วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

ตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล

ตำนาน-ประเพณีบูชาเสาอินทขิล

..........ศูนย์กลางการปกครองหรือราชธานีของอาณาจักรลัวะโบราณอยู่ที่ "เวียงเชษฐบุรี" หรือ "เวียงเจ็ดริน" ซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออก (สถานที่เลี้ยงโคนมของกรมปศุสัตว์ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปัจจุบัน) อาณาจักรลัวะภายใต้การนำของ "ขุนหลวงวิลังคะ" ล่มสลายเพราะแพ้สงคราม ถูก "พระนางจามเทวี" แห่งอาณาจักรหริภุญชัยยึดครองเมื่อปีพุทธศักราช 1211 (พ.ศ. 1204 วาสุเทพฤาษี สร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน, 1206 พระนางจามเทวีครองราชย์เมืองหริภุญชัย, 1211 เกิดสงครามกับลัวะ, 1213 สละราชสมบัติให้มหายศ หรือ มหันตยศ พระโอรสครองราชย์แทน)
..........อาณาจักรลัวะโบราณมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ตำนานกล่าวไว้ว่า บ้านเมืองของลัวะมีขุมทรัยพ์ คือ "บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว" อยู่ตามทิศต่าง ๆ ผู้คนตั้งสัจจะธิษฐานเอาได้ตามปรารถนา มีผู้คนพลเมืองมาก มีเมืองสำคัญ ๆ อยู่หลายแห่ง เช่น เวียงสวนดอก ทางทิศใต้ เวียงเชษฐบุรี และ เวียงนพบุรี (เมืองทั้ง 9 ตามชื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ยาว 1,000 วา กว้าง 900 วา อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชษฐบุรี เป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรลัวะแห่งสุดท้าย ก่อนล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิลังคะดังกล่าวแล้ว
..........เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลที่ทำการปกครองอาณาจักรลัวะครั้งโบราณก็มี โชติกเศรษฐี, เมณฑกะเศรษฐี, ภัททิยะเศรษฐี, ชติละเศรษฐี, เศรษฐีพ่อเรือน, เศรษฐีปอเลิงหรือพ่อเลือง, เศรษฐีหมื่นล้าน, เศรษฐีพันเตา, พญาวีวอ, เศรษฐี 9 ตระกูลนี้แบ่งหน้าที่กันปกครองอาณาจักร ตามเขตหรือภูมิภาคต่าง ๆ และ 3 ตระกูล ร่วมกันคุ้มครองบริหารบ่อเงิน, 3 ตระกูล คุ้มครองบริหารบ่อทอง, 3 ตระกูลคุ้มครองบริหารบ่อแก้ว
..........แรกเริ่มนั้นชาวลัวะเป็นชาวป่ากึ่งอารยชนไม่มีศาสนา การสร้างบ้านแปลงเมือง การปกครองอาณาจักรต้องอาศัยหมอผี พระดาบสฤาษีที่ถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาสถาปนิก เป็นที่กราบไหว้บูชาและเป็นสื่อกลางติดต่อกับผีสางเทวดาที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ลึกลับน่าสะพึงกลัว ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ที่พวกเขาเกรงกลัวต้องเซ่นไหว้ทำพลีกรรม
..........การสร้างเวียงนพบุรีของลัวะ ที่มีพระฤาษีเป็นที่ปรึกษา กำหนดขอบเขตและแบบแปลนแผนผังของเมืองให้ รวมทั้งเป็นสื่อติดต่อขอเสาหลักเมืองที่ทำด้วยศิลาแท่งทึบจากพระอินทร์มาให้นั้น เสาหลักเมืองจึงได้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ตั้งแต่นั้นมา (พระอินทร์หรือเทวดาอาจหมายถึงกษัตริย์เมืองอื่นที่มีอำนาจเหนือชาวลัวะก็เป็นได้) แม้เสาหลักเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่ชนชาติไทยสร้างขึ้นภายหลัง ในถิ่นที่แผ่นดินเก่าของลัวะหรือละว้า ก็ให้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ถือเป็นมงคลนามตามนั้นด้วย เสาอินทขิลมีอยู่ 3 ต้นด้วยกันคือ
..........ต้นที่ 1 นั้น เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพระยาอามาตย์พร้อมใจกันกราบไหว้บูชา จะอยู่เจริญผาสุก แม้ข้าศึกศัตรูมารุกรานก็จะแตกพ่ายหนีไป และล้มตายหมดสิ้น
..........ต้นที่ 2 ต้นท่ามกลาง เมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชา ก็จะเจริญผาสุกมั่งมีด้วยทรัพย์สินสมบัติ มีเดชานุภาพ แม้ข้าศึกศัตรูมารุกราน ก็จะแตกพ่ายไปโดยไม่ต้องออกรบ
..........ต้นที่ 3 ตั้งอยู่บ้านเมืองใด เมื่อพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชาแล้ว ข้าศึกศัตรูไม่อาจเข้ามารุกรานผ่านเขตแดนได้ พระอินทร์ได้ประทานเสาอินทขิลต้นที่ 2 ให้เวียงนพบุรี โดยให้กุมภัณฑ์ 2 ตนเอาเสาอินทขิลใส่สาแหรก หามนำมาประดิษฐานไว้เหนือแท่นกลางเมืองนพบุรี ที่ข้างล่างแท่นเป็น "หลุมกว้าง 7 วา  1 ศอก ลึก 2 วา ตบแต่งผนังเลื่อมมันมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว เอารูปสัตว์ต่าง ๆ บรรดามีในโลก ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก อย่างละคู่ (ผู้ตัวเมียตัว) ที่หล่อด้วยทองบรรจุไว้"
..........ในวัดเจดีย์หลวงปัจจุบัน มีรูปปั้นกุมภัณฑ์อยู่ 2 ศาล 2 ตน รูปพระฤาษี 1 ตน ถือเป็นของคู่กันกับเสาอินทขิล "เมื่อจุลศักราช 1162 ปีวอกโทศก (พ.ศ.2343) พระเจ้ากาวิละได้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 1 คู่ รูปฤาษี 1 ตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองฯ"
..........เมื่อครั้งพระเจ้ามังรายทรงเตรียมจะสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. 1835 ณ บริเวณหย่อมป่าท่ามกลางพงหญ้าคาบริเวณเขตที่ตั้งเมืองเชียงใหม่เก่าขณะนี้ "ก็ได้พบซากเมืองเก่าลักษณะสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขณะที่พญามังรายให้เสนาข้าราชบริพารแผ้วถางซากเวียงเก่านั้น ได้พบโบราณวัตถุคือรูปกุมภัณฑ์ก่ออิฐถือปูนสืบมาจากชนชาวลัวะ เสนาบางพวกจะทำลาย แต่บางพวกได้ห้ามไว้ แล้วนำเรื่องขึ้นกราบทูลพญามังราย พญามังรายจึงมีบัญชาให้แต่งเครื่องบรรณาการ ใช้ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย ผู้พูดภาษาลัวะได้ ไปหาพญาลัวะบนดอยอุจชุบรรพต พญาลัวะแนะนำว่า เวียงนี้หากจะให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล"
..........เมื่อชาวเมืองทำการกราบไหว้บูชาเสาอินทขิลมิได้ขาด และทำการเซ่นไหว้พลีกรรมกุมภัณฑ์ประจำ พร้อมทั้งตั้งตนอยู่ในศีลห้า รักษาสัจจะตามที่พระฤาษีสั่งสอน บ้านเมืองก็วัฒนาผาสุกร่มเย็นทำมาหากินค้าขึ้น ทำให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์ที่เนืองนองด้วย บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ทุกทิศทุกเขตของบ้านเมืองที่ใคร ๆ (มีปัญญา/ขยัน) เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลสัตย์ ก็ตั้งสัจจาธิษฐาน (แสวงหา) เอาได้ตามใจปรารถนา แม้ผู้คนจากบ้านอื่นเมืองไกลที่มุ่งร้ายหมายมารุกรานย่ำยี เมื่อมาถึงเมืองนพบุรีแล้วก็จะสยบสวามิภักดิ์ แปรสภาพเป็นพ่อค้าวาณิชมุ่งทำมาค้าขาย หาความร่ำรวยผาสุกรื่นรมย์ไปหมด
..........เมื่อนานเข้าผู้คนไม่รักษาคำสัตย์ปฏิบัติตนเป็นคนทุศีล ไม่ทำการเซ่นไหว้แต่ทำการอุกอาจย่ำยีดูหมิ่น และทิ้งของปฏิกูลบูดเน่า และขี้เยี่ยวรดราดกุมภัณฑ์ กุมภัณฑ์จึงนำเสาอินทขิลกลับไปเสีย ต่อมามีผู้เฒ่าลัวะคนหนึ่งที่เคยมากราบไหว้เสาอินทขิลประจำ เมื่อไม่เห็นก็เกิดปริวิตกทุกข์ร้อนกลัวว่าจะเกิดเหตุเภทภัยแก่บ้านเมือง ถึงกับร้องห่มร้องไห้เสียใจจึงละเพศจากฆราวาส ถือเพศเป็นตาปะขาวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ บริเวณที่เคยตั้งเสาอินทขิล ใต้ต้นยางนั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี (ปัจจุบันในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่อยู่ 3 ต้น)
..........ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าเขา จนบรรลุฌานสมบัติ มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้าได้มาบอกตาปะขาวว่า บ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยี ถึงกาลวิบัติล่มจม เพราะไม่มีเสาหลักเมืองให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชา อันเป็นที่มาของความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ตาปะขาวจึงประชุมปรึกษาหารือกับชาวเมืองและตกลงกันว่า ขอให้พระเถระเป็นสื่อติดต่อขอเสาอินทขิลจากพระอินทร์มาให้อีก
..........พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์นำเสาอินทขิลลงไปให้เมืองนพบุรีอีกครั้ง เมื่อทราบเหตุการณ์จากพระเถระแล้ว แต่กุมภัณฑ์ไม่ยอมไปเพราะเกลียดกลัวต่อพฤติกรรมต่ำหยาบของชาวเมือง พระอินทร์จึงขอให้พระเถระไปบอกชาวเมือง ให้สร้างเสาอินทขิลและปั้นรูปกุมภัณฑ์เทียมขึ้นใหม่ โดยหล่อกะทะขอบหนา 8 นิ้ว กว้าง 8 ศอก ปั้นรูปสัตว์บกสัตว์น้ำบรรดามีในโลกอย่างละคู่ และรูปมนุษย์ครบ 101 เจ็ดภาษา บรรจุไว้ในกะทะฝังไว้ท่ามกลางเมือง กลบดินปรับพื้นเสมอดีแล้ว ให้สร้างเสาหลักเมืองด้วยอิฐก่อสอปูน (ถือปูน) ประดิษฐานไว้บนนั้น (เสาอินทขิล ที่ย้ายจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง สมัยพระเจ้ากาวิละนั้น ผู้คนเชื่อว่าเป็นเสาเดียวกันกับที่สร้างขึ้นสมัยอาณาจักรลัวะ) แล้วทำการกราบไหว้บูชามิให้ขาดก็จะเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและผู้คน พลเมืองจะอยู่ดีมีกิน มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีโรคร้ายระบาดภัยเบียดเบียน
..........แสดงให้เห็นว่า เสาอินทขิล สร้างครั้งแรกทำด้วยหิน สร้างครั้งที่สองทำด้วยอิฐก่อโบกปูน เสาอินทขิลปัจจุบัน ก็สร้างด้วยอิฐก่อโบกปูนประดับลวดลายติดกระจกสี หลักเมืองนั้นเป็นเสมือนหลักชัยแห่งเมือง การสร้างหลักเมืองขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในบ้านเมืองนั้น ๆ ให้ก่อเกิดพลังคือความสามัคคีของพลเมือง จนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้กรอบศีลธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักเมืองทั่วไปทำด้วยไม้แกะสลักหรือหล่อด้วยโลหะ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัตถุชนิดใดคุณค่าก็เหมือนกัน จะก่อเกิดคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักให้ถูกต้องตามหลักโบราณประเพณี หากงมงายก็ไร้ค่าหาสาระมิได้
..........เสาอินทขิลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้ 5.67 เมตร สูง 1.30 เมตร แท่นพระบนเสาอินทขิลสูง 97 เซนติเมตร รอบ 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กัน พระเจ้ามังรายปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1839 แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อพุทธศักราช 2343
..........ทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขิลเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่าง ๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงาน ตลอด 7 วันของงานชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย จะพากันมาบูชาเสาอินทขิลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม อย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชตลอดงาน เมื่อจะทำการบูชาเสาอินทขิลด้วยดอกไม้ธูปเทียน ท่านให้กล่าวคำบูชาดังนี้
.........."อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ, อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง มังคะลัตถิ, อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง"
..........เริ่มงานเข้าอินทขิลแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ งานวันสุดท้ายขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น 2 เดือน) ออกอินทขิลขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เรียกกันติดปากว่า "เดือน 8 เข้า...เดือน 9 ออก" วันออกอินทขิลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชน ด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ 108 รูป ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง "4 แจ่ง 5 ประตู...1 อนุสาวรีย์" นั้น ทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน 9 เหนือวันใดวันหนึ่ง 14

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น