระสรวลให้กับความพากเพียรของเราเสมอ

ชื่อภาพ : "สายธารจากทักษิโณทก"

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
เนื้อหา : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ปฐมบรมราชโองการอันเป็นคำมั่นสัญญา จากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอุทิศเสียสละเวลาทั้งพระชนม์ชีพเพื่อความสุขของปวงชนชาวไทย

ชื่อภาพ : แผ่นดินทองของเฮา

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
เนื้อหา : ต่างชนเผ่า ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ แต่ทุกชีวิตบนดอยสามารถอยู่ได้อย่างอบอุ่นใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินทองของไทย

ชื่อภาพ : แผ่นดินทองของเมี่ยน

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
เนื้อหา : ต่างชนเผ่า ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ แต่ทุกชีวิตบนดอยสามารถอยู่ได้อย่างอบอุ่นใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินทองของไทย

ชื่อภาพ : ลิงเก็บอาหาร ชลประทานเก็บน้ำ

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
เนื้อหา : แก้มลิง คือ พื้นที่เก็บกักน้ำเพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการชลประทานประเภทหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริขึ้น โดยทรงสังเกตว่า เมื่อลิงได้อาหารมากมักจะนำไปอมไว้ในกระพุ้งแก้มก่อน แล้วค่อยนำมาเคี้ยวกลืนภายหลัง โครงการแก้มลิงจึงใช้หลักการเดียวกัน คือจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำส่วนหนึ่งไว้ในยามที่ทางน้ำสาธารณะมีระดับน้ำสูง เมื่อระดับน้ำลดลงแล้วจึงค่อย ๆ ระบายน้ำในแก้มลิงออกมาสู่ทางน้ำสาธารณะต่อไป แก้มลิงมีหลายขนาดตั้งแต่อ่างเก็บน้ำ ลำคลอง หนองบึง ไปจนถึงสนามในบ้านของประชาชนก็สามารถใช้เป็นแก้มลิงได้

ชื่อภาพ : หอมเอื้องแซะ

เทคนิค : สื่อผสม จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2559
เนื้อหา : เอื้องแซะเป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยที่มีดอกสวยงามและกลิ่นหอม พบมากในป่าทางภาคเหนือ แต่ปัจจุบันกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากป่าถูกทำลาย และมีการลักลอบเก็บต้นเอื้องแซะไปขายคราวละมาก ๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรดกลิ่นหอมของเอื้องแซะอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันขยายพันธุ์เอื้องแซะเพื่อทดลองผลิตเป็นน้ำหอม รวมทั้งสนับสนุนให้ราษฎรขยายพันธุ์เอื้องแซะ เพื่อนำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ

สี่แยกรินคำ ในอดีตและปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่

สี่แยกรินคำ ในอดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบความเจริญกับกาลเวลา

ในภาพเมื่อเลี้ยวขวาจะไปถนน Super Highway
อาคารสูงใหญ่ด้านขวานั่นก็คือห้างเมย่าในปัจจุบัน ตั้งอยู่ ณ.หัวมุมสี่แยกรินคำ เลี้ยวขวาไปมุ่งสู่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์

รถยนต์คันแรกของเชียงใหม่

รถยนต์คันแรกของเชียงใหม่ ถ่ายโดย หลวงอนุสารสุนทร เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445

รถยนต์คันแรกของเชียงใหม่เป็นรถยนต์ฝรั่งเศส ชื่อ "เดอ เตียง บูตอง" ซึ่งเป็นของพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) เป็นข้าหลวงพิเศษจากกรุงเทพฯ เป็น "หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัดภาคเหนือ"

รถยนต์คันที่ 2 ของเชียงใหม่เป็นของ "เจ้าอินทวโรรส" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8
รถยนต์คันที่ 3 ของเชียงใหม่เป็นของ "หลวงอนุสาร สุนทร"

รถโบราณของหลวงอนุสารสุนทร Rover Model 6 Year 1906 780 CC.
ถ่าย ณ.ห้างอนุสารเชียงใหม่ (บ้านตึก)

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วัดแสนฝาง วัดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่

.........วัดแสนฝางเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมามีข้อมูลที่มีหลักฐานอ้างอิงได้

..........ความสำคัญของวัดแสนฝาง มีหลายประการ เช่น
..........เป็นวัดที่เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ความสำคัญและทำนุบำรุงสืบมา
..........เป็นวัดที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบมาอย่างไม่ขาดตอนโดยเฉพาะคหบดีที่ชื่อว่าหลวงโยนการพิจิตร
..........เป็นวัดที่มีเจ้าอาวาสที่มีความสามารถสืบต่อกันมาหลายรูป เป็นต้น
..........ดังนั้นการรวบรวมประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับวัดไว้ให้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจและประโยชน์ต่อผู้คนในรุ่นต่อ ๆ ไป
พ.ต.อ.อนุ  เนินหาด (ผู้รวบรวม)
.............................

..........วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ตามประวัติที่มีการสืบค้นกันไว้เดิมระบุว่าวัดแสนฝาง แห่งนี้ เดิมชื่อว่า วัด "แสนฝัง" เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ นักโบราณคดีของล้านนาหลายท่านได้สันนิษฐานว่า สร้างมาประมาณ 600 ปีเศษ โดยพญาแสนภู เมื่อได้ครองเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 1867 - 1870 หลังพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณ 30 ปีเท่านั้น (พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839)

..........คำว่า "แสน" มาจากชื่อ พญาแสนภู ผู้สร้างวัด ส่วนคำว่า "ฝัง" หมายถึงการทำบุญกุศลสร้างวัดไว้ เป็นการฝังบุญกุศลสะสมไว้นั่นเอง
..........พญาแสนภูเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่องค์ที่ 3 ครองราชย์ครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ. 1861 - 1862 และครองราชย์ครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 1867 - 1870 (เจ้าหลวงเชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ จัดพิมพ์, 2539) ประวัติวัดแสนฝาง พระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม  ฐิตายุโก) เจ้าอาวาส ได้รวบรวมและจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานฉลองกุฏิ 100 ปี โยนการพิจิตรปี พ.ศ. 2529 โดยอ้างคำบอกเล่าจากนายบุญมา  พุทธวงศ์ ขณะนั้นอายุร่วม 100 ปี ซึ่งรับข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบ ๆ กันมา ข้อมูลว่า
................"เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชได้สวรรคตไปแล้ว พระเจ้าไชยสงครามซึ่งครองเมืองเชียงรายทราบ จึงเดินทางมาเมืองเชียงใหม่พร้อมรี้พลจำนวนมาก หลังจัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงแล้ว ได้นำพระอัฐิบรรจุในสถูปไว้กลางเวียงเชียงใหม่ ทรงชำระสะสางปรับปรุงราชการงานเมืองแล้ว จึงกระทำการราชาภิเษกท้าวแสนภูพระราชบุตรขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระเจ้าปู่ (พระเจ้ามังราย) พระเจ้าแสนภูเสวยราชสมบัติได้ 1 ปี เจ้าพระยาขุนเครือผู้เป็นพระเจ้าอาว์ ยกรี้พลมาจากเมืองนาย เขตพม่ามาล้อมเมืองเชียงใหม่ ทำการแย่งชิงราชสมบัติ พระเจ้าแสนภูไม่คิดต่อสู้จึงหนีไปอยู่เมืองเชียงรายกับพระราชบิดา คือ พระเจ้าไชยสงคราม พระเจ้าไชยสงครามทราบเรื่องก็ทรงกริ้วพระยาขุนเครือเป็นอย่างมาก จึงจัดรี้พลยกทัพให้เจ้าพ่อท้าวน้ำถ้วมเจ้าเมืองฝางเป็นแม่ทัพยกมาปราบพระยาขุนเครือ ท้าวน้ำถ้วมจับพระยาขุนเครือได้นำใส่เรือนจำขังไว้ที่แจ่งเวียง หลังจากนั้นพระยาแสนภูกลับมาครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนพระยาขุนเครือถูกคุมขังนาน 4 ปี ก็สวรรคตลง
................พระเจ้าแสนภู เมื่อได้ครองราชสมบัติครั้งที่ 2 มีพระราชหฤทัยดำริว่า พระเจ้าปู่ก็ดี พระราชบิดาก็ดี มีพระราชหฤทัยในการทำนบำรุงพระพุทธศาสนามาโดยลำดับ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพุทธศาสนาตามเยี่ยงพระเจ้าปู่ปละอย่างพระราชบิดาบ้าง จึงดำริว่า ซากกองอิฐที่ปรากฏเป็นฐานพระเจดีย์ในสถานที่รกร้างว่างเปล่าใกล้แม่น้ำเล็ก ๆ ห่างจากน้ำแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) พอประมาณ จึงพอพระราชหฤทัย สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บริจาคบูรณะพระเจดีย์ที่ปรักหักพังในบริเวณแห่งนี้ให้เป็นรูปร่างพระเจดีย์ที่มั่นคงทนถาวรและสร้างพระวิหาร กุฏิ ที่อยู่อาศัยถวายแด่สมณะชีพราหมณ์เพื่อเป็นการฝากฝังพระราชศรัทธาและพระราชสมบัติของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนา
..........สถานที่ที่พระองค์ทรงสร้างนั้นจึงได้ชื่อว่า "วัดแสนฝัง" คำว่า "แสน" ตรงกับชื่อพระเจ้าแสนภู ส่วนคำว่า "ฝัง" คือ พระองค์ได้ฝังสมบัติไว้ในพระพุทธศาสนา
..........นอกเหนือจากอาคารสิ่งปลูกสร้างที่สวยงามในวัดแล้ว จุดเด่นส่วนหนึ่งของวัดแสนฝาง คือ ซุ้มประตูทางเข้าวัดที่สร้างไว้ใหญ่โต อีกทั้งมีพญานาค 2 ตัว นอนเฝ้า 2 ข้างประตู

..........พญานาค 2 ตัวนี้คาดว่ามีพลังมาก จนทำให้บริษัทแอดวานซ์ฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจำต้องสร้างสิงโตคู่เพื่อลดพลังจากพญานาคคู่นี้



..........เป็นความเชื่อทางหลักฮวงจุ้ยที่เล่าต่อกันมาเช่นนั้น
สิงโตคู่ที่บริษัทแอดวานซ์ฯ ตรงข้ามวัดแสนฝาง
..........สอบถามพระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม  ฐิตายุโก) เจ้าอาวาส เล่าว่า พญานาค 2 ตัวนี้ สร้างขึ้นนานแล้ว สมัยครูบาปัญญาเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง
..........เจ้าอาวาสวัดแสนฝางตั้งแต่อดีตมาที่สืบค้นได้เริ่มจาก
................1. ครูบาปัญญา ปญฺญาวํโส (มรณภาพปี พ.ศ. 2343)
................2. ครูบาโสภา (เถิ้ม) โสภโณ (มรณภาพปี พ.ศ. 2477)
................3. พระอธิการบุญจู พฺรหฺมวํโส (ลาสิกขาปี พ.ศ. 2482)
................4. เจ้าอธิการศรีหมื่น ฉนฺทวโร (มรณภาพปี พ.ศ. 2511)
และ.........5. พระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม ฐิตายุโก) เป็นเจ้าอาวาสรับตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512
พญานาคหน้าวัดแสนฝาง
..........พญานาคคู่นี้สร้างโดยครูบาปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง พญานาคหน้าวัดแสนฝางในอดีต เดิมนั้นพญานาคอยู่นอกกำแพงวัด ต่อมาเกิดปัญหาคือ ยามกลางคืนมักมีผู้ผ่านไปมา เมื่อปวดปัสสาวะก็หาพื้นที่หลบมุมมุมหนึ่ง คือ ใช้ลำตัวพญานาคบดบังอวัยวะลับโดยหันหน้าเข้าหาพญานาคและปัสสาวะใกล้พญานาค บางส่วนรดใส่ตัวพญานาค ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและพญานาคทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ กลายเป็นที่จอดรถของผู้ที่มาจับจ่ายทำธุระละแวกนี้ รวมทั้งรถบางคันก็ขับเฉี่ยวชนพญานาค ขอดเกล็ดเป็นรอยเหวอะหวะ รถบางคันขับทะลุรั้วตาข่ายเข้าชนหัวพญานาคเป็นรอยร้าว
..........จึงได้มีการปรับปรุงซุ้มประตูทางเข้าและซ่อมแซมพญานาคให้สมบูรณ์ดังเดิม ดำเนินการในโอกาสที่นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี ในปี พ.ศ. 2538 สิ้นปัจจัยไป 351,500 บาท
..........พระครูประจักษ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝางเล่าเรื่องพญานาคว่า "พญานาคเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามานาน ในครั้งพุทธกาล พญานาคอยากบวช ก็แปลงเป็นคนบวชเป็นพระ ตอนหลับไปก็กลายเป็นพญานาค พระพุทธเจ้าก็เลยสั่งห้ามพญานาคบวช รวมทั้งสัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ด้วย"
..........มีข้อมูลเกี่ยวกับพญานาคเพิ่มเติมว่า พญานาคที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนามายาวนาน ทุกวัดต้องปรากฏพญานาคเป็นส่วนประกอบเสมอ พญานาคเป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาคมีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาคสามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลชะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
..........พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
..........พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่องกับมด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
..........พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่าที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
..........พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3,5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลงตั้งแต่ใต้บาดาล พื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลงระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ
..........จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาคเป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดีและความไม่ดี
..........ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีนาคผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาปลอมตัวเป็นมนุษย์เข้ามาบวช ได้อยู่ร่วมกินนอนศึกษาพระธรรม ดื่มด่ำคำสอนกับภิกษุสงฆ์ทั่ว ๆ ไป เหตุการณ์ก็ได้ดำเนินไปอย่างปกติสุข จนอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่นอนหลับใหลอยู่นั้น ได้เผลอตัวเผลอกายกลับคืนสู่ร่างนาคดังเดิม ยังความแตกตื่นสับสนอลหม่านตกใจกลัวให้แก่พระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ร้อนความถึงพระพุทธเจ้าต้องมาเจรจากับนาคว่า ผู้ที่มาบวชในศาสนาของเราสงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น ขอท่านพึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเถิด นาคก็รับคำแต่ขอให้พวกตนได้มีส่วนร่วมอยู่เป็นส่วนหนึ่งในพระพุทธศาสนาของพระองค์ด้วย
..........ดังนั้น จึงได้ปรากฏมีประเพณีการบวชนาคก่อนที่จะอุปสมบทบรรพชามาเป็นพระภิกษุจนถึงกาลปัจจุบัน
..........ดังนั้นในพิธีการบวชนั้น พระอุปัชฌาย์จะต้องถามผู้ที่จะบรรพชาก่อนเสมอว่า "มนุสฺโสสิ" แปลว่า เจ้าเป็นมนุษย์หรือ และผู้บวชต้องรับว่า "อามะภันเต" ขอรับ เจ้าข้า. (www.kammatan.com)

**********
..........วัดแสนฝางได้ชื่อว่าเป็นวัดหนึ่งที่เจ้าหลวงเชียงใหม่และญาติมาร่วมทำบุญกุศลมาตั้งแต่อดีต
..........ดังสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเมื่อครั้งเสด็จกลับมาเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2452 ได้ถ่ายซื้อเอาพระอุโบสถที่หลวงโยนการพิจิตรสร้างไว้ โดยมอบเงินจำนวน 1,000 รูปี (1 รูปีประมาณ 80 สตางค์) ให้หลวงโยนการพิจิตร แล้วมีพิธียกพระอุโบสถอุทิศกุศลแด่ดวงวิญญาณพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพย์เกษรราชเทวี

..........นอกจากนี้ด้านความผูกพันกับวัดแสนฝาง ปรากฏในบันทึกกรณียกิจในรายงานของท้าวโสภานิเวศร์ ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งตามเสด็จมาเชียงใหม่ด้วย ข้อความว่า
.........."ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า วันที่ 5 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 128
..........ข้าพระพุทธเจ้า ท้าวโสภานิเวศร์ ขอพระราชทานทำรายงานทูลเกล้าฯถวายให้ใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
..........24 พฤษภาคม ร.ศ. 128 ซ้อมละคร ครั้นเวลาบ่าย 3 โมงเศษ หลวงโยนการพิจิตรแห่พระธาตุจอมทองมาทางหน้าที่ประทับซึ่งจะมาทำบุญที่วัดแสนขวาง แล้วเข้าไปให้พระราชชายานมัสการที่ประทับ แล้วแห่กลับไป
..........25 พฤษภาคม ร.ศ. 128 เวลาบ่าย 4 โมง พระราชชายาฯ เสด็จโดยกระบวนรถม้าไปที่วัดบุปผารามสรงน้ำพระธาตุแล้วเสด็จที่วัดแสนฝาง อยู่คนละฝากถนน ซึ่งหลวงโยนการพิจิตรเชิญเสด็จในงานฉลองเจดีย์นั้นทอดพระเนตรแห่ปอยทาน เสร็จแล้วขึ้นรถที่นั่งไปประพาสที่เวียงสวนดอกเวลาย่ำค่ำกลับถึงที่ประทับ
..........ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 1 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 128 เวลาบ่าย 4 โมง 15 นาที เจ้าดารารัศมีพระราชชายาเสด็จโดยกระบวนรถม้า ไปที่วัดแสนขวางประทับบนพลับพลาวัดแสนขวาง ทอดพระเนตรกระบวนแห่คัวทานเป็นการสำหรับฉลองวัด เสร็จแล้ว เจ้าดารารัศมีพระราชชายาเสด็จไปในพระอุโบสถทรงนมัสการพระ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นไปพระกุฏิของหลวงโยนการสร้าง เสร็จแล้วเสด็จกลับเวลาย่ำค่ำ 5 นาที ถึงที่ประทับแรมบ้านเจ้าอุปราช
..........ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 2 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 128 เจ้าดารารัศมีพระราชชายา เสด็จโดยกระบวนรถม้า เวลาบ่าย 4 โมง...ที่เสด็จไปทอดพระเนตรกู่เจ้านครเชียงใหม่รับสั่งให้เจ้าสุริยาย้ายกู่ไปที่วัดสวนดอกรับสั่งให้ทำขึ้นใหม่เสร็จแล้วเสด็จไปที่วัดแสนขวางประทับพลับพลา"
..........พระครูประจักษณ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง ให้ข้อมูลว่าวัดแสนฝางเป็นวัดที่เจ้าหลวงเชียงใหม่และหมู่ญาติมาร่วมทำบุญ ปฏิบัติธรรมกันสืบมา โดยเฉพาะพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวมทั้งเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ก็มาวัดแสนฝาง เรียกว่ามาสมาทานศีล
.........."สมาทานศีล คือ มารับศีลในวันพระ รับศีลแล้วฟังเทศน์ นอนวัด สมัยก่อนที่มีศาลาสำหรับให้เจ้าหลวงนอน เรียกว่า โฮงเจ้าหรือโรงเจ้า เป็นศาลาอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ต่อมาสมัยหลวงศรีประกาศเป็นนายกเทศมนตรีขอรื้อและใช้พื้นที่ทำถนน ต้องขยับกำแพงเข้ามา ก่อกำแพงใหม่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นศรัทธาวัดและจากเจ้าอาวาสคนก่อน ๆ ที่เป็นเรื่องจริง
.........."สมัยที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวมทั้งเจ้าแก้วนวรัฐและหมู่ญาติมาที่วัดแสนฝาง ก็จะมาฟังธรรมในวิหารวัด รับศีลในกุฏิที่เป็นกุฏิของหลวงโยฯ ที่ปัจจุบันยังมีอยู่ สมัยก่อนที่วัดเคยมีโคมแขวนแบบอังกฤษตกค้างอยู่ ขณะนี้สูญหายไปแล้ว จุดโคมสว่างไสวยามเจ้าหลวงเสด็จมาวัด รวมทั้งมีทหารตำรวจมาเข้าเวรรักษาการณ์ด้วย ปัจจุบันยังคงอนุรักษ์หอเวรยามอยู่ ตั้งอยู่มุมวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ สูงประมาณ 15 เมตร มีทางขึ้นอยู่ด้านในของหอ
.........."ปัจจุบันยังคงมีหลักฐานที่คงอยู่ที่วัดคือ ม้านั่งของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีเก้าอี้ มีโต๊ะข้าง เดิมเก้าอี้และโต๊ะข้างบุด้วยพรม สภาพเก่าทรุดโทรม จึงได้ซ่อม ปูเบาะหนังใหม่ ส่วนไม้สักเป็นของเดิม ขณะที่อาตมามาอยู่วัดแสนฝาง เห็นวางอยู่ได้สอบถามครูบาหมื่น เจ้าอาวาสรูปก่อนบอกว่าเป็นของพระราชชายาที่เสด็จมาวัดแสนฝาง ทางวัดเก็บไว้เดิม จึงนำมาทำความสะอาด ครูบาหมื่นก็บอกว่าดี ๆ ส่วนฐานของเก้าอี้อาตมาจัดทำมาเพิ่มเอง คิดว่าน่าจะมีแต่หาของเดิมไม่พบ
.........."ส่วนโต๊ะข้างเป็นของเดิม สำหรับไว้วางถ้วยชากาแฟ ไม่ได้ซ่อม แต่ใช้น้ำมันรักษาเนื้อไม้ทาให้ดูดีขึ้น ก่อนหน้านี้มีคนมาขออาตมา อาตมาไม่ให้ บอกว่าจะเก็บไว้คู่กับวัดแสนฝาง เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วัดแสนฝางว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเคยมาประทับที่วัดแสนฝางแห่งนี้ เป็นศรัทธาวัดแสนฝางและเคยมาปฏิบัติธรรมที่นี่"
..........นอกจากนี้กุฏิอุปโยคินก็เป็นเสนาสนะที่สำคัญส่วนหนึ่งของวัดแสนฝาง ด้วยรูปแบบที่สวยงาม สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง บ่งบอกถึงความเข้มแข็งแห่งศรัทธาของผู้ก่อสร้าง

..........พระครูประจักษ์พัฒนคุณ เล่าว่า "กุฏินี้เป็นไม้สักทั้งหลัง หลวงโยนการพิจิตร สร้างไว้สมัยครูบาโสภาเถิ้มเป็นเจ้าอาวาส สร้างไว้ใหญ่โตมั่นคง หาอาคารที่ทำไว้อย่างแข็งแรงแบบนี้ไม่มี หายาก เป็นตึกผสมไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของพื้นเป็นดินที่ยกสูงอัดแน่น ต่อมาอาตมามาปรับปรุงเป็นพื้นซิเมนต์ ชั้น 2 ด้านทิศตะวันตกเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับปฏิบัติธรรมไหว้พระภาวนา พระราชชายาและเจ้าแก้วนวรัฐก็มาปฏิบัติธรรมที่ห้องนี้ ส่วนด้านตะวันตกเป็นกุฏิสงฆ์แยกเป็นห้องรวม 10 ห้อง ต่อมาปี พ.ศ. 2524 - 2525 เริ่มทรุดโทรมอาตมาจึงได้ทำการบูรณะทั้งหมด สิ้นเงินไป 3 ล้านบาทเศษ"

..........หลังจากพระครูประจักษ์พัฒนคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแสนฝางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เรื่อยมา เมื่อเห็นว่าเสนาสนะและถาวรวัตถุในบริเวณวัดทรุดโทรมจึงได้ทำการบูรณะ นอกเหนือจากนี้ได้สร้างบุญครั้งใหญ่ คือ การสร้างพระพุทธรูปถวายวัดในถิ่นทุรกันดารที่ขาดพระประธานในวิหาร
.........."หลังจากหมดยุคครูบาเถิ้มแล้ว เสนาสนะในวัดก็ทรุดโทรมลงเรื่อยมา จนมาถึงยุคที่อาตมาเป็นเจ้าอาวาสจำเป็นต้องบูรณะ ประกอบกับขณะนั้นเป็นยุคที่มีโจรผู้ร้ายตระเวนตามวัดและลักพระพุทธรูปไปขาย บางรายตัดเศียร ตัดแขนพระพุทธรูปไป ที่วัดแสนฝางก็เจอปัญหานี้ ถูกลักพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ไป 3 องค์ ทิ้งไว้ 1 องค์เป็นพระไม้ และได้ตัดเศียรพระ ตัดแขนพระไป สมัยก่อนนี้ไม่มีประตูวัด ใครเข้าใครออกได้ตลอดเวลา อาตมาเห็นจึงคิดที่จะซ่อม ได้ว่าจ้างช่างอยู่แถวประตูเชียงใหม่มาหล่อเศียนใส่เข้าไปใหม่ให้เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ก็เก็บพระพุทธรูปเดิมไว้ในวิหาร สร้างประตูวัดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย
.........."ต่อมาก็เริ่มสร้างพระยืน 4 องค์ ประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน แทนของเดิมที่โจรลักไป จ้างช่างมาปั้นซิเมนต์ ใครมาเห็นก็เกิดศรัทธาอยากสร้างพระเพราะถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศล
.........."อีกเหตุผลหนึ่ง คือ ทราบว่าวัดรอบนอกขาดแคลนพระพุทธรูป สมัยเมื่อเป็นพระวินัยธรเคยเป็นตัวแทนเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจวัดรอบนอก พบว่าบางวัดไม่มีพระพุทธรูปประจำวิหาร บางวัดวาดรูปพระในกระดาษแข็งและแขวนไว้กราบไหว้ เป็นเรื่องจริง ในหมู่บ้านห่างไกลชาวบ้านล้วนยากจน เมื่อพระประธานในวิหารพังก็ไม่มีเงินที่จะร่วมสร้างใหม่
.........."อาตมามีโอกาสจึงได้คิดสร้างพระพุทธรูปถวาย อาตมาทยอยสร้างพระพุทธรูปอยู่ 12 ปี สร้างเสร็จมอบให้วัดที่เขาขอมา ซึ่งเป็นวัดในท้องที่ห่างไกลที่ไม่มีพระพุทธรูปในวิหาร ก่อนหน้านี้ก็ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งน่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย
.........."พระที่สร้างเป็นพระปูนซึ่งสร้างง่ายกว่าพระทองสัมฤทธิ์ ซึ่งราคาแพงและมักถูกคนร้ายลัก ขนาดหน้าตัก 1 เมตร (2 ศอก) ปางชนะมาร แบบสิงห์ 1 ทาสีทอง สมัยนั้นค่าผลิตองค์ละ 4,000 - 5,000 บาท มีศรัทธาร่วมทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง
.........."ช่างทำทำชื่อ สล่าแก้วและสล่าคำ อยู่อำเภอดอยสะเก็ด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ทำที่รอบวิหาร สร้างได้ปีละ 40 -50 องค์ บางปีได้ถึง 100 องค์ วัดที่ขาดแคลนตั้งขบวนมาขอรับพระที่วัด แห่แหนกลับวัดกันทุกปี ปัจจุบันก็ยังมีคนมาถามหาพระพุทธรูปอยู่
.........."จัดทำต่อเนื่องรวม 12 ปี ได้พระพุทธรูปรวม 1,600 องค์ ถวายวัดที่ขาดแคลนรวม 1,600 วัด นอกจากนี้ได้สร้างถวายตามโรงเรียนด้วยรวม 700 โรงเรียน พระลักษณะเดียวกันแต่ย่อส่วนลงเหลือหน้าตักกว้าง 0.5 เมตร"
..........หลังจากสร้างพระพุทธรูปเพื่อมอบเป็นประธานสำหรับวัดต่าง ๆ ที่ขาดแคลนแล้วจึงได้มาบูรณะเสนาสนะในวัด ทั้งศาลา วิหาร เจดีย์ จนมั่นคงแข็งแรง
.........."เรื่องบูรณะวิหาร ได้ไม้จากฝางและจากสะเมิงมาทำ ไปฝางเพราะรับนิมนต์ไป มีผีขึ้นบ้านป่าไม้อำเภอฝางที่บ้านหัวหน้าป่าไม้จนนอนไม่ได้ ขณะเดินทางไปฝนก็ตก รถไปแฉลบและพลิกคว่ำ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร ไปนอนอยู่ 1 คืน ทำพิธีให้ ก็ใช้หลักเมตตา ภาวนา ให้ศีล เช้าก็จัดพรมน้ำมนต์ ภายหลังจึงไปได้ไม้มาทำประตูวิหาร รวมทั้งไม้ทำหน้าต่างก็ขอจากป่าไม้ ซื้อเลื่อยไปให้ชาวบ้านช่วยเลื่อยไม้ในป่าสะเมิง ขอป่าไม้ ขอตำรวจว่าจะมาทำวัด เขาอนุโลม
.........."เริ่มปี พ.ศ. 2514 เสร็จและฉลองปี พ.ศ. 2516 เหนื่อยมาก เกิดมาไม่ได้รับความสุข มุ่งทำเพื่อพระพุทธศาสนา".


หอรักษาการณ์ของทหารตำรวจสมัยที่เจ้าหลวงเชียงใหม่มาปฏิบัติธรรมที่วัดแสนฝาง




......................................