เชียงใหม่-นำชมอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ และจิบกาแฟแสนอร่อย รวมไปถึงการออกกำลังกายรอบๆ สวนสาธารณะ
...ผู้เป็นต้นตระกูล "ณ เชียงใหม่" สร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่พระเจ้ากาวิละ โอรสของเจ้าฟ้าชายแก้ว ผู้ครองนครลำปาง ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณงามความดีแก่บ้านเมืองเป็นอันมาก
โดยเฉพาะการสะสมพลสู้รบขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๗ และฟื้นอำนาจเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๙ ทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนาอีกครั้งหนึ่ง
...อนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของค่ายกาวิละ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตัวอนุสาวรีย์หันหน้าออกสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน
ที่ฐานอันเป็นที่ตั้งรูปปั้นยืนของพระเจ้ากาวิละนั้น มีป้ายบันทึกประวัติโดยย่อของพระองค์ไว้ ใจความว่า
"พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุรศักดิ์สมญา มหาขัติยราชราชาไชยสวรรย์ เจ้าขันธ์สีมาพระนคร เชียงใหม่ราชธานี พระนามเดิมว่ากาวิละ เป็นโอรสองค์แรกในเจ้าฟ้าชายแก้ว ผู้เป็นบุตรเจ้าพระยาสุละวะฦาไชยสงคราม (ทิพย์ช้างเจ้าผู้ครองอิสระนครลำปางในสมัยที่พม่าเข้าปกครองล้านนาไทย) ประสูติในปีพุทธศักราช ๒๒๘๒ มีอนุชาและภคินีร่วมชนกเดียวกัน ๑๐ องค์ ในจำนวนนี้มีโอรส ๗ องค์ ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในล้านนาไทย จึงได้นามแห่งสกุลวงศ์สืบมาจนบัดนี้ว่า "เชื้อเจ้าเจ็ดตน" โดยเหตุที่พระองค์ทรงดำริจะกอบกู้เอกราชของล้านนาไทยให้พ้นจากอำนาจของพม่า เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศอิสรภาพแล้ว จึงได้ทรงชักชวนบรรดาเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือทั้งปวงให้สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญทางฝ่ายเหนือ และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นมิได้เว้นว่างจากการศึกเลย
การที่เมืองเชียงใหม่ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ย่อมกล่าวได้ว่า เพราะพระองค์เป็นผู้ทำนุบำรุงให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่ พุทธศักราช ๒๓๔๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชดังพระนามข้างต้น พุทธศักราช ๒๓๕๖ สิ้นพระชนม์ รวมพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา"
...ผู้ที่ริเริ่มการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น คือ พันเอก (พิเศษ)การุณ บุญบันดาล ผู้บังคับการกรมผสมที่ ๗ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพลตรีเจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่ ทายาทพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ร่วมกับตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นหลัก
ในการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละจนสำเร็จ
...สำหรับทุนในการก่อสร้าง ได้มาจากการบริจาค การให้เช่าพระและเหรียญ ซึ่งนายเลิศ ชินวัตร เสนอให้มีการสร้างเหรียญและพระบูชาออกจำหน่าย โดยมี พ.ต.ยรรยง สท้านไตรภพ ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ พ.ต.ชนะ ชยะกุล อดีตนายทหารแห่งค่ายกาวิละ ก็เป็นกรรมการท่านหนึ่งในการริเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นมา โดยในขณะที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เมืองงาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๓ นั้น การปรึกษาหารือเพื่อหาทุนการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละก็ได้เริ่มขึ้น ณ คุ้มวงศ์ตะวัน
...เมื่อที่ประชุมมีมติให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบพระรูปของพระเจ้ากาวิละจนเป็นที่พอใจแล้ว ทางค่ายกาวิละจึงมอบให้กรมศิลปากรหล่อพระรูปอนุสาวรีย์และตกแต่งจนสำเร็จเรียบร้อย โดยเริ่มจากพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของพระเจ้ากาวิละที่วัดสวนดอกเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๑ ก่อนที่จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์หน้าค่ายกาวิละ ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อมาจึงมีการเททองพระบรมรูปที่กรมศิลปากรเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔ จากนั้นจึงยกพระรูปอนุสาวรีย์ขึ้นตั้งบนฐานเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ของปีเดียวกัน ในที่สุด จึงมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ โดยมี พลเอกประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน
...ล่าสุดนี้ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ค่ายกาวิละได้ร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือ จัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระเจ้ากาวิละ เนื่องในวาระครบ ๒๐๐ ปี ที่พระองค์เข้าทำการฟื้นเมืองเชียงใหม่ ในงานดังกล่าวมีการกล่าวคำบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระเจ้ากาวิละ ก่อนที่จะมีการสัมมนาถึงประวัติความเป็นมาของพระองค์ ตลอดจนความดีงามและคุณประโยชน์ที่ท่านได้ทำไว้แก่เมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งอดีตกาล
..........................................
นอกจากการมาสักการะกราบไหว้เพื่อระลึกถึงพระเจ้ากาวิละแล้ว สถานที่แห่งนี้ ยังมีร้านกาแฟ
ที่มีบรรยากาศที่น่าถ่ายรูปมากๆ กาแฟก็มีรสชาดที่ดีเยี่ยมครับ
บรรยากาศในสวนแห่งนี้ เราจะพบเห็นชาวต่างชาติมาเล่นดนตรี นั่งฟังเพลินๆ ได้เลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น