..........ผมเลือกมาวัดต้นเกว๋นในวันศีลหรือวันพระ เพราะต้องการเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านกับวัด มากกว่าจะดูแต่หมู่กุฏิวิหารที่เงียบเหงา ปราศจากชีวิตชีวา ผมไปถึงวัดแต่เช้าตรู่ แสงแรกของวันเริ่มโผล่จับขอบฟ้า ไม่นานแดดก็ตกต้องหน้าบันหรือที่คนเหนือเรียก "หน้าแหนบ" ของวิหารองค์งามได้อย่างเหมาะเจาะ สะท้อนแสงวับแวมกับกระจกสีที่ประดับหน้าแหนบ กระจกสีดังกล่าวคนเหนือเรียกว่า "แก้วจีน" หรือ "แก้วอังวะ" ด้านหลังกระจกทาด้วยตะกั่ว ตัววิหารแม้ไม่สูงตระหง่าน แต่ก็ได้สัดส่วน ศาลาบาตรมีลักษณะเป็นเรือนแถวยาวเปิดโล่ง โอบล้อมตัววิหารไว้ทั้ง 3 ด้าน ปล่อนให้ด้านหน้าวิหารเผยโฉมงาม ไม้ดำขรึมเก่าโบราณดูงามขลังและศักดิ์สิทธิ์ ศาลาจตุรมุขอันสูงสง่าโดดเด่นที่สุดในวัด อยู่เยื้องกับด้านหน้าวิหาร ประกาศยืนยันถึงศรัทธาของช่างโบราณที่บรรจงสร้างเพื่อกัลปนาฝีมือฝากไว้กับพุทธภูมิแห่งนี้
..........แดดแรงร้อนขึ้น แต่วัดยังคงเงียบเหงาไร้ศรัทธามาทำบุญ การมาเยือนครั้งนี้ของผมจึงพบแต่ความสงบงามท่ามกลางความโดดเดี่ยวร้างไร้ผู้คนต่างจากที่วาดหวังเมื่อแรกมา
..........วัดต้นเกว๋น เป็นชื่อที่ชาวบ้านแถบบ้านต้นเกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และคนที่ชอบชมวัดคุ้นเคยมากกว่าชื่อ "วัดอินทราวาส" ซึ่งทางราชการตั้งให้ตามชื่อของครูบาอินทร์ เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ผู้พัฒนาวัดแห่งนี้ "เกว๋น" หรือชื่อที่ชาวเหนือเรียกว่า "มะเกว๋น" คือต้นตะขบนั่นเอง สมัยก่อนรอบวัดเป็นป่าต้นมะเกว๋น วัดและหมู่บ้านจึงมีชื่อตามนั้น
..........วัดต้นเกว๋นสร้างขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในสมุดข่อยที่ค้นพบ ณ วัดเจดีย์หลวง วัดใหญ่กลางเวียงเชียงใหม่ปรากฏชื่อ วัดบ้านเกวน สังกัดหมวดอุโบสถ วัดหนองควาย อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ปริวรรตหรือถอดความให้ความเห็นว่า สมุดข่อยบันทึกรายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณที่แบ่งออกเป็นหมวดอุโบสถต่างๆ ดังกล่าวนี้น่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราช มีดำริจะปรับโครงสร้างของสงฆ์ให้เป็นเอกภาพทั้งประเทศ จึงให้สำรวจรายชื่อวัดทั้งหมดทางภาคเหนือ
..........วัดบ้านเกวนกับวัดต้นเกว๋นในปัจจุบันอาจจะเป็นวัดเดียวกันที่เรียกชื่อเพี้ยนไปก็ได้ นอกจากนี้ที่เพดานด้านเหนือของวิหาร มีบันทึกตัวเลขปีสร้างวิหารเป็นภาษาไทยวนหรือตัวเมือง ว่าสร้าง จ.ศ.1220 หรือปี พ.ศ.2401 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ผู้ครองนครเชียงใหม่
..........ลักษณะศิลปกรรมและความงดงามของวัดต้นเกว๋น ดึงดูดนักวิชาการให้หันมาสนใจ และสันนิษฐานว่าน่าจะต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง เมื่อเกิดการค้นคว้าจึงพบว่า วัดต้นเกว๋นอาจมีความสัมพันธ์กับการแห่อัญเชิญพระธาตุจอมทองเข้าสู่เวียง
..........ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าว่า เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในยุครัตนดกสินทร์เคยอัญเชิญพระธาตุจอมทองเข้ามาในเวียงเชียงใหม่ทั้งหมดด้วยกัน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยพระยาจ่าบ้าน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงให่ครั้งนั้นพระธาตุเกิดปาฏิหาริย์หายไปจากวัดพระธาตุจอมทอง พระยาจ่าบ้านพยายามอัญเชิญอย่างใดก็ไม่เป็นผล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมทองต้องทำพิธีอัญเชิญเองพระธาตุจึงเสด็จกลับมาให้พระยาจ่าบ้านอัญเชิญพระธาตุเข้ามาเฉลิมฉลองในเวียงเชียงใหม่ได้ ครั้งต่อมาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์อัญเชิญมาเพื่อฉลองหอไตรวัดหัวข่วง และครั้งล่าสุด พระเจ้าอินทวิชยานนท์อัญเชิญมาร่วมเฉลิมฉลองพระธรรมซึ่งจัดทำขึ้นที่วัดเชียงยืน นอกเหนือจากนี้มีแต่เจ้านายเสด็จฯ ออกไปบูชาที่วัดพระธาตุจอมทอง
..........เมื่อพระธาตุจอมทองมีความสำคัญเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวพุทธในล้านนาถึงเพียงนี้ แน่นอนที่สุดการอัญเชิญเสด็จพระธาตุฯ เข้าเมืองโดยขบวนเดินเท้าจากจอมทองสู่เวียงเชียงใหม่ย่อมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในครั้งนั้นการเดินทางคงต้องใช้เวลาหลายวัน เพราะจอมทองกับเวียงเชียงใหม่นั้นอยู่ไกลกันถึง 58 กิโลเมตร แม้ปัจจุบันเดินทางโดยรถยนต์ก็ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าขบวนแห่อัญเชิญพระธาตุน่าจะหยุดพัก ณ วัดต้นเกว๋น ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางทางที่ใช้ติดต่อกับบ้านเมืองตอนใต้ของเชียงใหม่มาแต่เดิมและเป็นชุมชนที่มีผู้คนมาก
..........อันที่จริงในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็มิได้บอกว่า ขบวนอัญเชิญพระธาตุจากจอมทองเข้ามาที่เชียงใหม่หยุดพัก ณ ที่ใดหรือไม่ การที่สันนิษฐานว่าวัดต้นเกว๋นเป็นที่พักขบวนนั้น ก็เนื่องจากสถาปัตยกรรมพิเศษที่ปรากฏในวัดคือ "ศาลาจตุรมุข" ซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ส่วนกลางของศาลามีหลังคาทรงจั่วซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือที่เรียกว่า "กระเบื้องดินขอ" มุมของสันหลังคาทั้ง 4 ด้านมีตัวเหราคาบกันลงมาเป็นทอดๆ 3 หัวด้วยกัน นับเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่งามแปลกตา ที่พิเศษกว่านั้นคือ ช่อฟ้าของศาลาหลังนี้แทนที่จะทำเป็นช่อฟ้าอย่างที่เห็นโดยทั่วไป ช่างโบราณกลับสร้างสรรค์ให้เป็นลักษณะคล้ายนกเกาะได้อย่างลงตัว ที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือเรียก "ปราสาทเฟื้อง" ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและประเทศลาว
..........ในศาลามีอาสนะไม้ทรงสูงคล้ายธรรมาสน์ทรงปราสาท แต่เรียบง่ายกว่า ไม่มีลวดลายสลักเสลา เชื่อว่าใช้เป็นที่ตั้งพระโกศพระธาตุเมื่อมาแวะพัก นอกจากนี้ยังมีฮางฮดหรือรางรินทำด้วยไม้สำหรับสรงน้ำพระธาตุ และเสลี่ยงซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม แต่เห็นร่องรอยว่าทำด้วยไม้เนื้อแข็งจำหลักเป็นลายดอกไม้และตัวนาคลงรักปิดทอง ในศาลายังพบกลองบูชาหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า "ก๋องปู๋จา" แขวนไว้ทั้งหมด 5 ใบ ใบหนึ่งขนาดใหญ่มหึมา อีก 4 ใบเล็กจิ๋ว ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณไปยังชาวบ้านเมื่อมีพิธีกรรม เป็นเหตุให้สันนิษฐานว่าศาลานี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญนั่นก็คือพระธาตุจอมทองนั่นเอง
..........ศาลาสี่มุขหลังนี้ ถูกทิ้งร้างอยู่ท่ามกลางความเงียบเหงาหลังจากที่เชียงใหม่ถูกผนวกเข้ากับส่วนกลาง ยุบเลิกระบบเจ้านายฝ่ายเหนือ ไม่มีเจ้านายองค์ใดที่จะอัญเชิญพระธาตุฯ เข้ามาในเวียงเชียงใหม่อย่างกาลก่อน ทั้งก่อนปี พ.ศ.2527 ยังไม่มีถนนหางดง-สะเมิงตัดผ่านเข้ามา วัดต้นเกว๋นจึงถูกทิ้งร้างไร้คนเอาใจใส่ดูแล ครั้นถึงปัจจุบันศรัทธาวัดหนุ่มสาวต่างก็ทยอยออกจากหมู่บ้านไปหางานทำ ศรัทธาที่เคยมาฟังเทศน์รักษาศีลเต็มวิหาร จึงหายไปตามอายุขัยทีละคนสองคน พ่อน้อยตวง ค้าขาย ผู้ทำหน้าที่เป็นมัคนายกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อาจ๋านวัด เล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้ศรัทธาวัดมีน้อยมาก เพราะคนไม่ค่อยเข้าวัด ทั้งวัดมีภิกษุประจำเพียงรูปเดียว คือ เจ้าอาวาส อายุมากแล้วนอนอาพาธไปไหนไม่ได้ มีชาวบ้านเพียงคนสองคนแวะเวียนกันมาถวายอาหาร นอกนั้นก็มีเณร 2-3 รูป เข้ามาขออาศัยชั่วคราว เพื่อไปเรียนหนังสือที่วัดเจดีย์หลวงในเวียง คนที่มาวัดส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว
..........ศิลปกรรมที่ปรากฏภายในวัดต้นเกว๋นเป็นงานช่างประณีตชั้นครู ถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์และทรงคุณค่ามากทีเดียวของวัดโบราณในล้านนา โดยเฉพาะที่เชียงใหม่
..........หากหลับตานึกถึงวัดในภาคเหนือ คุณจะเห็นอะไร?
..........สิงห์หน้าวัด นาคที่ราวบันได หรือวิหารป้อมเตี้ยมีไม้แกะสลักงดงาม ภาพลักษณ์ที่กล่าวมานั้น ปรากฏครบถ้วยที่วัดต้นเกว๋น
..........ทางเข้าวัดต้นเกว๋นมีสิงห์สองตัวนั่งชะเง้อชูคอหันหน้าสู่ราวป่าเทือกเขาถนนธงชัยทางทิศที่ประดิษฐานพระธาตุจอมทอง ประหนึ่งว่านั่งรอรับเสด็จพระธาตุ ว่ากันว่าสิงห์หรือราชสีห์ที่เฝ้าอยู่ตามประตูวัดวาอารามนั้นได้รับอิทธิพลมาจากตำนานของพม่าที่เล่าขานว่า ราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่งหายไป ใครๆ ก็คาดการณ์ว่าคงจะถูกผีแนต (ผีพม่า) ลักพา แต่ยังไม่ทันจะทำสิ่งใด สิงห์ตัวเมียตัวหนึ่งก็พาเจ้าหญิงมาส่งคืน จากนั้นมาก็เลยมีคติสร้างสิงห์ตามวัดต่างๆ นัยว่าเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยให้วัด อย่างที่คุ้มครองพระราชธิดา
..........เมื่อผ่านสิงห์สองตัวที่เฝ้าประตูวัดเข้าไป ก็จะพบวิหารซึ่งใช้ไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่ออิฐถือปูนเป็นส่วนน้อยเหมือนกับวิหารทางเหนือทั่วไป เพราะเชียงใหม่ในอดีตสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ยิ่งนัก
..........วิหารวัดต้นเกว๋นมีขนาดเล็กกะทัดรัดไม่สูงใหญ่อย่างที่พบเห็นในภาคกลาง ช่องหน้าต่างไม่ใหญ่โต เป็นแต่ช่องลูกกรงเล็กๆ พอลำแสงเข้ามาได้ เมื่อเข้าไปภายในแล้วจะรู้สึกมืดทึม หลังคาวิหารก็โค้งลาดรับกับช่อฟ้าที่อ่อนโค้ง ถึงกับมีคำกล่าวว่า วัดในเชียงใหม่อ่อนหวานดุจหญิงสาว ไม่เหมือนวัดในลำปาง ซึ่งเป็นฝีมือช่างอีกสกุลหนึ่งที่ลีลาค่อนข้างแข็งกว่าเชียงใหม่
..........เดิมเครื่องบนหรือหลังคาของวิหารวัดต้นเกว๋น มุงด้วยกระเบื้องดินขออย่างพื้นเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2527 ได้มีการบูรณะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ แต่ก็สามารถรักษาสีสันอย่างของเก่าได้เป็นอย่างดี ตัวหลังคาซ้อนเป็นชั้นอย่างสวยงาม ลักษณะหลังคาแบบนี้ชาวเหนือเรียกว่า "วิหารซด" ช่างทางเหนือให้ความสำคัญกับความงามด้านหน้าของตัวอาคารมากกว่าด้านหลัง ด้านหน้าจึงซ้อนถึง 3 ชั้น ด้านหลังเพียง 2 ชั้น ต่างจากภาคกลางที่ซ้อนชั้นเท่ากันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
..........ยุคก่อน ชาวพุทธผู้มากด้วยศรัทธามีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ต่างคนต่างสร้างถาวรวัตถุอุทิศถวายวัด หวังให้กุศลส่งถึงนิพพาน ในวัดต้นเกว๋นมีเครื่องไม้แกะสลักที่ประดับประดาตามที่ต่างๆ อาทิ คันทวยหูช้าง หรือคันทวยสามเหลี่ยม หรือค้ำยันชายคา ช่างจะแกะสลักเสลาอย่างประณีตเป็นลวดลายต่างๆ เช่น กินนร กินรี ไม้แกะสลักที่โก่งคิ้วใต้หน้าแหนบหรือจั่ววิหาร จำหลักเป็นลายเครือเถาพลิ้วผสานกนก เลยขึ้นไปตรงป้านลม แกะสลักเป็นตัวมกรคาบนาคใต้ท้องมกรทำเป็นลายลูกไม้แลประหนึ่งว่ามกรกำลังแหวกว่ายอยู่ในหมู่เมฆ การตกแต่งหน้าบันเป็นแบบโบราณเรียก "ม้าต่างไหม" หมายรวมตั้งแต่หน้าจั่วสามเหลี่ยมลงมาจรดปีกนกทั้งสองข้าง ทำเป็นลักษณะลายฝาปะกนแบบเรือนไทยภาคกลาง บนขื่อแปนั้นประดับประดาไปด้วยปูนปั้น ซึ่งเรียกอย่างทางเหนือว่า "สะตายจีน" มาจากภาษาพม่าแปลว่า ปูน ทำจากปูนขาวบดละเอียดผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อย กวนให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้จนน่าย จึงนำมาคลุกเคล้าปั้นเป็นก้อนหยอดเป็นลายต่างๆ ติดประดับผิวไม้
..........ชาวเหนือให้ความสำคัญกับวิหารมากกว่าโบสถ์ และนิยมบวชเณรมากกว่าบวชพระตามแบบอย่างทางพม่า เพราะเชื่อว่าการบวชเณรได้บุญมากทั้งผู้บวชและผู้ร่วอนุโมทนา การบวชเณรจะประกอบพิธีกรรมในวิหาร โบสถ์นั้นจะมีอยู่เพียงบางวัดที่เรียกว่า "หัวหมวดอุโบสถ" พระวัดอื่นๆ ที่ถือว่าอยู่ในหมวดอุโบสถเดียวกัน จะมาใช้โบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน
..........รูปแบบศิลปกรรมอีกอย่างหนึ่งที่นิยมทางภาคเหนือคือ นาคตามราวบันไดทางเข้าโบสถ์ วิหาร หรือทางขึ้นสู่วัด การดูนาคแต่ละวัดเป็นเรื่องสนุก เพราะนาควัดต่างๆ มีลักษณะหน้าตาแตกต่างกันไป นาคบางวัดมีเคราอย่างแพะ นาคบางวัดก็มีหงอนสั้นบ้างยาวบ้าง นาคบางวัดมีหลายหัว อย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพ นาคราวบันไดแต่ละข้างมี 7 หัว ส่วนบางวัดนาคไม่ทำท่าเลื้อย นอนอ้าปากแลบลิ้นอยู่เฉยๆ เป็นต้น
..........นาคที่วัดต้นเกว๋น ลำตัวถูกมกรกลืนกินหรือจะว่ามกรคายนาคออกมาก็ได้ ขนดนั้นพลิ้วเป็นลูกคลื่นอย่างที่เรียกว่า "นาคสะดุ้ง" อย่างที่เห็นตามวัดทั่วไปนั่นเอง
..........ความเชื่อเกี่ยวกับนาคที่ปรากฏออกเป็นรูปแบบศิลปกรรมตามวัดนั้นมีหลายอย่างบางคนเชื่อว่า เมื่อครั้งพุทธกาลหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นาคใช้ตัวพาดเป็นบันไดส่งเสด็จทั้งขึ้นและลง ดังปรากฏเห็นตามภาพจิตรกรรมวัดต่างๆ บางตำนานว่า นาคมีความศรัทธาแรงกล้าที่จะบวชในพุทธศาสนา จึงปลอมเป็นมนุษย์ แต่ถูกจับได้เสียก่อน ชาวพุทธจึงระลึกถึงความศรัทธาของนาค ด้วยการบวชเป็นนาคก่อนบวชพระ ดังที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ อีกตำนานก็ว่านาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ คนในภูมิภาคนี้เห็นว่าน้ำสำคัญมากเขตขัณฑสีมาที่ถือว่าบริสุทธิ์เป็นพื้นที่พระจะประกอบกิจทางสงฆ์ เช่น บวชพระ จึงถือเอาสระ บ่อ ห้วย เป็นสำคัญขอบเขตขัณฑสีมา
..........แม่น้ำหรือน้ำเป็นนิมิตตามพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้า นิมิตมีทั้งหมด 8 อย่าง ทางภาคเหนือเลือกได้น้ำกับแม่น้ำ ส่วนภาคกลางนิยมหินหรือศิลาเป็นนิมิต
..........ภายในวิหารวัดต้นเกว๋น มีแต่พระประธานเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยอย่างที่พบเห็นภายในโบสถ์วิหารทั่วไป ตั้งตระหง่านท่ามกลางฝุ่นหยากไย่ ต่อเมื่อไต่ถามพ่อน้อยตวง อาจ๋านวัด จึงเล่าให้ฟังว่า เดิมมีพระพิมพ์มากถึง 625 องค์ ติดไว้กับแผงไม้ที่ด้านหลังพระประธาน ปัจจุบันหายไปหมดสิ้น มีพระพุทธรูปหิน พระพุทธรูปไม้จันทน์ และไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งมีผู้นำมาถวายไว้ก็หายไปกว่า 40 องค์ ในปี พ.ศ.2505 หลังจากนั้นทางวัดจึงเก็บเครื่องพุทธบูชาที่เหลืออยู่อย่างมิดชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น