..........ความสำคัญของวัดแสนฝาง มีหลายประการ เช่น
..........เป็นวัดที่เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ความสำคัญและทำนุบำรุงสืบมา
..........เป็นวัดที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบมาอย่างไม่ขาดตอนโดยเฉพาะคหบดีที่ชื่อว่าหลวงโยนการพิจิตร
..........เป็นวัดที่มีเจ้าอาวาสที่มีความสามารถสืบต่อกันมาหลายรูป เป็นต้น
..........ดังนั้นการรวบรวมประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับวัดไว้ให้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจและประโยชน์ต่อผู้คนในรุ่นต่อ ๆ ไป
พ.ต.อ.อนุ เนินหาด (ผู้รวบรวม)
.......................................วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ตามประวัติที่มีการสืบค้นกันไว้เดิมระบุว่าวัดแสนฝาง แห่งนี้ เดิมชื่อว่า วัด "แสนฝัง" เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ นักโบราณคดีของล้านนาหลายท่านได้สันนิษฐานว่า สร้างมาประมาณ 600 ปีเศษ โดยพญาแสนภู เมื่อได้ครองเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 1867 - 1870 หลังพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณ 30 ปีเท่านั้น (พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839)
..........คำว่า "แสน" มาจากชื่อ พญาแสนภู ผู้สร้างวัด ส่วนคำว่า "ฝัง" หมายถึงการทำบุญกุศลสร้างวัดไว้ เป็นการฝังบุญกุศลสะสมไว้นั่นเอง
..........พญาแสนภูเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่องค์ที่ 3 ครองราชย์ครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ. 1861 - 1862 และครองราชย์ครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 1867 - 1870 (เจ้าหลวงเชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ จัดพิมพ์, 2539) ประวัติวัดแสนฝาง พระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม ฐิตายุโก) เจ้าอาวาส ได้รวบรวมและจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานฉลองกุฏิ 100 ปี โยนการพิจิตรปี พ.ศ. 2529 โดยอ้างคำบอกเล่าจากนายบุญมา พุทธวงศ์ ขณะนั้นอายุร่วม 100 ปี ซึ่งรับข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบ ๆ กันมา ข้อมูลว่า
................"เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชได้สวรรคตไปแล้ว พระเจ้าไชยสงครามซึ่งครองเมืองเชียงรายทราบ จึงเดินทางมาเมืองเชียงใหม่พร้อมรี้พลจำนวนมาก หลังจัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงแล้ว ได้นำพระอัฐิบรรจุในสถูปไว้กลางเวียงเชียงใหม่ ทรงชำระสะสางปรับปรุงราชการงานเมืองแล้ว จึงกระทำการราชาภิเษกท้าวแสนภูพระราชบุตรขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระเจ้าปู่ (พระเจ้ามังราย) พระเจ้าแสนภูเสวยราชสมบัติได้ 1 ปี เจ้าพระยาขุนเครือผู้เป็นพระเจ้าอาว์ ยกรี้พลมาจากเมืองนาย เขตพม่ามาล้อมเมืองเชียงใหม่ ทำการแย่งชิงราชสมบัติ พระเจ้าแสนภูไม่คิดต่อสู้จึงหนีไปอยู่เมืองเชียงรายกับพระราชบิดา คือ พระเจ้าไชยสงคราม พระเจ้าไชยสงครามทราบเรื่องก็ทรงกริ้วพระยาขุนเครือเป็นอย่างมาก จึงจัดรี้พลยกทัพให้เจ้าพ่อท้าวน้ำถ้วมเจ้าเมืองฝางเป็นแม่ทัพยกมาปราบพระยาขุนเครือ ท้าวน้ำถ้วมจับพระยาขุนเครือได้นำใส่เรือนจำขังไว้ที่แจ่งเวียง หลังจากนั้นพระยาแสนภูกลับมาครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนพระยาขุนเครือถูกคุมขังนาน 4 ปี ก็สวรรคตลง
................พระเจ้าแสนภู เมื่อได้ครองราชสมบัติครั้งที่ 2 มีพระราชหฤทัยดำริว่า พระเจ้าปู่ก็ดี พระราชบิดาก็ดี มีพระราชหฤทัยในการทำนบำรุงพระพุทธศาสนามาโดยลำดับ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพุทธศาสนาตามเยี่ยงพระเจ้าปู่ปละอย่างพระราชบิดาบ้าง จึงดำริว่า ซากกองอิฐที่ปรากฏเป็นฐานพระเจดีย์ในสถานที่รกร้างว่างเปล่าใกล้แม่น้ำเล็ก ๆ ห่างจากน้ำแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) พอประมาณ จึงพอพระราชหฤทัย สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บริจาคบูรณะพระเจดีย์ที่ปรักหักพังในบริเวณแห่งนี้ให้เป็นรูปร่างพระเจดีย์ที่มั่นคงทนถาวรและสร้างพระวิหาร กุฏิ ที่อยู่อาศัยถวายแด่สมณะชีพราหมณ์เพื่อเป็นการฝากฝังพระราชศรัทธาและพระราชสมบัติของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนา
..........สถานที่ที่พระองค์ทรงสร้างนั้นจึงได้ชื่อว่า "วัดแสนฝัง" คำว่า "แสน" ตรงกับชื่อพระเจ้าแสนภู ส่วนคำว่า "ฝัง" คือ พระองค์ได้ฝังสมบัติไว้ในพระพุทธศาสนา
..........นอกเหนือจากอาคารสิ่งปลูกสร้างที่สวยงามในวัดแล้ว จุดเด่นส่วนหนึ่งของวัดแสนฝาง คือ ซุ้มประตูทางเข้าวัดที่สร้างไว้ใหญ่โต อีกทั้งมีพญานาค 2 ตัว นอนเฝ้า 2 ข้างประตู
..........พญานาค 2 ตัวนี้คาดว่ามีพลังมาก จนทำให้บริษัทแอดวานซ์ฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจำต้องสร้างสิงโตคู่เพื่อลดพลังจากพญานาคคู่นี้
..........เป็นความเชื่อทางหลักฮวงจุ้ยที่เล่าต่อกันมาเช่นนั้น
สิงโตคู่ที่บริษัทแอดวานซ์ฯ ตรงข้ามวัดแสนฝาง
..........สอบถามพระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม ฐิตายุโก) เจ้าอาวาส เล่าว่า พญานาค 2 ตัวนี้ สร้างขึ้นนานแล้ว สมัยครูบาปัญญาเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง
..........เจ้าอาวาสวัดแสนฝางตั้งแต่อดีตมาที่สืบค้นได้เริ่มจาก
................1. ครูบาปัญญา ปญฺญาวํโส (มรณภาพปี พ.ศ. 2343)
................2. ครูบาโสภา (เถิ้ม) โสภโณ (มรณภาพปี พ.ศ. 2477)
................3. พระอธิการบุญจู พฺรหฺมวํโส (ลาสิกขาปี พ.ศ. 2482)
................4. เจ้าอธิการศรีหมื่น ฉนฺทวโร (มรณภาพปี พ.ศ. 2511)
และ.........5. พระครูประจักษ์พัฒนคุณ (ถนอม ฐิตายุโก) เป็นเจ้าอาวาสรับตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512
พญานาคหน้าวัดแสนฝาง
..........พญานาคคู่นี้สร้างโดยครูบาปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง พญานาคหน้าวัดแสนฝางในอดีต เดิมนั้นพญานาคอยู่นอกกำแพงวัด ต่อมาเกิดปัญหาคือ ยามกลางคืนมักมีผู้ผ่านไปมา เมื่อปวดปัสสาวะก็หาพื้นที่หลบมุมมุมหนึ่ง คือ ใช้ลำตัวพญานาคบดบังอวัยวะลับโดยหันหน้าเข้าหาพญานาคและปัสสาวะใกล้พญานาค บางส่วนรดใส่ตัวพญานาค ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและพญานาคทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ กลายเป็นที่จอดรถของผู้ที่มาจับจ่ายทำธุระละแวกนี้ รวมทั้งรถบางคันก็ขับเฉี่ยวชนพญานาค ขอดเกล็ดเป็นรอยเหวอะหวะ รถบางคันขับทะลุรั้วตาข่ายเข้าชนหัวพญานาคเป็นรอยร้าว
..........จึงได้มีการปรับปรุงซุ้มประตูทางเข้าและซ่อมแซมพญานาคให้สมบูรณ์ดังเดิม ดำเนินการในโอกาสที่นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี ในปี พ.ศ. 2538 สิ้นปัจจัยไป 351,500 บาท
..........พระครูประจักษ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝางเล่าเรื่องพญานาคว่า "พญานาคเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามานาน ในครั้งพุทธกาล พญานาคอยากบวช ก็แปลงเป็นคนบวชเป็นพระ ตอนหลับไปก็กลายเป็นพญานาค พระพุทธเจ้าก็เลยสั่งห้ามพญานาคบวช รวมทั้งสัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ด้วย"
..........มีข้อมูลเกี่ยวกับพญานาคเพิ่มเติมว่า พญานาคที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนามายาวนาน ทุกวัดต้องปรากฏพญานาคเป็นส่วนประกอบเสมอ พญานาคเป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาคมีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาคสามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลชะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
..........พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
..........พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่องกับมด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
..........พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่าที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
..........พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3,5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลงตั้งแต่ใต้บาดาล พื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลงระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ
..........จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาคเป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดีและความไม่ดี
..........ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีนาคผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาปลอมตัวเป็นมนุษย์เข้ามาบวช ได้อยู่ร่วมกินนอนศึกษาพระธรรม ดื่มด่ำคำสอนกับภิกษุสงฆ์ทั่ว ๆ ไป เหตุการณ์ก็ได้ดำเนินไปอย่างปกติสุข จนอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่นอนหลับใหลอยู่นั้น ได้เผลอตัวเผลอกายกลับคืนสู่ร่างนาคดังเดิม ยังความแตกตื่นสับสนอลหม่านตกใจกลัวให้แก่พระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ร้อนความถึงพระพุทธเจ้าต้องมาเจรจากับนาคว่า ผู้ที่มาบวชในศาสนาของเราสงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น ขอท่านพึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเถิด นาคก็รับคำแต่ขอให้พวกตนได้มีส่วนร่วมอยู่เป็นส่วนหนึ่งในพระพุทธศาสนาของพระองค์ด้วย
..........ดังนั้น จึงได้ปรากฏมีประเพณีการบวชนาคก่อนที่จะอุปสมบทบรรพชามาเป็นพระภิกษุจนถึงกาลปัจจุบัน
..........ดังนั้นในพิธีการบวชนั้น พระอุปัชฌาย์จะต้องถามผู้ที่จะบรรพชาก่อนเสมอว่า "มนุสฺโสสิ" แปลว่า เจ้าเป็นมนุษย์หรือ และผู้บวชต้องรับว่า "อามะภันเต" ขอรับ เจ้าข้า. (www.kammatan.com)
**********
..........วัดแสนฝางได้ชื่อว่าเป็นวัดหนึ่งที่เจ้าหลวงเชียงใหม่และญาติมาร่วมทำบุญกุศลมาตั้งแต่อดีต
..........ดังสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเมื่อครั้งเสด็จกลับมาเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2452 ได้ถ่ายซื้อเอาพระอุโบสถที่หลวงโยนการพิจิตรสร้างไว้ โดยมอบเงินจำนวน 1,000 รูปี (1 รูปีประมาณ 80 สตางค์) ให้หลวงโยนการพิจิตร แล้วมีพิธียกพระอุโบสถอุทิศกุศลแด่ดวงวิญญาณพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพย์เกษรราชเทวี
..........นอกจากนี้ด้านความผูกพันกับวัดแสนฝาง ปรากฏในบันทึกกรณียกิจในรายงานของท้าวโสภานิเวศร์ ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งตามเสด็จมาเชียงใหม่ด้วย ข้อความว่า
.........."ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า วันที่ 5 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 128
..........ข้าพระพุทธเจ้า ท้าวโสภานิเวศร์ ขอพระราชทานทำรายงานทูลเกล้าฯถวายให้ใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
..........24 พฤษภาคม ร.ศ. 128 ซ้อมละคร ครั้นเวลาบ่าย 3 โมงเศษ หลวงโยนการพิจิตรแห่พระธาตุจอมทองมาทางหน้าที่ประทับซึ่งจะมาทำบุญที่วัดแสนขวาง แล้วเข้าไปให้พระราชชายานมัสการที่ประทับ แล้วแห่กลับไป
..........25 พฤษภาคม ร.ศ. 128 เวลาบ่าย 4 โมง พระราชชายาฯ เสด็จโดยกระบวนรถม้าไปที่วัดบุปผารามสรงน้ำพระธาตุแล้วเสด็จที่วัดแสนฝาง อยู่คนละฝากถนน ซึ่งหลวงโยนการพิจิตรเชิญเสด็จในงานฉลองเจดีย์นั้นทอดพระเนตรแห่ปอยทาน เสร็จแล้วขึ้นรถที่นั่งไปประพาสที่เวียงสวนดอกเวลาย่ำค่ำกลับถึงที่ประทับ
..........ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 1 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 128 เวลาบ่าย 4 โมง 15 นาที เจ้าดารารัศมีพระราชชายาเสด็จโดยกระบวนรถม้า ไปที่วัดแสนขวางประทับบนพลับพลาวัดแสนขวาง ทอดพระเนตรกระบวนแห่คัวทานเป็นการสำหรับฉลองวัด เสร็จแล้ว เจ้าดารารัศมีพระราชชายาเสด็จไปในพระอุโบสถทรงนมัสการพระ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นไปพระกุฏิของหลวงโยนการสร้าง เสร็จแล้วเสด็จกลับเวลาย่ำค่ำ 5 นาที ถึงที่ประทับแรมบ้านเจ้าอุปราช
..........ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 2 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 128 เจ้าดารารัศมีพระราชชายา เสด็จโดยกระบวนรถม้า เวลาบ่าย 4 โมง...ที่เสด็จไปทอดพระเนตรกู่เจ้านครเชียงใหม่รับสั่งให้เจ้าสุริยาย้ายกู่ไปที่วัดสวนดอกรับสั่งให้ทำขึ้นใหม่เสร็จแล้วเสด็จไปที่วัดแสนขวางประทับพลับพลา"
..........พระครูประจักษณ์พัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง ให้ข้อมูลว่าวัดแสนฝางเป็นวัดที่เจ้าหลวงเชียงใหม่และหมู่ญาติมาร่วมทำบุญ ปฏิบัติธรรมกันสืบมา โดยเฉพาะพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวมทั้งเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ก็มาวัดแสนฝาง เรียกว่ามาสมาทานศีล
.........."สมาทานศีล คือ มารับศีลในวันพระ รับศีลแล้วฟังเทศน์ นอนวัด สมัยก่อนที่มีศาลาสำหรับให้เจ้าหลวงนอน เรียกว่า โฮงเจ้าหรือโรงเจ้า เป็นศาลาอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ต่อมาสมัยหลวงศรีประกาศเป็นนายกเทศมนตรีขอรื้อและใช้พื้นที่ทำถนน ต้องขยับกำแพงเข้ามา ก่อกำแพงใหม่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นศรัทธาวัดและจากเจ้าอาวาสคนก่อน ๆ ที่เป็นเรื่องจริง
.........."สมัยที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวมทั้งเจ้าแก้วนวรัฐและหมู่ญาติมาที่วัดแสนฝาง ก็จะมาฟังธรรมในวิหารวัด รับศีลในกุฏิที่เป็นกุฏิของหลวงโยฯ ที่ปัจจุบันยังมีอยู่ สมัยก่อนที่วัดเคยมีโคมแขวนแบบอังกฤษตกค้างอยู่ ขณะนี้สูญหายไปแล้ว จุดโคมสว่างไสวยามเจ้าหลวงเสด็จมาวัด รวมทั้งมีทหารตำรวจมาเข้าเวรรักษาการณ์ด้วย ปัจจุบันยังคงอนุรักษ์หอเวรยามอยู่ ตั้งอยู่มุมวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ สูงประมาณ 15 เมตร มีทางขึ้นอยู่ด้านในของหอ
.........."ปัจจุบันยังคงมีหลักฐานที่คงอยู่ที่วัดคือ ม้านั่งของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีเก้าอี้ มีโต๊ะข้าง เดิมเก้าอี้และโต๊ะข้างบุด้วยพรม สภาพเก่าทรุดโทรม จึงได้ซ่อม ปูเบาะหนังใหม่ ส่วนไม้สักเป็นของเดิม ขณะที่อาตมามาอยู่วัดแสนฝาง เห็นวางอยู่ได้สอบถามครูบาหมื่น เจ้าอาวาสรูปก่อนบอกว่าเป็นของพระราชชายาที่เสด็จมาวัดแสนฝาง ทางวัดเก็บไว้เดิม จึงนำมาทำความสะอาด ครูบาหมื่นก็บอกว่าดี ๆ ส่วนฐานของเก้าอี้อาตมาจัดทำมาเพิ่มเอง คิดว่าน่าจะมีแต่หาของเดิมไม่พบ
.........."ส่วนโต๊ะข้างเป็นของเดิม สำหรับไว้วางถ้วยชากาแฟ ไม่ได้ซ่อม แต่ใช้น้ำมันรักษาเนื้อไม้ทาให้ดูดีขึ้น ก่อนหน้านี้มีคนมาขออาตมา อาตมาไม่ให้ บอกว่าจะเก็บไว้คู่กับวัดแสนฝาง เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วัดแสนฝางว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเคยมาประทับที่วัดแสนฝางแห่งนี้ เป็นศรัทธาวัดแสนฝางและเคยมาปฏิบัติธรรมที่นี่"
..........นอกจากนี้กุฏิอุปโยคินก็เป็นเสนาสนะที่สำคัญส่วนหนึ่งของวัดแสนฝาง ด้วยรูปแบบที่สวยงาม สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง บ่งบอกถึงความเข้มแข็งแห่งศรัทธาของผู้ก่อสร้าง
..........พระครูประจักษ์พัฒนคุณ เล่าว่า "กุฏินี้เป็นไม้สักทั้งหลัง หลวงโยนการพิจิตร สร้างไว้สมัยครูบาโสภาเถิ้มเป็นเจ้าอาวาส สร้างไว้ใหญ่โตมั่นคง หาอาคารที่ทำไว้อย่างแข็งแรงแบบนี้ไม่มี หายาก เป็นตึกผสมไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของพื้นเป็นดินที่ยกสูงอัดแน่น ต่อมาอาตมามาปรับปรุงเป็นพื้นซิเมนต์ ชั้น 2 ด้านทิศตะวันตกเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับปฏิบัติธรรมไหว้พระภาวนา พระราชชายาและเจ้าแก้วนวรัฐก็มาปฏิบัติธรรมที่ห้องนี้ ส่วนด้านตะวันตกเป็นกุฏิสงฆ์แยกเป็นห้องรวม 10 ห้อง ต่อมาปี พ.ศ. 2524 - 2525 เริ่มทรุดโทรมอาตมาจึงได้ทำการบูรณะทั้งหมด สิ้นเงินไป 3 ล้านบาทเศษ"
..........หลังจากพระครูประจักษ์พัฒนคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแสนฝางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เรื่อยมา เมื่อเห็นว่าเสนาสนะและถาวรวัตถุในบริเวณวัดทรุดโทรมจึงได้ทำการบูรณะ นอกเหนือจากนี้ได้สร้างบุญครั้งใหญ่ คือ การสร้างพระพุทธรูปถวายวัดในถิ่นทุรกันดารที่ขาดพระประธานในวิหาร
.........."หลังจากหมดยุคครูบาเถิ้มแล้ว เสนาสนะในวัดก็ทรุดโทรมลงเรื่อยมา จนมาถึงยุคที่อาตมาเป็นเจ้าอาวาสจำเป็นต้องบูรณะ ประกอบกับขณะนั้นเป็นยุคที่มีโจรผู้ร้ายตระเวนตามวัดและลักพระพุทธรูปไปขาย บางรายตัดเศียร ตัดแขนพระพุทธรูปไป ที่วัดแสนฝางก็เจอปัญหานี้ ถูกลักพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ไป 3 องค์ ทิ้งไว้ 1 องค์เป็นพระไม้ และได้ตัดเศียรพระ ตัดแขนพระไป สมัยก่อนนี้ไม่มีประตูวัด ใครเข้าใครออกได้ตลอดเวลา อาตมาเห็นจึงคิดที่จะซ่อม ได้ว่าจ้างช่างอยู่แถวประตูเชียงใหม่มาหล่อเศียนใส่เข้าไปใหม่ให้เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ก็เก็บพระพุทธรูปเดิมไว้ในวิหาร สร้างประตูวัดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย
.........."ต่อมาก็เริ่มสร้างพระยืน 4 องค์ ประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน แทนของเดิมที่โจรลักไป จ้างช่างมาปั้นซิเมนต์ ใครมาเห็นก็เกิดศรัทธาอยากสร้างพระเพราะถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศล
.........."อีกเหตุผลหนึ่ง คือ ทราบว่าวัดรอบนอกขาดแคลนพระพุทธรูป สมัยเมื่อเป็นพระวินัยธรเคยเป็นตัวแทนเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจวัดรอบนอก พบว่าบางวัดไม่มีพระพุทธรูปประจำวิหาร บางวัดวาดรูปพระในกระดาษแข็งและแขวนไว้กราบไหว้ เป็นเรื่องจริง ในหมู่บ้านห่างไกลชาวบ้านล้วนยากจน เมื่อพระประธานในวิหารพังก็ไม่มีเงินที่จะร่วมสร้างใหม่
.........."อาตมามีโอกาสจึงได้คิดสร้างพระพุทธรูปถวาย อาตมาทยอยสร้างพระพุทธรูปอยู่ 12 ปี สร้างเสร็จมอบให้วัดที่เขาขอมา ซึ่งเป็นวัดในท้องที่ห่างไกลที่ไม่มีพระพุทธรูปในวิหาร ก่อนหน้านี้ก็ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งน่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย
.........."พระที่สร้างเป็นพระปูนซึ่งสร้างง่ายกว่าพระทองสัมฤทธิ์ ซึ่งราคาแพงและมักถูกคนร้ายลัก ขนาดหน้าตัก 1 เมตร (2 ศอก) ปางชนะมาร แบบสิงห์ 1 ทาสีทอง สมัยนั้นค่าผลิตองค์ละ 4,000 - 5,000 บาท มีศรัทธาร่วมทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง
.........."ช่างทำทำชื่อ สล่าแก้วและสล่าคำ อยู่อำเภอดอยสะเก็ด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ทำที่รอบวิหาร สร้างได้ปีละ 40 -50 องค์ บางปีได้ถึง 100 องค์ วัดที่ขาดแคลนตั้งขบวนมาขอรับพระที่วัด แห่แหนกลับวัดกันทุกปี ปัจจุบันก็ยังมีคนมาถามหาพระพุทธรูปอยู่
.........."จัดทำต่อเนื่องรวม 12 ปี ได้พระพุทธรูปรวม 1,600 องค์ ถวายวัดที่ขาดแคลนรวม 1,600 วัด นอกจากนี้ได้สร้างถวายตามโรงเรียนด้วยรวม 700 โรงเรียน พระลักษณะเดียวกันแต่ย่อส่วนลงเหลือหน้าตักกว้าง 0.5 เมตร"
..........หลังจากสร้างพระพุทธรูปเพื่อมอบเป็นประธานสำหรับวัดต่าง ๆ ที่ขาดแคลนแล้วจึงได้มาบูรณะเสนาสนะในวัด ทั้งศาลา วิหาร เจดีย์ จนมั่นคงแข็งแรง
.........."เรื่องบูรณะวิหาร ได้ไม้จากฝางและจากสะเมิงมาทำ ไปฝางเพราะรับนิมนต์ไป มีผีขึ้นบ้านป่าไม้อำเภอฝางที่บ้านหัวหน้าป่าไม้จนนอนไม่ได้ ขณะเดินทางไปฝนก็ตก รถไปแฉลบและพลิกคว่ำ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร ไปนอนอยู่ 1 คืน ทำพิธีให้ ก็ใช้หลักเมตตา ภาวนา ให้ศีล เช้าก็จัดพรมน้ำมนต์ ภายหลังจึงไปได้ไม้มาทำประตูวิหาร รวมทั้งไม้ทำหน้าต่างก็ขอจากป่าไม้ ซื้อเลื่อยไปให้ชาวบ้านช่วยเลื่อยไม้ในป่าสะเมิง ขอป่าไม้ ขอตำรวจว่าจะมาทำวัด เขาอนุโลม
.........."เริ่มปี พ.ศ. 2514 เสร็จและฉลองปี พ.ศ. 2516 เหนื่อยมาก เกิดมาไม่ได้รับความสุข มุ่งทำเพื่อพระพุทธศาสนา".
หอรักษาการณ์ของทหารตำรวจสมัยที่เจ้าหลวงเชียงใหม่มาปฏิบัติธรรมที่วัดแสนฝาง
......................................
ขอบสำหรับข้อมูลดีๆขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ0:~)
ตอบลบ