วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

ศาลเจ้ากวนอู (บู่เบี้ย) จังหวัดเชียงใหม่

ศาลเจ้ากวนอู (บู่เบี้ย) จังหวัดเชียงใหม่

..........โดยทั่วไปในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ชาวจีนมักจะสร้างศาลเจ้าเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาและขอพรในการทำการค้าขายและพรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัว เหมือนกับคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศก็จะมีการสร้างวัดไทยขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ทำบุญและประกอบพิธีต่าง ๆ ของชาวพุทธในย่านกาดหลวง-กาดเก๊าลำไย

ในเมืองเชียงใหม่มีศาลเจ้า 2 แห่ง
แห่งแรกหันหน้าสู่แม่น้ำปิงมีชื่อว่าศาลเจ้าปุงเถ่ากง-ม่า ตั้งอยู่ที่ถนนไปรษณีย์ใกล้กับแม่น้ำปิง เพราะว่าในช่วงต้นของการค้าขายของคนจีนการเดินทางและขนส่งสินค้าจะเป็นทางเรือ จึงนิยมตั้งศาลเจ้าอยู่ริมแม่น้ำ
ศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งคือศาลเจ้ากวนอู อยู่ในกองเหล่าโจ๊ว (ปัจจุบันเรียกตรอกเล่าโจ๊วหรือถนนข่วงเมรุ)
ในที่นี้จะกล่าวถึงศาลเจ้ากวนอูเพียงแห่งเดียว

..........ศาลเจ้ากวนอูมีชื่อทางจีนว่า บู่เบี้ย ตั้งอยู่เลขที่ 95 ตรอกข่วงเมรุหรือตรอกเหล่าโจ๊ว ทางทิศตะวันตกของตลาดวโรรส โดยหันหน้าศาลเจ้าไปทางตะวันออก ด้านเหนือของอาคารศาลเจ้าติดกับถนนซอยที่ไปทะลุถนนราชวงศ์ซึ่งในอดีตเรียกว่าย่านศรีนครพิงค์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างเมื่อใด แต่ในบทความ "ศาลเจ้าหลวงเชียงใหม่ในศาลเจ้าชาวจีน" โดย ปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ ในหนังสือ เจ้าหลวงเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี 12 เมษายน 2539 ซึ่งมีเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ เป็นบรรณาธิการ ได้เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของ นายค่าย อาภาวัชรุตม์ ผู้จัดการศาลเจ้าในเวลานั้น ซึ่งคาดว่าศาลเจ้าบู่เบี้ย มีอายุไม่น้อยกว่า 120 ปี ถ้านับถึงปัจจุบันก็เป็น 130 ปี (นางสุพิศ ตันรัตนกุล ซึ่งอาศัยอยู่ติดศาลเจ้า เล่าว่า ช่วงนั้นนายค่ายไม่ได้เป็นผู้จัดการศาลเจ้า แต่มีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจตราศาลเจ้า ผู้จัดการศาลเจ้าคือ นายอารักษ์ ปักษาสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการศาลเจ้ากวนอู และคิดว่าศาลเจ้านี้น่าจะอายุประมาณ 150 ปี)

..........คาดว่าศาลเจ้าแห่งนี้ชาวจีนกลุ่มหนึ่งในเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2413 - 2439) หรือ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ 7 นับจากพระเจ้ากาวิละ ข้อมูลบางแห่งเขียนว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 2413 - 2440 คงมีความคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย พระเจ้าอินทวิชยานนท์มีพระมเหสีชื่อ เจ้าแม่ทิพเกสร หรือ ทิพเกษร หรือ ทิพไกสร เป็นธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 6 กับเจ้าแม่อุสาห์

..........คำว่า "บู้" เป็นคำขึ้นหน้าของตำแหน่งทางทหารของกวนอูคือ บู้เอี๋ยโห่ ส่วนคำว่า เบี้ย แปลว่า สถานที่ (เมื่อนำคำว่า "บู้" กับ "เบี้ย" มารวมกัน ต้องออกเสียงว่า "บู่เบี้ย") ในเมืองไทยมีหลายจังหวัดที่มีศาลเจ้ากวนอู จากพงศาวดารเรื่องสามก๊ก กวนอูเป็นทหารที่ช่วยขงเบ้งและเล่าปี่ในการรบศึกต่าง ๆ ในเรื่องกล่าวว่ากวนอูเป็นทหารที่มีความซื่อสัตย์และมีม้าเป็นพาหนะคู่กาย เมื่อท่านตายก็กลายเป็นเทพเจ้า จึงเรียกว่า เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้ากวนอูมีชื่อเสียงในด้านที่ใครขอพรอะไรก็มักจะสมหวัง ด้วยเพราะว่าท่านเป็นเทพที่ใจดีองค์หนึ่ง ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้บูชาและตั้งศาลเจ้าขึ้นมา เท่าที่พบในศาลเจ้าปุงเถ่ากง (ปุนเถ้ากง) ทั่วไป ก็มักจะมีแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอูอยู่ด้วย

..........ในประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่บอกว่า ชาวจีนเริ่มอพยพขึ้นมาเชียงใหม่เพื่อทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกก็ตั้งร้านค้าบ้านเรือนริมแม่น้ำปิงหน้าวัดเกตแล้วก็ขยับขยายมาฝั่งตรงข้ามที่เป็นตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยในปัจจุบัน ซึ่งก็ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ 7 และก็เป็นช่วงเดียวกันที่กลุ่มมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาด้วย

..........การที่จะสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ได้ก็คงต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหลวงก่อน ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าแม่ทิพเกษรเสียชีวิตแล้ว จึงได้มีการจัดตั้งแท่นบูชาหรือป้ายบูชาเจ้าหลวงและเจ้าแม่ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งภาษาจีนเขียนว่า พระเจ้าแผ่นดิน (ตั่วอวง) และพระราชินี (อวงเนี้ย)
ภายในศาลเจ้ากวนอู มีแท่นบูชาหรือป้ายบูชาอยู่ 5 แท่น คือ
..........1. แท่นบูชาเทวดา ฟ้า ดิน อยู่ตรงกลางด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก
..........2. แท่นบูชาเจ้าพ่อกวนอูหรือเทพเจ้ากวนอู และเช็งเต๋าโจวซือ อยู่ตรงกลาง เป็นแท่นบูชาที่สำคัญที่สุดในศาลแห่งนี้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

..........3. แท่นบูชาปุงเถ่ากง ปุงเถ่าม่า อยู่ด้านทิศเหนือของแท่นบูชากวนอู หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

..........4. แท่นบูชาเจ้าพ่อเชียงใหม่ เจ้าแม่ทิพเกษร อยู่ด้านใต้ของแท่นบูชากวนอู หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

..........5. แท่นบูชาฉ่างง่วนส่วย อยู่ถัดแท่นบูชาปุงเถ่ากง-ม่าไปทางทิศตะวันออก โดยหันหน้าไปทางทิศใต้ นอกจากนั้น ยังมีที่บูชาอีก 2 แห่งอยู่บนพื้นด้านทิศเหนือของแท่นบูชากวนอู คือที่บูชาโหงวโจ้ว และที่บูชาตี่จู้ (เจ้าที่) อยู่บนพื้นด้านทิศใต้ของแท่นบูชากวนอู

..........เมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อนหน้านี้ ศาลเจ้ากวนอูเป็นศาลเจ้าไม้เก่าแก่ มีเพียงไม้ทำเป็นสัญญลักษณ์แทนเทพเจ้ากวนอู อาคารมีลักษณะมืดทึบและสกปรก ประชาชนทั่วไปไม่กล้าเข้าไปกราบไหว้เทพเจ้าในศาลเพราะเป็นสถานที่ซึ่งคนพเนจรเข้าไปอาศัยหลับนอน บางครั้งมีผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตไปอาศัยด้วย ยิ่งทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้า ต่อมา นางเง็กอิม แซ่อุง (แม่ทองย้อย ตันรัตนกุล) ซึ่งค้าขายผ้าอยู่ติดเขตศาลเจ้าด้านใต้ (ปัจจุบันลูกหลานเปิดร้านขายยามณีรัตน์เภสัช) ได้เข้าไปทำความสะอาด ทาสีและติดไฟให้สว่างไสว พร้อมกันนั้นได้ไปบูชาและอัญเชิญรูปปั้นเทพกวนอูมาจากกรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานไว้ที่แท่นบูชา ตั้งแต่นั้นมาก็มีคนนิยมเข้าไปกราบไหว้บูชามากขึ้นเรื่อย ๆ


..........ศาลเจ้ากวนอูและศาลเจ้าปุงเถ่ากง-ม่า รอดพ้นจากการถูกไฟไหม้ในเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2511 เลยยิ่งทำให้คนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ จากเดิมที่ได้สักการะบูชาในความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว จึงทำให้ช่วงหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่มีคนมาสักการะบูชาศาลเจ้ากวนอูมากขึ้น

..........นางสุพิศ ตันรัตนกุล (เจ๊ฮุ้ง เจ้าของร้านรัตน์เภสัช ลูกสาวของแม่ทองย้อย ตันรัตนกุล ให้สัมภาษณ์ ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549) ซึ่งอาศัยอยู่ติดกับศาลเจ้าตั้งแต่เด็กเล่าว่า ตอนที่เกิดไฟไหม้ใหญ่เป็นช่วงมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) หลังตรุษจีน ชาวจีนเรียกว่า ง่วนเซียว เมื่อไฟโหมไหม้ตลาดต้นลำไยแล้วมีเศษวัสดุติดไฟปลิวข้ามถนนวิชยานนท์ซึ่งในขณะนั้นมีความกว้างพอสมควรมาเผาผลาญกาดหลวง (ตลาดวโรรส) ลมพัดแรงจากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของกองเหล่าโจ๊ว ทำให้กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารที่เรียงรายบนกองเหล่าโจ๊วต่างเข้าไปกราบไหว้อ้อนวอนขอให้เทพเจ้ากวนอูคุ้มครอง เพราะกองเหล่าโจ๊วช่วงก่อนไฟไหม้แคบกว่าสภาพในปัจจุบัน มีผู้เล่าว่าได้เห็นแสงสีแดงลอยจากฟากฟ้าเข้าไปในศาลเจ้า ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นเทพกวนอูกลับลงมาจากสวรรค์ เพราะกวนอูมีองค์สีแดง หลังจากนั้นมีลมพัดหวนจากทิศตะวันตกไปตะวันออกไปทางแม่น้ำปิง จึงทำให้อาคารที่อยู่ฝั่งเดียวกับศาลเจ้ากวนอูรอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้ากวนอูในครั้งนั้น ยิ่งทำให้ชาวกาดโดยเฉพาะชาวกองเหล่าโจ๊วเลื่อมใสศรัทธาเทพเจ้ากวนอูมากกว่าเดิม

..........อาคารของศาลเจ้ากวนอูที่เห็นในปัจจุบันไม่ใช่อาคารเก่า แต่ได้รับการบูรณะล่าสุดประมาณกลางทศวรรษที่ 2530 ปัจจุบันศาลเจ้ากวนอูมีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อเชื่อมถึงกันหมด มีหลังคาคลุมตรงกลางเปิดโล่งเพื่อให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงและสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งเป็นลักษณะของอาคารแบบจีน ในการบูรณะครั้งหลังสุดมีการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาจากดินขอเป็นกระเบื้องซีแพคโมเนีย เพื่อความคงทนถาวร เพราะดินขอแตกหักง่ายต้องได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอ ๆ

..........ด้านนอกของอาคารมีรูปปั้นนูนหญิงชาย ท่าต่าง ๆ บ้าง ทหารบ้าง และอื่น ๆ ประดับอยู่ทั้งสองข้าง ประตูทางเข้าเป็นประตูไม้บานใหญ่วาดภาพทหารถืออาวุธทั้งสองบาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นภาพเทพเจ้ากวนอูหรือไม่

..........ด้านเหนือของศาลเจ้าเป็นอาคารที่ทำการของชมรมดนตรีจีน ใช้เป็นที่เก็บเครื่องดนตรีและที่พบปะสังสรรค์ของชาวจีนย่านกาดที่มีความชื่นชอบการเล่นดนตรี ในอดีตช่วงเย็นหลังจากเสร็จภารกิจของแต่ละคน หากผ่านไปทางศาลเจ้ากวนอูจะได้ยินเสียงดนตรีจีนที่ไพเราะดังเจื้อยแจ้วอยู่ทุกวัน นอกจากนั้นชมรมดนตรีจีนยังเป็นสถานที่ฝึกและสืบทอดการตีกลองแบบจีนที่เรียกว่า "เหลาะโก้" (บางคนเขียนล่อโก๊ะ) ที่เลื่องชื่อของลูกหลานชาวกาด แต่ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้โรยราเพราะคนเก่าแก่ของย่านกาดถ้าไม่เสียชีวิตก็ย้ายไปอยู่นอกเมือง ทำให้ไม่สามารถมาร่วมวงดนตรีได้เหมือนในอดีต

..........ที่ศาลเจ้ากวนอู ในปี่หนึ่ง ๆ จะมีการบูชาเทพเจ้า 7 ครั้ง ดังนี้
..........1. วันคล้ายวันเกิดเจ้าพ่อปุงเถ่ากง ตรงกับวันที่ 15 เดือน 1 ของจีน
..........2. วันคล้ายวันเกิดกวงเพ้งไถ่จือ ตรงกับวันที่ 13 เดือน 5 ของจีน
..........3. วันคล้ายวันเกิดเจ้าพ่อกวนอู ตรงกับวันที่ 24 เดือน 6 ของจีน
..........4. วันเทกระจาด ทำทานเผื่อแผ่ ตรงกับวันที่ 27-29 เดือน 7 ของจีน
..........5. วันเจ้าพ่อกวนอูสู่สวรรค์กลายเป็นเทพ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ของจีน
..........6. วันคล้ายวันเกิดแม่ทัพอิวซาง ตรงกับวันที่ 30 เดือน 10 ของจีน
..........7. วันฉลองครบรอบประจำปี ตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม - 1 มกราคม

..........แม้ว่าในปัจจุบันนี้ยังคงมีคนจีน (ที่เดินทางมาจากประเทศจีน) และคนไทยเชื้อสายจีน (ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีนแล้วเกิดในประเทศไทย บางคนอาจมีแม่หรือพ่อเป็นคนไทยด้วย) ที่ยังคงสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมจีน โดยการกราบไหว้บูชาศาลเจ้ากวนอูในเทศกาลต่าง ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าลูกหลานรุ่นใหม่ของชาวจีนจะไปกราบไหว้ บูชา ขอพร ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะว่าหันไปเป็นชาวพุทธมากขึ้น หรือเห็นว่าการบูชาเทพเจ้าเป็นสิ่งงมงาย ดังนั้น อนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนว่าต่อไปในภายหน้า ศาลเจ้าบู่เบี้ยยังจะคงเป็นที่พึ่งของชาวจีนในเชียงใหม่สืบต่อไปหรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ความหมายของคำว่า สมุย

ความหมายของคำว่า สมุย
..........เรื่องความหมายของคำว่า "สมุย" อันเป็นชื่อเกาะที่สำคัญที่สุดเกาะหนึ่ง และเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้อธิบายความหมายของคำว่า "สมุย" ไว้ต่าง ๆ กัน เรื่อง "ความเป็นมาของเกาะสมุย" ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "เมืองสุราษฎร์ธานี" ที่ระลึกในงานสมโภชสุพรรณบัฏ สมเด็จพระพุฒนาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม พ.ศ. 2534 ดังนี้
.........."ต้นรัชกาลสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท้องที่อำเภอเกาะสมุย ถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน เกาะมีเกาะใหญ่ ๆ อยู่ 2 เกาะ คือ เกาะสมุย กับ เกาะพงัน
.........."เกาะสมุย เป็นเมืองเกาะสมุย ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเกาะพะงัน ไม่ปรากฏว่าเป็นแขวงหรือเป็นเมือง แต่ขึ้นต่อเมืองไชยา
.........."ตั้งศาลาว่าการอยู่ที่บ้านดอนแตง ข้างวัดประเดิม ตำบลหน้าเมือง เรือนจำใกล้กับหมู่บ้านปากคอก ตำบลมะเร็ต ปัจจุบันนี้เรียกบ้านหน้าค่าย บ้านดอนแตงนี้อยู่ใกล้ชายทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ และใกล้ผืนแผ่นดินใหญ่ ตรงกับหมู่บ้านท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
.........."ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ขึ้น "เมืองเกาะสมุย" ก็ยุบลงมาเป็นอำเภอเกาะสมุยขึ้นกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยรวมเกาะสมุยกับเกาะพะงันเป็นอำเภอเดียวกัน (ปัจจุบัน เกาะพะงัน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพะงันแล้ว)
.........."ในปี พ.ศ. 2440 ที่มีการเปลี่ยนระบบการปกครองนี้ ทางราชการได้ย้ายหลวงพิพิธอักษร (สิงห์ สุวรรณรักษ์) มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเกาะสมุยเป็นคนแรก และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านดอนแตงมาไว้ที่หน้าทอน สละที่ดินส่วนตัวจำนวน 6 ไร่ ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ปัจจุบันนี้เรียกว่าตำบลอ่างทอง หลวงพิพิธอักษร เป็นนายอำเภอคนแรกและอยู่เกาะสมุยนานที่สุดประมาณ 30 ปี (พ.ศ. 2440 - 2470) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ คือ เป็น พระเจริญราชภักดี พระยาเจริญราชภักดี ตามลำดับ (ชื่อและนามสกุลเดิม คือ สิงห์ สุวรรณรักษ์)
.........."อาคารที่ว่าการอำเภอสร้างมาแต่ พ.ศ. 2440 ถึงปัจจุบันนี้ รวม 69 ปี (พ.ศ. 2509) (ถ้านับถึง พ.ศ. 2534 ก็ 94 ปี และถ้านับถึงปี พ.ศ. 2544 ก็ 104 ปี)
.........."คำว่า "สมุย" หมายความว่าอะไร แปลว่าอะไร หรือเป็นภาษาใด ยังไม่สามารถยืนยันได้ และมีผู้รู้บางท่านให้ข้อคิดเกี่ยวกับคำว่า "สมุย" ไว้ต่าง ๆ กันดังนี้
.........."สมุย" เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต แล้วเป็นภาษาทมิฬ อินเดียใต้ด้วยคือ "สมวย" แปลว่า "คลื่นลม" (ในเรื่อง "จากเซ่ามวยมาเป็นสมุย" บอกว่ามาจากคำว่า "สมอย") ต่อมาคำว่า สมวย จึงได้เปลี่ยนเป็น "สมุย" โดยแผลง "ว" เป็นสระอุ (ตามปรกติจะแผลง อุ เป็น ว)
.........."สมุย" มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่โดยทั่วไปในแถวปักษ์ใต้ เป็นไม้เนื้ออ่อน ต้นไม่โตนัก ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า "ต้นหมุย"
.........."ต้นหมุย" นี้มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน เรียกชื่อจากรสของใบ คือ หมุยขม และ หมุยหอม (หมุยหอม น่าจะเรียกจากกลิ่น ไม่ใช่รส) และสันนิษฐานว่า ต้นหมุยนี้คำเต็มคงเรียกว่า "ต้นสมุย" ภาษาทางใต้มักจะตัดตัวหน้าออกเพื่อพูดให้สั้น เช่น มะพร้าว ก็เรียกว่า "พร้าว" หรือ มะนาว ก็เรียกว่า "นาว" สะพาน ก็เรียกว่า "พาน" เป็นต้น โดยเฉพาะเกาะสมุย คนทางใต้เรียกว่า "เกาะหมุย"
.........."สมุย" เป็นภาษาจีนไหหลำ มาจากคำว่า "เซ่าบ่วย" (ไม่ใช่ "เซ่ามวย") ซึ่งคนจีนไหหลำเรียกเกาะสมุยว่า "เช่าบ่วย" แปลว่า เกาะแรก หรือ ด่านแรก หรือ ประตูแรก ประกอบกับเมื่อประมาณ 100 - 150 ปีล่วงมานี้ คนจีนที่เกาะไหหลำได้นำสินค้ามายังประเทศไทยโดยทางเรือใบ ก่อนเข้ากรุงเทพฯ หรือจะไปเกาะไหหลำต้องมาจอดรับสินค้าที่เกาะสมุย เช่น ไต้และกะปิ ดังนั้น คำว่า "เซ่าบ่วย" จึงได้เปลี่ยนเป็น "สมุย" มาจนถึงปัจจุบันนี้
.........."สมุย มาจาก ต้นหมุย ก็ดี สมวย ก็ดี หรือ เซ่าบ่วย ก็ดี แล้ว (น่าจะเป็น "ล้วน") แต่เป็นสันนิษฐานทั้งสิ้น"
..........ในบทความเรื่อง "ความไม่รู้เรื่องเกาะสมุย หรือต้นไม้ที่หายไป" ของ คุณโอภาส เพ็งเจริญ ในหนังสือเล่มเดียวกันนั้น ได้กล่าวถึงคำว่า "สมุย" ในตอนเริ่มต้นไว้ดังนี้
.........."พอได้รับการบอกกล่าวว่า เขียนอะไรก็ได้ เรื่องอะไรก็ดี ตามที่เห็นสมควร เห็นว่าเหมาะสม ความวิตกกังวลก็ได้ก่อตัวขึ้นมาทันที เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็นสมควรและคิดว่าเหมาะสมนั้นมีอยู่หลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องที่สมควรเฉพาะตัว อันไม่น่าจะมีใครเห็นสมควรด้วย เป็นต้นว่า เรื่องการเอาเชือกผูกเกาะพะงันแล้วดึงมาให้ติดกับเกาะสมุยจะได้ใหญ่ขึ้น คือเอาเกาะอะไรต่อมิอะไรที่อยู่ในละแวกใกล้ ๆ กับเกาะสมุยเข้ามาให้ติดเป็นพื้นดินเดียวกันเสีย จะทำให้เกาะสมุยของเราโตกว่าเกาะภูเก็ตเสียที เพราะผมมีความน้อยอกน้อยใจจนกลายเป็นปมด้อยติดตัวมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า บ้านผมเกาะสมุยนั้นเล็กกว่าภูเก็ต จนเวลานี้ยังเล็กกว่าอยู่ ไม่ยอมโตให้ทันหรือโตกว่าเกาะภูเก็ตสักที แต่เรื่องนี้ชาวเกาะพะงัน ชาวเกาะพะลวย ชาวเกาะแตน และเกาะอื่น ๆ อาจไม่เห็นดีเห็นงามยินยอมพร้อมใจด้วย หรือแม้จะเห็นชอบด้วยกับการกระทำที่ว่านั้น แต่อาจมีปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ในลำดับถัดมา ในเรื่องของชื่อเกาะใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่าว่าจะให้ชื่อเกาะสมุยต่อไป หรือจะเปลี่ยนไปเป็นเกาะสงัน (สะ-งัน) หรือ สงวย (อ่านว่า สะ-หงวย)"
..........ผู้เขียนคำนำเอาคำว่า "สมุย+พงัน" เป็น "สะงัน" หรือเอา "สมวย+พงัน" เป็น สะหงวย แบบเดียวกับ Lion (สิงโตตัวผู้) + Tiger (เสือตัวเมีย) เป็น Liger หรือ Tiger (เสือตัวผู้) + Lion (สิงโตตัวเมีย) เป็น Tigon หรือทำนองเดียวกับ Motor + Hotel เป็น Motel คือโรงแรมซึ่งมีที่จอดรถยนต์ได้ หรือ Boat + Hotel เป็น Botel คือ โรงแรมซึ่งมีที่เก็บเรือด้วยฉะนั้น

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ปู่จ๋าน ทางภาคเหนือกับ มัคทายก ทางภาคกลาง

ปู่จ๋าน ทางภาคเหนือกับ มัคทายก ทางภาคกลาง
..........ในทุกสังคมจะมีแบ่งเป็นชนชั้นต่าง ๆ แต่ละชนชั้นจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน
..........คนธรรมดา ถือว่าอยู่คนละชั้นกับพระสงฆ์หรือนักบวช จะไปก้าวก่ายรุ่มร่ามไม่ได้เด็ดขาดด้วยเหตุผลว่าเราเชื่อกันว่าพระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า หากเราได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว จะทำให้ได้บุญและได้ขึ้นสวรรค์เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ทุกคนย่อมต้องการพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า ซึ่งพระสงฆ์ช่วยได้
..........คนกลางที่จะทำหน้าที่ระหว่างคนธรรมดากับพระสงฆ์ ภาคเหนือเรียกว่า "ปู่จ๋าน" ภาคกลางเรียกว่า "มัคทายก"
.........."ปู่จ๋าน" เป็นคำเรียกที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก คำเต็มคือ "ปู่อาจ๋าน" หรือ "ปู่อาจารย์"
..........หากอายุไม่มากนักบางแห่งก็เรียกว่า "ป้อจ๋าน" หมายถึง พ่ออาจารย์
..........อาจารย์มณี พยอมยงค์ เขียนไว้ในหนังสือสารานุกรมเยาวชนให้ความหมายของ ปู่อาจารย์ว่า
.........."ปู่อาจารย์ หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาและพุทธศาสนาพิธี เป็นผู้นำในการไหว้พระ รับศีล เวนทานหรือ การประกอบพิธีต่าง ๆ ทั้งการประกอบพิธีในวัดและในบ้าน
..........ผู้ที่จะเป็นปู่อาจารย์ได้นั้น กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็น หนาน หรือ ผู้ลาสิกขาบทในขณะเป็นพระสงฆ์ ในการที่ชาวบ้านจะทำบุญไหว้พระต่าง ๆ ในวัดนั้น ปู่อาจารย์จะเป็นผู้กล่าวนำการไหว้ การรับศีล การอาราธนาธรรมและการโอกาสเวนทานหรือการกล่าวมอบเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ ส่วนในการทำพิธีในบ้านหรือนอกวัดนั้น ปู่อาจารย์ก็จะทำหน้าที่เดียวกันนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปู่อาจารย์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะประสานหรือ ทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับพระสงฆ์และศาสนพิธี
..........ในบางวัดที่เจ้าอาวาสไม่สันทัดเรื่องพิธีกรรมก็จะมอบหมายให้ปู่อาจารย์เป็นหลักในการด้านนี้ ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะให้ความเคารพและเชื่อฟังปู่อาจารย์พอ ๆ กับพระสงฆ์ นอกเหนือจากการได้รับเครื่องไทยทานอย่างเดียวกับพระสงฆ์ในพิธีต่าง ๆ แล้ว ชาวบ้านจะรวบรวมข้าวเปลือกมอบให้แก่ปู่อาจารย์ เพราะต้องการให้ปู่อาจารย์มีเวลากับการด้านนี้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องไปตรากตรำทำนาอีก กล่าวกันว่าวัดไหนถ้าเจ้าอาวาสและปู่อาจารย์ไม่กลมเกลียวกันแล้ว วัดนั้นมักจะเสื่อม ชาวบ้านอาจเรียกอาจารย์หรือปู่จารย์เป็นต้น" (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 8, สยามเพรสแมเนจเมนท์ จำกัด, 2524, มณี พยอมยงค์, น.3932-3933)
..........จากความหมายดังกล่าวบ่งบอกว่า ปู่จ๋าน บางคนมีความรู้ทางพิธีกรรมมากกว่าเจ้าอาวาสบางรูปเสียอีก
..........การให้การยอมรับนับถือ "ปู่จ๋าน" ของภาคเหนือปรากฎดังคำสุภาษิตที่คุ้นหูว่า "น้อยบ่ดีเป็นอาจ๋าน หนานบ่ดีเป็นจ่างซอ" ความหมายคือ "น้อย" คือผู้ที่เคยเป็นแค่เณร ความรู้ยังน้อยไม่ควรยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์วัด ส่วน "หนาน" คือผู้ที่บวชเป็นพระมาแล้ว ถือว่ามีความรู้มากควรยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์วัด ไม่ควรให้ไปเป็นช่างซอซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมก็เป็นกันได้
..........ผมได้พบปู่จ๋านคนหนึ่งในงานพิธีสวดศพ เป็นปู่จ๋านวัดเมืองกาย ชื่อ ร.ต.ต.ศรีหมื่น เจริญสุข รับนิมนต์รับผิดชอบทั้งบ้านเมืองสาตร์น้อย เมือนสาตร์หลวง บ้านเสาหิน บ้านสันป่าเลียง
..........สอบถามปู่จ๋านวัดเมืองกายและปู่จ๋านวัดอื่น ๆ หลายคนสรุปได้ความว่า ผู้ที่จะเป็นปู่จ๋าน ประจำวัดได้ น่าจะต้องมีองค์ประกอบคือ
..........1. เคยบวชเรียนมาแล้ว หากไม่เคยบวชเรียนมาเป็นปู่จ๋าน ไม่ได้เพราะจะไม่มีความรู้ด้านพิธีการทางศาสนาและขาดความเชื่อถือจากชาวบ้าน
..........2. ต้องมีความประพฤติดี คือ อย่างน้อยต้องประพฤติดีที่เรียกว่า น้อง ๆ พระ ประพฤติดีอย่างไรนั้น คงเป็นความดีทั่วไปที่ยอมรับกัน เช่น ไม่ดื่มเหล้าเมายา ไม่เสเพลประพฤติผิดทางชู้สาว กล่าวคือ น่าจะหมายถึงประพฤติในศีล 5 ข้อ รวมทั้งความประพฤติอื่น ๆ เช่น มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ติฉินนินทา ใจเย็น เป็นที่น่าเคารพ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านอื่นได้ เป็นต้น
..........3. ต้องเป็นผู้นำได้ กล้าแสดงออก คือ ผู้นำด้านพิธีสงฆ์ และผู้นำพิธีกรรมชาวบ้านได้
..........4. ต้องคล่อง ผู้รู้บอกว่า ต้องมีคุณสมบัติคล่องแคล่ว หากเชื่องช้าก็จะเป็นปู่จ๋านไม่ได้
..........5. ต้องสละเวลาส่วนตัว และต้องมาอยู่ที่วัด เรื่องนี้ก็สำคัญ ปู่จ๋านต้องมาประจำอยู่ที่วัด เพื่อที่หากมีชาวบ้านมาติดต่อให้ไปประกอบกิจกรรมศาสนาที่บ้านต้องพร้อมที่จะรับงานได้ หากมีภาระที่บ้านต้องออกไปประกอบอาชีพทำมาหากินคงทำงานนี้ไม่ได้ ดังนั้นปู่จ๋านจะต้องประจำอยู่ที่วัด เพื่อคอยรับงานจากชาวบ้าน
..........การจะเปลี่ยนตัวปู่จ๋าน นั้นขึ้นอยู่กับความประพฤติส่วนหนึ่ง หากความประพฤติไม่เรียบร้อยกรรมการวัดก็สามารถเปลี่ยนตัวได้ หรือหากอายุมากแล้วก็เปลี่ยนตัวได้ ด้านอายุนั้นไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องมีอายุเท่าไหร่จึงเลิกทำหน้าที่ แต่ขึ้นอยู่กับความจำ ไม่หลงลืม ปู่จ๋านบางคนอายุมากและเริ่มหลงลืมก็มักถูกเปลี่ยนตัว ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อมักมีการวางตัวไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครมีความเหมาะสม
..........ภาคกลางเรียกผู้ทำหน้าที่เหมือนปู่จ๋านนี้ว่า "มัคทายก" คุณสมบัติไม่แตกต่างกัน คือ ต้องบวชเรียนมาแล้ว มีความประพฤติดี เป็นผู้นำได้
..........แต่ข้อหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความแตกต่างระหว่างปู่จ๋านของภาคเหนือ กับมัคทายกของภาคกลาง คือ ข้อ 5 ที่ว่ามัคทายกต้องประจำอยู่ที่วัดเผื่อว่าจะมีผู้มานิมนต์ไปทำกิจทางศาสนา มัคทายกทางภาคกลางไม่จำเป็นต้องประจำอยู่วัด อยู่ที่บ้านทำมาหากินไปตามปกติ หากมีชาวบ้านจะจัดงานทำบุญ งานศพ ก็มาตามได้ที่บ้าน แม้ไม่ได้อยู่วัดก็ต้องมีความพร้อมพอสมควร ผู้ที่รับหน้าที่มัคทายกมักต้องพอมีฐานะอยู่บ้าง คือ ไม่ต้องทำงานก็มีเหลือกินแล้ว แม้จะไม่มีรายได้แต่ก็ได้รับเกียรติจากสังคมที่แตกต่างกันในส่วนสำคัญ คือ ผู้ที่บวชเรียนแล้วทางภาคกลางนั้นมีมากมายเพราะเป็นประเพณีที่ชายอายุ 20 ปีต้องบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ ดังนั้นคนที่ผ่านการบวชเรียนหรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า "หนาน" นั้นมีมากมาย ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นมัคทายกได้จึงมีให้เลือกมาก ซึ่งน่าจะต้องมีให้เลือกมากกว่าทางภาคเหนือที่การบวชพระไม่ใช่ประเพณีโดยตรง
..........แต่เมื่อสอบถามปู่จ๋านบางคนก็บอกว่าบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัด อาจจะอยู่ที่บ้าน คอยให้ชาวบ้านที่มีงานมาตามไปช่วยงาน เช่น งานศพเมื่อรู้ก็ต้องไปที่บ้านเจ้าภาพ จัดการด้านพิธีกรรม รวมทั้งกำหนดวันที่ฤกษ์ดีในวันเผาศพ
..........น่าสนใจตรงที่อาจารย์มณี พยอมยงค์ ให้ความหมายของปู่จ๋านประการหนึ่งที่ว่า สมัยก่อนชาวบ้านจะนำข้าวสารมามาอบให้ปู่จ๋านเพื่อใช้ครองชีพไม่ต้องไปเสียเวลาทำนา บ่งบอกว่าทางภาคเหนือให้ความสำคัญกับหน้าที่ของปู่จ๋านมากและมีความจำเป็นต้องอาศัยปู่จ๋านจะขาดเสียมิได้
..........จึงเสมือนว่า ปู่จ๋าน จะประกอบอาชีพเหมือนกับชาวบ้านอื่น ๆ ไม่ได้ จึงมีคำถามว่า แล้วปู่จ๋าน จะอยู่อย่างไร มีรายได้เพียงพอกับการครองชีพหรือไม่?
..........สอบถามปู่จ๋านหลายคนบอกว่า ค่าครองชีพพออยู่ได้ แต่ก็แยกเป็นพื้นที่ เช่น ปู่จ๋านวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ ซองปัจจัย (เงิน) มักได้เท่ากับพระ เช่น ถวายปัจจัยให้พระ 300 บาท ก็ถวายปู่จ๋าน 300 บาทด้วยเช่นกัน ดังนั้นหน้าซองก็ไม่ต้องหมายเหตุไว้ว่าถวายพระหรือถวายปู่จ๋าน แต่ปู่จ๋านอำเภอรอบนอกมักได้น้อยและมักไม่เพียงพอที่จะยังชีพได้ เช่น ปู่จ๋านที่อำเภอหางดง บอกว่ามักได้น้อยกว่าพระอาจได้สัก 100 บาทหากถวายพระ 300 บาท ดังนั้นที่หน้าซองจะต้องหมายเหตุว่า "ของอาจารย์" เพื่อมิให้สับกับซองถวายพระ
..........การรับซองปัจจัยนี้ เป็นอีกข้อหนึ่งที่เป็นความแตกต่างของภาคเหนือและภาคกลาง
..........มัคทายกภาคกลาง ไม่รับซองปัจจัย และชาวบ้านทั่วไปก็รู้ว่าไม่ต้องเตรียมปัจจัยใส่ซองมอบให้มัคทายก อาจดูเหมือนกับว่ามัคทายกทางภาคกลางมีความสำคัญทางด้านสังคมน้อยกว่า "ปู่จ๋าน" ทางภาคเหนือ
..........คราวเมื่อไปร่วมงานศพญาติเมื่อไม่นานมานี้ที่จังหวัดจันทบุรีมัคทายกที่มาช่วยงานศพ เป็นคนในหมู่บ้านที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วหลายพรรษาจนเกือบเป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้ว ต่อมาสึกมาแต่งงานใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป หากชาวบ้านมีงานพิธีสงฆ์ ก็จะไปขอให้มาช่วยงานทำหน้าที่จัดที่นั่งของพระที่จะมาสวด ซึ่งความจริงหน้าที่นี้ชาวบ้านแทบทุกคนก็จัดได้หมด เพราะส่วนใหญ่ผ่านการบวชมาแล้ว หน้าที่หลักคือ การอาราธนาศีล อาราธนาธรรม หลังจากนั้นก็หมดหน้าที่
..........ภาระหน้าที่มีไม่มากและชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ผ่านการบวชมาแล้วแทบทั้งสิ้น จึงดูเหมือนสังคมทางภาคกลางไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัคทายกมากนัก หากมัคทายกติดธุระจำเป็นจริง ๆ ก็อาจไหว้วานใครคนใดคนหนึ่งที่อาวุโสพอมาช่วยอาราธนาศีล อาราธนาธรรมแทนได้ แต่หากเป็นปู่จ๋านทางภาคเหนือ คงหาคนมาแทนเช่นนั้นไม่ได้ และปู่จ๋านย่อมมีความรู้ทางพิธีสงฆ์มากกว่าคนอื่นเพราะคนอื่นไม่ได้บวชเรียนมา
..........ด้วยเหตุว่ามัคทายกทางภาคกลางหน้าที่มีไม่มาก และความสำคัญมีน้อย ภาคกลางจึงไม่ต้องมอบซองปัจจัยให้ อีกทั้งไม่ต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ใส่ถังใส่ลังไว้ให้มัคทายกเหมือนที่เตรียมไว้ให้ปู่จ๋านอีกชุดหนึ่งนอกเหนือจากถวายพระ
..........มัคทายกที่กล่าวถึงเป็นชุมชนที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีเท่านั้น ท้องที่อื่นอาจแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าคล้ายคลึงกันดังที่กล่าวมาข้างต้น
..........ความแตกต่างสำคัญระหว่างปู่จ๋านของภาคเหนือกับมัคทายกของภาคกลางอีกประการหนึ่ง คือ ปู่จ๋านต้องทำหน้าที่ด้านอื่นด้วยที่ไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ คือ ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีส่งเคราะห์ พิธีสะเดาะเคราะห์
..........พิธี "ส่งเคราะห์" ปู่จ๋านของวัดเกตการามเล่าเรื่องพิธีนี้ว่า "เป็นความเชื่อของชาวบ้านมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่เกิดโทษหรือความเสื่อมเสียต่อชุมชน เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้หมดไป ชาวบ้านก็จะมาขอให้ทำพิธี คือ ขอให้ไปส่งสะตวงให้หน่อย ส่วนใหญ่จะไม่สบาย เมื่อไปให้หมอเข้าทรงดู (หมอพื้นบ้าน) มักทักว่าไปที่นั่นที่นี่มาและถูกผีทักให้เราตกใจ เช่น เดินไปที่ต้นไม้ใหญ่ นางไม้ไม่ได้กินอะไรก็มาทักเรา เราจะสะดุ้ง จิตไม่สบายและทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องไปหาปู่จ๋านให้ทำพิธีกรรมทำสะตวง อาจจะไม่ใช่ปู่จ๋านก็ได้ ไปหาคนที่เคยบวชเรียนแล้วก็ได้
.........."ก็ต้องทำสะตวงส่งไป มีคำกล่าวเป็นภาษาเมืองอาจเรียกว่าคาถาก็ได้ ในสะตวงจะมีของเซ่นไหว้ เช่น บุหรี่ เมี่ยง หมาก พลู ข้าวต้ม ขนม เนื้อสุก บางทีผีที่ทักอยากกินเนื้อดิบ ปลาดิบ ก็ใส่ไป ขึ้นอยู่กับที่หมอดูทักไว้ เช่น คนนี้ป่วยเพราะเดินไปทิศใต้ ไปสะดุ้งต้นไม้ใหญ่มาทักเราอยากจะกินจิ้นลาบ แกงอ่อม ไก่คู่ เหล้าขาวก็มี ก็ต้องใส่ไปในสะตวง"
..........ปู่จ๋าน วัดหนองบัว ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง ชื่อพ่อหนานหวาน ศรีกันทา ให้ข้อมูลด้านการส่งเคราะห์เพิ่มเติมว่า
.........."สิ่งของในกระทงเรียกว่า เครื่องสี่ คือ ต้องมี 4 ชิ้น คือ ข้าว 4 แกงส้มแกงหวาน 4 บุหรี่ 4 เมี่ยง 4 หมาก 4 เทียน 4 กล้วยอ้อย 4 มีน้ำขมิ้นส้มป่อย มีจ้อหรือธงสีขาวสามเหลี่ยมปักในกระทง ใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปสัตว์ตามราศีของเจ้าของพิธี และใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปเทวดา พิธีกรรมไปทำที่บ้านของเจ้าของพิธี มีการกล่าวคาถาใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ หลังจากนั้นก็ผูกข้อมือและทำพิธีปัดเคราะห์ คือ ให้เจ้าของพิธีแบมือทั้งสองข้างและใช้ด้ายสายสิญจน์ปัดที่ฝ่ามือออกมานอกตัวและกล่าวคาถาเป็นอันจบ ค่าส่งเคราะห์ เรียกว่า ค่าขันตั้ง เป็นเงิน 36 บาท"
..........ดังนั้นรายได้ของ "ปู่จ๋าน" นอกจากเงินที่ได้จากเจ้าภาพมอบให้แล้ว เงินค่าครองชีพอีกส่วนหนึ่งได้จากการทำพิธีให้ชาวบ้าน เช่น พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ สำหรับงานมงคลต่าง ๆ หรือ พิธีส่งเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์
..........ปู่จ๋านประจำวัดในตัวเมืองเชียงใหม่บอกว่า "พออยู่ได้" ปู่จ๋านประจำวัดต่างอำเภอ (อำเภอหางดง) บอกว่า "ยากที่จะพอใช้" การรับหน้าที่ปู่จ๋านประจำวัด บางแห่งบอกว่าจำยอมเป็นปู่จ๋านเพราะชุมชนผลักดันให้เป็น ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวมาก ไม่ได้ทำงานหารายได้ หากมีคนอื่นเป็นแทนจะเลิก
..........ดังนั้นผู้ที่จะเป็นปู่จ๋านจะต้องมีจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือสังคม หรือชุมชนส่วนหนึ่งด้วย และหากมีอาชีพอื่นที่ทำรายได้ให้มากกว่าการเป็นปู่จ๋าน ก็คงไม่อยากเป็นปู่จ๋านเพราะต้องสละเวลาอีก ทั้งต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ หากชาวบ้านมาแจ้งให้ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
..........หน้าที่ของปู่จ๋านทางภาคเหนืออีกประการหนึ่ง คือ การจัดงานศพ ปู่จ๋านจะต้องไปจัดการเกี่ยวกับงานศพ ตั้งแต่การแนะนำเจ้าภาพ การจัดใส่โลงเรื่อยไปจนถึง "เสียศพ" ที่ภาคกลางเรียกว่า "ปลงศพ" หรือภาษาเขียนว่า "ฌาปนกิจศพ"
..........หน้าที่ดังกล่าวทางภาคกลางเป็นหน้าที่ของ "สัปเหร่อ" โดยชัดแจ้ง ตั้งแต่การนำศพจากโรงพยาบาลกลับมาบ้านใส่โลง จนถึงพิธีที่วัดและที่ป่าช้า รุ่งขึ้นต้องทำพิธีเก็บอัฐิมอบให้ญาติ เป็นอันเสร็จพิธี เสร็จพิธีเจ้าภาพใส่ซองปัจจัยให้ 3,000-5,000 บาท รายได้พอครองชีพได้สบาย "สัปเหร่อ" มักสืบทอดจากรุ่นพ่อมารุ่นลูก อาจถือได้ว่าเป็นอาชีพหนึ่ง
..........จึงดูเหมือนว่า "ปู่จ๋าน" ของเราทำหลายหน้าที่อยู่เหมือนกัน ทั้งทำหน้าที่เป็น "มัคทายก" แบบทางภาคกลาง ทำหน้าที่ส่งเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ อีกทั้งต้องทำหน้าที่เป็น "สัปเหร่อ" อีก

น้ำพุร้อนโป่งเดือด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

น้ำพุร้อนโป่งเดือด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

Mae Taeng Hot Springs, Amphoe Mae Taeng, Chiang Mai
A mysterious geyser in the forest. This powerful phenomenon spurts up from under the ground at a temperature of 99 degree. Its natural properties are good for the skin's complexion. From Chiang Mai, take Route 1095.
โป่งเดือด คือน้ำพุร้อนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "ไกเซอร์" เกิดจากแรงดันใต้ผิวดินมากกว่าบ่อน้ำร้อนธรรมดา โป่งเดือดมี 3 บ่อ บ่อใหญ่มีน้ำพุพุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 2 เมตร ทุก 30 วินาที มีความร้อน 99 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าหากมีการปรบมือหรือส่งเสียงดังใกล้โป่งเดือด น้ำพุร้อนแห่งนี้จะพวยพุ่งขึ้นสูงกว่าปกติทีเดียว

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

MAIIAM Contemporary Art Museum

MAIIAM Contemporary Art Museum

..........พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมก่อตั้งขึ้นบนความเชื่อที่ว่า ศิลปะควรได้รับการแบ่งปันแลกเปลี่ยน และผลงานศิลปะนั้นควรเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เพื่อสืบสานแนวคิดนี้ ครอบครัวบุนนาค-เบอร์เดอเลย์ ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สำหรับเมืองเชียงใหม่ที่อำเภอสันกำแพงขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของความเป็นชุมชนและการร่วมมือร่วมใจกันทำงานในเชียงใหม่

..........MAIIAM Museum of Contemporary Art was founded on the belief that art is to be shared and works of art are to be accessible to everyone. In keeping with this concept, the Bunnag-Beurdeley family was inspired by the spirit of community and collaboration in Chiang Mai to found their museum in the city's Sankampheang District.

..........วิสัยทัศน์ของพิพิธภัณฑ์คือการแบ่งปันผลงานสะสมคอลเลคชั่นส่วนตัวที่สะสมมากว่า 30 ปีของคุณฌอง มิเชล เบอร์เดอเลย์ และคุณพัฒศรี บุนนาค ภรรยาผู้ล่วงลับ รวมทั้ง คุณอีริค บุนนาค บู๊ทซ์ บุตรชายของท่านทั้งสอง ซึ่งผู้ก่อตั้งประสงค์จะแบ่งปันประสบการณ์ และต้องการให้ทุกคนสามารถ สัมผัสได้ด้วยตนเองถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของศิลปะที่จะสร้างคุณค่าให้กับทุก ๆ ชีวิต ด้วยความหวังในการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักสะสมและศิลปินรุ่นใหม่ และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการร่วมมือกันของผู้คนจากหลายวงการ ทั้งพิพิธภัณฑ์ ศิลปิน และชุมชนท้องถิ่น

..........The vision for the museum is to share with the general public the private collection that Jean Michel Beurdeley and his late wife Patsri Bunnag, together with their son Eric Bunnag Booth, have built over the last thirty years. The museum's founders want visitors to share their experiences and to see for themselves how art can enrich their lives. The hope is to inspire new collectors and younger generations of artists and create a platform and catalyst for multi-disciplinary collaboration between the museum, artists, and the local community.

.........."ใหม่เอี่ยม" จัดแสดงคอลเลคชั่นถาวรงานสะสมของครอบครัว ซึ่งมีทั้งผลงานชิ้นสำคัญของศิลปินร่วมสมัยชั้นครูทั้งของไทยและในภูมิภาค รวมทั้งผลงานจากการเสาะแสวงหาศิลปินหน้าใหม่ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

..........MAIIAM will house the family's permanent collection, which includes seminal works from the masters of Thai and regional contemporary art, as well as the discoveries they have made of young and emerging artists in both the Kingdom and neighboring countries.


.........."เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลงานงานศิลปะที่จัดแสดงของเราจะอธิบายถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย แต่ผลงานที่จัดแสดงนี้เป็นตัวแทนมุมมองของพวกเรา อ้างอิงจากสิ่งเดียวคือ อารมณ์ร่วมที่เรามีต่อผลงานเหล่านี้ เราเชื่อว่างานศิลปะเป็นผลจาก การสร้างสรรค์ของศิลปินรวมกับอารมณ์ร่วมของผู้ชมที่เกิดจากผลงานชิ้นนั้น" คุณฌอง มิเชล เบอร์เดอเลย์และคุณอีริค บุนนาค บู๊ทซ์ ได้กล่าวไว้

.........."In no way does our collection represent the entire history of Thai contemporary art. Instead, it simply represents our own point of view based on the sole criterion of the emotional response we have to these works. We believe a work of art exists as a result of the artist's creativity, but also in the emotional response it produces in the viewer." - Jean Michel Beurdeley and Eric Bunnag Booth


วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

ทำไมแอปเปิ้ลผิวแดงจึงหวาน

ทำไมแอปเปิ้ลผิวแดงจึงหวาน
..........แอปเปิ้ลพันธุ์เดียวกันและปลูกในแหล่งเดียวกัน ลูกที่ผิวแดงจะหวานกว่าลูกผิวเขียว นี่เป็นเพราะอะไรหรือ?
..........เพราะว่าสีของเปลือกแอปเปิ้ลขึ้นอยู่กับว่า แอปเปิ้ลมีสารแอนโธไซยานิดิน (Anthocyannidin) มากน้อยแค่ไหน และปกติสารนี้จะอยู่ในรูปของกลูโคไซด์ (Glucoside) เนื่องจากแอปเปิ้ลได้รับแสงแดดไม่เท่ากันในขณะที่กำลังเจริญเติบโต แอปเปิ้ลลูกที่ได้รับแสงแดดมาก ก็จะสังเคราะห์กลูโคไซด์ได้มากกว่า กลูโคไซด์นี้เป็นสารสำคัญในการทำให้แอปเปิ้ลมีรส "หวาน" และทำให้เปลือกก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดังนั้น แอปเปิ้ลผิวแดงจึงมีรสหวานกว่าแอปเปิ้ลผิวเขียว

โกยซีติ๊ง ขนมตูดหมูตูดหมา

โกยซีติ๊ง ขนมตูดหมูตูดหมา
..........มีอีกชื่อหนึ่งว่า โกยไสติ๊ง ซึ่งก็คือต้นตูดหมูตูดหมา หรือต้นกระพังโหม มีมากในแถบกวางตุ้งของจีน คนกวางตุ้งนิยมใช้โกยซีติ๊งบำบัดโรคตานขโมย (เด็กมีอาการผอมแห้ง พุงป่องขาดสารอาหาร) และป้องกันโรคหิดกลาก เกลื้อนได้
..........เมื่อถึงฤดูร้อน คนจีนตามชนบทจะออกไปเก็บใบอ่อนของต้นโกยซีติ๊ง นำมาล้างให้สะอาดแล้วโขลกให้แหลก ผสมกับแป้งข้าวเหนียวและน้ำตาลอ้อย ปั้นเป็นเม็ด ๆ แล้วนำไปนึ่งให้สุก ตั้งทิ้งไว้ให้แห้ง ให้เด็กกินเป็นอาหารเสริมทุกวัน ว่ากันว่าใช้ป้องกันแผลฝี และกำจัดพิษฝีได้
ขนมตูดหมูตูดหมา
เครื่องปรุง :
..........โกยซีติ๊ง (กระพังโหมหรือตูดหมูตูดหมา) .......... 240 กรัม
..........แป้งข้าวเหนียว                                          .......... 240 กรัม
..........น้ำตาลอ้อย                                                .......... 2 ก้อน (หรือพอประมาณ)
..........น้ำ                                                             .......... พอประมาณ
..........ลูกเกด                                                       .......... 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีปรุง :
..........ใช้โกยซีติ๊งสด โดยเด็ดเอาใบและเถาอ่อน มาปั่นในเครื่องปั่นให้เละ แล้วใส่ในแป้งข้าวเหนียว นำน้ำตาลอ้อยมาละลายน้ำ แล้วเทน้ำละลายน้ำตาลอ้อยลงในแป้งข้าวเหนียว คนกวนให้เหนียวได้พอเหมาะแล้วปั้นเป็นก้อนกลมขนาดลูกแห้ว ติดลูกแก้วไว้ข้างบน จัดใส่จานแล้วนำไปนึ่งสักครึ่งชั่วโมง สุกแล้วกินได้
สรรพคุณ :
..........ป้องกันโรคตานขโมย และหิดกลากเกลื้อน
หมายเหตุ :
..........ขนมนี้ใช้ป้องกันโรคตานขโมยและฝีในเด็กได้ผลดีมาก