วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

รวมข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สังคมศึกษา 2

รวมข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สังคมศึกษา 2
******************************************
1. ข้อใดคือเกณฑ์ที่ใช้จำแนกรัฐออกเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม
          1. อาณาเขตของรัฐ
          2. จำนวนประชากรภายในรัฐ
          3. จำนวนรัฐบาลภายในรัฐ
          4. อำนายอธิปไตยของรัฐ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          - รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐที่มีรัฐบาลกลางเพียงแห่งเดียวเป็นผู้ใช้อำนายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐเดี่ยวมักเป็นรัฐขนาดเล็ก มีอาณาเขตไม่กว้างขวางนัก คนส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส เป็นต้น
          - รัฐรวม หมายถึง รัฐที่มีการปกครองโดยรัฐบาล 2 ระดับคือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ รัฐบาลกลางมีอำนาจควบคุมกิจการที่สำคัญของประเทศ เช่น การต่างประเทศ การทหาร ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจดูแลท้องถิ่นของตนเองอย่างเต็มที่ ประเทศรัฐรวมส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ ประชาชนมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมากคือ สหพันธรัฐสหรัฐ หรือสหภาพ เช่น สหพันธรัฐเยอรมัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
******************************************
2. แนวคิดเรื่อง "โลกพระศรีอาริย์" มีลักษณะสอดคล้องกับแนวคิดของชาติตะวันตกในเรื่องใด
          1. รัฐในอุดมคติ
          2. รัฐสวัสดิการ
          3. เสรีนิยม
          4. สังคมนิยม
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          แนวคิดเรื่อง "โลกพระศรีอาริย์" เป็นความเชื่อของชาวพุทธโดยเฉพาะนิกายมหายานที่เชื่อว่าโลกพระศรีอาริย์ คือ โลกแห่งความสุขสงบ สันติสุข ทุกคนเป็นคนดี มีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข สามารถเปรียบได้กับรัฐในอุดมคติของโธมัส มัวร์ (Sir Thomas More) ที่เขียนเรื่องสังคมนิยมยูโทเปีย (Utopia Socialism) โดยให้ข้อคิดถึงชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพที่ควรได้รับความสุข ความเสมอภาค ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม มีความอยู่ดีกินดี ไม่มีชนชั้น
******************************************
3. ประเทศใดมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี
          1. ฝรั่งเศส
          2. อินเดีย
          3. เปรู
          4. อินโดนีเซีย
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          - ประเทศฝรั่งเศสมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
          - ประเทศอินเดียมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย และเปรู
******************************************
4. ระบอบการปกครองแบบเผด็จการห้ามการดำเนินการตามข้อใด
          1. การเลือกตั้ง
          2. การลงทุน
          3. การประท้วง
          4. การตั้งพรรคการเมือง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ระบอบเผด็จการ เป็นการปกครองที่ยึดถือการใช้อำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ มากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน และใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามมิให้ประชาชนกระทำการประท้วงด้วยวิธีใดก็ตามโดยเด็ดขาด
******************************************
5. ข้อใดคือระบอบการปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ
          1. การปกครองระบอบเผด็จการอำนาจนิยม
          2. การปกครองระบอบเผด็จการทหาร
          3. การปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์
          4. การปกครองระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ลักษณะการปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินี คือ การปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หรือเผด็จการขวาจัด ให้ความสำคัญแก่ผู้นำอย่างยิ่ง เกิดขึ้นนับตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงจึงล้มเลิกไป
******************************************
6. ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการดำเนินการในข้อใดที่ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย
          1. การจัดตั้งกระทรวง
          2. การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล
          3. การจัดตั้งดุสิตธานี
          4. การเลิกทาส
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระองค์ทรงดำเนินการเลิกทาสเพื่อเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยทรงยึดหลักเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทรงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลาทั้งหมด 31 ปี
******************************************
7. ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่มีต่อรัฐในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
          1. ชำระภาษีอากรให้แก่รัฐ
          2. เชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองรัฐ
          3. เข้ารับการศึกษาตามที่รัฐกำหนด
          4. ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          บทบาทและหน้าที่ของประชาชนต่อรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่
          1. หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
          2. หน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย
          3. หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
          4. หน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร สืบสานศิลป์วัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          คำตอบในข้อ 1, 3 และ 4 เป็นหน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ข้อ 2 มิใช่แนวคิดตามระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยหน้าที่ของประชาชนมีปรากฎตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีแนวทางตามกระบวนการการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน
******************************************
8. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. เลือกจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว
          2. เลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมกันไม่เกิน 100 คน
          3. เลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มิใช่พรรคเดียวกันกับการเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
          4. ลงคะแนนเสียงโดยไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดเลย
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 2 วิธีคือ
          1. การเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน
          2. การเลือกแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง สามารถเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคแต่ละพรรค ซึ่งมีอยู่หลายพรรคการเมือง แต่ประชาชนสามารถเลือกได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น
******************************************
9. ข้อใดไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญา
          1. กฎหมายอาญาจัดอยู่ในประเภทกฎหมายมหาชน
          2. กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง
          3. การที่ผู้กระทำความผิดอาญาถึงแก่ความตายไม่ทำให้คดีอาญาระงับ
          4. การห้ามประกอบอาชีพบางอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญา
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชน ใช้บังคับเฉพาะการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในอาณาจักร ไม่มีผลย้อนหลัง มีพระราชบัญญัติบางประเภทเมื่อกระทำผิดแล้วต้องได้รับโทษทางอาญา เช่น กฎหมายจราจรทางบก การพนัน ป่าไม้ อาวุธปืน ยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น เมื่อมีการกระทำผิดทางอาญาจะได้รับโทษ แต่หากผู้กระทำผิดอาญาถึงแก่ชีวิตย่อมถือว่าคดีระงับ เพราะผู้กระทำผิดทางอาญาถือเป็นความผิดเฉพาะตัว
******************************************
10. คณะรัฐมนตรีมีอำนาจถวายคำแนะนำการบัญญัติกฎหมายใด
          1. รัฐธรรมนูญ
          2. กฎกระทรวง
          3. พระราชบัญญัติ
          4. พระราชกฤษฎีกา
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          พระราชกฤษฎีกา คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของประเทศ เพื่อกำหนดการต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญ หรือตามที่พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ หรือวาระระเบียบการต่าง ๆ ทางบริหาร โดยไม่ขัดขืนต่อกฎหมายอื่น
******************************************
11. นางสาวน้ำอ้อยได้ทำพินัยกรรมขณะมีอายุ 14 ปี ต่อมานางสาวน้ำอ้อยเสียชีวิตเมื่อมีอายุ 21 ปี พินัยกรรมที่ทำขึ้นมีผลใช้ได้หรือไม่
          1. พินัยกรรมเป็นโมฆะ เพราะอายุไม่ครบที่จะทำพินัยกรรมได้
          2. พินัยกรรมมีผลใช้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่นางสาวน้ำอ้อยได้ทำเองเฉพาะตัว
          3. พินัยกรรมเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ทำได้
          4. พินัยกรรมมีผลใช้ได้ เพราะนางสาวน้ำอ้อยเสียชีวิตในขณะบรรลุนิติภาวะแล้ว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          นางสาวน้ำอ้อยได้ทำพินัยกรรมขณะมีอายุ 14 ปี ซึ่งตามกฎหมายถือว่านางสาวน้ำอ้อยยังมิได้บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ดังนั้นพินัยกรรมของนางสาวน้ำอ้อยจึงถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้ได้
******************************************
12. สิทธิของบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อใด
          1. เมื่ออยู่ในครรภ์มารดานับตั้งแต่มารดาเริ่มตั้งครรภ์
          2. เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาด้วยความปลอดภัย
          3. เมื่อบิดามารดาแจ้งการเกิดต่อเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
          4. เมื่อบิดามารดารับรองว่าเป็นบุตร
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          สิทธิของบุคคลนับตั้งแต่การเริ่มมีชีวิต ทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาถือว่ามีสิทธิที่จะรักษาชีวิตของตน
******************************************
13. นาย ก ให้นาย ข ยืมเงินไป 50,000 บาท พอถึงกำหนดชำระคืนนาย ข ไม่ชำระคืน นาย ก ขู่ว่าจะฟ้องศาล นาย ข วิตกกังวลมาก ทำให้หัวใจวายตายในวันรุ่งขึ้น ดังนี้ นาย ก จะมีความผิดอย่างใดหรือไม่
          1. ผิด ฐานละเมิดทำให้นาย ข ตาย
          2. ผิด ทำให้นาย ข ตายโดยประมาท
          3. ผิด ทำให้นาย ข ตายโดยไม่เจตนา
          4. ไม่มีความผิด
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          จากกรณีนี้ นาย ก ให้นาย ข ยืมเงิน แต่นาย ข ไม่ให้คืนตามกำหนด นาย ก ขู่ว่าจะฟ้องศาล นาย ข วิตกกังวลมาก ทำให้หัวใจวายตายในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นนาย ก ไม่มีความผิด เพราะนาย ก ไม่มีเจตนาจะฆ่านาย ข แต่เหตุที่นาย ข ตายเป็นผลจากสุขภาพของนาย ข เอง กฎหมายจึงไม่สามารถเอาผิดกับนาย ก ได้
******************************************
14. ศาลใดเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากที่สุด
          1. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
          2. ศาลล้มละลาย
          3. ศาลแพ่ง
          4. ศาลภาษีอากร
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ศาลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คือ ศาลล้มละลาย ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น
******************************************
15. ข้อใดแสดงว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์สังคมชนิดอื่นมากที่สุด
          1. มนุษย์แบ่งงานกันทำมากกว่าสัตว์
          2. มนุษย์พึ่งพาอาศัยกันมากกว่าสัตว์
          3. มนุษย์มีระเบียบสังคมมากกว่าสัตว์
          4. มนุษย์เปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ได้มากกว่าสัตว์
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสัตว์อื่นตรงที่มนุษย์มีความสามารถในการสร้างสรรค์ระเบียบทางสังคมขึ้นมา และดำเนินชีวิตตามระเบียบแบบแผนที่สร้างขึ้นมานั้น ตลอดจนยังรู้จักพัฒนาสิ่งที่ตนสร้างขึ้นให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และถ่ายทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังด้วย
******************************************
16. การนั่งพับเพียบเปิบข้าวด้วยมือ กับการนั่งยอง ๆ พุ้ยข้าวด้วยตะเกียบ แสดงถึงสิ่งใด
          1. เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
          2. กระบวนการทางวัฒนธรรม
          3. ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม
          4. การกระจายทางวัฒนธรรม
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การนั่งพับเพียบเปิบข้าวด้วยมือ กับการนั่งยอง ๆ พุ้ยข้าวด้วยตะเกียบ แสดงถึงวิถีชีวิต (Way of Life) หรือแผนดำเนินชีวิต (Design for Living) ของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ถือว่าเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมที่สมาชิกสามารถเรียนรับถ่ายทอดไปด้วยทางตรงและทางอ้อมและกลุ่มคนสามารถเลือกใช้ ปรับปรุง รักษา หรือเลิกใช้ได้
******************************************
17. วัฒนธรรมส่วนใดกำหนดและชี้นำพฤติกรรมของคนไทยในสังคมโดยตรง
          1. โลกทัศน์
          2. ค่านิยม
          3. วิถีประชา
          4. กฎหมาย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่คนสนใจ สิ่งที่คนปรารถนาจะได้ ปรารถนาจะเป็น หรือกลับกลายมาเป็นสิ่งที่คนถือว่าเป็นสิ่งบังคับ ต้องทำต้องปฏิบัติ เป็นสิ่งที่คนบูชายกย่อง และมีความสุขที่จะได้เห็น ได้ฟัง ได้เป็นเจ้าของ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เป็นจุดประสงค์ของสังคม ชี้นำพฤติกรรมของคนไทยในสังคมโดยตรง เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมอยากจะดำเนินไปถึงจุด ๆ นั้น เช่น ความร่ำรวย การมีตำแหน่งทางราชการ
******************************************
18. สถาบันทางสังคมใดทำหน้าที่กำหนดสถานภาพของบุคคลในสังคม
          1. ครอบครัว
          2. การศึกษา
          3. เศรษฐกิจ
          4. การเมืองการปกครอง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุด สถาบันครอบครัวจะมอบสถานภาพให้แก่บุคคลนับตั้งแต่เกิดจากครรภ์มารดา เป็นสภาพที่ได้มาโดยกำเนิด เช่น บุคลิกภาพ ความเป็นเพศหญิง เพศชาย วงศ์สกุลใด เชื้อชาติใด เป็นต้น
******************************************
19. การเสนอข่าวเปิดโปงการกระทำผิดของบุคคลต่าง ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์และทางโทรทัศน์ เป็นกลไกการจัดระเบียบทางสังคมแบบใด
          1. วิถีประชา
          2. บทบาท
          3. หน้าที่
          4. การขัดเกลาทางสังคม
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเสนอข่าวของกลุ่มสื่อมวลชนผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ เป็นต้น เป็นบทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่ สิทธิ ตำแหน่ง หรือสถานภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งบทบาทเป็นกลไกการจัดระเบียบทางสังคมอย่างหนึ่งด้วย
******************************************
20. ค่านิยมในสังคมไทยข้อใดสมควรได้รับการแก้ไขเพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
          1. ฝนทั่งให้เป็นเข็ม
          2. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
          3. คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
          4. ชีวิตเป็นไปตามกรรมที่ทำไว้
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ค่านิยมในสังคมไทยที่เห็นว่า "ชีวิตเป็นไปตามกรรมที่ทำไว้" ควรได้รับการแก้ไขเพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เพราะถ้าผู้นำหรือประชาชนมีความเชื่อเรื่องของผลที่ได้รับเป็นเพราะกรรมของตนเอง ตัวอย่างเช่น "การที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ เป็นเพราะกรรมของประเทศของเรา เราควรยอมรับชะตากรรมนั้นเสีย" ก็จะทำให้การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเป็นไปได้ยาก
******************************************
21. ข้อใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาสังคมได้ดีที่สุด
          1. จัดตั้งหน่วยงานสำหรับแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ
          2. ออกกฎหมายให้เข้มงวดและชำระโทษอย่างเด็ดขาด
          3. กำหนดวิธีการแก้ปัญหาให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพ
          4. ปลูกฝังจิตสำนึกและความรับผิดชอบด้วยการให้การศึกษาและอบรม
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          วิธีการแก้ปัญหาสังคมได้ดีที่สุดคือ สมาชิกในสังคมยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนกฎเกณฑ์ หรือคตินิยมที่สังคมกำหนดไว้ โดยการให้การศึกษา อบรม เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการเคารพกฎและกติกาของสังคม
******************************************
22. ข้อใดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
          1. ระบบเครือญาติมีความสำคัญน้อยลง
          2. การนำระบบเงินตรามาใช้ในการแลกเปลี่ยน
          3. ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวมีน้อยลง
          4. การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสตรีภายหลังจากการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ สาเหตุหลักเนื่องจากปัญหาที่มนุษย์ประสบ ประกอบกับความต้องการของมนุษย์เปลี่ยนไป เช่น การเปลี่ยนความเชื่อเรื่องบทบาทของสตรี ในสังคมเกษตรกรรมเชื่อว่าสตรีต้องเป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ดูแลงานเฉพาะภายในบ้าน คอยปรนนิบัติสามี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน สตรีจึงเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ค่านิยมแบบเก่า และหันเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน ทำให้ปัจจุบันผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ดังนั้นคำตอบข้อ 4 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนที่สุด
******************************************
23. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ของไทย ได้ปรับทิศทางและกระบวนการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้นข้อใด
          1. เน้นการพัฒนาประชาธิปไตยและคุณภาพประชากร
          2. เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
          3. เน้นการพัฒนาทุกด้านให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยมีคนเป็นเป้าหมายหลัก
          4. เน้นการพัฒนาเป็นด้าน ๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการเมือง การพัฒนาคุณภาพประชากร เป็นต้น
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          จุดมุ่งหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ของไทย ได้ปรับทิศทางและกระบวนการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้นการพัฒนาคนและสังคม ดังนั้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของการพัฒนาคนและคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างแท้จริง
******************************************
24. ข้อใดเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดที่พระเยซูทรงประกาศแก่ปวงชน
          1. "อย่าฆ่าคน"
          2. "อย่าคิดมิชอบ"
          3. "จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง"
          4. "จงนมัสการพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว"
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำสอนที่สำคัญที่สุดที่พระเยซูทรงประกาศแก่ปวงชน คือ "จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง" ซึ่งพระองค์เน้นเกี่ยวกับการให้มีความรัก ความเมตตา กรุณา เสียสละ และให้อภัยเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
******************************************
25. ทำไมศาสนาอิสลามจึงห้ามมุสลิมบูชาเครื่องรางของขลัง
          1. เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นความงมงายที่ไร้เหตุผล
          2. เพราะเครื่องรางของขลังเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
          3. เพราะเครื่องรางของขลังทำให้มองไม่เห็นพระเจ้า
          4. เพราะเป็นการ "ตั้งภาคี" เสมอกับพระอัลลอฮ์
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่า พระเจ้าคือผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งปวง อิสลามิกชนทุกคนจะต้องนับถือพระเจ้า การเชื่อหรือนับถือรูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นผิด เพราะเป็นการสร้างขึ้นมาเสมอด้วยพระเจ้า
******************************************
26. เพราะเหตุใดเผ่าอารยันในยุคพระเวทจึงยกย่องธรรมชาติว่าเป็นเทพเจ้า
          1. เพราะเชื่อว่าธรรมชาติมีความลี้ลับซับซ้อน
          2. เพราะเชื่อว่าธรรมชาติมีวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์
          3. เพราะเชื่อว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจจึงเกิดความหวาดกลัว
          4. เพราะเชื่อว่าธรรมชาติให้คุณและโทษแก่ผู้ที่นับถือได้
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          จากความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าอารยันในยุคพระเวท เชื่อว่าธรรมชาติมีวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์ เช่น พระวิษณุ (พระนารายณ์ = ผู้รักษา) พระพรหม (ผู้สร้าง) พระศิวะ (พระอิศวร = ผู้ทำลาย) พระอินทร์มีชีวิตดำเนินไปเช่นมนุษย์ และพระพายหรือพระวายุ (ลม) ก็มีวิญญาณมีชีวิตวิถีแบบมนุษย์ แต่เทพเจ้าทั้งหลายจะมีฤทธามากกว่ามนุษย์
******************************************
27. ข้อใดสอดคล้องกับ "กฎแห่งกรรม" ในพระพุทธศาสนา
          1. คนบางคนทำชั่วแต่ได้ดี
          2. ปลูกพืชใดย่อมได้ผลนั้น
          3. สรรพสิ่งดำเนินไปอย่างมีระเบียบ
          4. ความบังเอิญในชีวิตเกิดขึ้นตลอดเวลา
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          กฎแห่งกรรม คือผลของการกระทำของเรา หากทำสิ่งใดย่อมได้รับผลตามการกระทำนั้น ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ซึ่งสอดคล้องกับคำตอบข้อ 2 "ปลูกพืชใดย่อมได้ผลนั้น"
******************************************
28. ประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงข้อใด
          1. ได้ผลผลิตที่ต้องการตามเวลาที่กำหนด
          2. ได้ผลผลิตที่ต้องการโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
          3. ได้ผลผลิตมากที่สุดจากทรัพยากรที่กำหนด
          4. ได้ผลผลิตมากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ความมีประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์ คือ ความสามารถในการบริหารการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธภาพสูงสุด กล่าวคือ ประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้ได้ผลผลิตมากที่สุด และคุณภาพดี ผู้บริโภคพึงพอใจต่อสินค้าและบริการมากที่สุด
******************************************
29. ข้อใดเป็นลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
          1. ประชาชนได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง
          2. มีการดำเนินงานของเอกชนในรูปของสหกรณ์จำนวนมาก
          3. กลไกราคาเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
          4. รัฐเข้าควบคุมและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเป็นส่วนใหญ่
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้แก่
          1. เอกชนมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้อย่างเสรีตามกฎหมาย
          2. การดำเนินการผลิตเป็นของเอกชน
          3. กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปโดยผ่านกลไกของราคา
          4. กำไรเป็นเครื่องจูงใจในการประกอบการผลิต
          5. มีการแข่งขันในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ ราคา และบริการ
          6. ใช้ทุนสูงและเทคโนโลยีก้าวหน้า
******************************************
30. ข้อใดเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค
          1. การมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมากทำให้ราคาทุเรียนตกต่ำ
          2. วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก
          3. รัฐบาลเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
          4. รัฐบาลใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ขอบข่ายของเศรษฐศาสตร์ มี 2 ทฤษฎี คือ
          1. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro Econnomic Theory) เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นหน่วยย่อยในระดับบุคคล ครัวเรือน หรือหน่วยธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เช่น รายได้ของแต่ละบุคคล หรือผลผลิตสวนส้ม ซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งทางด้านการเกษตร
          2. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro Econnomic Theory) เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นส่วนรวมหรือมวลรวมระดับประเทศ เช่น ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อ รายได้ประชาชาติ อัตราการจ้างงานของประเทศ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น
******************************************
31. ข้อใดอธิบายความสัมพันธ์ตามกฎของอุปสงค์
          1. การที่ปริมาณเสนอซื้อแก๊สหุงต้มต่ำลงเป็นผลจากการประกาศขึ้นราคาแก๊สของรัฐ
          2. การที่กลุ่มประเทศโอเปคเข้าควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันเป็นผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น
          3. การที่ผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นผลให้ราคาเงาะสูงขึ้น
          4. การที่ปริมาณเสนอซื้อกาแฟ A ลดต่ำลงเป็นผลจากการที่ราคากาแฟ B ลดต่ำลง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          กฎของอุปสงค์ - ถ้าราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการลดน้อยลง ถ้าราคาสินค้าและบริการลดลง ความต้องการซื้อสินค้าและบริการจะสูงขึ้น กล่าวคือ ความสัมพันธ์ตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) แปรผกผันกับราคาสินค้าและบริการ ดังนั้นการที่ปริมาณเสนอซื้อแก๊สหุงต้มต่ำลง แสดงว่าปริมาณความต้องการซื้อสินค้าและบริการลดลง (อุปสงค์) เป็นผลมาจากการประกาศขึ้นราคาแก๊สของรัฐบาล
******************************************
32. ข้อความใดไม่ถูกต้อง
          1. ปริมาณเสนอซื้อและปริมาณเสนอขาย จะเป็นตัวปรับราคาสินค้าที่ไม่สมดุลให้เข้าสู่ดุล
          2. ราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขาย จะเป็นตัวปรับปริมาณสินค้าที่ไม่สมดุลให้เข้าสู่ดุล
          3. อุปสงค์ส่วนเกินและอุปทานส่วนเกิน จะเป็นตัวปรับราคาสินค้าที่ไม่สมดุลให้เข้าสู่ดุล
          4. อุปสงค์ส่วนเกินจะเป็นตัวปรับราคาสินค้าที่ไม่สมดุล และอุปทานส่วนเกินจะเป็นตัวปรับปริมาณสินค้าที่ไม่สมดุลให้เข้าสู่ดุล
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          กฎของอุปสงค์และกฎของอุปทานนั้นจะมีผลโดยตรงต่อราคาสินค้าและบริการ ดังนั้นปริมาณเสนอซื้อ (อุปสงค์) และปริมาณเสนอขาย (อุปทาน) จะมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าและบริการ ดังนั้นข้อความในตัวเลือกข้อ 1, 2 และ 3 ถูกต้อง แต่ตัวเลือกในข้อ 4 ไม่ถูกต้องเพราะอุปสงค์ส่วนเกิน (สินค้าขาดตลาด) และอุปทานส่วนเกิน (สินค้าล้นตลาด) จะเป็นตัวปรับราคาสินค้าและบริการที่ไม่สมดุลให้เข้าสู่ดุล
******************************************
33. การนำสินแร่เหล็กมาถลุงเป็นเหล็กก้อน และนำเหล็กก้อนมารีดเป็นแผ่น แล้วนำเหล็กแผ่นไปประกอบเป็นตัวถังรถยนต์ เป็นกระบวนการในข้อใด
          1. ผลิตสินค้าสนองความต้องการของผู้บริโภค
          2. ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิต
          3. สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
          4. พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          การนำสินแร่เหล็กมาถลุงเป็นเหล็กก้อน และนำเหล็กก้อนมารีดเป็นแผ่น แล้วนำเหล็กแผ่นไปประกอบเป็นตัวถังรถยนต์ เป็นกระบวนการสร้างอรรถประโยชน์โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสินค้าให้เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่ง นับได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
******************************************
34. รายรับใดไม่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ
          1. เงินได้ของนาย ก จากการไปทำงานในต่างประเทศ
          2. เงินได้ของนาย ข จากการทำงานเป็นบริกรในโรงแรม
          3. เงินได้ของนาย ค จากการให้โรงงานเช่าที่ดินมรดก
          4. เงินได้ของนาย ง จากการให้พ่อค้ากู้ยืมเงิน
เฉลยข้อ 4. เหตุผล
          รายได้ประชาชาติ (National Income = NI) หมายถึง มูลค่าของผลิตภัณฑ์ประชาขาติ หมายความถึงมูลค่ารวมของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นได้ในประเทศ และถือราคาตามท้องตลาดในขณะนั้น ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือหมายความถึงผลรวมของรายได้ทั้งหมดที่บุคคลทุกคนในประเทศได้รับ ซึ่งอยู่ในรูปของค่าเช่า ค่าจ้างและเงินเดือน ดอกเบี้ยและกำไรในระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นคำตอบข้อ 1, 2 และ 3 เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ส่วนคำตอบข้อ 4 ไม่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ
******************************************
35. หนี้ที่เกิดจากการที่รัฐบาลขายพันธบัตรให้ประชาชนเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย เรียกว่าอะไร
          1. หนี้ของกระทรวงการคลัง
          2. หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน
          3. หนี้งบประมาณแผ่นดิน
          4. หนี้สาธารณะ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ถ้ารัฐบาลมีเงินไม่พอกับการใช้จ่ายบริหารประเทศ รัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินจากภายในหรือต่างประเทศ หนี้ที่รัฐบาลก่อขึ้นมานี้เรียกว่า "หนี้สาธารณะ" หนี้ประเภทนี้ประชาชนของประเทศทุกคนเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้โดยการเสียภาษีให้กับรัฐบาล หรือรัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อขายให้แก่ประชาชน เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย รัฐบาลจะแบ่งรายได้ที่ได้รับจากประชาชนในด้านต่าง ๆ ไปชำระหนี้สาธารณะ
******************************************
36. ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมจะตั้งอยู่ในเขตใด
          1. เขตแหลมฉบัง
          2. เขตฉะเชิงเทรา
          3. เขตระยอง
          4. เขตชลบุรี
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาบริเวณแถบนี้ให้เป็นพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรม โดยอาศัยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และได้กำหนดเขตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กับมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนเขตฉะเชิงเทรานั้นให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อม
******************************************
37. ถ้าการส่งออกของประเทศไทยใน พ.ศ.2544 ลดลง ประเทศจะประสบกับปัญหาใด
          1. ดุลบัญชีทุนขาดดุลมากขึ้น
          2. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง
          3. ดุลบัญชีเงินโอนเกินดุลลดลง
          4. ดุลการชำระเงินเกินดุลมากขึ้น
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ พิจารณาจากบัญชีการเงินระหว่างประเทศ 2 บัญชี มีดังนี้
          1. บัญชีเดินสะพัด เป็นบัญชีที่รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าของการค้าระหว่างประเทศ (ดุลการค้า) การบริการระหว่างประเทศ (ดุลบริการ) และการโอนเงินหรือการบริจาคเงินระหว่างประเทศ (ดุลบริจาค)
          2. บัญชีทุนเคลื่อนย้าย เป็นบัญชีที่รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าการส่งออกของประเทศไทยใน พ.ศ.2544 ลดลง จะส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง
******************************************
38. ข้อใดแสดงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด
          1. ตลาดร่วมและสหภาพเศรษฐกิจ
          2. ตลาดร่วมและสหภาพศุลกากร
          3. เขตการค้าเสรีและตลาดร่วม
          4. สหภาพเศรษฐกิจและสหภาพศุลกากร
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำแนกออกได้หลายประเภท หลายลักษณะ ซึ่งมีการพัฒนาจากระดับพื้นฐานไปสู่ระดับสูงตามลำดับ ได้แก่ การให้สิทธิพิเศษทางการค้า การตั้งเขตการค้าเสรี สหภาพศุลกากร ตลาดร่วม และสหภาพเศรษฐกิจ
          ดังนั้นตลาดร่วมและสหภาพเศรษฐกิจเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับสูงสุด
          - ตลาดร่วม คือลักษณะของการให้สิทธิพิเศษทางการค้า การตั้งเขตการค้าเสรี และสหภาพศุลกากร รวมกันทั้ง 3 ลักษณะ และยังรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานระหว่างประเทศโดยเสรี
          - สหภาพเศรษฐกิจ คือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศระดับสูงสุด ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินนโยบายด้านการเงิน การคลัง การค้า การเกษตร และอุตสาหกรรมเป็นนโยบายเดียวกัน เช่น ใช้เงินสกุลเดียวกัน และมีธนาคารกลางยุโรป เป็นต้น
******************************************
39. ข้อใดทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศได้มากขึ้น
          1. การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
          2. การอ่อนตัวของค่าเงินบาท
          3. การลดอัตราดอกเบี้ย
          4. การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศได้มากขึ้น เพราะการอ่อนตัวของค่าเงินบาทสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศได้ เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวจะส่งผลให้ราคาสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศมีราคาถูกลง ทำให้ตลาดต่างประเทศสนใจและสามารถขายแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ในปริมาณมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในประเทศจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้ยอดสั่งซื้อลดลง
******************************************
40. ตัวเลขในหน่วยเงินสกุลเดียวกันข้อใดใช้เปรียบเทียบฐานะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
          1. ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
          2. ผลิตภัณฑ์ประชาชาติต่อหัว
          3. ผลิตภัณฑ์ประชาชาติที่แท้จริง
          4. ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริงต่อหัว
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะต้องเปรียบเทียบจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product : GNP) ซึ่งเป็นรายได้ของประชาชนในประเทศ และรายได้ของประชาชนที่ทำได้ในต่างประเทศมารวมกัน แล้วหาค่าเฉลี่ยต่อหัวมาใช้เปรียบเทียบ
******************************************
41. ข้อใดเป็นลักษณะที่ถูกต้องของแต่ละภูมิภาค
          1. ภาคตะวันออกมีภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม ฝนตกชุก ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์
          2. ภาคตะวันตกมีภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับหุบเขา ปริมาณน้ำฝนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
          3. ภาคกลางมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นแหล่งเกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่มีปัญหาดินเปรี้ยว
          4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิประเทศเป็นแอ่งที่ราบ ทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่มีปัญหาดินเค็ม
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1, 3 และ 4 ไม่ถูกต้อง เพราะ
          - ภาคตะวันออก มีลักษณะภูมิประเทศทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบลูกฟูก มีที่ราบสูงต่ำสลับเนินเขาเตี้ย ๆ ซึ่งเกิดจากการผุกร่อนของหินบริเวณลาดเขา มีลักษณะเป็นดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์และมีฝนตกชุก
          - ภาคตะวันตก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขตเทือกเขาสูงทางภาคตะวันตก และมีเขตที่ราบขั้นบันไดอยู่ถัดไปทางตะวันออกของเขตเทือกเขา มีลักษณะสูงทางตะวันตก และลดหลั่นไปทางตะวันออก เขตนี้ค่อนข้างแห้งแล้ว ฝนตกน้อย เพราะเป็นเขตเงาฝน แต่พื้นที่ภาคตะวันตกเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุนานาชนิด และแหล่งป่าไม้ที่สำคัญของประเทศ
          - ภาคกลาง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำบริเวณภาคกลางตอนบนและล่าง บริเวณขอบด้านตะวันตกและตะวันออกของภาคเป็นแหล่งเกษตรกรรม เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน การล่วงล้ำของน้ำทะเลเข้ามาในพื้นที่ และปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม
          - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งที่ราบ และเทือกเขาด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค ความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างน้อย เพราะเป็นดินปนทรายอุ้มน้ำไม่ได้ดี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาดิน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาฝนทิ้งช่วง
******************************************
42. ภูมิประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีลักษณะเรียงลำดับกันอย่างไร
          1. ที่ราบลุ่ม ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม ที่ราบดินตะกอนรูปพัด
          2. ที่ราบดินตะกอนรูปพัด ที่ราบลุ่ม ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม
          3. ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม ที่ราบดินตะกอนรูปพัด ที่ราบลุ่ม
          4. ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม ที่ราบลุ่ม ที่ราบดินตะกอนรูปพัด
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ลักษณะภูมิประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีลักษณะเรียงลำดับดังนี้
          1. ที่ราบดินตะกอนรูปพัด เกิดจากการทับถมบริเวณเชิงเขา อาจเรียกว่า ที่ราบดินตะกอนเชิงเขารูปพัด
          2. ที่ราบลุ่ม เกิดจากการทับถมบริเวณที่ราบ 2 ฟากฝั่งแม่น้ำ จึงเรียกว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำ
          3. ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม เกิดจากการทับถมบริเวณปากแม่น้ำหรือปากอ่าว จึงเรียกว่า ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
******************************************
43. เพราะเหตุใดอากาศบนยอดเขาจึงเย็นกว่าบริเวณเชิงเขา
          1. บริเวณยอดเขามีความกดอากาศต่ำ
          2. บริเวณยอดเขามีป่าไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น
          3. บริเวณยอดเขามีพื้นที่ที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อย
          4. บริเวณยอดเขาได้รับอิทธิพลจากการคายความร้อนจากผิวโลกน้อย
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          อากาศบริเวณบนยอดเขามีอุณหภูมิเย็นกว่าบริเวณเชิงเขา ทั้งนี้เป็นเพราะความสูงของอากาศจะแปรผกผันกับอุณหภูมิของอากาศ แสดงว่าถ้าความสูงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิของอากาศจะลดลง และประกอบกับอุณหภูมิของพื้นผิวโลกได้รับอิทธิพลจากการคายความร้อนมากกว่าบริเวณยอดเขา ดังนั้นอากาศบริเวณยอดเขาจึงเย็นกว่าพื้นผิวโลก
******************************************
44. ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีมีปรากฏการณ์ใดในประเทศไทย
          1. มีฝนตกกระจายทั่วไปเพราะเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน
          2. มีช่วงเวลากลางวันนานกว่า 12 ชั่วโมง เพราะซีกโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์
          3. มีช่วงเวลากลางคืนนานกว่า 12 ชั่วโมง เพราะซีกโลกเหนือหันออกจากดวงอาทิตย์
          4. มีฝนตกบริเวณชายฝั่งทะเลเพราะได้รับอิทธิพลจากลมพายุ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยซึ่งเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อนจัด ในระยะนี้ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปทางซีกโลกเหนือ ทำให้มีช่วงเวลากลางวันนานกว่า 12 ชั่วโมง อุณหภูมิประจำวันอยู่ระหว่าง 33 องศาเซลเซียส ถึง 42 องศาเซลเซียส
******************************************
45. พรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า คือข้อใด
          1. ร่องน้ำลึกแม่น้ำปาย สันปันน้ำทิวเขาหลวงพระบางและสันปันน้ำทิวเขาตะนาวศรี
          2. ร่องน้ำลึกแม่น้ำรวก สันปันน้ำทิวเขาหลวงพระบางและสันปันน้ำทิวเขาสันกำแพง
          3. ร่องน้ำลึกแม่น้ำเมย สันปันน้ำทิวเขาถนนธงชัยและสันปันน้ำทิวเขาตะนาวศรี
          4. ร่องน้ำลึกแม่น้ำยวม สันปันน้ำทิวเขาถนนธงชัยและสันปันน้ำทิวเขาสันกำแพง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ในการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศส่วนใหญ่มักจะกำหนดจากพรมแดนธรรมชาติเป็นแนวแบ่งเขตแดน โดยจะใช้สันปันน้ำของทิวเขา และร่องน้ำลึกของแม่น้ำ ซึ่งพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับพม่า ได้แก่
          - สันปันน้ำทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี
          - ร่องน้ำลึกของแม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำระนอง และแม่น้ำกระบุรี
******************************************
46. ลักษณะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันตรงกับข้อใด
          1. ด้านอ่าวไทยมีพื้นที่ที่เหมาะกับเกษตรกรรม ด้านอันดามันมีท่าเรือน้ำลึกตามธรรมชาติ
          2. ด้านอ่าวไทยเป็นชายฝั่งแบบยุบจม ทำการประมงได้ดี ด้านอันดามันเป็นชายฝั่งแบบยกตัว มีเกาะสำคัญเหมาะแก่การท่องเที่ยว
          3. ด้านอ่าวไทยมีที่ราบแคบ เป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ ด้านอันดามันมีที่ราบพอสมควร เป็นบริเวณป่าชายเลนที่สำคัญที่สุดของประเทศ
          4. ด้านอ่าวไทยมีชายฝั่งเว้าแหว่ง เป็นบริเวณป่าชายเลนที่สำคัญของประเทศ ด้านอันดามันมีชายฝั่งค่อนข้างเรียบ เป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          - ลักษณะทางกายภาพด้านอ่าวไทย เป็นชายฝั่งยกตัว ทำให้ท้องทะเลบริเวณนี้ตื้น ประกอบกับจะมีคลื่นนำเอาตะกอนต่าง ๆ มาทับถมบริเวณชายฝั่งให้มีลักษณะเป็นสันทราย จึงทำให้เกิดความลำบากในการสร้างและพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึก แต่บริเวณชายฝั่งที่ราบค่อนข้างกว้างเหมาะกับการทำเกษตรกรรม
          - ลักษณะทางกายภาพด้านอันดามัน เป็นชายฝั่งยุบตัว มีลักษณะเป็นที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล บางแห่งไม่มีที่ราบ เพราะมีเทือกเขาตั้งประชิดติดทะเล กลายเป็นหน้าผาทะเลหลายแห่ง ชายฝั่งด้านนี้มีลักษณะเป็นชายฝั่งน้ำลึก เว้าแหว่ง เกาะแก่งมากมาย เพราะเกิดจากการทรุดตัวของเปลือกโลก
******************************************
47. ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีความคล้ายคลึงกันอย่างไร
          1. แม่น้ำส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ และมีป่าชายเลนบริเวณชายฝั่ง
          2. อิทธิพลของลมมรสุมนำฝนมาตกในปริมาณใกล้เคียงกัน
          3. มีการปลูกพืชและประเภทของอุตสาหกรรมคล้ายกัน
          4. วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชนกลุ่มน้อยคล้ายคลึงกัน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกัน คือมีเทือกเขาสูงทอดยาวเป็นแนวบริเวณตอนกลางของภาค วางตัวในแนวเหนือใต้ ทำให้ขวางกั้นทิศทางของลมมรสุม จึงทำให้ลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้และภาคตะวันออกคล้ายคลึงกัน (ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน) แม่น้ำในภาคใต้และภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ทั้งนี้เพราะต้นกำเนิดของแม่น้ำตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล และบริเวณปากแม่น้ำจะมีการทับถมของตะกอน จึงทำให้มีป่าชายเลนบริเวณชายฝั่ง
******************************************
48. เพราะเหตุใดป่าชายเลนจึงเป็นป่าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
          1. เป็นป่าไม้ผลัดใบและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลายประเภท
          2. เป็นป่าไม้ผลัดใบและมีไม้คุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด
          3. เป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบและเหมาะสำหรับเป็นแหล่งนันทนาการ
          4. เป็นป่าไม้ผลัดใบและเป็นประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ป่าชายเลน เป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากป่าชนิดอื่น เพราะพืชที่เกิดในป่าชายเลนมีรากแตกต่างจากพืชทั่ว ๆ ไป คือ รากจะโผล่ขึ้นมาเหนือเลนเพื่อช่วยในการหายใจ เลนที่เกิดขึ้นมาเกิดจากการตกตะกอนของโคลนเลนปากแม่น้ำ พืชที่ขึ้นในป่าชายเลน ได้แก่ โกงกาง ต้นแสม ต้นจาก ต้นประสัก ต้นตะบูน ฯลฯ
          ความสำคัญของป่าชายเลน คือ เป็นแหล่งขยายพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยแครง เป็นต้น เป็นแหล่งผลผลิตเชื้อเพลิง ได้แก่ ถ่านจากไม้โกงกาง ซึ่งจัดว่าเป็นถ่านที่ดีที่สุด ป่าชายเลนยังช่วยให้แผ่นดินงอกใหม่เนื่องจากการตกตะกอน และเป็นฉากกำบังพายุ ลม รวมทั้งการพังทลายของดินอันเนื่องมาจากลมมรสุมและรากของพืชในป่าชายเลนช่วยกรองของเสียและสารพิษต่าง ๆ ที่ไหลมาจากแผ่นดิน
******************************************
49. วัตถุประสงค์ของการทำขั้นบันไดดินบริเวณพื้นที่ไหล่เขาคือข้อใด
          1. ชะลอความเร็วของน้ำไหล
          2. แก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน
          3. ป้องกันการยุบตัวและพังทลายของดิน
          4. ลดความแรงของเม็ดฝนที่กระแทกกับหน้าดิน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          บริเวณพื้นที่ไหล่เขาจะมีความลาดชันสูง เมื่อฝนตกการไหลของน้ำลงสู่เชิงเขาจะมีความรุนแรงและรวดเร็ว เป็นผลให้ดินถูกชะล้างและพังทลายได้ง่าย ดังนั้นจึงมีการทำขั้นบันได โดยสร้างคันดินหรือแนวหินขวางความลาดเอียงของพื่นที่ แล้วปลูกพืชบนขั้นบันได ทำให้ชะลอความเร็วในการไหลบ่าของน้ำ จึงช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน
******************************************
50. ปัจจัยควบคุมการเกิดของดินตรงกับข้อใด
          1. ภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน แสงแดด ชนิดของแร่
          2. ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิดดิน สิ่งมีชีวิต เวลา
          3. ภูมิอากาศ วัตถุต้นกำเนิดดิน การกระทำของมนุษย์ เวลา
          4. การกระทำของมนุษย์ วัตถุต้นกำเนิดดิน น้ำฝน แสงแดด อุณหภูมิ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ปัจจัยการกำเนิดดิน นอกจากอาศัยวัตถุต้นกำเนิดดินและสารอินทรีย์แล้ว ยังต้องการปัจจัยอื่นอีก เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เวลา สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้หินแตกเป็นดินได้ง่ายและเร็วขึ้น
******************************************
51. เหตุใดอากาศชื้นจึงทำให้ดินของประเทศไทยขาดความอุดมสมบูรณ์
          1. เพราะทำให้การสร้างตัวของดินช้า
          2. เพราะทำให้การสะสมของชั้นดินมีน้อย
          3. เพราะทำให้อนินทรียวัตถุผุพังเร็ว
          4. เพราะทำให้อินทรียวัตถุสลายตัวเร็ว
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การที่ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งนี้เพราะความชื้นทำให้อินทรียวัตถุมีการย่อยสลายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นดินในประเทศไทยจึงมีอินทรียวัตถุสลายตัวผสมอยู่มาก จึงทำให้ดินมีความเป็นกรดสูง และขาดความอุดมสมบูรณ์
******************************************
52. บ่อน้ำร้อนเกิดจากปรากฏการณ์ใด
          1. ความร้อนจากแหล่งถ่านหินและน้ำมันแทรกตัวขึ้นมาจนน้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงและดันตัวขึ้นมา
          2. ความร้อนจากใต้พิภพแทรกตัวขึ้นมาจนน้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงและดันตัวขึ้นมา
          3. ความร้อนจากหินหนืดใต้พิภพทำให้น้ำใต้ดินดันตัวขึ้นมาและพุ่งเป็นช่วง ๆ
          4. ความร้อนจากภูเขาไฟส่งถ่ายความร้อนที่มีอยู่จนน้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงและดันตัวขึ้นมา
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          บ่อน้ำร้อนเกิดจากการถ่ายความร้อนจากหินหนืดใต้พิภพที่ปะทุและดันตัวอยู่ตลอดเวลา ความร้อนจากหินหนืดส่งผ่านไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน เมื่อน้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงขึ้นจึงดันตัวขึ้นมา
******************************************
53. เพราะเหตุใดชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนจึงไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย
          1. พื้นที่ชายฝั่งทะเลมีคลื่นและลมแรง
          2. ลักษณะชายฝั่งทะเลเป็นหาดโคลน
          3. มีเรือเข้าออกบริเวณปากแม่น้ำเป็นประจำ
          4. มีประชากรตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตลอดชายฝั่ง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยเป็นชายฝั่งยกตัว ทำให้ท้องทะเลบริเวณนี้ตื้น และประกอบกับมีคลื่นพัดพานำเอาตะกอนมาทับถมบริเวณชายฝั่งจนมีลักษณะเป็นสันทราย และชายหาดเป็นหาดโคลนเนื่องจากการทับถมของตะกอน จึงไม่เหมาะกับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
******************************************
54. ข้อใดเป็นวิธีการใช้ปุ๋ยที่ดีที่สุดของเกษตรกรเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต
          1. ใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกอย่างละเท่า ๆ กัน
          2. เลือกปุ๋ยที่สามารถใช้กับพืชได้หลายชนิด
          3. เลือกปุ๋ยโดยพิจารณาจากสมบัติของดินและพืชที่ปลูก
          4. ใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกสลับกันในการปลูกพืชแต่ละครั้ง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ปุ๋ยซึ่งเป็นอาหารของพืช แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
          1. ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซากพืช ซากสัตว์ เศษใบไม้ ฯลฯ ที่ให้แร่ธาตุแก่ดินทั้งไนโตรเจน (N) โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาถูกมาก เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ฯลฯ
          2. ปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ หรือเรียกว่า ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชนิดนี้ให้แร่ธาตุที่จำเพาะที่พืชต้องการได้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง และเมื่อใช้ไประยะเวลานานจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ
          ดังนั้นในการเลือกใช้ปุ๋ยเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของดิน ปริมาณแร่ธาตุในดิน และชนิดของพืชที่ปลูก
******************************************
55. การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาพื้นฐานด้านใดมากที่สุด
          1. สังคม-การเมือง
          2. สังคม-เศรษฐกิจ
          3. เศรษฐกิจ-การเมือง
          4.การศึกษา-วัฒนธรรม
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาพื้นฐานด้านการศึกษา และวัฒนธรรม
          - ด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาได้กว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้น เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การเรียนผ่านระบบ Internet และบทเรียนช่วยสอน (CAI) เป็นต้น
          - ด้านวัฒนธรรม ผลกระทบของการแพร่กระจายของวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านสื่อไอทีหรือ Internet ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะควบคุมดูแล และความที่คนไทยไม่รู้จักใช้สื่อ Internet ในทางก่อประโยชน์ มักจะใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรจนก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
******************************************
56. การใช้เทคโนโลยีก่อให้เกิดปัญหาในข้อใดน้อยที่สุด
          1. การตกต่ำของราคาผลผลิตเกษตร
          2. การลดลงของพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า
          3. การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
          4. การทรุดตัวของแผ่นดิน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การใช้เทคโนโลยีก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
          1. ด้านสภาพแวดล้อม ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง และในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมักมีกากวัสดุที่เหลือใช้และเกิดปัญหาต่อส่วนรวม เช่น พิษจากโลหะหนักทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ควันจากการเผาไหม้
          2. ด้านการประยุกต์ใช้ทางการทหาร เช่น อาวุธที่มีขีดความสามารถทำลายล้างสูง ระเบิดเคมี ระเบิดเชื้อโรค หรือระเบิดปรมาณู สิ่งเหล่านี้จะทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ นับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ
          3. ด้านเกษตรกรรม เทคโนโลยีช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และควบคุมผลผลิตทางการเกษตรให้ออกมาในฤดูกาลที่ต้องการ แต่หากนำเทคโนโลยีมาใช้อาจทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไปจนล้นตลาด ราคาของผลผลิตตกต่ำลงได้
          ฯลฯ
          ส่วนการทรุดตัวของแผ่นดิน เป็นผลที่เกิดจากภัยธรรมชาติ มิใช่เกิดจากเทคโนโลยี
******************************************
57. ข้อใดไม่ใช่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร
          1. การจัดระบบข้อมูลข่าวสารภายใน
          2. การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี
          3. การติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือขนาดเล็ก
          4. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสายงานภายใน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          คำตอบข้อ 1, 2 และ 3 จัดว่าเป็นการนำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการแข่งขัน ส่วนคำตอบข้อ 4 ไม่ถูกต้อง เพราะการเปลี่ยนรูปแบบสายงานภายในเป็นการจัดรูปแบบองค์กรให้มีความเหมาะสมกับการงานที่ต้องรับผิดชอบ
******************************************
58. กระบวนการในการผลิตเทคโนโลยีมีลำดับขั้นตอนอย่างไร
          1. การออกแบบ การพัฒนา การผลิต การวิจัย
          2. การออกแบบ การวิจัย การพัฒนา การผลิต
          3. การวิจัย การออกแบบ การพัฒนา การผลิต
          4. การวิจัย การพัฒนา การออกแบบ การผลิต
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การผลิตเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนา สามารถกระทำได้ดังนี้
          1. การวิจัย (Research) หมายถึง การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบเพื่อเพิ่มขยายความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
          2. การพัฒนา (Development) หมายถึง การดำเนินงานที่มีระบบเพื่อมุ่งไปสู่การผลิตสิ่งใหม่ ๆ โดยใช้ความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากการวิจัย หรือประสบการณ์จากการปฏิบัติ เช่น วัสดุ ผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการสร้างกระบวนการใหม่ ระบบใหม่ เพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ที่มีการผลิตอยู่แล้ว หรือใช้งานอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
          3. การออกแบบ (Design) หมายถึง การนำความรู้และข้อมูลที่ได้จากการพัฒนามาใช้ในการออกแบบขั้นละเอียดเพื่อแปลงผลงานวิจัยและพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะออกสู่ตลาดและสามารถจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
******************************************
59. การประสานประโยชน์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด
          1. การสร้างดุลแห่งอำนาจและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ
          2. การมีเชื้อชาติและศาสนาเดียวกัน
          3. การตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันของโลก
          4. การมีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การประสานประโยชน์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้เนื่องจากสาเหตุดังนี้
          1. การเผยแพร่แนวคิดของนักคิดบางคนที่ต้องการสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ
          2. ความต้องการพึ่งพาอาศัยทางด้านเศรษฐกิจ
          3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาวุธที่ร้ายแรงมาใช้ทำลายซึ่งกันและกันได้ แต่ละประเทศจึงหันมาร่วมมือกันเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง
          4. การมองเห็นปัญหาร่วมกันของประเทศต่าง ๆ จึงทำให้เกิดความร่วมมือประสานประโยชน์ขึ้นมา
          5. การแสวงหาแนวทางป้องกัน การสร้างดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ชาติหนึ่งใช้กำลังทหารเข้ารุกรานชาติอื่น
          6. การสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงคราม
******************************************
60. ลัทธิเสรีนิยมส่งเสริมระบบเศรษฐกิจใด
          1. พาณิชย์นิยม
          2. ทุนนิยม
          3. สังคมนิยม
          4. รัฐสวัสดิการ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) หลักสำคัญคือ เน้นเสรีภาพของบุคคลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาความสุขส่วนบุคคล ไม่ถือว่าลัทธิการเมืองหรือลัทธิเศรษฐกิจ แต่เป็นแนวคิดและความเชื่ออย่างหนึ่ง และผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมช่วยสนับสนุนลัทธิการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยม(Capitalism)
******************************************
61. เหตุใดรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานจึงสั่งทำลายพระพุทธรูป
          1. เพื่อต่อต้านพระพุทธศาสนา
          2. เพื่อให้ประชาชนยึดมั่นในศาสนาอิสลาม
          3. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านรูปเคารพ
          4. เพื่อกระตุ้นลัทธิชาตินิยม
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          รัฐบาลตาลีบันของประเทศอัฟกานิสถาน มีคำสั่งให้ทำลายพระพุทธรูปหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองบามิยันนั้น สาเหตุเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของศาสนาอิสลามที่ห้ามมิให้สร้างรูปเคารพ และห้ามกราบไหว้หรือนับถือรูปเคารพอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
******************************************
62. การพัฒนากำลังคนในช่วงอายุใดที่รัฐต้องรับภาระอย่างมาก
          1. 0-5 ปี
          2. 6-17 ปี
          3. 18-22 ปี
          4. 23-60 ปี
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          รัฐบาลจะต้องรับภาระในการพัฒนากำลังคนในช่วงอายุ 6-17 ปี เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพจะต้องได้รับการศึกษาที่ดี ในช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงของการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา หรือเรียกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐจะต้องจัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพัฒนาประเทศ
******************************************
63. การที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญต่าง ๆ แต่ยกเว้นข้อใด
          1. การขาดแคลนอาหารบริโภค
          2. ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
          3. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ
          4. ความขัดแย้งทางศาสนาในภูมิภาคต่าง ๆ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดปัญหาสำคัญที่ตามมา เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหารบริโภค ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ อาทิเช่น ภาวะยากจน ด้อยการศึกษา สุขภาพอนามัยอ่อนแอ และแหล่งชุมชนแออัด ฯลฯ
******************************************
64. ปัญหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านใดที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เป็นต้นมา
          1. การกระจายรายได้ให้ทั่วถึง
          2. การลงทุนจากต่างชาติ
          3. การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบท
          4. การยกเว้นภาษีสินค้าเพื่อการส่งออก
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจมุ่งขยายการผลิตทางการเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออก ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประชาชนระหว่างเมืองและชนบท จัดการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ปรับปรุงคุณภาพประชากร ตลอดจนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
******************************************
65. ข้อใดมีส่วนน้อยที่สุดในการก่อให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ
          1. การมีรูปแบบทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน
          2. การมีสภาพทางภูมิศาสตร์แตกต่างกัน
          3. การมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณแตกต่างกัน
          4. การมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          วัฒนธรรมของสังคมและภูมิภาคใด ๆ จะมีลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการที่จะเป็นตัวกำหนด เช่น สังคมที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่แห้งแล้ง สภาพภูมิศาสตร์ย่อมจะกำหนดลักษณะของเสื้อผ้า การแต่งกาย การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือน การตั้งบ้านเรือน และองค์ประกอบสำคัญบางประการที่มีอิทธิพลต่อลักษณะวัฒนธรรม เช่น การติดต่อสัมพันธ์กับสังคมอื่น ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ความเจริญด้านคมนาคม ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ ดังนั้นคำตอบข้อ 1, 2 และ 4 จึงมีส่วนเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลมากที่สุดต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม ส่วนคำตอบข้อ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด
******************************************
66. ข้อใดไม่ใช่หน้าที่หลักขององค์การการค้าโลก
          1. แก้ไขข้อพิพาททางการค้า เป็นเวทีเจรจาต่อรองในปัญหาการค้าระหว่างกัน
          2. ป้องกันการกีดกันทางการค้า แสวงหาความร่วมมือและพัฒนาการค้าของโลก
          3. เสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของทุกชาติไม่ให้เอาเปรียบทางการค้า
          4. ส่งเสริมการค้าเสรี และรักษาความเป็นธรรมในระบบการค้าของโลก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดหย่อนข้อกีดกันทางการค้า และปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศ ขยายการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมีหน้าที่หลักคือ ออกกฎระเบียบ และกำกับดูแลให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกฏเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางสินค้า การบริการ การลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้วางไว้ร่วมกัน องค์การการค้าโลกมีอำนาจในการตัดสินข้อพิพาท และยุติปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการให้ความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เพื่อวางนโยบายเศรษฐกิจของโลกให้มีความสอดคล้องกัน
          ดังนั้นคำตอบข้อ 1, 2 และ 4 ถูกต้อง เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนคำตอบข้อ 3 ไม่ถูกต้องเพราะองค์การการค้าโลกไม่มีนโยบายในการส่งเสริมความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจของทุกชาติ
******************************************
67. ข้อใดมิใช่ลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทย
          1. นับถือผีและธรรมชาติ
          2. ยึดมั่นในระบบครอบครัว
          3. เคารพและยกย่องคนรวย
          4. ช่วยเหลือกันด้วยแรงงาน
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทยในอดีต จะยึดมั่นในระบบครอบครัว มีความผูกพันกันในระบบเครือญาติ เคารพเชื่อฟังกันตามลำดับอาวุโส และมีความสำคัญมากต่อระบบครอบครัว คนไทยนับถือพุทธศาสนา แต่ยังยึดถือความเชื่อในผีสางเทวดาปะปนกับแนวปฏิบัติของพุทธศาสนาและมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยแรงงานจนเกิดเป็นประเพณี เช่น การเก็บเกี่ยวข้าว หรือที่เรียกว่า การลงแขก ส่วนคำตอบข้อ 3 ไม่ถูกต้อง
******************************************
68. ข้อใดไม่ใช่สาเหตุของการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
          1. การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
          2. การผนึกกำลังเพื่อปราบปรามอาณาจักรสุโขทัย
          3. การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างฝ่ายทหารและพลเรือน
          4. การถ่วงดุลอำนาจกับกลุ่มเจ้านายและกลุ่มขุนนาง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          สาเหตุของการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองหรือพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อต้องการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางด้วยการขยายระบบบริหารราชการของเมืองหลวงออกไปควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ โดยแยกทหารและพลเรือนออกจากกัน และยกเลิกเมืองลูกหลวง (หน้าด่าน) และลดฐานะลงเป็นเมืองจัตวา มีผู้รั้งซึ่งเป็นเจ้าเมืองที่ไม่มีอำนาจการปกครองดูแล เนื่องจากพระราชโอรสแห่งเมืองลูกหลวงมักแย่งชิงราชบัลลังก์กัน และต้องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มเจ้านายและกลุ่มขุนนาง
******************************************
69. สินค้าสำคัญในการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศในสมัยอยุธยาคืออะไร
          1. ของป่าไทยและสินค้าญี่ปุ่น
          2. ของป่าไทยและสินค้าจีน
          3. ข้าวไทยและสินค้าจีน
          4. ข้าวไทยและสินค้าญี่ปุ่น
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          สินค้าสำคัญในการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศในสมัยอยุธยาคือ ข้าวไทย เป็นสินค้าออกที่สำคัญและไทยยังมีการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดและทำรายได้ให้แก่อยุธยามากที่สุดคือ การค้าสำเภากับจีน แต่เป็นการค้าในระบบบรรณาการ โดยนำสินค้าไปกับเรือคณะฑูตที่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจักรพรรดิจีน ซึ่งสินค้าที่ไปกับขบวนเรือฑูตจะได้รับการยกเว้นภาษี และเมื่อซื้อกลับมาก็ไม่เสียภาษีเช่นกัน
******************************************
70. "สมุดปกเหลือง" ที่พิมพ์ขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 ไม่นาน เกี่ยวกับเรื่องอะไร
          1. อุดมการณ์ของคณะราษฎร
          2. แถลงการณ์โจมตีคณะราษฎร
          3. นโยบายทางการเมืองของรัฐบาล
          4. เค้าโครงการเศรษฐกิจ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          นโยบายเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่ตีพิมพ์ขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หรือเรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" เป็นเค้าโครงนโยบายเศรษฐกิจของคณะราษฎรในหลัก 6 ประการ ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับเศรษฐกิจไว้ว่า "...จะรักษาเอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง..." และ "จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะหางานใหม่ให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ให้ราษฎรอดอยาก" หลัก 6 ประการ และหลักการทางเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลชุดต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2475-2490 ได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐโดยตลอด
******************************************
71. เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
          1. การรณรงค์เพื่อ "รัฐนิยม" ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
          2. การเรียกร้องดินแดนเขมรส่วนในคืนจากฝรั่งเศส
          3. การก่อตั้งขบวนการเสรีไทย
          4. การสร้างทางรถไฟสายมรณะ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481 - 2487) รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยทุกคนมีงานทำ และประกอบอาชีพขจัดการครอบงำทางเศรษฐกิจของต่างชาติ เช่น การสงวนอาชีพให้คนไทย กำหนดเขตหวงห้ามไม่ให้คนจีนอยู่อาศัย เรียกร้องให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ฯลฯ
          ส่วนเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดระหว่างหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี ( พ.ศ. 2482 - 2488) ในช่วงแรกไทยดำเนินนโยบายเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดทำให้ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเข้าร่วมสงครามแล้วรัฐบาลมีนโยบายชาตินิยมเข้มงวดขึ้น ยึดโอนกิจการของชาติฝ่ายพันธมิตรมาดำเนินการเอง ในที่สุดญี่ปุ่นจึงเข้ามาควบคุมการค้าขายทางทะเลทั้งหมด และบังคับให้ไทยค้าขายกับญี่ปุ่นชาติเดียว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มีการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายมรณะเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่าน และหลังสงครามไทยจึงเรียกร้องดินแดนเขมรส่วนในคืนจากฝรั่งเศส
******************************************
72. ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สามารถพัฒนาประเทศกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เพราะเหตุใด
          1. ญี่ปุ่นมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี
          2. ญี่ปุ่นเป็นนักลอกเลียนแบบที่เก่ง
          3. ญี่ปุ่นใช้งบประมาณด้านการทหารน้อยมาก
          4. ญี่ปุ่นเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สูญเสียดินแดน และเศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมอย่างมาก แต่ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศจากความย่อยยับของสงครามได้ โดยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาด้านเงินกู้การเป็นตลาดรับซื้อ และตามโครงการชดใช้ค่าปฏิมากรรมสงคราม ญี่ปุ่นมีโครงการช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประกอบกับญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากกว่าการทหาร จึงทำให้ญี่ปุ่นได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
******************************************
73. ไทยส่งทหารไปร่วมรักษาความสงบในดินแดนติมอร์ตะวันออกด้วยเหตุผลใด
          1. เป็นไปตามข้อตกลงทางทหารระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย
          2. เป็นไปตามข้อตกลงทางทหารของกลุ่มประเทศอาเซียน
          3. เป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก
          4. เป็นการร่วมมือกับกองกำลังขององค์การสหประชาชาติ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ประเทศไทยได้ส่งทหารไปร่วมรักษาความสงบในดินแดนติมอร์ตะวันออก เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันกับกองกำลังขององค์การสหประชาชาติ ในการรักษาสันติภาพของประเทศในโลก เมื่อเกิดกรณีพิพาทและความขัดแย้งระหว่างประเทศอินโดนีเซียกับประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของกองกำลังจากประเทศสมาชิก
******************************************
74. ฟิลิปปินส์แตกต่างจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดในข้อใด
          1. ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
          2. มีปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย
          3. มีพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุด
          4. มีความผูกพันทางวัฒนธรรมกับอินโดนีเซีย
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ประเทศฟิลิปปินส์มีความแตกต่างจากประเทศอื่นในเอชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดคือ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ประมาณร้อยละ 83 ของประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทั้งนี้เพราะฟิลิปปินส์เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกเป็นระยะเวลาถึง 427 ปี ได้แก่ ประเทศสเปน 377 ปี และสหรัฐอเมริกา 48 ปี ตามลำดับ และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นยึดครอง
******************************************
75. คณะกรรมการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือสล๊อก (SLORC) เกี่ยวข้องกับประเทศใด
          1. พม่า
          2. ลาว
          3. เวียดนาม
          4. กัมพูชา
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          คณะกรรมการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือสล๊อก (SLORC : The State Law and Order Restoration Council) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย นายพลซอหม่อง (Saw Manng) เพื่อรับผิดชอบในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารพม่า
******************************************
76. ผลสำคัญที่สุดจากชัยชนะของญี่ปุ่นต่อรัสเซียใน ค.ศ. 1905 คือข้อใด
          1. รัสเซียมีเกียรติภูมิตกต่ำลงในสายตาของมหาอำนาจ
          2. ทำให้ญี่ปุ่นขยายอำนาจเข้าไปในเกาหลีและจีน
          3. เกิดความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวเอเชีย
          4. ญี่ปุ่นกลายเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศของชาติในเอเชีย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ผลสำคัญที่สุดจากชัยชนะของญี่ปุ่นต่อรัสเซียใน ค.ศ. 1904 - 1905 ส่งผลต่อกลุ่มประเทศในเอชียที่อยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของตะวันตก ทำให้เชื่อมั่นว่าชาวเอเชียจากประเทศเล็ก ๆ อาจสามารถเอาชนะชาวยุโรปจากประเทศใหญ่ ๆ ได้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศในเอเชีย
******************************************
77. ข้อใดคือมรดกทางอารยธรรมที่สำคัญของสมัยกลางที่มีผลต่อโลกตะวันตกในระยะยาว
          1. การสำรวจทางทะเล
          2. การปฏิวัติทางการค้า
          3. การเกิดมหาวิทยาลัย
          4. การเกิดความคิดภูมิธรรม
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          มรดกทางอารยธรรมที่สำคัญของสมัยกลางที่มีผลต่อโลกตะวันตกในระยะยาวคือ การเกิดมหาวิทยาลัย โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 11 - 12 มหาวิทยาลัยเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีมหาวิทยาลัยปารีสเป็นผู้นำยุโรปเหนือ และมหาวิทยาลัยโบโลนญา ในประเทศอิตาลีเป็นผู้นำด้านยุโรปใต้ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มักเป็นพระหรือลูกหลานของขุนนางและพ่อค้า
******************************************
78. ผลงานศิลปะของลีโอนาร์โด ดา วินชี และไมเคิล แอนเจโล ใช้ความรู้ด้านใดมากที่สุด
          1. กลศาสตร์
          2. คณิตศาสตร์
          3. ดาราศาสตร์
          4. กายวิภาคศาสตร์
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          - ผลงานศิลปะของไมเคิล แอนเจโล (Michel Angelo) ได้แก่ วิหารเซนต์พอล ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม และผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ รูปแกะสลักเดวิด (David) แสดงให้เห็นลักษณะกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ของมนุษย์ และรูปแกะสลักหินอ่อนพิเอตา (Pieta) ที่แสดงความรู้สึกเศร้าโศก
          - ผลงานของลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo Da Vinci) ผลงานสำคัญได้แก่ ภาพ "อาหารเย็นมื้อสุดท้าย" (The Last Supper) และภาพโมนาลิซา (Mona Lisa) ซึ่งใช้ลักษณะการวาดที่คำนึงถึงแสงเงา คติประกอบของภาพ มีการวาดภาพที่มีความตื้นลึก เรียกว่า ภาพเปอร์สเปกตีฟ (Perspective)
          ซึ่งผลงานของทั้งสองท่านใช้ความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์ เพื่อเน้นความสมจริงมากที่สุด
******************************************
79. การกำหนดให้วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นวันชาติฝรั่งเศส เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ใด
          1. การประกาศยกเลิกอภิสิทธิ์ของชนชั้นขุนนาง
          2. การที่ชาวปารีสบุกทำลายสถานจองจำนักโทษทางการเมือง
          3. การเรียกประชุมสภาฐานันดรหลังจากว่างเว้นมาร้อยกว่าปี
          4. การที่นักปฏิวัติประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐและล้มเลิกระบอบกษัตริย์
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการปฏิวัติของชนชั้นกลาง โดยมีเจตนารมณ์พื้นฐานในเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ (Liberty Equality and Fraternity) เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากความล้มเหลวในการปกครองของระบอบกษัตริย์ ในขณะที่ชนชั้นเจ้าและขุนนางกลับมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายจึงนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ ค.ศ. 1789 และสามารถล้มระบอบกษัตริย์ได้ มีการประกาศหลักสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (The Declaration of the Rights of Man and Citizen) และกำหนดให้วันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันชาติของฝรั่งเศส
******************************************
80. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากเครื่องจักรไอน้ำและถ่านหินมาเป็นพลังงานชนิดใด
          1. พลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
          2. พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ และน้ำมัน
          3. พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานลม
          4. พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ และพลังงานลม
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะที่ 2 (ค.ศ. 1830 - 1870) ได้มีการเปลี่ยนแปลงพลังงานจากเครื่องจักรไอน้ำและถ่านหินมาเป็นการนำเอาพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า มาใช้ในกิจการอุตสาหกรรม อีกทั้งมีการนำเอาเหล็กกล้ามาใช้แทนที่เหล็กจนได้ชื่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้า (Age of Steel) และการกำเนิดอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น
******************************************

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และความถนัดทางนิเทศศิลป์

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และความถนัดทางนิเทศศิลป์
1. การออกแบบนิเทศศิลป์ (GRAPHIC DESIGN) เป็นงานที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างมาก ดังนั้น หากเราต้องการเป็นนักออกแบบนิเทศศิลป์ที่ดี จึงควรหัดเป็นคนช่างสังเกตชอบคิดหาไอเดียแปลกใหม่เสมอ และต้องทันสมัย คอยติดตามการเคลื่อนไหวของงานออกแบบนิเทศศิลป์ทุกประเภท ซึ่งได้แก่ การออกแบบโปสเตอร์, การออกแบบหน้าโฆษณาในนิตยสาร ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในทีวี, การออกแบบแสตมป์, ออกแบบลวดลาย และตัวอักษรบนกล่องหรือซองใส่สิ่งของทุกชนิด, การออกแบบการ์ด หรือบัตรต่าง ๆ, การออกแบบจัดวางตัวอักษร การเขียนภาพประกอบ, การออกแบบแผ่นพับหรือใบปลิว, การออกแบบปกหนังสือ, ปกเทป, ปกแผ่นเสียง, ปกแผ่นซีดี, การออกแบบเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้ การออกแบบสัญลักษณ์และการนำไปใช้ประกอบการออกแบบอื่น ๆ ที่เป็นชุด เช่น กระดาษ ซองจดหมาย และนามบัตร เป็นต้น
2. ควรสังเกตและศึกษาให้เข้าใจถึง หลักการจัดองค์ประกอบภาพ และตัวอักษร ในงานออกแบบนิเทศศิลป์แต่ละประเภทว่าแตกต่างกันอย่างไร เช่น การจัดองค์ประกอบของภาพและตัวอักษรในงานโปสเตอร์ย่อมจะแตกต่างจากการจัดวางภาพและตัวอักษร ในงานออกแบบแสตมป์ เป็นต้น
3. ควรฝึกคิดหา ไอเดีย เพื่อใช้ในการออกแบบ รวมถึงการสร้างรูปแบบหรือสไตล์ของงานให้สามารถสื่อความหมายได้ถูกต้องตามประเภทของงานที่ต้องการออกแบบ เช่น ต้องการออกแบบปกหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมต้น ก็ไม่ควรให้งานออกมาแล้วดูเหมือนซองใส่ขนม
4. งานออกแบบไม่ว่าแขนงใดก็ตาม รูปแบบของงานมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น หากไม่สนใจคอยติดตามงานออกแบบอยู่เสมอ ๆ เวลาสร้างงานออกมาอาจจะดูเชย หรือล้าสมัยได้เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานออกแบบได้จาก
      4.1 นิตยสารต่าง ๆ เช่น หน้าโฆษณาที่มีแนวสร้างสรรค์ใหม่, หน้าคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบหรือแม้แต่หน้าแฟชั่น หรือหน้าสอนทำสิ่งประดิษฐ์หัตถกรรม ฯลฯ
      4.2 เวลาเดินในห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายของต่าง ๆ เราก็สามารถหาความรู้ได้ด้วยการสังเกตและศึกษาแนวทางการออกแบบป้ายหน้าร้าน, ลวดลายและตัวอักษรของกล่อง หรือซองใส่สินค้าทุกชนิด ฯลฯ โดยการพิจารณาหาเหตุผลว่า แบบไหนสวย และเหมาะสม เพราะอะไร เช่น รูปภาพประกอบเป็นอย่างไร การเลือกใช้สีเหมาะสมและสวยไหม การจัดวางองค์ประกอบน่าสนใจหรือไม่ แม้แต่การออกแบบของที่ระลึก การ์ดต่าง ๆ ของใช้จุกจิกหรือตุ๊กตา ฯลฯ ก็สามารถทำให้เราทราบถึงความเคลื่อนไหวของงานออกแบบในปัจจุบันได้
5. เมื่อเราทราบถึงประเภทและลักษณะของงานออกแบบนิเทศศิลป์พอสมควรแล้ว ก็ต้องฝึกหัดออกแบบโดยการกำหนดหัวข้อขึ้น เช่น ออกแบบโปสเตอร์หัวข้อ "รณรงค์ให้คนไทยใช้ของที่ทำขึ้นในประเทศ" หรือออกแบบแสตมป์ในหัวข้อ "ครบรอบ 100 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย" หรือออกแบบลวดลายและอักษรของซองใส่ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ขึ้นใหม่ เป็นต้น หัวข้อต่าง ๆ ควรฝึกทำมาก ๆ และหาผู้ให้คำแนะนำปรึกษา และวิจารณ์ เพื่อหาข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไขและนำมาปรับปรุงงานของเราให้ดีขึ้น

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบตกแต่งภายใน

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบตกแต่งภายใน
ขอบข่ายหัวเรื่องที่นักเรียนต้องรู้และต้องฝึกเขียนให้ได้ มีดังนี้
1. การเขียนแบบเบื้องต้น ควรฝึกเขียนภาพไอโซเมตริค, ภาพแสดงรูปด้าน
2. การเขียนทัศนียภาพ (PERSPECTIVE) เป็นหัวใจของงานตกแต่งภายใน นักเรียนต้องเรียนและพยายามฝึกฝนให้ชำนาญให้มากที่สุด
3. การเขียนทัศนียภาพห้องต่าง ๆ นักเรียนควรฝึกเขียนทัศนียภาพของห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น, ห้องนอน, ห้องรับแขก, ห้องรับประทานอาหาร, ห้องครัว, ห้องน้ำ หรือเฉลียงพักผ่อนและสวนในบ้าน ในการฝึกระยะเริ่มต้นอาจจะอาศัยการลอกจากแบบในหนังสือที่เกี่ยวกับบ้านและการตกแต่ง โดยให้ฝึกสังเกตและหาเหตุผลของการจัดวางแปลนและเฟอร์นิเจอร์ ฝึกการเลือกมุมมองในการเขียนทัศนียภาพ และฝึกเขียนสัดส่วนของสิ่งต่าง ๆ ในภาพให้สัมพันธ์กลมกลืน ดูแล้วไม่ขัดตา พอเริ่มคล่องขึ้นหัดจัดวางผัง (PLAN) และเฟอร์นิเจอร์ขึ้นเอง
4. ศึกษาเรื่องการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ให้ถูกต้องตามตำแหน่ง และประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมและสวยงาม
5. การใช้ลายเส้น และการลงสี (ใช้สีตามถนัด เช่น สีหมึก, สีเมจิก สีไม้หรือสีน้ำ) ฝึกการใช้ค่าน้ำหนักของแสงเงาให้ถูกต้อง และการลงสีวัสดุต่าง ๆ ให้ได้ความรู้สึกตามเนื้อวัสดุนั้น ๆ เช่น กระจกให้ความรู้สึกใส พรมให้ความรู้สึกนุ่ม เป็นต้น
6. การเขียน PRESENTATION คือการฝึกเขียนส่วนประกอบที่ใช้ตกแต่งให้ภาพของเราดูมีชีวิตชีวาขึ้น เช่น การเขียนลวดลายประดับต่าง ๆ, หมอนอิงแบบต่าง ๆ, ภาพประดับผนัง, โคมไฟ, โทรทัศน์, สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ, พรม, ของโชว์ต่าง ๆ, เครื่องครัว, เครื่องสุขภัณฑ์, เครื่องถ้วยชาม ตลอดจนรูปแบบหรือสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในบ้าน
          นอกจากนี้นักเรียนควรได้ฝึกทำหัวข้ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ห้องภายในบ้าน แต่เกี่ยวข้องกับการตกแต่ง เช่น การจัดสวน, การจัดส่วนแสดงนิทรรศการ, การจัดหน้าร้านโชว์สินค้า, หรือการตกแต่งออฟฟิศ เป็นต้น

การเตรียมตัวสอบวิชาวาดเส้น

การเตรียมตัวสอบวิชาวาดเส้น
ขอบข่ายของวิชาวาดเส้น จะเน้นทางด้านการปฏิบัติล้วน ๆ ดังนั้นวิชานี้จึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนมาก ๆ ควรเรียนและฝึกแต่เนิ่น ๆ จะได้มีความชำนาญพอในการทำข้อสอบหัวข้อที่นักเรียนต้องฝึกฝนมีดังนี้
1. การร่างรูป หุ่นที่ใช้ในการวาดควรเป็นหุ่นวัตถุจริง ไม่ใช่ภาพถ่าย หัวข้อที่ควรฝึก คือ
      1.1 อวัยวะของคน เช่น มือหรือเท้าของตัวเอง ใบหน้า หรือ PORTRAIT (หัวถึงหัวไหล่) ร่างกายคนทั้งตัว หรือ FIGURE (สำหรับผู้ที่ต้องการสอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ต้องศึกษา และหัดวาดคนทั้งตัว และเรียนรู้เรื่องกายวิภาคด้วย)
      1.2 วัตถุสิ่งของทั่วไป เช่น ขวดแก้วใส, รองเท้าหนังหรือผ้าใบสีเรียบ (ที่เราใส่เข้าห้องสอบ), กระดาษยับ, ผ้ายับ, เหรียญสตางค์, แบงค์, ธนบัตร, ช่อดอกไม้ (ไม่ต้องใหญ่มาก) และพวกเครื่องเขียนใกล้ตัวเราที่นำติดตัวเข้าห้องสอบ
2. ต้องฝึกสังเกต ระนาบ (PLAN) ของแสงและเงา ให้เข้าใจ
3. การจัดหุ่นควรคำนึงถึง ทิศทางด้านแสงเข้า ให้เข้าด้านข้าง เพื่อให้เกิดเงาทั้งที่วัตถุและเงาตกทอดที่พื้นจะทำให้ภาพมีมิติสวยงามขึ้น
4. การจัดหุ่น ควรจัดให้มี มิติและระยะ ให้มีระยะหน้าหลัง มีการทับซ้อนกันบ้าง หรือกระจายบ้าง โดยคำนึงถึงหลักขององค์ประกอบที่สวยงาม และทำให้ภาพมีมิติความลึก
5. นอกจากเรื่องโครงสร้างของหุ่นที่เราต้องเขียนให้ถูกต้องแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องพื้นผิวของวัตถุที่เป็นหุ่นด้วย ให้สังเกตและพยายามเขียนให้ได้ความรู้สึกว่าหุ่นนั้นเป็นแก้วใส, แก้วทึบ, ไม้, โลหะ, ผ้า, พลาสติก, หนัง, กระดาษ, เนื้อคน หรือวัสดุพื้นผิวที่ต่างกัน น้ำหนักแสงเงาก็จะต่างกันด้วย ดังนั้นเวลาฝึกต้องสังเกตหุ่นให้มาก ๆ สังเกตอย่างละเอียด ให้เข้าใจ อย่าเขียนด้วยการนึกขึ้นเอง อย่าเขียนโดยไม่มีหุ่นแบบ และอย่ามั่วแสงเงาโดยนึกขึ้นเองด้วย
6. วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เขียน ควรเป็นดินสอสำหรับวาดเส้นและแรเงาโดยเฉพาะ เช่น EE 4B 6B หรือดินสอถ่าน (ตามถนัด) ในการฝึกควรฝึกกระดาษวาดเขียน (80 ปอนด์หรือ 120 แกรม ตามเนื้อกระดาษของข้อสอบ ENTRANCE)
7. คำนึงถึงเรื่อง ขนาดของรูป ไม่ควรเขียนให้ขนาดเล็กกว่าจริงมากนัก วัตถุ หรือหุ่นที่มีขนาดปานกลาง เช่น มือ รองเท้า ขวด ควรเขียนขนาดเท่าจริง แต่ถ้าวัตถุเล็ก ๆ เช่น เหรียญสตางค์ เครื่องเขียนต่าง ๆ ควรเขียนขยายให้ใหญ่ขึ้นหน่อย จะได้เห็นรายละเอียดชัดเจน ทำให้น่าสนใจขึ้น อย่างไรก็ตามขนาดของภาพก็ต้องสัมพันธ์กับขนาดของหน้ากระดาษด้วย โดยคำนึงถึงหลักการจัดองค์ประกอบที่เหมาะสม
8. นักเรียนควรฝึกหัดทุกหัวข้อ หัวข้อละหลาย ๆ ครั้ง และกำหนดเวลาการทำงานเท่าห้องสอบคือ เวลา 3 ชั่วโมง

การเตรียมตัวสอบวิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม

การเตรียมตัวสอบวิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม
ขอบข่ายวิชาที่ใช้สอบความถนัดทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยหัวข้อที่นักเรียนต้องเรียน มีดังนี้
1. ส่วนประกอบที่สำคัญในการออกแบบ (ELEMENTS OF DESIGN) ได้แก่เรื่องเส้น (Line) ทิศทาง (Direction) รูปทรงและรูปร่าง (Form & Shape) ขนาดและสัดส่วน (Size & Proportion) วัสดุและพื้นผิว (Material & Yexture) สีและค่าน้ำหนักอ่อนแก่ (Color & Tone) มวล (Mass) และที่ว่าง (Space)
2. หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์และหลักการออกแบบพื้นฐาน (COMPOSITION & BASIC DESIGN) ประกอบด้วยเรื่องดุลยภาพ (Balance) เรื่องเอกภาพ (Unity) เรื่องจังหวะ (Rhythm) เรื่องความกลมกลืน (Harmony) ความขัดแย้ง (Contrast) และเรื่องจุดเด่นในการจัดภาพ (Dominance)
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนมนุษย์กับการออกแบบ (Human Scale) ความเข้าใจสัดส่วนของส่วนประกอบของอาคารพื้นฐาน เช่นสัดส่วนของบันได ประตู หน้าต่าง ทางเดินเท้า หรือเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบกับสัดส่วนในการใช้งานของมนุษย์
4. ความรู้พื้นฐานเรื่องการจัดสวนและพันธุ์ไม้ ควรศึกษาเรื่องประเภทของพันธุ์ไม้ที่ใช้ในการจัดสวน เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ในร่ม ไม้แดด ไม้พุ่ม ไม้ในร่มเงา ฯลฯ
5. โครงสร้างอาคารพื้นฐาน (Basic Construction) เช่นส่วนประกอบของฐานราก พื้น หลังคา บันได ประตู หน้าต่าง ฯลฯ
6. ลักษณะของเรือนไทย (Thai Arch.) ประกอบด้วยเรื่อง โครงสร้างของเรือนไทย เหตุผลตามสภาพภูมิอากาศและประโยชน์ใช้สอยของสถาปัตยกรรมแบบไทย
7. สถาปัตยกรรมเมืองร้อน (Tropical Arch.) ประกอบด้วยเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมในเขตเมืองร้อน ได้แก่ ความร้อนและแสงแดด กระแสลม และการระบายอากาศ แสงสว่าง เสียง ความชื้น และฝุ่นละออง ควรศึกษาถึงลักษณะของสภาพแวดล้อมเหล่านี้ และการแก้ปัญหาในการลอกแบบสถาปัตย์
8. ประวัติศาสตร์และสถาปัตย์ตะวันตก ควรศึกษาลักษณะของสถาปัตยกรรมยุคสมัยต่าง ๆ เช่น ยุคก่อนประวัติศาสตร์, สมัยอียิปต์, สมัยเมโสโปเตเมีย, สมัยกรีก, สมัยโรมัน, สมัยคริสเตียน, สมัยไปเซนไทน์, สมัยโรมาเนสก์, สมัยโกธิค, สมัยเรอเนซองค์, สมัยบารอค รอคโคโค และการเข้ายุคใหม่
9. ประวัติศาสตร์ศิลปและสถาปัตย์ของไทย แบ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย (ทราราวดี, ศรีวิชัย และ ลพบุรี) และยุคประวัติศาสตร์ไทย (เชียงแสน, สุโขทัย, อู่ทอง, อยุธยา และรัตนโกสินทร์)
10. ทฤษฎีสี รวมเรื่องจิตวิทยาของสี และการใช้สีในงานสถาปัตยกรรม และงานออกแบบทั่วไป
11. การเขียนแบบพื้นฐาน ได้แก่ การเขียนภาพไอโซเมตริค (Isometric) การเขียนแบบแสดงรูปด้าน (Orthographic Projection) และการเขียนแบบทัศนียภาพ (Perspective)
12. การวาดเส้นและการลงน้ำหนักแสงเงา รวมถึงการใช้ลายเส้น หรือทีของดินสอ ในการแสดงแบบทางสถาปัตย์
13. หลักการเขียน ทัศนียภาพ และการเขียน PRESENTATION ต้องมีความเข้าใจเรื่องการจัดองค์ประกอบและมุมมองของภาพ และฝึกเขียนสิ่งที่ช่วยเสริมบรรยากาศ (Presentation) ให้ภาพดูมีชีวิตชีวา สมจริง ในแบบ (Style) ของงานสถาปัตยกรรม เช่น การเขียน คน รถยนต์ ต้นไม้
14. ฝึกทำข้อสอบ โดยใช้ข้อสอบเก่าของปีก่อน ๆ เพื่อให้รู้แนวทางของข้อสอบ

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

การปลูกมะละกอ

มะละกอ
          มะละกอเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทยในปัจจุบัน เนื่องจากนิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมากทั้งในรูปของผลไม้ดิบเพื่อปรุงเป็นอาหารคาวหวาน และบริโภคในรูปของผลไม้สุกก็ได้ นอกจากจะบริโภคกันภายในประเทศแล้วยังสามารถส่งมะละกอออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศปีละหลาย ๆ พันตัน ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละหลายสิบล้านบาททีเดียว และมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ
          มะละกอนอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวันแล้ว ยังสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลายด้าน ผลดิบนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงส้ม ส้มตำ สลัด มะละกอเชื่อม แช่อิ่ม ดองเค็ม หรือใช้ในโรงงานปลากระป๋อง ผลสุกนอกจากใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ทำน้ำผลไม้ ผลิตซ๊อส ผลไม้กระป๋อง ลูกกวาด แยม ส่วนเปลือกมะละกอใช้ทำเป็นอาหารสัตว์และสีผสมอาหาร และมะละกอยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่ง คือ มะละกอจะมีท่อยางอยู่ใกล้ ๆ บริเวณผิวของส่วนต่าง ๆ ของลำต้น เมื่อมะละกอโดนตัดหรือเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวไหลออกมา ซึ่งในยางสีขาวนี้จะมีน้ำย่อยชนิดหนึ่งซึ่งสามารถย่อยโปรตีนได้ และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมยา ฟอกหนัง เครื่องสำอาง เนื้อกระป๋อง ทำเบียร์และผลิตน้ำปลา
          มะละกอเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตรวดเร็ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถออกดอกและติดผลได้ตั้งแต่ในปีแรกที่เริ่มปลูก ให้ผลได้ตลอดทั้งปีและอาจมีอายุยืนถึง 15 ปี ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก จึงมีเกษตรกรไม่น้อยที่นิยมปลูกมะละกอเพื่อเป็นการค้า และยังนิยมปลูกมะละกอในบริเวณบ้านไว้รับประทานเองอีกด้วย

ประโยชน์ของมะละกอ
          มะละกอเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ผลมะละกอสามารถนำมาบริโภคได้ทั้งในรูปของผลดิบและผลสุก ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้มีรสหวาน ประกอบไปด้วยวิตามินเอ บี และซี นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กและแคลเซียม ช่วยในการระบายขับถ่ายได้ดี หรืออาจนำผลสุกไปแปรรูปเป็นซ๊อส แยม และมะละกออบแห้ง นอกจากนี้ผลสุกยังทำเป็นน้ำผลไม้ได้อีกด้วย ส่วนผลมะละกอดิบใช้รับประทานเป็นอาหารในรูปของผัก ปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ส้มตำ ทำสลัด หรือนำไปแปรรูปเป็นมะละกอแช่อิ่ม มะละกอเชื่อม มะละกอดอง ผลไม้กระป๋อง แยมหรือลูกกวาด รวมทั้งเนื้อมะละกอผง เปลือกของผลดิบใช้ทำสีผสมอาหารและส่วนผสมของอาหารสัตว์ สำหรับยางมะละกอนั้นจะมีสารที่เรียกว่า ปาเปน ซึ่งปาเปนนี้มีคุณสมบัติในการช่วยย่อยโปรตีน ทำให้อาหารประเภทเนื้ออ่อนนุ่ม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง เช่น เนื้อกระป๋อง อุตสาหกรรมเบียร์และการฟอกหนัง ส่วนของยอดและลำต้นมะละกอสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้

ลักษณะทั่วไป
          มะละกอจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้น แต่ถ้าปลูกในสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตและการพัฒนาแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 15 ปี เป็นไม้ผลที่มีรากเป็นระบบรากแก้ว ลำต้นค่อนข้างจะชุ่มน้ำ เนื้อไม้กลวงนอกจากตรงส่วนข้อ เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีความสูงอยู่ระหว่าง 2-10 เมตร ไม่ค่อยเกิดกิ่งแขนงบนลำต้น เจริญเติบโตเฉพาะส่วนยอด แต่ในบางครั้งอาจพบมีกิ่งแขนงแตกออกมาได้ในกรณีที่ส่วนยอดถูกทำลายหรือต้นล้ม และกิ่งแขนงดังกล่าวนั้นก็สามารถให้ดอกและผลได้
          ราก 
                    มะละกอมีระบบราก 2 ชนิดด้วยกัน คือ ระบบรากเดี่ยวหรือรากแก้ว และระบบรากแขนง ระบบรากเดี่ยวจะพบได้ในพืชใบเลี้ยงคู่ทั่ว ๆ ไป การงอกของเมล็ดนั้นอันดับแรกจะมีรากแรกงอกออกมาจากเมล็ดก่อน และรากแรกนั้นก็จะเจริญไปเป็นรากไพรมารี่ (Primary root) ต่อมารากไพรมารี่นี้เจริญไปเป็นรากแก้ว ส่วนระบบรากแขนงนั้นการงอกแรกสุดของเมล็ดก็เช่นเดียวกับการงอกแบบระบบรากเดี่ยว แต่แทนที่จะเจริญเป็นรากแก้วเพียงรากเดียวที่เห็นอย่างชัดเจน กลับแตกแขนงออกเป็น 2-3 ราก ขนาดใกล้เคียงกัน ลักษณะเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดเมื่อต้นมะละกออายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
                    อย่างไรก็ตาม ระบบรากของมะละกอไม่มีอิทธิพลต่อการแสดงเพศของมะละกอ ไม่ว่าต้นมะละกอจะมีระบบรากเป็นแบบใดก็ยังมีโอกาสแสดงเพศได้ทั้งเพศผู้ เพศเมียและกะเทย นอกจากนี้การตัดรากแก้วก็ไม่ก่อให้เกิดอิทธิพลใด ๆ ต่อการแสดงเพศและการเปลี่ยนเพศของมะละกอ
          ลำต้น
                    ลำต้นมะละกอมีลักษณะเป็นลำสูงชะลูดขึ้นไป ความสูงประมาณ 2-10 เมตร เป็นลำเดี่ยว ๆ ส่วนมากแล้วไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา เจริญเติบโตเฉพาะส่วนยอดเพียงอย่างเดียว นอกจากกรณีที่ส่วนยอดถูกทำลายหรือต้นล้มก็สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้ และกิ่งนั้นก็สามารถให้ดอกออกผลได้ ต้นมะละกอเป็นต้นไม้เนื้ออ่อนและอวบน้ำ ลักษณะลำต้นกลม รอบ ๆ ของลำต้นจะมีตาอันเป็นที่เกิดของดอกและใบ ภายในลำต้นมีลักษณะกลวงยกเว้นตรงส่วนข้อต่อ ขนาดของลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-13 เซนติเมตร เมื่อลำต้นยังเล็กจะเปราะและหักง่ายเพราะมีเนื้อเยื่อที่อ่อน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น 2-3 ปี เนื้อเยื่อเหล่านี้จะเหนียวและแข็งขึ้น ส่วนของลำต้นจะมีท่อน้ำท่ออาหารอัดแน่นอยู่เป็นจำนวนมากและมีเส้นใยน้อย ดังนั้น การควั่นกิ่งหรือลำต้นจึงไม่เป็นผลต่อต้นมะละกอ ไม่เหมือนกับพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดอื่น บริเวณส่วนปลายของลำต้นจะมีใบเกิดเรียงตัวกันแบบเกลียว มีรอยแผลของก้านใบตรงส่วนที่สัมผัสกับลำต้นให้เห็นอย่างชัดเจน
          ใบ
                    ใบมะละกอมีขนาดใหญ่และกว้างประมาณ 25-27 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านใบที่กลวงและยาวประมาณ 1 เมตร ลักษณะทั่วไปของใบมะละกอคล้ายกับใบปาล์มแต่มีผิวที่อ่อนนิ่มกว่า ก้านใบมีสีเขียวอ่อนหรือเจือสีม่วงขึ้นอยู่กับพันธุ์ แผ่นใบลักษณะคล้ายรูปหัวใจและเป็นแฉก ๆ แต่ละใบจะมีแฉกประมาณ 7-11 แฉก แฉกมีขนาดลึกและซี่กว้าง ปกติใบมะละกอจะเจริญอยู่เฉพาะบริเวณของลำต้น เพราะฉะนั้นไม่ควรปลูกมะละกอในพื้นที่ซึ่งมีลมแรงพัดผ่านเป็นประจำ เพราะใบจะต้านลมทำให้ลำต้นหักล้มได้ง่าย การเกิดของใบจะเรียงตัวกันเป็นเกลียว ใบของมะละกอเมื่อแก่จะมีสีเหลือง ใบล่างจะร่วงหล่นก่อน หมุนเวียนสลับกันไปตามลำดับความเจริญ
          ดอก
                    ดอกมะละกอเจริญเติบโตอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของลำต้น ดอกมะละกอทุกดอกจะเจริญออกมาตรงซอกเหนือก้านใบเสมอ ดอกอาจจะมีดอกเดียวหรือมากกว่าหนึ่งดอกในหนึ่งก้านดอก ดังนั้นการที่ต้นมะละกออุดมสมบูรณ์มีใบจำนวนมาก ๆ ย่อมจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยเสมอ ดอกมะละกอมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทย ต้นมะละกอที่ปลูกอาจเป็นเพศผู้ เพศเมีย และต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทยก็ได้ นอกจากนี้มะละกอหนึ่งต้นอาจจะมีดอกชนิดเดียวหรือสองชนิด หรือสามชนิดก็ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
                    1. ดอกตัวผู้
                    ลักษณะของต้นตัวผู้จะมีก้านช่อดอกยาวออกมาจากซอกใบ ปลายก้านช่อดอกประกอบไปด้วยดอกตัวผู้มากมาย ดอกตัวผู้มักจะมีก้านดอกยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกชนิดอื่น ดอกยาวประมาณ 1 นิ้ว รูปทรงกระบอก ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีสีเขียวและสั้นติดอยู่ที่ฐานดอก กลีบดอกมีสีขาวอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกทั้ง 5 กลีบจะเชื่อมติดกันตั้งแต่โคนดอก มาแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบที่ปลายดอก ทำให้ดูคล้ายกระบอกหรือหลอด มีเกสรตัวผู้ 10 อัน ตรงกลางดอกจะมีรังไข่เล็ก ๆ แต่ไม่มีปลายเกสรตัวเมียที่จะรับเอาละอองเกสรตัวผู้ได้ ดอกตัวผู้มักออกเป็นช่อ ในช่อหนึ่งมีหลายดอก ต้นตัวผู้จะไม่ให้ผลผลิต ยกเว้นในกรณีที่อากาศค่อนข้างหนาวและมีฝนตกต้นตัวผู้จะมีดอกกะเทยปะปนอยู่ ซึ่งสามารถติดผลได้ แต่ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตจะต่ำ ผลจะมีขนาดเล็ก ลักษณะยาวเรียวแหลมหรือคดงอไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่าเป็นต้นตัวผู้จึงควรตัดทิ้งเสีย
                    2. ดอกตัวเมีย
                    เจริญเติบโตติดอยู่กับฐานก้านใบ ไม่ยื่นยาวออกมาเหมือนดอกชนิดอื่น มีเฉพาะดอกตัวเมียเท่านั้นไม่มีดอกชนิดอื่นปนอยู่ อาจจะเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม 2-3 ดอกรวมกันเป็นกระจุกก็ได้ ดอกตัวเมียเป็นดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ก้านดอกสั้น มีกลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบแยกออกจากกันชัดเจนตั้งแต่โคนกลีบ เมื่อคลี่กลีบดอกออกมาจะเห็นรังไข่เป็นกระเปาะสีขาวนวลเล็ก ๆ มีรูปร่างป้อม ส่วนปลายรังไข่มีที่รองรับละอองเกสรตัวผู้เป็นแฉกเล็ก ๆ 5 แฉก ที่สำคัญคือไม่มีเกสรตัวผู้ ดังนั้นดอกตัวเมียจะต้องอาศัยเกสรตัวผู้จากต้นอื่นมาผสมจึงจะติดผลได้ ถ้าไม่ได้รับการผสมก็จะหลุดร่วงไป ยกเว้นบางต้นอาจเกิดผลได้โดยไม่ต้องได้รับการผสม ผลที่เกิดจากดอกตัวเมียมักมีลักษณะกลม ผลใหญ่ ลักษณะผลเป็น 5 พูโดยรอบผล แต่ข้อเสียคือ เนื้อบาง มีช่องว่างภายในผลมาก ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก นิยมใช้ประโยชน์ตอนเป็นผลดิบ
                    3. ดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทย
                    เป็นดอกที่รวมเอาลักษณะของดอกตัวผู้และดอกตัวเมียมาไว้ด้วยกัน คือมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ดอกกะเทยเกิดอยู่บริเวณง่ามใบ มีก้านดอกสั้น จะสังเกตเห็นเป็นดอกเล็ก ๆ ติดกันเป็นกลุ่ม ลักษณะของดอกโดยทั่วไปจะคล้ายกับดอกตัวเมีย แต่มักจะมีขนาดเล็กกว่า และส่วนโคนของดอกจนถึงส่วนกลางของดอกจะติดกัน แล้วจึงไปแยกออกจากกันตอนปลายกลีบ ถ้าคลี่กลีบดอกออกมาจะพบว่าภายในประกอบด้วยรังไข่และเกสรตัวผู้สีเหลือง 5-10 ชุด แล้วแต่ประเภทของดอก ดอกกะเทยสามารถเจริญเติบโตไปเป็นผลได้ด้วยการผสมตัวเอง ผลมะละกอที่จำหน่ายกันทั่วไปในท้องตลาดเป็นผลที่เกิดจากดอกกะเทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งดอกมะละกอสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทด้วยกันตามตำแหน่งของเกสรตัวผู้
                              1. ดอกกะเทยแบบอีลองกาต้า
                              ผลที่เกิดจากดอกประเภทนี้จะมีทรงผลค่อนข้างยาว หัวและท้ายผลมีขนาดเท่า ๆ กันหรือทรงกระบอก ช่องว่างภายในผลมีน้อยหรือเกือบตัน เนื้อหนา และมีเมล็ดน้อย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดปัจจุบัน
                              2. ดอกกะเทยแบบเพนแทนเดรีย
                              ผลที่เกิดจากดอกชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่ ทรงผลป้านหรือค่อนข้างยาว ตอนปลายใหญ่กว่าตอนขั้วผล มีร่องเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ผล ขนาดของผลเหมาะสำหรับร้านอาหารหรือใช้ในอุตสาหกรรม
                              3. ดอกกะเทยแบบอินเตอร์มีเดียท
                              รูปทรงของผลจะบิดเบี้ยว คด ๆ งอ ๆ ผลมีขนาดเล็ก ทรงผลไม่สวย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

         

         ผล
                    ผลมะละกอเป็นแบบผลเดี่ยว มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร อาจมีน้ำหนักมากถึง 9 กิโลกรัม ผลมะละกอมีผิวเปลือกบางเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียวหรือเขียวคล้ำ แต่เมื่อสุกผิวผลจะมีสีเหลืองหรือเหลืองส้ม เนื้อมีสีส้มหรือส้มปนแดง เนื้อรับประทานได้ มีรสชาติอร่อย ตรงกลางผลมีช่องว่าง
                    สำหรับรูปร่างของผลนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของดอก คือ ผลที่เกิดจากดอกเพศเมียจะมีรูปร่างป้อมกลม เนื้อบาง ช่องว่างภายในผลกว้าง ส่วนผลที่เกิดจากดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทยจะมีลักษณะแตกต่างกันตามแบบของดอก นั่นคือ ผลที่เกิดจากดอกเพนแทนเดรีย มีรูปร่างป้อม มีร่องลึกเกิดตรงแนวเดียวกันกับตำแหน่งของเกสรตัวผู้ทั้ง 5 อัน และมีรอยแผลเป็นเกิดจากกลีบดอกเป็นรอยชัดเจนบริเวณฐานของผล ผลที่เกิดจากดอกแบบอีลองกาต้า มีรูปร่างยาว ซึ่งตลาดต้องการผลชนิดนี้มากกว่าผลชนิดอื่น ช่องว่างภายในผลแคบ รอยแยกของพูรังไข่ภายในผลมีขนาดเล็ก และผลที่เกิดจากดอกแบบอินเตอร์มีเดียท ผลมีรูปร่างผิดปกติ คือ มีรอยคล้ายแผลที่เชื่อมติดกันอยู่ตรงด้านใดด้านหนึ่ง เรียกว่า Catface ซึ่งรอยนี้เกิดจากเกสรตัวผู้ที่เชื่อมติดกับเกสรตัวเมีย หรืออาจเกิดจากเกสรตัวเมียที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง
          เมล็ด
                    มะละกอมีเมล็ดอยู่ภายในผลจำนวนมาก เมล็ดจะติดอยู่กับผนังด้านในของผล เมล็ดจะมีรูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร สีดำหรือสีเทา ผิวเปลือกย่น รอบ ๆ เมล็ดจะมีสารชนิดหนึ่งที่เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ มีชื่อว่า กีลาติน ในการเก็บเมล็ดไว้ควรล้างสารชนิดนี้ออกให้หมดเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้วสารชนิดนี้จะดูดความชื้นจากบรรยากาศมาเก็บไว้ และจะทำให้เกิดเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะเสียและเปอร์เซ็นต์ของความงอกลดน้อยลง คัพภะมีขนาดกลางและมีลักษณะตรง ใบเลี้ยงแบนรูปร่างเป็นรูปไข่ อาหารเลี้ยงคัพภะจะอยู่ล้อมรอบใบเลี้ยง น้ำหนัก 1 กรัม จะมีเมล็ดแห้งจำนวนประมาณ 20 เมล็ด

พันธุ์มะละกอ
          พันธุ์มะละกอที่ปลูกในประเทศไทยระยะแรกเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต่อมาได้มีการปลูกมะละกอกันอย่างแพร่หลายและมีการผสมพันธุ์ปะปนกัน จึงเกิดเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างออกไปจากเดิมมาก และได้มีการคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะดีมาปลูกต่อ ๆ กัน จนกลายเป็นพันธุ์มะละกอของไทยมากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน การปลูกมะละกอในท้องถิ่นใดนั้นควรเลือกใช้พันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมที่จะปลูกในท้องถิ่นนั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมาก สำหรับพันธุ์มะละกอที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันมีดังนี้
          1. พันธุ์โกโก้ เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ลักษณะของลำต้นแข็งแรง เตี้ย อวบ ออกดอกติดผลเร็ว ลำต้นอ่อนมีสีม่วงอยู่ประปราย เมื่อโตแล้วจุดประอาจจะหายไปหรือยังอยู่ ก้านใบยาวมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีม่วงเข้ม หรือสีเขียวอ่อน พวกที่มีก้านใบสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวจะสังเกตเห็นจุดประสีม่วงตามบริเวณลำต้นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในขณะที่ต้นอายุยังน้อย พันธุ์นี้มีดอกตัวผู้มากดอกกะเทยน้อย ผลมีขนาดปานกลาง ลักษณะค่อนข้างยาว บริเวณปลายผลโป่งออกเป็นสะโพกเห็นได้ชัด หัวผลเรียว ผิวผลเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียว เนื้อแน่นแข็ง หนากรอบ เมื่อสุกเนื้อจะมีสีแดงอมชมพู มีรสหวาน เหมาะสำหรับบริโภคผลสุก ช่องว่างภายในผลแคบ เมล็ดมีขนาดใหญ่สีเทาถึงเหลือง ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงเฉลี่ยประมาณ 16 กิโลกรัมต่อต้น เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 8-9 เดือน ทุกรุ่นที่ปลูกจะเป็นมะละกอตัวเมียประมาณ 20% เป็นมะละกอกะเทย 80%
          2. พันธุ์แขกดำ เป็นอีกพันธุ์หนึ่งที่ชาวสวนนิยมปลูกกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะให้ผลผลิตสูง เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ลำต้นแข็งแรง ก้านใบสีเขียวอ่อนสั้นและแข็งแรง ก้านใบตั้งตรง ใบหนากว่าพันธุ์อื่น ๆ มีเส้นใบ 9-11 แฉก ออกดอกติดผลเร็ว ผลมีขนาดปานกลาง หนักประมาณผลละ 1 กิโลกรัม ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอกคือ ส่วนหัวและส่วนปลายผลมีขนาดใกล้เคียงกัน ผิวผลสีเขียวแก่หรือสีเขียวเข้ม เนื้อหนาแน่นละเอียด ขณะผลดิบเนื้อจะกรอบใช้ทำส้มตำได้ดี ผลสุกเนื้อจะมีสีแดงเข้มและมีรสหวานอร่อย ช่องว่างในผลแคบหรือแทบจะไม่มีเลย มีเมล็ดจำนวนน้อย มะละกอพันธุ์แขกดำนิยมใช้รับประทานกันทั้งผลดิบและผลสุก
          3. พันธุ์แขกนวล เป็นพันธุ์มะละกอที่เกิดขึ้นในภายหลังและนิยมปลูกกันมากในแถบอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูป ลักษณะต้นเตี้ย ใบมีสีเขียวเข้ม ผลมีขนาดปานกลางเช่นเดียวกับพันธุ์แขกดำ แต่สีเปลือกผลจะอ่อนกว่าพันธุ์แขกดำและผิวของผลเห็นเป็นสีนวลอย่างชัดเจน ผลมีลักษณะกลมยาว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมต่อผล เมื่อผลสุกเนื้อจะมีสีแดงส้มหรือสีเหลืองเข้ม รสหวาน เปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 13.44 องศาบริกซ์ เมล็ดมีขนาดใหญ่สีดำ เหมาะสำหรับรับประทานผลสุก
          4. พันธุ์สายน้ำผึ้ง เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย พบเห็นบ่อย ๆ ในตลาดในรูปของผลสุก ในระยะออกดอกก้านใบมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวปนขาว ก้านใบยาวกว่าพันธุ์แขกดำแต่แข็งแรงน้อยกว่า ก้านใบมีลักษณะเอนลงสู่พื้น ใบกว้างแต่บาง มีช่องว่างระหว่างข้อยาว ผลค่อนข้างใหญ่ รูปร่างผลกลม แคบ หัวแหลมปลายแหลม ปลายผลจะใหญ่กว่าส่วนหัวเล็กน้อย ความยาวของผลเฉลี่ยประมาณ 29 เซนติเมตร แต่อาจยาวถึง 50 เซนติเมตรก็เป็นได้ มีร่องระหว่างพูให้เห็นเป็นเหลี่ยมอย่างชัดเจน เปลือกมีสีเขียว เปลือกบางกว่าเปลือกของพันธุ์แขกดำ เนื้อหนาเนื้อแน่น เมื่อผลสุกเนื้อจะมีสีส้มปนเหลือง หรือสีแดงปนส้ม รสหวาน เก็บไว้ได้ไม่นานเพราะเนื้อเละง่าย ช่องว่างภายในผลปานกลาง มีเมล็ดมาก มะละกอพันธุ์นี้เหมาะที่จะใช้บริโภคผลสุก
          5. พันธุ์ปากช่อง เป็นพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์มะละกอของสถานีวิจัยปากช่อง ลักษณะก้านใบมีสีเขียวปนม่วง ยาว 70-75 เซนติเมตร ใบมี 7 แฉกใหญ่ กว้าง 50-60 เซนติเมตร เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 8 เดือน ออกดอกเป็นช่อ มีดอกตัวผู้น้อย ดอกกะเทยมาก ติดผลดก ลักษณะผลเล็กยาวตรงกลางเว้าเล็กน้อย ถ้าไม่มีการปลิดผลอ่อนทิ้งจะทำให้ผลดกและมีขนาดเล็กลง เฉลี่ยประมาณ 0.21 กิโลกรัมต่อผล แต่มีบางต้นให้ผลโตถึงขนาด 0.5-0.6 กิโลกรัมต่อผล เมื่อผลสุกเนื้อมีสีส้ม เนื้อหนาและมีความหวานสูง เปอร์เซ็นต์ความหวานสูงถึง 16.02 องศาบริกซ์ เนื้อไม่เละ เมล็ดมีสีดำขนาดเล็ก เหมาะสำหรับบริโภคสุกและส่งตลาดต่างประเทศ เพราะเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะหลายประการตรงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และค่อนข้างทนทานต่อโรคใบด่าง
          6. พันธุ์จำปาดะ เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันพอสมควร มีลำต้นใหญ่ อวบ แข็งแรง ใบและก้านใบมีสีเขียวอ่อน ออกดอกติดผลค่อนข้างช้ากว่าพันธุ์โกโก้และพันธุ์แขกดำ ผลมีขนาดใหญ่ลักษณะยาว ผลดิบมีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกเนื้อจะมีสีเหลือง เนื้อค่อนข้างบางกว่าพันธุ์อื่น ๆ และเนื้อไม่แน่น
          7. พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมานาน ปลูกกันทั่วไปแต่ปลูกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้ปลูกเป็นการค้าหรือคัดเลือกพันธุ์ปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น ปล่อยไปตามธรรมชาติทุกอย่าง ดังนั้นพันธุ์พื้นเมืองจึงมีลักษณะไม่ค่อยแน่นอนทั้งลักษณะของผลและลำต้น แต่โดยทั่วไปแล้วพันธุ์พื้นเมืองผลค่อนข้างเล็ก ทรงผลกลม เนื้อบาง ช่องว่างในผลกว้าง เมื่อสุกเนื้อจะออกสีเหลืองและเนื้อค่อนข้างเละ จึงไม่นิยมบริโภคผลสุก มักใช้ประโยชน์จากผลดิบมากกว่า พันธุ์พื้นเมืองมักออกดอกติดผลช้า แต่มีข้อดีที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เพราะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นมานาน ถึงแม้จะปลูกกันมานานแล้วก็ตามแต่ไม่นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางจริงจังนัก และกำลังถูกพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีกว่าเข้ามาแทนที่เรื่อย ๆ ปัจจุบันยังหาได้ในท้องถิ่นที่ห่างไกล

การเพาะเมล็ดมะละกอ
          การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ประกอบกับเป็นพืชที่มีการผสมเปิดซึ่งมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่าย ดังนั้น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง หลักการคัดเลือกมะละกอไว้ทำพันธุ์มีดังนี้คือ
          1. ควรคัดเลือกจากสวนที่ปลูกมะละกอพันธุ์ดี เชื่อถือได้ และเป็นสวนที่ไม่มีพันธุ์อื่นปลูกปะปนอยู่ด้วย
          2. มีลำต้นที่แข็งแรง ตั้งตรง อวบ ปล้องถี่ ต้นไม่โค่นล้มง่าย ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย เป็นต้นที่มีดอกกะเทย ให้ดอกและให้ผลได้ในขณะที่ต้นยังเตี้ย ๆ อยู่ สามารถให้ผลผลิตสูงเป็นเวลานาน
          3. เป็นต้นที่ให้ดอกและผลเร็ว ให้ผลดกสม่ำเสมอไม่ขาดช่วง โดยสังเกตเห็นว่าจะมีผลติดอยู่เต็มคอตั้งแต่ผลขนาดเล็กบริเวณยอดไล่ลงมาถึงผลขนาดใหญ่ ให้ผลที่มีรูปร่างยาว ได้สัดส่วน ตรงตามพันธุ์ ไม่บิดเบี้ยวหรือผิดปกติปะปนอยู่ในต้นหรือต้นใกล้เคียง
          4. คัดเลือกผลที่มีลักษณะดี คือ ผลมีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เป็นผลที่แก่จัดและสุกเต็มที่แต่ไม่ถึงกับสุกงอมเกินไป เพราะเมล็ดอาจงอกอยู่ภายในแล้ว ผิวเรียบเป็นมัน เนื้อแน่นหนา มีรสหวาน ช่องว่างภายในผลแคบ

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
          หลังจากคัดเลือกได้ผลมะละกอพันธุ์ดีตามต้องการแล้ว ให้นำผลนั้นมาผ่าตามความยาวของผลแล้วควักเมล็ดออกมาลักษณะเมล็ดจะเป็นสีดำ เมล็ดที่ได้นั้นอาจนำไปเพาะเลยก็ได้ แต่จะมีอัตราการงอกของเมล็ดต่ำ เพราะเยื่อเมือกที่หุ้มเมล็ดชั้นนอกอยู่นั้นมีสารยับยั้งการงอกอยู่ และมักมีมดเข้ารบกวนอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูงขึ้นจึงควรล้างเมล็ดให้สะอาดหมดเมือกหุ้มเสียก่อน โดยการเอามือขยี้เยื่อเมือกหุ้มเมล็ดออกให้หมด หรือเอาเมล็ดที่รวบรวมมาจากผลใส่ในถ้วยหรือกะละมัง ใส่น้ำให้ท่วมเมล็ด ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมงเยื่อหุ้มเมล็ดจะเน่าหลุดง่าย ใช้มือขยี้เยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เยื่อหุ้มเมล็ดและสิ่งสกปรกหลุดไป เมล็ดที่ล้างสะอาดแล้วนี้สามารถนำไปเพาะได้ทันที เมล็ดที่ล้างเมือกออกแล้วเมื่อนำไปเพาะจะงอกเร็วกว่าและเปอร์เซนต์การงอกสูงกว่าเมล็ดที่มีเมือกหุ้มอยู่
          กรณีต้องการเก็บเมล็ดไว้เพาะในโอกาสต่อไปควรนำเมล็ดที่เอาเมือกออกแล้วมาผึ่งไว้ในที่ร่มให้แห้งสนิท เมื่อเมล็ดแห้งดีแล้วนำไปคลุกยาป้องกันเชื้อราให้ทั่ว เช่น แมนโคเซฟ หรือ เบโนมิล อัตรา 1 ช้อนแกงต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม แล้วเก็บเมล็ดใส่ไว้ในถุงพลาสติกผูกปากถุงให้แน่นแล้วนำไปเก็บไว้ในที่แห้งหรือเย็น หากต้องเก็บไว้ในตู้เย็นให้เก็บไว้ในช่องเก็บผัก ปกติแล้วเมล็ดมะละกอจะเสื่อมความงอกได้ง่ายหากเก็บไว้ในสภาพอากาศปกติ การเก็บเมล็ดมะละกอไว้ในถุงผ้าที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ความชื้น 60 % จะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 ปี

วิธีการเพาะ
          ปัจจุบันการปลูกมะละกอทำได้โดยการเพาะเมล็ดลงในหลุมปลูกโดยตรง หรือเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายลงปลูกในแปลง แต่ในการปลูกมะละกอเป็นจำนวนมากหรือปลูกเป็นการค้าไม่ควรใช้วิธีการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง เนื่องจากต้นกล้าที่งอกใหม่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในขั้นแรกสูง การหยอดเมล็ดลงปลูกในแปลงเลยทำให้ไม่สะดวกต่อการดูแลรักษา ดังนั้น การเพาะกล้าและเตรียมต้นกล้าให้แข็งแรงก่อนแล้วจึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูกจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเพาะเมล็ดมะละกอไม่ว่าด้วยวิธีใด สถานที่เพาะควรเป็นที่กลางแจ้งไม่มีต้นไม้หรือวัสดุอื่นใดบังแสงแดด ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ เพื่อให้ต้นกล้าอวบ แข็งแรง ต้นเตี้ย ทนทานต่อโรคได้ดีกว่า ไม่ควรเพาะเมล็ดมะละกอในที่ร่มหรือที่รำไร จะทำให้ต้นกล้าผอมสูง อ่อนแอ เน่าตายได้ง่าย หรือเมื่อย้ายลงปลูกจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้ต้นกล้าตายมาก การเพาะกล้าและเตรียมต้นกล้ามะละกอสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
          1. การเพาะเมล็ดในถุงพลาสติก
          เป็นวิธีที่ทำได้สะดวกไม่ต้องเสียเวลาย้ายต้นกล้าอีก เหมาะสำหรับกรณีที่เพาะเมล็ดมะละกอจำนวนไม่มากนัก ใช้ถุงพลาสติกสีดำ ดินที่ใช้เพาะเมล็ดนั้นควรมีลักษณะร่วนโปร่ง โดยใช้ดิน 3 ส่วน ทราย 1 ส่วน และปุ๋ยคอก 2 ส่วน ถ้าทำได้ให้เผาหรือคั่วดินเพาะเสียก่อน เพื่อกำจัดโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในดินให้หมดไป โดยเฉพาะเชื้อโรคเน่าคอดิน โรคโคนเน่า ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงของต้นกล้า ถ้าไม่เผาหรือคั่วดินก็ให้ตากดินหลาย ๆ วัน กลับกองดินไปมาให้โดนแดดอย่างทั่วถึง ส่วนปุ๋ยคอกนั้นควรเป็นปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้วและไม่ร้อน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วนำดินที่ผสมใส่ลงในถุงพลาสติกขนาด 5 x 8 นิ้ว ที่เจาะรูระบายน้ำเรียบร้อยแล้วประมาณ 4 รู ให้เหลือขอบบนของถุงไว้ประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกขณะรดน้ำ หยอดเมล็ดลงในถุง ๆ ละ 3 - 4 เมล็ด เอาดินกลบให้หนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นนำไปตั้งเรียงไว้กลางแจ้ง รดน้ำทุกเช้าและเย็น เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะประมาณ 10 - 14 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ให้เลือกถอนต้นกล้าที่อ่อนแอออกไป เหลือไว้เฉพาะต้นที่แข็งแรง 1 - 2 ต้น เลี้ยงต้นกล้าจนแข็งแรงดีจึงย้ายลงปลูกในแปลงได้ ปกติแล้วต้นกล้าจะสามารถย้ายลงปลูกในแปลงได้เมื่ออายุประมาณ 45 - 60 วันหลังจากเริ่มเพาะ หรือมีใบจริง 4 - 6 ใบ ไม่ควรปล่อยต้นกล้าไว้ในถุงนานเกินไปเพราะรากจะขดเป็นวง รากไม่กระจาย ซึ่งจะทำให้ต้นมะละกอเมื่อโตขึ้นล้มได้ง่าย
          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเพาะเลี้ยงต้นกล้าอาจเร่งการเจริญเติบโตของต้นกล้าโดยใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 ที่มีธาตุอาหารรอง ในอัตราส่วน 2 ช้อนแกงผสมกับน้ำ 20 ลิตร และผสมยาจับใบเข้าไปด้วย ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน โดยฉีดพ่นครั้งแรกหลังจากถอนต้นกล้าที่อ่อนแอออกไปแล้ว นอกจากนี้ควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราพวกแมนโคเซฟผสมกับยาป้องกันกำจัดแมลงประเภทโมโนโครโตฟอสและยาจับใบ ฉีดพ่นครั้งแรกเมื่อเริ่มงอกและหลังจากนั้นฉีดพ่นทุก ๆ 10 วัน จนกระทั่งย้ายกล้าลงปลูกในแปลง
          2. การเพาะเมล็ดในกระบะเพาะหรือแปลงเพาะ
          ในกรณีที่ต้องการเพาะเมล็ดมะละกอจำนวนมาก ๆ ควรเพาะในกระบะเพาะเสียก่อน แล้วย้ายกล้าลงถุงพลาสติกทีหลัง เพื่อจะได้เลือกเอาเฉพาะต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงไปปลูก

          กระบะเพาะอาจใช้ตะกร้าพลาสติกหรือทำด้วยไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดตามต้องการ ลึกอย่างน้อย 6 นิ้ว ด้านล่างตีไม้ห่าง ๆ ให้ระบายน้ำได้ดี รองก้นด้วยอิฐหัก ปูทับด้วยฟ่าง ใส่วัสดุเพาะลงไปจนเกือบเต็มกระบะ วัสดุเพาะประกอบด้วยทรายหยาบและขี้เถ้าแกลบหรือปุ๋ยคอกอย่างละเท่า ๆ กันคลุกเคล้าให้เข้ากันดี เมื่อใส่วัสดุเพาะแล้วให้รดน้ำจนยุบตัวดี แล้วจึงลงมือเพาะได้
          แปลงเพาะควรให้ความยาวของแปลงอยู่ในแนวทิศเหนือใต้ เป็นแปลงดินยกสูง เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี หลังแปลงโค้งเล็กน้อยและปรับปรุงดินให้ร่วนซุยมากที่สุด โดยการผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มาก ๆ ตากดินหลาย ๆ วัน หรือคลุมด้วยฟางแล้วจุดไฟเผาเพื่อทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ในดิน ก่อนลงมือเพาะควรปรับแต่งหน้าดินให้เรียบสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำขังเป็นจุด ๆ ในแปลงเพาะ และรดน้ำให้ดินยุบตัว
          วิธีการเพาะเมล็ดในกระบะหรือแปลงเพาะ ให้เพาะเป็นแถวโดยใช้ไม้เล็ก ๆ ขีดลากตามความยาวของกระบะหรือแปลงเพาะให้เป็นร่องลึกประมาณ 0.5 นิ้ว ห่างกันแถวละ 2 - 3 นิ้ว จากนั้นหยอดเมล็ดลงไปในร่องทีละเม็ดห่างกันประมาณ 1 นิ้วต่อเมล็ดตลอดทุกร่อง กลบเมล็ดบาง ๆ ใช้น้ำผสมกับยาฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน 85 รดให้ชุ่มทั่วแปลง เพื่อป้องกันมดมาคาบเมล็ด หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่มทุกเช้าและเย็นด้วยฝักบัวฝอยละเอียด แต่อย่ารดให้แฉะประมาณ 10 - 14 วัน เมล็ดจะงอกโผล่พ้นดิน เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 - 3 ใบหรือประมาณ 20 วันหลังจากเพาะ จึงทำการย้ายไปปลูกในถุงพลาสติกขนาด 5 x 8 นิ้ว ถุงละ 1 ต้น โดยเลือกเอาเฉพาะต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ต้นที่อ่อนแอหรือโตช้าให้ถอนทิ้งหรือปล่อยไว้ในแปลงหรือกระบะเพาะก่อน เก็บไว้ย้ายในรุ่นต่อไป หากย้ายต้นกล้าที่มีอายุมากกว่านี้ต้นกล้าจะได้รับความกระทบกระเทือนและมีโอกาสตายมากขึ้น ในระหว่างนี้ควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง และให้ปุ๋ยช่วยเร่งการเจริญเติบโตด้วย
          การย้ายกล้าลงถุงพลาสติกควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยใช้มีดหรือไม้บาง ๆ แทงลงไปในดินห่างต้นพอสมควร แล้วงัดขึ้นทั้งดินและต้นกล้าให้มีดินติดมาที่รากมากที่สุดเพื่อให้ตั้งตัวได้เร็ว เปอร์เซ็นต์รอดสูง ดินที่ใช้ปลูกต้นกล้าต้องเป็นดินดี ร่วนซุย เมื่อปลูกเสร็จให้นำถุงมาเรียงกัน รดน้ำทุกวันเช้าเย็น เลี้ยงต้นกล้าจนกระทั่งสูงประมาณ 1 คืบ หรือประมาณ 30 วันหลังจากย้ายปลูก จึงนำไปปลูกในแปลงจริงได้ สำหรับต้นกล้าที่ย้ายลงปลูกใหม่ ๆ อาจเหี่ยวเฉาบ้างตอนแดดจัด ควรหาทางมะพร้าวบังแดดให้บ้างในช่วงเวลา 12.00 - 14.00 น. ประมาณ 4 - 5 วัน ต้นกล้าก็จะฟื้นตัวแข็งแรงจึงเอาที่พรางแสงออก
          3. การเพาะเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง
          การเพาะเมล็ดด้วยวิธีนี้ไม่ค่อยนิยมมากนัก มีข้อดีที่ไม่ต้องเสียเวลาในการย้ายต้นกล้าปลูก และการสูญเสียจากการกระทบกระเทือนในการย้ายต้นกล้าแทบไม่มี แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องมีเวลามากพอในการรดน้ำในระยะแรก ซึ่งอาจต้องเปลืองเวลาและแรงงาน การดูแลอาจไม่ทั่วถึง ทำให้ต้นกล้าตายมาก การเพาะแบบนี้ให้เตรียมหลุมตามระยะปลูกจริง ปรับปรุงดินในหลุมปลูกให้ดี แล้วหยอดเมล็ดมะละกอหลุมละ 3 - 4 เมล็ด ห่างกันพอสมควร รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 10 - 14 วัน ต้นมะละกอจะงอกโผล่พ้นดิน
          หลังจากต้นกล้างอก 1 - 2 สัปดาห์ ให้ถอนต้นที่ไม่แข็งแรงออกให้เหลือ 2 - 3 ต้นต่อหลุม และหลังจากงอกได้ 1 เดือน ถอนแยกต้นกล้าอีกครั้ง ให้เหลือเฉพาะต้นที่แข็งแรงเพียงต้นเดียวต่อหลุม ในกรณีที่แน่ใจว่าเมล็ดพันธุ์นั้นได้คัดเลือกมาอย่างดีแล้ว แต่ถ้าไม่แน่ใจให้เหลือไว้ 2 ต้นต่อหลุมจนกระทั่งอายุได้ 4 เดือนหรือ 100 วันขึ้นไปต้นมะละกอจะแสดงเพศออกมาให้เห็น ให้เลือกไว้เฉพาะต้นกะเทยหรือต้นตัวเมียเพียงต้นเดียวเท่านั้น

การเลือกพื้นที่ปลูก
          มะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินฟ้าอากาศทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถปลูกได้ในดินทั่วไปตั้งแต่ดินเหนียวจนถึงดินทราย โดยเฉพาะมะละกอที่ปลูกเพื่อบริโภคผลดิบ หรือการปลูกเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนก็ยิ่งง่ายต่อการเลือกสถานที่ปลูก ส่วนการปลูกมะละกอในปริมาณมาก ๆ หรือปลูกเป็นการค้าซึ่งต้องลงทุนมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิถีพิถันในการเลือกพื้นที่ปลูกบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการปลูกเพื่อส่งจำหน่ายต่างประเทศก็ยิ่งต้องพิถีพิถันในเรื่องคุณภาพของผลผลิตมากยิ่งขึ้น การเลือกพื้นที่ปลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่จะทำให้การปลูกมะละกอนั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
          สภาพพื้นที่
          สภาพพื้นที่ปลูกมะละกอต้องน้ำท่วมไม่ถึงหรือน้ำขังแฉะ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ไม่มีความทนทานต่อการถูกน้ำท่วมเลย หากน้ำท่วมโคนต้นเพียง 1 - 2 วัน มะละกอก็จะตายหมด โดยเฉพาะมะละกอต้นเล็ก ๆ จะยิ่งอ่อนแอต่อสภาพน้ำท่วมมาก ต้นมะละกอที่ถูกน้ำท่วมหรือน้ำขังแฉะโคนต้นจะชะงักการเจริญเติบโต ใบเหลือง และอาจตายหมด ถ้าไม่ตายก็ฟื้นตัวใหม่ได้ยาก ดังนั้น การปลูกมะละกอในที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมเป็นประจำจะต้องหาทางป้องกันไว้ก่อน เช่น การปลูกแบบยกร่องหรือมีคันคูป้องกันน้ำ
          ดิน
          มะละกอสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ตั้งแต่ดินเหนียวจนกระทั่งดินทราย แต่ดินที่เหมาะสมคือ ดินร่วนปนทราย ลักษณะโปร่ง มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขังแฉะ สำหรับดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายควรปรับปรุงดินให้ร่วนซุยเสียก่อน และควรทำการยกเป็นคันร่องเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ ส่วนดินทรายหรือทรายจัดไม่เหมาะที่จะใช้ปลูกมะละกอ เพราะต้นโค่นล้มได้ง่ายเมื่อฝนตกหนักหรือลมพัดแรง หากจำเป็นต้องปลูกในสภาพดินทรายจะต้องปรับปรุงดินโดยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดินมาก ๆ เสียก่อน สภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะละกอคือ ดินที่มีสภาพเป็นกลางหรือกรดอ่อน ๆ และมะละกอจะไม่ชอบดินที่เป็นกรดหรือด่างจัด ระดับ pH ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 6 - 7
          ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการปลูกมะละกอ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็วจึงต้องการธาตุอาหารมาก ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีชั้นดินลึกจะใช้ปลูกมะละกอได้ผลดี การปลูกมะละกอในดินปนทรายหรือดินทรายที่มีชั้นหน้าดินน้อยและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรจะได้ทำการบำรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารและปรับสภาพดินให้สามารถดูดซับความชื้นและช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารที่มีอยู่ให้แก่มะละกอได้ดียิ่งขึ้น ปกติรากมะละกอไม่ได้หยั่งลงลึกมากนัก เพราะรากส่วนใหญ่เป็นรากแขนงที่แตกขนานไปกับผิวดิน ดังนั้นหน้าดินปลูกจึงไม่จำเป็นต้องลึกมากเช่นไม้ผลชนิดอื่น ๆ แต่ต้องลึกเพียงพอที่จะให้รากเกาะยึดได้แน่นไม่โค่นล้มได้ง่ายเมื่อฝนตกหรือลมพัดแรง ดินบางแห่งมีดินดานอยู่ด้านล่างในระดับตื้น ๆ ดินดานนี้จะเป็นตัวกีดกันไม่ให้น้ำซึมลงดินชั้นล่างได้ ทำให้ดินอุ้มน้ำได้น้อย ต้องคอยรดน้ำอยู่เสมอ และถ้าฝนตกหนัก ๆ ดินลักษณะดังกล่าวจะอิ่มน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ดินอ่อนตัว ทำให้ต้นมะละกอโค่นล้มได้ง่ายเช่นกัน
          น้ำ
          มะละกอเป็นพืชอวบน้ำ ลำต้นประกอบด้วยน้ำประมาณ 80 % จึงต้องการน้ำในปริมาณมาก การปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีนั้นจะต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้รดต้นมะละกอด้วย มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดีถ้าได้รับน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างให้เกิดใบใหม่ขึ้นตลอดฤดูปลูก และดอกมะละกอจะเกิดขึ้นได้เฉพาะตรงโคนใบด้านบนของใบที่เกิดใหม่เท่านั้น การแตกใบใหม่อยู่เรื่อย ๆ จะเป็นการเพิ่มผลผลิตไปในตัว มะละกอที่ขาดน้ำหรือน้ำมีไม่เพียงพอจะชะงักการเจริญเติบโต ส่วนยอดเรียวเล็กลง ใบเล็ก ผลเล็ก ติดผลน้อย ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ต้นมะละกอที่ขาดน้ำจะให้ดอกตัวผู้มาก หรือดอกที่ออกมานั้นเป็นหมันมาก ทำให้การติดผลมีน้อย และถึงแม้ต้นมะละกอจะได้รับน้ำอย่างเพียงพอในภายหลังก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกหรือต้องใช้เวลานานจนกว่าจะฟื้นตัวเป็นปกติ ดังนั้น จึงควรมีแหล่งน้ำที่สามารถให้แก่มะละกอได้ตลอดทั้งปี ซึ่งอาจจะเป็นน้ำจากระบบชลประทาน แม่น้ำหรือลำคลองที่มีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอ
          อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ามะละกอจะเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากก็จริง แต่มะละกอก็ไม่สามารถทนต่อถูกน้ำท่วมหรือขังแฉะอยู่ได้ แม้แต่มีน้ำท่วมบริเวณรากเพียง 1 - 2 วัน มะละกอก็จะแสดงอาการรากเน่า ใบสีเหลืองซีด แห้งเหี่ยวยอดหดสั้น ใบร่วงและจะตายไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่มะละกอยังเล็กจะมีปัญหาเรื่องนี้มาก ฉะนั้นหากเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูกจะต้องหาทางระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้มะละกอยังเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม หากได้รับน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมากจะเกิดอาการใบไหม้หรือแห้งเหี่ยว ลำต้นไม่สมบูรณ์ อ่อนแอต่อโรคและแมลง
          อุณหภูมิ
          มะละกอเป็นไม้ผลเมืองร้อน ชอบสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นได้แก่สภาพทั่วไปในบ้านเรานั่นเอง ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝนมะละกอซึ่งได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะมีการเจริญเติบโต ออกดอก ติดผลและผลแก่ได้ตามปกติ ส่วนในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเย็นการเจริญเติบโตของมะละกอจะลดลง และมีการติดดอกออกผลน้อยกว่าในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน และผลมะละกอที่เจริญเติบโตอยู่บนต้นในช่วงอากาศเย็นจะแก่และสุกช้ากว่าปกติและความหวานลดลงด้วย สำหรับระดับอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของมะละกอจะอยู่ระหว่าง 24 - 30 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยอุณหภูมิไม่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกมะละกอ เนื่องจากอากาศโดยทั่วไปไม่หนาวจัด
          ลม
          ลมแรงหรือพายุพัดจัดเป็นอุปสรรคสำคัญของการปลูกมะละกอ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชอวบน้ำและมีเนื้อเยื่ออ่อน จึงเปราะหักง่าย ประกอบกับใบมะละกอมีลักษณะกว้าง ก้านใบยาว ใบรวมกันเป็นกระจุกที่ยอดทำให้รับลมได้อย่างเต็มที่ และยังมีผลคอยถ่วงน้ำหนักอีกด้วย เมื่อเกิดลมพัดแรงหรือพายุจัดต้นมะละกอจึงเสียหายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะละกอซึ่งปลูกในดินทรายจะหักและโค่นล้มได้ง่ายกว่าที่ปลูกในสภาพที่เป็นดินเหนียว ดังนั้น การเลือกทำเลสร้างสวนมะละกอจึงควรเลือกบริเวณที่ไม่มีลมพายุพัดผ่านเป็นประจำหรือที่โล่งแจ้งมีลมพัดแรงเป็นประจำ และถ้าเป็นบริเวณที่มีลมแรงก็ควรปลูกต้นไม้เป็นแนวบังลมไว้ ควรเป็นไม้ที่โตเร็วและให้ประโยชน์ใช้สอยได้ด้วย เช่น ต้นไผ่ ต้นสน ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์หรือไม้ยืนต้นอื่น ๆ
          ไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคแมลง
          ปกติมะละกอไม่ค่อยมีโรคแมลงศัตรูที่รุนแรง แต่บางพื้นที่อาจเป็นแหล่งสะสมของโรคแมลงมาก่อน เช่น เกษตรกรทั่วไปนิยมปลูกมะละกอแบบไม้ยืนต้น ปล่อยให้ต้นมะละกอเป็นโรคใบด่างและไม่โค่นทิ้ง กลายเป็นแหล่งสะสมของโรคที่ระบาดไปยังแปลงอื่น ๆ หรือบางแห่งมีไส้เดือนฝอยเป็นศัตรูของมะละกอที่อยู่ในดิน เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกษตรกรควรได้ให้ความสนใจเช่นกัน เพราะเมื่อปลูกไปแล้วเกิดปัญหาจะแก้ไขได้ยากหรือต้องลงทุนสูงไม่คุ้มกับผลผลิตที่ได้รับ
          ใกล้ตลาดและการคมนาคมสะดวก
          แปลงปลูกมะละกอควรอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อเสมอ แหล่งรับซื้ออาจจะเป็นตลาดในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด แต่ละภาคหรือตลาดกลางในกรุงเทพฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รับซื้อผลผลิต เพราะมะละกอมีน้ำหนักมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งมาก และราคาจำหน่ายจากผู้ปลูกเองก็ไม่สูงนัก หากต้องขนส่งในระยะทางไกล ๆ จะได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

การเตรียมแปลงปลูก
          หลังเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมได้แล้วก็ทำการเตรียมแปลงปลูก การเตรียมแปลงปลูกมะละกอแบ่งออกเป็น 2 วิธีตามลักษณะของพื้นที่ปลูก คือ การเตรียมแปลงปลูกแบบยกร่อง กับการเตรียมแปลงปลูกแบบไม่ยกร่อง
          การเตรียมแปลงปลูกแบบยกร่อง
          เหมาะสมกับการปลูกมะละกอในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงฤดูที่มีน้ำมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวหรือเป็นนาข้าวเก่า เช่นแถบจังหวัดปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งการปลูกมะละกอในพื้นที่แบบนี้จะต้องขุดดินยกเป็นร่องสวนเสียก่อน เช่นเดียวกับการปลูกผักหรือไม้ผลทั่วไป

          การเตรียมแปลงปลูกสำหรับพื้นที่ใหม่ ประการแรกจะต้องทำการไถพื้นที่ทั้งไถดะและไถแปรเพื่อย่อยดินให้ร่วน และชักแนวร่องไว้ก่อนโดยใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ ต่อจากนั้นจึงขุดท้องร่องโดยใช้พลั่วหรือเสียมแทงดินตามแนวร่องที่ชักเอาไว้ให้ลึกข้างละประมาณ 1 เมตร ขุดยาวไปตลอดแนวร่อง เอาดินที่ขุดนั้นขึ้นมาไว้บนหลังร่อง โดยถมหลังร่องให้กว้างประมาณ 3.5 - 4 เมตร ท้องร่องหรือคูน้ำกว้างประมาณ 2.5 - 3 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และหากต้องปลูกพืชแซมระหว่างแถวมะละกอด้วยควรขยายหลังร่องให้กว้างขึ้นเป็น 4 - 5 เมตร หรืออาจขุดให้กว้างถึง 6 เมตร เพื่อให้สามารถปลูกไม้ผลขนาดใหญ่ได้เมื่อเลิกปลูกมะละกอไปแล้วก็ได้ พื้นที่ปลูกโดยรอบจะต้องมีคันดินกั้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำออกในช่วงที่มีน้ำมากเกินไป เมื่อขุดยกร่องเรียบร้อยแล้วจึงทำการเตรียมดินปลูก โดยขุดดินให้เป็นก้อนโต ๆ ตากดินที่ขุดขึ้นมาทำหลังร่องให้แห้งสนิทแล้วโรยด้วยปูนขาวปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก รดน้ำให้ดินเปียกและแตกตัว แล้วพรวนดินให้มีขนาดเล็กลง ก่อนจะลงมือปลูกอาจจะต้องปรับปรุงดินอีกครั้งหนึ่ง ถ้าดินยังไม่อยู่ในสภาพที่ดีพอโดยการโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้วพรวนให้ดินร่วนซุยหลังร่องปลูกควรปรับดินให้มีลักษณะโค้งเป็นหลังเต่าเสมอ เพื่อป้องกันน้ำขังโคนต้น
          สำหรับสวนเก่าที่ยกร่องไว้เรียบร้อยแล้วหรือเคยปลูกพืชอย่างอื่นมาบ้างแล้ว เมื่อจะปลูกมะละกอควรลอกเลนที่ก้นร่องขึ้นมาไว้บนหลังร่องเสียก่อน ตากดินเลนจนแห้งแล้วขุดดินลึก 1 หน้าจอบเป็นก้อนโต ๆ ตลอดทั้งร่อง ตากดินที่ขุดไว้จนแห้งสนิท โรยด้วยปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอก ย่อยดินให้ละเอียดร่วนซุย
          การปลูกมะละกอในบริเวณที่ราบลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ดินจะเหนียวมาก โดยเฉพาะดินชั้นล่าง ๆ ที่ขุดขึ้นมาไว้บนหลังร่องนั้น จะเป็นดินที่ไม่ค่อยดีโดยเฉพาะพื้นที่ใหม่ นอกจากดินจะเหนียวจัดแล้ว ยังไม่ค่อยมีธาตุอาหารอีกด้วย หรือมักเป็นกรดหรือดินเปรี้ยว ทำให้ธาตุอาหารต่าง ๆ ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อพืช หรือพืชดูดไปใช้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชก่อนเสมอ โดยเฉพาะมะละกอไม่ชอบดินปลูกที่ระบายน้ำไม่ดีหรือน้ำขังแฉะในแปลงปลูก การปรับปรุงดินในพื้นที่เช่นนี้โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วพรวนดินให้คลุกเคล้ากันหลาย ๆ ครั้ง

          การเตรียมแปลงปลูกแบบไม่ยกร่อง

          เหมาะกับพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือดินทราย เช่น ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่ปลูกอาจเป็นไร่หรือสวนเก่าหรือยังไม่เคยปลูกพืชอะไรมาก่อน ในการเตรียมแปลงปลูกให้ถางต้นไม้ขนาดเล็กออกให้หมด จนเหลือเฉพาะไม้ใหญ่ไว้เป็นระยะเพื่อใช้เป็นไม้กันลม ไถพรวนดินอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกไถให้ดินเป็นก้อนโต ๆ หรือการไถดะเพื่อเปิดหน้าดิน เมื่อทิ้งดินให้ตากแดดจนแห้งดีแล้วจึงไถพรวนย่อยดินให้ร่วนโปร่งเหมาะสำหรับปลูกพืช ก่อนการไถครั้งที่ 2 นี้ ถ้าดินปลูกไม่ค่อยมีอินทรีย์วัตถุหรือมีน้อย ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเศษพืชที่หาได้ในท้องถิ่นลงไปด้วย เป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน การเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก บางท้องที่อาจหาปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักไม่ได้หรือต้องลงทุนสูง ก็อาจเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดินโดยการใช้ปุ๋ยพืชสดแทนก็ได้ โดยก่อนปลูกมะละกอให้ปลูกพืชตระกูลถั่วเสียก่อน แล้วไถกลบลงดินให้เน่าเปื่อยผุพังอยู่ในดิน พืชที่เหมาะการทำปุ๋ยพืชสดอย่างหนึ่ง คือ ต้นปอเทือง เพราะให้ใบและกิ่งก้านมาก วิธีทำคือ เมื่อเตรียมดินแล้วให้หว่านเมล็ดปอเทืองให้ถี่ ๆ เมื่อต้นปอเทืองสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดให้สั้นลง ต้นปอเทืองจะแตกกิ่งก้านเพิ่มขึ้นอีกมากมาย รอจนต้นปอเทืองออกดอกจึงตัดต้นและไถพรวนคลุกเคล้าลงไปในดิน ส่วนพวกถั่วต่าง ๆ ที่ใช้ทำปุ๋ยพืชสดก็ให้ไถพรวนลงไปในดินในระยะที่ต้นถั่วกำลังออกดอกหรือดอกเริ่มบานเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นจึงวางแผนผังปักหลักเพื่อกำหนดที่จะทำหลุมปลูกต่อไป

หลุมปลูกและระยะปลูก
          หลุมปลูกมะละกอขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างยาวลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ดินที่ขุดขึ้นมาจากหลุมควรแยกดินชั้นบนและชั้นล่างไว้คนละด้านของหลุม ปล่อยตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 - 10 วัน จนแห้งสนิทแล้วจึงย่อยดินให้ละเอียด ดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือใบไม้ผุ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก เอาดินชั้นบนกลบลงหลุม ถ้ายังไม่เต็มหลุมก็ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมกับดินชั้นล่างที่เหลือกลบลงไปอีกจนเต็มหลุม ปุ๋ยคอกที่นำมาใช้ต้องเป็นปุ๋ยคอกที่เก่าและแห้งจริง ๆ มิฉะนั้นอาจทำให้ต้นกล้าตายได้ง่าย ทิ้งให้ดินในหลุมยุบตัวดีแล้วจึงนำต้นกล้ามะละกอลงปลูก
          ระยะปลูกที่เหมาะสมของการปลูกแบบไม่ยกร่อง คือ 3 x 4, 3 x 3 หรือ 2.5 x 3 เมตร ส่วนการปลูกแบบยกร่องจะปลูกเป็น 2 แถวคู่ หรือปลูก 3 แถวสลับฟันปลาใช้ระยะปลูก 2.5 เมตร จะสามารถปลูกได้มากต้นขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแปลงปลูก ความสะดวกในการดูแลรักษาและปฏิบัติงานต่าง ๆ ภายในสวนเป็นสำคัญ

          ในระยะ 2 - 3 ปีแรกมะละกอจะให้ผลผลิตมาก พอขึ้นปีที่ 4 ผลผลิตจะเริ่มลดลง ผลเล็กลง ผู้ปลูกมักจะตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่ ดังนั้นการปลูกมะละกอเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอยู่เสมออาจจะดัดแปลงระยะปลูกให้แตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว เพื่อจะได้ปลูกแบบทยอยกันเป็นรุ่น ๆ คือในรุ่นแรกให้ใช้ระยะปลูก 4 - 5 เมตร เมื่อมะละกอรุ่นแรกอายุเข้าปลายปีที่ 2 ให้ปลูกต้นกล้ารุ่นต่อไปลงระหว่างกลางของต้นรุ่นแรก เมื่อเข้าปีที่ 4 ต้นรุ่นแรกเริ่มโทรมให้ตัดต้นออก ต้นรุ่นที่ 2 ก็เติบโตขึ้นมาแทนที่พอดี ไม่ต้องเสียเวลารอให้ต้นรุ่นใหม่โต พอรุ่นที่ 3 ก็กลับมาปลูกตรงต้นรุ่นแรกอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนเห็นว่าโรคแมลงเข้ามารบกวนมากจึงหยุดปลูกสักระยะหนึ่งหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน 2 - 3 ปี จึงกลับมาปลูกมะละกออีก การปลูกโดยใช้ระยะปลูกแบบนี้จะเหมาะกับการปลูกแบบไม่ยกร่องมากกว่าแบบยกร่อง เพราะการปลูกแบบยกร่องมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถขยายระยะปลูกให้ห่างมากได้ ดังนั้นการปลูกแบบยกร่องที่ต้องการให้มีผลผลิตออกจำหน่ายอยู่ตลอดจึงไม่นิยมใช้ระยะปลูกแบบสลับรุ่น แต่นิยมใช้ระยะปลูกแบบสลับร่องมากกว่า กล่าวคือแบ่งร่องปลูกเป็นพวก ๆ พวกหนึ่งปลูกมะละกอ อีกพวกหนึ่งปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ผักหรือพืชอายุสั้นต่าง ๆ เมื่อต้นมะละกอมีอายุเข้าปีที่ 2 ให้เริ่มปลูกมะละกอในแปลงปลูกผักเป็นรุ่นที่ 2 เมื่อมะละกอรุ่นแรกอายุได้ 4 ปีผลผลิตลดลง ต้นรุ่นที่ 2 กำลังให้ผลผลิตเต็มที่พอดี เมื่อตัดต้นมะละกอรุ่นแรกออกแล้วให้ใช้พื้นที่มาปลูกผักแทน สลับกันไปเช่นนี้เรื่อย ๆ เป็นวิธีการปลูกพืชสลับที่ถูกต้อง เพราะดินจะได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลงศัตรู

วิธีการปลูก
          หลังจากเตรียมหลุมปลูกและต้นกล้าไว้พร้อมแล้ว ให้นำต้นกล้ามะละกอมาเรียงกระจายไว้ตามหลุมจนครบทุกหลุม ต่อจากนั้นกรีดถุงพลาสติกออกแล้วเอาต้นกล้าวางให้ตรงตำแหน่งกลางหลุม การนำต้นกล้าลงปลูกในหลุมนั้นให้ทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ดินแตกและไม่ให้รากขาดมาก เพื่อให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็ว เมื่อวางต้นกล้าลงหลุมปลูกแล้วกลบดินให้แน่นโดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ โคนต้น เพื่อให้รากจับดินใหม่ได้เร็ว ให้ระดับดินในหลุมปลูกเสมอกับระดับดินเดิมที่ติดมากับต้นกล้า อย่ากลบดินโคนต้นกล้าให้สูงกว่าระดับดินเดิมที่ติดมากับต้นกล้า เพราะจะทำให้โคนต้นกล้าเน่าได้ง่าย ใช้ไม้หลักมาผูกยึดลำต้นไว้
          เมื่อปลูกเสร็จให้รดน้ำจนชุ่มและหาทางมะพร้าวหรือวัสดุอย่างอื่นคลุมบังแดดไม่ให้ต้นกล้าโดนแดดจัด เพื่อจะได้ตั้งตัวได้เร็วและตายน้อย หลังจากปลูกได้ประมาณ 7 - 10 วัน ต้นกล้าจะเริ่มตั้งตัวได้ เอาทางมะพร้าวออกให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่ ในระยะนี้ถ้าฝนไม่ตกให้รดน้ำทุกวันซึ่งจะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตและให้ผลเร็ว ส่วนต้นที่ขาดน้ำในระยะนี้นอกจากจะแคระแกร็นโตช้าและให้ผลผลิตช้าแล้ว ยังทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นอีกด้วย

ฤดูปลูก
          มะละกอสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ควรเพาะกล้าในช่วงปลายเดือนมกราคม แล้วย้ายปลูกในราวกลางเดือนมีนาคม ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวมะละกอได้ในราวเดือนตุลาคมถึงธันวาคม การเก็บเกี่ยวในช่วงนี้จะจำหน่ายได้ในราคาที่ค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลไม้ชนิดอื่นออกสู่ท้องตลาดน้อย ทำให้มะละกอมีราคาสูง สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้นกล้าเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมหรือน้ำขังแฉะ เพราะต้นกล้าของมะละกอไม่ทนต่อน้ำท่วมหรือน้ำขังแฉะเลย

การให้น้ำ
          น้ำนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการปลูกมะละกอ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชอวบน้ำ ลำต้นไม่มีแกน ตรงส่วนกลางของลำต้นกลวง มะละกอไม่ชอบน้ำขัง หากน้ำท่วมขังเพียง 1 วัน มะละกอก็จะแสดงอาการเหี่ยว ใบเหลือง รากเน่าและตายไปในที่สุด ในทางกลับกันถ้ามะละกอขาดน้ำต้นจะไม่สมบูรณ์ใบแห้งและหลุดร่วงไปเรื่อย ๆ ไม่ออกดอกและติดผล หรือออกดอกแต่ดอกหลุดร่วงหมด
          มะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากตลอดทั้งปีจึงจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีและติดดอกออกผลสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลูกใหม่ ๆ จำเป็นจะต้องให้น้ำแก่ต้นกล้ามะละกออย่างเพียงพอจนกว่าจะตั้งตัวได้ โดยรดน้ำ 2 - 3 วันต่อครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่มะละกอจะขาดน้ำไม่ได้ หากมะละกอขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้ลำต้นเล็ก แคระแกร็น ชะงักการเจริญเติบโต ช่วงก้านใบสั้น ใบแก่จะมีสีเหลืองและจะเหี่ยวร่วงหล่นในที่สุด ให้ผลช้า ผลไม่ดก และมีผลขนาดเล็ก ถ้าเกษตรกรสามารถปลูกมะละกอในช่วงต้นฤดูฝนจะช่วยประหยัดต้นทุนและแรงงานในการให้น้ำได้มาก
          นอกจากนี้ช่วงที่มะละกอออกดอกและติดผลก็เป็นช่วงที่มะละกอต้องการน้ำมากอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน ในฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานควรมีการให้น้ำบ้างอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งการให้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้จะช่วยให้ต้นมะละกอสามารถขยายเวลาการเก็บเกี่ยวไปได้นานขึ้น และยังทำให้คุณภาพและรสชาติดีขึ้นด้วย ถ้ามะละกอขาดน้ำในช่วงออกดอกติดผลจะทำให้เหี่ยวเฉา ยอดเรียว ใบเล็กลง ดอกร่วง ผลร่วง ผลไม่สมบูรณ์ อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่นานกว่าต้นจะฟื้นตัวได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการให้น้ำแก่ต้นมะละกออย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาและปริมาณที่ต้นต้องการมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังอย่าให้น้ำท่วมหรือขังแฉะที่โคนต้นมะละกอด้วย เพราะต้นมะละกอไม่ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมหรือน้ำขังแฉะได้ หากมีน้ำท่วมต้นมะละกอติดต่อกันนาน 48 ชั่วโมงขึ้นไปต้นมะละกอจะตาย ความต้องการน้ำของมะละกอขึ้นอยู่กับอายุของต้น สภาพดินฟ้าอากาศซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ท้องที่ปลูก ดังนั้น การปลูกมะละกอเป็นการค้าจะต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำที่จะให้แก่มะละกอด้วย
          สำหรับวิธีการให้น้ำมะละกอสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตักน้ำรดโดยตรง การปล่อยให้น้ำไหลไปตามร่องระหว่างต้นมะละกอ การใช้สายยางรดน้ำ สำหรับในพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งและหาน้ำยาก หรือปริมาณน้ำมีน้อย ควรใช้วิธีการให้น้ำแบบหยด จะประหยัดน้ำและแรงงานได้มาก โดยลงทุนเพียงครั้งเดียวสามารถใช้ไปได้นาน ส่วน่จะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ คุณสมบัติของดิน เงินค่าลงทุน น้ำที่จะต้องจัดหามาให้แก่พืช ตลอดจนความสะดวกของเกษตรกรเอง

การใส่ปุ๋ย
          ปุ๋ยที่จะให้กับมะละกอมี 2 อย่าง คือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์อย่างมากในแง่ของการปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุยมีความสามารถในการอุ้มน้ำของดินดีขึ้น ช่วยให้ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปในดินเกิดประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นอีกด้วย ปุ๋ยอินทรีย์จึงมีความสำคัญต่อการปลูกมะละกอ โดยเริ่มใส่ตั้งแต่ตอนเตรียมแปลงปลูกและในหลุมปลูก หลังจากปลูกไปแล้วควรจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้มะละกอทุก ๆ ปี เพื่อปรับปรุงสภาพดินปลูกให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณที่จะใช้ในแปลงปลูกมะละกอขึ้นอยู่กับลักษณะของดินปลูกเป็นสำคัญ ถ้าดินปลูกมีปริมาณของอินทรีย์วัตถุอยู่สูง เช่น ดินเปิดใหม่หรือดินที่ได้รับการปรับปรุงมานานก็อาจใส่เพียงปริมาณเล็กน้อย หรืออาจจะไม่ต้องใส่เลยก็ได้ในปีแรก ๆ เมื่อปลูกไปนาน ๆ จนเห็นว่าอินทรีย์วัตถุในดินลดลงมากจึงค่อยใส่ ส่วนในดินที่มีอินทรีย์วัตถุน้อย เช่น ดินทราย ดินเหนียวจัด จำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่มาก  เพื่อจะช่วยปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของมะละกอ
          ปุ๋ยรองก้นหลุมที่ใส่ไว้ขณะเตรียมหลุมปลูกนั้นไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของมะละกอ จึงจำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีเสริมเพื่อให้มะละกอมีการเจริญเติบโตเต็มที่ มีลำต้นที่สมบูรณ์และแข็งแรง หลังจากปลูกต้นกล้าลงไปได้ประมาณ 2 อาทิตย์ ต้นกล้าจะเริ่มตั้งตัวได้ จึงควรให้ปุ๋ยเป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วงนี้ควรใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตทางต้น กิ่งก้านและใบ โดยใช้ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนอยู่สูง เช่น ปุ๋ยสูตร 24-12-12 หรือ 16-20-0 ในอัตราประมาณ 1 ช้อนชาต่อต้น และหลังจากนั้นใส่ทุก ๆ 20 วัน เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการใส่ปุ๋ยให้โรยรอบทรงพุ่ม อย่าโรยปุ๋ยให้ชิดโคนต้นเพราะอาจทำให้โคนต้นเน่าได้ หลังจากใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำตามไปด้วยทุกครั้งเพื่อละลายปุ๋ยลงไปในดินให้รากมะละกอดูดซับความชื้นและอาหารเอาไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้อาจใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 ชนิดที่มีธาตุอาหารรองฉีดพ่นทุก 14 วัน โดยใช้ในอัตรา 2 - 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร
          หลังจากมะละกอเจริญเติบโตจนกระทั่งออกดอกให้เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตรใกล้เคียง และในช่วงที่มะละกอเริ่มติดผลอาจใช้ปุ๋ยสูตรที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตราประมาณ 1 ช้อนชาต่อต้น
          สำหรับปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะใส่ให้แก่ต้นมะละกอต่อปีพอประมาณได้ดังนี้
                ต้นอายุต่ำกว่า    3      เดือน    ใส่ปุ๋ยอัตรา       150 กรัมต่อต้น
                ต้นอายุ            3 - 6   เดือน    ใส่ปุ๋ยอัตรา       350 กรัมต่อต้น
                ต้นอายุ            6 - 12 เดือน    ใส่ปุ๋ยอัตรา       500 กรัมต่อต้น
                ต้นอายุ               1     ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยอัตรา 1 - 1.5 กิโลกรัมต่อต้น
          โดยแบ่งใส่ครั้งละน้อย ๆ แต่ใส่บ่อยครั้ง อย่าใส่ครั้งละมาก ๆ เพราะจะทำให้โคนต้นและรากเน่าได้ง่าย ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ให้แก่ต้นมะละกอดังกล่าวนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินปลูกเป็นสำคัญ ถ้าดินปลูกเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารสูงอยู่แล้ว อาจใส่ให้แต่น้อยหรือไม่ต้องใส่ให้เลยก็ได้ เพราะการที่มะละกอได้รับธาตุอาหารต่าง ๆ มากเกินไปอาจเกิดผลเสียได้ เช่น ต้นอ่อนแอ หักล้มง่าย ต้นสูงชะลูดเกินไป แต่เมื่อปลูกมะละกอซ้ำที่เดิมไปนาน ๆ ธาตุอาหารต่าง ๆ ในดินย่อมลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มให้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญคือ การใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรให้น้ำด้วยเสมอ เพื่อให้ปุ๋ยละลายลงไปในดินเกิดประโยชน์ต่อพืช
          วิธีการใส่ปุ๋ย
          การใส่ปุ๋ยมะละกอโดยทั่วไปใช้วิธีการหว่านหรือโรยปุ๋ยตามแนวรัศมีของใบเป็นวงกลมโดยรอบต้น แล้วรดน้ำให้ชุ่มอย่าให้ถึงกับไหลแฉะ หรืออาจใช้ฟางหรือใบไม้แห้งหรือปุ๋ยหมักกลบปุ๋ยเสียก่อนแล้วค่อยรดน้ำก็ได้ หรือใช้ปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยคอกแล้วหว่านหรือโรยแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
          นอกจากนี้อาจใช้วิธีขุดเป็นรางดินตื้น ๆ รอบต้นตามแนวรัศมีของใบใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยเคมีลงไปในรางดินนั้น แล้วกลบด้วยดินที่ขุดขึ้นมา วิธีนี้อาจไม่ต้องรดน้ำให้ในทันทีก็ยังได้ การใส่ปุ๋ยเคมีไม่ควรหว่านบริเวณโคนต้น หรือขุดพรวนดินบริเวณโคนต้นแล้วใส่ปุ๋ย เพราะส่วนของรากมะละกอที่จะดูดปุ๋ยได้นั้นจะอยู่บริเวณปลายรากเท่านั้น คือ ตามแนวรัศมีของใบหรือทรงพุ่มต้น รากใหญ่ ๆ บริเวณโคนต้นไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ดูดปุ๋ยหรือธาตุอาหารโดยตรง นอกจากนี้การพรวนดินยังทำให้รากขาดเกิดบาดแผลทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้โดยง่าย หรือการที่เม็ดปุ๋ยไปกองอยู่เป็นกระจุกบริเวณรากหรือโคนต้นจะทำให้เกิดบาดแผลเกิดการไหม้ ทำให้เชื้อโรคระบาดได้ง่าย

การพรวนดินและกำจัดวัชพืช
          วัชพืชที่ขึ้นอยู่ภายในแปลงปลูกมะละกอจะคอยแย่งน้ำแย่งอาหารจากต้นมะละกอ ทำให้ต้นมะละกอได้รับน้ำและอาหารไม่เต็มที่ เจริญเติบโตช้าแคระแกร็น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสะสมพวกโรคและแมลงอีกด้วย ดังนั้นการพรวนดินและกำจัดวัชพืชจึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ต้นมะละกอยังเล็กอยู่หรืออายุไม่เกิน 6 เดือน การกำจัดวัชพืชนั้นกระทำได้โดยการใช้จอบขุดหรือถาง พร้อมกับพรวนดินไม่ลึกเกินกว่า 10 เซนติเมตรเพื่อให้ดินโปร่ง น้ำจะซึมสู่รากได้เร็วขึ้นไม่ขังอยู่ที่โคนต้นมะละกอ ควรทำก่อนใส่ปุ๋ย การพรวนดินนี้ให้กระทำในระยะแรกของการปลูกเท่านั้นคือ เมื่อมะละกอมีอายุได้ไม่เกิน 5 - 6 เดือน เพราะถ้ามะละกอมีอายุมากกว่านี้การพรวนดินที่บริเวณโคนต้นอาจจะเป็นการทำลายรากมะละกอได้ ทำให้รากขาดหรือเป็นแผล จะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย เพราะรากดูดอาหารของมะละกอจะพบมากที่สุดที่ใกล้บริเวณผิวดิน สำหรับวัชพืชนั้นควรนำมาคลุมดินในบริเวณรอบ ๆ ต้นเพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินไว้ โดยคลุมให้ห่างจากโคนต้นพอประมาณ อย่าคลุมวัชพืชให้ถึงโคนต้นอย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้โคนต้นมะละกอชื้นและเน่าตายได้ นอกจากใช้วัสดุคลุมดินแล้วอาจใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดินก็ได้หลังจากที่ถางหญ้าออกหมดแล้ว
          นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันกำจัดวัชพืช พืชคลุมดินควรใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วผี เป็นต้น เพราะถั่วจะช่วยบำรุงดินไปในตัว และช่วยรักษาความชื้นของดินด้วย การปลูกพืชคลุมดินยังช่วยป้องกันไม่ให้ฝนชะเอาหน้าดินและธาตุอาหารออกไปจากแปลงปลูก การกำจัดวัชพืชจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของท้องที่และความเหมาะสมต่าง ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน
          สำหรับการกำจัดวัชพืชโดยการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมะละกอมักจะไม่นิยมใช้กัน เนื่องจากว่าต้นมะละกอแพ้ยาง่ายโดยเฉพาะในขณะที่ต้นยังอ่อนอยู่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรใช้หลังจากที่ต้นมะละกอมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ยาที่ใช้อาจใช้ยากำจัดวัชพืชในกลุ่มของไดยูรอนหรือพาราควอท ในอัตรา 360 กรัมต่อน้ำ 400 ลิตร และการใช้ยากำจัดวัชพืชนั้นควรได้ศึกษาให้ละเอียดและใช้ด้วยความระมัดระวังที่สุด

การปลูกพืชแซม
          หลังจากปลูกมะละกอไปแล้วจะเห็นว่ายังมีเวลาอีกประมาณ 4 - 5 เดือนกว่าต้นมะละกอจะเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งในช่วงนี้ควรที่จะปลูกพืชแซมในสวนมะละกอไปก่อนเพื่อหารายได้ พืชที่ใช้ปลูกเป็นพืชแซมในสวนมะละกอนั้นควรจะเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นภายในระยะ 4 - 5 เดือน เช่น ผัก หรือถั่วต่าง ๆ พืชแซมที่มีอายุมากกว่านี้หรือพืชแซมที่ปลูกหลายครั้งจนอายุเกินกว่า 5 เดือน หรือจนต้นมะละกอเติบโตมากแล้วก็ไม่ควรจะปลูก เนื่องจากการเตรียมดินปลูกพืชแซมนั้นอาจจะทำให้ระบบรากของมะละกอได้รับความเสียหายได้ เพราะรากมะละกออยู่ใกล้ผิวดิน อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือพืชแซมที่มีอายุมากจะทำให้เกิดร่มเงาบังแสงแดด เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ชอบแดดจัดการปลูกจึงปลูกกลางแจ้ง หากมะละกอถูกบังร่มเงาจะทำให้ต้นมะละกอสูงชะลูด ให้ผลไม่ดก และมักจะโค่นล้มได้ง่าย ภายในสวนมะละกอไม่ควรปล่อยให้ดินว่างเปล่า เพราะจะต้องเสียแรงงานและค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ

การตัดยอดมะละกอ
          โดยปกติแล้วมะละกอจะให้ผลผลิตสูงในระยะ 2 - 3 ปีแรกเท่านั้น พอเริ่มย่างเข้าปีที่ 4 ผลผลิตจะเริ่มลดลง ถึงแม้จะพยายามบำรุงรักษาดีเพียงใดก็ตามผลจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ วิธีแก้ไขก็คือ ตัดยอดให้เหลือต้นตอสูงประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร ใช้ปูนแดงทาที่รอยตัด จากนั้นก็เริ่มพรวนดิน ให้น้ำใส่ปุ๋ยประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ กิ่งใหม่ก็จะเริ่มแตกขึ้นมาจากส่วนตาข้างของลำต้นหลายกิ่ง เมื่อกิ่งใหม่เหล่านี้มีอายุได้ประมาณ 20 - 30 วัน ตัดแต่งให้เหลือกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ 2 - 3 กิ่ง นอกนั้นให้ตัดทิ้ง และเนื่องจากกิ่งที่แตกขึ้นมาใหม่นี้นั้นอ่อนเปราะมักจะหักได้ง่าย ดังนั้นควรใช้ไม้หลักหรือเสาไม้มาปักและผูกยึดกิ่งที่แตกใหม่ไว้ เพื่อป้องกันลมพัดกิ่งอาจจะหักได้ เมื่อกิ่งใหม่นี้เจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็จะออกดอกติดผลตามปกติ แต่ผลผลิตจะได้น้อยกว่าต้นที่ปลูกด้วยต้นกล้าในระยะ 2 - 3 ปีแรก กิ่งมะละกอที่แตกมาใหม่นี้จะให้ผลผลิตติดต่อกันไปอีกประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นควรโค่นทิ้งทำการเริ่มปลูกใหม่

การออกดอก
          การออกดอกของมะละกอจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความสมบูรณ์ของดิน ความสมบูรณ์ของต้นมะละกอ สถานที่ปลูกและฤดูกาล มะละกอที่ปลูกในประเทศไทยจะออกดอกเร็วกว่าในประเทศแถบหนาวมาก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมะละกอที่ปลูกในประเทศแถบร้อนจะไม่มีการฟักตัวในช่วงฤดูหนาว จึงมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบติดต่อกันอย่างไม่หยุดยั้งและช่วงของอุณหภูมิแต่ละฤดูจะมีความแตกต่างกันน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว
          มะละกอที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจะเริ่มออกดอกหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 3 - 4 เดือน โดยหลังจากที่มีการแตกใบอ่อนก็จะมีการติดดอกบริเวณซอกโคนก้านใบตามมา ต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ก็จะออกดอกล่าช้ากว่านี้ ดอกรุ่นแรกนี้มักจะไม่ค่อยติดผล แต่จะเป็นประโยชน์ในการใช้ดูเพศของมะละกอเพื่อคัดเลือกเอาต้นสมบูรณ์เพศหรือกะเทยไว้ และคัดต้นที่ไม่ต้องการออกให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแย่งน้ำและอาหาร

การติดผล
          มะละกอจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุได้ประมาณ 8 เดือนขึ้นไป การให้ผลจะทยอยออกมาเรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี ผลผลิตของแต่ละต้นจะสูงในระยะปีที่ 2 - 3 พอเข้าปีที่ 4 ต้นจะเริ่มทรุดโทรม ให้ผลผลิตลดลง ผลมีขนาดเล็กลง ดังนั้น การปลูกมะละกอเป็นการค้าจะเก็บผลเพียงปีที่ 2 - 3 เท่านั้น หลังจากนั้นจะตัดทิ้งและปลูกใหม่ ปกติแล้วมะละกอจะให้ผลผลิตไปได้เรื่อย ๆ แม้จะมีอายุมากขึ้น แต่ผลมะละกอที่ได้ในระยะหลังจะเล็กลงเรื่อย ๆ ขายไม่ได้ราคา ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ปริมาณผลผลิตของต้นมะละกอที่ให้ผลผลิตเต็มที่เฉลี่ยปีละประมาณ 50 ผลต่อต้น โดยในฤดูฝนจะให้ผลดกกว่าในฤดูแล้ง
          การตัดแต่งผลอ่อน
          มะละกอที่มีการบำรุงดูแลรักษาเป็นอย่างดีมีต้นสมบูรณ์ จะมีการออกดอกและติดผลเป็นจำนวนมาก จึงควรได้ทำการตัดแต่งผลออกทิ้งเสียบ้าง การตัดแต่งผลนั้นควรกระทำเมื่อมีผลมากกว่า 1 ผลใน 1 ช่อ เพราะเมื่อปล่อยให้ผลเจริญเติบโตต่อไปจะทำให้ผลเบียดกันแน่น ทำให้ผลบิดเบี้ยวหรือผลเล็กลงได้ และบางครั้งอาจทำให้ต้นมะละกอล้มได้ ในกรณีที่ปลูกในสภาพดินเป็นดินทรายหรือดินอ่อนเพราะทานน้ำหนักไม่ไหว ดังนั้นเมื่อต้องการให้ได้ผลมะละกอที่มีขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน ตลอดจนการป้องกันการโค่นล้ม จึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งผลทิ้งบ้าง ในทางปฏิบัติจะกระทำตั้งแต่ขณะที่มะละกอยังติดผลเล็ก ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผลที่เหลือได้รับอาหารและเจริญเติบโตเป็นผลที่สมบูรณ์สวยงาม และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยใช้มือเด็ดหรือมีดตัดก็ได้
          ปัจจุบันปัญหาของผู้ปลูกที่ต้องประสบอยู่เสมอก็คือ การไม่ติดผลหรือผลร่วงในต้นมะละกอ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้มะละกอไม่ติดผลหรือผลร่วง มีดังนี้
          1. ความไม่สมบูรณ์ของดินปลูกหรือเตรียมดินปลูกไม่ดีพอ แม้จะปลูกด้วยต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้าปลูกในดินที่ไม่สมบูรณ์แล้วเป็นการยากที่ต้นมะละกอจะเจริญอย่างสมบูรณ์ติดต่อกันหลายปี และโอกาสที่ต้นมะละกอจะออกดอกติดผลนั้นก็ยากไปด้วย แม้บางครั้งต้นมะละกอจะงอกตาดอกให้เห็นก็ตาม แต่ดอกจะร่วงไป
          2. ขาดน้ำ เกิดขึ้นได้ทั้งต้นมะละกอที่เริ่มปลูกใหม่และต้นที่เคยให้ดอกออกผลมาก่อน แม้ว่าต้นมะละกอจะออกดอกตัวเมียและกะเทยอย่างสมบูรณ์แล้วก็ตาม ดอกก็ยังร่วง สาเหตุนี้อาจเกิดจากการผสมเกสรไม่บรรลุผล โดยธรรมชาติแล้วการผสมเกสรของพืชต้องอาศัยน้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะปลายดอกเกสรตัวเมียต้องชื้นเปียกหรือมีน้ำเหนียวที่จะรองรับหรือซับเอาละอองเกสรตัวผู้ให้ติดตรงปลายดอกนั้นยากกว่าปกติ การผสมเกสรจึงไม่บังเกิดขึ้น ดอกมะละกอจะร่วงหล่นไป สำหรับในระยะที่มะละกอยังเป็นผลอ่อน ๆ ควรจะให้น้ำติดต่อกันเป็นประจำ หรือควรให้อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มิเช่นนั้นแล้วผลอ่อนเหล่านี้จะร่วงหลุดไปอย่างน่าเสียดายเพราะการขาดน้ำนั่นเอง
          3. โรคและแมลง เป็นการยากที่จะปลูกมะละกอในปัจจุบันโดยไม่มีโรคและแมลงรบกวนเลย โรคที่สำคัญที่สุด คือ โรคใบด่าง เมื่อเกิดขึ้นกับต้นมะละกอแล้วผลผลิตจะลดลงทันที โดยเฉพาะดอกและผลเล็ก ๆ จะร่วงหล่นไป หรือเมื่อเกิดกับผลจะทำให้ผลบิดผิดรูปทรง เนื้อจะฟ่ามไม่มีรสชาติ ทั้งใบและผลจะมีอาการอวบน้ำ พุพอง สีจะเปลี่ยนเป็นอมเขียมอมเหลือง

การเก็บเกี่ยว
          หลังจากเริ่มปลูกได้ประมาณ 5 เดือน มะละกอก็จะเริ่มออกดอกได้ ดอกมะละกอรุ่นแรกนี้มักจะไม่ติดผล แต่มะละกอที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างสมบูรณ์ดอกในรุ่นถัด ๆ ไปก็จะเริ่มติดผล และนับตั้งแต่เริ่มติดผลไปประมาณ 3 - 4 เดือน ผลก็จะแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้
          ในการเก็บเกี่ยวผลมะละกอสำหรับใช้ในการรับประทานผลดิบ เช่น เป็นผักปรุงอาหาร ไม่จำเป็นต้องรอให้ผลโตเต็มที่ สามารถเลือกเก็บได้ตามขนาดหรือน้ำหนักผลที่ต้องการ ส่วนการเก็บเกี่ยวผลมะละกอเพื่อรับประทานผลสุกนั้นต้องรอจนกว่าผลมะละกอจะโตและแก่เต็มที่ การสังเกตว่าผลแก่นั้นคือ ผิวของผลและบริเวณปลายของผลจะมีแต้มสีเหลืองหรือสีแดงขึ้นเป็นทางเล็กน้อย ไม่ควรปล่อยให้ผลแก่จัดสุกทั้งผล การเก็บเกี่ยวผลมะละกอในระยะนี้จะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 3 - 5 วัน และเพื่อให้การเก็บเกี่ยวมะละกอเป็นไปตามระยะที่ต้องการและเหมาะสม จึงได้แบ่งระยะการสุกของผลมะละกอได้ดังนี้
          1. ระยะแก่จัด
          ผิวมีสีเขียวเข้ม เนื้อผลแน่นและแข็ง เนื้อภายในบริเวณติดกับโพรงและสันบริเวณปลายผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีออกชมพู แสดงให้เห็นว่าผลเริ่มเข้าสู่ระยะสุกแล้ว แต่ไม่ควรเก็บเกี่ยวเพื่อรับประทานสุกในระยะนี้ เนื่องจากจะได้ผลสุกที่มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ไม่ควรเก็บผลไว้ในอุณหภูมิต่ำเพราะจะมีผลเกี่ยวกับขบวนการสุกในภายหลัง
          2. ระยะเริ่มเปลี่ยนสี
          ผิวมีสีเขียวเข้ม เริ่มปรากฎแต้มสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองบริเวณสัน ทางด้านปลายผลเนื้อยังคงแน่นและแข็ง โดยเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดงตลอดทั้งผล ยกเว้นรอยต่อระหว่างเนื้อกับผิวยังคงเป็นสีเขียว เป็นระยะที่เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวเพื่อส่งออก
          3. ระยะสุกหนึ่งในสี่
          ผิวมีสีเขียวเข้ม ผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงสีส้มเห็นเด่นชัด โดยเฉพาะบริเวณสันทางด้านปลายของผล เนื้อผลภายในบริเวณที่ติดกับโพรงเริ่มนิ่มตัว เนื้อเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดงตลอดทั่วทั้งผล ยกเว้นบริเวณด้านบนที่ติดกับก้านผล และบริเวณปลายผล ระยะนี้เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเป็นระยะที่เหมาะแก่การขนส่งเพื่อการจำหน่ายปลีก
          4. ระยะสุกหนึ่งในสอง
          ผิวประมาณครึ่งหนึ่งของผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งยังคงเขียวอยู่ เนื้อผลแน่น เมื่อกดด้วยมือจะรู้สึกว่ายุบตัวลงเล็กน้อย เนื้อภายในมีสีแดงอมชมพูตลอดทั้งผล ยกเว้นบริเวณด้านบนที่ติดกับก้านผลและบริเวณปลายผลซึ่งยังคงแน่นแข็ง และเป็นสีชมพูออกเหลือง เป็นระยะที่เหมาะสำหรับใช้จัดแสดงเพื่อการจำหน่ายปลีก และเป็นระยะที่เกือบจะรับประทานได้
          5. ระยะสุกสามในสี่
          ผิวเป็นสีเหลืองมากกว่าสีเขียว เนื้อผลนิ่ม เมื่อใช้นิ้วมือกดดูจะรู้สึกว่ายุบตัวลง เนื้อบริเวณขั้วผลเริ่มนิ่ม เนื้อมีสีแดงอมชมพูตลอดทั้งผล เป็นระยะที่รับประทานได้
          6. ระยะสุกเต็มที่
          ผิวมีสีเหลืองมากกว่าสีเขียว เนื่องจากอยู่ภายใต้อุณหภูมิอากาศเขตร้อน ถึงแม้ว่าผลจะสุกเต็มที่แล้วก็ตามแต่ผลจะยังคงมีสีเขียวปะปนอยู่ นอกจากผลที่ได้รับการบ่มด้วยก๊าซเอทธิลีน เนื้อภายในจะเริ่มนิ่มและมีสีแดงอมชมพูตลอดทั้งผล ระยะนี้เหมาะที่สุดสำหรับใช้รับประทานสด

          วิธีเก็บเกี่ยว
          โดยใช้มีดหรือกรรไกรคม ๆ ตัดขั้วผลมะละกอ อย่าตัดให้ติดกับต้นมากเกินไป แล้วจึงทำการตัดขั้วผลที่ยาวออก ห้ามใช้มือบิดผลเพราะทำให้ขั้วผลช้ำหรือเชื้อราสามารถจะเข้าทำลายทางขั้วที่ติดต้นทำให้ต้นเน่าเสียหายได้ ถ้าปลูกเป็นจำนวนมาก ๆ ผู้เก็บเกี่ยวควรจะสวมถุงมือด้วย เพื่อป้องกันยางมะละกอถูกผิวหนัง ซึ่งอาจจะพุพองเป็นแผลได้ ผลมะละกอที่เก็บได้ควรใส่ภาชนะหรือเข่งที่กรุด้วยกระดาษหลาย ๆ ชั้น หรือกล่องกระดาษ ระวังไม่ให้ยางเปื้อนผิวผล วางเข่งหรือกล่องไว้ในที่ร่มและเคลื่อนย้ายไปที่คัดขนาดด้วยความระมัดระวัง
          หลังจากมะละกอออกดอกติดผลรุ่นแรกแล้วก็จะทิ้งช่วงไปสักระยะหนึ่งจึงจะเริ่มออกดอกติดผลในรุ่นต่อไป ผลมะละกอที่เกิดในแต่ละรุ่นจะมีขนาดไล่เลี่ยกันจากใหญ่ไปหาเล็ก เกษตรกรนิยมเรียกกลุ่มของผลมะละกอแต่ละรุ่นว่ามะละกอ 1 คอ ปกติมะละกอ 1 คอจะใช้เวลาทยอยเก็บผลสุกนานประมาณ 4 - 5 เดือน โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 7 - 15 วัน ในคอแรกมะละกอจะให้ผลประมาณ 20 - 30 ผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ในคอที่ 2 และ 3 จำนวนผลผลิตจะลดลงตามลำดับ และเมื่อหลังจากเก็บเกี่ยวผลคอที่ 3 ไปแล้วชาวสวนนิยมรื้อสวนปลูกใหม่ เพราะจะให้ผลผลิตไม่คุ้มกับการปฏิบัติดูแลรักษา

          การบ่ม
          ควรใช้เวลาในการบ่มให้สั้นที่สุด เพราะเมื่อมะละกอสุกแล้วจะเน่าเสียได้ง่าย การบ่มส่วนใหญ่จะใช้ถ่านแก๊สหรือแคลเซียมคาร์ไบด์ โดยใช้ถ่านแก๊ส 10 - 20 กรัมต่อน้ำหนักมะละกอ 1 กิโลกรัม การใช้ถ่านแก๊สมากเกินไปทำให้กลิ่นถ่านแก๊สติดไปกับผลมะละกอได้ ในระหว่างการบ่มอาจจะมีปัญหาเรื่องการถ่ายเทอากาศ เพราะขณะที่มะละกอสุกจะมีอัตราการหายใจสูง ต้องการออกซิเจนบ้าง หากมีออกซิเจนน้อยจะทำให้ผลสุกไม่ค่อยปกติ ควรได้ปล่อยให้มีการระบายอากาศบ้าง

การบรรจุหีบห่อ
          การบรรจุหีบห่อเพื่อจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่นิยมใช้เข่ง โดยกรุรอบ ๆ ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มะละกอเสียดสีกับเข่งทำให้เสียหายได้ การเรียงซ้อนขณะบรรจุควรจะมีไม้คั่นระหว่างชั้น เพื่อไม่ให้เข่งบนกดทับเข่งล่าง การใช้ลังพลาสติกจะสะดวกกว่าและขนส่งได้มากกว่า เนื่องจากมีการออกแบบให้เรียงซ้อนกันได้โดยลังบนจะไม่กดทับมะละกอในลังล่าง
          สำหรับการส่งออกนิยมใช้กระดาษลูกฟูก ความหนาแล้วแต่กรณีการขนส่ง ถ้าขนส่งทางเรือจะต้องมีความแข็งแรงมาก จะใช้กระดาษลูกฟูกหนา 5 ชั้น และเป็นชนิดตัวและฝากล่องแยกส่วนกัน ในการขนส่งทางอากาศอาจจะใช้ความหนาลดลงได้เพราะใช้ระยะเวลาขนส่งเร็วกว่า บนกล่องจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต เช่น แหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย น้ำหนักหรือจำนวนผลต่อกล่อง เกรดหรือชั้น น้ำหนักสุทธิในแต่ละกล่อง มีชื่อพันธุ์มะละกอ และควรมีการระบุว่าสินค้าควรจะเก็บที่อุณหภูมิใด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ซื้อเก็บรักษาระหว่างรอการจำหน่าย

การขนส่งและการเก็บรักษา
          การขนส่งมะละกอควรทำในช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนในช่วงกลางวัน ซึ่งจะทำให้มะละกอสุกเร็วขึ้น ส่วนการส่งออกนั้นควรทำการลดอุณหภูมิก่อนขนส่ง ถ้าเป็นการขนส่งโดยรถห้องเย็นหรือตู้ห้องเย็นสำหรับส่งทางเรือ วิธีที่สะดวกและไม่ต้องลงทุนมากคือ การลดอุณหภูมิในรถหรือตู้ห้องเย็นเลย ทยอยเรียงมะละกอลงในตู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องทำความเย็นทำงานหนักเกินไป และลดอุณหภูมิของมะละกอให้ถึงอุณหภูมิที่จะขนส่งได้ในเวลานั้น
          สำหรับอุณหภูมิที่ใช้ในการขนส่งหรือเก็บรักษามะละกอ คือ ที่ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 - 90 % ซึ่งมะละกอจะมีคุณภาพดีหรือเก็บได้นาน 2 - 3 สัปดาห์ หากใช้อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะมีผลกระทบต่อคุณภาพคือ มะละกอจะสุกไม่สม่ำเสมอ เนื้อจะมีลักษณะฉ่ำน้ำ นอกจากนี้ยังทำให้เชื้อโรคบางอย่างเจริญได้ดี แต่ความรุนแรงที่จะเกิดนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและระยะเวลาที่เก็บ สิ่งสำคัญในการรักษาคือ จะต้องสะอาด คุณภาพดี มีความแก่พอเหมาะ ผ่านขบวนการป้องกันกำจัดโรคและแมลง และมีการบรรจุหีบห่อที่ดี

การผลิตปาเปนจากยางมะละกอ
          มะละกอนอกจากจะใช้บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยางมะละกอยังเป็นสิ่งมีคุณค่าเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย โดยในยางมะละกอนั้นสามารถนำไปสกัดเอาสารน้ำย่อยที่มีชื่อว่า "ปาเปน" ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยย่อยโปรตีน ปาเปนพบอยู่ในยางมะละกอที่ได้จากทุกส่วนของต้นมะละกอและที่พบมากที่สุดคือ ในผลดิบ
          ประโยชน์ของปาเปนมีมากมายหลายอย่าง ที่ใช้บ่อยที่สุดคือ เมื่อหมักเนื้อเหนียว ๆ มักจะใส่ยางมะละกอลงไปเพื่อทำให้เนื้อนุ่ม แต่เมื่อหมักนานเกินไปหรือใส่ยางมะละกอมากไป แทนที่เนื้อจะนุ่มกลับยุ่ยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นจะต้องระวัง นอกจากนี้แล้วปาเปนยังมีบทบาทอันสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องในปัจจุบัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปนิยมอาหารเนื้อที่นุ่ม ๆ ดังนั้น โรงงานอาหารกระป๋องจึงนิยมใช้ปาเปนเป็นส่วนผสมในอาหารจำพวกเนื้อ และสารชนิดนี้ไม่เป็นพิษแก่สุขภาพเหมือนกับการใช้สารเคมีอื่น ๆ สำหรับประโยชน์ทางเภสัชกรรมนิยมใช้ปาเปนเป็นส่วนผสมในยาบางชนิด เพื่อเป็นยาระบายอ่อน ๆ และยาช่วยย่อยอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะ ตามปกติแล้วเมื่อทานมะละกอมาก ๆ จะทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น นอกจากนี้แล้วปาเปนยังเป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในการหมักเบียร์ เพื่อจะทำให้เบียร์ใสถึงแม้จะเก็บไว้นานแสนนานก็คงใสอยู่เหมือนเดิม ส่วนในวงการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ปาเปนเป็นส่วนประกอบในการผลิต ได้แก่ การผลิตเครื่องสำอาง นม เนย ยาสีฟัน ขนมปัง เป็นต้น
          การเลือกผลมะละกอสำหรับกรีดยาง หากเป็นการปลูกมะละกอเพื่อผลิตปาเปนโดยเฉพาะนั้น นอกจากจะมีพันธุ์โดยเฉพาะแล้ว ผลที่จะใช้กรีดยางก็ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่แรกด้วย กล่าวคือ หลังจากที่มะละกอติดผลแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าช่อใดมีหลายผลให้เด็ดผลที่ไม่ต้องการออก เหลือไว้เฉพาะผลที่มีรูปร่างขนาดสวยงามเพียงผลเดียวต่อช่อ เพื่อให้ผลนั้นเติบโตอย่างเต็มที่ รูปทรงดี สะดวกในการกรีดยาง สำหรับอายุของผลที่เหมาะในการกรีดยางคือ ประมาณ 70 - 100 วันหลังติดผล อย่าใช้ผลอ่อนเกินไป จะให้น้ำยางไม่ดี คุณภาพไม่ดี มะละกอพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปลูกันอยู่ในปัจจุบันสามารถกรีดยางเพื่อผลิตเป็นปาเปนได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพันธุ์แขกดำ พันธุ์จำปาดะ และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งให้ปริมาณน้ำยางสดและน้ำยางแห้งได้ดี
          วิธีกรีดน้ำยาง
          เมื่อเลือกผลที่พร้อมจะกรีดได้แล้ว ให้กรีดด้วยมีดสแตนเลส หรือพลาสติกที่คม ไม่ควรใช้โลหะที่ทำด้วยเหล็กหรือสังกะสี เพราะจะทำให้น้ำยางมีสีคล้ำ วิธีกรีดให้เริ่มกรีดจากด้านหัวของผล หรือส่วนที่อยู่ติดกับก้านผลลงมาตามยาวจนถึงส่วนปลายผล กรีดให้ลึกประมาณ 1/8 นิ้ว เวลาที่เหมาะที่สุดในการกรีดคือ เวลาเช้ามืดจนกระทั่งถึง 10 โมงเช้า จะได้น้ำยางมาก หากกรีดสายกว่านี้น้ำยางจะไหลช้าและจับตัวกันแข็งได้ง่าย การกรีดน้ำยางแต่ละครั้งให้กรีด 4 แผล ระยะห่างระหว่างแผลเท่า ๆ กัน โดยกรีดด้านใดด้านหนึ่งของผลมะละกอ แล้วใช้ภาชนะรองรับน้ำยางจนกระทั่งน้ำยางไหลออกหมดจากรอยกรีดจึงเปลี่ยนไปกรีดผลต่อไป เว้นระยะไป 3 วันให้กรีดอีก 4 แผล กรีดน้ำยางทั้งหมด 4 ครั้ง รวมเป็น 16 แผล ของการกรีดมะละกอ 1 ผล รวบรวมน้ำยางจากการกรีดแต่ละครั้งของหลาย ๆ ผล แล้วรีบนำไปกรองในตะแกรงขนาด 50 ช่องต่อตารางนิ้ว เพื่อจะเอาเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออกทิ้ง จากนั้นให้ใช้โปแตสเซียม เมตาไบซัลไฟต์ผสมลงไปกับน้ำยาง ในอัตรา 50 มิลลิกรัมต่อน้ำยาง 100 กรัม เพื่อป้องกันน้ำยางเสียคนให้เข้ากัน แล้วเทใส่ถาดอลูมิเนียมตากแดดไว้ จนกระทั่งน้ำระเหยไปให้เหลือแต่ปาเปนที่มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว หากทำเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ควรรีบนำน้ำยางไปอบในเครื่องอบความร้อนสูญญากาศในอุณหภูมิ 50 - 55 องศาเซลเซียส จนกว่าน้ำยางจะแห้งเป็นเกล็ดสีขาวทั้งหมดโดยไม่ต้องตากแดดก็ได้ นำเกล็ดน้ำยางสีขาวทั้งหมดไปบดให้ละเอียด แล้วกรองด้วยตะแกรงขนาด 10 ช่องต่อตารางนิ้ว จะได้ผงสีขาวละเอียด แล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติกหรือภาชนะที่ปิดมิดชิดป้องกันความชื้นได้ คุณภาพของสารน้ำย่อยปาเปนที่ดีควรประกอบด้วยปาเปนประมาณ 16 - 30 % ผงหรือเกร็ดปาเปนที่ผลิตได้นี้จะเก็บไว้ใช้ในครอบครัวก็ได้ เช่น ใส่ในเนื้อต้มทำให้เนื้อเปื่อยได้ง่ายขึ้น
          สำหรับผลมะละกอที่กรีดน้ำยางไปแล้วนั้น จะมีรอยแผลอยู่ที่ผลแต่เป็นเพียงรอยตื้น ๆ ลึกลงไปในเนื้อมะละกอเพียงเล็กน้อย ดังนั้นผลมะละกอที่กรีดน้ำยางแล้วจึงยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก อาจใช้ประโยชน์โดยตรงจากผลดิบ เช่น ทำส้มตำ หรือใช้ปรุงอาหารต่าง ๆ ก็ได้ เพียงแต่เฉือนเปลือกให้ลึกกว่าปกติเล็กน้อย รอยกรีดหรือรอยตำหนินั้นก็จะหมดไป

โรคและแมลงที่สำคัญ
          มะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกมะละกอแบบการค้า ซึ่งจะตัดต้นทิ้งเพื่อปลูกใหม่เมื่อมะละกอมีอายุไม่มากนัก และมักสลับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมะละกอไปเรื่อย ๆ ส่วนมากโรคและแมลงมักจะเกิดขึ้นกับแปลงปลูกที่ปลูกมะละกอติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีหรือขาดการเอาใจใส่ หรือปล่อยให้ต้นมะละกอมีอายุมากเกินไปไม่ตัดปลูกใหม่ ทำให้เป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของโรคแมลงได้ สำหรับศัตรูมะละกอที่พบและทำความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกในปัจจุบัน มีดังนี้
          1. โรคใบจุด
          สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เป็นโรคที่พบทั่วไปในแปลงปลูกมะละกอ การระบาดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค อาการของโรคใบจุดคือ ใบจะเป็นจุดสีน้ำตาลหรือสีขาวอมเทา รูปร่างของจุดค่อนข้างกลมขนาดประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร ต่อมาใบจะเริ่มเหี่ยวแห้งและร่วงหล่น อาการของโรคจะเกิดจากใบล่างขึ้นมายอด บางต้นจะพบจุดแผลสีน้ำตาลบริเวณก้านใบ ทำให้ก้านใบเหี่ยวแห้งเร็วขึ้น สำหรับต้นมะละกออายุ 5 - 6 เดือน ซึ่งกำลังติดผลหากเกิดโรคในช่วงนี้จะทำความเสียหายต่อผลผลิตด้วย อาการที่ผลจะเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ ฉ่ำน้ำ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ แล้วจะกลายเป็นสีดำแห้งไม่เกิดอาการเน่าที่รอยแผล และเนื้อผลที่อยู่ใต้แผลจะมีลักษณะแข็ง นอกจากนี้ในระยะต้นกล้าเชื้อราสามารถเข้าทำลายใบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นจุดบนใบ ใบไหม้และเหี่ยวแห้งอย่างรุนแรง ทำให้ต้นกล้าตายภายในระยะเวลาสั้น
          การป้องกันกำจัด โดยการฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือสารที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น แคปแทน, คูปราวิท, ออร์โธไซด์ เป็นต้น หรือโดยการตัดใบที่เกิดโรคไปเผาทำลายเสียเพื่อไม่ให้ระบาดไปยังส่วนอื่นและต้นอื่น ๆ
          2. โรคใบด่างมะละกอ
          โรคนี้นับเป็นโรคที่มีความสำคัญและทำความเสียหายต่อการปลูกมะละกอของประเทศเป็นอย่างมาก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส มีการแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นตัวพาหะนำโรค ได้แก่ เพลี้ยอ่อนถั่ว เพลี้ยอ่อนฝ้าย และเพลี้ยอ่อนท้อ อาการที่เกิดกับต้นอ่อนคือใบด่างผิดปกติ ใบขนาดเล็ก ใบมีสีซีด ต่อมาใบก็จะร่วงไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ไม่ออกดอกออกผล ผลสุดท้ายก็จะตายไปในที่สุด ส่วนต้นที่โตเต็มที่แล้วส่วนของใบยอดจะเหลืองซีด ใบมีขนาดกลาง ก้านใบสั้น ใบด่างสีเหลืองสลับเขียว ส่วนต้นและก้านใบจะพบจุดหรือขีดสีเข้ม สำหรับผลของต้นที่เป็นโรครุนแรงจะพบลักษณะเป็นจุดวงแหวนปรากฎบนผิวของผล อาจจะเกิดกระจัดกระจายทั่วทั้งผลหรือรวมกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อผลสุกจุดที่เป็นวงแหวนนี้จะไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทำให้มองเห็นเป็นจุดด่างเขียวบนผิวสีเหลืองของผล ต้นมะละกอที่เป็นโรคนี้จะแตกใบน้อย ชะงักการเจริญเติบโตไม่ให้ผลผลิตหรือให้ผลผลิตน้อยลงและไม่มีคุณภาพและจะตายไปในที่สุด
          การป้องกันกำจัด ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมะละกอในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้อยู่ ไม่ปลูกพืชจำพวกแตงต่าง ๆ และพริกปะปนหรือใกล้เคียงกับแปลงปลูกมะละกอ เพราะพืชเหล่านี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของเพลี้ยอ่อน ซึ่งจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่ต้นมะละกอได้ หากตรวจพบว่าต้นใดเป็นโรคต้องรีบตัดทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อไปยังต้นอื่น ๆ ไม่ใช้มือหรือเครื่องมือที่สัมผัสถูกต้นที่เป็นโรคแล้วไปสัมผัสกับต้นที่ไม่เป็นโรค และควรฉีดยาป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนเพื่อไม่ให้มาดูดกินน้ำเลี้ยงต้นมะละกอ นอกจากนี้อาจใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคนี้มาปลูก
          3. โรครากเน่าและโคนเน่า
          เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเชื้อราในดิน พบระบาดทั่ว ๆ ไปทุกภาคของประเทศ ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพดินปลูกและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของพื้นที่ปลูก ในแต่ละปี โรคนี้สามารถทำความเสียหายได้ทั้งในระยะต้นกล้าและต้นมะละกอที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ลักษณะอาการของโรคพบทั้งที่รากและโคนลำต้น อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดแผลบนลำต้นบริเวณโคนต้นระดับดินหรือช่วงกลาง ๆ ของลำต้น จุดแผลที่เกิดเริ่มแรกลักษณะคล้ายกับเปลือกของลำต้นเปียกน้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น แผลเป็นสีน้ำตาลลักษณะเปียก บริเวณภายในขอบแผลจะพบยางมะละกอซึ่งปูดขึ้นมามีลักษณะคล้ายเมือกหรือวุ้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ อยู่กันเป็นกระจุก และเมื่อแผลขยายลุกลามมาก ๆ อาจพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมบางส่วนของแผลด้วย เมื่อถากแผลบริเวณโคนต้นออกบาง ๆ จะพบเนื้อเยื่อด้านในถูกทำลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายนี้จะมีกลิ่นเหม็น และอาการที่โคนต้นอาจจะพบลุกลามลงไปยังส่วนของลำต้นใต้ดินและที่รากได้ เมื่อเนื้อเยื่อภายในเน่าเละหมดก็จะไม่มีส่วนแข็งแรงที่จะทรงตัวอยู่ได้
          สำหรับลักษณะอาการของใบมะละกอต้นโต เมื่อเกิดอาการเน่าบริเวณโคนหรือลำต้นสูงจากพื้นดินช่วงแรก ๆ อาจจะยังไม่พบอาการผิดปกติที่ใบ แต่เมื่อโรคได้ขยายตัวลุกลามออกไปอาจสังเกตการเจริญของยอดอ่อนจะผิดปกติไป กล่าวคือ ยอดอ่อนจะเริ่มงันหรือมีลักษณะบิดเบี้ยว ใบอ่อนจะเริ่มมีสีซีด ใบล่าง ๆ เริ่มมีอาการเหลืองและเหี่ยวร่วงก่อนกำหนด ในที่สุดจะเหลือแต่ยอดอ่อนที่มีใบเล็ก ๆ ซึ่งใบเล็ก ๆ นี้ก็จะค่อย ๆ ตายไปในที่สุด ส่วนอาการที่เกิดกับมะละกอต้นเล็ก ๆ ใบล่างจะแสดงอาการใบเหลืองก่อนแล้วใบจะเหี่ยวร่วงและจะหักพับตายไปในที่สุด
          การป้องกันกำจัด ไม่ควรปลูกมะละกอในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังแฉะและไม่เป็นกรดจัด เพราะถ้าน้ำขังแฉะจะเป็นเหตุให้เกิดโรคเน่าได้ง่ายขึ้น ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลในส่วนของลำต้นและรากที่อาจเกิดจากขณะการถางหญ้าหรือพรวนดิน นอกจากนี้ถ้าพบว่าต้นมะละกอเริ่มเป็นโรคนี้ให้ขุดเอาส่วนที่เป็นแผลออก แล้วใช้ปูนขาวหรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดฟูลาแทน ผสมน้ำให้เหนียวทาบริเวณรอยแผลที่ได้ขูดเตรียมไว้ รอดูผลสัก 1 - 2 อาทิตย์ หากแผลยังไม่แห้งก็ควรทำซ้ำจนกว่าจะหายปกติ หากมะละกอเป็นโรคนี้ถึงขั้นรุนแรงให้รีบถอนขุดขึ้นมาทำลายให้หมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่อไป
          4. โรคแอนแทรกโนส
          สาเหตุเกิดจากเชื้อรา สามารถเข้าทำลายกับมะละกอได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยจะแสดงอาการที่ใบและผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสุกจะได้รับความเสียหายจากโรคนี้เป็นอย่างมาก และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของมะละกอสุกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โรคแอนแทรกโนสอาจเกิดได้กับผลตั้งแต่ยังมีสีเขียวอยู่ ซึ่งจะเกิดได้ทั้งขณะที่ผลอยู่บนต้นและหลังจากเก็บเกี่ยวจากต้นแล้ว อาการเริ่มแรกผิวของผลจะมีรอยกลมเล็ก ๆ มีลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมาเมื่อผลเริ่มมีแต้มสีขึ้นแผลนี้จะขยายใหญ่ขึ้น ลักษณะเป็นแผลค่อนข้างกลมสีคล้ำ ๆ คล้ายรอยช้ำ ขนาดไม่แน่นอน แผลเหล่านี้อาจจะรวมตัวกันทำให้เกิดแผลเน่าของผลมีขนาดใหญ่ หรือเกิดเป็นจุดเดี่ยว ๆ เป็นจุดช้ำสีน้ำตาลอ่อน เมื่อผลเริ่มมีสีเหลืองใกล้ ๆ สุกมีความหวานมากขึ้นและเนื้อเริ่มนิ่ม จุดช้ำนี้จะยุบตัวลงเล็กน้อยและจะลุกลามขยายออกไปอย่างรวดเร็ว มีลักษณะเป็นแผลกลมบุ๋มและเป็นวงซ้อนกัน มีลักษณะฉ่ำน้ำ เมื่อผลสุกทำให้เกิดอาการเน่าเละ สำหรับลักษณะที่พบบนใบก็คือใบจะเหี่ยวและร่วงหล่นไปในที่สุด
          การป้องกันกำจัด มะละกอที่ปลูกขึ้นเพื่อรับประทานผลสุกการป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนสเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลมะละกอที่จะต้องเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝนซึ่งจะพบการระบาดของโรคนี้มาก การพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดในระยะ 1 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยวผลสัก 1 - 2 ครั้ง จะช่วยลดความเสียหายของผลผลิตจากโรคนี้ได้บ้าง สารเคมีที่ใช้ได้ผล เช่น เบโนมิล 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซปหรือแคปแทน 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรก็ได้
          5. โรคราแป้ง
          สาเหตุเกิดจากเชื้อราชื่อ ออยเดี่ยม เข้าทำลายส่วนของผลและใบของมะละกอ โดยเชื้อราจะเกาะกินอยู่บริเวณผิวนอก ดูดอาหารจากผิวใบและผิวของผล ส่วนที่ถูกเชื้อราแป้งเข้าทำลายจะมีลักษณะเป็นสีขาว ๆ คล้ายแป้งเกาะอยู่ อาการที่ใบคือ ผิวนอกของใบโดยเฉพาะด้านใต้ของใบจะมีเชื้อราสีขาวเกาะอยู่ ส่วนด้านบนตรงข้ามกับจุดที่เชื้อราเกาะอยู่นั้นจะเห็นเป็นจุดสีซีด ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นดวงสีเหลืองหรือสีเขียวจาง ๆ ซึ่งล้อมรอบด้วยส่วนที่เป็นสีเขียวที่ไม่เป็นโรค ลักษณะเป็นดวงนี้จะขยายออกไปเรื่อย ๆ ถ้าโรคนี้ระบาดรุนแรงใบจะซีดเหี่ยวแห้งและร่วงหล่น ต้นทรุดโทรมมากและให้ผลผลิตลดลง ใบอ่อนที่ถูกทำลายจะร่วงหรือเสียรูปทรง ยอดชะงักการเจริญเติบโต สำหรับลักษณะอาการที่ผลจะสังเกตเห็นเป็นกลุ่มเส้นใยมีลักษณะคล้ายแป้งสีขาวเช่นเดียวกับที่ใบ หากเกิดกับผลอ่อนจะทำให้ผลร่วง แต่ถ้าเกิดกับผลโตผลจะไม่ร่วง ยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ผลอาจบิดเบี้ยว ผิวจะกร้านและขรุขระไม่น่าดู เจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ
          การป้องกันกำจัด ควรดูแลภายในสวนไม่ให้รกรุงรัง คอยเก็บใบที่แก่และใบที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้นไปเผาทิ้งไม่ให้เป็นที่สะสมของโรค และเมื่อพบว่าใบมะละกอเริ่มเกิดโรคนี้ให้รีบตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทิ้งก่อนที่จะระบาดไปยังส่วนอื่น ๆ ส่วนการป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี คือ ฉีดพ่นด้วยเบโนมิล 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดโนแคบ 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
          6. โรครากปม
          สาเหตุเกิดจากไส้เดือนฝอยชื่อ Meloidogyne incognita ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กประมาณเส้นใยฝ้าย เจริญอยู่ในดินที่มีความชุ่มชื้นบริเวณโคนต้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับใต้ดินไม่เกิน 6 นิ้ว ไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้นอกจากจะเข้าทำลายมะละกอต้นใดแล้ว ยังสามารถเคลื่อนที่ไปเข้าทำลายรากของต้นมะละกอใกล้เคียงได้อีกด้วย
          ลักษณะอาการ ไส้เดือนฝอยจะเข้าทำลายรากไชชอนเข้าไปในเนื้อเยื่อและขับถ่ายน้ำย่อยออกมา น้ำย่อยดังกล่าวเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์ของรากตรงส่วนนั้นเกิดการแบ่งตัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและบางเซลล์จะเจริญมีขนาดใหญ่กว่าปกติเป็นหลายเท่า จึงทำให้เนื้อเยื่อของรากบริเวณนั้นมีลักษณะอาการบวมโป่งเป็นปมอย่างเห็นได้ชัด รากชะงักการเจริญเติบโต เมื่อผ่าดูภายในตรงที่รากเป็นปมนั้นจะพบว่าภายในมีไส้เดือนฝอยเพศเมีย รูปร่างคล้ายถุงหรือน้ำขนาดเท่าปลายเข็มหมุดใสสะท้อนแสง และอาจมีกลุ่มของไข่ของไส้เดือนฝอยวางอยู่บริเวณปากแผลนั้น จากผลของการที่ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายรากจึงมีผลทำให้รากนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ดูดน้ำและธาตุอาหารได้ตามปกติจึงทำให้ใบเหลือง ร่วงก่อนกำหนดและไม่ผลิดอกออกผลและอาจตายไปในที่สุด
          การป้องกันกำจัด เมื่อพบว่ารากของมะละกอเป็นโรครากปมขึ้น ควรคลุกดินบริเวณโคนต้นด้วยสารเคมี เช่น ฟูราดาน, ไวเคท, โมแคปหรือรักบี้ ในอัตรา 15 กรัมต่อต้น
          7. โรคใบไหม้
          โรคใบไหม้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Helminthosporium rostratum โดยสปอร์ของเชื้อราจะปลิวไปแพร่ระบาดสู่ต้นอื่นโดยมีลมและน้ำเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ลักษณะอาการ จะเกิดเป็นจุดค่อนข้างกลมขนาดเท่าหัวเข็มหมุด สีเหลืองและอาจฉ่ำน้ำที่ผืนใบส่วนของปลายใบ จุดนี้จะขยายใหญ่เข้ามาสู่ผืนใบ เกิดแผลสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเหลือง ตรงกลางแผลจะแห้ง โดยรอบของริมแผลจะมีสีเข้มและฉ่ำน้ำ ใบส่วนที่เป็นโรคจะแตกหรือฉีกขาดออกโดยง่ายเมื่อถูกลมพัด เมื่อโรคมีอาการรุนแรงจะเกิดแผลดังกล่าวอยู่ทั่วใบ ใบจะแห้งและเกิดการฉีกขาดอยู่เป็นแห่ง ๆ บนพื้นแผลจะมีกลุ่มของเชื้อราเจริญขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วแผล ทำให้เห็นเป็นสีเทาดำ ถ้าเป็นมากจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลน้อยและไม่ดก
          การป้องกันกำจัด หากพบมะละกอเกิดเป็นโรคนี้ขึ้นให้พ่นด้วยสารเคมีพวกโปรปิเนบ 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่ว ส่วนใบที่ร่วงหล่นให้เก็บไปเผาทำลายเสีย
          8. อาการผลขรุขระ
          มะละกอที่ปลูกในหลายท้องที่จะพบเห็นอาการผิดปกติที่ผลอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผิวของผลเกิดย่น ขรุขระ เป็นตะปุ่มตะป่ำ ทำให้เป็นที่น่ารังเกียจของผู้ซื้ออย่างมาก ซึ่งอาการดังกล่าวนี้จะพบก็ต่อเมื่อผลมะละกอโตแล้วเท่านั้น ต้นมะละกอที่มีอาการนี้จะเจริญเติบโตเป็นปกติติดผลตามปกติ ผลที่ยังอ่อนอยู่ก็ไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เมื่อผลโตขึ้นอาการก็จะยิ่งชัดเจนคือ ผิวของผลเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายกับเป็นโรคหรือถูกแมลงดูดกิน ผลที่เป็นตะปุ่มตะป่ำนี้ถ้าลองกรีดน้ำยางดู จะเห็นว่าน้ำยางนั้นใสกว่าปกติ และใบจะออกมาน้อยมากเมื่อเทียบกับผลมะละกอปกติ และถ้าต้นใดแสดงอาการนี้รุนแรงต้นมะละกอจะแคระแกร็น และผลไม่มีน้ำยางเลยจึงเป็นปัญหาในการกรีดยางมะละกอเพื่อผลิตสารปาเปน
          สำหรับสาเหตุของอาการตะปุ่มตะป่ำนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากดินขาดธาตุอาหารรองบางตัว ดังนั้นถ้าท้องที่บริเวณใดมะละกอแสดงอาการผลตะปุ่มตะป่ำดังกล่าว ก็ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมะละกอบริเวณนั้น เพราะว่าการปรับปรุงดินที่ขาดธาตุอาหารรองนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากและลงทุนสูง แนวทางแก้ไขประการหนึ่งที่จะช่วยลดอาการนี้ได้คือการเตรียมดินปลูกให้ดีและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินปลูกให้มาก
          9. เพลี้ยไฟ
          เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูมะละกอที่มีขนาดเล็กมาก มีขา 6 ขา ลำตัวแคบยาว สำหรับชนิดที่ทำลายมะละกอมีสีเหลืองซีด เมื่อโตเต็มที่มีปีกยาวจึงสามารถบินได้ และสามารถปลิวไปตามลมได้ไกลอีกด้วย ทำลายมะละกอโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ส่วนที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายแสดงอาการผิดปกติ ใต้ผิวใบจะแห้งเหี่ยวโดยเฉพาะที่เส้นกลางใบและขอบใบจะแห้งเป็นสีน้ำตาล ถ้าเข้าทำลายที่ผลจะทำให้ผลกร้านเป็นสีน้ำตาล มักพบระบาดในช่วงปลายฤดูฝนถึงตลอดฤดูแล้ง ไม่ค่อยพบในช่วงฤดูฝน
          การป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟเป็นศัตรูมะละกอที่ทนทานต่อยาฆ่าแมลงมาก และสามารถสร้างความต้านทานยา (ดื้อยา) ได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการใช้ยาฆ่าแมลงจะต้องมีการเปลี่ยนชนิดของยาอยู่เสมอ ยาฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ ไดเมทโธเอท หรือ โมโนโครโตฟอส ฉีดพ่น 2 - 3 ครั้ง โดยฉีดพ่นทุก ๆ 5 - 7 วัน หากพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายไม่มากอาจใช้น้ำฉีดพ่นแรง ๆ เพื่อให้เพลี้ยไฟกระเด็นหลุดออกจากต้นมะละกอ
          10. เพลี้ยแป้ง
          เพลี้ยแป้งพบในแปลงปลูกมะละกอทั่วไป ลักษณะของเพลี้ยแป้งที่ยังเป็นตัวอ่อนจะมีสีเหลือง เมื่อโตขึ้นจะมีสารคล้ายกับแป้งสีขาวห่อหุ้มลำตัวอยู่ และมีขนอ่อนรอบ ๆ มองไม่เห็นตัวที่อยู่ภายใน เมื่อเอามือบี้จะเห็นเป็นสีแดง เนื่องจากตัวเพลี้ยที่อยู่ภายในถูกทำลาย เคลื่อนที่ไปมาได้แต่ช้า ไม่มีปีก เพลี้ยแป้งทำลายมะละกอโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนของยอด ใบและผลซึ่งยังมีลักษณะอ่อนอยู่ นอกจากนี้ บริเวณที่มีเพลี้ยแป้งอาศัยอยู่จะมีราดำและมดอยู่เต็มไปหมด เพราะมูลของเพลี้ยแป้งที่ถ่ายออกมานั้นเป็นอาหารของราดำและมด การระบาดของเพลี้ยแป้งไปยังต้นอื่น ๆ นั้น มดจะเป็นพาหะนำไป
          การป้องกันกำจัด หากพบไม่มากอาจใช้น้ำฉีดพ่นแรง ๆ ให้ถูกตัว เพลี้ยแป้งก็จะหลุดออกจากต้นมะละกอได้ หรือใช้ไม้ขูดก็ได้ ในการป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งแพร่ระบาดไปยังแหล่งอื่นต้องกำจัดมดซึ่งเป็นพาหะนำไป โดยใช้ยาฆ่าแมลงพวกคลอเดนราดที่โคนต้นมะละกอ ส่วนสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้ดี เช่น มาลาไธออน 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุก 20 วัน หากมีเพลี้ยแป้งระบาดมากฉีดพ่นสารเคมีแล้วไม่หาย ให้ตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมาก ๆ ไปเผาทำลายเสีย
          11. เพลี้ยหอย
          เป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของมะละกอ พบในแปลงปลูกมะละกอทั่ว ๆ ไป เป็นแมลงปากดูด เพลี้ยหอยมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่ชอบทำลายมะละกอจะมีลักษณะเป็นเกราะหุ้มตัวอ่อนอยู่ภายใน เพลี้ยหอยจะมีการเคลื่อนย้ายในระยะที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ เท่านั้น จากนั้นก็เกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่กับที่และจะค่อยสร้างเกราะหุ้มลำตัวไว้ ทำลายมะละกอโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้น ใบ ก้านใบและผล โดยมดเป็นพาหะ ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายแห้งซีด ถ้าเข้าทำลายมากลำต้นจะแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้เพลี้ยหอยยังถ่ายมูลออกมาเป็นน้ำตาลเหนียว ๆ ทำให้ราดำมาขึ้นบริเวณมูลเพลี้ยที่ถ่ายเปื้อนส่วนของลำต้น ใบ ก้านใบหรือผล
          การป้องกันกำจัด เพลี้ยหอยเป็นศัตรูมะละกอที่ป้องกันกำจัดได้ค่อนข้างยากเนื่องจากมีเกราะหุ้มลำตัวไว้ ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมี การป้องกันกำจัดในช่วงระยะที่มะละกอติดผลอ่อนโดยฉีดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น มาลาไธออน 2 ช้อแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุก 20 วัน ถ้าเป็นมาก ๆ ฉีดพ่นยาแล้วไม่หายให้ตัดต้นเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดออกไปยังต้นหรือสวนข้างเคียง และเมื่อผลใกล้แก่ให้ราดยาป้องกันมดคาบตัวเพลี้ยมาทุก 10 - 14 วัน ที่บริเวณโคนต้น สำหรับแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยหอยคือ ด้วงเต่าทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
          12. แมลงวันทอง
          แมลงวันทองเป็นแมลงที่ทำลายไม้ผลทุกชนิด แต่ไม่ค่อยทำความเสียหายกับมะละกอมากนักเนื่องจากผู้ปลูกมักจะเก็บมะละกอตั้งแต่ตอนแก่ ไม่ถึงกับแก่จัดหรือสุก แมลงวันทองจะทำอันตรายได้ก็ต่อเมื่อมะละกอสุกแล้ว ในขณะที่ผิวยังแข็งอยู่แมลงวันทองไม่สามารถวางไข่ได้ จึงไม่ควรปล่อยให้ผลมะละกอสุกคาต้นซึ่งจะเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงวันทองได้ ลักษณะการทำลายของแมลงวันทองโดยจะวางไข่ที่ผลแก่จัดหรือสุก ทำให้หนอนที่ฟักเป็นตัวทำลายเนื้อของผลมะละกอเสียหาย แมลงวันทองจะระบาดในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ระยะที่ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรมากที่สุดคือ ระยะที่ไข่ฟักเป็นตัวหนอนแล้ว พบมากในผลมะละกอสุกทำให้ผู้บริโภคเสียความรู้สึกในการรับประทาน
          การป้องกันกำจัด ควรเก็บผลขณะที่ผิวมีสีเหลืองประมาณ 5 % ของพื้นที่ผิวผล ไม่ปล่อยให้มะละกอสุกคาต้น ใช้มาลาไธออนฉีดพ่นทำลายตัวเต็มวัย ล่อตัวผู้ด้วยสารเมธธิลยูจินอลผสมยาฆ่าแมลงพวกมาลาไธออนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 นอกจากนี้อาจใช้วิธีห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือเก็บผลมะละกอที่เน่าเสียเนื่องจากโรคและแมลงออกจากแปลงปลูก นำไปฝังดินให้ลึกหรือเผาไฟทำลาย
          13. ไส้เดือนฝอย
          ไส้เดือนฝอยที่เข้าทำลายมะละกอเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่ภายในดินโดยเฉพาะดินทรายจะพบมาก ไส้เดือนฝอยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในมะละกอมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นแบบ เอนนิฟอร์ม (eniform) ชื่อ Rotylencheelus eniformis ไส้เดือนฝอยชนิดนี้จะเข้าฝังตัวอยู่ตามผิวราก ทำให้รากเกิดลักษณะคล้ายเม็ดทรายเล็ก ๆ ตามผิวราก ส่วนอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Meloidogyne sp. ไส้เดือนฝอยชนิดนี้จะทำให้รากมะละกอบวมเป็นหูด ซึ่งไส้เดือนฝอยทั้ง 2 ชนิดจะเข้าทำลายที่ราก ทำให้รากดูดอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้ไม่เพียงพอทำให้มะละกอแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโต ใบเล็กลง ต่อมาใบจะเริ่มมีสีเหลืองและร่วงหล่นก่อนกำหนด ผลผลิตลดลงหรือให้ผลผลิตน้อยจนไม่คุ้มค่า
          การป้องกันกำจัด ค่อนข้างจะทำได้ยากและต้องลงทุนสูง ทำได้โดยการอบดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยสารเคมีพวก ฟูราโกรน หรือ เนมากอน อัตรา 3 - 6 กิโลกรัมต่อไร่ หรือด้วยการรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยยากำจัดแมลงพวกฟูราดานก็ได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ใดซึ่งมีไส้เดือนฝอยระบาดทำความเสียหายมาก ควรหลีกเลี่ยงไม่ปลูกมะละกอในพื้นที่นั้นเพราะจะไม่คุ้มกับต้นทุน