วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

พระศิลา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของวัดเชียงมั่น

พระศิลา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของวัดเชียงมั่น
"พระศิลา" หรือ "พระศีลา" เป็นพระพุทธรูปปางโปรดช้างนาราคีฬี แกะสลักด้วยหินชนวนดำ (บางตำนานว่าเป็นหินแดง) ฝีมือช่างปาละของอินเดียและสลักตามคติเดิมของอินเดีย
..........พุทธลักษณะของพระศิลา คือ ประทับยืนเยื้องพระองค์บนฐานบัวภายใต้ซุ้ม พระหัตถ์ขวาทอดลงเหนือหัวช้างซึ่งหมอบอยู่ พระหัตถ์ซ้ายยกในท่าประทานอภัยหรือแสดงธรรม พระอานนท์ยืนถือบาตรอยู่ด้านซ้ายปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) ภายในวิหารจัตุรมุข วัดเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
..........ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระโคตมพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ 7 ปี 7 เดือน กับ 7 วัน พระเจ้าอาชาตศัตตุราชผู้ครองนครราชคฤห์ มีพระประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูป ทรงให้นำเอาหินอ่อนจากท้องมหาสมุทรมาสร้างพระพุทธรูปปางโปรดช้างนาฬาคีฬี ขณะเสด็จบิณฑบาตในเวียงราชคฤห์ โดยมีรูปช้างนาฬาคีฬีนอนหมอบอยู่ทางขวา และรูปพระอานนท์ถือบาตรอยู่ทางซ้าย ทรงให้สร้างรูปทั้งสามนั้นในหน้าหินลูกเดียวกัน เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชาและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งจิตอธิฐาน กล่าวคำอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ 7 พระองค์ ให้เสด็จเข้าสถิตย์ในองค์พระพุทธรูปศีลา
..........เมื่อพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 7 พระองค์สถิตตั้งอยู่ในองค์พระศีลาเจ้าแล้ว พระศีลาก็ทรงสำแดงอิทธิฤทธิ์เสด็จขึ้นไปในอากาศ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงทรงประดิษฐานพระศีลาในเงื้อมเขาที่สูงและทำแท่นบูชาไว้ข้างล่างสำหรับผู้ที่ต้องการมาทำการสักการบูชา
..........ต่อมาพระเถรเจ้า 3 องค์ มีนามว่า สีละวังโส เรวะโต และญาณคัมภีระเถระ พากันไปนมัสการพระศีลาเจ้าที่เงื้อมเขา และขออาราธนาพระองค์เสด็จโปรดมหาชนในประเทศบ้านเมืองที่ไกลบ้าง พระเถระเจ้าทั้ง 3 องค์ จึงขออนุญาตพระเจ้าอาชาตศัตตุราชานำพระศีลาไปยังเมืองหริภุญไชย เมื่อพระเถระเจ้าทั้ง 3 มาถึงเมืองหริภุญไชยก็อัญเชิญพระศีลาเจ้าประดิษฐานไว้ในเมืองนั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนชาวเมืองเป็นเวลาหลายสมัย
..........ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มีรับสั่งให้ไปอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ โดยประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง วัดหมื่นสาร และวัดสวนดอกตามลำดับ
..........ในปีมะแม จุลศักราช 837 (พ.ศ.2019) ทรงอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานในหอพระแก้ว ในพระราชวังของพระองค์ ครั้่นถึงเทศกาลอันสมควรก็กระทำพิธีสักการะบูชาสระสรงสมโภชพระแก้วและพระศีลาเจ้าเป็นงานประจำปี ถ้าปีใดบ้านเมืองแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็ทรงให้จัดการทำพิธีขอฝนสระสรงองค์พระศีลาเจ้า เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พระราชบุตร พระราชนัดดาได้เสวยราชสมบัติ ก็ทรงดำเนินตามราชประเพณีสืบๆ กันมา ต่อมาภายหลังได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่นคู่กับพระเสตังคมณีเรื่อยมา (เชียงมั่น วัดแห่งแรกของเชียงใหม่, กลุ่มจิตอาสาวัดเชียงมั่น 57 รวบรวม,2557)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น