วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เล่าเรื่องอุตพิตยักษ์ ไม้แปลก กลิ่นแปลก

 เล่าเรื่องอุตพิตยักษ์ ไม้แปลก กลิ่นแปลก


ชาวพื้นเมืองที่เข้าไปหาของป่าในป่าลึกของประเทศอินโดนีเซีย มักจะงดเข้าป่าในฤดูที่เจ้าดอกไม้ที่เรียกกันว่า "อุตพิตยักษ์" จะบาน 

เพราะหากมันเบ่งบานพร้อมกันละก็ป่าทั้งป่าจะอบอวลไปด้วยกลิ่นเน่าคล้ายปลาเน่าหรืออุจจาระท้องเสีย อันเกิดจากเกสรของมันที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว

.ชาวอินโดนีเซียเรียกมันว่า "ต้นไม้แห่งศพเน่า" นักพฤกษศาสตร์เรียกมันว่า "อโมร์โพพัลลุส" 

ต่อมาท่านเซอร์ริชาร์ต แอตเทนบอโรห์ ให้ชื่อใหม่ว่า "ไทตัน อรุม" เจ้าอุตพิตยักษ์เป็นไม้ที่ให้ดอกที่ตูมแล้วเบ่งบานส่งกลิ่นเต็มที่ทุกระยะ 6-7 ปี

.เจ้าอุตพิตยักษ์ได้รับอนุญาตให้นำออกไปจากประเทศอินโดนีเซียเพื่อไปขยายพันธุ์ในเรือนกระจกพิเศษสำหรับอนุรักษ์พันธุ์ไม้เมืองร้อนทั่วโลก 

ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์ "คิว การ์เดน" ประเทศอังกฤษ ได้ประคับประคองจนสามารถขยายพันธุ์เจ้าอุตพิตยักษ์ได้ถึง 12 ต้น 

อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์คิว ส่วนที่เรียกว่า "ปรินเซส ออฟ เวลส์" อันเป็นส่วนที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้เมืองร้อนโดยเฉพาะ 

นับเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 250 ปีที่มีการก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ที่ดอกอุตพิตยักษ์จะบานอวดสายตาชาวอังกฤษเป็นครั้งแรก

โดยสถานีโทรทัศน์บีบีซี. ได้ส่งทีมงานมาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีออกเผยแพร่ในชื่อเรื่อง "ชีวิตในธรรมชาติของพันธุ์ไม้" อันมีเรื่องราวของอุตพิตยักษ์นี้รวมอยู่ด้วย

.อุตพิตยักษ์มีใบอยู่ติดดิน ส่วนดอกเจริญขึ้นด้านบนมีลักษณะคล้ายระฆังมีกลีบดอกสีแดงสลับกับสีอีกหลากสีชวนให้เข้าไปใกล้ๆ 

แต่กลิ่นคล้ายปลาเน่าหรืออุจจาระท้องเสียที่ฟุ้งกระจายออกมานั้น ทำให้คนที่ได้ดมกลิ่นพากันถอยฉากออกมา

หลายคนโก่งคออาเจียนหน้าเซียวเมื่อเผลอสูดดมเข้าไปเต็มปอด เกสรของมันคือกับดักล่อแมลงภู่ แมลงผึ้ง กับแมลงกินน้ำหวานจากเกสรให้เข้ามาคลึงเคล้า 

ยางเหนียวคล้ายกาวจะยึดแมลงเอาไว้แล้วจัดการดูดของเหลวในตัวแมลงกินเป็นอาหาร เมื่อมันบานเต็มที่เกสรจะส่งกลิ่นเน่าไปทั่ว 

.หากมันอยู่ในป่าตามธรรมชาติจะส่งกลิ่นไปได้ไกลถึง 1 กม. และจะส่งกลิ่นอยู่ประมาณ 3 วันจึงจะหมดกลิ่น แต่สีของมันยังยั่วตาเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเหี่ยวเฉาไปเอง

มีผู้เปรียบเอาไว้ว่าหากต้องการรู้ว่ากลิ่นเจ้าดอกอุตพิตยักษ์เป็นอย่างไร ก็ลองดมกลิ่นสัตว์ที่นอนเน่าตายอยู่ข้างถนนในเขตร้อน กลิ่นเจ้าอุตพิตยักษ์ก็ไม่ผิดกันเท่าใดนัก

.พิล กริฟฟิธ นักอนุรักษ์แห่งคิว การ์เดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ชมหลายๆ คนมาชมดอกอุตพิตยักษ์

เมื่อมันหมดกลิ่นแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจึงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับเจ้าอุตพิตยักษ์ทั้งสีและกลิ่นพร้อมกันไป

เคยมีผู้พบอุตพิตยักษ์ดอกใหญ่ในธรรมชาติที่มีน้ำหนักถึง 90 กก. 

มีการให้ปุ๋ยน้ำกับโปแตสเซียมกับเจ้าอุตพิตยักษ์ เพื่อให้มันสมบูรณ์แข็งแรงให้ดอกที่มีกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรงเหมือนอยู่ในธรรมชาติ

นี่แหละครับ ตรงกับสุภาษิตที่ว่า "สวยแต่รูปจูบอ้วกแตก"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น