วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-มารู้จักกับขันตั้ง บูชาเสาอินทขิล

 เชียงใหม่-มารู้จักกับขันตั้ง บูชาเสาอินทขิล


..........ในงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล อันเป็นเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ภายในวิหารจตุรมุข ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวง ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองเชียงใหม่นั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้ ต้องจัดหามาให้ครบถูกต้องตามโบราณประเพณี ก็คือ เครื่องสังเวยพลีกรรมต่าง ๆ เพื่อก่อเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง ตามคติโบราณที่สืบทอดมา

..........เครื่องสังเวยพลีกรรมดังกล่าวก็คือ ขันตั้ง 12 ขัน (จัดใส่ในพานหรือขันโตกจึงเรียกขันตั้ง) เป็นขันหลวงหรือขันประธาน 1 ขัน ขันบริวาร 11 ขัน

1. ขันประธาน

..........มีขนาดใหญ่กว่าขันบริวาร มีสรรพสิ่งประกอบดังนี้ หมากล้าน (หมากไหม 3 มัดใหญ่), เบี้ยล้าน (ผ้าห่อไว้), ผ้าขาว 3 ฮำ (พับ), ผ้าแดง 3 ฮำ, ( 3 ฮำ = 6 เมตร) เทียนเงิน 12 เล่ม, เทียนคำ 12 เล่ม (เทียนทั้งสองประเภทนี้ยาวราว 1 ฟุต) เหล้า 1 ขวด, เทียนสุมา (ขมา) 48 เล่ม (ยาวคืบ), สวยหมากพลู 48 สวย, สวยดอกไม้เทียนคู่ 48 สวย, ข้าวเหลือก 1 ต๋าง (กระบุง / ถัง), ข้าวสาร 1 แคง (ลิตรเศษตั้งไว้บนต๋างข้าวเปลือก) เชือกบ่วงบาศ 1 ม้วน, ขอช้าง 2 อัน, กล้วยน้ำว่า 1 เครือ, มะพร้าว 1 ทะลาย

..........ตามหลักโบราณประเพณีแล้ว จะต้องมีเครื่องประกอบช้าง / ม้า ครบทุกอย่างของทั้งหมดนี้ จัดไว้ในพานหรือขันโตกใบเดียวกันให้เป็นระเบียบสวยงาน ส่วนมะพร้าว 1 ทะลาย กล้วย 1 เครือ และต๋างข้าว วางไว้บนพื้นติดกับขันประธาน เพราะถือเป็นส่วนของขันประธาน

..........เพื่อให้สะดวกในการยกขึ้นลง (วิหารเสาอินทขิล) จึงต้องแบ่งเบี้ยล้าน, เทียน, เงิน, เทียนตำ, ผ้าขาวผ้าแดง, เทียนสุมาจากขันประธานใส่ขันโตกเล็ก สำหรับยกมาตั้งไว้หน้าวิหารเสาอินทขิลติดกับขันแก้วทั้งสามในเวลากลางวัน พอค่ำมืดยกเข้าข้างในตั้งไว้รวมกับขันประธาน

2. ขันบริวาร มี 11 ขัน

..........จัดอย่างเดียวกันกับขันประธาน แต่มีสิ่งประกอบจำนวนน้อยและย่อมกว่า ดังนี้

..........หมากหมื่น (1 มัดเล็ก), เบี้ยหมื่น, ผ้าขาว 1 ฮำ, ผ้าแพง 1 ฮำ, (1 ฮำ = 2 เมตร) เทียนเงิน 1 คู่, เทียนคำ 1 คู่ (เทียนเล่มบาท), สวยดอกไม้เทียนคู่ 12 สวย, สวยหมากพลู 12 สวย

..........ข้าวเปลือก 1 ต๋าง (ขนาดเล็ก 1/3 ของต๋างประธาน), ข้าวสาร 1 แคง (เล็ก) วางไว้บนต๋างข้าวเปลือก, เหล้า 1 ขวด (เหล้า 12 ขวดนี้ เมื่อเสร็จงานพ่อครูจะมอบให้หัวหน้าพนักงานเทศบาลที่มาช่วยงานอินทขิลแจกลูกน้องนำติดตัวกลับไปบ้าน)

..........ในส่วนขันบริวารนี้ เมื่อก่อนจะมีศัตราวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในยามสงคราม เช่น หอก ดาบ ง้าว ปืน ร่วมในพิธีด้วย โดยเอาพิงไว้รอบ ๆ เสาอินทขิล เพื่อก่อเกิดอิทธิฤทธิ์ขลังและศักดิ์สิทธิ์ เมื่อต้องใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

..........บรรดาเครื่องพลีกรรมเหล่านี้ (ต้องจัดให้ครบตั้งให้เสร็จก่อนเปิดงานตอนเย็นของวันเข้าอินทขิล ใช้ชุดเดียวตลอดงาน 7 วัน) เมื่อจัดใส่ขันเรียบร้อยแล้ว เอาตั้งเรียงรายรอบโคนเสาอินทขิล โดยตั้งขันประธานไว้ด้านทิศตะวันออก แล้วตั้งขันบริวารรายล้อมเสาอินทขิลเวียนขวามาบรรจบขันประธาน มีด้ายสายสิญจน์ที่โยงจากพระพุทธรูปเหนือเสาอินทขิลไปรอบวิหารเสาอินทขิล-กุมภัณฑ์ศาลด้านใต้-กุมภัณฑ์ศาลด้านเหนือ-รอบพระวิหารหลวงด้านเหนือ-รอบองค์พระธาตุเจดีย์หลวง (โยงจากองค์พระเจดีย์สู่พระพุทธไสยาสน์) - รอบพระวิหารหลวงด้านใต้ - เข้าสู่วิหารเสาอินทขิล - โยงเข้าหาขันประธานและขันบริวารจนครบแล้ว โยงเข้าหาอาสน์สงฆ์ที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขิล เพื่อให้พระสงฆ์จับขณะเจริญพระพุทธมนต์ประจำวัน และด้ายสายสิญจน์นี้ เมื่อถึงวันทำบุญออกอินทขิลเลี้ยงเพลพระ 108 รูป ในพระวิหารหลวง ต้องโยงเข้าไปใช้ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ด้วย

..........นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมสถานที่คือแคร่ / แท่นไม้ไผ่สูงระดับอก สร้างไว้รอบวิหารเสาอินทขิลจำนวน 32 แคร่ 32 พานโตก เพื่อให้ประชาชนวางข้างตอกดอกไม้ธูปเทียนที่นำมาสักการบูชาเสาอินทขิลตลอดงาน 7 วัน สำหรับพานโตกวางไว้บนม้ายาวด้านหน้าวิหารเสาอินทขิล วางกระจุกเป็นคู่ ๆ ไว้ด้านหน้าวิหารเสาอินทขิลด้านทิศเหนือ หักมุมสู่ตะวันออก ต่อจากขันโกฐาก ขันแก้วทั้งสาม และขันประธานเล็กที่ตั้งเป็นอันดับแรก

..........สมัยก่อนจะมีการประโคมฆ้องกลอง ด้านหน้าวิหารเสาอินทขิลวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน ตอนเย็น เพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์และเสาอินทขิลด้วย ปัจจุบันมีการแสดงพื้นเมืองฟ้อนรำบนเวทีด้านเหนือ จ้อยซอที่ซุ้มด้านใต้สมโภช สมัยโบราณใส่ขันดอกเวลากลางวันพอค่ำมืดเมื่อประโคมฆ้องกลองย่ำค่ำก็จะหยุด เพราะไม่มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง แม้มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลาต่อมา แรก ๆ กระแสไฟฟ้าก็ยังไม่เพียงพออยู่นั่นเอง จึงใส่ขันดอกเฉพาะกลางวัน

..........พ่อครูหมอพิธีผู้จัดหาเครื่องพลีกรรมและประกอบพิธี เป็นบุคคลที่ทางเทศบาลเชื้อเชิญมา นอกจากทำพิธีบวงสรวงพลีกรรมเสาอินทขีลแล้ว พ่อครูยังมีภาระประจำวันที่จะต้องจัดหาขนมอาหารเจอย่างน้อยวันละ 6 อย่าง จัดใส่ถ้วยเล็ก ๆ ตั้งไว้บนถาดให้ได้ 7 สำรับ (7 ถาด) พร้อมพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ เทียน 1 คู่ จุดขณะกล่าวคำสังเวย ธูป 8 ดอก (ไม่ต้องจุด) สังเวยเสาอินทขิล รูปปั้นพระฤาษี และรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในซุ้มรายล้อมวิหารเสาอินทขิลจุดละ 1 สำรับ คือรูปช้างทิศตะวันออก รูปสิงห์ทิศเหนือ รูปพระฤาษีทิศตะวันตก รูปเสือทิศใต้ กุมภัณฑ์สองศาลทิศเหนือ-ใต้ ให้ทำพิธีสังเวยไปตามลำดับ ภารกิจนี้พ่อครูต้องตื่นเช้ามืดตีสามตีสี่นาฬิกา เพื่อไปหาซื้อเครื่องสังเวยที่ตลาดประตูเชียงใหม่ให้ทันทำพิธีบวงสรวงในเวลา 6 โมงเช้า การทำพิธีสังเวยประจำวัน จะเริ่มวันที่สองของงานเข้าอินทขิล ไปสิ้นสุดลงวันทำบุญออกอินทขิลขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ซึ่งในเช้าวันนี้ต้องจัดอาหารคาวสังเวยเสือ กับกุมภัณฑ์ทั้งสองเป็นพิเศษด้วย

..........การจัดซื้อจัดหาเครื่องพลีกรรมขันตั้ง หรือเครื่องบูชาทุกรายการ พ่อครูจะเป็นผู้ดำเนินการเองในทุกขั้นตอน ส่วนงบประมาณเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบและชาวเมืองบริจาคสมทบส่วนหนึ่ง เมื่อเสร็จงานบูชาเสาอินทขิลแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในงานพิธี พ่อครูจะเก็บรักษาไว้เพื่อนำมาใช้ในปีต่อไป ส่วนที่เป็นของกินของใช้ ข้าวเปลือก ข้าวสาร จะแจกจ่ายให้ชาวบ้านไปปลูกไปกินถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้รับ

..........สำหรับพิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดคาถาขอฝนแบบพื้นเมืองวันละ 9 รูป จะมีในตอนเย็นเวลา 17.00 น. โดยประมาณทุกวัน เมื่อก่อนนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์เย็นวันละ 108 รูป ก็เคยมีมาแล้วในอดีต โดยจัดอาสน์สงฆ์รายล้อมเสาอินทขิล และด้านนอกวิหารเสาอินทขิล

..........การเจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขิล เริ่มต้นด้วยปู่จารย์นำไหว้พระอาราธนาศีล, รับศีล, อาราธนาพระปริตร, พระสงฆ์องค์ที่สามขึ้นขับห้าโกฐาก, กล่าวชุมนุมเทวดา จากนั้น พระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ และมนต์คาถาต่าง ๆ จบแล้ว พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย, ขอขมาพระเถระองค์ประธานพิธี, จากนั้นปู่จารย์กล่าวนำขอขมาพระ เจริญพระพุทธมนต์, พระสงฆ์ให้พรเสร็จแล้ว, ปู่จารย์กล่าวนำขอขมาคารวะพระรัตนตรัย, ขอขมาคารวะพระเถระที่มาในงานนอกพิธี, ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เสาอินทขิล และผู้มาร่วมพิธีที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขิล, เป็นเสร็จพิธีในแต่ละวัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น