เป็นพระอรหันตสาวกหลังพุทธกาล ซึ่งเป็นผู้เรืองฤทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะและได้เป็นผู้ปราบพญามารตนหนึ่ง
ที่มารังควานการฉลองพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้จัดขึ้น
..........คัมภีร์อโศกาวทาน ได้กล่าวถึงเรื่องราวและบทบาทของพระอุปคุตว่า
พระอุปคุตกำเนิดมาในตระกูลของพ่อค้าในเมืองมถุรา เมื่อออกบวชแล้วบรรลุพระอรหันต์ ได้เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
มีพระอรหันต์เป็นศิษย์อยู่ถึง 18,000 รูป สำนักของท่านตั้งอยู่ ณ วัดนฏภฏิการาม บนภูเขาอุรุมนท์
พระอุปคุตเป็นผู้นำพระเจ้าอโศกเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ สถานที่ประสูติ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน
ในคัมภีร์อโศกาวทานยังกล่าวอีกว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์พระอุปคุตแก่พระอานนท์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า 100 ปี นับจากเวลาดังกล่าว
พระอุปคุตจะเป็นผู้ประกาศพุทธธรรมในโลกนี้เฉกเช่นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 แต่จะเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีทวัตติงสลักษณะหรือไม่ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ
และพระอุปคุตเป็นผู้กลับใจมารผู้รบกวนพระภิกษุโดยการใช้กระดูกของสัตว์ 3 ชนิด คือ งู สุนัข และคน แทรกสวมเข้าไปในพวงมาลัยดอกไม้
โดยอาศัยกำลังอภิญญาส่งคืนไปคล้องคอพญามาร เมื่อพญามารไม่สามารถถอดออกได้
แม้จะไปขอความช่วยเหลือจากพรหมก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงสำนึกถึงพลานุภาพของพระสาวกและพระพุทธเจ้า
แล้วยอมรับเงื่อนไขว่าต่อไปจะไม่รบกวนพระภิกษุสงฆ์ และจะเนรมิตตนแสดงสรีระของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ให้ปรากฏตามคำขอร้องของพระอุปคุต
พระอุปคุตจึงถอดพวงมาลัยดังกล่าวให้
..........นอกจากวรรณกรรมที่กล่าวถึงบทบาทพระอุปคุตดังกล่าวแล้ว
ยังมีเรื่องเล่าว่าพระอุปคุตมีทั้งหมด 8 องค์ ปรินิพพานไปแล้ว 7 องค์ คงเหลือจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร 1 องค์
โดยในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ (วันเพ็ญพุธ) พระอุปคุตจะออกมาโปรดสัตว์ โดยการเนรมิตตนเป็นเณรน้อยมาบิณฑบาตตอนกลางคืน
(แต่ก็มีผู้เล่าว่าพระอุปคุตปรากฏในรูปร่างสูงใหญ่) ผู้ที่ได้ตักบาตรพระอุปคุตจะได้โชคได้ลาภและร่ำรวย
จึงมีประชาชนไปตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธระหว่างช่วงเวลา 02.00-05.00 นาฬิกา
ดังเช่นชาวบ้านในเชียงใหม่จะตักบาตร พระอุปคุตที่บริเวณวัดอุปคุต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
..........เนื่องจากพระอุปคุตมีคุณสมบัติเป็นเลิศในทางป้องกันอันตราย
ดังนั้นจึงมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากแหล่งน้ำมาสู่หอพระอุปคุตในบริเวณวัด
เมื่อมีพิธีที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์ หรือใน "งานพอย" หรือ "งานปอย" คืองานฉลองต่างๆ ในวัด
..........การที่จะนิมนต์พระอุปคตมาประจำในพิธีกรรมหรือในงานนั้น
เริ่มโดยการมอบหมายให้ผู้มีอาวุโสซึ่งมีศีลมีธรรมอันดีและน่าเคารพนับถือหนึ่งท่าน
นำเอาพระอุปคุตสมมติ คือ หินก้อนหนึ่งซึ่งต้องงมขึ้นมาจากแม่น้ำ แต่บางตำราก็ว่าให้จัดหาก้อนหินมีลักษณะดีขนาดเท่าส้มโอ หรือจะเป็นพระอุปคุตแบบประติมากรรมแกะด้วยหินหรือหล่อด้วยทองเหลืองก็ได้
ใส่ภาชนะไปไว้ที่สมควรสักแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากสถานที่ที่จะทำพิธีไม่น้อยกว่า 500 เมตร แต่ไม่เกิน 1 กิโลเมตร โดยให้ห่างจากแม่น้ำลำธารไม่เกิน 10 วา
แล้วไปนั่งพักเพื่อคอยคณะผู้จะมานิมนต์ เมื่อคณะที่ไปนิมนต์ไปถึง ก็จะถามด้วยคำว่า "ลุง หรือ พ่อเฒ่า ทำอะไร จะไปไหน หรือไปไหนมา"
ผู้เฒ่าคนนั้นก็จะตอบตามอัธยาศัย และต้องตอบด้วยคำที่เป็นมงคล
แล้วผู้เฒ่าก็จะถามต่อว่า "พวกท่านทั้งหลายนี้พากันแห่แหนจะไปที่ไหน"
คณะที่ไปก็จะตอบว่า "เออ...พวกข้าพเจ้าทั้งหลายได้มีการจัดทำบุญ (บอกชื่อพิธีที่จะทำ) ที่พากันมานี้ก็เพื่อจะมานิมนต์พระมหาอุปคุตไปเป็นประธานเพื่อปกปักรักษาในงานนี้ให้ราบรื่นเป็นสิริมงคล
จะได้ขอลาภ ขอศีล ขอพรจากท่านด้วย (คำใดดีที่เป็นมงคลก็ว่าไป) พ่อเฒ่าอยู่แถวนี้ได้รู้ได้เห็นท่านหรือไม่..."
พ่อเฒ่าก็จะตอบว่า "เออ... เมื่อกี้นี้ก็เห็นท่านบิณฑบาตผ่านไปทางนี้ คงจะไปยังไม่ไกลหรอก ท่านทั้งหลายจงรีบตามไปเถิด บางทีท่านอาจจะยังพักผ่อนแถวนี้ก็เป็นได้"
คณะดังกล่าวก็จะพากันเดินถือพานดอกไม้นำไป ตอนนี้ต้องตามหัวหน้าไปอย่างสงบ พร้อมกับมีสัปทนกาง มีช่อ ทุง ชองอ้อย ที่ใส่อัฐิบริขารพร้อมเป็นขบวนไปด้วย
พอถึงที่หมายที่พระอุปคุตอยู่ กะว่าห่างสัก 5 วา ผู้เป็นประธานซึ่งถือพานดอกไม้ก็จะประกาศว่า "พบท่านแล้วๆๆ"
จากนั้นประธานพร้อมคณะเข้าไปหาด้วยอาการเคารพแล้วจุดเทียนธูปบูชา คณะที่ไปนั่งลงแล้วให้ผู้ถือสัปทนนำไปปักไว้ด้านหลังพระอุปคุต
ประธานจะยกพานข้าวตอกดอกไม้ขึ้นก่อนแล้วกล่าวบูชาอาราธนานิมนต์ด้วยคำว่า
..........ตั้งนะโมฯ 3 จบ "สาธุ สาธุ อุกาส อุปคุตฺโต วรทกฺขิเณยฺโย สพฺพปรเมหิ คุเณหิ อเนเกหิสมิทฺธิปฺปตฺโต อนาสโว ตํปน นมาหิ สงฺฆํ ติโยชนโลหมยปาสาเท โย สิวิโต วรทกฺขิณสาครมชฺเฌ อุปคุตฺโต ฐิโต น เมโยอุปคุตฺโต
..........มหาเถโร อันว่ามหาอุปคุตเถรเจ้าตนใด อรหนฺตํ อันเป็นอรหันตาตนประเสริฐ ทกฺขิณสาครมชฺเฌ ฐิโต อันตั้งอยู่ในท่านกลางพื้นน้ำมหาสมุทรกล้ำไต้ โลหปาสาทมยฺ ในปราสาทอนแล้วด้วยทองแดง ติโยชนเปโท อันสูงได้สามโยชน์ วิโตว ตราบอันได้เถิงนิพพาน โส อุปคุตฺโต อันว่าพระมหาเถรเจ้าอุปคุตตนเป็นอรหันตาตนนั้นประเสริฐนักว่าอั้น นมามิ ผู้ข้าก็ไหว้ด้วยความเคารพยำเกรงในกาละบัดนี้แลโอกาส ภนฺเต ข้าแต่พระอุปคุตมหาเถรเจ้าตนประเสริฐ มีคุณอันล้ำเลิศเป็นอรหันตาเจ้ากูย่อมมีอิทธิฤทธิ์อันองอาจ อันพระพุทธเจ้าหากทำนายไว้ให้รักษาศาสนา ห้าพันพระวัสสาเพื่อบ่หื้อเป็นอันตรายภัยยะแก่นระฝูงใฝ่กระทำบุญ กรียาอันยิ่งด้วยฤทธิ์แห่งเจ้ากู เทียรย่อมชนะยังมาร ยักษ์มารขาดกลับหายบัดนี้ผู้ข้าทังหลายหมายมี (...บอกชื่อ...) พร้อมกับด้วยพ่อแม่พี่น้องทายกทายิกาครูบาอาจารย์อันอยู่ในแห่งห้องชุมพูที่นี้ หากเป็นจารีตประเพณีอันพระศากยมุนีโคตมะบรมศาสดา หากตั้งศาสนาไว้ว่าหื้อคนทั้งหลายได้กระทำบุญตามเจตนาแห่งผู้ข้าทั้งหลายทุกบ้านทุกเมือง เพื่อให้รุ่งเรืองในศาสนาแห่งพระตถาคตตราบเสี้ยงห้าพันพระวัสสานี้แท้ดีหลีในคราวกาละบัดนี้ ศรัทธาผู้ข้าทั้งหลาย ทั้งยิงชายมวลหมู่ อันตั้งอยูรักษายังพระวรพุทธศาสนาใน...ฯ (บอกชื่อ สถานที่ วัด บ้าน ตำบล อำเภอ) มูลศรัทธาผู้ข้าทั้งหลายหมายมี (บอกชื่อประธานศรัทธา บ้าน วัด) พร้อมด้วย... ก็มาระลึกนึกถึงยังพระอรหันตาตนวิเศษอันมี ปัญญาธิคุณ ศีลาธิคุณ บริสุทธิคุณ ตนชื่อว่าอุปคุตอันมีฤทธิ์องอาจ ก็จิ่งจัดหาได้ยังข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ทังหลายมวลฝูงนี้เพื่อมาขอโอกาสอาราธนา ยังอรหันตนเจ้าตนวิเศษไปเมตตาแท้ดีหลี
..........ทกฺขิเณจ อุปคุตฺโต เวรโต มฺชฌิเม ฐิโตยาว เมตฺเตยฺย สมฺพุทฺโธ เตปิ จ เต เถรา นมามิหฺ อหํ วนฺทามิ ทูรโต คโต อาคจฺฉนฺตุ มยํ ภนฺเต อิมานิ ธูปปุปฺผาลาชานิ นิมนฺตนตฺถํ อุปคุตฺตมหาเถรํ ยาจาม อนุกรฺปํ อุปาทาย ปฏิคฺคณฺหาตุ โน อุปคุปคุตฺโต จ มหาเถโร สมฺพุทฺเธน วิยากโต มารญฺจ ทมิสฺสเก อนาคเต อปคตํ มหิทฺธิกํ อุปสคฺควิทฺธํสพพฺํ อุปคุตตฺตินาเม พุทฺโธหิ พุทฺธเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต ธมฺโมหิ ธมฺเมน ธมฺมเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต สงฺโฆหิ สงฺฆเตเชน อนฺตรายํ อเสสโต..."
..........แล้วนำพานดอกเข้าประเคน ตอนนี้ฆ้องกลองประโคมเรื่อยไป แล้วหัวหน้ายกพระอุปคุตหรือหินที่สมมติขึ้นใส่พานดอกไม้ พานนั้นต้องแข็งแรง แล้วยกนำไปใส่ใน "ชองอ้อย (อ่าน จองอ้อย) (มณฑป)" ที่มีบริขาร พร้อมที่หามแห่มาแล้วนำกลับ จัดขบวนมีช่อทุง (ธง) สัปทน กั้นกางไปด้วย เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งจัดเป็นหอพระอุปคุตแล้วก็นำพระอุปคุตสมมติตั้งไว้ ต่อจากนั้นก็มีการถวายข้าวบาตร-ถาดโภชนาอาหาร อาจารย์หรือหัวหน้ากล่าวนำ ด้วยบทว่า... อิมํ โอทนปิณฺฑิปาตํ ทานํ มหาอุปคุตฺตเถรํ สกฺกจฺจํ เทม ปูเชม 3 รอบ เป็นเสร็จพิธี
..........เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองหรือพิธีการแล้ว ในวันรุ่งขึ้นมักจะมีการตักบาตรหรือถวายภัตตาหารแด่พระอุปคุต หลังจากนั้นแล้วก็จะนำพระอุปคุตกลับไปส่งที่เดิม หรืออาจนำพระอุปคุตไปส่งในตอนเย็นของวันที่ทำพิธีเสร็จแล้วก็ได้
..........ในการแห่พระอุปคุตไปส่งนั้น จะต้องจัดขบวนเหมือนเมื่อไปนิมนต์พระอุปคุตไปในงาน การนำก้อนหินลงสู่แม่น้ำนั้นจะต้องทำด้วยความเคารพ ต้องบอกกล่าวขอบคุณด้วยคำที่เป็นมงคล ห้ามขว้างหรือโยนก้อนหินนั้น เมื่อขบวนนำเอาพระอุปคุตไปส่งเรียบร้อยแล้วก็จะยกขบวนกลับไปที่วัดเพื่อเก็บสิ่งของหรือเครื่องใช้ในขบวนนั้นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น