วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

การเตรียมตัวสอบวิชาวาดเส้น

การเตรียมตัวสอบวิชาวาดเส้น
ขอบข่ายของวิชาวาดเส้น จะเน้นทางด้านการปฏิบัติล้วน ๆ ดังนั้นวิชานี้จึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนมาก ๆ ควรเรียนและฝึกแต่เนิ่น ๆ จะได้มีความชำนาญพอในการทำข้อสอบหัวข้อที่นักเรียนต้องฝึกฝนมีดังนี้
1. การร่างรูป หุ่นที่ใช้ในการวาดควรเป็นหุ่นวัตถุจริง ไม่ใช่ภาพถ่าย หัวข้อที่ควรฝึก คือ
      1.1 อวัยวะของคน เช่น มือหรือเท้าของตัวเอง ใบหน้า หรือ PORTRAIT (หัวถึงหัวไหล่) ร่างกายคนทั้งตัว หรือ FIGURE (สำหรับผู้ที่ต้องการสอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ต้องศึกษา และหัดวาดคนทั้งตัว และเรียนรู้เรื่องกายวิภาคด้วย)
      1.2 วัตถุสิ่งของทั่วไป เช่น ขวดแก้วใส, รองเท้าหนังหรือผ้าใบสีเรียบ (ที่เราใส่เข้าห้องสอบ), กระดาษยับ, ผ้ายับ, เหรียญสตางค์, แบงค์, ธนบัตร, ช่อดอกไม้ (ไม่ต้องใหญ่มาก) และพวกเครื่องเขียนใกล้ตัวเราที่นำติดตัวเข้าห้องสอบ
2. ต้องฝึกสังเกต ระนาบ (PLAN) ของแสงและเงา ให้เข้าใจ
3. การจัดหุ่นควรคำนึงถึง ทิศทางด้านแสงเข้า ให้เข้าด้านข้าง เพื่อให้เกิดเงาทั้งที่วัตถุและเงาตกทอดที่พื้นจะทำให้ภาพมีมิติสวยงามขึ้น
4. การจัดหุ่น ควรจัดให้มี มิติและระยะ ให้มีระยะหน้าหลัง มีการทับซ้อนกันบ้าง หรือกระจายบ้าง โดยคำนึงถึงหลักขององค์ประกอบที่สวยงาม และทำให้ภาพมีมิติความลึก
5. นอกจากเรื่องโครงสร้างของหุ่นที่เราต้องเขียนให้ถูกต้องแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องพื้นผิวของวัตถุที่เป็นหุ่นด้วย ให้สังเกตและพยายามเขียนให้ได้ความรู้สึกว่าหุ่นนั้นเป็นแก้วใส, แก้วทึบ, ไม้, โลหะ, ผ้า, พลาสติก, หนัง, กระดาษ, เนื้อคน หรือวัสดุพื้นผิวที่ต่างกัน น้ำหนักแสงเงาก็จะต่างกันด้วย ดังนั้นเวลาฝึกต้องสังเกตหุ่นให้มาก ๆ สังเกตอย่างละเอียด ให้เข้าใจ อย่าเขียนด้วยการนึกขึ้นเอง อย่าเขียนโดยไม่มีหุ่นแบบ และอย่ามั่วแสงเงาโดยนึกขึ้นเองด้วย
6. วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เขียน ควรเป็นดินสอสำหรับวาดเส้นและแรเงาโดยเฉพาะ เช่น EE 4B 6B หรือดินสอถ่าน (ตามถนัด) ในการฝึกควรฝึกกระดาษวาดเขียน (80 ปอนด์หรือ 120 แกรม ตามเนื้อกระดาษของข้อสอบ ENTRANCE)
7. คำนึงถึงเรื่อง ขนาดของรูป ไม่ควรเขียนให้ขนาดเล็กกว่าจริงมากนัก วัตถุ หรือหุ่นที่มีขนาดปานกลาง เช่น มือ รองเท้า ขวด ควรเขียนขนาดเท่าจริง แต่ถ้าวัตถุเล็ก ๆ เช่น เหรียญสตางค์ เครื่องเขียนต่าง ๆ ควรเขียนขยายให้ใหญ่ขึ้นหน่อย จะได้เห็นรายละเอียดชัดเจน ทำให้น่าสนใจขึ้น อย่างไรก็ตามขนาดของภาพก็ต้องสัมพันธ์กับขนาดของหน้ากระดาษด้วย โดยคำนึงถึงหลักการจัดองค์ประกอบที่เหมาะสม
8. นักเรียนควรฝึกหัดทุกหัวข้อ หัวข้อละหลาย ๆ ครั้ง และกำหนดเวลาการทำงานเท่าห้องสอบคือ เวลา 3 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น