วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และความถนัดทางนิเทศศิลป์

การเตรียมตัวสอบวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และความถนัดทางนิเทศศิลป์
1. การออกแบบนิเทศศิลป์ (GRAPHIC DESIGN) เป็นงานที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างมาก ดังนั้น หากเราต้องการเป็นนักออกแบบนิเทศศิลป์ที่ดี จึงควรหัดเป็นคนช่างสังเกตชอบคิดหาไอเดียแปลกใหม่เสมอ และต้องทันสมัย คอยติดตามการเคลื่อนไหวของงานออกแบบนิเทศศิลป์ทุกประเภท ซึ่งได้แก่ การออกแบบโปสเตอร์, การออกแบบหน้าโฆษณาในนิตยสาร ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในทีวี, การออกแบบแสตมป์, ออกแบบลวดลาย และตัวอักษรบนกล่องหรือซองใส่สิ่งของทุกชนิด, การออกแบบการ์ด หรือบัตรต่าง ๆ, การออกแบบจัดวางตัวอักษร การเขียนภาพประกอบ, การออกแบบแผ่นพับหรือใบปลิว, การออกแบบปกหนังสือ, ปกเทป, ปกแผ่นเสียง, ปกแผ่นซีดี, การออกแบบเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้ การออกแบบสัญลักษณ์และการนำไปใช้ประกอบการออกแบบอื่น ๆ ที่เป็นชุด เช่น กระดาษ ซองจดหมาย และนามบัตร เป็นต้น
2. ควรสังเกตและศึกษาให้เข้าใจถึง หลักการจัดองค์ประกอบภาพ และตัวอักษร ในงานออกแบบนิเทศศิลป์แต่ละประเภทว่าแตกต่างกันอย่างไร เช่น การจัดองค์ประกอบของภาพและตัวอักษรในงานโปสเตอร์ย่อมจะแตกต่างจากการจัดวางภาพและตัวอักษร ในงานออกแบบแสตมป์ เป็นต้น
3. ควรฝึกคิดหา ไอเดีย เพื่อใช้ในการออกแบบ รวมถึงการสร้างรูปแบบหรือสไตล์ของงานให้สามารถสื่อความหมายได้ถูกต้องตามประเภทของงานที่ต้องการออกแบบ เช่น ต้องการออกแบบปกหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมต้น ก็ไม่ควรให้งานออกมาแล้วดูเหมือนซองใส่ขนม
4. งานออกแบบไม่ว่าแขนงใดก็ตาม รูปแบบของงานมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น หากไม่สนใจคอยติดตามงานออกแบบอยู่เสมอ ๆ เวลาสร้างงานออกมาอาจจะดูเชย หรือล้าสมัยได้เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานออกแบบได้จาก
      4.1 นิตยสารต่าง ๆ เช่น หน้าโฆษณาที่มีแนวสร้างสรรค์ใหม่, หน้าคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบหรือแม้แต่หน้าแฟชั่น หรือหน้าสอนทำสิ่งประดิษฐ์หัตถกรรม ฯลฯ
      4.2 เวลาเดินในห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายของต่าง ๆ เราก็สามารถหาความรู้ได้ด้วยการสังเกตและศึกษาแนวทางการออกแบบป้ายหน้าร้าน, ลวดลายและตัวอักษรของกล่อง หรือซองใส่สินค้าทุกชนิด ฯลฯ โดยการพิจารณาหาเหตุผลว่า แบบไหนสวย และเหมาะสม เพราะอะไร เช่น รูปภาพประกอบเป็นอย่างไร การเลือกใช้สีเหมาะสมและสวยไหม การจัดวางองค์ประกอบน่าสนใจหรือไม่ แม้แต่การออกแบบของที่ระลึก การ์ดต่าง ๆ ของใช้จุกจิกหรือตุ๊กตา ฯลฯ ก็สามารถทำให้เราทราบถึงความเคลื่อนไหวของงานออกแบบในปัจจุบันได้
5. เมื่อเราทราบถึงประเภทและลักษณะของงานออกแบบนิเทศศิลป์พอสมควรแล้ว ก็ต้องฝึกหัดออกแบบโดยการกำหนดหัวข้อขึ้น เช่น ออกแบบโปสเตอร์หัวข้อ "รณรงค์ให้คนไทยใช้ของที่ทำขึ้นในประเทศ" หรือออกแบบแสตมป์ในหัวข้อ "ครบรอบ 100 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย" หรือออกแบบลวดลายและอักษรของซองใส่ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ขึ้นใหม่ เป็นต้น หัวข้อต่าง ๆ ควรฝึกทำมาก ๆ และหาผู้ให้คำแนะนำปรึกษา และวิจารณ์ เพื่อหาข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไขและนำมาปรับปรุงงานของเราให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น