วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รถราง

รถราง
รถรางลากด้วยม้า
..........ผู้ให้กำเนิดรถรางในประเทศไทยเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ก อันมี นายจอนลอฟตัส นายอาร์ คิว เปลซี เดอ รีชเชอลิว และ นายเวสเตน โฮลส์ รวมทุนกันตั้งบริษัท เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเป็นบริษัทนั้น เขาได้สำรวจจำนวนคนเดินทางในถนนสายที่จะเดินทางรถเสียก่อนว่า มีจำนวนคนมากน้อยเพียงใด พอที่จะดำเนินกิจการเดินรถรางได้หรือไม่ เพราะในเวลานั้นมีคนสัญจรไปมาน้อยมาก และถนนสายที่มีผู้คนสัญจรมากที่สุดเวลานั้นก็คือถนนเจริญกรุง อันมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ถนนใหม่" แต่รถรับจ้างที่วิ่งอยู่ในถนนสายนี้ก็มีอยู่แล้วคือ รถม้าและรถเจ๊ก เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ได้กล่าวไว้ในการอบรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สำเร็จรุ่นปี พ.ศ. 2483 [เรื่องเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ฉบับตีพิมพ์ 2499 หน้า 224] ถึงเรื่องรถเรือในกรุงเทพฯ ไว้ว่า "เมื่อสมัยท่านไปเรียนหนังสือ พอเดินถึงประตูสามยอดเห็นฝรั่งสูง ๆ ยืนจดอะไรอยู่หลายวัน ต่อมาภายหลังเมื่อมีการวางรางและเดินรถ ท่านจึงได้ทราบว่าที่ฝรั่งไปยืนจดที่ประตูสามยอดนั้นเป็นการจดสถิติคนเดินทาง"

เวสเตนโฮลล์ Aage Westenholz เป็นผู้หนึ่งที่ให้กำเนิดรถรางในประเทศไทย 
(จาก Twentieth Century Impression of Siam)

..........เมื่อฝรั่งเหล่านี้เห็นว่ามีจำนวนคนพอที่จะดำเนินกิจการได้ จึงยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการตั้งบริษัทและขอสัมปทานการเดินรถราง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการที่ฝรั่งมาขอสัมปทานเปิดการเดินรถรางในพระนครหลวงเช่นนี้ ทำให้การคมนาคมสะดวกอันเป็นทางนำมาซึ่งความเจริญของชาติ และเป็นรถที่แปลกเพราะในเวลานั้นในทวีปเอเชียยังไม่มีประเทศใดมีรถราง จึงพระราชทานสัมปทานแก่บริษัทของจอนลอฟตัสให้ดำเนินกิจการได้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2430

..........หลังจากที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยแล้ว บริษัทก็เริ่มวางรางรถ ตั้งแต่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้วอ้อมโค้งไปหาถนนเจริญกรุง จนกระทั่งถึงบางคอแหลมคือถนนตกในปัจจุบันนี้ เมื่อเตรียมกิจการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทก็กระทำพิธีนำรถรางคันแรกของประเทศไทย และของทวีปเอเชียออกรับคนโดยสารเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 แต่รถรางสมัยนี้มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างที่ท่านเห็นอยู่ทุกวันนี้หรอก เขาใช้ม้าลาก อย่างรถม้า ถ้าหากว่ารถที่ว่านี้ไม่ใช้ล้อเหล็กและรางก็ไม่ผิดอะไรกับรถม้า แต่ขนาดของรถใหญ่และยาวกว่าเท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าเราจะเรียกรถรางสมัยนั้นว่า "รถรางม้า" หรือ "ม้าเหล็ก" ก็เห็นจะไม่ผิด

รถรางที่หน้าบริษัทไฟฟ้าสยาม วัดราชบูรณะ สมัยแรก ๆ

..........รถรางสมัยใช้ม้าลากนั้น เจ้าพระยามหิธรได้กล่าวไว้เมื่อคราวอบรมนักศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2483 ว่า "รถรางแต่ก่อนไม่โตเท่านี้ และลากด้วยม้าเทียมต่อ 2 คู่ แต่ลำบากที่ใช้ลากด้วยม้า 4 ตัว ใช้อยู่ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นม้า 2 ตัว ขณะนั้นนายสุยซึ่งภายหลังเป็นนายตรวจใหญ่ เป็นเด็กจูงม้า"
และพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ ก็ได้กล่าวถึงรถรางสมัยใช้ม้าลากไว้ในเรื่อง พระมหานครกรุงเทพฯ ในความทรงจำของคนอายุ 70 ปีว่า "รถรางนั้นแต่ก่อนยังไม่มีไฟฟ้า รถใช้ม้าเทียมแปด แยกเป็น 2 พวง ๆ ละ 4 ตัว ในพวงหนึ่ง ๆ มีม้า 2 คู่ พวงที่อยู่หน้าใช้เฉพาะขึ้นสะพาน จึงเอาไปเตรียมรอไว้ที่เชิงสะพาน รถเดินตามรางอย่างที่รถไฟฟ้าใช้อยู่ในเวลานี้ คือตั้งแต่หลักเมืองถึงถนนตก มีการเปลี่ยนม้าเป็นระยะ ๆ ถ้ามีเหตุม้าไปไม่ไหวหรือล้มจำเป็นต้องเปลี่ยนม้า ก็เปลี่ยนตามระยะที่วางม้าอาไหล่ไว้ (ใช้ตัวสะกดตามต้นฉบับ) เมื่อคิดดูและหลับตาเห็นการใช้รถรางสมัยโน้นให้รู้สึกสงสารม้าเสียนี่กระไร เพราะม้าล้วนตัวเล็ก ๆ และผอม เวลาลากรถก็ถูกตีอย่างไม่ปรานีปราสัย ทั้ง ๆ ที่มันก็ได้ออกกำลังจนตัวงอแล้ว"

..........เมื่อสมัยเปิดการเดินรถรางใหม่ ๆ ฝรั่งได้พยายามวางนโยบายปลูกความนิยมโดยไม่เก็บสตางค์แก่ผู้โดยสารอยู่หลายวัน และได้วางอัตราค่าโดยสารไว้เป็นระยะ ๆ ละ 2 ไพ คือ 6 สตางค์ เช่น ตั้งแต่หลักเมืองถึงตรอกเต๊า 2 ไพ จากสะพานเหล็กถึงสามแยก ราคา 2 ไพ เป็นต้น แม้ราคาโดยสารของรถรางจะถูกกว่าค่าโดยสารของรถชนิดอื่น ๆ ก็ตาม แต่เนื่องด้วยประชาชนคนเดินทางมีน้อย ประกอบกับค่าโสหุ้ยในการดำเนินกิจการสิ้นเปลืองมากกว่ารายรับ ดังนั้น นายลอฟตัสและนายริชเชอลิว จึงได้โอนกิจการให้แก่ บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. (The Bangkok Tramways Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทของชนชาติอังกฤษ ขณะที่บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. ดำเนินกิจการมาเพียงเล็กน้อย คือในปี พ.ศ. 2431 พวกอั้งยี่ที่ปล่องเหลี่ยม คือแถวบริเวณที่ถนนตก เกิดกำเริบแสดงอิทธิฤทธิ์ยกพวกเข้าประหัดประหารกัน รถรางสมัยม้าลากได้มีโอกาสรับใช้ชาติในการลำเลียงทหารไปปราบพวกอั้งยี่อันเป็นตอนสำคัญตอนหนึ่งในประวัติของรถราง จึงขอนำมากล่าวไว้ด้วย คือใน พ.ศ. 2432 พวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก่อเหตุใหญ่ ซึ่งเนื่องมาจากพวกจีนแต้จิ๋วกับจีนฮกเกี้ยนแย่งงานกันทำ เลยเกิดตั้งอั้งยี่พวกใหญ่ 2 พวก คือ "ตั้งกงสี" ของจีนแต้จิ๋ว "ซิวลีกือ" ของจีนฮกเกี้ยน

..........ราวเดือนมิถุนายน 2432 สองอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการตีกันขนานใหญ่ พอถึงวันที่ 16 มิถุนายน ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคาและเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราษฎรริมถนนเจริญกรุงตอนใต้วัดยานนาวา เอาไปทำค่ายกำบังตัวขวางถนนเจริญกรุงทั้งสองข้าง เอาท้องถนนตรงห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่าโรงสีปล่องเหลี่ยมเป็นสนามรบ อั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยกพลพรรคเข้าประหัตประหารกันด้วยมีดไม้พลองกระบองสั้น สุดแต่ใครจะมี พวกเจ้าของโรงสีทั้งจีนและฝรั่งห้าม พวกอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง

..........พอกองตระเวนได้ทราบข่าวก็ส่งกำลังพลตระเวนเข้าตรึงหมายพิชิตเหล่าอั้งยี่ให้ราบคาบในชั่วพริบตา แต่การกลับตรงกันข้าม หน่วยพลตระเวนกำลังน้อยกว่าเห็นท่าไม่ดีต้องถอยกรูดไปตั้งหลักรักษาความสงบอยู่ภายนอกแนววิวาท

..........บ่าย 2 โมง ของวันนั้น อั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันเป็นการใหญ่เพื่อปลุกใจเสือป่า พอตกค่ำเหล่าอั้งยี่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เปิดฉากดวลกันด้วยปืนสั้นและยาว เสียงปืนก้องกัมปนาทแหวกอากาศสนั่นหวั่นไหวตลอดคืนราวกับสงครามกลางเมือง จนกระทั่งวันที่ 20 มิถุนายน สงครามระหว่างพวกอั้งยี่ก็ยังไม่สงบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเห็นว่ากระทรวงนครบาล (กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบันนี้) เหลือกำลังที่จะปราบได้ จึงทรงมอบให้กรมยุทธนาธิการ (ปัจจุบันคือกระทรวงกลาโหม) ทำการปราบคือใช้กำลังทหารปราบ

..........เมื่อคณะบัญชาการปราบอั้งยี่ อันมีสมเด็จพระราชปิตุลา (เวลานั้นยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เลื่อนเป็นสมเด็จพระปิตุลาในรัชกาลที่ 7) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (กรมพระยา) จเรกรมยุทธนาธิการ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (กรมพระยา) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน ได้ปรึกษาวางแผนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เตรียมกำลังพลรบสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธไว้ให้พร้อม เรียกเมื่อใดให้เคลื่อนกำลังได้พร้อมกันทุกกรม

..........รุ่งอรุณของวันที่ 21 มิถุนายน นั้น คณะบัญชาการได้นัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง และลงความเห็นว่าถ้าอั้งยี่ไม่มีทางจะสงบได้ก็ให้เคลื่อนกำลังทหารเข้าทำการปราบทันที เผอิญในค่ำของวันนั้น นายอำเภอนครบาลมาถึงทูลว่า "พวกอั้งยี่กำลังลากปืนใหญ่จากเรือทะเลขึ้นมาตั้งจะยิงกัน" กรมพระนเรศฯ ผู้บัญชาการกระทรวงนครบาลก็ตรัสขึ้นว่า "เหลือกำลังนครบาลแล้วให้ทหารปราบเถิด"

..........คณะบัญชาการจึงตกลงให้ทหารมหาดเล็กเป็นกองหน้า ให้ทหารรักษาพระองค์เป็นกองหนุน มีเจ้าพระยาราชสุภมิตร (อ๊อด สุภมิตร ขณะนั้นเป็นนายพันตรี จมื่นวิชิตชัยศักดาวุธ) เป็นผู้บังคับการ และให้พระยาวาสุเทพ (เชาว์ เวลานั้นเป็นนายร้อยเอก หลวงสัลวิธานนิเทศ) เป็นผู้ช่วย มีกำลังรวมกัน 4 กองร้อย ส่วนกรมอื่น ๆ ให้เตรียมพร้อมไว้ เรียกเมื่อใดให้ได้ทุกกรม

..........ก็แลในสมัยนั้น ภายในกรุงเทพฯ แห่งพระนครหลวง ยานพาหนะทางบกของเราก็ไม่มียานพาหนะชนิดใดที่จะวิเศษยิ่งไปกว่าการรถราง เพราะรวดเร็วและบรรทุกน้ำหนักได้มาก ฉะนั้น พอรุ่งอรุณของวันที่ 21 มิถุนายน นั้นเอง ผู้บังคับการก็สั่งให้ทหารรักษาพระองค์ซึ่งเป็นกองหนุนเดินทางไปก่อน และให้พักอยู่ที่วัดยานนาวา การติดต่อสื่อสารก็ให้สำนักงานไปตั้งสถานีโทรศัพท์เพื่อรายงานมายังศาลายุทธนาธิการทุกระยะ ส่วนทหารมหาดเล็กนั้นให้รออยู่ พอรถรางขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง (ข้างกระทรวงกลาโหมหรือยุทธนาธิการเก่านั้นเอง) ท่านผู้บังคับการก็สั่งให้ยึดรถรางไว้หมดทุกคัน แล้วให้ทหารมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันไป พวกพนักงานขับรถรางรู้ว่าทหารจะไปปราบพวกอั้งยี่ก็ออกสนุก เต็มใจช่วยเหลือทหารอย่างเต็มที่ เพราะพวกพนักงานเหล่านี้ก็เอือมระอาพวกอั้งยี่ที่คอยรังควานพวกเขาเต็มทีอยู่แล้ว แต่พวกเขาไม่สามารถจะสู้รบตบมือกับเหล่าอันธพาลเหล่านี้ ครั้งนี้เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติในฐานะกรรมกร ดังนั้นในวันที่ 21 มิถุนายน รถรางก็ได้เริ่มถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในด้านการขนส่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนทหารเรือก็เริ่มออกจากท่า กะเวลาให้ถึงจุดหมายปลายทางพร้อมกัน

..........8.00 น. ตรงของวันที่ 21 นั้น ทั้งเหล่าทหารบกและเรือก็เริ่มบรรลุถึงจุดหมายตามแผนการ บัดดลนั้นทหารบกก็กระโดดพรึบลงจากรถรางและทหารเรือก็ทยอยกันขึ้นฝั่งมาสมทบพร้อมกันและแล้วก็แยกกำลังเรียงรายเข้าทำการล้อมเหล่าอั้งยี่ทั้งทางเหนือและใต้ (ทหารบกเหนือ, ทหารเรือใต้) ตามกำหนด อั้งยี่เห็นทหารเรียงรายตั้งปืนจังก้าก็ตกใจ เกิดอลหม่านเป็นการใหญ่ บ้างก็หนี บ้างก็สู้ ทันใดนั้นเอง วินาทีแห่งพระยามัจจุราชก็เริ่มคืบคลานเข้าครอบงำทั่วบริเวณนั้นทันที กระสุนปืนนัดแรกของอั้งยี่ดังขึ้นก่อน แล้วกระสุนปืนฝ่ายทหารก็ตอบออกไปราวกับห่าฝน กระสุนเหล็กของทั้งสองฝ่ายแผดเสียงแหวกอากาศอยู่ไม่ขาดระยะ แต่พวกอั้งยี่ส่วนมากหนี มีสู้เป็นจำนวนน้อย โดยมากก็เป็นพวกหัวโจกต่อสู้กันอยู่ชั่วนาฬิกาเศษ เสียงปืนฝ่ายอั้งยี่ก็สงบ ทิ้งไว้แต่ศัสตราวุธและซากศพ ทหารทั้งสองเหล่าต่างก็ดาหน้ากันเข้าไป เก็บอาวุธและเที่ยวค้นหาอั้งยี่ที่หลบซ่อนอยู่ บ้างก็ยอมให้จับโดยดี บ้างก็หนี กว่าจะจับหมดก็ตกถึงบ่าย ผลของการปราบพวกอั้งยี่ครั้งใหญ่ของเมืองไทยครั้งนั้น ได้หัวโจก 8 คน เมื่อเสร็จการปราบอั้งยี่แล้ว กรมยุทธนาธิการเรียกทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์กลับ และให้ทหารหน้าไปอยู่ประจำรักษาความสงบทั้งบริษัทรถรางก็ได้จัดรถรางรับส่งทหารทั้งขาขึ้นและขาล่อง สุดแต่ทางราชการจะต้องการโดยมิได้คิดค่าจ้างแต่ประการใด

..........บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. นี้ ได้รับโอนกิจการมาดำเนินงานอยู่พักหนึ่ง แต่การดำเนินงานมิได้เกิดผลเป็นที่พึงพอใจและขาดทุน ฉะนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 จึงได้เลิกล้มกิจการลงอีก

รถรางไฟฟ้า
..........ภายหลังจากบริษัทรถรางกรุงเทพฯ จ.ก. ได้เลิกล้มกิจการไปแล้ว ก็มีบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกบริษัทหนึ่งมารับช่วงสัมปทานไปดำเนินงานแทน พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 บริษัทชาวเดนมาร์กนี้ได้ขยายกิจการใหม่ โดยเปลี่ยนจากม้าลากรถเป็นใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้เริ่มใช้รถรางไฟฟ้าแทนม้าลากนั้น กิจการของรถรางในประเทศของยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้าใช้ ฉะนั้นรถรางไฟฟ้าของประเทศไทยจึงเกือบจะเชื่อได้ว่าเป็นรถรางไฟฟ้าสายแรกของโลกทีเดียว

..........เมื่อตอนที่รถรางวิ่งไปด้วยกระแสไฟฟ้าในระยะแรก ประชาชนคนไทยและต่างประเทศพากันแตกตื่นกันไปดูอย่างแน่นขนัด เพราะมันเป็นเรื่องประหลาดที่รถแล่นไปได้โดยไม่มีม้ามีคนลาก เมื่อทราบว่าวิ่งไปได้ด้วยอำนาจกระแสไฟฟ้าก็พากันตระหนกตกใจไม่มีใคากล้าขึ้นรถราง เพราะกลัวไฟฟ้าจะดูดเอา พวกฝรั่งต้องขึ้นให้ดูและให้ขึ้นโดยไม่เก็บสตางค์อยู่หลายวัน

..........บริษัทชาวเดนมาร์กนี้ ได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา และได้โอนกิจการนี้ให้แก่ บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. (The Siam Electricity Co.,Ltd.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2443

..........ครั้นเดือนกรกฎาคม 2443 นายแอล. เดอ ริชเชอลิว และนาย เอ. เวสเตนโฮลส์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย ให้เปิดการเดินรถรางขึ้นอีกสายหนึ่ง และให้ชื่อว่า "สายสามเสน" วิ่งระหว่างเขตเหนือถึงเขตกลางพระนคร แต่ดำเนินกิจการอยู่ได้ไม่นานก็ต้องโอนกิจการการรถรางสายนี้ให้แก่บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. (The Siam Electricity Co.,Ltd.) เมื่อเดือนกันยายน 2444

..........ใน พ.ศ. 2447 บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตพร้อมด้วยบุคคลในเชื้อพระวงศ์และผู้มีบรรดาศักดิ์หลายท่านให้เปิดการเดินรถรางขึ้นอีกสายหนึ่งในพระนคร เรียกว่า "รถรางสายแดง" รถรางสายนี้รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด

..........แต่เนื่องจากบริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ได้เข้าซื้อหุ้นและถือหุ้นส่วนมากในบริษัทรถรางสายแดง เมื่อ พ.ศ. 2450 และทั้งได้เป็นผู้ควบคุมกิจการรถรางสายสามเสนอยู่ด้วยแล้ว ฉะนั้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2451 จึงได้รวมกิจการรถรางสายสามเสนและสายแดงเข้าด้วยกัน และจัดการดำเนินงานเสียเอง

..........บริษัทการไฟฟ้าสยาม จ.ก. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟฟ้าไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482

..........สัมปทานการเดินรถรางของบริษัทไฟฟ้าคอร์ปอเรชั่น จ.ก. ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เข้ารับมอบกิจการดำเนินงานต่อในนามของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสังกัดอยู่ในกรมโยธาเทศบาลขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2493 เป็นต้นมา

..........นอกจากในกรุงเทพฯ แล้วในต่างจังหวัดก็มีรถรางรับส่งคนโดยสารอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสระบุรี โดยมีเจ้านายไทยหลายพระองค์ตั้งบริษัทขึ้นเรียกว่า "บริษัทรถรางสายพระพุทธบาท" รถรางสายนี้เปิดบริการเมื่อ พ.ศ. 2444 เดินระหว่างพระพุทธบาทกับท่าเรือ แต่ภายหลังกิจการได้เลิกล้มไป

..........สำหรับรถรางในพระนครนั้นทางรัฐบาลได้เลิกล้มกิจการเดินรถเกือบทุกสาย แล้วยังเหลือวิ่งให้ดูเป็นสัญลักษณ์แห่งการขนส่งทางบกอยู่เพียงสายเดียวเท่านั้น คือสายรอบเมืองสายใหม่ และในที่สุดเลิกโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511

..........สำหรับทางรถรางที่วางตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 45,120 เมตร และตัวรถที่ใช้วิ่งอยู่เวลานั้น ใช้รถเก่าแต่มาต่อหรือดัดแปลงตัวถังใหม่ให้ทันสมัยในประเทศไทย รถรางส่วนมากซื้อมาจากประเทศอเมริกาและเดนมาร์กยังไม่มีการต่อขึ้นเองในเมืองไทยสมัยก่อน รถรางนอกจากบริการในการขนส่งแล้ว ยังใช้เป็นพาหนะในการดับเพลิงอีกด้วย


รถรางสายรอบเมืองกำลังแล่นผ่านวังบูรพา
ภาพจากหนังสือ สิ่งแรกในเมืองไทย เล่ม 2 โดย สงวน อั้นคง ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2502 หน้า 86-87

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น