เชียงใหม่-ทำความรู้จักกับวัดเจ็ดลินและน้ำมูรธาภิเษกที่สำคัญ
..........ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ ด้านประตูเชียงใหม่ สร้างขึ้นโดยมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ช่วงรัชกาลที่ 10-11 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2030-2068)
รัชสมัยของพญายอดเชียงรายและพญาเมืองแก้ว สันนิษฐานจากรูปลักษณะของตัวองค์พระเจดีย์ซึ่งบ่งบอกถึงศิลปะที่นิยมสร้างในยุคของพญายอดเลียงรายถึงพญาเมืองแก้ว
นอกจากนั้นยังพบชื่อของวัดนี้ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2060 ตรงกับรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย
ในตำนานเมืองเชียงใหม่ได้บอกว่า การสร้างวัดนี้โดยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ขึ้นภายในบริเวณวัด
เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้กษัตริย์ที่จะขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต้องมาสรงน้ำมูรธาเษก (น้ำพุทธมนต์) ที่ไหลผ่านลงจากลินทองคำทั้ง 7 ชั้น นั้นเสียก่อน
วัดที่ใช้ประกอบพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกนี้ชาวนครเรียกว่า "วัดเจ็ดลิน"
..........สรุปความหมายแล้ว "วัดเจ็ดลิน" ก็คือวัดที่มีรางน้ำ 7 ราง ในสมัยโบราณจะเรียกวัดนี้ว่า "วัดเจ็ดลินคำ" ก็หมายถึง 7 ลินทองคำ
เพราะลินทั้ง 7 นั้นทำด้วยทองคำล้วนๆ และยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าวัดนี้ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในปี พ.ศ.ใด
เพียงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 จากหลักฐานทางด้านศิลปะขององค์พระเจดีย์และหลักฐานจากโคลงนิราศหริภุญชัยซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2060
ช่วงรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว ซึ่งปรากฏชื่อของวัดเจ็ดลิน
เจ็ดลินลุแล้วเล่า ศาลาเลิศเอ่
คองคู่สานเสน่หา แห่งนั้น
วรลักษณ์เลิศรสา สวรรค์เทพ ทิพเอ่
สาแผ่นดินใดดั้น พี่ด้นหาอาวร
สถานภาพและที่ตั้งของวัด
...วัดเจ็ดลิน ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๖๙/๑ ถนนพระปกเกล้า ใกล้ประตูเมืองเชียงใหม่ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ มีสภาพเป็นวัดร้างมานาน โบราณวัตถุที่คงเหลือไว้เป็นหลักฐาน มีเจดีย์ ๑ องค์ และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในอาคารชั่วคราวที่มุงด้วยสังกะสี ๑ องค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๗-๒-๒๗ ไร่ ตามโฉนดเลขที่ ๓๘๐๔ และ ๓๖๑๑ เป็นผืนดินประมาณ ๔ ไร่ เป็นหนองน้ำประมาณ ๓ ไร่ครึ่ง สันนิษฐานว่าวัดนี้ตกสภาพเป็นวัดร้างมาตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ต่อมาในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ (๗๒ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๔๖) ทางคณะสงฆ์ได้มองเห็นความสำคัญของวัดเจ็ดลิน ที่เป็นวัดประวัติศาสตร์เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ล้านนามาก่อน จึงได้มอบหมายให้ พระญาณสมโพธิ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ปัจจุบันคือ พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะภาค ๗) เข้ามาเป็นประธานบูรณะฟื้นฟูและยกวัดร้างแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษาในปีนั้น
น้ำมูรธาภิเษก คืออะไร
...น้ำมูรธาภิเษก หมายถึงน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดเหนือเศียร หรือสรงน้ำ กษัตริย์ โดยนำมาจากแหล่งน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำ-ถ้ำ-ภูเขา และวัดสำคัญๆ มารวมกันและประกอบพิธีทางศาสนาให้เป็นน้ำพุทะมนต์ใช้สรงน้ำกษัตริย์ที่จะขึ้นครองเมือง แม้ในทางพุทธศาสนา พระมหาเถระที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จหรือสังฆราช ก็จะต้องเข้ารับการสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระวิหารเช่นกันในอดีต ส่วนพระมหากษัตรยิ์ในราชวงศ์มังรายยุคปลายก่อนที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องเสด็จมารับการสรงน้ำมูรธาภิเษกที่วัดเจ็ดลินแห่งนี้ก่อน สำหรับน้ำมูรธาภิเษกในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าน้ำที่นำมาประกอบพิธีเป็นน้ำมูรธาภิเษกนั้นมาจากแหล่งใด การสรงน้ำมูรธาภิเษกเป็นตันติประเพณีของกษัตรยิ์ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลจนถึงราชวงศ์จักรี
พิธีปรุงแต่งน้ำมูรธาภิเษก
...น้ำมูรธาภิเษกเป็นน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อนำมาเข้าพิธีปรุงแต่งให้เป็นน้ำมูรธาภิเษกที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่วิธีการมีหลากหลายและแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน ตามคติความเชื่อของแต่ละเมืองหรือท้องถิ่นนั้นๆ เช่นการสรงน้ำมูรธาภิเษกพระสงฆ์ที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมหาเถระชั้นสูง หรือสมเด็จหรือสังฆราชา ส่วนใหญ่จะกระทำในวิหารหรือพระอุโบสถ หรือไม่ก็สร้างหอสรงชั่วคราวไว้หน้าวิหาร ส่วนน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ จะต้องนำมาต้มด้วยตัวยาสมุนไพรมากมายหลายอย่าง และหลายขั้นตอนตามความเชื่อในยุคและท้องถิ่นนั้นๆ แต่บางแห่งจะนำมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปสรงน้ำพระหรือผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ตามเมืองต่างๆ การสรงน้ำมูรธาภิเษกเป็นประเพณีดั้งเดิมของล้านนาและถือว่าเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เช่นไฟที่จะนำมาต้มตัวยาสมุนไพรต้องเป็นไฟที่บริสุทธิ์ไม่ใช้ไฟทั่วๆ ไป แต่จะใช้ไฟจากแสงพระอาทิตย์โดยการใช้แว่นขยายกรองเอามาจากแสงแดดผ่านลงไปให้ไหม้ปุยนุ่นเป็นตัวเชื้อที่เชื่อว่าเป็นเชื้อไฟที่บริสุทะจากฟากฟ้า ส่วนฟืนที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำนั้นก็จะกำหนดให้เป็นไม้ดอกพิกุล ไม้ขนุนและไม้พุทรา อย่างละ ๗ ดุ้น หรือ ๗ อัน แม้กระทั่งก้อนเส้า (ที่ตั้งหม้อต้มน้ำ) และภาชนะใส่น้ำมูรธาภิเษก ก็กำหนดไว้อย่างละเอียดและมากมายและอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ยากต่อการปฏิบัติของคนในยุคนี้ จึงจะไม่ขอกล่าวให้ลึกลงไปโดยขอกล่าวเฉพาะการสรงน้ำกษัตริย์ที่วัดเจ็ดลินเพียงสั้นๆ ว่า เมื่อได้ผ่านพิธีการปลุกเสกน้ำมูรธาภิเษกแล้ว กษัตริย์ที่จะมารับการสรงน้ำก็จะเสด็จมายังหนองน้ำเจ็ดลิน และพราหมณาจารย์จะเป็นผู้อ่านคำจารึกในพรรรณบัฏ จากนั้นก็จะหลั่งน้ำมูรธาภิเษกจากสุวรรณหอยสังข์ลงบนลินคำเจ็ดชั้น เพื่อสรงน้ำแก่กษัตริย์ล้านนา แล้วประโคมดนตรี ตีระฆังกังสะดาล เป่าบัณเฑาะหอยสังข์ ส่วนพระสงฆ์จะสวดชยันโตในพระอุโบสถระหว่างสรงน้ำนั้นจนหมด เป็นอันเสร็จพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกแต่เพียงเท่านี้
การสรงน้ำมูรธาภิเษกยุคราชวงศ์จักรี
...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งเข้ารับการสถาปนาขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ก็มีพิธีการสรงน้ำมูรธาภิเษก ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นำมาจากปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ คือน้ำในแม่น้ำคงคา, ยมนา, อจิรวดี, สรภูและมหิ และน้ำในปัญจสุทธคงคา คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในราชอาณาจักรไทย คือ แม่น้ำเพชรบุรี, ราชบุรี, เจ้าพระยา, บางปะกงและแม่น้ำป่าสัก นอกจากนั้นยังใช้น้ำจากสระอีก ๔ สระในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ สระเกศ, สระแก้ว, สระคาและสระยมนา ซึ่งล้วนใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกกษัตราธิราชเจ้ามาแต่โบราณกาลทั้งสิ้น โดยทำพิธีทางศาสนาจากวัดสำคัญต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่ง นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนั้นๆ เข้าร่วมพิธีเสร็จแล้วก็บรรจุภาชนะส่งเข้าไปรวมกันที่สำนักพระราชวัง รวมกันเป็นน้ำมูรธาภิเษกหลวงใช้สรงในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในปีนั้น
พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกมีมาก่อนราชวงศ์มังราย
...การสรงน้ำมูรธาภิเษก เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล กษัตริย์ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นครองราชย์และได้รับการสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้ว ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์และสง่างามดังคำรำพึงของพญามังรายที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า
"เชื้อเขานี้ติดปลายเจ้าลาวครอบลาวช้าง บ่ได้น้ำมูรธาภิเษกหดหัวสักคนเท่าปู่กูเจ้พญาลาวเก๊าอันเป็นน้องของเจ้าลาว ครอบลาวช้างนั้นคนเดียวได้น้ำมูรธาภิเษกเป็นพญาปรัมปรา...เขาฝูงเป็นพญาอยู่จิ่มใกล้กู บ่ได้น้ำมูรธาภิเษกอย่างกูสักคน พ้อยจามานะต่อกูฉันนี้ ควรกูไปรบเอาเมืองเขาทั้งหลายฝูงนี้"
ความหมายภาษาปัจจุบัน
"พวกเขามีเชื้อสายเจ้าลาวปลายแถวที่ครองล้านช้างอยู่ ไม่เคยได้รับน้ำมูรธาภิเษกรดหัวสักคนเหมือนปู่กูที่เป็นต้นพญาลาวล้านช้างเพียงคนเดียวที่ได้รับน้ำมูรธาภิเษก พวกเขามาอยู่ใกล้กู ไม่มีใครได้รับน้ำมูรธาภิเษกแม้แต่คนเดียว ยังจะมาแข็งข้อต่อกู กูจะต้องออกไปรบยึดเอาเมืองเขาเหล่านั้น"
จากข้อความคำรำพึงบางตอนของพญามังราย แสดงว่าพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกมีมาก่อนยุคราชวงศ์มังราย อาจจะเริ่มในยุคราชวงศ์ลวจังกราชก็เป็นได้ ราชวงศ์ลวจังกราชเริ่มต้นจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาราชวงศ์มังรายเริ่มต้นจากพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ.๑๘๓๙)
พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกปลายยุคราชวงศ์มังราย
...การสรงน้ำมูรธาภิเษกในยุคต้นๆ ของราชวงศ์มังรายไม่ค่อยปรากฏหลักฐานในตำนานต่างๆ แต่มีเพียงกษัตริย์องค์ที่ ๑๗ ของราชวงศ์มังรายเท่านั้นที่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่ พระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ มีเชื้อสายมาจากขุนเครือ พระราชโอรสของพญามังรายซึ่งได้รับพระบรมราชโองการจากพระราชบิดาให้ขึ้นไปครองเมืองนาย อันเป็นหัวเมืองไตใหญ่ และได้สืบสายรัชทายาทติดต่อกันมาหลายช่วงรัชสมัยจนถึงพระยาเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ พระองค์มีนามเดิมว่า "ท้าวแม่กุ" เนื่องจากเมืองนายที่ท่านครองอยู่นั้นมีน้ำแม่กุไหลผ่านจึงเรียกพระองค์ว่าท้าวแม่กุ หลังจากได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๗ แห่งราชวงศ์มังราย และผ่านการสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้วจึงเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์"
การรับการสรงน้ำมูรธาภิเษกในตำนานเมืองเชียงใหม่บอกว่า เมื่อพระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงสีขาว (นุ่งขาว-ห่มขาว) ที่วัดผ้าขาว แล้วเสด็จไปทำพิธีลอยเคราห์ที่วัดหมื่นตูม จากนั้นก็เสด็จไปสรงน้ำมูรธาภิเษกที่วัดเจ็ดลิน ดังมีข้อความในตำนานว่า
"เมื่อเปลี่ยนเครื่องทรงสีขาวแล้ว จากนั้นก็เชิญกษัตริย์เจ้าไปลอยเคราะห์ที่วัดหมื่นตูม นอนหั้นแลได้ ๓ วัน แล้วไปอุสสาราชหล่อน้ำมูรธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวัณณหอยสังข์ที่วัดเจ็ดลินคำหั้นแล"
การสรงน้ำมูรธาภิเษกนั้นโดยวิธีการให้พราหมณ์ประจำราชสำนักหล่อน้ำมูรธาภิเษกด้วยสุวรรณหอยสังข์ผ่านลินทองคำทั้ง ๗ ชั้นสู่พระวรกายของพระองค์
การฟื้นฟูและพัฒนาวัดเจ็ดลิน
...วัดเจ็ดลิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอารามหลวงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้ประกอบราชพิธีสรงน้ำกษัตริย์ล้านนา นอกจากนั้นยังมีองค์พระเจดีย์ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ อยู่ตั้งเด่นสง่างามครอบคลุมบริเวณพื้นที่แห่งนี้ จนเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและยากที่จะลืมเลือนได้ง่ายๆ ในอดีตวัดนี้ชาวบ้านจะเรียกว่า "วัดหนองจลิน" น่าจะเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "วัดหนองเจ็ดลิน" มากกว่าความหมายอื่นใดทั้งสิ้น
นับตั้งแต่พระเทพวรสิทธาจารย์ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้เข้ามาฟื้นฟูและพัฒนาวัดร้างแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๖ จนได้รับอนุมัติจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ยกวัดร้างเจ็ดลินให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๔๗ ต่อมาพระมหาวิษณุ จารุธมฺโม ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดลินองค์แรกหลังการฟื้นฟู เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ นักจากวันนั้นมาวัดเจ็ดลินก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างถาวรวัตถุมากมายหลายอย่างแทบจะเต็มพื้นที่ของวัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น