เชียงใหม่-รู้จักกับประวัติพระสิริมังคลาจารย์มหาเถระปราชญ์เอกแห่งล้านนาไทย
...พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก แตกฉานทั้งอรรถและพยัญชนะรอบรู้เรื่องสรรพวิชาทางพระพุทธศาสนามีความสามารถในการรจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ยอมรับในวงนักปราชญ์ลานนาในอดีตและทั่วโลกปัจจุบัน เพราะคัมภีร์ท่านแต่งไว้แม้หลงเหลืออยู่เพียง ๔ คัมภีร์ แต่กลับมีคุณอนันต์แก่ชาวพุทธในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะมังคลัตถทีปนี คัมภีร์อันดับที่ ๔ ได้รับการยกย่องให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่เปรียญธรรม ๔,๕,๖ และ ๗ ประโยค จวบจนกระทั่งปัจจุบันแต่ที่ว่าประวัติความเป็นมาของท่านยังไม่กระจ่างชัด เพราะยังขาดหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีปรากฏในท้ายคัมภีร์ที่ท่านได้แต่งขึ้นทั้ง ๔ คัมภีร์กล่าวตรงกันว่า ท่านเป็นศิษย์ของท่านมหาวีระอยู่ที่วัดสวนขวัญและรจนาคัมภีร์แต่ละคัมภีร์ในปี พ.ศ.ไหนเท่านั้น ส่วนประวัติก่อนและหลังท่านรจนาคัมภีร์ยังไม่ปรากฏหลักฐาน อาศัยแต่เพียงการสันนิษฐานของเหล่านักวิชาการซึ่งมีหลายข้อสันนิษฐานดังนี้คือ
๑. รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง ได้พบคัมภีร์ใบลานเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ที่วัดข่วงสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขียนด้วยอักษรพื้นเมือง ลักษณะอักษรสมัยพระเจ้าดิลกปนัดดา (พระเจ้าเมืองแก้ว พ.ศ.๒๐๒๙-๒๐๖๙) ผู้เขียนชื่อพระศรีวิชัย เป็นเจ้าอาวาสวัดหอพระ ปัจจุบันคัมภีร์นี้ได้สูญหายไปจากวัดข่วงสิงห์ หลังจากรองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง ได้ส่งคืนให้กับวัด
...ข้อความในคัมภีร์กล่าวได้ว่า "พระสิริมังคลาจารย์" เป็นชาวเมืองเชียงใหม่ นามเดิมคือ ศรีปิงเมือง วันที่ท่านจะถือกำเนิด เกิดพายุใหญ่พัดจนบ้านพังทลาย มารดาท่านจึงเข้าไปหลบพายุอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ (ไม้ศรี) ใหญ่และได้กำเนิดท่าน ณ ที่โคนต้นโพธิ์ บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า "ศรีปิงเมือง" ศรีปิงเมืองบรรพชาตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะเป็นสามเณรอายุ ๑๓ ปี ได้ชักชวนชาวบ้านสร้างวัดบริเวณบ้านเกิด (บ้านตำหนักในปัจจุบัน) เรียกชื่อว่า "วัดเวฬุวนาราม" (วัดป่าไผ่) ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดไผ่เก้ากอ" เหตุว่วัดตั้งอยู่บริเวณกอไผ่ ๙ ต้น ศรีปิงเมืองสามเณรอาศัยอยู่วัดนี้จนกระทั่งอุปสมบทได้ฉายาว่า "พระสิริมังคละ" ครั้นอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดนี้เรื่อยมา ต่อมาพระเจ้าดิลกปนัดดาทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ทั้งได้ถวายสมณะศักดิ์ให้เป็น "สิริมังคลาจารย์" ตามฉายาเดิม ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) จนกระทั่งมรณภาพ
๒. แสน ธรรมยศ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระสิริมังคลาจารย์ไว้ว่า พระสิริมังคลาจารย์อาจเป็นราชบุตรองค์ใดองค์หนึ่งในจำนวน ๑๐ พระองค์ของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ถูกท้าวลก ราชบุตรองค์ที่ ๖ ชิงราชสมบัติ ราชบุตรองค์อื่นๆ หนีราชภัยกันไป ส่วนท่านสิริมังคลาจารย์เสด็จออกบวชหนีราชภัย
...ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก กล่าวถึงราชบุตรทั้ง ๑๐ พระองค์ ของพระเจ้าสามฝั่งแกนว่า ราชบุตรองค์โตสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ ชันษา ท้าวงั่วราชบุตรองค์ที่ ๕ ได้รับการแต่งตั้งไปกินพันนาเชียงเรือนามว่า เจ้าเชียงแสน ท้าวลกราชโอรสองค์ที่ ๖ ไปครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดโอรสองค์ที่ ๗ ไปครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบโอรสองค์ที่ ๑๐ ไปครองเมืองฝาง ส่วนราชบุตร ๕ พระองค์คือ ท้าวยี ท้าวสาม ท้าวไส ท้าวแปด ท้าวเก้าจากไปตามกรรมแล สำนวนว่า "ไปตามกรรมแล" นี้อาจหมายถึงสิ้นพระชนม์ หรือมีวิถีชีวิตต่างๆ กันไป ในลักษณะที่เป็นพลเมือง หลังจากท้าวลกราชบุตรองค์ที่ ๖ ชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนผู้เป็นพระราชบิดา ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ ทำให้รัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด พระเจ้าติโลกราช (พระเมืองแก้ว) ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ กล่าวถึงพระราชโอรสที่เหลืออีกเลย
...ดังนั้นจากมูลข้างต้น รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ได้วิเคราะห์ไว้ว่า พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกนซึ่งพระองค์ทรงหนีราชภัยในปีที่ท้าวลกชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนจริง สมมติว่าพระสิริมังคลาจารย์เริ่มบวชเมื่ออายุ ๒๐ ปี ช่วงเวลาที่ท่านได้ทำการแต่งคัมภีร์บาลีทั้ง ๔ คัมภีร์คือระหว่าง พ.ศ.๒๐๖๐-๒๐๖๗ ท่านจะมีอายุระหว่าง ๗๕-๘๒ ปี อาจเป็นพระเถระที่มีอายุมากเกินกว่าที่จะแต่งคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ อนึ่งหากพระสิริมังคลาจารย์นี้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกนและออกผนวชเป็นพระเถระที่ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิ ดังนั้นน่าจะมีหลักฐานกล่าวถึงเป็นพิเศษในเอกสารต่างๆ ของล้านนา โดยเฉพาะใน "ชินกาลมาลีปกรณ์" ดังนั้น รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ในบันทึกที่กล่าวว่าพระสิริมังคลาจารย์เป็นคนหมู่บ้านตำหนักโดยกำเนิด บรรพชาแล้วชักชวนชาวบ้านสร้างวัด และจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้ตามรายละเอียดในคัมภีร์ใบลานที่รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง อ้างถึงเป็นข้อมูลที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า
...ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระสิริมังคลาจารย์มีพื้นเพเป็นชาวบ้านตำหนัก บรรพชาและอุปสมบท ณ วัดแห่งนี้รวมทั้งได้แต่งคัมภีร์บาลีทั้ง ๔ คัมภีร์ ที่วัดตำหนัก และบริเวณสุญญาคาร (เรือนว่าง) ใกล้เคียง ท่านมรณภาพที่วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) ผลงานบาลีที่ท่านแต่งทั้ง ๔ เรื่อง ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันคือ
๑. เวสสันดรทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๗๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๐ ในรัชกาลของพระเมืองแก้ว เป็นคัมภีร์อธิบายเวสสันดรชาดก ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)
๒. จักรวาลทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๘๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๓ รัชกาลพระเมืองแก้วเช่นกัน เป็นวรรณกรรมว่าด้วยเรื่องโลกและจักรวาล (โลกธาตุ) พรรณาถึงภูมิของสัตว์ต่างๆ ลักษณะของสัตว์ที่เกิดในภูมิต่างๆ อาหารของสัตว์ ภูเขา แม่น้ำ สระ หนอง คลอง บึง เกาะ ทวีป เทวดา และอสูร เป็นต้น แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)
๓. สังขยาปกาสกฎีกา แต่งเสร็จเมื่อ จ.ศ.๘๘๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๓ เป็นคู่มืออธิบายเรื่องการนับเวลา การวัด ชั่ง ตวง ระยะทาง ฤดูกาล และการใช้เงินตรา ที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา เป็นต้น แต่งที่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก)
๔. มังคลัตถทีปนี แต่งเสร็จเมื่อ ร.ศ. ๘๘๖ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๖๗ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในมงคลสูตร ซึ่งเป็นสูตรในสุตตนิบาต พระสุตันตปิฎก ซึ่งแสดงถึงหลักการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมงคลขึ้นในชีวิต ๓๘ ประการ แต่งที่สุญญาคาร
หมายเหตุ : มังคลัตถทีปนี ผลงานอันดับที่ ๔ ปัจจุบันใช้เป็นหนังสือหลักสูตรการเรียนการสอนบาลี ของคณะสงฆ์ไทยเปรียญธรรม ๔-๕-๖-๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น