วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-นำชมพระเจ้าค่าคิงครูบาศรีวิชัย จำนวน ๒ องค์ ภายในวิหารวัดสวนดอก

เชียงใหม่-นำชมพระเจ้าค่าคิงครูบาศรีวิชัย จำนวน ๒ องค์ ภายในวิหารวัดสวนดอก


...พระพุทธรูปสำริด ประทับยืนบนฐานแปดเหลี่ยมประดิษฐานด้านทิศเหนือ-ใต้ 

ด้านหน้าพระพุทธรูปประทับนั่งมารวิชัยองค์ใหญ่ที่สร้างสมัยพญาเมืองแก้ว

ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปค่าคิงครูบาศรีวิชัย คือ พระพุทธรูปที่มีความสูงเท่าความสูงของครูบาศรีวิชัย


มีจารึกที่ฐานแปดเหลี่ยมเหมือนกันทั้งสององค์ เป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา (๗ เหลี่ยม) และไทยปัจจุบัน (๑ เหลี่ยม)

จารึกแบ่งเป็น ๒ ส่วน ใจความจารึกสรุปโดยย่อว่า พ.ศ.๒๔๗๔ ครูบาศรีวิชัยเป็นประธาน

พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรและคณะศรัทธาทุกคน ร่วมกันจ้างช่างหล่อพระพุทธรูปยืน ๒ องค์

ให้มีขนาดความสูงเท่ากับครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานด้านใต้และด้านเหนือของพระประธานในวิหารหลวงวัดสวนดอก

มีนายมูลเวช กลไก เป็นช่างปั้นและหล่อ มีน้ำหนัก ๒๔๐,๐๐๐ (ไม่ระบุหน่วยน้ำหนัก) 

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้


ส่วนที่ ๑ มงคลวุฑฺฒิ สิริสุภมสตฺตุ พุทธศักราช ๒๔๗๔ จุลศักราชได้ ๑๒๙๓ ตัว มะแมฉนำกัมโพชคามตามขอมพิสัย

ไทยภาษาว่าปีรวงเม็ด กิตติกา คือว่าเดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เม็งมณฑล คือว่าวัน ๕ ไทย (ว่าวัน) เบิกยี ดิถี ๑๐ ตัว

...หมายมีสมณศรัทธาและมหามูลศรัทธาและศรัทธาทั้งหลาย ทั้ง ๒ คณะคณาทั้งภายในและภายนอก 

ภายในหมายมีครูบาเจ้าศรีวิไชย วัดจอมศรีทรายมูล บ้านปางเป็นเค้า พร้อมกับด้วยอันเตวาภิกขุ สามเณรเจ้าชุตน

ขะโยมชุคนๆ หนแห่งห้อง

ภายนอกหมายมีศรัทธาอุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาอนุโมทนา ไวยาวัจกร ทานานุโมทนาทั้งมวล วันตก เหนือ ออก ใต้ 

คือว่าอยู่ใกล้และอยู่ไกล ก็มีปสาทะบ่ศรัทธาเลื่อมใส บ่เส้ากับด้วยครูบาชุคนๆ

...ครูบาเจ้าก็ได้จ้างสล่าหล่อสารูปพระทศพล ๒ องค์ยืนอยู่ ใหญ่สูงค่าคิงครูบาเจ้าบ่เกินเหลือ

เอายองไว้ใต้เหนือพระเจ้าในวิหารหลวงวัดสวนดอกไม้ตราบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา

แล้วขอหื้อเกิดกลายเป็นมหาสำเภาคำลำเล่มใหญ่...เป็นมหาสุวรรณนาวา... ช้าง ม้า หว่ายรอเวียงแก้วยอดเนรพาน

ตามดั่งความปณิธานว่า สุทินฺนํวตเมทานํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุโน นิจฺจํ ธุวํ ธุวํ วตนิจฺจํ วตนิพฺพานํ สํสารํวตนิพพานํ แรมํสุขํ


...ส่วนที่ ๒ นายมูลเวช กลไก เป็นผู้ปั้นและหล่อพระพุทธรูปองค์นี้สองแสนสี่หมื่น (มีน้ำหนัก) ๒๔๐,๐๐๐ (ไม่ระบุหน่วยน้ำหนัก)

...พระพุทธรูปทั้งสององค์มีความสูงเท่ากัน คือ สูงตั้งแต่พระบาทถึงพระเศียร ๑๖๘ เซนติเมตร

สูงจากพระบาทถึงรัศมี ๑๘๕ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๒๑๙ เซนติเมตร

ดังนั้นแล้วจากความสูงของพระพุทธรูปสามารถอนุมานความสูงของครูบาศรีวิชัยได้ว่าท่านควรมีความสูง ๑๖๘ เซนติเมตร

อันเป็นความสูงของพระพุทธรูปตั้งแต่พระบาทถึงพระเศียร

...ความในจารึกพ้องกับที่บันทึกไว้ในสำนวนเทศน์ตำนานวัดสวนดอกของท้าวสุนทรพจนกิจ

ซึ่งได้นำออกแจกจ่ายแก่ศรัทธาประชาชนที่ไปร่วมงานบูรณะวิหารวัดสวนดอก

และนิทานตำนานวัดบุปผารามของพระญาณรังสี วัดดอนปิง (๒๔๗๕, หน้า ๗๐)

ปริวรรตโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความในตำนานระบุว่า

"...บ่เท่าแต่นั้น ก็ได้สร้างสารูปพระมุนี หล่อด้วยทองสององค์ ยืนเท่าครูบาศรีวิชัยเจ้า..."


...ลักษณะพระเจ้าค่าคิงครูบาศรีวิชัย เป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระกรทั้งสองแนบพระวรกาย

พระหัตถ์หันเข้าหาพระวรกาย พระพักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว

ครองจีวรห่มเฉียง สบงทำเป็นแถบหน้านาง ไม่ตกแต่งลวดลายใด

.......................................
<<<   บันทึกท้ายโพส   >>>

ภาพที่โพสนี้ได้ทำการแปลงให้เป็น Sepia เท่านั้นเองครับ (เป็นความชอบส่วนตัว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น