วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กล่าวถึงตรอกเล่าโจ้ว หรือ ตรอกข่วงเมรุ จังหวัดเชียงใหม่


..........ตรอกเล่าโจ้ว หรือ ตรอกข่วงเมรุ เป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนท่าแพกับถนนช้างม่อย เมื่อลงจากสะพานนวรัฐประมาณ 100 เมตร เลี้ยวขวาไปทะลุถนนช้างม่อย ตรอกเล่าโจ้ว ยาวประมาณ 300 เมตร 2 ฝั่งถนนเป็นย่านคนจีนจากอดีตมาถึงปัจจุบันมีอาชีพค้าขาย

..........คำว่า "เล่าโจ้ว" เป็นภาษาจีน ความหมายคือ ศาลเจ้า ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า "กองหล่อ" หล่อ หมายถึง ที่ลาดต่ำ เนื่องจากพื้นที่เมื่อมาจากถนนท่าแพ เลี้ยวขวาเข้าตรอกจะเป็นที่ลาดต่ำ เด็กที่ขี่จักรยานเข้าตรอก ต้องเตรียมตัวบีบคันห้ามล้อ หรือ ในช่วงที่น้ำท่วม น้ำมักไหลเข้าตรอกอย่างเร็ว มักมีผู้พายเรือมาและปล่อยให้ไหลตามน้ำเข้าตรอกเป็นที่สนุกสนาน
..........ส่วนคำว่า "ตรอกข่วงเมรุ" เป็นภาษาทางราชการที่แม้แต่คน "กองหล่อ" รุ่นก่อน ก็ไม่เคยเรียกตรอกที่ตัวเองอยู่ว่า ข่วงเมรุ มักแทนตัวเองว่าเป็นคน "กองหล่อ" มากกว่า
..........ชุมชนชาวตรอกเล่าโจ้ว ถือว่าเป็นชุมชนชาวจีนที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ จากอดีตในยุคก่อนที่คนจีนที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่มักอาศัยอยู่ย่านวัดเกตการาม ซึ่งใกล้แม่น้ำปิงสะดวกในการขนส่งค้าขายทางเรือ แต่หลังจากรถไฟมาถึงเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 ย่านค้าขายเปลี่ยนแปลงไปที่ถนนเจริญเมือง และมาที่ถนนท่าแพ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันความเจริญด้านการค้าขายแผ่มาที่ถนนวิชยานนท์ ตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส รวมทั้งที่ตรอกเล่าโจ้วแห่งนี้ด้วย
..........หากย้อนไปก่อนปี พ.ศ. 2464 ก่อนที่รถไฟจะมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตลาดการค้าขายอยู่ย่านวัดเกตการาม ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง เนื่องจากสามารถเดินทางค้าขายได้สะดวก ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง บริเวณตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส น่าจะยังเป็นที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะตลาดวโรรสเป็นสุสานหรือที่ฝังพระศพของเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายของเมืองเชียงใหม่ ถัดไปทางเหนือที่เป็นตลาดนวรัฐในปัจจุบัน เป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ ที่เป็นไม้สัก 3 ชั้นสร้างโดยนายชี้ค หรือ หมอชี้ค
..........หมอชี้ค หรือ ดร.มาเรียน เอ.ชี้ค มีประวัติว่าได้มาถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2417 และได้ทำการรักษาคนไข้กว่า 13,000 คน ต่อมาลาออกจากคณะสอนศาสนาไปดำเนินธุรกิจด้านการตัดไม้และตั้งโรงเลื่อยเป็นโรงแรกในเชียงใหม่ นอกจากสร้างคุ้ม 3 ชั้นและสร้างสะพานไม้สักข้ามแม่น้ำปิงแล้ว ยังสร้างโรงเรียนในปี พ.ศ. 2431 ที่ริมแม่น้ำปิง เชิงสะพานนวรัฐชื่อว่า โรงเรียนสตรีพระราชชายา อีกชื่อหนึ่ง คือ โรงเรียนดารารัศมี ต่อมาย้ายไปเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย (ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ แปลโดยจิรนันท์ พิตรปรีชา)
..........ดังนั้นคาดว่า หมอชี้ค สร้างคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2431
..........เมื่อย่านตลาดวโรรสเป็นสุสานและตลาดต้นลำไยเป็นที่ว่าง แต่ถัดไปด้านถนนท่าแพ กลับปรากฏว่ามีข้อมูลว่ามีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ดังปรากฏไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2074 ว่า ปีเถาะตรีศกจุลศักราช 893 (พ.ศ. 2074) เดือน 6 ไฟไหม้บ้านท่าแพ คนทั้งหลายเสียหายมากนัก เจ้าพระยาเกษ แม่ลูก ย่า หลาน ให้ทานเงินแก่ชาวท่าแพ 20,000 เงิน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, สงวน โชติสุขรัตน์)
..........ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นบริเวณถัดไปทางตะวันตกเลยไปทางด้านประตูท่าแพ สมัยก่อนน่าจะเป็นชุมชนค้าขายใหญ่ทั้ง 2 ฟากถนนท่าแพ
..........แล้วตรอกเล่าโจ้วหรือตรอกข่วงเมรุ น่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และเริ่มอย่างไร ?
..........ตรอกข่วงเมรุน่าจะเริ่มต้นในช่วงเวลาที่มีการสร้างตลาดวโรรสขึ้น และเมื่อตลาดเป็นที่นิยมทำให้ชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าโดยรอบของตลาดวโรรส ไม่ว่าจะเป็นถนนวิชยานนท์ ถนนช้างม่อยและตรอกเล่าโจ้วแห่งนี้
..........ตลาดวโรรส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453 สร้างโดยเจ้าแก้วนวรัฐครั้งยังเป็นราชวงศ์ ใช้เงินทุน 1,800 รูปี ต่อมาขายให้เจ้าอินวโรรสผู้เป็นพี่ชายแล้วตกเป็นของเจ้าราชวงศ์ (เจ้าเลาแก้ว ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นบุตร ต่อมาเมื่อเจ้าทิพย์เนตร ชายาของเจ้าราชวงศ์ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2462 เจ้าราชวงศ์ไม่มีเงินจัดการพิธีศพ จึงเอาตลาดวโรรสไปจำนองไว้กับหลวงอนุสารสุนทรกิจ (ต่อมาเป็นหลวงอนุสารสุนทร) แล้วก็ไม่สามารถไถ่ถอนได้ จนต่อมาพระราชชายาเจ้าดารารัศมีหาเงินมาไถ่ถอน (นายทุนพ่อค้ากับการก่อและขยายตัวของระบบทุนนิยมในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2464 - 2523, ปลายอ้อ ชนะนนท์, 2530) ส่วนตลาดต้นลำไย อาจมีขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่เป็นตลาดแบบชาวบ้าน ที่ชาวบ้านมาวางผักปลาขายกัน
..........เมื่อมีคนจีนเข้ามาอยู่กันหนาแน่นพอสมควรแล้ว สิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางศาสนาได้ คือ ศาลเจ้า จึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้น ศาลเจ้าเล่าโจ้วนั้น พอมีประวัติว่า ในการดำเนินการด้านธุรกิจตลาดวโรรส สมัยที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีดำเนินการนั้น มีข้อมูลว่าในการดำเนินการมอบหมายให้คนจีนมาเหมาเก็บรายปีและชาวจีนผู้นี้ได้มาขอสร้างศาลเจ้าที่ตรอกข่วงเมรุ ชื่อ "ศาลเจ้าเล่าโจซัง" เจ้าที่อัญเชิญมาประทับที่ศาล ชื่อ "เล่าโจ้ว" จึงเรียกตรอกนี้ว่า "ตรอกเล่าโจ้ว" เรื่อยมา ด้านหลังศาลเจ้าเป็นน้ำแม่ข่า ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำแม่ข่าสมัยก่อนนั้นกว้างขวางและเรือสามารถแล่นมารับส่งสินค้าได้ แต่ต่อมาตื้นเขินและชาวบ้านมาบุกรุกถือกรรมสิทธิ์ทั้ง 2 ฝั่งแม่ข่า
..........คราวเมื่อตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรสถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ไฟไหม้จากตลาดต้นลำไยและลามมาที่ตลาดวโรรส ไหม้หมดเป็นรูป 4 เหลี่ยมมาถึงด้านหลังที่ติดกับตรอกหรือตรอกเล่าโจ้ว แปลกมากที่ไฟไม่ลุกลามข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่งของตรอกข่วงเมรุที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ อาจเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าเล่าโจ้ซัง ชาวตลาดบอกว่า ศาลเจ้าเล่าโจ้ซัง เฮี้ยน คือ ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นก็มีการทำบุญศาลเจ้าแบบใหญ่โตกันทุกปี ก่อนไฟไหม้ก็ทำบุญกันแต่เป็นงานเล็ก ๆ (คุณซิวเฮียง โจลานันท์, อายุ 85 ปี, สัมภาษณ์)
..........ดังนั้นเมื่อตลาดวโรรส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2453 ย่านตรอกข่วงเมรุก็คงจะสร้างขึ้นภายหลังในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เชื่อว่าคนจีนอาจทะยอยเข้ามาเรื่อย ๆ เนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2464 นั้นรถไฟยังไม่เข้าถึงเชียงใหม่ ดังนั้นย่านวัดเกตน่าจะยังคงเป็นย่านที่ยังทำมาหากินคล่องอยู่ แต่บางส่วนก็ทะยอยมาแล้วและคงทะยอยมาตั้งร้านค้าทั้งถนนวิชยานนท์และถนนตรอกข่วงเมรุ ดังมีข้อมูลว่าร้านของเถ้าแก่ง่วนชุน ตันตรานนท์ บิดาของคุณธวัช ตันตรานนท์ มาตั้งที่ถนนวิชยานนท์ ประมาณปี พ.ศ. 2460
..........จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนดั้งเดิมจากย่านวัดเกตการามและชาวจีนที่อพยพมาใหม่ ทะยอยจากบ้านเรือนและร้านค้ากันหนาแน่นทั้งย่านวิชยานนท์และย่านตรอกข่วงเมรุ ตั้งแต่หลังสร้างตลาดวโรรส คือ ปี พ.ศ. 2453 เรื่อยมาถึงจนหลังปี พ.ศ. 2464 เมื่อมีรถไฟถึงเมืองเชียงใหม่แล้วคงทะยอยกันมามากขึ้น หลังจากนั้นก็คาดว่าทะยอยมาเรื่อย ๆ
..........ครอบครัวแรก ๆ ของตรอกเล่าโจ้ว หรือตรอกข่วงเมรุ ครอบครัวหนึ่งคือ ครอบครัวของพระชำนาญชนานุรักษ์ (ตวาด ชลัย) เกิดที่ตรอกเล่าโจ้ว โดยพ่อแม่เป็นคนภาคกลางอพยพมาอยู่ที่ตรอกเล่าโจ้วช่วงแรก ๆ และเนื่องจากแม่มีฝีมือทางทำกับข้าวภาคกลาง จึงมักเข้าไปช่วยทำอาหารภาคกลางให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีอยู่เสมอ ๆ พระชำนาญฯมีพี่น้องรวม 5 คน เข้าเรียนหนังสือจากพระที่วัดอุปคุตและเข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 15 ปี จนไต่เต้าเป็นนายอำเภอแม่ริม นายอำเภอเมืองน่าน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและเกษียนขณะเป็นนายอำเภอเมืองลำปาง หลังเกษียนแล้วได้กลับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่ตรอกเล่าโจ้ว บุตรชายคนหนึ่ง คือ อาจารย์ยรรยงค์ ชลัย พระชำนาญชนานุรักษ์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2496 บริเวณบ้านเดิมขายต่อผู้อื่นไป (อ.ยรรยง ชลัย, สัมภาษณ์) บ้านของพระชำนาญฯอยู่ด้านซ้ายของตรอกเล่าโจ้ว เป็นบ้านไม้สักใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง
.................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น