วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-ที่มาของชื่อวัดหนองป่าครั่ง และชาดกสิงห์คายนาง ที่แทบจะจางหายไปจากสาธุชน

 เชียงใหม่-ที่มาของชื่อวัดหนองป่าครั่ง และชาดกสิงห์คายนาง ที่แทบจะจางหายไปจากสาธุชน


...เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว


หลักฐานที่หลงเหลือก่อนจะมีการบูรณะก่อสร้างวัดแห่งนี้ คือพระธาตุซึ่งสูงประมาณ ๕-๖ เมตร

รอบๆ องค์เจดีย์มีเถาวัลย์และต้นหญ้าขึ้นรกรุงรัง จนมองแทบไม่เห็นองค์เจดีย์


...คำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดที่เล่าสืบกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ สรุปความได้ว่า

พระคุณเจ้ารูปหนึ่งชื่อพระปัญญา ได้รับการนิมนต์มาจากสำนักวัดสันป่าข่อย ตำบลวัดเกต 

เป็นผู้บุกเบิกปฏิสังขรณ์ก่อสร้างเป็นองค์แรก จนกระทั่งวัดมีเสนาสนะและวัตถุสมบัติ

จึงได้ตั้งชื่อว่า "วัดหนองถ่าน" ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของคณะศรัทธาประชาชนในสมัยนั้นมาก


...นอกจากนี้ ทางภาคกลางยังมีปัฎถา (ลายแทง) ของวัดแห่งนี้ด้วย

พระธุดงค์และชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาจากภาคกลางเพื่อสืบถามหา "วัดหนองถ่าน"

เพราะเชื่อว่ามีวัตถุทรัพย์สมบัติอันมีค่าอยู่ในวัด ทางเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นจึงจัดประชุมในหมู่ท้าวขุนมูลนายและชาวบ้าน

ลงมติให้ตั้งชื่อวัดใหม่ว่า "วัดศรีดอนไชย" เพื่อให้รอดพ้นจากการล่าลายแทง


...ต่อมาวัดแห่งนี้เสื่อมลง ภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดก็ไม่มีความสุขความเจริญ

จึงพากันลงความเห็นว่ามีหนองน้ำใหญ่ตั้งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร

ชื่อว่า "หนองของพญาพันธุ" อีกทั้งด้านทิศใต้ที่ห่างออกไปประมาณ ๑๕,๐๐๐ เมตร

ก็มีหนองน้ำใหญ่ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านและตลาดจิตรคำ หากวันใดตรงกับวันพระ ขึ้น แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ

เมื่อมองลงมาจากดอยสุเทพจะเห็นแสงระยิบระยับเหมือนประทีปโคมไฟ

หนองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "หนองประทีป" 


ทั้งนี้บริเวณวัดซึ่งมีดงทองกวาวอันเต็มไปด้วยครั่งอยู่ทั่วไป ก็ได้รับการขนานนามว่า "วัดหนองป่าครั่ง" มาจนถึงทุกวันนี้

 

...สำหรับการปกครองของวัดหนองป่าครั่งนับมาถึงปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีเจ้าอาวาสวัดทั้งสิ้นประมาณ ๑๕ รูป

อาคารเสนาสนะของวัดประกอบด้วยพระธาตุ พระวิหาร กู่อัฐิครูบาศรีวิชัย กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง หอฉัน และอาคารเรียนของโรงเรียนประถมศึกษา



...เนื้อที่ทั้งหมดของวัดมีประมาณ ๔ ไร่เศษ และอาณาบริเวณทั้งหมดนี้ได้รับการล้อมรอบด้วยกำแพงอย่างมั่นคง


เชียงใหม่-ชาดกสิงห์คายนาง
......ชาดกเรื่องสิงห์คายนาง เป็นคัมภีร์ที่นิยมมากเรื่องหนึ่งในการใช้เทศน์แก่บรรดาศรัทธาชาวบ้านทั่วไป 
ต้นฉบับที่ใช้ในการเรียบเรียงนี้มาจากต้นฉบับใบลานของวัดแม่คำน้ำลัด อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
ซึ่งถ่ายทำเป็นไมโครฟิล์มไว้ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเรื่องย่อดังนี้

......ครั้งหนึ่ง เมื่อสัพพัญญูพระพุทธเจ้าสถิตสำราญในป่าเชตวันอาราม เมืองสาวัตถี พระองค์แสดงอดีตธรรมให้แก่พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในกาลที่พระองค์ยังบำเพ็ญบารมีเป็นโพธิสัตว์นั้น ได้เกิดมาเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งมีชื่อว่า "มหากรุณา" ครองเมืองพาราณสี
ด้วยบารมีจึงทำให้บ้านเมืองสุขเกษมร่มเย็นเต็มไปด้วยพ่อค้านายขาย ตลอดจนน้ำฟ้าสายฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
......ต่อมามหากรุณาโพธิสัตว์ ก็มาคิดรำพึงถึงสิ่งทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ลูกเมียอันเป็นที่รัก เมื่อตายไปจักเอาไปด้วยหาได้ไม่
พระองค์ทรงเบื่อหน่ายในโลกิยสมบัติจึงได้หนีออกไปบวชเป็นพระฤาษีอยู่ในป่า 
โดยได้รับความอุปถัมภ์เรื่องอาศรมและเครื่องบริขารจากพญาอินทาเจ้าฟ้าหากเนรมิตให้ ทรงบำเพ็ญศีลภาวนามีความสุขตามที่ได้ปรารถนา
......ไม่ห่างไกลจากอาศรมเท่าใดนัก มีต้นนิโครธต้นหนึ่งมีร่มฉายาอันกว้าง มีลูกอันหวานหอม ในบริเวณป่าแถวนั้นมีสิงห์ตัวหนึ่ง กล้าหาญองอาจเป็นใหญ่แก่ฝูงสัตว์ทั้งหลาย พญาสิงห์ตัวนั้นได้มาพบและกินลูกนิโครธ ก็เกิดความพอใจในรสอันหอมหวานนั้นจึงคิดหวงไว้กินแต่เพียงผู้เดียว และรำพึงในใจว่าแม้นมีสัตว์และมนุษย์ผู้ใดมาเก็บกิน กูก็จักจับกินเป็นอาหาร รำพึงแล้วพญาสิงห์ก็แอบซ่อนอยู่ในบริเวณนั้น
......ณ เมืองพาราณสี มีนางทุคตะหรือคนยากจนผู้หนึ่งเป็นหญิงที่ยากไร้อาศัยการขอทานเป็นวิธีหาเลี้ยงชีวิตแห่งตนและบิดามารดา วันหนึ่งนางมีความประสงค์จะเข้าป่าเพื่อเก็บผลหมากรากไม้ นางไปพบต้นนิโครธอันมีรสหอมหวานนั้น นางก็เก็บลูกนิโครธกินเป็นที่ชุ่มชื่นยิ่งนัก นางจึ่งเก็บเอาส่วนหนึ่งเพื่อนำกลับไปให้บิดามารดาที่บ้าน ในขณะนั้นพญาสิงห์เห็นนางเก็บลูกนิโครธอยู่ จึงรำพึงว่านางผู้นี้มาเก็บเอาลูกนิโครธของตน ก็คิดจะจับนางมากินเป็นอาหาร ดังนั้นแล้วพญาสิงห์จึงจับเอานางใส่ปากกลืนเข้าไปจนเหลือส่วนหัวและคอของนางโผล่ออกมาเท่านั้น
......นางจึงอ้อนวอนขอชีวิตต่อพญาสิงห์ พญาสิงห์ก็ไม่ยอมปล่อย นางจึงกล่าวด้วยปัญญาว่า ที่ท่านว่าเป็นต้นนิโครธของพญาสิงห์นั้น ต้นไม้นั้นก็ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องแสดงให้รู้ได้ว่าท่านเป็นเจ้าของ ดังนั้นหากพญาสิงห์จะกินนางแล้วย่อมจะไม่ยุติธรรม พญาสิงห์ควรพานางไปหาผู้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก พญาสิงห์จึงพานางไปพบพระฤาษี
......เมื่อนางเล่าเรื่องราวให้พระฤาษีฟังแล้ว พระฤาษีว่าพญาสิงห์ทำอย่างนี้หาถูกไม่ จึงตัดสินให้พญาสิงห์คายนางออกมา พญาสิงห์ไม่ยอมและกล่าวหาว่าพระฤาษีเป็นมนุษย์เหมือนกับนางย่อมตัดสินเข้าข้างนางและกล่าวต่อไปว่า ถ้าตนกินเนื้อของนางหมดแล้วก็จะกินพระฤาษีในลำดับต่อไป
......พระฤาษีจึงอธิษฐานถึงบารมีที่ได้สะสมมาก่อน ทำให้แท่นศิลาอาสน์แห่งพญาอินทาก็ร้อนกระด้างแข็ง จึงได้นำค้อนวชิรเพ็กเหาะลงมากำราบพญาสิงห์ว่าจะถามปัญหา 3 ข้อ ถ้าพญาสิงห์ตอบไม่ได้ ก็จะตีหัวพญาสิงห์ให้แตกเป็นเสี่ยงๆ ดังนั้น หากพญาสิงห์แก้ปัญหาไม่ได้ก็ให้ไปหาบัณฑิตนักปราชญ์มาแก้ปัญหาให้ ปัญหามีว่า
......1. มืดในโลกนี้ และโลกหน้า ได้แก่สิ่งใด
......2. สว่างแจ้งในโลกนี้ และโลกหน้า ได้แก่สิ่งใด
......3. สิ่งที่มีมากหลายยิ่งกว่าแม่น้ำ ได้แก่สิ่งใด
......ด้วยความกลัวจนตัวสั่น พญาสิงห์ก็รำพึงว่าเท่าที่มีแต่พระฤาษีนั้นตนเดียวที่จักแก้ปัญหานี้ได้ พญาสิงห์จึงไปอ้อนวอนขอให้พระฤาษีช่วยแก้ปัญหาให้โดยสัญญาว่า ถ้าพระฤาษีแก้ไขปัญหาถูกต้องแล้วก็จะคายนางออกมา พระฤาษีตกลง และเฉลยปัญหาของพญาอินทาได้ถูกต้องทั้ง 3 ข้อว่า
......1. มืดในโลกนี้ และโลกหน้า ได้แก่ คนอันธพาล มักทำแต่บาป เมื่อตายไปก็จักได้ไปเกิดในนรก ไม่ได้เห็นหน้าพระอริยเจ้า จึงได้ชื่อว่ามืดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
......2. สว่างแจ้งในโลกนี้ และโลกหน้า ได้แก่ ผู้ที่ได้สูตรเรียนเขียนอ่าน ทรงยังปัญญาธิคุณ รู้บุญรู้บาป รู้ประโยชน์ แม้ว่าจะอยู่ในที่อันมืด ก็เหมือนดังอยู่ในที่สว่าง
......3. สิ่งที่มีมากหลายยิ่งกว่าแม่น้ำ ได้แก่ โลภะตัณหาแห่งคนทั้งหลาย อันไม่รู้จักสิ้นสุด มีอยู่แล้วก็ยังอยากได้มาอีก โลภะตัณหาจึงได้ชื่อว่ามีมากกว่าแม่น้ำ ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน
......คำตอบเช่นนั้นทำให้พญาสิงห์ชื่นชมยินดีมากนัก จึงคายนางออกมาในที่ใกล้พระฤาษีนั้น แล้วก็กลับไปยังที่อยู่แห่งตน ส่วนพระญาอินทาก็ให้แก้วแหวนเงินทองแก่นางและพานางกลับไปบ้านเพื่อให้เลี้ยงบิดามารดาดังเดิม และพ้นจากความทุกข์ยากไร้ทั้งปวง
......ส่วนพระฤาษีก็บำเพ็ญศีลภาวนาต่อไป เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น