..........อาคารศาสนาสถานโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 40-50 ปี ย่อมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และรอผู้มีบารมีใฝ่ธรรมร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
เช่นเดียวกับวิหารวัดเชียงมั่น ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพญามังรายเมื่อปี พ.ศ.1839 ย่อมทรุดโทรมลงตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนผ่าน
เริ่มสมัยราชวงศ์มังราย เปลี่ยนผ่านมาสมัยที่เมืองเชียงใหม่อยู่ในปกครองของพม่า ล่วงมาเมื่อพระเจ้ากาวิละฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2339
ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2368 มีประวัติว่าเจ้านายลูกหลานของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น (เจ้ามหาสุภัทรราชะ) ได้รื้อหอขวางของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นมาสร้างวิหารหลวงวัดเชียงมั่น
จากประวัติเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2367
..........ประวัติเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นหรือพระนามเต็มว่า "เจ้ามหาสุภัทรราชะ" เป็นบุตรลำดับที่ 8 ของเจ้าฟ้าชายแก้วกับนางจันทา สมภพเมื่อปี พ.ศ.2299 เป็นน้องชายของพระเจ้ากาวิละ จึงเป็นผู้ช่วยราชการที่เข้มแข็งของพระเจ้ากาวิละ
อีกทั้งมีบทบาทในการนำกำลังต่อสู้กับทหารพม่าช่วงที่มีการฟื้นเมืองเชียงใหม่ในชื่อว่า "เจ้ารัตนหัวเมืองแก้ว"
..........หลังจากมีการฟื้นเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว เจ้าเศรษฐีคำฝั้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชวงศ์เมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1
ต่อมามีการฟื้นเมืองลำพูน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงแต่งตั้งให้เจ้าเศรษฐีคำฝั้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2357-2358 และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.2365 ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองเชียงใหม่และได้เลื่อนขึ้นเป็นระดับ "พระยา"
เมื่อเจ้าเศรษฐีคำฝั้น ครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกับเจ้าราชวงศ์สุวัณคำมูน ทำให้บรรดาขุนนางได้ไปเชิญเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงเมืองลำปางและเจ้าบุญมา เจ้าหลวงเมืองลำพูนมาช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยได้แนะนำให้เจ้าคำฝั้น เสด็จออกผนวชที่วัดเชียงมั่นแล้วไปจำพรรษาที่วัดสวนดอก จากนั้นได้มีการขอพระอินทร์ พระพรหมและเทวดาอารักษ์ เสื้อเมือง ตลอดจนอดีตวีรบุรุษผู้เป็นหลักแก่เมืองให้ช่วยเหลือ ทำการปล่อยรถม้าเสี่ยงทายหาเจ้าหลวงองค์ใหม่ รถม้าดังกล่าวกลับมาหยุดอยู่ที่บริเวณหน้าวัดสวนดอก ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าคำฝั้น เหล่าบรรดาเจ้านาย และขุนนางจึงได้อัญเชิญเจ้าคำฝั้น ให้ลาสิกขาบทกลับมาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่อีกครั้ง
..........ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวรายละเอียดในขณะนั้นความว่า
"ถึง ณ วันเดือน 8 แรม 4 ค่ำ วันอาทิตย์ พระเป็นเจ้าหอคำเป็นเค้า และเจ้าหลวงเมืองลำพูนเป็นประธาน ขัตติยราชวงศาเจ้าทุกตน นำเอาพระเป็นเจ้ามหาสุภธราองค์เป็นมหาอิสราธิปติในรัตนติงสาพระนครเชียงใหม่เข้าไปบวชยังวัดสังฆารามเชียงมั่น มีสังฆะ 21 องค์
ถึง ณ วันเดือน 8 แรม 6 ค่ำ พระเป็นเจ้าสมณราชาก็ออกไปปฏิบัติจำเริญอยู่กับมหาราชครูเจ้าปัญญาวชิร วัดบุปผาราม เวียงสวนดอก หั้นแล
คือ ณ วันอังคาร เดือน 7 แรม 15 ค่ำ เมื่อนั้น ขัตติยะราชวงศา ท้าวพระยา เสนาอำมาตย์ทั้งมวล ก็พร้อมกันโอกาสราธนาพระมหาสมณะเถรเจ้า สึกออกจากสมณะเพศ แล้วก็อาราธนาท่านเป็นเจ้า เสด็จขึ้นพระหัตถียานุมาศแห่แหนตีดุริยดนตรี สรงเสพเข้ามาถึงหัวริน แล้วก็เอาน้ำบ่อแก้ว 7 ริน อาบองค์สรงเกษวรองค์พระเป็นเจ้า
..........มาในที่นั้นพระเป็นเจ้ามายั้ง (หยุด) ประตูช้างเผือก แล้วเจ้าก็ไปไหว้พระเจ้าวัดเชียงยืนและพระธาตุเจ้า แล้วเสด็จเข้ามาด้วยประตูช้างเผือก หื้อลัวะจูงหามเสด็จเข้าแว่ไหว้พระเจ้าพระธาตุเชียงมั่น แล้วเสด็จเข้ามาถึงหน้าพระราชวังหลวงแล้ว ภายในพระสังฆราช 108 องค์ ภายนอกมีสมเด็จพระเจ้าหอคำละครเป็นเค้าและเจ้าเมืองลำพูน เจ้ามหาอุปราชา เจ้าราชวงศ์เป็นประธาน นำท่านเข้าสู่หอเดือนหอชัยเบงชรชัยปฐวี สมโภชคาถานุมาศหามสู่หอหลังใต้ที่เก่า แล้วก็ประชุมนุมมายังหมอยาทั้งหลาย เข้ามารักษาพยาธิ หมอประกอบยา ถวายพยาธิแห่งพระเป็นเจ้าก็หายคลายมายดีมาหั้นแล"
(ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2514 และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับนายสงวน โชติสุขรัตน์ ผูก 8)
..........ในช่วงรัชกาลของเจ้าคำฝั้น เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ใน พ.ศ.2367 ต่อมาไม่นานเจ้าคำฝั้นก็ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2368 สิริอายุ 69 ปี
..........เจ้าอุปราชพุทธวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าหลวงองค์ที่ 4 โดยมีเจ้าหนานมหาวงศ์ บุตรพระยาธรรมลังกาเป็นเจ้าอุปราช และเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าคำฝั้น เป็นพระยาราชวงศ์เชียงใหม่สืบไป
..........ด้านครอบครัว เจ้าเศรษฐีคำฝั้นเษกสมรสกับ แม่เจ้าตาเวย ราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง (หรือเมืองกันตะระวดี) อันเป็นดินแดนกะเหรี่ยงที่รุ่งเรืองและร่ำรวยมากไปด้วยไม้ขอนสักอันล้ำค่า จึงเป็นที่มาของชื่อ "เศรษฐีคำฝั้น"
เมื่อถึงแก่อนิจกรรมลง เจ้านายลูกหลานได้รื้อหอขวางของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น ไปสร้างวิหารหลวงวัดเชียงมั่น เนื่องจากมีความผูกพันเคยผนวชที่วัดเชียงมั่นแห่งนี้ (เจ้าหลวงเชียงใหม่, จัดพิมพ์ในวาระเมืองเชียงใหม่ ครบ 700 ปี, 2539)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น