วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

ยีนกับความรู้สึกหดหู่

ยีนกับความรู้สึกหดหู่
ความลับสามพันล้านข้อ.....ในยีน!
          ยีนเป็นส่วนสำคัญของโครโมโซมที่แสดงและบรรจุรหัสข้อมูลมากมายมหาศาลเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของมนุษย์แต่ละคน และในยีนของมนุษย์นี้เองที่ประกอบด้วยสารเคมีถึงประมาณสามพันล้านชนิดเป็นความลับสามพันล้านข้อ เพราะนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันกำลังพยายามเจาะความลับองค์ประกอบของยีน เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
          การวิเคราะห์และศึกษาความเกี่ยวเนื่องสือต่อกันของบรรดาสารเคมีที่ประกอบเป็นยีนนี้ กำลังเป็นเรื่องใหญ่ โครงการมหึมาของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันซึ่งคาดกันว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 ปี และใช้เงินถึงประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (75,000 ล้านบาท) จึงจะบรรลุเป้าหมาย
          อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาและที่กำลังเป็นอยู่ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็ได้ระดมความพยายามศึกษาวิจัยธรรมชาติและคุณสมบัติเฉพาะพิเศษของยีนในระดับทั่วไป นั่นคือยังไม่เจาะลึกลงไปถึงสารเคมีองค์ประกอบของยีน และก็ได้ข้อมูลความรู้มากมายเกี่ยวกับบทบาทของยีน
          ล่าสุด ก็มีผลงานการวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐคณะหนึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติและบทบาทของยีน และก็ได้ค้นพบบทบาทของยีนอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่คาดไม่ถึงมาก่อน
          บทบาทอะไร?
          บทบาทของยีนเกี่ยวกับสภาพจิตใจของคนที่มีความรู้สึกหดหู่เป็นประจำ
          เรื่องความรู้สึกสลดหดหู่ของคนเราโดยทั่ว ๆ ไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่มีสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเป็นปกติ นั่นคือ คนเราโดยทั่ว ๆ ไปล้วนแต่ต้องเคยรู้สึกสลดหดหู่กันทั้งนั้น...
          แต่ความรู้สึกหดหู่ใจของคนเราก็อาจแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ
          ลักษณะหนึ่ง
          เป็นความรู้สึกสลดหดหู่ที่เกิดขึ้นกับคนโดยทั่ว ๆ ไปเป็นครั้งคราวอย่างไม่ถาวร ตัวอย่างเช่น คนหนุ่มคนสาวที่ผิดหวังเรื่องความรัก พ่อค้านักธุรกิจที่รู้สึกหดหู่ใจเพราะธุรกิจกำลังประสบปัญหาตกต่ำ คนจิตใจเป็นปกติที่เห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบชะตากรรมที่คนอื่นก่อ
          ความรู้สึกหดหู่จิตใจที่เป็นปกตินี้จะเกิดขึ้นอย่างชั่วคราว เกิดขึ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป
          อีกลักษณะหนึ่ง 
          เป็นความรู้สึกสลดหดหู่ที่ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่หายไปง่าย ๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคจิตใจหดหู่
          ตัวอย่างคือ คนหนุ่มที่ไปหลงรักสาวเจ้า แล้วเธอก็ไม่ตอบสนองความรัก เพราะจิตใจไม่ตรงกัน เจ้าหนุ่มก็เลยอกหัก...อย่างแรง...และนาน เอาแต่นั่งเงียบเหงา เศร้าซึม เสียอกเสียใจ น้อยอกน้อยใจ แล้วก็เลยเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว รู้สึกว่าโลกนี้ช่างเงียบเหงาจริงหนอ โลกนี้ช่างมืดมนจริงหนอ
          จริง ๆ แล้ว สำหรับคนที่มีจิตใจหดหู่ที่ผิดปกติ ยังแบ่งออกได้อีกเป็นสองแบบ
          แบบหนึ่ง คือ หดหู่อย่างเงียบ ๆ เก็บไว้กับตัว อยู่อย่างเหงาหงอยเศร้าซึม
          อีกแบบหนึ่ง คือ หดหู่อย่างไม่เงียบ เก็บความรู้สึกหดหู่ใจเอาไว้ภายใน แสดงตนออกมาเป็นคนกระฉับกระเฉง ว่องไว แต่จะไม่ออกมาแบบธรรมชาติ เข้าทำนอง "โอเวอร์" อย่างชัดเจน และระเบิดอารมณ์ออกมาเป็นความรุนแรงง่าย ๆ
          ความรู้สึกสลดหดหู่ที่เกิดเป็นประจำ มีผลกระทบไม่ดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพ...และชีวิต!
          โดยทั่ว ๆ ไป คนที่มีความรู้สึกสลดหดหู่เป็นประจำ...และนาน...อย่างผิดปกติ สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจก็จะย่ำแย่ไปด้วย ร่างกายจะอ่อนแอ เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ
          ร้ายแรงที่สุดสำหรับคนที่จิตใจหดหู่เป็นประจำอย่างเงียบ ๆ คือ มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง ส่วนคนที่พยายามเสแสร้งเก็บความรู้สึกหดหู่เอาไว้ภายใน ก็มีอารมณ์รุนแรง บันดาลโทสะง่าย ระงับอารมณ์ไม่อยู่ มีแนวโน้มจะคลุ้มคลั่งทำลายทรัพย์สินสิ่งของ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายคนอื่น
          สาเหตุของความรู้สึกสลดหดหู่อย่างผิดปกติของคนเราเท่าที่ทราบกันมีอยู่สองสาเหตุ คือ ทางด้านจิตใจ และทางด้านร่างกาย
          ทางด้านจิตใจ คือ สาเหตุจากความบีบคั้นของสังคม และการถูกกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง
          ส่วนทางด้านร่างกาย คือ ความผิดปกติของต่อมบางชนิดในร่างกาย (ดังเช่นต่อมเอนโดไครน์, ENDOCRINE GLAND) และปริมาณที่เปลี่ยนไป (ลดลง) ของสารเคมีในสมองบางชนิด (ดังเช่น โนแรดรีนาไลน์, NORADRENALINE)
          แล้วความรู้สึกหดหู่อย่างผิดปกติสืบทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่ ?
          เรื่องนี้เองที่เป็นผลเกี่ยวข้องกับการค้นพบใหม่ในเรื่องของยีนกับความรู้สึกสลดหดหู่ที่ผมกำลังนำมาเล่าสู่คุณผู้อ่าน
          เท่าที่ผ่านมาก็มีทฤษฎีความเชื่อทางพันธุกรรมว่า ความรู้สึกหดหู่อย่างผิดปกติเข้าขั้นเป็นเสมือนกับโรคภัยไข้เจ็บนี้ ก็ถ่ายทอดกันได้ทางพันธุกรรม
          ทว่า เท่าที่ผ่านมาอีกเช่นกัน หลักฐานข้อมูลที่สนับสนุนทฤษฎีนี้เป็นหลักฐานเชิงสถิติเท่านั้นว่า สำหรับคู่แฝดแท้ ถ้าแฝดคนหนึ่งเป็นโรคจิดใจหดหู่อย่างผิดปกติ อีกคนหนึ่งก็มีโอกาสเป็นโรคจิตใจหดหู่ผิดปกติเช่นกันถึง 74% ส่วนสำหรับคู่แฝดไม่แท้ โอกาสแบบเดียวกันนี้มีอยู่เพียง 19%
          จนกระทั่งมาล่าสุดนี้เอง ก็มีการค้นพบจากผลงานการวิจัยเรื่องของพันธุกรรมคือยีนกับความผิดปกติทางจิตใจของคนเป็นโรคจิตใจหดหู่เป็นประจำ
          ผลงานการวิจัยนี้เป็นของคณะจิตแพทย์สหรัฐแห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไมอามี่ มีศาสตราจารย์เจนิช เอ. อีจีแลนด์ (JANICE A. EGELAND) เป็นหัวหน้า
          คณะวิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับความรู้สึกจิตใจหดหู่ของคนจำนวนหนึ่ง ที่ถ่ายทอดความผิดปกตินี้ต่อกันมาทางพันธุกรรม การวิจัยดำเนินมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 10 ปี จึงมีการสรุปผลการวิจัยออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2530
          ผลจากการวิจัยสรุปออกมาชัดเจนว่า โรคความรู้สึกหดหู่บางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้จริง เป็นการยืนยันทฤษฎีเก่าในเรื่องนี้...
          และจากการวิจัยก็มีการค้นพบที่คาดไม่ถึงมาก่อนว่า ยีนซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความผิดปกติของจิตใจหดหู่บางอย่าง เป็นยีนเฉพาะชนิดหนึ่งอยู่ที่ตำแหน่งหนึ่งของโครโมโซม และเป็นยีนที่ผิดปกติ
          แล้วเจ้ายีนที่ผิดปกตินี้เอง เป็นตัวถ่ายทอดความผิดปกติในเรื่องของความรู้สึกหดหู่อย่างไม่เป็นปกติ สืบทอดต่อไปยังทายาท
          การค้นพบใหม่นี้ มีความสำคัญอย่างไร ?
          ผู้เชี่ยวชาญในวงการเชื่อว่า การค้นพบยีนผิดปกติที่เป็นตัวถ่ายทอดความรู้สึกหดหู่อย่างผิดปกติทางพันธุกรรมนี้ ต่อไปในอนาคตอันใกล้จะมีบทบาทอย่างสำคัญ ช่วยมนุษย์ในการป้องกันความผิดปกตินี้มิให้สืบทอดต่อกันทางกรรมพันธุ์ อีกทั้งการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตใจของคนเป็นโรคจิตหดหู่ และการรักษา
          ในปัจจุบัน การศึกษาคนเป็นโรคจิตใจหดหู่ทำได้ 2 วิธีคือ การใช้ยาและการใช้จิตวิทยา
          ต่อไปในอนาคต ก็จะมีวิธีที่ 3 เพิ่มขึ้นมา คือ วิธีตรวจยีน...หายีนผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกหดหู่ !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น