วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

COFFEE & CANNABIS กาแฟและพืชสีเขียว

 COFFEE & CANNABIS กาแฟและพืชสีเขียว


...กระแสของพืชตระกูล Cannabis หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเสียงเรียงนามว่า "กัญชา" กำลังเป็นที่สนใจในช่วงนี้ เพราะได้รับการอนุญาตให้สามารถนำกัญชามาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย (ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น) จากการค้นพบในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า พืชกัญชานั้นมีประโยชน์ด้านการแพทย์ และอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อม โรคนอนไม่หลับ ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ และแม้กระทั่งอาจรักษาโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน

...เหตุที่กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ก็เพราะในพืชชนิดนี้มีสารที่เรียกว่า "แคนนาบินอยด์" (Cannabinoids) ปัจจุบันมีการค้นพบสารแคนนาบินอยด์ในกัญชามากกว่าหนึ่งร้อยชนิด แต่ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมากที่สุดคือสารที่ชื่อว่า THC (Delta-9-terrahydro cannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้มีบทบาทสำคัญมากในการรักษาโรคและอาการเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้น THC ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดการอักเสบของระบบประสาท แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้ในปริมาณมากก็ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมาหรือที่เรียกว่า "Get high" และมีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ปากแห้ง รู้สึกกระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ตาแดง และมีการตอบสนองช้า ด้านสาร CBD นั้น เป็นที่น่าสนใจว่า สาร CBD ไม่ก่อให้เกิดอาการมึนเมาแต่อย่างใด และยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ไมเกรน อาการซึมเศร้า (เนื่องจาก CBD มีผลทางด้านจิตประสาท) ลดการวิตกกังวล ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคนอนไม่หลับ ป้องกันโรคลมชัก เป็นต้น

...จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตามแต่ ในร่างกายมนุษย์ก็สามารถผลิตสารแคนนาบินอยด์ได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุว่าทำไมมนุษย์สามารถตอบสนองต่อสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาได้ ร่างกายมนุษย์มีตัวรับสาร (Receptor) ทั้ง THC และ CBD ซึ่งตัวรับสารนั้นเปรียบเสมือนเป็นแม่กุญแจที่คู่กับลูกกุญแข (สารแคนนาบินอยด์) ทำให้ระบบการทำงานของสารแคนนาบินอยด์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เราเรียกกลไกนี้ว่าระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System : ECS) ซึ่งเป็นระบบทางสรีรวิทยาที่ควบคุมการทำงานและรักษาความสมดุลของร่างกาย เช่น ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ควบคุมความเจ็บปวด ควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาล รักษาสมดุลพลังงานของร่างกาย มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ระบบความดันเลือด เป็นต้น กัญชาจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการแพทย์ปัจจุบัน (หรืออาจจะนอกวงการด้วยก็ตามแต่)

...แล้วถ้าร่างกายสามารถผลิตสารแคนนาบินอยด์ได้เองแล้ว ไฉนจึงจะต้องการเพิ่มอีก คำตอบก็คือ แคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองจะถูกผลิตมาแบบเฉพาะกิจ มีหน้าที่ชัดเจนและสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว ต่างจากแคนนาบินอยด์ที่ได้รับจากภายนอก (กัญชา) จะคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่า เป็นเหตุให้สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบ ECS ให้ทำงานต่อไปได้ Dr. Ethan Russo ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบัน International Cannabis and Cannabinoids Institute สันนิษฐานไว้ว่า เมื่อใดที่ระบบ ECS ในร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดโรคตามมา เช่น ไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อ การเสื่อมสภาพของร่างกายอื่นๆ 

กัญชากับกาแฟ

...อย่างที่บอกว่ามีการศึกษาเรื่องราวของพืชตระกูลกัญชาอย่างแพร่หลาย รวมถึงในภาคส่วนของกาแฟด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาไม่นานมานี้มีการศึกษาเกี่ยวกับกัญชาในบริบทเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มนุษย์โลกคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ กาแฟ ทั้งหน่วยงานอย่าง National Coffee Association of U.S.A (NCA) ก็ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ ในแง่ของการใช้กัญชาและสาร CBD เป็นสิ่งเติมแต่งในกาแฟและอาจมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมกาแฟในอนาคต มีประเด็นและเรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟและกัญชาที่มีการศึกษาเอาไว้มากมาย จึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังสักเล็กน้อย ดังนี้

สมอง กัญชา และกาแฟ

...เป็นที่รู้กันว่ากาแฟทำให้รู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า และกัญชาก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง ก่อให้เกิดความคิดไหลลื่น การรวมตัวกันระหว่างกาแฟและสาร CBD มีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังงานให้กับสมอง ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ลดความวิตกกังวล และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าคาเฟอีนและสาร CBD อาจออกฤทธิ์ส่งเสริมกัน กาแฟที่มีส่วนผสมของสาร CBD อาจช่วยในเรื่องการลดความวิตกกังวลได้ดีกว่ากาแฟที่ผสม THC

เริ่มต้นวันใหม่อย่างแจ่มใส ด้วย CBD และกาแฟถ้วยโปรด

...การศึกษาของ Jose Alexandre Crippa และผู้ร่วมวิจัยในมหาวิทยาลัย Sap Paulo และสถาบัน King's College ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่าสาร CBD มีผลต่อปริมาณของสารเซโรโทนิน (สารที่ควบคุมความรู้สึกสุขสงบ ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว) หากร่างกายมีสารเซโรโทนินน้อยเกินไป มักทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล โกรธง่าย หงุดหงิด และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าอีกด้วย หากสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับกาแฟได้อย่างไร เหตุผลคือ ได้มีงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในปี ๒๐๑๑ รายงานว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟจำนวน ๓ แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า ๑๕% อาจพูดได้ว่ากาแฟและ CBD ในยามเช้าจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นสดใส ไม่หมองเศร้า พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอารมณ์ดีๆ ก็เป็นได้

คาเฟอีนมีความสัมพันธ์กับ Endocannabinoid System

...งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายงานว่าการดื่มกาแฟมีผลกระทบต่อระบบ ECS ซึ่งสารประกอบในพืชกัญชา (แคนนาบินอยด์) ก็มีส่วนในการเพิ่มสารสื่อประสาทใน ECS ด้วยเช่นกัน ดังที่กล่าวไปว่าระบบ ECS มีผลต่อการทำงานของร่างกายทั้งหมด รวมถึงความอยากอาหาร อารมณ์ การนอนหลับ และความเจ็บปวด ผลงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Northwestern ค้นพบว่า คนที่ดื่มกาแฟมากกว่า ๔ แก้วต่อวัน จะส่งผลต่อระบบ ECS อย่างเห็นได้ชัดตาที่ Dr. Marylin Cornelis ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันที่ Northwestern University Feinberg School of Medicine กล่าวว่า การดื่มกาแฟในปริมาณมากเกินไปทำให้สารประกอบในระบบ ECS ลดลง


...สำหรับในวงการอุตสาหกรรมกาแฟ หากมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในแง่ของประโยชน์จากกัญชาและกาแฟแล้ว กัญชาอาจเข้ามามีส่วนร่วมต่อวงการกาแฟและสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต อาจก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวหรือลูกเล่นใหม่ๆ ให้ชวนตื่นเต้นก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยแม้จะมีการนำเอากัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท ๕ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่หากเป็นผู้ใดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครองก็จะมีผลทงกฎหมาย หากมีครอบครองไว้ไม่ถึง ๑๐ กิโลกรัม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่มีไว้ครอบครองเกิน ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป จะต้องโทษจำคุก ๑-๑๕ ปี ปรับ ๑๐๐,๐๐๐-๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น