ถ้าคุณพ่ออ้วน คุณแม่ก็อ้วนแล้วคุณลูกจะต้องอ้วนหรือไม่ ?
คนบางคนเกิดมาเพื่อจะอ้วน จริงหรือไม่ ?
ทำไมคนบางคนกินก็จุ กินก็เก่ง กินสารพัด กินที่กินได้ แต่ไม่อ้วน ?
ทำไมคนบางคนกินก็น้อย กินไม่บ่อย แต่ก็อ้วนเอาอ้วนเอา ?
---------------------------
ไม่มียุคสมัยใดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มนุษยจะเป็นห่วงกังวลและจริงจังเท่ากับยุคปัจจุบัน ในเรื่องความอ้วนความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในเรื่องเกี่ยวกับระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ ทำให้เป็นที่ตระหนักกันโดยทั่ว ๆ ไปว่า ความอ้วนไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อร่างกาย
แต่ละปี มนุษย์ได้ถูกทำลายชีวิตไป เพราะความอ้วนเป็นจำนวนมากมายทั่วโลก
ถ้าความอ้วนไม่ถึงกับทำให้ตาย ความอ้วนก็ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ และทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย
ดังนั้น วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพในปัจจุบัน จึงให้ความสนใจเรื่องความอ้วนของมนุษย์เรากันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสาเหตุของความอ้วน
สาเหตุของความอ้วนที่ทราบกันดี โดยทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ต้องอาศัยการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมให้มากมายนัก ก็คือ การกิน
คนที่กินเก่ง กินจุ กินบ่อย กินทุกอย่างที่มนุษย์กินได้ มีความสุขมาก ๆ กับการกินโดยทั่ว ๆ ไป ก็มักจะเป็นคนอ้วน
แต่ก็ไม่เสมอไป
เพราะมีคนเป็นจำนวนมาก ที่กินเก่ง กินจุ กินบ่อย เช่นกัน ทว่ากลับไม่อ้วน
สิ่งที่ควบคู่กันไปกับ การกิน ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า คนเราจะอ้วนหรือไม่ คือ การออกกำลังกาย
คนที่กินเก่ง แต่ออกกำลังกายเป็นประจำก็ไม่อ้วนได้เช่นกัน
ดังนั้น ปัจจัยคู่กันคู่หนึ่งที่ทราบกัน โดยทั่ว ๆ ไปในเรื่องความอ้วนก็คือ การกินกับการออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนบางคน และเป็นจำนวนไม่น้อย ที่เรื่องของการกิน กับการออกกำลังกาย ก็ดูจะไม่ช่วยในเรื่องเกี่ยวกับความอ้วน นั่นคือ กินก็ไม่มาก กำลังกายก็ออก ดังเช่นที่คนทั่ว ๆ ไปเขาออกกัน แต่ก็อ้วน
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้อ้วน ?
สาเหตุหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจมากจากวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ กรรมพันธุ์เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความอ้วนเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์
ถ้าได้ จะมีทางแก้ไขอย่างไรหรือไม่ ?
หรือว่าคนที่คุณพ่ออ้วน คุณแม่อ้วนก็ไม่มีทางจะทำอะไรได้ นอกจากยอมรับความอ้วน ?
เพื่อให้ได้คำตอบ คณะนักวิทยาศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา (ที่มหาวิทยาลัยเพนซีลวาเนียในฟิลาเดลเฟีย) จึงได้ทำการศึกษาหาสาเหตุของความอ้วนในเชิงกรรมพันธุ์ การศึกษานี้ทำมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว และก็ได้สรุปผลออกมาเผยแพร่การศึกษานี้ ทำกับคนที่เป็นคู่แฝด เป็นจำนวน 4,000 คู่ มีอายุประมาณ 40 และ 50 ปี
ครึ่งหนึ่งของคู่แฝด (คือ 2,000 คู่) เป็นแฝดแท้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของคู่แฝด เป็นแฝดไม่แท้
ทำไมจึงเลือกศึกษากับคู่แฝด ?
ก็เพราะว่า คู่แฝดเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงอิทธิพลของยีนหรือการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โดยอาจไม่ต้องไปศึกษาข้อมูลจากผู้ให้กำเนิดโดยตรงคณะผู้ทำการศึกษาได้ศึกษาประวัติและข้อมูลสภาพของร่างกายและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น ความสูง น้ำหนัก เปรียบเทียบสภาพปัจจุบันกับอดีตเมื่อ 25 ปีก่อน
สำหรับข้อมูลของอดีตเมื่อ 25 ปีก่อน คณะผู้ทำการศึกษาอาศัยข้อมูลจากประวัติการตรวจเกณฑ์ทหารเมื่อ 25 ปีก่อน
ผลจากการศึกษาที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง ?
สำหรับสภาพการณ์ในอดีตเมื่อ 25 ปีก่อน คณะผู้ทำการศึกษาพบว่า คนคู่แฝดที่เป็นแฝดแท้โดยเฉลี่ยแล้ว อ้วนกว่าคนคู่แฝดที่ไม่ใช่แฝดแท้ประมาณ 2 เท่า25 ปีต่อมา ทั้งกลุ่มคนคู่แฝดแท้กับแฝดไม่แท้ ต่างก็มีคนอ้วนมากขึ้น แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ก็มีคนคู่แฝดที่เป็นคนอ้วนมากกว่าคนคู่แฝดไม่แท้ 2 เท่าเช่นเดิม
ผลที่แสดงออกมาเช่นนี้ ก็สามารถสรุปได้ทั่ว ๆ ไปว่า กรรมพันธุ์มีแนวโน้มจะมีอิทธิพลต่อความอ้วนของคนเรา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น พบว่า กรรมพันธุ์มีอิทธิพลต่อความอ้วนของคนเราจริง เพราะคนที่อ้วนนั้นสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ถึง 89%
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า : -
ครอบครัวที่คุณพ่อเป็นคนอ้วน คุณแม่ก็เป็นคนอ้วน คุณลูกก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนอ้วนไปด้วย (โดยอิทธิพลของยีนที่ถ่ายทอดมาจากผู้ให้กำเนิด)
ประเด็นต่อไปที่คณะผู้ทำการศึกษาสนใจคือ ยีนหรือกรรมพันธุ์ไปทำให้คนอ้วนได้อย่างไร ?
คณะผู้ทำการศึกษายังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมั่นใจได้ แต่เสนอคำตอบว่าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น : -
สมองของคนอ้วน (จากยีนของผู้ให้กำเนิดที่อ้วน) มีส่วนประกอบและโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งทำให้เจ้าของสมองกินจุ ส่วนหนึ่งของสมองที่ต้องสงสัย คือ ส่วนท้ายของก้านสมอง ซึ่งมีเซลล์ประสาทเรียกว่า เส้นประสาทวากัส (VAGUS NERVE) ติดต่อไปถึงท้องหรือกระเพาะอาหาร
คนอ้วนมีฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ซึ่งถ้ามีมากเกินไป หรือขาดไป ก็ทำให้ร่างกายต้องการอาหารมากเกินคนปกติ
คนอ้วนมีสภาพของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดการก่อตัวและการสะสมของเซลล์ไขมันมากกว่าคนทั่วไป
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า เรามีแนวโน้มจะเป็นคนอ้วนได้ง่าย ๆ หรือไม่ ?
คณะผู้ทำการศึกษาให้คำแนะนำดังต่อไปนี้ : -ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของคุณเป็นคนอ้วน คุณก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนอ้วนได้ง่าย ๆ
ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของคุณเป็นคนผอมทั้งคู่ ความเสี่ยงต่อการเป็นคนอ้วนของคุณก็มีน้อย แต่คุณจะต้องแน่ใจด้วยว่า การที่คุณพ่อและคุณแม่ของคุณต่างก็ไม่อ้วนนั้น มิใช่เป็นเพราะว่า เขาทั้งสองควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด
ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่ของคุณเป็นคนอ้วนเพียงคนเดียวล่ะ ? คุณก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นคนอ้วนเช่นกัน แต่จะเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนขณะนี้ข้อมูลยังมีไม่มากพอจะสรุปออกมาได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวคนอ้วน คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องไปยอมรับความอ้วน แต่โดยดีหรอก เพราะมีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่เป็นคนอ้วน ทั้ง ๆ ที่มาจากครอบครัวที่อ้วน
แล้วคุณควรจะทำอย่างไรน่ะหรือ ?
คุณก็จะต้องระมัดระวังเรื่องการกินให้มากเป็นพิเศษหน่อย แล้วก็ต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอแต่ถ้ายังไม่ได้ผล คือ พยายามควบคุมเรื่องอาหารแล้ว และออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว ทว่าน้ำหนักก็ยังขึ้นอยู่เรื่อย ๆ อย่างผิดปกติ คุณก็ควรปรึกษาหมอ เพื่อมิให้คุณเป็นคนอ้วนจนกระทั่งถึงขีดอันตราย !
----------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น