วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-นำชมวัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง

 เชียงใหม่-นำชมวัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง


ประวัติวัดตำหนัก

...วัดตำหนักตั้งอยู่เลขที่ ๗๒ บ้านตำหนักหมู่ที่ ๑ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่วัดทั้งหมด ๑๒ ไร่ ๑๙ ตารางวา น.ส.๓ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ พระธาตุ วิหารก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา จำนวน ๒ หลัง ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ๒ หลัง


...วัดตำหนักไม่มีหลักฐานสร้างเมื่อ พ.ศ. ที่เท่าไร แต่หลักฐานที่เทียบเคียงจากงานเขียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาของพระสิริมังคลาจารย์และหลักฐานจากหนังสือพงศาวดารโยนก และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ได้กล่าวถึงวัดเวฬุวนาราม หรือวัดตำหนักแห่งนี้คาดว่าสร้างประมาณก่อนหรือหลังปี พ.ศ.๒๐๐๐ ไม่มาก


วัดตำหนักมีประวัติความเป็นมาและมีชื่อเรียกหลายชื่อตามยุคสมัยดังนี้

๑. วัดไผ่ ๑๑ กอ วัดเวฬุวนาราม (ป่าไผ่) มีความเป็นมาคือในพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.๒๐๖๒ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระเมืองแก้วเสด็จไปบรรจุพระบรมธาตุ ณ พระสถูปเจดีย์ ที่วัดเวฬุวนาราม (ป่าไผ่) ตั้งอยู่ทิศหรดีแห่งนครเชียงใหม่ตามมติของพระมหาหมื่นวุฒิยาโณ แห่งวัดหอธรรม ซึ่งปัจจุบันรวมเข้ากับวัดเจดีย์หลวง ได้กล่าวว่าวัดเวฬุวนารามในอดีตคือวัดตำหนักในปัจจุบัน


๒. วัดสวนขวัญมีความเป็นมาจากการบันทึกข้อความท้ายคัมภีร์ที่เป็นผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ๓ คัมภีร์ คือ เวสสันดรทีปนี จักรวาลทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา มีใจความว่าท่านอยู่ ณ ที่วัดสวนขวัญซึ่งห่างจากวัดพระสงฆ์ไปทางทิศใต้ ๑ คาวุต หรือประมาณ ๔ กิโลเมตร ขณะที่ท่านแต่งคัมภีร์ทั้ง ๓ นี้ ซึ่งปัจจุบันก็ได้แต่วัดตำหนักแห่งนี้ และยังใช้เรียกชื่อนี้ควบคู่กับชื่อปัจจุบันคือวัดตำหนักสวนขวัญ


๓. วัดตำหนักเป็นชื่อที่ใช้เรียกปัจจุบันที่มาคือ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละ ยาตราทัพมาจากเวียงป่าซางทิศใต้เมืองลำพูนพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์สมณะพราหมณ์และประชาราษฎร์ ยกขึ้นมาตั้งเมืองเชียงใหม่หลังเป็นเมืองร้างไปนาน ๒๐๐ ปี พักแรมมา ๓ คืน ในคืนวันที่ ๔ ราษฎรได้ทำพลับพลาซึ่งชาวเมืองเชียงใหม่เรียกว่า "ตำหนัก" ถวายที่หมู่บ้านนั้น จากนั้นจึงเข้าไปตั้งเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่าหมู่บ้านตำหนักมาจนบัดนี้


๔. วัดพระสิริมังคลาจารย์ เป็นชื่อที่ผู้สนใจในการศึกษาผลงานการเขียนคัมภีร์ของพระสิริมังคลาจารย์ใช้เรียกชื่อต่อท้ายชื่อวัดในปัจจุบันเพื่อเป็นเกียรติ และเป็นอนุสรณ์แด่พระมหาเถระท่านนี้


...วัดแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการสั้นๆ ว่า "ตำหนัก" ตามชื่อของหมู่บ้านแต่ก็มักมีคนเรียกว่า ตำหนักสวนขวัญบ้าง วัดสวนขวัญบ้าง วัดพระสิริมังคลาจารย์บ้าง วัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์บ้าง แต่ถ้าจะให้สมกับเป็นวัดของนักปราชญ์ ผู้ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาควรเรียกชื่อว่าวัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์เพื่อเป็นเกียรติแก่พระสิริมังคลาจารย์มหาเถระผู้นี้


วัดตำหนักไม่มีหลักฐานการก่อสร้างที่ชัดเจน มีข้อสันนิษฐานหลายทางให้พิจารณา คือ

๑. พระสิริมังคลาจารย์เป็นผู้สร้างโดยได้ชักชวนชาวบ้านสร้างขณะเป็นสามเณรอายุ ๑๓ ปี โดยเรียกชื่อวัดว่า "วัดเวฬุวนาราม" (วัดป่าไผ่) ชาวบ้านเรียกว่า "วัดไผ่ ๙ กอ"

(รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุคันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๓๓). หน้า ๓๘๔-๓๘๕)


๒. พระเจ้าดิลกปนัดดา (พระเมืองแก้ว) เป็นผู้สร้างเพื่อถวายเป็นที่อาศัยแก่พระสิริมังคลาจารย์โดยสันนิษฐานจากการมาบรรจุพระบรมธาตุ ณ วัดแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๒ ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารโยนก และเพราะมีหลักฐานจากซากวิหารเก่า และฐานกุฏิ และซุ้มประตูแนวกำแพงซึ่งเป็นโบราณสถานที่บ่งบอกถึงความเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งมีผังการก่อสร้างที่เป็นระเบียบ เป็นสัดเป็นส่วนและใหญ่โตซึ่งผู้ที่จะสร้างได้ต้องพร้อมทั้งกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาอย่างยิ่ง

(เขียนโดยพระมหาสมบูรณ์ วชิรปญฺโญ)


...วัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์มีปรากฏหลักฐานว่าพระสิริมังคลาจารย์ได้อาศัยอยู่เพื่อแต่งคัมภีร์ทั้งสามคัมภีร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๖๐-๒๐๖๓ จากนั้นก็ไม่ได้พบหลักฐานกล่าวถึงวัดนี้อีกเลยเพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ กองทัพพม่า โดยการนำของพระเจ้าบุเรงนองได้ยกเข้ามาตีเชียงใหม่แตกสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้คงกลายเป็นวัดร้างและล่มสลายไปในที่สุด ในช่วงยึดครองเชียงใหม่ของพม่าชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ได้หลบหนีภัยสงครามไปทั่วสารทิศ แต่มีบางส่วนที่ยังคงยอมรับการปกครองของพม่าและอยู่อาศัยที่เดิม แต่คงไม่สามารถรักษาวัดสวนขวัญเดิมๆ ได้เพราะจำนวนคนเหลือน้อย (ตั้งแต่ซุ้มประตูโขงและแนวบริเวณด้านในกำแพงโบราณ) จึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ไว้ตามแนวเดิมแทนวิหารหลังเก่าซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยสงครามรวมทั้งสร้างกุฏิสงฆ์ไว้นอกแนวกำแพงเดิมแล้วปล่อยให้วัดเก่าซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่กลายเป็นวัดร้างไปแต่ได้บูรณะอุโบสถและพระธาตุองค์เดิมเพื่อใช้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาสืบมา ในช่วงปกครองล้านนาพม่าก็ได้สร้างพระธาตุศิลปะแบบพม่าครอบพระธาตุองค์เดิมสมัยพระเจ้าดิลกปนัดดาอีกชั้นหนึ่งจนถึงปัจจุบัน


...จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๙ คณะศรัทธาประชาชนชาวตำหนักได้ไปอาราธนาพระปัญญา สิริธัมโม จากวัดน้ำบ่อหลวงอำเภอสันป่าตอง มาเป็นเจ้าอาวาสวัดตำหนักแห่งนี้ได้ชักชวนญาติโยมเข้ามาบูรณะวัดเก่า (ตั้งแต่ซุ้มประตูโขงเข้ามาภายในบริเวณแนวกำแพงเก่า) โดยได้สร้างวิหารและกุฏิสงฆ์พร้อมทั้งเสนาสนะต่างๆ แล้วได้ย้ายสถานที่ทำบุญจากวิหารบริเวณพระธาตุเข้ามาใช้วิหารซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ในบริเวณวัดเก่า จวบจนกระทั่งปัจจุบัน


...วัดตำหนัก (วัดใหม่ : นอกแนวกำแพงเก่า) วัดสวนขวัญ (วัดเก่า : บริเวณด้านในกำแพงเก่า) ปัจจุบันรวมเป็นวัดตำหนักโดยมีแนวกำแพงศิลาแลงชั้นนอกล้อมรอบซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานมีซุ้มประตูโขง แนวกำแพงโบราณและฐานกุฏิ บ่อน้ำโบราณ ซึ่งหลักฐานปรากฏอยู่ และมีศาสนวัตถุที่ปลูกสร้างใหม่ประกอบด้วยวิหารซึ่งสร้างทับบนซากวิหารโบราณ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และสิ่งก่อสร้างของโรงเรียนสิริมังคลาจารย์บางส่วน วิหารพระสิริมังคลาจารย์ และศาลาประดิษฐานรูปปั้นพระสิริมังคลาจารย์


สถาปัตยกรรมโดดเด่น วัดตำหนัก

...วิหารโบราณ...

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องดินขอ ประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้งไม้แกะสลัก ด้านหน้ามีโถงมุขยื่นคลุมทางเข้า หน้าบันไม้แกะสลักนูนต่ำลวดลายพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย


...อุโบสถ...

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว หลังคาซ้อนชั้น หน้าบันและหน้าแหนบประดับปูนปั้นปิดทองลวดลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับปูนปั้นปิดทองลวดลายไทย บันไดทางขึ้นเป็นปูนปั้นมกรคายนาค


...เจดีย์...

เป็นรูปทรงศิลปะพม่า บูรณะขึ้นใหม่ด้วยการสร้างครอบองค์เดิมสมัยพระเมืองแก้ว ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จซ้อนชั้นมุมฐานทั้งสี่ประดับเจดีย์บริวาร รองรับชั้นเรือนธาตุย่อเก็จซ้อนขึ้น มุมฐานทั้งสี่ประดับปูนปั้นรูปพานพุ่ม ประดับฉัตร เหนือขึ้นไปชั้นบัวถลารองรับองค์ระฆังทรงกลมปิดทองจังโก ปล้องไฉนลดหลั่นซ้อนชั้นประดับแก้วอังวะ ปลียอดปิดทองประดับฉัตร


ส่วนวัดสวนขวัญ (วัดเก่า ด้านในกำแพงเก่า) ประกอบด้วยแนวกำแพงโบราณทอดยาวไปทางทิศเหนือ และซุ้มประตูโขงโบราณ ตรงกับตำแหน่งวิหารหลังใหม่ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้ง หน้าบันประดับปูนปั้นปิดทองกงล้อมธรรมจักร ซุ้มประตูทางมีจิตรกรรมแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


...หอไตร...

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งบนฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วทรงเตี้ย ตรงกลางด้านหน้าและด้านหลังของลานประทักษิณมีบันไดทางขึ้น ราวบันไดด้านหน้าประดับปูนปั้นมกรคายนาค ส่วนราวบันไดด้านหลังขึ้นไปสู่หอไตร ขนาบข้างด้วยปูนปั้นพญามิคราชยืนสี่ขา หรือสิงห์ทวารบาล
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น