วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-มารู้จักกับอำเภอฮอด ว่าเป็นมาอย่างไร

 เชียงใหม่-มารู้จักกับอำเภอฮอด ว่าเป็นมาอย่างไร


...เป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน ๒๒ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ ๘๘ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๓๐,๓๘๓ ตารางกิโลเมตร

คำขวัญประจำอำเภอ

...ออบหลวงเลื่องลือชื่อ ชนยึดถือประเพณี สวนสนเขียวขจี ฮอดเป็นศรีรวมเผ่าชน

ประวัติความเป็นมา

...ตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาสรุปความได้ว่า เมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ฤาษีสองสหาย คือ วาสุเทพฤาษีและสุกทันตฤาษี ได้ร่วมกันสร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นริมฝั่งแม่น้ำกวง แล้วได้ทูลขอนางจามเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าจักรวรรดิ์ (บางตำนานเรียกว่า "ลพราชา") กษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมือง

...ก่อนออกเดินทาง พระนางจามเทวีทรงตั้งครรภ์ได้ ๓ เดือน ในขบวนเสด็จของพระนางประกอบไปด้วยเศรษฐี คหบดี พระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎก พราหมณาจารย์ โหราราชบัณฑิต แพทย์ และช่างฝีมือต่างๆ ตามเสด็จไปด้วย เมื่อถึงเมืองหริภุญชัยพระนางได้ให้กำเนิดพระโอรสฝาแฝด ซึ่งพระนางจามเทวีได้มอบหมายให้ครองเมืองหริภุญชัยกับเขลางคนครในเวลาต่อมา

...อนึ่ง ขบวนทัพของพระนางจามเทวีได้เดินทางโดยทางเรือรอนแรมขึ้นมาตามลำน้ำปิง ผ่านเกาะแก่งต่างๆ มาด้วยความยากลำบาก บรรดาไพร่พลต่างเสียชีวิตไปด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ไข้ป่า สัตว์ป่า และเรืออับปาง ในระหว่างการเดินทางนั้น เมื่อขบวนเสด็จผ่านสถานที่ใดๆ ก็จะตั้งชื่อให้ เช่น ผาสามเงา ผาอาบนาง ผานางนอน แก่งม้า ผาหมอน ฯลฯ

...เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่ริมน้ำมีชื่อว่า "เวียงระแกง หรือ ระแหง" จึงหยุดขบวนทัพเพื่อพักทำความสะอาดเสื้อผ้า และนำเครื่องใช้ออกตากแดด ณ เวียงกะทิกะ (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก) จากนั้นได้รอนแรมมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้คนเซื่องซึมง่วงเหงา ไม่ค่อยร่าเริง จึงขนานนามสถานที่แห่งนั้นว่า "เวียงเทพบุรี หรือ จำเหงา (ปัจจุบันคืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก)" หลังจากที่ขบวนเสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ จึงบรรลุถึงสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งเห็นว่าประหลาดนัก พระนางจึงให้ไพร่พลหยุดพักแรม ทำนาเพาะปลูกข้าวแล้วเก็บเกี่ยวมาเป็นเสบียงของกองทัพ จากนั้นได้สร้างนครขึ้นเป็นอนุสรณ์ และได้สร้างวัดวาอารามเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง

เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ จึงขนานนามเมืองแห่งนี้ว่า "พิสดารนคร" สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังลุง หมู่ที่ ๓ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า "เมืองหอด" ซึ่งหมายถึง "หิว" หรือ "อดอยาก" ซึ่งตรงกับที่ปรากฏในวรรณกรรมยุคก่อน เช่น "โคลงมังทรารบเชียงใหม่" และ "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" เป็นต้น ต่อมาได้เพี้ยนเป็น "เมืองฮอด" ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับเจตนาเดิม เนื่องจากคำว่า "ฮอด" นั้นแปลว่า "ถึง" หรือ "บรรลุ"

...ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ เมืองฮอดได้รับการยกระดับขึ้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลฮอด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ มีการสร้างเขื่อนภูมิพลขึ้นที่จังหวัดตาก ทำให้ที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำปิงกลายเป็นเขตน้ำท่วม วัดและเจดีย์ทั้งหลายถูกน้ำจากเขื่อนภูมิพลท่วมไปเป็นอันมาก เหลือซากให้เห็นเพียง ๔-๕ แห่งเท่านั้น และยังต้องย้ายที่ทำการอำเภอ มายังที่ตั้งในปัจจุบันที่บริเวณบ้านห้วยส้มป่อย หมู่ที่ ๙ ตำบลหางดง มีพิธีเปิดที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๖

อาณาเขต

ทิศเหนือ  ติดต่อเขตอำเภอแม่แจ่ม และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้  ติดต่อเขตอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันออก  ติดต่อเขตอำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ทิศตะวันตก  ติดต่อเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียง กับอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ลักษณะภูมิประเทศ

...อำเภอฮอดเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายในด้านภูมิประเทศ เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูง ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ เขตนิคมฯ และเขตน้ำท่วมของ กฟผ. มีที่ราบสำหรับใช้ในการเกษตรกรรมค่อนข้างน้อย คือ ประมาณร้อยละ ๒.๕ ของพื้นที่ทั้งหมด

...พื้นที่ป่าไม้ของอำเภอฮอดขณะนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เช่น ไม้สน ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้พลวง ด้วยเหตุนี้ อำเภอฮอด จึงมีชาวเขาหลายเผ่าเข้ามาอยู่อาศัย เช่น กะเหรี่ยง ม้ง และลวะ เป็นต้น

...ลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่ปิง ลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งไหลมาจากอำเภอแม่แจ่ม ผ่านตำบลหางดง อำเภอฮอด แล้วบรรจบกับลำน้ำแม่ปิงที่บ้านสบแจ่ม

สภาพทางภูมิอากาศ

ฤดูร้อน  อยู่ในช่วงระหว่างปลายเดือนมีนาคม - ต้นเดือนพฤษภาคม อำเภอฮอดเป็นพื้นที่ซึ่งมีอากาศร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ยกเว้นภูมิประเทศด้านตะวันตกซึ่งเป็นภูเขาสูงสภาพอากาศจึงค่อนข้างเย็น

ฤดูฝน  อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

ฤดูหนาว  อยู่ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม - มีนาคม อากาศหนาวถึงหนาวจัด

ทรัพยากรธรรมชาติ

- ทรัพยากรป่าไม้  ประกอบด้วยไม้สัก และไม้เบญจพรรณ

- ทรัพยากรแร่ธาตุ  ประกอบด้วยแร่ฟลูออไรด์ แร่เฟลด์สปาร์ ถ่านหิน ดีบุก หินปูน และแร่ธาตุที่สำคัญอีกมาก

การปกครอง

...อำเภอฮอดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๖ ตำบล ๕๘ หมู่บ้าน ดังรายชื่อต่อไปนี้

๑. ตำบลหางดง มี ๑๓ หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ลอง บ้านท่าข้ามใต้ บ้านหางดง บ้านผาแตน บ้านแม่ทัง บ้านกองหิน บ้านถนนโค้งงาม บ้านดอยคำ บ้านห้วยส้มป่อย บ้านวังลุงใหม่ บ้านท่าหิน บ้านหลังกาด และบ้านโป่ง

๒. ตำบลบ่อสลี มี ๙ หมู่บ้าน คือ บ้านแม่โถ บ้านแม่อมลอง บ้านแม่แวน บ้านกองลอย บ้านทุ่ง บ้านบ่อสลี บ้านกองปะ บ้านใหม่ทุ่งสน และบ้านแม่โถหลวง

๓. ตำบลบ่อหลวง มี ๑๒ หมู่บ้าน คือ บ้านบ่อหลวง บ้านวังกอง บ้านขุน บ้านนาฟ่อน บ้านแม่ลายเหนือ บ้านแม่ลายใต้ บ้านพุย บ้านกิ่วลม บ้านแม่สะนาม บ้านเตียนอาง บ้านบ่อสะแง๋ และบ้านบ่อพะแวน

๔. ตำบลบ้านตาล มี ๙ หมู่บ้าน คือ บ้านตาลเหนือ บ้านป่าขาม บ้านตาลใต้ บ้านทุ่งโป่ง บ้านตาลกลาง บ้านเด่นสารภี บ้านแม่ยุย บ้านหนองหลวง และบ้านช่างเคิ่ง

๕. ตำบลฮอด มี ๕ หมู่บ้าน คือ บ้านแควมะกอก บ้านแพะดินแดง บ้านวังลุง บ้านห้วยทราย และบ้านดงดำ

๖. ตำบลนาคอเรือ มี ๑๐ หมู่บ้าน คือ บ้านหลังท่อ บ้านนาคอเรือ บ้านห้วยหินดำ บ้านห้วยฝาง บ้านแม่ป่าไผ่ บ้านแม่งูด บ้านเด่น บ้านตีนตก บ้านแม่ลายดวงจันทร์ และบ้านใหม่ยูงทอง

ประชากร

...จำนวนประชากรของอำเภอฮอดที่สำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีอยู่ ๔๑,๐๖๗ คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาคริสต์

...สำหรับการประกอบอาชีพ ชาวฮอดโดยมากประกอบอาชีพทางการเกษตร คือ ทำนา ทำสวน และทำไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง ลำไย กะหล่ำปลี มะเขือเทศ กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ละหุ่ง และมะเขือเทศ เป็นต้น

...ในด้านการประมง มีการจับปลาในเขตลุ่มน้ำปิงและเขตน้ำแม่แจ่ม โดยเฉพาะที่ทะเลสาบดอยเต่าซึ่งมีพื้นที่ติดกับอำเภอฮอด บริเวณตำบลฮอด นาคอเรือ บ้านตาล ส่วนมากใช้ประกอบอาหารและเป็นสินค้านำไปขายที่อำเภอใกล้เคียง

อุตสาหกรรมพื้นบ้าน

- หัตถกรรมสิ่งทอผ้าฝ้าย ศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลนาคอเรือ และตำบลบ้านตาล

- กลุ่มทอผ้าชาวเขา ตั้งอยู่ที่ตำบลนาคอเรือ และตำบลบ่อสลี

การคมนาคม

...อำเภอฮอดสามารถติดต่อกับจังหวัด และอำเภอต่างๆ ได้โดยทางรถยนต์ ดังนี้

- ติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘) ผ่านอำเภอจอมทอง อำเภอสันป่าตอง อำเภอหางดง ถึงอำเภอเมือง

- ติดต่อกับอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้ถนนสายฮอด-แม่สะเรียง (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘)

- ติดต่อกับอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ถนนสายฮอด-ดอยเต่า-แม่ตืน (ทางหลวงหมายเลข ๑๑๐๓)

- ติดต่อกับอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๙ จากบ้านกิ่วลม อำเภอฮอด ถึงที่ตั้งอำเภออมก๋อย

- ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๘

...สำหรับการติดต่อกับตำบลและหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอสามารถติดต่อได้โดยทางรถยนต์ทุกหมู่บ้าน ยกเว้นฤดูฝนหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาสูงจะไม่สามารถติดต่อถึงได้

สถานที่สำคัญ

- วัดหลวงฮอด ตั้งอยู่ติดกับถนนเชียงใหม่ฮอด-นาคอเรือ

- วัดพระเจ้าโท้ ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ ๑๒ ถนนสายฮอด-วังลุง

- โบสถ์กลางน้ำวัดสันกู่ หรือวัดปัญญาวุธาราม เป็นอุทยานการศึกษาแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ เพื่อปลูกในวัดสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ช่วงแม่น้ำแม่แจ่มบรรจบกับแม่น้ำปิง บนถนนสายฮอด-ดอยเต่า จากปากทางเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตร

- วัดลัฏฐิวัน เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนแซ่ พระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งของล้านนา ตั้งอยู่ที่บ้านตาลเหนือ ตำบลบ้านตาล

สถานที่ท่องเที่ยว

- อุทยานแห่งชาติออบหลวง ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ ๑๗ บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ ถนนสายฮอด-แม่สะเรียง

- สวนสนดอยบ่อแก้วและสถานีทดลองปลูกพรรณไม้บ่อแก้ว ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ ๓๖ ติดกับทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ ถนนฮอด-แม่สะเรียง

- สวนป่าดอยบ่อหลวง ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ ๔๒ บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ ถนนสายฮอด-แม่สะเรียง

- ศูนย์บำรุงพันธุ์ไม้สน-ไม้โตเร็ว ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ ๕๐ บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ ถนนสายฮอด-แม่สะเรียง

- อุทยานแห่งชาติแม่โถ แยกจากกิโลเมตรที่ ๕๕ บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ เข้าไปตามเส้นทางไปบ้านแม่โถอีก ๑๖ กิโลเมตร ภายในอุทยานฯ มีน้ำตก ๒ แห่ง

- ผาวิ่งชู้ ตั้งอยู่ที่บ้านดงคำ หมู่ที่ ๕ ตำบลฮอด หรือกิโลเมตรที่ ๑๙ ถนนสายฮอด-ดอยเต่า

- ผาสิงห์เหลียว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านตาลเหนือ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านตาล กิโลเมตรที่ ๑๙ ถนนสายฮอด-ดอยเต่า

- ผานางหลวง หรือผานางน้อย ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแม่ยุย หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านตาล หรือกิโลเมตรที่ ๒๔ ถนนสายฮอด-ดอยเต่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น