วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เล่นดนตรี

เล่นดนตรี

..........ในภาษาไทยเราอาจพูดได้ว่าเล่นดนตรี เช่นถามคนหนึ่งว่าเล่นดนตรีเป็นไหม?
แต่ในภาษาอังกฤษแทนที่จะพูดว่า to play music
เขามักจะพูดว่า to play a (musical) instrument คือเล่นเครื่องดนตรี
อันที่จริงในภาษาไทยเมื่อพูดว่าเล่นดนตรีเราก็หมายถึงเล่นเครื่องดนตรีเหมือนกัน
แต่ในภาษาอังกฤษถ้าหมายความว่าทำดนตรีหรือทำเพลงก็อาจใช้คำว่า to make music ได้
อย่างไรก็ดีคำว่า music นั้น มีความหมายหลายอย่างคือ
หมายถึง ดนตรีในความหมายทั่วๆ ไปก็ได้ หรือหมายถึงบทเพลงก็ได้
ถ้าหมายถึงบทเพลงก็อาจจะพูดได้ว่า Can you play that music?
ท่านเล่น (บท) เพลงนั้นได้ไหม?
He played the music with feeling.
เขาเล่นเพลงนั้นด้วยความรู้สึก

To perform on
..........ในภาษาอังกฤษ การที่จะพูดว่าเล่นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งชนิดใดนั้นใช้กริยา to play
และคำว่าเครื่องดนตรีนั้นต้องมีคำนำนาม the ประกอบอยู่
เช่น to play the piano,
to play the flute
จะใช้ว่า to play piano, to play violin, to play flute เฉยๆ โดยไม่มี the ไม่ได้
ถ้าไม่อยากใช้กริยา to play ก็ยังมีกริยาอีกคำหนึ่ง คือ to perform
เช่น to perform on the violin, to perform on the flute
แต่กริยานี้ต้องใช้กับบุพบท on คือจะพูดว่า to perform the violin ไม่ได้

..........นอกจากนั้นยังมีกริยาที่บ่งว่าเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดโดยเฉพาะ
เช่น to fiddle สีซอ, to strum เล่นแบนโจหรือเปียโน
แต่กริยา to strum นี้มักหมายถึงเล่นอย่างไม่จริงจัง หรือไม่มีฝีไม้ลายมือนัก,
to blare out เป่าแตรเสียงดัง เช่น trumpet เป็นต้น

..........ทีนี้ก็มีปัญหาว่าถ้าจะพูดว่า
"เล่นเพลงนั้นเพลงนี้ด้วยเครื่องดนตรีชนิดนั้นชนิดนี้" ในภาษาอังกฤษจะใช้อย่างไร
เช่น เล่นเพลงเขมรไทรโยคด้วยเปียโนอย่างนี้ในภาษาอังกฤษจะใช้ว่า
to play Kamen Saiyoke on the piano ขอให้สังเกตว่าใช้บุพบท on ไม่ใช่ with

Solo
..........การเล่นดนตรีนั้นอาจเป็นการเล่นทั้งวงหรือเล่นเดี่ยวก็ได้
การเล่นเดี่ยวนั้นเรียกว่า solo เช่นเดี่ยวระนาด xylophone solo, เดี่ยวขลุ่ย flute solo เดี่ยวไวโอลิน violin solo เป็นต้น
ที่เรียกว่าเดี่ยวนั้นอาจมีดนตรีอื่นเล่นคลอบ้างก็ได้ เช่น เดี่ยวไวโอลินก็มักมีเปียโนเล่นคลอ หรือในดนตรีไทยเดี่ยวขลุ่ยก็อาจมีฉิ่งเล่นประกอบ อย่างนี้ก็ยังถือเป็นการแสดงเดี่ยว
ผู้แสดงดนตรีเดี่ยวก็เรียกว่า soloist

To accompany
..........ส่วนการเล่นคลอนั้นในภาษาอังกฤษเรียกว่า to accompany
เช่น He accompanies the violinist at the piano เขาเล่นเปียโนคลอผู้เล่นไวโอลิน
ขอให้สังเกตการใช้บุพบท at ในกรณีนี้ด้วย การเล่นคลอเช่นนี้เรียกว่า accompaniment ส่วนผู้เล่นคลอเรียกว่า accompanist
การเล่นดนตรีคลอนั้นบางทีก็เป็นการคลอนักร้อง
ฉะนั้นถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษว่าร้องโดยมีเปียโนเล่นคลอก็ว่า to sing to a piano accompaniment
หรือถ้าจะพูดว่า เธอร้องโดยมีเขาเล่นไวโอลินคลอก็ว่า She sings to his violin accompaniment.

To play by ear
..........การเล่นดนตรีนั้นบางทีก็เล่นโดยไม่ต้องมีโน้ตเพลงอย่างดนตรีไทย
อย่างนี้เรียกว่า to play by ear หรือ to play from memory คือเล่นโดยการใช้ความจดจำติดหู
ฝรั่งเรียกว่าเล่นโดยใช้หู ฝรั่งถือว่าหูเป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกันในเรื่องดนตรี
คนที่ไม่รู้เรื่องดนตรีเลยหรือฟังดนตรีไม่รู้ว่าเพราะหรือไม่เพราะอย่างไรจึงเรียกว่า to have no ear for music.

Musical score
..........แต่การเล่นดนตรีแบบฝรั่งต้องอาศัยโน้ตเพลงตั้งไว้ตรงหน้า
คำว่าโน้ตเพลงนี้ฝรั่งเรียกว่า musical score หรือ score เฉยๆ หรือบางทีก็เรียกว่า music มิได้เรียกว่า note ซึ่งแปลว่าตัวโน้ตเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าพูดกับฝรั่งว่า I play tune without notes ฝรั่งจะงง
ที่แท้จะต้องพูดว่า without the music หรือ without the score
เพราะถ้าพูดว่า without notes ฝรั่งอาจจะคิดว่าถ้าเล่นไม่ถูกโน้ตจะเล่นได้อย่างไร
คำว่า music ซึ่งแปลว่าโน้ตเพลงในที่นี้อาจทำให้งงเหมือนกัน แต่เป็นความหมายพิเศษของคำว่า music ฉะนั้นที่วางโน้ตเพลงจึงเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า music-stand.

To tune up
..........ก่อนที่วงดนตรีจะเล่นมักมีการลองเสียงเสียก่อนว่ามีเสียงถูกต้องได้ที่หรือยัง
เช่น ซอก็จะต้องมีการปรับสายไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป เสียงจะได้ไม่เพี้ยน
การลองเสียงเช่นนี้เรียกว่า to tune up
เรื่องลองเสียงนี้ฝรั่งมีเรื่องขำที่มักจะเล่าสู่กันฟังว่า มีจ้าวต่างประเทศองค์หนึ่งเข้าไปฟังดนตรีในเมืองอังกฤษ หลังจากที่ฟังจนจบแล้วผู้ที่เป็นเจ้าภาพพาไป ถามว่า ที่ฟังมาแล้วนั้นพอพระทัยเพลงไหนบ้าง ก็รับสั่งตอบว่าพอพระทัยเพลงแรกทีเดียว คือตอนที่เสด็จเข้ามา หมายถึงตอนที่วงดนตรีกำลังลองเสียงอยู่ยังไม่ได้เริ่มเล่น เรื่องนี้เท็จจริงแค่ไหนอยู่ที่ฝรั่งเจ้าของนิทาน

To play
..........คำกริยา to play นั้นใช้กับแผ่นเสียงก็ได้ คือเล่นแผ่นเสียงก็ใช้ว่า to play a (gramophone) record
นอกจากนั้นในภาษาอังกฤษ ถ้าหมายถึงเล่นเพลงที่คนนั้นคนนี้แต่ง ก็มีวิธีพูดรวบรัด
คือไม่ต้องพูดว่าเพลงของคนนั้นคนนี้ แต่ออกชื่อผู้แต่งเพลงเลย
เช่น Will you play me some Tchaikovsky? โปรดเล่นเพลงไชค้อฟสกี้ให้ฟังสักเพลงหนึ่งเถิด
เพราะฉะนั้นเราก็อาจพูดว่า We are going to play some Ua Soontornsanan. หรือ some Phra Chen Duriyang. หรือ some Mom Luang Puangroi.
นอกจากนั้นคำว่า play จะใช้กับหีบเสียงหรือที่สมัยนี้เรียกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียง (gramophone) ก็ได้
คือใช้ว่า to play the gramophone ก็หมายถึงไขหีบเสียงนั่นเอง อย่างที่เมื่อถูกคนถามว่าเล่นดนตรีเป็นไหมก็อาจตอบว่า I can only play the gramophone.

Tattoo
..........นอกจากนั้นยังมีคำที่น่ารู้เกี่ยวกับเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีต่างๆ
เช่นคำว่า tattoo ซึ่งแปลว่า การรัวกลอง เช่น to beat a tattoo
แต่การรัวกลองที่เรียกว่า tattoo นี้ มีความหมายพิเศษ คือ เป็นสัญญาณเรียกทหารกลับเข้ากรมกอง
นอกจากนั้นยังหมายถึง การสวนสนามของทหารในเวลากลางคืน ซึ่งมีแตรวงบรรเลงด้วย ซึ่งเป็นพิธีการของทหารอังกฤษอย่างหนึ่ง
..........คำนี้เอามาใช้เป็นสำนวนก็ได้ เช่น He beat a tattoo on the cover of a book with his fingers. เขาเอานิ้วมือเคาะปกหนังสืออยู่เรื่อยๆ
คำ tattoo นี้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคุ้นกันอยู่มากคือ การสัก หรือ รอยสัก
แต่ถ้ารู้แต่ความหมายนี้ ก็อาจทำให้แปลความหมายคำว่า to beat a tattoo เข้ารกเข้าพงไปก็ได้
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การรัวกลองอย่างธรรมดานั้นในภาษาอังกฤษใช้ว่า roll เช่น a roll on the drum คำนี้ใช้เป็นกริยาก็ได้ เช่น Drums rolled.

Fanfare
..........อีกคำหนึ่งก็คือ fanfare ซึ่งเราก็คุ้นกันอยู่เหมือนกัน ในความหมายกองฟันฟาร์ของโรงเรียน
แต่ความหมายทั่วไปของคำนี้ คือการเป่าแตรแปร๋ออกมาอย่างกึกก้อง เช่นในการต้อนรับบุคคลสำคัญเป็นต้น
ดังนั้น การประโคมแตรสังข์กระทั่งมโหรทึกเวลาในหลวงเสด็จ จึงเรียกว่า fanfare ได้

Flourish
..........คำที่มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ flourish เช่น a flourish of trumpets หมายถึง การเป่าทรัมเปตพร้อมกันดังกึกก้อง
แต่คำว่า flourish นี้ แปลว่า กวัดแกว่ง ก็ได้
เพราะฉะนั้นคำว่า a flourish of trumpets จึงอาจทำให้เข้าใจเขวไปว่าหมายถึงกวัดแกว่งแตรทรัมเปตไปได้อีกเหมือนกัน

To strike up
..........คำกริยาที่น่ารู้อีกตัวหนึ่งเกี่ยวกับการเล่นดนตรีก็คือ to strike up แปลว่าเริ่มเล่น เช่น The band has struck up วงดนตรีเริ่มเล่น
..........ทีนี้พูดถึงคนที่เล่นดนตรีชนิดต่างๆ ว่าจะเรียกอะไรในภาษาอังกฤษ นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้เหมือนกัน เพื่อความสะดวกสำหรับนักศึกษา จะได้รวบรวมมาไว้ดังต่อไปนี้
Organist                                      คนเล่นออแกน
pianist                                         คนเล่นเปียโน
flutist                                           คนเป่าขลุ่ย
violinist                                        คนเล่นไวโอลิน
violoncellist (มักย่อว่า cellist)       ผู้เล่นเช็ลโล่
trombonist                                    ผู้เล่นแตรทรอมโบน (แตรชัก)
clarinetist                                     ผู้เป่าขลุ่ยแคลริเน็ต
drummer                                     คนตีกลอง
bugler                                         คนเป่าแตรเดี่ยว, ทหารแตรเดี่ยว
trumpeter                                    คนเป่าแตรทรัมเปต
harper, harpist                            คนเล่นพิณ
fiddler                                        คนสีซอ (หมายถึงซอชนิดใดก็ได้)
..........คำที่ยกมานี้ล้วนเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายแล้วส่วนผู้เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นนั้นยังไม่ได้มีบัญญัติว่าให้ใช้อย่างไร แต่ก็อาจเรียกได้โดยเอาคำว่า player เติมท้ายเข้าไปเช่น accordian-player, saxophine-player หรือมิฉะนั้นก็เอา ist เติมท้ายโดยอนุโลม เช่น accordianist, guitarist.

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วัดศรีเกิด (สรีเกิด) วัดโบราณแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

วัดศรีเกิด (อ่าน "สะหลีเกิด" อ้างตามสารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ)


..........วัดศรีเกิด (สรีเกิด) จัดว่าเป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่
ตั้งอยู่ในบริเวณกำแพงเวียงชั้นใน เลขที่ 171 ตำบลพระสิงห์เขต 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 6 ไร่ 27 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย


..........ประวัติของวัดศรีเกิดไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด
แต่ชื่อวัดนี้ปรากฏใน "โคลงนิราศหริภุญชัย" ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ.2060
โดยปรากฏในบทโคลงที่ 12 ร่วมกับชื่อวัดทุงยูและวัดชัยปราเกียรติ์ (ชัยพระเกียรติ)
แต่จากหนังสือ "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร" กล่าวว่า วัดศรีเกิดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2339
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีนั้นเอง โดยมีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร



..........จากหนังสือ "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร" ปรากฏรายนามเจ้าอาวาสวัดบางท่านดังนี้
พระมหาสมเด็จปวัตตหลวงโพธิรุกขาพิชาราม
ครูบาพรหม
พระอธิการแก้ว
พระอธิการโม๊ะ
พระครูวิเชียรปัญญา (พ.ศ.2449-2498)
และพระครูขันตยาภรณ์ (พ.ศ.2448-ปีใดไม่ปรากฏ)



..........อาคารเสนาสนะของวัดศรีเกิดประกอบด้วยอุโบสถทรงล้านนา
ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ วิหารก่ออิฐถือปูนทรงล้านนา ศาลาอเนกประสงค์ซึ่งเป็นอาคารไม้เนื้อแข็ง และโรงฉัน
..........ชื่อของวัดศรีเกิดมีปรากฏอยู่ในตำนานวัดสวนดอกซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ "ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดารและตำนานวัดสวนดอก"
ดังนี้ คือ "เอกทิวสํ ยังมีในวันนึ่ง ออกวัสสาแล้ว พระพุทธเจ้าชวนเอาภิกขุสงฆ์ทั้งหลาย คือว่ามหาอานันทเถรและโสณุตตรเถรเป็นบริวาร...สั่งสอนคนและเทวดาตามนิคมราชธานี บ้านเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลายเป็นลำดับมาเถิงเมืองพิงค์ที่นี้แห่งหั้น... พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปถึงอโศการามคือวัดกิตติ ไว้พระบรมเกศาธาตุเส้นนึ่งหื้อแก่ลัวะผู้นึ่งในที่นั้นแล้วเสด็จมาวัด "พิชชาราม คือ วัดศรีเกิด" ไว้เกศาดวงประเสริฐเส้นนึ่งแก่ลัวะผู้นึ่ง..."
..........อนึ่ง ตามตำนานโบราณเล่าว่าวัดศรีเกิดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเกศาหนึ่งองค์ของพระพุทธเจ้า จึงถือเป็นปูชนียสถานโบราณสำคัญแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ในราชวงศ์มังรายสร้างขึ้นเทียบปางพุทธลักษณะของพระเจ้าแข้งคม คือเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยแบบลวปุระ ขนาดใหญ่มาก จุดสังเกตคือที่หน้าแข้งทำเป็นสัน ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มากองค์หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประมาณ 500 องค์



นอกจากนี้ ตรงส่วนพระเศียรของพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคมมีการบรรจุพระพุทธรูปแก้ว ทอง และเงิน  จากหอพระธาตุส่วนพระองค์ไว้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมเรียกว่า "พระป่าตาลน้อย" เพราะประดิษฐานอยู่ที่วัดชื่อดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 316 ปี และได้ย้ายเข้าไว้ที่วัดศรีเกิดเมื่อ พ.ศ.2342

..........วัดศรีเกิดมีไม้ศรีมหาโพธิ์ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นต้นโพธิ์ที่พระมหาเถรเจ้านำมาจากประเทศลังกา
แต่ไม่พบหลักฐานว่าได้นำมาปลูกในวัดศรีเกิดตั้งแต่เมื่อใด ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้นำต้นไม้ศาลพฤกษชาติซึ่งท่านได้รับมอบจากสวนลุมพินีวันสถาน ประเทศอินเดีย มาปลูก ณ วัดศรีเกิด

..........วัดศรีเกิดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสม่ำเสมอจากอุบาสกและอุบาสิกาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะจีนน้อยและแม่คำใส แต่ย่งฮวด ซึ่งร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ ทำการบูรณะวัดศรีเกิด เริ่มตั้งแต่การสร้างวิหารหลังปัจจุบัน การยกช่อฟ้าใบระกา การสร้างซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน ก่อสร้างกำแพงล้อมรอบวัด บูรณะพระเจดีย์องค์ใหญ่และเจดีย์เล็กทั้ง 4 มุม สร้างหอไตร 1 หลัง ซ่อมแซมโรงอุโบสถ สร้างหอระฆัง 1 หลัง ก่อสร้างกุฏิ หล่อพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรซื้อเสื่อจันทบูรปูวิหารพร้อมกับบริจาคตะเกียงแสงจันทร์ จัดใส่เพดานวิหารพร้อมกับกระเบื้องมุงหลังคา ติดตั้งไฟฟ้าเข้าวัด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เดินท่อแป๊บ แก้ไขหน้าต่างวิหาร ก่อสร้างอาสนะสงฆ์ สร้างศาลาธรรมสอนประชาชนและสร้างกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้ จนกระทั่งปัจจุบัน มีการจัดตั้งพิชชรามมูลนิธิวัดศรีเกิด โดยท่านพระครูวิเชียรปัญญาและพระครูขันตยาภรณ์ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ท่านพระครูทั้งสองถือว่ามีบทบาทต่อการพัฒนาวัดศรีเกิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระครูวิเชียรปัญญาเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีเกิดในปี พ.ศ.2459-2498 และพระครูขันตยาภรณ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีเกิดในปัจจุบัน