วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ปู่จ๋าน ทางภาคเหนือกับ มัคทายก ทางภาคกลาง

ปู่จ๋าน ทางภาคเหนือกับ มัคทายก ทางภาคกลาง
..........ในทุกสังคมจะมีแบ่งเป็นชนชั้นต่าง ๆ แต่ละชนชั้นจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน
..........คนธรรมดา ถือว่าอยู่คนละชั้นกับพระสงฆ์หรือนักบวช จะไปก้าวก่ายรุ่มร่ามไม่ได้เด็ดขาดด้วยเหตุผลว่าเราเชื่อกันว่าพระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า หากเราได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว จะทำให้ได้บุญและได้ขึ้นสวรรค์เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ทุกคนย่อมต้องการพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า ซึ่งพระสงฆ์ช่วยได้
..........คนกลางที่จะทำหน้าที่ระหว่างคนธรรมดากับพระสงฆ์ ภาคเหนือเรียกว่า "ปู่จ๋าน" ภาคกลางเรียกว่า "มัคทายก"
.........."ปู่จ๋าน" เป็นคำเรียกที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก คำเต็มคือ "ปู่อาจ๋าน" หรือ "ปู่อาจารย์"
..........หากอายุไม่มากนักบางแห่งก็เรียกว่า "ป้อจ๋าน" หมายถึง พ่ออาจารย์
..........อาจารย์มณี พยอมยงค์ เขียนไว้ในหนังสือสารานุกรมเยาวชนให้ความหมายของ ปู่อาจารย์ว่า
.........."ปู่อาจารย์ หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาและพุทธศาสนาพิธี เป็นผู้นำในการไหว้พระ รับศีล เวนทานหรือ การประกอบพิธีต่าง ๆ ทั้งการประกอบพิธีในวัดและในบ้าน
..........ผู้ที่จะเป็นปู่อาจารย์ได้นั้น กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็น หนาน หรือ ผู้ลาสิกขาบทในขณะเป็นพระสงฆ์ ในการที่ชาวบ้านจะทำบุญไหว้พระต่าง ๆ ในวัดนั้น ปู่อาจารย์จะเป็นผู้กล่าวนำการไหว้ การรับศีล การอาราธนาธรรมและการโอกาสเวนทานหรือการกล่าวมอบเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ ส่วนในการทำพิธีในบ้านหรือนอกวัดนั้น ปู่อาจารย์ก็จะทำหน้าที่เดียวกันนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปู่อาจารย์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะประสานหรือ ทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับพระสงฆ์และศาสนพิธี
..........ในบางวัดที่เจ้าอาวาสไม่สันทัดเรื่องพิธีกรรมก็จะมอบหมายให้ปู่อาจารย์เป็นหลักในการด้านนี้ ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะให้ความเคารพและเชื่อฟังปู่อาจารย์พอ ๆ กับพระสงฆ์ นอกเหนือจากการได้รับเครื่องไทยทานอย่างเดียวกับพระสงฆ์ในพิธีต่าง ๆ แล้ว ชาวบ้านจะรวบรวมข้าวเปลือกมอบให้แก่ปู่อาจารย์ เพราะต้องการให้ปู่อาจารย์มีเวลากับการด้านนี้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องไปตรากตรำทำนาอีก กล่าวกันว่าวัดไหนถ้าเจ้าอาวาสและปู่อาจารย์ไม่กลมเกลียวกันแล้ว วัดนั้นมักจะเสื่อม ชาวบ้านอาจเรียกอาจารย์หรือปู่จารย์เป็นต้น" (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 8, สยามเพรสแมเนจเมนท์ จำกัด, 2524, มณี พยอมยงค์, น.3932-3933)
..........จากความหมายดังกล่าวบ่งบอกว่า ปู่จ๋าน บางคนมีความรู้ทางพิธีกรรมมากกว่าเจ้าอาวาสบางรูปเสียอีก
..........การให้การยอมรับนับถือ "ปู่จ๋าน" ของภาคเหนือปรากฎดังคำสุภาษิตที่คุ้นหูว่า "น้อยบ่ดีเป็นอาจ๋าน หนานบ่ดีเป็นจ่างซอ" ความหมายคือ "น้อย" คือผู้ที่เคยเป็นแค่เณร ความรู้ยังน้อยไม่ควรยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์วัด ส่วน "หนาน" คือผู้ที่บวชเป็นพระมาแล้ว ถือว่ามีความรู้มากควรยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์วัด ไม่ควรให้ไปเป็นช่างซอซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมก็เป็นกันได้
..........ผมได้พบปู่จ๋านคนหนึ่งในงานพิธีสวดศพ เป็นปู่จ๋านวัดเมืองกาย ชื่อ ร.ต.ต.ศรีหมื่น เจริญสุข รับนิมนต์รับผิดชอบทั้งบ้านเมืองสาตร์น้อย เมือนสาตร์หลวง บ้านเสาหิน บ้านสันป่าเลียง
..........สอบถามปู่จ๋านวัดเมืองกายและปู่จ๋านวัดอื่น ๆ หลายคนสรุปได้ความว่า ผู้ที่จะเป็นปู่จ๋าน ประจำวัดได้ น่าจะต้องมีองค์ประกอบคือ
..........1. เคยบวชเรียนมาแล้ว หากไม่เคยบวชเรียนมาเป็นปู่จ๋าน ไม่ได้เพราะจะไม่มีความรู้ด้านพิธีการทางศาสนาและขาดความเชื่อถือจากชาวบ้าน
..........2. ต้องมีความประพฤติดี คือ อย่างน้อยต้องประพฤติดีที่เรียกว่า น้อง ๆ พระ ประพฤติดีอย่างไรนั้น คงเป็นความดีทั่วไปที่ยอมรับกัน เช่น ไม่ดื่มเหล้าเมายา ไม่เสเพลประพฤติผิดทางชู้สาว กล่าวคือ น่าจะหมายถึงประพฤติในศีล 5 ข้อ รวมทั้งความประพฤติอื่น ๆ เช่น มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ติฉินนินทา ใจเย็น เป็นที่น่าเคารพ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านอื่นได้ เป็นต้น
..........3. ต้องเป็นผู้นำได้ กล้าแสดงออก คือ ผู้นำด้านพิธีสงฆ์ และผู้นำพิธีกรรมชาวบ้านได้
..........4. ต้องคล่อง ผู้รู้บอกว่า ต้องมีคุณสมบัติคล่องแคล่ว หากเชื่องช้าก็จะเป็นปู่จ๋านไม่ได้
..........5. ต้องสละเวลาส่วนตัว และต้องมาอยู่ที่วัด เรื่องนี้ก็สำคัญ ปู่จ๋านต้องมาประจำอยู่ที่วัด เพื่อที่หากมีชาวบ้านมาติดต่อให้ไปประกอบกิจกรรมศาสนาที่บ้านต้องพร้อมที่จะรับงานได้ หากมีภาระที่บ้านต้องออกไปประกอบอาชีพทำมาหากินคงทำงานนี้ไม่ได้ ดังนั้นปู่จ๋านจะต้องประจำอยู่ที่วัด เพื่อคอยรับงานจากชาวบ้าน
..........การจะเปลี่ยนตัวปู่จ๋าน นั้นขึ้นอยู่กับความประพฤติส่วนหนึ่ง หากความประพฤติไม่เรียบร้อยกรรมการวัดก็สามารถเปลี่ยนตัวได้ หรือหากอายุมากแล้วก็เปลี่ยนตัวได้ ด้านอายุนั้นไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องมีอายุเท่าไหร่จึงเลิกทำหน้าที่ แต่ขึ้นอยู่กับความจำ ไม่หลงลืม ปู่จ๋านบางคนอายุมากและเริ่มหลงลืมก็มักถูกเปลี่ยนตัว ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อมักมีการวางตัวไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครมีความเหมาะสม
..........ภาคกลางเรียกผู้ทำหน้าที่เหมือนปู่จ๋านนี้ว่า "มัคทายก" คุณสมบัติไม่แตกต่างกัน คือ ต้องบวชเรียนมาแล้ว มีความประพฤติดี เป็นผู้นำได้
..........แต่ข้อหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความแตกต่างระหว่างปู่จ๋านของภาคเหนือ กับมัคทายกของภาคกลาง คือ ข้อ 5 ที่ว่ามัคทายกต้องประจำอยู่ที่วัดเผื่อว่าจะมีผู้มานิมนต์ไปทำกิจทางศาสนา มัคทายกทางภาคกลางไม่จำเป็นต้องประจำอยู่วัด อยู่ที่บ้านทำมาหากินไปตามปกติ หากมีชาวบ้านจะจัดงานทำบุญ งานศพ ก็มาตามได้ที่บ้าน แม้ไม่ได้อยู่วัดก็ต้องมีความพร้อมพอสมควร ผู้ที่รับหน้าที่มัคทายกมักต้องพอมีฐานะอยู่บ้าง คือ ไม่ต้องทำงานก็มีเหลือกินแล้ว แม้จะไม่มีรายได้แต่ก็ได้รับเกียรติจากสังคมที่แตกต่างกันในส่วนสำคัญ คือ ผู้ที่บวชเรียนแล้วทางภาคกลางนั้นมีมากมายเพราะเป็นประเพณีที่ชายอายุ 20 ปีต้องบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ ดังนั้นคนที่ผ่านการบวชเรียนหรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า "หนาน" นั้นมีมากมาย ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นมัคทายกได้จึงมีให้เลือกมาก ซึ่งน่าจะต้องมีให้เลือกมากกว่าทางภาคเหนือที่การบวชพระไม่ใช่ประเพณีโดยตรง
..........แต่เมื่อสอบถามปู่จ๋านบางคนก็บอกว่าบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัด อาจจะอยู่ที่บ้าน คอยให้ชาวบ้านที่มีงานมาตามไปช่วยงาน เช่น งานศพเมื่อรู้ก็ต้องไปที่บ้านเจ้าภาพ จัดการด้านพิธีกรรม รวมทั้งกำหนดวันที่ฤกษ์ดีในวันเผาศพ
..........น่าสนใจตรงที่อาจารย์มณี พยอมยงค์ ให้ความหมายของปู่จ๋านประการหนึ่งที่ว่า สมัยก่อนชาวบ้านจะนำข้าวสารมามาอบให้ปู่จ๋านเพื่อใช้ครองชีพไม่ต้องไปเสียเวลาทำนา บ่งบอกว่าทางภาคเหนือให้ความสำคัญกับหน้าที่ของปู่จ๋านมากและมีความจำเป็นต้องอาศัยปู่จ๋านจะขาดเสียมิได้
..........จึงเสมือนว่า ปู่จ๋าน จะประกอบอาชีพเหมือนกับชาวบ้านอื่น ๆ ไม่ได้ จึงมีคำถามว่า แล้วปู่จ๋าน จะอยู่อย่างไร มีรายได้เพียงพอกับการครองชีพหรือไม่?
..........สอบถามปู่จ๋านหลายคนบอกว่า ค่าครองชีพพออยู่ได้ แต่ก็แยกเป็นพื้นที่ เช่น ปู่จ๋านวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ ซองปัจจัย (เงิน) มักได้เท่ากับพระ เช่น ถวายปัจจัยให้พระ 300 บาท ก็ถวายปู่จ๋าน 300 บาทด้วยเช่นกัน ดังนั้นหน้าซองก็ไม่ต้องหมายเหตุไว้ว่าถวายพระหรือถวายปู่จ๋าน แต่ปู่จ๋านอำเภอรอบนอกมักได้น้อยและมักไม่เพียงพอที่จะยังชีพได้ เช่น ปู่จ๋านที่อำเภอหางดง บอกว่ามักได้น้อยกว่าพระอาจได้สัก 100 บาทหากถวายพระ 300 บาท ดังนั้นที่หน้าซองจะต้องหมายเหตุว่า "ของอาจารย์" เพื่อมิให้สับกับซองถวายพระ
..........การรับซองปัจจัยนี้ เป็นอีกข้อหนึ่งที่เป็นความแตกต่างของภาคเหนือและภาคกลาง
..........มัคทายกภาคกลาง ไม่รับซองปัจจัย และชาวบ้านทั่วไปก็รู้ว่าไม่ต้องเตรียมปัจจัยใส่ซองมอบให้มัคทายก อาจดูเหมือนกับว่ามัคทายกทางภาคกลางมีความสำคัญทางด้านสังคมน้อยกว่า "ปู่จ๋าน" ทางภาคเหนือ
..........คราวเมื่อไปร่วมงานศพญาติเมื่อไม่นานมานี้ที่จังหวัดจันทบุรีมัคทายกที่มาช่วยงานศพ เป็นคนในหมู่บ้านที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วหลายพรรษาจนเกือบเป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้ว ต่อมาสึกมาแต่งงานใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป หากชาวบ้านมีงานพิธีสงฆ์ ก็จะไปขอให้มาช่วยงานทำหน้าที่จัดที่นั่งของพระที่จะมาสวด ซึ่งความจริงหน้าที่นี้ชาวบ้านแทบทุกคนก็จัดได้หมด เพราะส่วนใหญ่ผ่านการบวชมาแล้ว หน้าที่หลักคือ การอาราธนาศีล อาราธนาธรรม หลังจากนั้นก็หมดหน้าที่
..........ภาระหน้าที่มีไม่มากและชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ผ่านการบวชมาแล้วแทบทั้งสิ้น จึงดูเหมือนสังคมทางภาคกลางไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัคทายกมากนัก หากมัคทายกติดธุระจำเป็นจริง ๆ ก็อาจไหว้วานใครคนใดคนหนึ่งที่อาวุโสพอมาช่วยอาราธนาศีล อาราธนาธรรมแทนได้ แต่หากเป็นปู่จ๋านทางภาคเหนือ คงหาคนมาแทนเช่นนั้นไม่ได้ และปู่จ๋านย่อมมีความรู้ทางพิธีสงฆ์มากกว่าคนอื่นเพราะคนอื่นไม่ได้บวชเรียนมา
..........ด้วยเหตุว่ามัคทายกทางภาคกลางหน้าที่มีไม่มาก และความสำคัญมีน้อย ภาคกลางจึงไม่ต้องมอบซองปัจจัยให้ อีกทั้งไม่ต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ใส่ถังใส่ลังไว้ให้มัคทายกเหมือนที่เตรียมไว้ให้ปู่จ๋านอีกชุดหนึ่งนอกเหนือจากถวายพระ
..........มัคทายกที่กล่าวถึงเป็นชุมชนที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีเท่านั้น ท้องที่อื่นอาจแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าคล้ายคลึงกันดังที่กล่าวมาข้างต้น
..........ความแตกต่างสำคัญระหว่างปู่จ๋านของภาคเหนือกับมัคทายกของภาคกลางอีกประการหนึ่ง คือ ปู่จ๋านต้องทำหน้าที่ด้านอื่นด้วยที่ไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ คือ ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีส่งเคราะห์ พิธีสะเดาะเคราะห์
..........พิธี "ส่งเคราะห์" ปู่จ๋านของวัดเกตการามเล่าเรื่องพิธีนี้ว่า "เป็นความเชื่อของชาวบ้านมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่เกิดโทษหรือความเสื่อมเสียต่อชุมชน เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้หมดไป ชาวบ้านก็จะมาขอให้ทำพิธี คือ ขอให้ไปส่งสะตวงให้หน่อย ส่วนใหญ่จะไม่สบาย เมื่อไปให้หมอเข้าทรงดู (หมอพื้นบ้าน) มักทักว่าไปที่นั่นที่นี่มาและถูกผีทักให้เราตกใจ เช่น เดินไปที่ต้นไม้ใหญ่ นางไม้ไม่ได้กินอะไรก็มาทักเรา เราจะสะดุ้ง จิตไม่สบายและทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องไปหาปู่จ๋านให้ทำพิธีกรรมทำสะตวง อาจจะไม่ใช่ปู่จ๋านก็ได้ ไปหาคนที่เคยบวชเรียนแล้วก็ได้
.........."ก็ต้องทำสะตวงส่งไป มีคำกล่าวเป็นภาษาเมืองอาจเรียกว่าคาถาก็ได้ ในสะตวงจะมีของเซ่นไหว้ เช่น บุหรี่ เมี่ยง หมาก พลู ข้าวต้ม ขนม เนื้อสุก บางทีผีที่ทักอยากกินเนื้อดิบ ปลาดิบ ก็ใส่ไป ขึ้นอยู่กับที่หมอดูทักไว้ เช่น คนนี้ป่วยเพราะเดินไปทิศใต้ ไปสะดุ้งต้นไม้ใหญ่มาทักเราอยากจะกินจิ้นลาบ แกงอ่อม ไก่คู่ เหล้าขาวก็มี ก็ต้องใส่ไปในสะตวง"
..........ปู่จ๋าน วัดหนองบัว ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง ชื่อพ่อหนานหวาน ศรีกันทา ให้ข้อมูลด้านการส่งเคราะห์เพิ่มเติมว่า
.........."สิ่งของในกระทงเรียกว่า เครื่องสี่ คือ ต้องมี 4 ชิ้น คือ ข้าว 4 แกงส้มแกงหวาน 4 บุหรี่ 4 เมี่ยง 4 หมาก 4 เทียน 4 กล้วยอ้อย 4 มีน้ำขมิ้นส้มป่อย มีจ้อหรือธงสีขาวสามเหลี่ยมปักในกระทง ใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปสัตว์ตามราศีของเจ้าของพิธี และใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปเทวดา พิธีกรรมไปทำที่บ้านของเจ้าของพิธี มีการกล่าวคาถาใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ หลังจากนั้นก็ผูกข้อมือและทำพิธีปัดเคราะห์ คือ ให้เจ้าของพิธีแบมือทั้งสองข้างและใช้ด้ายสายสิญจน์ปัดที่ฝ่ามือออกมานอกตัวและกล่าวคาถาเป็นอันจบ ค่าส่งเคราะห์ เรียกว่า ค่าขันตั้ง เป็นเงิน 36 บาท"
..........ดังนั้นรายได้ของ "ปู่จ๋าน" นอกจากเงินที่ได้จากเจ้าภาพมอบให้แล้ว เงินค่าครองชีพอีกส่วนหนึ่งได้จากการทำพิธีให้ชาวบ้าน เช่น พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ สำหรับงานมงคลต่าง ๆ หรือ พิธีส่งเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์
..........ปู่จ๋านประจำวัดในตัวเมืองเชียงใหม่บอกว่า "พออยู่ได้" ปู่จ๋านประจำวัดต่างอำเภอ (อำเภอหางดง) บอกว่า "ยากที่จะพอใช้" การรับหน้าที่ปู่จ๋านประจำวัด บางแห่งบอกว่าจำยอมเป็นปู่จ๋านเพราะชุมชนผลักดันให้เป็น ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวมาก ไม่ได้ทำงานหารายได้ หากมีคนอื่นเป็นแทนจะเลิก
..........ดังนั้นผู้ที่จะเป็นปู่จ๋านจะต้องมีจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือสังคม หรือชุมชนส่วนหนึ่งด้วย และหากมีอาชีพอื่นที่ทำรายได้ให้มากกว่าการเป็นปู่จ๋าน ก็คงไม่อยากเป็นปู่จ๋านเพราะต้องสละเวลาอีก ทั้งต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ หากชาวบ้านมาแจ้งให้ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
..........หน้าที่ของปู่จ๋านทางภาคเหนืออีกประการหนึ่ง คือ การจัดงานศพ ปู่จ๋านจะต้องไปจัดการเกี่ยวกับงานศพ ตั้งแต่การแนะนำเจ้าภาพ การจัดใส่โลงเรื่อยไปจนถึง "เสียศพ" ที่ภาคกลางเรียกว่า "ปลงศพ" หรือภาษาเขียนว่า "ฌาปนกิจศพ"
..........หน้าที่ดังกล่าวทางภาคกลางเป็นหน้าที่ของ "สัปเหร่อ" โดยชัดแจ้ง ตั้งแต่การนำศพจากโรงพยาบาลกลับมาบ้านใส่โลง จนถึงพิธีที่วัดและที่ป่าช้า รุ่งขึ้นต้องทำพิธีเก็บอัฐิมอบให้ญาติ เป็นอันเสร็จพิธี เสร็จพิธีเจ้าภาพใส่ซองปัจจัยให้ 3,000-5,000 บาท รายได้พอครองชีพได้สบาย "สัปเหร่อ" มักสืบทอดจากรุ่นพ่อมารุ่นลูก อาจถือได้ว่าเป็นอาชีพหนึ่ง
..........จึงดูเหมือนว่า "ปู่จ๋าน" ของเราทำหลายหน้าที่อยู่เหมือนกัน ทั้งทำหน้าที่เป็น "มัคทายก" แบบทางภาคกลาง ทำหน้าที่ส่งเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ อีกทั้งต้องทำหน้าที่เป็น "สัปเหร่อ" อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น