วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

หอไตรวัดช่างฆ้อง เชียงใหม่

หอไตรวัดช่างฆ้อง

..........สร้างเมื่อปี พ.ศ.2446 โดยศรัทธาชาวจีน มีเจ๊กบุญยืน นางบัวคำ ไชยวงศ์ญาติ เป็นประธาน ตัวอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นและไม้แกะสลัก ที่มีศิลปกรรมแบบล้านนาผสมศิลปะพม่า


..........บริเวณระเบียงชั้น 2 ของหอไตร ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปัญญาสชาดก ตอน "เจ้าสุวัตรกับนางบัวคำ" ชื่อนางบัวคำนั้น พ้องกับชื่อของภรรยาผู้สร้างหอไตร


..........นับเป็นตัวอย่างพิเศษของงานในช่วงหลังอีกแห่งหนึ่ง เป็นอาคารที่ดูจะสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ลักษณะเด่นอยู่ที่เป็นอาคารทรงตึก 2 ชั้นขนาดเล็ก ตกแต่งอย่างวิจิตรอลังการด้วยลวดลายปูนปั้นและงานไม้ฉลุที่มีการผสมผสานกันของงานแบบจีน พม่า และไทย ขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนอยู่ด้านนอกของอาคารบนระเบียงชั้น 2 นั้นนอกจากจะยิ่งทำให้อาคารหลังนี้แปลกและโดดเด่นมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เข้าใจนัยความหมายของหอไตรว่าเป็นอาคารที่ต้องการให้ถูกเห็นจากภายนอกเท่านั้น
(หอไตรวัดช่างฆ้อง อำเภอเมือง เชียงใหม่ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25)


(จิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดช่างฆ้อง เขียนขึ้นบนผนังด้านนอกอาคารบริเวณระเบียงชั้นบนต่อเนื่องตลอดทั้งผนังเป็นภาพเล่าเรื่อง สันนิษฐานว่าเป็นชาดกที่นิยมกันในท้องถิ่นฝีมือช่างพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรุงเทพ มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25)


..........ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนัง โดยพื้นฐานแล้วเป็นภาพเล่าเรื่องแบบไทยประเพณี ทว่าฝีมือช่างและการแสดงออกค่อนข้างจะเป็นงานพื้นบ้าน ตัวภาพและองค์ประกอบมีลักษณะหยาบไม่ประณีตวางอยู่ห่าง ๆ กัน ปล่อยให้ฉากหลังที่เป็นธรรมชาติป่าเขาดูเด่น สีที่ใช้มีน้อย ได้แก่ สีคราม ขาว เทา และดำ โดยจะระบายเน้นเฉพาะตัวภาพ โขดหิน และท้องฟ้า การตัดเส้นใช้สีดำซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการแสดงตัวภาพทั้งหมด ส่วนเรื่องราวที่น่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านหรือชาดกที่นิยมกันในท้องถิ่นภาคเหนือ โดยรวมแล้วก็จัดเป็นงานที่มีแบบแผนแตกต่างจากที่อื่น ๆ สามารถเพิ่มความหลากหลายให้กับจิตรกรรมฝาผนังล้านนามากยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น